วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตามดูจิต โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

"การกำหนดลมนี้บางคนกำหนดไม่ได้ การกำหนดลมเราจะต้องเอาสภาวะที่มันเป็นอยู่ หายใจเข้า ยาว หายใจออก สั้น เท่าไร อันนั้นไม่เป็นประมาณ เป็นประมาณที่ว่า มันสบายอย่างไร หายใจแรงหรือมันค่อย หรือมันยาว หรือมันสั้น เราจะต้องทดลองหายใจดู มันถูกจริตที่ตรงไหน มันสบายอย่างไร ลมไม่ขัดข้อง จะกำหนดลมก็สบาย สะดวก ตัวอย่างเช่น เราฝึกเย็บผ้าด้วยจักร เราก็ควรเอาจักรมาลองเอาเท้าเราถีบจักรเข้า ถีบจักรเปล่ายังไม่ต้องเย็บผ้า  "

ตามดูจิต

โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

   บัดนี้ เป็นโอกาสที่พวกเราทั้งหลายจะได้มีการอบรมธรรมปฏิบัติกัน พระบรมศาสดาท่านกล่าวถึงการปฏิบัติไว้ว่า บุคคลที่ยังไม่ได้รับการอบรมปฏิบัติก็จะไม่เข้าใจในธรรม ไม่เข้าใจในธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ หรือในสัญชาตญาณที่คู่กับเรามาแต่เกิด ธรรมชาติอันนี้ หรือสัญชาตญาณอันนี้มันเกี่ยวข้องกันกับชีวิตของเราตลอดเวลา เราจะเรียกว่าของที่มันเป็นอยู่ก็ได้ เรียกว่าสัญชาตญาณก็ได้ มันมีความเฉลียวฉลาดอยู่ในนั้น ซึ่งช่วยป้องกันรักษาตัวมันเองมาตลอด สัตว์ทุกจำพวกเมื่อเกิดมามันต้องรักษามันแหละ การรักษาตัว ปกป้องชีวิต ป้องกันอันตรายทั้งหลาย แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต นี้เหมือนกันหมด เช่น สัตว์ดิรัจฉาน มันก็กลัวอันตรายแสวงหาความสุข เหมือนกันกับสัญชาตญาณมนุษย์เรา อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ จะมารักษาตัวมันตลอดเวลา ธรรมชาตินั่นเอง ธรรมชาติเรื่องกายหรือเรื่องจิตใจ 

   เราจะต้องมารับการอบรมใหม่ เปลี่ยนใหม่
   ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้อบรมบ่มนิสัย ก็คือยังเป็นของที่ไม่สะอาด ยังเป็นของที่สกปรก เป็นจิตใจที่เศร้าหมอง เหมือนกันกับต้นไม้ในป่า ซึ่งมันเกิดมามันก็เป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่ามนุษย์เราต้องการจะเอามาทำประโยชน์ดีกว่านั้น ก็ต้องมาดัดแปลง สะสาง ธรรมชาติอันนี้ให้เป็นของที่ใช้ได้ เช่น โต๊ะนี้ หรือบ้านเรือนของเรานั้น เกิดจากเราสามารถเอาธรรมชาติมาทำเป็นที่อยู่ที่อาศัยเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ อันนั้นมา มนุษยชาตินี้ก็เหมือนกันต้องมาปรับเปลี่ยนใหม่ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่าพุทธศาสตร์
 
  พุทธศาสตร์ คือความรู้ในทางพุทธศาสนา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งมันติดแน่นอยู่ในอันใดอันหนึ่ง เช่น เราเกิดมามีชื่อเสียงเรียงนามมาตั้งแต่วันเกิด เช่นว่า เรียกว่าตน ตัวเรา ของเรา นี้สมมุติกันขึ้นมาว่าร่างกายของเรา จิตใจของเรา ซึ่งสมมุติชื่อขึ้นมาจากธรรมชาตินั่นเอง พวกเราทั้งหลายก็ติดแน่นอยู่ในตัวเรา หรือในของของเรา เป็นอุปาทานโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นอย่างนี้ ในทางพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้รู้ยิ่งเข้าไปกว่านั้นอีก ทำจิตใจให้สงบให้รู้ยิ่งเข้าไป ยิ่งกว่าธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ จนเป็นเหตุให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนอันนี้ พูดตามชาวโลกเราว่าตัวว่าตน ว่าเราว่าเขา ทางพุทธศาสนานั้นท่านเรียกว่าตัวตนเราเขาไม่มี นี่คือมันแย้งกัน มันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ตัวเราหรือของเราซึ่งพวกเราเข้าใจกันตั้งแต่เราเกิดมาจนรู้เดียงสา จนเกิดเป็นอุปาทานมาตลอดจนทุกวันนี้ อันนี้ก็เป็นเครื่องปกปิดธรรมอันแท้จริง อันพวกเราทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัว ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาท่านจึงให้มาอบรม 

   การอบรมในทางพุทธศาสนานั้น เบื้องแรกท่านว่า ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตามบัญญัติท่านเรียกว่าให้พากันรักษาศีลเป็นเบื้องแรกเสียก่อน นี่ข้อประพฤติปฏิบัติจนเป็นเหตุไม่ให้เกิดโทษไม่ให้เกิดทุกข์ทางกายและทาง วาจาของเรา อย่างที่เราทั้งหลายอบรมกันอยู่ ให้อายและกลัว ทั้งอายทั้งกลัว อายต่อความชั่วทั้งหลายอายต่อความผิดทั้งหลาย อายต่อการกระทำบาปทั้งหลาย รักษาตัวกลัวบาป เมื่อจิตใจของเราพ้นจากความชั่วทั้งหลาย พ้นจากความผิดทั้งหลาย ใจเราก็เยือกเย็น ใจเราก็สบาย ความสบายหรือความสงบอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่มีโทษ นั่นก็เป็นสมาธิขั้นหนึ่ง 

   ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ" ท่านว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
   สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทางกาย ทางวาจา คือการไม่ทำผิดทำชั่ว ทางกาย ทางวาจา อันนี้เป็นตัวศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายหรือ เอตํ พุทธานสาสนํ
   กุสลสฺสูปสมฺปทา เมื่อมาทำจิตของตนให้สงบระงับจากบาปแล้ว ก็เป็นจิตที่มีกุศลเกิดขึ้นมา เอตํ พุทธานสาสนํ อันนี้ก็เป็นคำสอนของท่านหรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
   สจิตฺตปริโยทปนํ การมาทำจิตใจของตนให้ผ่องใสขาวสะอาด เอตํ พุทธานสาสนํ อันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง
   ทั้งสามประการนี้เป็นหัวใจพุทธศาสนา ก็ประพฤติปฏิบัติอันนี้ ซึ่งมันมีอยู่ในตัวเราแล้ว กายก็มีอยู่ วาจาก็มีอยู่ จิตใจก็มีอยู่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงให้ปฏิบัติ ให้พิจารณาตัว ในตัว ในของตัว ซึ่งมันมีอยู่ ของทั้งหมดที่เราศึกษาเราเรียนกันนั้นมันจะมารู้ความเป็นจริงอยู่ที่ตัวของ เรา ไม่ไปรู้อยู่ที่อื่น 

   เบื้องแรกก็รู้จากการได้ฟังที่เรียกว่า สุตมยปัญญา การได้ฟังการได้ยินอันนี้ก็เป็นเหตุให้รู้ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา เช่นว่า สมมติว่าวันนี้เราเพิ่งได้ยินว่าสีขาว แต่ก่อนนี้เราไม่เคยได้ยิน ทีนี้เมื่อเรารู้ว่า สีขาวมันเป็นเช่นนี้ เราก็คิดไปอีก สีอื่นจะไม่มีหรือ หรือสีขาวจะแปรเป็นสีอื่นจะได้หรือไม่ เป็นต้น นี่เรียกว่า จินตามยปัญญา หรือว่าเราคิดไป ก็ไปคิดลองดูเอาสีดำมาปนในสีขาว มันก็เกิดเป็นสีอื่นขึ้นมาอีก เป็นสีเทาอย่างนี้เป็นต้น การที่เราจะได้รู้จักสีเทาต่อไปนั้น ก็เพราะว่าเราคิด ปัญญาเกิดจากการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ เราเลยรู้สูงขึ้นไปกว่าสีขาว รู้สีเทาเพิ่มขึ้นไปอีก ปัญญาเกิดจากสิ่งทั้งสองนี้
   นี้เป็นปัญญาที่เป็นโลกียวิสัย ซึ่งชาวโลกพากันเรียนอยู่ทั้งเมืองไทย จะไปเรียนนอกมาก็ตาม มันก็คงอยู่ในสุตมยปัญญาจินตามยปัญญาเท่านี้ อันนี้เป็นโลกียวิสัย พ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นทุกข์ได้ยาก หรือพ้นไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเมื่อรู้สีขาว สีเทาแล้วก็ไปยึดมั่น (อุปาทาน) ในสีขาว สีเทาอันนั้น แล้วจะปล่อยวางไม่ได้เช่นว่า เราเกิดอารมณ์ขึ้นมา ได้ยินเขาว่าเราไม่ดี เรียกว่านินทา อดเสียใจไม่ได้ อดน้อยใจไม่ได้ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในอารมณ์อันนั้น เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะ อุปาทาน นี้เรียกว่าการรู้หรือการเห็นจากการได้ฟัง มันจะพ้นทุกข์ไม่ได้ หรือว่าเขาสรรเสริญเรา มันอดดีใจไม่ได้ แล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้นอีก ไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็ทุกข์อีก สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ดีแล้วก็ชั่ว ชั่วแล้วก็ดี เป็นตัววัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนแปรไปไม่จบ อันนี้เป็นโลกียวิสัยเช่นที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้แหละ พวกเราทั้งหลายก็เคยรู้เคยเห็น วิชาในโลกอันนี้เราเคยรู้เคยเห็น จะเรียนไปถึงที่สุด อะไรที่ไหนก็ตาม มันก็ยังทุกข์ เอาทุกข์ออกจากตัวไม่ได้ นั่นเป็นปัญญาโลกีย์ ละทุกข์ไม่ได้ ไม่พ้นจากทุกข์ ความร่ำรวยเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีที่อยู่ในโลกนี้ มันก็ไม่พ้นจากความทุกข์ เพราะมันเป็นโลกียวิสัย ปัญญาทั้งสองประการนี้ท่านยกให้โลกปกครองกันอยู่ในโลก วุ่นวายกันอยู่ในโลก ไม่มีทางจบ ถึงแม้จะจนมันก็ทุกข์ ถึงแม้จะรวยแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่อีก ไม่พ้นไปจากทุกข์ 

   ปัญญาโลกุตตระที่จะเกิดขึ้นมาต่อไป เป็นความรู้ของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นโลกุตตระ พ้นจากทุกข์ พ้นจากวัฏฏสงสาร อันนี้ท่านพูดถึงการอบรมจิตใจ (ภาวนา) ไม่ต้องอาศัยการฟัง ไม่ต้องอาศัยการคิด ถึงฟังมาแล้วก็ดี ถึงคิดมาแล้วก็ดี เมื่อภาวนาทิ้งมัน ทิ้งการฟังไว้ ทิ้งการคิดเสีย เก็บไว้ในตู้ แต่มาทำจิต (ภาวนา) อย่างที่พวกเรามาฝึกกันอยู่ทุกวันนี้ หรือเรียกว่าทำกรรมฐานที่โบราณาจารย์ทั้งหลายท่านแยกประเภทส่วนแห่งการกระทำ แยกข้อประพฤติปฏิบัติ เรียกว่า สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน
  
   สมถวิปัสสนาเป็นแนวทางที่ให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติให้เป็นโลกุตตรจิต ให้พ้นจากวัฏฏสงสารเช่นว่า เรานั่ง ไม่ต้องฟังและไม่ต้องคิด ตัดการฟัง ตัดการคิดออก และยกส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นพิจารณา เช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือเรายกอานาปานสติ คือ หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" ในเวลาที่เราทำกรรมฐานอยู่นั้น ในเวลาที่เรากำหนดลมอยู่นั้น ท่านไม่ให้ส่งจิตไปทางอื่น ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกอย่างเดียว ออกไปแล้วเข้ามา เข้ามาแล้วก็ออกไป ไม่ต้องอยากรู้อะไรมาก ไม่ต้องอยากเห็นอะไรต่อไป ให้จิตของเรารู้เฉพาะลมที่มันเข้าหรือมันออก เรียกว่าการกำหนดลม เป็น "อานาปานสติ"
   การกำหนดลมนี้บางคนกำหนดไม่ได้ การกำหนดลมเราจะต้องเอาสภาวะที่มันเป็นอยู่ หายใจเข้า ยาว หายใจออก สั้น เท่าไร อันนั้นไม่เป็นประมาณ เป็นประมาณที่ว่า มันสบายอย่างไร หายใจแรงหรือมันค่อย หรือมันยาว หรือมันสั้น เราจะต้องทดลองหายใจดู มันถูกจริตที่ตรงไหน มันสบายอย่างไร ลมไม่ขัดข้อง จะกำหนดลมก็สบาย สะดวก ตัวอย่างเช่น เราฝึกเย็บผ้าด้วยจักร เราก็ควรเอาจักรมาลองเอาเท้าเราถีบจักรเข้า ถีบจักรเปล่ายังไม่ต้องเย็บผ้า ให้มันชำนาญเสียก่อน เมื่อเท้าเราชำนาญพอสมควรแล้วค่อยเอาผ้ามาใส่ เย็บไปพิจารณาไป การกำหนดลมหายใจนี้เหมือนกัน ก็หายใจเบาๆ เสียก่อน ไม่ต้องกำหนดอะไร มันยาว มันสั้น มันหยาบ มันละเอียด มันสบายอย่างไร อันนั้นเป็นจริตของเรา ความพอดีของมันนั้น ไม่ยาว ไม่สั้น พอดี เรากำหนดเอาอันนั้นเป็นประมาณ นี้เรียกว่าให้กรรมฐานถูกจริต แล้วค่อยๆ ปล่อยลมออกไป แล้วก็สูดลมเข้ามา เราจะกำหนดว่า เมื่อลมเข้ามา ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่สะดือ เมื่อเราหายใจออก ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก ให้เรากำหนดอย่างนี้เสียก่อน แล้วก็สูดลมเข้า ผ่านปลายจมูก หทัย สะดือ เมื่อออกตั้งต้นสะดือ หทัย ปลายจมูก เป็นต้น ทำอยู่แต่อย่างนี้แหละไม่ต้องสนใจอื่น
   เมื่อเวลาเราทำ (สมถ) กรรมฐาน คือกำหนดลม ไม่ต้องพิจารณาอะไร เอาสติประคองจิตของเรา ให้รู้ตามลมเข้าออกเท่านั้น ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น ลมก็สบายไม่ขัดข้องลมเข้าก็สบาย ลมออกก็สบาย เอาความรู้สึกที่เรียกว่า สติ สติตามลมส่วนสัมปชัญญะก็รู้อยู่ว่าสติเราตามลม ขณะที่เรากำลังทำอยู่นั้น มีสติแล้วก็มีลม มีสติตามลม เราจะมองดูในที่อันนั้น เราจะรู้ลม เห็นลม ว่ามันยาวสั้นประการใด เห็นลมและมีสติอยู่ว่าเรารู้ลม แล้วก็เห็นจิตของเราตามลม เห็นทั้งลม เห็นทั้งสติ เห็นทั้งจิต ๓ ประการรวมกัน หายใจเข้าก็รวม หายใจออกก็รวม รู้สึกอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นอะไรบ้างต่อไป อย่าคิดไป มันจะมีอะไรบ้างต่อไป อย่าคิดไป ทำอย่างนี้มันจะดี จะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่ต้องคิดเรียกว่ากำหนดลมเข้าออกสบาย เมื่อหากว่าจิตของเรากำหนดอารมณ์กับลมหายใจถูกแล้ว มันจะไม่ขัดข้อง ลมก็ไม่ขัดข้อง ผู้รู้ก็ไม่ขัดข้องทุกอย่างทุกส่วนไม่ขัดข้อง เราเพียงแต่รู้อันเดียวเท่านั้นแหละ คือรู้แต่เพียงลมหายใจเข้าออก คือกำหนดรู้ว่า ต้นลมคือจมูก กลางลมคือหทัยปลายลมคือสะดือ เมื่อลมมันถอนออกมา ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก ๓ ประการนี้ เรานั่งพิจารณากำหนดรู้อยู่เช่นนั้น ให้มันรู้ทั้ง ๓ นี้เสมอ เรียกว่าเรามีสติเต็มที่ของเรา มีผู้รู้ควบคุมสติอันนั้นอยู่เต็มที่ เช่นนี้เรียกว่าเราทำ (สมถ) กรรมฐาน จนกว่าจิตเรามันสงบ
   เมื่อจิตเราสงบ กายมันก็เบา ใจมันก็เบา ลมมันก็ละเอียด เมื่อเรามีลมอันละเอียดแล้ว ก็ไม่ต้องตามลม เพราะการตามลมเข้าไป มันเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อไม่อยากจะตามเสียแล้ว เอาสติกำหนดที่ปลายจมูกของเรานี้ พอแต่รู้ว่ามันเข้า พอแต่รู้ว่ามันออก เท่านี้ก็พอแล้ว จิตสบาย กายก็เบา ใจสงบ ลมก็ละเอียด อันนี้จิตเป็นสมาธิ รู้ตามลมอย่างเดียว เมื่อมันละเอียดเต็มที่เข้าไปนั้น มันจะเกิดความละเอียดขึ้นมาในใจของเราอีก ลมที่เรากำหนดอยู่นี้มันจะหายไป มันจะไม่มีลม ที่จริงมันมีอยู่หรอกแต่มันละเอียดที่สุดจนกำหนดไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็นคนไม่มีลม นั่งเฉยๆ อยู่นึกว่าไม่มีลม ตอนนี้พระโยคาวจรเจ้ามักจะตกใจ กลัวว่าเราไม่มีลม กลัวว่าเราจะเป็นอะไรไป ถ้าลมไม่มีแล้วจะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปอีก เราจะต้องเอาความรู้สึกว่าลมไม่มีนั่นแหละเป็นอารมณ์ต่อไป ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นอันตราย เราทำจิตของเราให้รู้ว่าไม่มีลมเข้าไป ถึงกาลถึงเวลาแล้วเป็นเอง อันนี้ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องสะดุ้ง จะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ก็รู้ รู้ใจของเราที่มันเป็นอย่างไร กำหนดจิตเข้าไปว่ารู้อย่างไร จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด อันนี้เป็นอารมณ์ของการกระทำจิตให้สงบ (สมถะ) เบื้องแรก
   พูดถึงความสงบ (สมถะ) พอมันสงบแล้วก็มีส่วนที่มันไม่สงบมาปะปนเข้า เช่นว่า เราเพิ่งมาฝึกจิตของเราเดือนหนึ่ง ๑๐ วัน ๕ วันโดยมากมันก็ยังไม่สงบ ถ้ามันไม่สงบนั้น ไม่ต้องน้อยใจ มันเป็นเรื่องธรรมดาของมัน เรื่องจิตอันนี้มันจะอยู่นิ่งๆ ในที่ของมันไม่ได้หรอก บางทีมันมีอาการคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้ ในขณะอยู่ในที่สงบอันนั้นแหละ บางคนก็จิตไม่สงบ จิตฟุ้งซ่าน ใจก็ไม่สบาย ใจเขาก็ไม่ดี เพราะว่าจิตไม่สงบ อันนี้เราต้องพิจารณาด้วยปัญญาของเรา เรื่องไม่สงบอันนั้นเพราะเราไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว อันนั้นสักแต่ว่าอาการของจิต จริงๆแล้วจิตมันไม่ฟุ้งไปอย่างนั้น เช่นว่า เรารู้ความคิดแล้วว่า บัดนี้เราคิดอิจฉาคน นี้เป็นอาการของจิต แต่เป็นของไม่จริง มันไม่เป็นความจริงเรียกอาการของจิต มันมีตลอดเวลา ถ้าหากว่าคนไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ก็น้อยใจว่าจิตเราไม่อยู่นิ่ง จิตเราไม่สงบ อันนี้เราต้องใช้การพิจารณาอีกทีหนึ่งให้มันเข้าใจ เรื่องของจิตนั้นนะ มันเป็นเรื่องของอาการของมัน แต่ที่สำคัญคือ มันรู้ รู้ดีมันก็รู้ รู้ชั่วมันก็รู้รู้สงบมันก็รู้ รู้ไม่สงบมันก็รู้ อันนี้คือตัวรู้ พระพุทธเจ้าของเราท่านให้ตามรู้ ตามดูจิตของเรา
   จิตนั้นคืออะไร จิตนั้นอยู่ที่ไหน ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่เราก็คงรู้ตัวของเรา ความรู้ที่มันรู้นี่มันรู้อยู่ที่ไหน จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตนี้คืออะไรมันเป็นธรรมชาติ หรือเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งที่มันมีอยู่ อย่างที่เราได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้แหละ มันมีความรู้อยู่ ความรู้นี้มันอยู่ที่ไหน ในจิตนั้นมันเป็นอย่างไร ทั้งความรู้ก็ดี ทั้งจิตก็ดี เป็นแต่ความรู้สึก ผู้ที่รู้สึกดีชั่ว เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก รู้สึกดีหรือชั่ว รู้สึกผิดหรือถูก คนที่รู้สึกนั่นแหละเป็นคนรู้สึก ตัวรู้สึกมันคืออะไร มันก็ไม่คืออะไร ถ้าพูดตามส่วนแล้วมันเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้ามันรู้สึกผิดไปก็ไปทำผิด มันรู้สึกถูกก็ไปทำถูก ฉะนั้นท่านจึงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา เรื่องจิตของเรานั้นมันเป็นอาการของจิต เรื่องมันคิดมันคิดไปทั่ว แต่ผู้รู้คือปัญญาของเราตามรู้ ตามรู้อันนั้นตามเป็นจริง
   ถ้าเราเห็นอารมณ์ตามเป็นจริงของเราแล้ว มันก็เปลี่ยนไปอีกประเภทหนึ่ง (วิปัสสนากรรมฐาน) เช่นว่า เราได้ยินว่ารถทับคนตายเป็นต้น เราก็เฉยๆ ความรู้ชนิดนี้มันก็มี แต่มันรู้ไม่เห็น รู้ไม่จริง รู้ด้วยสัญญา (ความจำ) ขนาดนี้มันรู้อย่างนี้ ทีนี้ถ้าหากว่าเดินไปดูซิรถมันทับคนตายที่ไหน ไปเห็นร่างกายคนนั้นมันเละหมดแล้ว อันความรู้ครั้งที่สองนี้มันดีขึ้นเพราะมันไปเห็น เห็นอวัยวะที่ถูกรถทับ มันเกิดสลดเกิดสังเวช ความรู้ที่เห็นด้วยตามันมีราคายิ่งกว่าเขาว่า เมื่อเราไปเห็นทุกสิ่งอันนี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่ไม่นอน ในร่างกายเรานี้ไม่เป็นแก่นเป็นสาร ไม่สดไม่สวย ความรู้สึกนึกคิดมันค้นในเวลานั้นมันก็เกิดปัญญา (วิปัสสนา) เป็นเหตุให้ถอนอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ออกได้ เรียกว่าความรู้สึกอันนี้มันสูงขึ้น สูงขึ้นๆ ต้องพิจารณาเช่นนี้
   การทำกรรมฐาน ถ้าไม่รู้จักแล้วก็จะลำบาก บางคนก็ไม่เคยทำเมื่อมาทำวันสองวันสามวัน มันก็ไม่สงบ มันก็เลยนึกว่า เราทำไม่ได้เราต้องคิดว่า เมื่อเราเกิดมาเคยถูกสอนหรือยัง เราเคยทำความสงบหรือเปล่า เราปล่อยมานานแล้ว ไม่เคยฝึกเคยหัดมัน มาฝึกมันชั่วระยะหนึ่งอยากให้มันสงบ อย่างนั้นเหตุมันไม่พอ ผลมันก็ไม่มี เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องอันตัวเราท่านทั้งหลายจะหลุดพ้น ต้องอดทน การอดทนเป็นแม่บทของการประพฤติ
   ให้เห็นกาย ให้เห็นใจ เมื่อรู้จักธรรมตามความเป็นจริงแล้วนั่น ความที่เรายึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) แต่ก่อนๆมันจึงจะผ่อนออก เห็นตามความเป็นจริงของมัน อุปาทานมั่นหมายในความดีความชั่วทั้งหลายมันจะคลายออก คลายออก เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นของไม่แน่ไม่นอน" ที่มันเกิดมีในจิตของเราทุกวันนี้นั้น ลองดูซิ ความรักมันแน่ไหม ความเกลียดมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความสุขมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความทุกข์มันแน่ไหม มันก็ไม่แน่.อันไม่แน่นั้นเรียกว่าของไม่จริงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่ออันนี้มันไม่จริง ของจริงมันอยู่ที่ไหน ของจริงอยู่ที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้นเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น มันจริงแต่สักว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้คือความจริง ความจริงอยู่ตรงที่มันไม่จริง อันความเที่ยงอยู่ตรงที่มันไม่เที่ยง..เหมือนกันกับของสกปรกมันเกิดมีขึ้น ความสะอาดอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่สกปรกนั่นแหละ เอาสกปรกออกก็เห็นความสะอาดฉันใด จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
   การประพฤติปฏิบัตินี้ บางคนปัญญามันน้อย บางคนปัญญามันมาก ไม่ทันกัน ไม่เห็นเหมือนกัน อย่างเราจะไปพบวัตถุอันหนึ่ง ๒ คนหรือ ๓ คนไปพบแก้วใบหนึ่ง บางคนก็เห็นว่ามันสวย บางคนจะเห็นว่ามันไม่สวย บางคนจะเห็นว่ามันโตไป บางคนจะเห็นว่ามันเล็กไป นี่ทั้งๆ ที่แก้วใบเดียวกันนั่นเอง ทำไมไม่เหมือนกัน แก้วใบนั้นมันเหมือนของมันอยู่ แต่ความเห็นของเรามันไม่เหมือนกัน มันเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกันอยู่ที่ตรงนี้ การประพฤติปฏิบัติทางพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอน. อย่าให้มันช้า อย่าให้มันเร็ว ทำจิตใจให้พอดี การประพฤติปฏิบัตินี่ไม่ต้องเดือดร้อน ถ้ามันเดือดร้อนเราก็ต้องพิจารณา เช่นว่าเราจะปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมา ต้นไม้ที่จะปลูกนั้นก็มีอยู่ ก็ขุดหลุม ก็ปลูก เอาต้นไม้มาวางลงหลุมนั้นก็เป็นหน้าที่ของเรา จะมูนดิน จะให้ปุ๋ย จะให้น้ำ จะรักษาแมลงต่างๆ ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา คนจะทำสวนต้องทำอย่างนี้ ทีนี้เรื่องต้นไม้มันจะโตเร็วโตช้าของมันนั้นน่ะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเราไม่รู้จักหน้าที่การงานของตัวแล้ว มันก็ไปทำงานหน้าที่ของต้นไม้ มันก็ทุกข์ ไม่ทำงานหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็ให้ปุ๋ยมันไป ให้น้ำมันไป รักษาแมลงไม้ไป เท่านี้ ส่วนต้นไม้จะโตเร็วโตช้า เป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเรารู้จักหน้าที่การงานของเราเช่นนี้ ภาวนา (ฝึกจิต) ก็สบาย ถ้าเราคิดเช่นนี้การปฏิบัติของเราก็สบาย ง่าย สะดวก ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย
   นั่งมันสงบก็ดูความสงบไป ที่มันไม่สงบก็ดูความไม่สงบไป ที่มันสงบนั้น มันก็เป็นเรื่องของจิต มันเป็นอย่างนั้น ที่มันไม่สงบ มันก็เป็นเรื่องของมันอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่น มันสงบแล้ว มันก็สงบไป ถ้าไม่สงบก็ไม่สงบไป เราจะไปทุกข์เพราะมันไม่สงบไม่ได้ เราจะไปดีใจเพราะจิตสงบมันก็ไม่ถูก เราจะไปเสียใจเพราะจิตมันไม่สงบก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราจะไปทุกข์กับต้นไม้ได้หรือ ไปทุกข์กับแดดได้หรือ ไปทุกข์กับฝนได้หรือ ไปทุกข์กับอย่างอื่นได้หรือ มันเป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว การภาวนาของพระโยคาวจรนั้นก็สบายแล้ว เดินทางเรื่อยๆไป ปฏิบัติไป ทำธุระหน้าที่ของเราไป เวลาพอสมควรเราก็ทำของเราไป ส่วนมันจะได้จะถึงหรือมันสงบนั้น ก็เป็นวาสนาบารมีของเรา เหมือนกับชาวสวนปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราใส่ปุ๋ยก็ใส่มันไป รดน้ำก็รดมันไป รักษาแมลงก็รักษามันไป เรื่องต้นไม้จะโตเร็วโตช้าไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของต้นไม้ ละปล่อยทั้งสองอย่างนี้ รู้จักหน้าที่ของเรา รู้จักหน้าที่ของต้นไม้ มันถึงเป็นชาวสวนที่มีความสดชื่นดีฉันใด ผู้มีปัญญา ผู้ที่ภาวนาในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พอจิตคิดเช่นนี้ ความพอดีมันตั้งขึ้นมาเอง พอความพอดีมันตั้งขึ้นมาก็เลยเป็นปฏิปทา ปฏิปทาที่พอดีเกิดขึ้นมา ความเหมาะสมมันก็เกิดขึ้นมา อารมณ์เหมาะสมมันเกิดขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เป็นสัมมาปฏิปทาปฏิบัติไม่หย่อน ปฏิบัติไม่ตึง ปฏิบัติไม่เร็ว ปฏิบัติไม่ช้า จิตใจปล่อยไปตามสภาวะของมัน อันนั้นคือภาวนาสงบแล้ว สบายแล้ว
   ความรู้สึกนึกคิดของเราไปมีอุปาทานมั่นหมายมันขึ้นเมื่อไร มันก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ท่านจึงให้ปล่อยวางเช่นว่า เราอยู่ด้วยกันหลายๆคนนี้นะ ต่างบ้านต่างตระกูล ต่างตำบล ต่างจังหวัด ที่มารวมๆกันนี้ ถ้าเรารู้คนในนี้ ในศาลานี้ให้สบายแล้ว ภาวนาเราก็สบาย เรื่องคนนี้ก็ให้คนนี้ เรื่องคนนั้นก็ให้คนนั้น ให้คนละคนละคนเรื่อยๆไป เราก็สบาย เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างก็ปล่อยไป ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจัยเรื่องคนอื่น ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจัยเรื่องนอกกายนอกใจเราแล้ว มันก็เกิดความสงบ เกิดความสบายขึ้นมา เพราะความรู้ตามเป็นจริงเกิดขึ้นมา
   เราต้องการธรรมไปทำไม ต้องการธรรมไปเพื่อรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง ถึงแม้มันจะจน ถึงแม้มันจะรวย ถึงแม้มันจะเป็นโรค ถึงแม้มันจะปราศจากโรค จิตใจก็อยู่อย่างนั้นเอง เช่นว่าวันหนึ่งตัวเรามันไม่สบายขึ้นมา จะเห็นชัดในจิตของเราว่า มันก็นึกกลัวตายกลัวมันจะไม่หาย ใจก็ไม่สบายเกิดขึ้นมาแล้ว ความไม่สบายเกิดขึ้นมาแล้ว คือไม่อยากจะตาย อยากให้มันหาย อันนี้เห็นแง่เดียว ตามธรรมชาติของมันแล้ว ถ้ามันเกิดป่วยขึ้นมา เกิดอาพาธขึ้นมาเราก็รู้ว่าเป็นก็เป็น ตายก็ตาย หายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย ถ้าเราคิดได้เช่นนี้มันเป็นธรรม เอาทั้งสองอย่างนั่นแหละ หายก็เอามัน ไม่หายก็เอามัน เป็นก็เอามัน ตายก็เอามัน อันนี้ถูก แต่ว่ามันจะมีสักกี่คน นั่งฟังธรรมอยู่นี่มีกี่คนป่วยมาแล้ว ตายก็ตาย หายก็หาย มีกี่คนก็ไม่รู้ ที่มันอยากจะหาย ไม่อยากจะตาย อันนี้มันคิดผิด เพราะมันกลัว เพราะมันไม่เห็นธรรม มันจึงทุกข์ ถ้าเห็นสังขารร่างกายแล้ว ไม่ว่ามันละ หายก็หาย ตายก็ตาย เอาทั้งสองอย่าง ไม่เอามันก็ต้องได้อะไรสักอย่างจนได้
   เมื่อเรารู้จักธรรมเช่นนี้ รู้จักสังขารเช่นนี้ เราก็พิจารณาตามสังขารว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่กรรมฐานมันตั้งขึ้นมาแล้ว มันพ้นทุกข์อย่างนี้เอง ไม่ใช่ว่ามันไม่ตาย ไม่ใช่ว่ามันไม่เจ็บ ไม่ใช่ว่ามันไม่ไข้ อันเรื่องเจ็บเรื่องไข้มันเรื่องของสังขาร เป็นไปตามเรื่องของมัน ถึงคราวมันจะตาย ไม่อยากตายเท่าไร มันก็ตาย ถึงคราวมันจะหาย ไม่อยากจะให้หาย มันก็หาย อันนี้มันไม่ใช่ธุระหน้าที่ของเราแล้ว มันเป็นธุระหน้าที่ของสังขาร ถ้าเราภาวนาเห็นเช่นนี้ จิตมีอารมณ์เห็นเช่นนี้ทุกขณะ จิตก็ปล่อยวางสบาย
   การภาวนานั้นไม่ใช่ว่า นั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว การภาวนานั้นตลอดเวลา การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มีสติประคับประคองอยู่เสมอเลยทีเดียว
   บัดนี้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ทวนดูซิ อันนี้มันก็ไม่แน่นอนหรอก เรื่องมันไม่จริงทั้งนั้นน่ะ เราต้องเตือนอยู่เช่นนี้ เมื่อมันมีสุขเกิดขึ้นมาแล้ว สุขนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกันนั่นแหละ เคยสุขมาแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็สุข เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น ถ้าเราเห็นอารมณ์เมื่อใด ถูกอารมณ์ขึ้นมาเมื่อใด มันจะดีใจ เราก็ต้องบอกมัน เตือนมัน ว่าความดีใจมันก็ไม่แน่นอนหรอก เป็นแต่ความไม่จริงทั้งนั้นแหละ มันหลอกลวงทั้งนั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ว่ามันไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่หลอกลวงทั้งนั้นแหละ เป็นความรู้สึกเท่านั้นแหละ ความเป็นจริงแล้ว ความสุขหรือความทุกข์นั้นไม่มี มันมีแต่ความรู้สึก รู้สึกว่าสุข รู้สึกว่าทุกข์ ถ้ามีความชอบใจก็รู้สึกว่าสุข ไม่ชอบใจก็รู้สึกว่าทุกข์ ตัวสุขตัวทุกข์จริงๆมันไม่มี มันเป็นแต่เพียงแต่ความรู้สึก ถ้าเราคิดได้เช่นนี้ เราก็เห็นของปลอมตลอดเวลา รู้จักอารมณ์ อารมณ์อันนี้ก็ไม่ต้องว่าไปสอบอารมณ์ การภาวนาไม่ต้องไปสอบอารมณ์เมื่อเรามีสติตลอดเวลาทุกวันทุกนาที มันจะรู้จักอารมณ์ เมื่อเราทำผู้รู้ให้ตื่นอยู่เสมอแล้ว มันจะเห็นสุขหรือทุกข์ ชอบไม่ชอบ จะเห็นอยู่ตลอดเวลา มันจะทวนลงไปทีเดียวว่ามันไม่แน่ สุขเกิดขึ้นมาอันนี้ก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน อย่าไปหมายมั่นมันเลย ทุกข์เกิดขึ้นมาเราก็ว่าเลยว่า อันนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะ มันแน่อยู่ตรงไหนเล่า มันแน่อยู่ตรงที่มันไม่แน่ มันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง อันนี้เป็นเหตุให้สุขทุกข์และอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีกำลัง เสื่อม เมื่อสิ่งทั้งหลายนี้มันเสื่อมไป อุปาทาน (ความยึดมั่น) ของเราก็น้อย ก็ปล่อยวางนี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของธรรมดาเช่นนี้
   ฉะนั้นจิตใจของเรา มันจะได้มาก็เป็นเรื่องธรรมดาของมัน มันจะเสียหายไปก็เป็นเรื่องของมัน มันจะสุขก็เป็นเรื่องของมัน มันจะทุกข์ก็เป็นเรื่องของมัน เรื่องของสังขารมันเป็นอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นสักแต่ว่าเรารู้สึกเท่านั้น อื่นนั้นก็ไม่มี ฉะนั้นท่านจึงสอนให้โอปนยิโก คือให้น้อมเข้ามาใส่ตัว อย่าน้อมออกไป น้อมเข้ามา ให้เห็นด้วยตัวของเรานี้ ทางที่ดีสำหรับคนที่อ่านที่ศึกษามามากแล้ว จะมาอยู่มาภาวนาเพียงสองสัปดาห์เท่านี้น่ะ อาตมาเห็นว่าไม่ต้องดูต้องอ่าน หนังสือเอาเข้าตู้เสีย ถึงเวลาเราทำกรรมฐาน นั่งสมาธิของเรา เราก็ทำไป อานาปานสติทำไปเรื่อยๆ ขณะที่เราเดินจงกรม เราก็เดิน ให้รู้จิตของเราเท่านั้นแหละ รักษาจิตของเรา บางทีความหวาด ความสะดุ้งมันเกิดขึ้นมา เราก็ทวนมันอีก อันนี้เป็นของไม่แน่นอน เรื่องความกล้าหาญเกิดขึ้นมา อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่รู้จะจับอะไร นี่ทำปัญญาให้เกิดเลยทีเดียว ทำปัญญาให้เกิด ไม่ใช่รู้ตามสัญญา (ความจำ) รู้จิตของเราที่มันคิดมันนึกอยู่นี้ มันคิดนึกทั้งหมดเกิดขึ้นมาในใจของเรานี้แหละ จะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิด รับรู้มันไว้ อย่าไปหมายมั่นมัน เออ...ทุกข์มันก็เท่านั้นแหละ สุขมันก็เท่านั้นแหละ มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เรายืนตัวอยู่เช่นนี้เลย ยืนตัวอยู่เสมอเช่นนี้ ไม่วิ่งไปกับมัน ไม่วิ่งกับสุข ไม่วิ่งกับทุกข์ รู้อยู่ รู้แล้วก็วาง อันนี้ปัญญาจะเกิด ทวนจิตเข้าไปเรื่อยๆ
   เวลาเรามีไม่มาก เรามาฝึกจิตก็ต้องดูจิต ดูอาการของจิต ลองดูจิต ให้เห็นจิตเรา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถือมั่นก็เห็นสุขเป็นของจริง สุขเป็นเรา สุขเป็นของเรา ทุกข์เป็นเรา ทุกข์เป็นของเรา มันคิดเช่นนี้ แต่ความเป็นจริงนี้ สุขสักแต่ว่าสุข ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ทุกข์นี้ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ตัวคนที่รู้ทุกข์หรือสุขนี้ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ถ้าเราเห็นเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรจะเกาะ เกิดสุขขึ้นมา สุขก็เกาะเราไม่ได้ เกิดทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ก็เกาะเราไม่ได้ ทำไมไม่ได้ เพราะว่ามันไม่แน่ เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอนถ้าเราคิดเช่นนี้ จะภาวนาได้เร็ว จะยืนจะเดิน จะนั่งจะนอนจะไปจะมา ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ ให้รู้มีอารมณ์มันเข้ามา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส อะไรต่างๆนี้ มันจะเกิดความชอบไม่ชอบขึ้นมาทันที มันจะเกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้เราเรียกว่าอ่านดูจิต มันจะเห็นจิต เพราะมันเกิดจากจิตดวงเดียวเท่านี้ มันจะให้สุขมันให้ทุกข์ ทุกอย่างเกิดจากจิต ถ้าเราตามดูจิตของเราอยู่เช่นนี้ มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอเลยทีเดียว อันนี้แหละคือการภาวนา
   บางคนเมื่อมาภาวนา ตอนเย็นก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็นึกว่าเขาได้ภาวนาแล้ว ยังไม่ใช่เท่านี้ ความเป็นจริงการภาวนาคือสติติดต่อกัน ให้เป็นวงกลม ตลอดเวลาให้มีสติอยู่สม่ำเสมอ ให้รู้ให้เห็น ให้เห็นอาการที่มันเกิดขึ้นมาในจิตของเรา เห็นเกิดขึ้นมาอย่าไปยึดมั่นอย่าไปหมายมั่น ปล่อยมัน วางมันไว้เช่นนี้ ปฏิบัติเช่นนี้ เร็ว เร็วมากมีแต่เห็นอารมณ์เท่านั้นแหละ อารมณ์ที่ชอบ อารมณ์ที่ไม่ชอบ ทุกวันนี้เราทุกคนน่ะไม่รู้จักกิเลสตัณหา มีคนๆเดียวนั่นละที่มันหลอกตัวอยู่วันยังค่ำ ดูซิ เราเกิดมามีอะไรไหม ก็คนๆเดียวนั่นแหละมันมาให้เราหัวเราะอยู่ที่นี่ ร้องไห้อยู่ที่นี่ โศกเศร้าอยู่ที่นี่ วุ่นวายอยู่นี่แหละ มันก็คือคนๆเดียวกัน ถ้าเราไม่พิจารณา ไม่ตามดูแล้ว ยิ่งไม่รู้จักมัน มันก็เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา ได้มาก็เคยเสียอยู่ เสียแล้วก็เคยได้มาอยู่ ก็พลอยสุขกับมัน ทุกข์กับมัน ยึดมั่นหมายมั่นกับมันตลอดเวลาอยู่เช่นนี้ เพราะไม่ดูมัน ไม่พิจารณา ของทั้งหลายนี้ไม่ได้อยู่ที่อื่น มันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราพิจารณาที่ตัวเราอยู่เช่นนี้ เราจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าของเรา
   ต้นไม้ทุกต้นเปรียบเหมือนมนุษย์ ก้อนหินทุกก้อนเปรียบเหมือนมนุษย์ สัตว์ทุกสัตว์ในป่าในทุ่งก็ดี มันก็เหมือนกับเราไม่แปลกกับเรา มีสภาวะอันนี้อันเดียวกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นแล้วก็มีความแปรในท่ามกลาง แล้วก็มีความดับไปในที่สุด เหมือนกันทั้งนั้น ฉะนั้นเราไม่ควรยึดมั่น หรือถือมั่นอะไรทั้งหลาย แต่ว่าเราต้องใช้มันอยู่ เช่น กระติกน้ำใบนี้ เขาเรียกว่ากระติก เราก็เรียกว่ากระติกกับเขา เพราะว่าเราจะมีความเกี่ยวข้องกับกระติกน้ำอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกกระติกก็เรียกกับเขา เขาเรียกกระโถนก็เรียกกับเขา เขาเรียกจานก็เรียกกับเขา เขาเรียกถ้วยก็เรียกกับเขา แต่เราไม่ติดอยู่กับถ้วย ไม่ติดอยู่กับจาน ไม่ติดอยู่กับกระโถน ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในนั้น นี่เรียกว่าเราภาวนา รู้จักตัวเรา และก็รู้จักของของเรา รู้จักตัวเราแล้วก็ไม่ทุกข์เพราะตัวเรา รู้จักของของเราแล้วก็ไม่ทุกข์กับของของเรา อันนี้เพราะเราทำกรรมฐาน ปัญญามันจะเกิดขึ้นอย่างนี้มันจะเห็นไปตามสภาวะมันเองทุกๆอย่าง.อันนี้เป็น โลกุตตร -ปัญญาปัญญาเกิดจากการภาวนา (ภาวนามยปัญญา) มันพ้นจากโลกียวิสัย เมื่อจิตสงบรวมกำลัง จิตตรงที่นั้น เกิดรู้ เกิดเป็นญาณขึ้นมา เป็นความรู้โลกุตตระอันนั้น
   ความรู้โลกุตตระอันนี้ พูดให้ก็ไม่รู้เรื่อง อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกคือพระพุทธเจ้าบอกให้ได้ แต่ว่าทำให้ไม่ได้ เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันเป็นเช่นนั้น ฉะนั้น อดทนแล้วก็เพียร อดทนแล้วก็เพียร สอบอารมณ์เรื่อยๆไป ถึงคราวเราทำความเพียร เราก็ทำไป ทำสมาธิเราก็ทำไป ออกจากสมาธิก็พิจารณา เห็นมดก็พิจารณา เห็นสัตว์อะไรก็พิจารณา เห็นต้นไม้พิจารณาทุกอย่างเหมือนเรา ทุกอย่างน้อมเข้ามาหาตัวเรา เหมือนเราทั้งนั้นอย่างใบไม้มันจะหล่นลงไป ใบไม้มันจะขึ้นมาใหม่ ต้นไม้มันจะใหญ่ ต้นไม้มันจะเล็ก อะไรทั้งหลายเหล่านี้มันล้วนแต่เกิดปัญญาทั้งนั้น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอะไรมันทั้งนั้น เมื่อจิตเรารู้จักการปล่อยวางเช่นนี้แล้วก็จะเกิดความสงบ ความสงบไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ มันสงบ เรียกว่าได้ความพอดีเหมาะสม ด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรานั้นเรียกว่าเป็นธรรม
   ผู้ที่ฝึกแล้วก็จะพอมองเห็น ผู้ที่ยังไม่เคยฝึกนี้ มันก็เป็นของที่ลำบากสักนิดหนึ่ง เราอย่าไปน้อยใจมัน อย่าไปตกใจมัน มันก็เหมือนนักเรียนนั่นแหละ เพิ่งเข้าโรงเรียนจะให้เขียนหนังสือได้ อ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือให้มันสวยงามมันก็ไม่ได้ อาศัยการฝึก อาศัยการกระทำ อาศัยการประพฤติ อาศัยการปฏิบัติ แล้วมันก็เป็นไปการตั้งไว้ในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ ให้เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องพยายามสอนคนอื่นให้มากที่สุด เดินไปก็ให้สอนตัวเองทั้งนั้น นั่งก็ให้สอนตัวเองได้ทุกอย่างให้มีในตัวของเราอยู่เสมอ เรียกว่าสติ สตินั้นแหละเป็นแม่บทของผู้เจริญกรรมฐาน สติอันนั้นเมื่อมันมีความรู้สึกขึ้น ปัญญาก็จะวิ่งมา ถ้าสติไม่มี ปัญญาก็เลิก ไม่มี ฉะนั้นจงพากันตั้งใจถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาน้อยก็ช่างมัน เวลาน้อยก็ยังเป็นอุปนิสัย ยังเป็นปัจจัย อย่างอื่นจะหาเป็นที่พึ่งอย่างพุทธศาสนานี่ไม่มี มันจบอยู่ตรงนี้ ไปไหนก็ไม่จบแต่พุทธศาสนาทำให้มันจบอยู่ตรงนี้
   ถ้าเราไม่เห็นเดี๋ยวนี้ ต่อไปก็ต้องเห็น ถ้าเราพิจารณาเช่นนี้ต่อๆไป ยังเป็นคนใหม่ ประพฤติใหม่ปฏิบัติใหม่ก็ยังไม่เห็น ก็เหมือนกับเราเป็นเด็ก เรายังไม่เห็นสภาพของคนแก่ ทำไมไม่เห็นล่ะ ฟันเราก็ยังดีอยู่ ตาเราก็ยังดีอยู่ หูเราก็ยังดีอยู่ ร่างกายเราก็ยังดีอยู่ ไม่รู้จักคนแก่ แต่ต่อไปเมื่อเราเป็นคนแก่ เราจะรู้จัก ใครจะบอก สังขารมันจะบอก ฟันมันจะโยก นี่แก่แล้ว ตามันจะไม่สว่าง หูมันจะตึง สภาวะร่างกายมันจะเจ็บปวดไปหมด นี่คนแก่มันเป็นอย่างนี้ ใครมาบอกสังขารนี้บอกเอง ถ้าเราพิจารณาอยู่ คือ สัญชาตญาณมันมีอยู่ เช่นพวกปลวก หรือแม้ผึ้ง ผึ้งใครไปสอนมัน เมื่อมันทำรัง มันมีลูกมันทำรังกันสวยๆ ถ้ามันแก่มันก็ออกไปเป็นรังใหม่ ลูกๆผึ้งมันก็ไปทำรังกันใหม่ ใครไปสอนมัน มันทำรังกันสวยๆ นกก็เหมือนกัน ตามป่านะ โดยเฉพาะนกกระจาบ นกกระจอก มันทำรังกันสวยๆ ใครไปบอกมัน เมื่อมันโตมันก็บินจากพ่อแม่มันไป มันก็ไปทำรังเหมือนพ่อแม่มัน ใครจะไปบอกมัน ปลวกก็เหมือนกัน ใครจะไปบอกมัน สัญชาตญาณมันมี มันทำเองของมัน สัญชาตญาณอันนี้ที่มีอยู่ในใจของเรานี้ เราก็ไม่รู้ตัวเรา ถ้าเราไม่มาเรียนรู้ธรรม ก็ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ความเป็นจริง คนทุกๆคนมันอยากจะมีความสุข และมันอยากจะดีทุกๆคนนั่นแหละ แต่มันทำดีไม่เหมือนกัน มันตามหาความสุขไม่เหมือนกัน มันต่างกันเพราะปัญญา
   สัญชาตญาณที่มันมีอยู่ในใจเรานั้น เราไม่รู้จักมัน มันปกปิดอย่างสนิท อย่างชนิดไม่รู้ไม่เห็น เมื่อธรรมชี้ไปมันจึงจะเห็น เช่นว่าเรานั่งอยู่นี่ ร่างกายของเราทุกส่วนนี่โดยสภาพแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่มีชิ้น ไม่มีอะไรมันจะสวย มันจะสะอาดเลย ท่านตรัสอย่างนี้ไม่สวย ไม่สะอาด และไม่เป็นแก่นเป็นสารด้วย เราก็ยังไม่เห็น เรานึกว่าอันนี้มันสวยอยู่ อันนี้มันสะอาดอยู่ อันนี้มันดีอยู่ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นเล่า ของไม่สวยแต่มันเห็นว่าสวย ของไม่สะอาดทำไมมันเห็นว่าสะอาด ของไม่เป็นแก่นสารทำไมเห็นว่าเป็นแก่นเป็นสาร ของนี้ไม่ใช่ตัวของเรา ทำไมมันจึงเข้าใจว่าเป็นตัวของเรา อันนี้มันก็มืดอยู่พอแล้ว มันน่าจะเห็นนี่ ธรรมชาติอันนี้มันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนเราจริงๆ มันจะเจ็บจะไข้เมื่อไร ก็เจ็บก็ไข้ มันจะตายเมื่อไรมันก็ตาย มันไม่ห่วงเราทั้งนั้นแหละอันนี้เราก็ยังไม่เห็นมัน มันน่าจะเห็น ทำไมไม่เห็นล่ะ นี้มันก็มืดพออยู่แล้ว ที่มันไม่เห็นนี่น่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกมา จนจิตของท่านเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจริงๆชัดๆไม่ใช่สัญญา (ความจำ) สังขารร่างกายมันจะเป็นไปอย่างไร ก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ท่านเห็นเช่นนั้น การกำหนดพิจารณา เรียก ภาวนากรรมฐาน เพื่อให้มันเห็น ขนาดนั้นมันยังไม่ค่อยจะเห็น อันใดไม่สวยก็เห็นว่ามันสวย อันใดมันไม่เป็นแก่นเป็นสาร มันก็เห็นว่าเป็นแก่นเป็นสาร นี่จิตมันไม่ยอม มันจึงไม่เห็น ท่านก็ว่าเยาว์ คือจิตมันเป็นเด็กอยู่ จิตมันยังเยาว์อยู่ จิตมันยังไม่เติบ จิตมันยังไม่โตเช่นนั้น พระพุทธศาสนานี้ท่านสอนส่วนจิต ให้จิตเป็นคนเห็น ถ้าจิตมันเห็นแล้ว จิตมันรู้ของมันแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เรียกว่าการภาวนาเป็น ฉะนั้นจึงค่อยๆทำ ค่อยๆประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะเอาวันสองวันสามวันให้ได้ให้เห็น เมื่อวานซืนนี่มีนักศึกษาได้มาปรึกษาจะไปนั่งภาวนากรรมฐาน นั่งสมาธิ มันไม่สบาย มันไม่สงบ มาหาหลวงพ่อ ชาร์จแบตเตอรี่ให้ไม่ได้หรือ นี่อันนี้มันต้องพากันพยายามพยายามทำไปเรื่อยๆ คนอื่นบอกมันไม่รู้จัก มันจะต้องไปพบด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาทีละมากหรอก เอาน้อยๆ แต่เอาทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน แล้วก็เดินจงกรมทุกวัน มันจะมากหรือน้อยเราก็ทำทุกๆวัน แล้วก็เป็นคนที่พูดน้อย แล้วก็ดูจิตของตัวเองตลอดเวลา เมื่อดูจิตของตัวเอง อะไรมันจะเกิดขึ้นมา แล้วมันจะสุขหรือมันจะทุกข์อะไรเหล่านี้ ก็บอกปัดปฏิเสธมันเสีย ว่าเป็นของไม่แน่นอน เป็นของหลอกลวงทั้งนั้น
   ผู้ที่เรียน ศึกษามากๆนั้นนะ มันเป็นด้วยสัญญา ไม่ใช่ปัญญาสัญญาเป็นความจำ ปัญญาเป็นความรู้เท่าทัน มันไม่เหมือนกันมันต่างกัน บางคนจำสัญญาเป็นปัญญา ถ้าปัญญาแล้วไม่สุขกับใครไม่ทุกข์กับใคร ไม่เดือดร้อนกับใคร ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับจิตที่มันสงบหรือไม่สงบ ถ้าสัญญาไม่ใช่อย่างนั้นนะ มันเกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์เป็นร้อนไปตามอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น 
ธรรมทานจาก  https://sites.google.com/site/smartdhamma/...

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อานาปานสติ โดยพระสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ)

"ไม่เคยเห็นเด็กตัวน้อย ๆ คนใดที่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นเดินได้ทันที เด็กจะหัดคลานก่อนและเกาะโน่นเกาะนี่ พยุงตัวขึ้นมา ล้มลงไปแล้วก็พยุงตัวขึ้นมาใหม่ จิตภาวนาก็เป็นเช่นนั้น เราจะฉลาดขึ้นมาได้ก็ด้วยสังเกตดูความโง่เขลา ดูความผิดพลาดที่ได้เคยทำไป นำมาพิจารณาทบทวน แต่อย่าไปคิดถึงมันให้มากจนเกินไป เพราะจะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ถ้าเด็กคิดมากเกินไปก็คงหัดเดินไม่ได้"

 

อานาปานสติ

โดยพระสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ)





น.พ.วิเชียร สืบแสง แปลจาก Now is the Knowing

   พวกเรามักจะมองข้ามสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาไปเสีย ลมหายใจของเรานั้นจะรู้สึกก็ต่อเมื่อเรามีอาการผิดปกติ เช่น หืดหอบ หรือวิ่งจนเหนื่อย ในการทำอานาปานสตินั้น เราเอาลมหายใจปกติธรรมดาของเรานี้เป็นเครื่องกำหนด เราจะไม่พยายามไปทำให้มันยาวหรือสั้น หรือไปบังคับให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะอยู่กับลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นปกติธรรมดาเท่านั้น    ลมหายใจไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะสร้างหรือจินตนาการขึ้นมา มันเป็นไปตามธรรมชาติของร่างกายต่อเนื่องกันไปจนชีวิตจะหาไม่ จึงเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดชีวิต จะกลับไปดูเมื่อไรก็ได้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษหรือฉลาดล้ำเลิศแต่อย่างใดในการที่จะ เฝ้าดูลมหายใจของเรา เพียงแต่เราพอใจอยู่กับมันระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เท่านั้น
   อันสติปัญญาหรือความเฉลียวฉลาดนั้นมิใช่จะได้มาจากการเรียนรู้ทฤษฎีหรือ ปรัชญาอันสูงส่ง แต่ได้จากการเฝ้าสังเกตสิ่งที่เป็นปกติธรรมดานี้เอง

   ลมหายใจไม่มีลักษณะที่ตื่นเต้นระทึกใจ จนทำให้เรากระสับกระส่ายหรือหงุดหงิดแต่ประการใด ใจของคนเรานั้นมักอยากจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอไป อยากจะได้สิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจโดยไม่ต้องออกแรง ถ้าเราได้ยินเสียงดนตรี เราคงไม่บอกกับตัวเราเองว่า ฉันจะตั้งอกตั้งใจฟังและจับจังหวะท่วงทำนองของเพลงนี้ให้จงได้
   เราจะปล่อยใจของเราไปตามเสียงดนตรี เพราะเสียงเพลงมันไพเราะเย้ายวนชวนให้เราตามมันไป ส่วนจังหวะของลมหายใจตามปกตินั้นไม่มีอะไรน่าจับใจเลย มันสงบราบเรียบ แต่คนเราไม่เคยชินกับความสงบ บางคนอาจจะบอกว่าชอบความสงบ แต่พอไปประสบเข้าจริง ๆ แล้วกลับไม่พอใจ เพราะพวกเราชอบสิ่งที่ตื่นเต้นเย้ายวนใจมากกว่า
   ในอานาปานสตินั้น เราอยู่กับสิ่งที่เป็นกลางๆ จะไม่รู้สึกชอบหรือไม่ชอบลมหายใจ เวลาหายใจเข้า เราเพียงกำหนดรู้ต้นลม กลางลม และปลายลม หายใจออกก็เช่นเดียวกัน กำหนดรู้ต้นลม กลางลม และปลายลม จังหวะของลมหายใจเข้าออกเป็นไปอย่างเรียบๆ ช้าๆ ช้ากว่าจังหวะของความนึกคิด นำเราไปสู่ความสงบแล้วเราก็หยุดคิด
   เราจะไม่ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาว่าจะได้อะไรจากการทำสมาธิภาวนา เช่น จะต้องได้ฌานขั้นนี้ขั้นนั้น เพราะถ้าจิตมุ่งจะให้บรรลุถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว จิตจะไม่น้อมลงอยู่กับลมหายใจ จะไม่สงบ แล้วเราจะมีแต่ความผิดหวัง ในขั้นต้นนั้น จิตของเราชอบเตร็ดเตร่เร่ร่อนไปตามเรื่องของมัน เมื่อเรารู้ตัวว่ามันเคลื่อนออกไปจากลมหายใจ เราก็ค่อย ๆ ดึงมันกลับเข้ามา เราต้องมีความพากเพียรและอดทนอย่างยิ่ง พร้อมเสมอที่จะตั้งต้นใหม่
   จิตของเรานั้นไม่เคยชินกับการถูกจับให้อยู่นิ่ง เคยแต่ถูกสอนให้เกี่ยวเกาะอยู่กับสิ่งต่างๆ เรื่อยมา เคยชินอยู่กับการใช้ความคิดที่ตัวนึกว่าจะฉลาดหลักแหลม แต่เมื่อไม่อาจจะทำอย่างนั้นได้ ก็จะเกิดความเครียด
   ในการทำอานาปานสติ เราจะพบกับอุปสรรคเช่นที่กล่าวนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับม้าป่า เมื่อถูกจับมาผูกและสวมบังเหียนครั้งแรก มันจะโกรธและพยศอย่างยิ่งทีเดียว เวลาจิตของเราเคลื่อนออกไป เราจะรู้สึกรำคาญ ท้อแท้ และเบื่อหน่ายไปหมด ในสภาวะเช่นนั้น ถ้าเราใช้วิธีบังคับข่มจิตให้สงบ มันจะสงบได้ชั่วครู่แล้วก็แส่ส่ายออกไปใหม่
   การทำอานาปานสติที่ถูกวิธี เราต้องใจเย็นและอดทนอย่างยิ่ง ถือเสียว่ามีเวลาถมไป ปล่อยวางภาระทุกอย่างทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือทรัพย์สินเงินทอง ในช่วงเวลานั้นเราจะไม่ทำอะไรเลย นอกจากนั่งเฝ้าสังเกตลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตของเราเคลื่อนไปในระยะลมเข้า ก็เพ่งที่ลมเข้าให้มากสักหน่อย ถ้าเคลื่อนไปในระยะลมออก ก็เพ่งตรงนั้นเช่นกัน แล้วดึงมันกลับเข้ามา พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่เสมอไป
   ทำใจให้เหมือนนักเรียนใหม่ วางสิ่งเก่าๆ เสียให้หมด เวลาจิตของเราเคลื่อนออกไป แล้วเราดึงกลับเข้ามาใหม่ ในช่วงนั้นแหละเป็นช่วงที่เรามีสติสัมปชัญญะ เราฝึกจิตของเรา (ให้เหมือน) กับแม่ที่ดีฝึกลูกน้อยของเธอ เด็กเล็กๆ ยังไม่รู้อะไร เดินสะเปะสะปะไปตามเรื่อง ถ้าแม่เอาแต่โมโหและเฆี่ยนตี เด็กจะกลัว แล้วกลายเป็นเด็กโรคประสาท
   แม่ที่ดีจะเฝ้ามอง ถ้าเห็นเด็กเดินออกนอกลู่นอกทาง แม่ก็จะอุ้มกลับเข้ามา เราต้องใจเย็นและอดทนอย่างนั้น อย่างไปโกรธเกลียด ลงโทษตนเอง เกลียดลมหายใจ หรือเกลียดไปหมดทุกคน จนเกิดความรำคาญ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะไม่ได้ความสงบจากอานาปานสติ
  บางครั้งเราเครียดเกินไป ไม่ร่าเริงผ่องใส ไม่มีแม้อารมณ์ขัน คอยแต่จะกดทุกอย่างลงไป จงทำใจให้เบิกบาน แต้มรอยยิ้มลงบนใบหน้าของท่าน ผ่อนคลายและทำใจสบายๆ ปราศจากความกดดันที่จะต้องได้อะไรเป็นพิเศษ ไม่มีอะไรวิเศษพิสดารเลย
   ท่านไปคุยได้ไหมว่า วันนี้ท่านได้ทำอะไรบ้างที่พอจะคุ้มค่าข้าวที่รับประทานเข้าไป เพียงมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าเฮือกเดียวเท่านั้นหรือ ฟังแล้วมันน่าขำสิ้นดี
   แต่นั่นแหละ ท่านยังได้ทำมากกว่าที่คนอื่นเขาไปคุยโม้ว่าได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก เราไม่ต้องไปต่อสู้ฟาดฟันกับมารร้ายที่มาคอยผจญ
   ถ้าท่านรู้สึกเบื่อหน่ายการทำอานาปานสติ ก็จงกำหนดรู้ถึงความรู้สึกอันนั้นไว้ด้วย อย่าไปคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ แต่จงให้มันเป็นเรื่องเพลิดเพลิน ทำด้วยความยินดีสนุกสนาน เมื่อท่านคิดว่าทำไม่ได้ก็ให้กำหนดรู้ไว้ว่านั่นคือเครื่องกีดขวาง เป็นนิวรณ์ เป็นความกลัวหรือความท้อแท้ กำหนดรู้แล้วก็ผ่อนคลายลงไป
   อย่าทำให้การฝึกนี้เป็นเรื่องยาก หรือถือว่าเป็นภาระหนัก เมื่ออาตมาบวชใหม่ๆ อาตมาเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง จนดูเหมือนกับท่อนไม้แห้งตายซากท่อนหนึ่ง ตกอยู่ในสภาพอันน่าทุเรศ เพราะไปคิดว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้อยู่เรื่อยไป
   ต่อมา อาตมาก็เรียนรู้ที่จะหยิบยกเอาความสงบขึ้นมาพิจารณา เมื่อความสงสัยลังเลใจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความไม่พอใจ ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น อาตมาก็ยกเอาความสงบขึ้นมาพิจารณาท่องคำนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก สะกดจิตของอาตมาให้ผ่อนคลายลงไป ความสงสัยตนเองเกิดขึ้นมาอีก เช่นว่า
   “นี่เรามาทำอะไรอยู่ ไม่เห็นไปถึงไหน ไม่เห็นได้อะไร เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ จะต้องได้อะไรสักอย่างหนึ่งสิ” เป็นต้น
   แต่แล้วอาตมาก็อยู่กับความรู้สึกเช่นนั้นด้วยความสงบ นี้เป็นวิธีหนึ่งที่ท่านอาจจะลองนำไปปฏิบัติดู คือ เมื่อเราเครียด เราก็ผ่อนคลายลงเสีย แล้วเริ่มทำอานาปานสติต่อไปใหม่ ตอนแรกๆ เราจะรู้สึกตัวว่างุ่มง่ามเหมือนกับเราเริ่มหัดดีดกีตาร์ นิ้วมันแข็งทื่อเทอะทะสิ้นดี แต่พอเราฝึกไปเรื่อย เราก็ชำนาญขึ้น จนกลายเป็นเรื่องง่ายไป
   เราเรียนรู้ที่จะมองดูว่า กำลังมีอะไรเกิดขึ้นในจิตของเรา เมื่อมีความง่วงเหงา ความฟุ้งซ่านซัดส่าย หรือมีความเครียด เราก็กำหนดรู้ เพียงแต่รู้ไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปยุ่งอะไร ให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ว่ามันเป็นของมันอย่างนั้น
   เราทำความเพียรอยู่กับลมเข้าลมออกไปเรื่อยๆ หากกำหนดไม่ได้ ตั้งแต่ต้นลมจนปลายลม ทำได้เพียงครึ่งเดียวก็ยังดี คือเราไม่มุ่งหวังจะให้มันถูกต้องครบถ้วนในทันทีทันใดนั้น เราค่อย ๆ ทำไป ค่อย ๆ แก้ไขไป ถ้าขณะที่จิตแส่ส่ายออกไป แล้วเราสามารถมีสติตามรู้ว่ามันไปที่ไหนบ้าง ขณะนั้นแหละเรียกว่าเรามีปัญญาเห็นแจ้ง
   ถ้าไปคิดว่าจิตไม่ควรจะเร่ร่อนออกไป เกิดชังตนเอง เกิดความท้อถอย ซึ่งก็มักจะเป็นกันเช่นนั้น นั่นแหละคือความโง่เขลา ถ้าเราจะฝึกโยคะ เราคงไม่เริ่มต้นด้วยท่าที่รุนแรงอย่างพวกหัตถโยคี ดังที่ท่านเคยเห็นในหนังสือ เช่น เอาขาขึ้นมาพันคอ เป็นต้น หากเราพยายามทำอย่างนั้น เขาคงต้องหามเราเข้าโรงพยาบาลเป็นแน่ เราคงจะเริ่มด้วยวิธีง่าย ๆ ไปก่อน ค่อยฝึกค่อยเรียนไปทีละขั้น
   อานาปานสติก็เช่นกัน บัดนี้เรารู้วิธีบ้างแล้ว เราก็เริ่มตรงนั้นและค่อยๆ ทำความเพียรไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเข้าใจว่าสมาธิเป็นอย่างไร เมื่อท่านไม่ใช่ซุปเปอร์แมนก็อย่าทำตัวเป็นซุปเปอร์แมน อย่าไปพูดว่า “ฉันจะนั่งตรงนี้ และเฝ้าดูลมหายใจของฉันตลอดทั้งคืน” ถ้าพูดอย่างนั้นแล้วเกิดทำไม่ได้ ท่านจะขัดเคืองใจ
   กะเวลาเท่าที่ท่านพอจะทำได้ ค่อย ๆ ฝึกไป จนท่านรู้ได้เองว่าจะทำความเพียรไปแค่ไหน และเมื่อไรจึงจะหยุดพักผ่อน คนเราจะเดินได้ก็ต้องหกล้มหกลุกมาก่อน ดูเด็กสิ อาตมายังไม่เคยเห็นเด็กตัวน้อย ๆ คนใดที่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นเดินได้ทันที เด็กจะหัดคลานก่อนและเกาะโน่นเกาะนี่ พยุงตัวขึ้นมา ล้มลงไปแล้วก็พยุงตัวขึ้นมาใหม่ จิตภาวนาก็เป็นเช่นนั้น เราจะฉลาดขึ้นมาได้ก็ด้วยสังเกตดูความโง่เขลา ดูความผิดพลาดที่ได้เคยทำไป นำมาพิจารณาทบทวน แต่อย่าไปคิดถึงมันให้มากจนเกินไป เพราะจะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์
   ถ้าเด็กคิดมากเกินไปก็คงหัดเดินไม่ได้ เราจะไม่คิดอะไรมาก เพียงแต่ทำความเพียรไปเรื่อยๆ ในขณะที่เรากำลังมีความกระตือรือร้นและศรัทธาอย่างแรงกล้าในตัวท่านอาจารย์ และคำสอนของท่าน ขณะนั้นอะไรๆ ดูมันง่ายไปหมด แต่ความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้านั้นมันไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง แล้วจะนำไปสู่ความเบื่อหน่าย และเมื่อเราเบื่อ เราก็ผละไปหาสิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจแทน
   จะเกิดปัญญาหรือความเห็นแจ้งได้ เราต้องมานะอดทน ปลดเปลื้องความเห็นผิดออกไป วิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่จะสามารถจะระงับความคิดตามนิสัยเดิมของเรา และทำให้เราได้รู้ได้สัมผัสกับความเงียบสงบและความว่างแห่งจิต ถ้าไปอ่านหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปเองตามธรรมชาติของมัน โดยไม่ต้องไปพยายามดิ้นรนขวนขวายแต่อย่างใด แล้วเราก็มาคำนึงว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย นอนเอกเขนกขี้เกียจไปตามเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะตกอยู่ในสภาพที่เซื่องซึมเฉื่อยชา
   ในการปฏิบัติของอาตมา เมื่อใดที่รู้สึกตัวว่าเซื่องซึมไป อาตมาจะหันมาให้ความสำคัญในการเปลี่ยนอิริยาบถเสียใหม่ คือจะยืดตัวให้ตรงเชิดอกขึ้นและเพิ่มพลังในท่านั่ง แม้จะทำได้ในระยะสั้นเพียงไม่กี่นาที ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ยิ่งเราเลือกเอาทางที่ไม่มีอุปสรรคหรือเอาแต่ของง่าย ๆ มากเท่าใด เราจะยิ่งตามอารมณ์ ตามตัณหาของเรามากเท่านั้น
   การจะนั่งลงแล้วคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลานั้น มันง่ายกว่านั่งลงแล้วไม่คิด เพราะเราติดนิสัยอย่างนั้นมานานแล้ว แม้ความคิดที่ว่า “จะไม่คิด” มันก็ยังเป็นความคิดอย่างหนึ่งอยู่ดี ถ้าจะไม่คิดเราต้องมีสติ แล้วเพียงเฝ้าสังเกตและฟังการเคลื่อนของจิต แทนที่จะคิดเรื่องจิต เราจะเฝ้าดูมัน และแทนที่จะไปติดอยู่กับความคิดความฝัน เราจะรู้ทันมัน ความคิดเป็นการเคลื่อนไหว เป็นพลังผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่เที่ยง เราเพียงแต่รู้ไว้ว่าความคิดก็เป็นเพียงความคิดโดยไม่ต้องไปประเมินคุณค่า หรือแยกแยะแต่ประการใด แล้วมันจะเบาบางลงไปและจะระงับไปในที่สุด
   นี้ไม่ได้หมายความว่าจงใจไปประหัตประหารมัน แต่ยอมให้ระงับไปเอง เป็นลักษณะของความเมตตา นิสัยที่ชอบคิดจะเหือดหายไป ความว่างอันไพศาลชนิดที่ไม่เคยประสบมาก่อนก็จะปรากฏแก่ท่าน
   การที่เราสำรวมจิตโดยมีสติกำหนดที่ลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาตินั้น เรียกว่า ‘สมถะ’ หรือความสงบ จิตจะหายพยศไม่แข็งกระด้างอ่อนละมุนดัดง่าย และลมหายใจก็จะละเอียดประณีตเข้าทุกขณะ เราจะให้สมถกรรมฐานของเราอยู่ในขั้นที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่) ไม่พยายามมุ่งเข้าสู่สมาธิในขั้นฌาน ในขณะนั้นเรายังมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ จิตที่วุ่นวายเร่าร้อนจะระงับลงไป แต่เรายังใช้สติปัญญาได้ เราใช้สติปัญญาที่มีอยู่พิจารณามองให้เห็นธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงที่เรา ประสบมา ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ทนได้ยาก ไม่มีตัวตน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ เราพิจารณาต้นลมและปลายลม เฝ้าดูที่ต้นลม อย่าไปคิดอะไร เพียงแต่เฝ้าดูเฉย ๆ ทำความรู้อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ร่างกายมีการหายใจซึ่งเป็นไปเอง ลมเข้าทำให้มีลมออก และลมออกทำให้มีลมเข้า เราควบคุมมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้เรียกว่า เราเจริญวิปัสสนา
   ความรู้ที่เราได้จากการเจริญจิตภาวนาตามพุทธวิธีนั้นเป็นความรู้ชนิดอ่อน น้อมถ่อมตน ท่านอาจารย์ชามักเรียกว่าเป็นความรู้ของไส้เดือน คือไม่ทำให้ท่านหยิ่งผยองพองขน ไม่ทำให้รู้สึกว่าได้อะไรหรือบรรลุอะไร ในทางโลกนั้นการฝึกชนิดนี้ดูจะไม่สำคัญหรือจำเป็น ไม่มีใครไปพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “เวลาสองทุ่มเมื่อคืนนี้ ท่านสุเมโธได้ลมหายใจเข้าไปเฮือกหนึ่ง” หลายคนชอบนั่งคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาโลกได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะช่วยประชาชนในโลกที่สามได้ ทำอย่างไรจะให้โลกนี้มันดีมันถูกต้อง เมื่อเราเอาสิ่งเหล่านี้มาเทียบกันดูแล้ว การเฝ้าสังเกตลมหายใจของเราไม่น่าจะสำคัญแต่อย่างใดเลย
   บางคนคิดว่าไปเสียเวลาทำไม มีคนมาพูดกับอาตมาในเรื่องนี้ว่า
   “พระพวกนี้มานั่งทำอะไรกัน ได้ทำอะไรในทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์บ้าง พวกท่านเห็นแก่ตัว คอยแต่จะให้คนเอาอาหารมาให้กิน ส่วนท่านเอาแต่นั่งเฝ้าดูลมหายใจ ท่านหนีหน้าจากโลกอันแท้จริง”
   แต่แล้วโลกอันแท้จริงที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่ จริง ๆ แล้วใครเป็นคนหนีและหนีจากอะไร และอะไรล่ะคือสิ่งที่เราจะต้องสู้หน้า เราพบว่าโลกอันแท้จริงที่เขาว่านั้นคือ โลกแห่งความเชื่อของเขา โลกที่เขาถูกผูกตรึงอยู่ หรือโลกที่เขารู้จักคุ้นเคย แต่โลกอย่างนั้นเป็นสภาวะอย่างหนึ่งของจิต
   จิตภาวนาเป็นการเผชิญหน้ากับโลกที่แท้จริง คือรู้จักและยอมรับตามที่มันเป็นจริง ไม่ใช่ไปเชื่อหรืออ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา
   โลกที่แท้จริงนั้นดำเนินไปตามรูปแบบของการเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เช่นเดียวกับลมหายใจ เราไม่ได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง หรือไปคว้าเอาทรรศนะทางปรัชญาจากที่อื่นมาอ้างเป็นเหตุผล แต่ดูความเป็นไปของธรรมชาติได้โดยการเฝ้าดูลมหายใจของเรา เมื่อเราเฝ้าดูลมหายใจก็เท่ากับเฝ้าดูธรรมชาติ และเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลมหายใจ เราก็เข้าใจธรรมชาติของสังขารทั้งหลาย
   ถ้าเราจะพยายามทำความเข้าใจกับสภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งในแง่มุมอัน หลากหลายแล้วละก็ จะเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งเกินกำลังที่จิตของเราจะทำได้ เราจึงเรียนรู้จากของง่ายๆ อย่างนี้ ด้วยจิตที่สงบ เราจะรู้ถึงลักษณะที่เป็นวงจร คือเราเห็นว่ามีเกิดก็มีดับ
   วงจรนี้เรียกว่า ‘สังสาระ’ หรือเวียนเกิดเวียนตาย เราสังเกตเห็นสังสารวัฏของลมหายใจ เราหายใจเข้าแล้วหายใจออก จะหายใจเข้าหรือออกแต่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันอิงกันอยู่ มันคงน่าขันสิ้นดีถ้าไปคิดว่า
   “ฉันต้องการแต่ลมหายใจเข้าอย่างเดียวไม่เอาลมหายใจออก ชีวิตของฉันจะอยู่กับลมหายใจเข้าอย่างเดียวเท่านั้น”
   ถ้าอาตมาพูดอย่างนี้กับท่าน ท่านคงคิดว่าอาตมาเป็นบ้าไปแล้ว แต่คนส่วนใหญ่เขาทำอยู่อย่างนั้น ดูเถอะว่าพวกเราโง่เขลาเพียงใด ในเมื่อเขาต้องการเกาะติดอยู่กับความตื่นเต้นเร้าใจ ความเพลิดเพลินสนุกสนาน ความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความสวยความงาม ความแข็งแรงกระฉับกระเฉงแต่เพียงด้านเดียว มันเป็นความบ้าบอแบบเดียวกับที่ท่านได้ยินอาตมาพูดข้างต้นว่า ต้องการแต่ลมหายใจเข้าอย่างเดียว
   เมื่อเราได้เห็นแล้วว่า การยึดมั่นอยู่กับความสวยงาม ความลุ่มหลง ความเพลิดเพลินในกามคุณ จะนำเราไปสู่ความผิดหวังในที่สุดเช่นนี้แล้ว ท่าทีของเราก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจงใจจะประหัตประหาร แต่จะปล่อยวางไปเฉยๆ ไม่เกี่ยวเกาะอีกต่อไป ไม่เสาะแสวงหาความครบถ้วนสมบูรณ์ในส่วนใดส่วนหนึ่งของวงจร แต่มองให้เห็นว่าความครบถ้วนสมบูรณ์นั้นอยู่ในวงจรทั้งวงจร ซึ่งมีชรา พยาธิ มรณะอยู่ในนั้นด้วย
   อะไรก็ตามที่เกิดมาจากความว่าง เมื่อขึ้นสู่สุดยอดแล้ว จะตกกลับมายังความว่างนั้นอีก และนี่คือความครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อเราเริ่มเห็นสังขารทั้งหลายมีลักษณะเกิดดับ เกิดดับ อยู่เช่นนั้น เราก็จะตั้งต้นก้าวไปสู่สภาพที่ปราศจากการปรุงแต่ง คือความสงบแห่งจิตและความเงียบ เราจะเริ่มสัมผัสกับสุญญตาหรือความว่าง ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย แต่เป็นความใสสว่างและความเงียบที่ก้องกังวาน แทนที่จะหันไปสู่สภาพที่เกิดจากการปรุงแต่งของลมหายใจและจิต เราจะหันไปสู่ความว่าง เราจะมองเห็นซึ้งถึงสภาวะเหล่านั้น และจะไม่ตามืดหลงไปมีปฏิกิริยาตอบโต้กับมันอีกต่อไป
   มันมีอยู่อย่างนี้ คือสภาพที่เกิดจากการปรุงแต่ง สภาพที่ปราศจากการปรุงแต่ง และความรู้แจ้ง ที่ว่าความรู้แจ้งนั้นคืออะไร เป็นความทรงจำใช่ไหม เป็นความรู้สึกตัวใช่ไหม หรือว่าเป็นเรา อาตมาหาคำตอบให้ไม่ได้ แต่อาตมารู้จักได้
   ในการปฏิบัติจิตภาวนาทางพุทธศาสนานั้น เราอยู่กับความรู้อันนี้ รู้อยู่ ตื่นอยู่ เบิกบานอยู่ เป็นพุทธะอยู่ในปัจจุบันนั้น รู้ว่ามีเกิดก็มีดับ ไม่มีตัวตน เรานำความรู้แจ้งนี้มาใช้กับทุก ๆ สิ่ง ทั้งที่เกิดจากการปรุงแต่ง และที่ไม่มีการปรุงแต่ง มันเป็นเรื่องนอกเหตุเหนือผล เหนือพ้นความเข้าใจ เราตื่นอยู่ ไม่หลีกหนีไปไหน และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญนี่เอง เรามีอิริยาบถสี่ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน ไม่ต้องไปใช้ท่าเอาก้นชี้ฟ้า หรือหกคะเมนตีลังกา เราใช้อิริยาบถทั้งสี่นี้กับลมหายใจเข้าออกธรรมดานี่เอง เพราะเรากำลังเคลื่อนไปสู่สิ่งที่เป็นธรรมดาสามัญ ไม่มีการปรุงแต่ง สภาพที่เกิดจากการปรุงแต่งมันผิดธรรมดา มันพิเศษออกไป แต่ความสงบแห่งจิตนั้นไม่มีการปรุงแต่ง เป็นของธรรมดาๆ จนคนไม่อาจสังเกตได้ มันมีของมันอยู่แล้วตลอดเวลา
   ที่เราไม่อาจสังเกตได้ ก็เพราะเราไปเกาะเกี่ยวเหนี่ยวหน่วงอยู่กับสิ่งที่ลึกลับและน่าตื่นเต้นเร้า ใจ บัดนี้ด้วยความรู้แจ้งเช่นนั้น เรากลับไปสู่จุดเดิมในจิตภาวนา คือความสงบระงับ เราเข้าใจได้ว่า โลกนี้มันก็เป็นของมันอย่างนั้น เราจะไม่ถูกหลอกให้หลงอีกต่อไป ความประจักษ์แจ้งในสังสารวัฏนำไปสู่ความเห็นแจ้งในนิพพาน
   ความรู้แจ้งของพระพุทธเจ้ามีอยู่สองอย่าง คือ รู้แจ้งในสภาพที่เกิดจากการปรุงแต่ง และที่ปราศจากการปรุงแต่ง รู้ถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ปราศจากอุปาทาน ในขณะนี้เองเรารู้สภาพของจิต รู้สึกขณะเราได้เห็น ได้ยิน ได้รู้รส ได้กลิ่น และได้นึกคิด ตลอดจนรับรู้ความว่างแห่งจิต ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำสอนที่ตรง การฝึกปฏิบัติของเรามิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้สำเร็จบรรลุมรรคผลอันใด แต่เพื่อให้รู้แจ้งในปัจจุบันขณะเท่านั้น

กองทุนพลังชีวิต อาคมธรรมทาน
คุณอาคม ทันนิเทศ
วิทยุทหารอากาศ ๐๑ มีนบุรี
เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ๑๐๕๐๐
โทร. ๙๑๔–๖๓๐๗, ๙๑๔–๖๕๑๗

 

คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_sumetho/lp-sumetho-04.htm
อ้างอิงจาก http://www.geocities.com/palapanyo/files/pakinaka/sumato.html
ทานธรรมจาก  https://sites.google.com/site/smartdhamma/sumetha_anapanasati

 
พระราชสุเมธาจารย์ (พระอาจารย์สุเมโธ) ลูกศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกในหลวงพ่อชา 



ก่อนจะมาสู่สำนักวัดหนองป่าพง
ท่านพระอาจารย์สุเมโธ (โรเบิร์ต แจ็คแมน)
อดีตทหารหน่วยเสนารักษ์แห่งกองเรือในสงครามเกาหลี
จบการศึกษาด้านเอเชียศึกษา ระดับปริญญาโท
จากมหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์ คาลิฟอร์เนีย
เคยทำงานเป็นอาสาสมัครสันติภาพ (PEACE CORPS)
เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เกาะบอร์เนียว
จากนั้นย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เริ่มฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุ จนตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตใน
ที่สุด 





ท่านบรรพชาอยู่ที่จังหวัดหนองคายเป็นวลา ๑ ปี
หลังจากอุปสมบทแล้วไม่นาน
ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านก็มีโอกาสได้พบกับพระสมชายลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา
ซึ่งเดินธุดงค์ไปเขตนั้น และบังเอิญที่พระสมชายพูดภาษาอังกฤษได้

พระอาจารย์สุเมโธจึงได้ฟังกิตติศัพท์และเกิดความสนใจ
ในวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของหลวงพ่อชาเป็นอย่างมาก
จนถึงกราบลาอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย
เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์
ขออยู่ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยกับหลวงพ่อชาที่วัดหนองป่าพง
ซึ่งหลวงพ่อก็เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขเอากับท่านว่า

"จะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้
ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก
ต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำกัน"




















ท่าน เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอมราวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับตั้งแต่ พ.ศ.2527 จนเกษียณตนเองจากตำแหน่ง เมื่อพ.ศ.2553 และได้กลับประเทศไทย โดยในปัจจุบันพำนักอยู่ ณ วัดป่ารัตนวัน  อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา


"เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี
 รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง
และรู้สึกว่าตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์
พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า
'วัดป่าพงทุกข์มาก !'
แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้
กลับไปกุฏิพิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง
แต่เกิดจากจิตใจเราเอง
"


ธรรมทาน http://www.dek-d.com/board/view/2497980/

ส่องทางสมถวิปัสสนา พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)

                                ส่องทางสมถวิปัสสนา
โดย
พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่
จังหวัดหนองคาย

 
    หนังสือ เล่มนี้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเฉพาะผู้ฝึกหัดจิตโดยตรง ถ้าผู้ยังไม่เคยฝึกหัดจิตแล้วก็ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะเขียนตามอาการความเป็นไปในการปฏิบัติจิต ที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะข้าพเจ้ามาคำนึงถึงผู้ปฏิบัติทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นผู้มีการศึกษาน้อย แต่มากด้วยศรัทธา ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติพระกรรมฐานกันอย่างจริงจัง แต่การปฏิบัตินั้นผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายไม่ค่อยมีฝั่งมีฝา ไม่รู้ว่าปฏิบัติเป็นไปแล้วหรือยังไม่เป็นไป ถ้าเป็นไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นไปแค่ไหน จะหาร่องรอยยึดเอาหลักฐานแน่นอนไม่ได้ จึงพากันเสื่อมเสียจากการปฏิบัตินั้นก็มี เพราะอุบายสอนผู้ฝึกหัดจิตนั้นไม่เหมือนเรียนปริยัติ
    ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เขียนแนวทางปฏิบัติ ซึ่งผู้ฝึกหัดจิตทั้งหลายพากันดำเนินอยู่แล้วเป็นส่วนมาก การดำเนินพระกรรมฐานนี้มีนัยเป็นอันมาก แต่เมื่อรวมความลงแล้วมีอยู่ ๒ ประการ คือ
    ๑. การ เจริญพระกรรมฐาน บริกรรมหรือเพ่งเอาอันใดอันหนึ่งเป็นนิมิต ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน เพื่อให้จิตสงบอย่างเดียว แล้วกำหนดเอาแต่ผู้รู้ แล้วอยู่ด้วยอาการอย่างนั้น เป็นที่พอใจและปรารถนา พูดง่ายๆ เรียกว่าฝึกหัดเอาแต่สมถะอย่างเดียว
    ๒.บริกรรม หรือเพ่งอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ไม่ให้จิตสงบ คือน้อมจิตให้เข้าไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว เพ่งพิจารณานิมิตนั้นให้เป็นธาตุหรือเป็นอสุภ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์เป็นต้น เมื่อเห็นชัดแล้วจิตจะรวมลงไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว หรือจะเป็นสมาธิ หรือจะเกิดปัญญาให้สลดสังเวชก็ได้ พูดย่อๆ เรียกว่าหัดสมถะเป็นไปพร้อมกันกับวิปัสสนา
    ใน หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าเขียนตามแนวข้อ ๒ นี้ เพราะว่าแนวนี้เดินสม่ำเสมอดีกว่าแนวที่หนึ่ง แต่เมื่อฝึกหัดแนวที่หนึ่งนั้นชินติดมามากแล้วจะเปลี่ยนแนวมาฝึกหัดแนวที่ สองนี้ ชักให้ลำบากไปสักหน่อย ผู้ฝึกหัดแนวที่สองนี้ชำนาญแล้ว ถึงจะฝึกหัดแนวที่หนึ่งก็ไม่ยาก บางที่เป็นไปเองก็มี ความจริงนักฝึกหัดที่แท้จริงแล้ว ควรฝึกหัดให้ได้ทั้ง ๒ อย่างจะเป็นการดีมาก ถ้ามิเช่นนั้นจะไม่รู้ความเป็นไปแห่งการปฏิบัติตามแนวทางทั้ง ๒ นั้น ว่ามีรสชาติต่างกันอย่างไร
    หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าให้ชื่อว่า ส่องทางสมถวิปัสสนา อธิบายว่า “ส่องไปข้างหน้า” คือจะต้องดำเนินไปตามแนวทางนี้ก็ได้ “ส่องกลับข้างหลัง” คือผู้ที่ฝึกหัดจิตที่เป็นมาแล้ว แต่ไม่รู้อาการเหล่านั้นว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อมาพิจารณาตามนัยนี้แล้วก็อาจช่วยความรู้ขึ้นอีกก็ได้ หนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าเขียนไว้เพื่อเป็นอุบายสำหรับผู้ฝึกหัดจิตโดยเฉพาะ จะเอาไปใช้เป็นตำรากันจริงจังไม่ได้ เพราะตำราเดิมของท่านมีหลักฐานบริบูรณ์ดีอยู่แล้ว เมื่อฝึกหัดจิตตามแนวนี้ได้แล้ว ก็อาจจะส่องตลอดถึงตำราเดิมก็ได้
    ฉะนั้น ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะอำนวยผลให้แก่ท่านผู้ที่เป็นนักฝึกหัด นักสนใจ ในทางพระกรรมฐานตามสมควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ
 
                                                                                                                       เทสรังสี
วัดเขาน้อยนาวา

อำเภอท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี
๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒   
  

ส่องทางสมถวิปัสสนา
บทเบื้องต้นหน้าวิชา
สุตฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
ผู้ฟังดี ย่อมได้ ปัญญา

    พุทธโอวาท ศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่มีรสชาติอันอร่อยสุขุมมาก เหล่าชุมชนทั่วไปฟังได้ ปฏิบัติได้ รู้ได้ ตามชอบใจ ตามภูมิแลฐานะของตนๆ ไม่เป็นการข่มขืนขัดขวางต่อนิสัยและระบอบใดๆ ของใครในโลกทั้งนั้น คำสอนของพระองค์เป็นแต่ชี้แนวทางปฏิบัติให้ พร้อมทั้งบอกเหตุผลของการปฏิบัตินั้นๆ ใครจะปฏิบัติตามหรือไม่ คำสอนนั้นก็มิได้ลงโทษหรือให้คุณแม้แต่ประการใด โทษแลคุณย่อมเป็นของอำนวยให้ผลตามเหตุนั้นเท่านั้น พระองค์ได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติไว้พร้อมด้วยพระทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหา กรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ โดยมิได้หวังการตอบแทนแม้แต่ประการใดเลย พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงไว้แล้วซึ่งพระวิสุทธิคุณอันวิเศษ หากิเลสทั้งหลายมีอคติเป็นต้น มิได้เจือปนไปในพระทัยของพระองค์เลย พระองค์ได้ทรงไว้แล้วซึ่งสติปัฏฐานทั้งสามบริบูรณ์ทุกเมื่อ คือว่า
           พระองค์มิได้หลงดีใจต่อผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ๑
           มิได้เสียใจต่อผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ๑
           ใครจะปฏิบัติตามบ้างไม่ปฏิบัติตามบ้าง พระองค์เจ้าก็มีสติตั้งมั่นอยู่ทุกเมื่อไม่หลงยินดีและยินร้าย ๑
    ฉะนั้น พระองค์จึงทรงมีวิสารทแกล้วกล้าสามารถอาจหาญ โปรดประทานพระโอวาทในที่ทุกแห่ง แล้วทรงบัญญัติศีล สมาธิ ปัญญาเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มีวิมุติอันเป็นยอดเยี่ยม โดยมิได้หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งนั้น
    สาธุชน ทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในการที่พวกเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ชาติ เป็นคติอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยของวิเศษต่างๆ มีอริยทรัพย์เป็นเครื่องประดับ ซึ่งสาธุชนทั้งหลายพากันปรารถนาอยู่แล้ว อนึ่ง พระพุทธโอวาทที่ชี้ขุมทรัพย์นับตั้งอนันต์นี้ มิใช่เป็นของหาได้ง่ายเมื่อไร เราเกิดมานับเป็นแสนชาติอนันต์ ซึ่งจะได้พบปะโอวาทคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธนี้ก็สุดวิสัย อย่าพึงพากันเข้าใจว่าเป็นของหาได้ง่าย ฉะนั้น เมื่อมรดกอันมีค่าสามารถแลกเอาซึ่งของวิเศษทั้งหลาย มีมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ พระนิพพานสมบัติ เป็นต้น อันมนุษย์ในโลกนี้ปรารถนาอยู่แต่ยังไม่พึงเห็น เวลานี้มรดกนั้นได้ตกเข้ามาถึงมือของพวกเราแล้วตามความประสงค์ ไฉนเล่าพวกเราจึงไม่ยอมรับแลใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์แก่เราบ้างเลย สาธุชนทั้งหลายจงพากันรีบรับ จงพากันรีบชม จงพากันรีบใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเสีย ในเมื่อทรัพย์ของดีมีอยู่ ในเมื่อมีผู้ชี้ขุมทรัพย์แลคุณค่าพร้อมทั้งอุบายใช้จ่ายทรัพย์นั้น จะได้ทันแก่กาลสมัยที่ตนปรารถนา อย่าได้พากันยึดหน่วงด้วยบ่วงของมาร ภาระหนักจงพากันพักไว้ก่อน ตอนหลังยังมีถมไป อุบายใช้ทรัพย์นับไม่ถ้วน ล้วนแต่เป็นของดีมีคุณ พระพุทธองค์ทรงจำแนกแจกไว้ในคัมภีร์เป็นอเนก แต่ในที่นี้จะชี้แจงอุบายจ่ายทรัพย์ถุงน้อยๆ อันมีคุณค่าเป็นอนันต์ ขอสาธุชนทั้งหลายผู้อ่านอย่าพากันเข้าใจว่าเป็นอุบายของผู้แต่ง ความจริงมีในพระคัมภีร์แล้ว แต่เป็นของกว้างมาก ยากที่ผู้จะหยิบเอามาใช้จ่ายให้ทันแก่ความต้องการของตนได้ ฉะนั้น จึงได้ย่นย่อเอาแต่หัวข้ออันจะพึงปฏิบัติมาแต่งไว้ในหนังสือเล่มนี้
  ผู้ เริ่มจะเรียนบทกฎใช้ทรัพย์ จะตื่นจากหลับกลับจากความหลง อย่าพึงส่งจิตคิดไปตามสงสาร จงเห็นเป็นของน่ารำคาญ สงสารมันลวงเราผูกมัดรัดรึงตึงเครียดไม่เกลียดหน่าย หลงมัวเมา แก่เฒ่า หนุ่มสาว แม้แต่ชั้นเด็กๆ ก็ไม่รู้จักอิ่มพอ รสสงสารทำให้คนเมาไม่รู้จักสร่าง ตัวแก่จนจวนจะดับจิตยังไม่คิดถึงที่พึ่งของตน สิ่งอื่นนอกจากความดีที่มีอยู่ในตนแล้ว คนอื่นที่ไหนใครเขาจะให้พึ่งได้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราคนเดียวทั้งนั้น ตายแล้วไม่มีใครเป็นเพื่อนของเราเลย จงเริ่มรีบเรียนบทกฎใช้ทรัพย์ไว้สำหรับตน คนเราทุกๆ คนยังเดินทางอยู่ไม่รู้จักจบ ซ้ำจะต้องประสบพบกับภัยใหญ่ในวันหนึ่งข้างหน้า (กล่าวคือ พยาธิและมรณะ)
  เมื่อ เราเรียนรู้วิชาใช้ทรัพย์พร้อมกับคุณค่าของทรัพย์ไว้ได้แล้ว จะได้ทุ่มเททรัพย์ของตนที่มีอยู่นั้นต่อสู้กับปฏิปักษ์ พึงทราบเถิดว่า สนามยุทธหมู่ไพรีสี่สหาย นายทหาร ๔ คนพากันชุมชุกสนุกใจอยู่ในไพรขันธ์ ต่างขยันทำกิจตามหน้าที่ไม่มีเกียจคร้านเลย คนหนึ่งดักต้นทางพบแล้วปล่อยไป คนที่สองด้อมมองตามทุกฝีย่าง คนที่สามคุกคำรามตามทารุณแสนร้ายกาจ คนที่สี่มองมับเมียงคอยเหวี่ยงเปรี้ยงให้บรรลัย
   สี่ สหายนายโจรใหญ่นี้ทำเป็นมิตรสนิทสนมกับเรา นั่งนอนยืนเดินอยู่กิน พูดจาเฮฮาหัวเราะ เศร้าโศกสุขทุกข์ เขาย่อมเป็นไปกับเราทั้งนั้น เล่ห์กลมารยาของเขาลึกล้ำมาก ยากที่บุคคลจะรู้เหลี่ยมของเขา เว้นเสียแต่พระพุทธองค์เจ้าและพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายเท่านั้นจะรู้กลอุบาย ของเขา ฉะนั้น สาธุชนทั้งหลายผู้เห็นภัยแล้วกลัวต่อนายโจรทั้งสี่สหาย พึงพากันยินดีเรียนเอาวิชาคือพุทธมนต์ไว้สำหรับป้องกันตน พุทธมนต์นั้นมี ๒ ประเภท พึงรู้คุณวิเศษแลลักษณะอาการของพุทธมนต์นั้นมีดังนี้ก่อนคือ การศึกษาเล่าเรียนท่องบ่นบทบาทอรรถบาลี ซึ่งมีในพระคัมภีร์ทั้งหลาย เรียกว่าพระปริยัติธรรม วิชาขั้นนี้เป็นวิชาขั้นต้น มนต์นี้เรียนแล้วไม่สาธยายเสกเป่า คือไม่ปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจนั้น พวกไพรีทั้งสี่ย่อมยิ้มกริ่ม มนต์นั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลแก่ตน ตรงกันข้าม ถ้าปฏิบัติเขาย่อมเกรงขาม ฉะนั้น ท่านจึงแสดงมนต์ประเภทนี้ไว้ว่ามีทั้งคุณและโทษดังนี้ อลคทฺทูปมาปริยตฺติ พระปริยัติเปรียบด้วยอสรพิษ คือ ผู้ศึกษาเล่าเรียนทรงจำไว้ไม่ดี ไม่ตรึกตรองให้ถ่องแท้ จะเข้าใจผิดๆ ถูกๆ แล้วนำไปใช้ย่อมให้โทษแก่ผู้นั้น นิสฺสรณตฺถปริยตฺติ พระปริยัติที่บุคคลท่องบ่นจดจำเล่าเรียนทรงไว้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว โดยมีความประสงค์จะทำตนให้พ้นจากโอฆะโดยการเรียนนั้น ภณฺฑาคาริกปริยตฺติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนของพระอริยเจ้าผู้ท่านสิ้นกิเลสแล้วดังนี้ เป็นพุทธมนต์ที่หนึ่ง
   พุทธ มนต์ที่สองนั้น ได้แก่ สมถวิปัสสนากรรมฐาน อธิบายว่า ผู้ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างนั้นมาแล้วก็ดี หรือเรียนแต่น้อยๆ เฉพาะอุบายของกรรมฐานนั้นก็ดี แล้วตั้งหน้าตั้งตาเจริญพระกรรมฐานนั้นเรื่อยไป วิชาประเภทหลังนี้นายโจรทั้งสี่มีความกลัวมาก
    พุทธมนต์ทั้ง ๒ ประเภทนี้เป็นวิชาป้องกันตัวในเมื่อเข้าสู้ยุทธไพรี ๔ นายนั้น สาธุชนทั้งหลายไม่ควรประมาท ควรพากันเรียนไว้ให้ช่ำชองอาจหาญ จะพาข้ามด่านไปได้ก็เพราะวิชานี้
  ต่อ ไปนี้จะแสดงวิชาประเภทที่ ๒ ซึ่งเรียกว่าสมถวิปัสสนานั้นต่อไป วิชาประเภทนี้เป็นวิชาที่เรียนแล้วลงมือกระทำกันจริงๆ เหตุการเรียนมากและเรียนน้อยไม่สู้จะสำคัญนัก ส่วนสำคัญอยู่ที่กำลัง ๕ ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เท่านั้น มีกำลังทั้ง ๕ นี้เป็นทุนอุดหนุนแล้ว แม้จะเรียนบทกรรมฐานเพียงสักว่า “ความตายของเราเที่ยง” เท่านี้ก็สามารถจะต่อสู้ชิงชัยได้ สมกับพระสูตรท่านแสดงไว้ว่า “ปุถุชนผู้เรียนมากแลเรียนน้อย เมื่อปฏิบัติแล้วย่อมเข้าใจถึงธรรมได้เหมือนกัน” ดังนี้ อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดที่ใจมิได้มีในที่อื่น พระปริยัติธรรมทั้งหลายถึงจะมากมายสักเท่าไร ก็บัญญัติตามลักษณะและกิริยาที่แสดงออกมาจากใจทั้งนั้น ผู้รู้จักลักษณะอาการของใจหยาบก็บัญญัติได้น้อย ผู้รู้ละเอียดก็บัญญัติได้มาก เหตุนั้นท่านจึงแสดงวิมุตติของพระขีณาสพไว้ถึง ๔ ชั้นคือ พระสุกขวิปัสสก พระเตวิชชะ พระฉฬภิญญะ พระจตุปฏิสัมภิทัปปัตตะ ดังนี้ พวกท่านทั้งหลายย่อมเข้าถึงวิมุตติหลุดพ้นกิเลส เข้าถึงพระนิพพาน ก็รู้รสชาติที่เป็นแก่นสารด้วยใจของตนเองทั้งนั้น พระอรหันต์ ๔ เหล่านั้น มิได้วิวาทเป็นปฏิปักษ์ข้าศึกแก่กันและกันเลย ไม่เหมือนปุถุชนพวกเราทั้งหลาย ผู้ตาบอดคลำช้างต่างก็พากันเข้าใจว่าของตนถูก ผลที่สุด พวกตาบอดเหล่านั้นเกิดทะเลาะทุบต่อยกันขึ้นเพราะช้างตัวเดียวเป็นเหตุ
    พระ โลกเชษฐ์พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม เครื่องตัดสินพระธรรมวินัยในพระศาสนานี้ไว้แล้วถึง ๘ ประการว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อราคะ ธรรมเหล่านั้นมิใช่ธรรม มิใช่วินัย คำสอนของพระองค์ ดังนี้เป็นต้น เมื่อพระธรรมยังไม่มีใครบัญญัติ พระสัพพัญญูผู้วิเศษปฏิบัติถูกต้องแล้ว รู้แจ้งด้วยพระองค์เองแล้ว บัญญัติเหล่านั้นสอนพระสาวกทั้งหลาย เมื่อพระสาวกองค์ใดปฏิบัติถูกต้องเข้า ธรรมเหล่านั้นย่อมมาปรากฏชัดในใจของท่าน ความรู้ความฉลาดความหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เกิดมีขึ้นเฉพาะในใจของท่าน ด้วยการใช้อุบายของพระองค์ ความหลุดพ้นเพราะเห็นสภาวธรรมตามเป็นจริง จึงทอดทิ้งกิเลสทั้งหลาย มีขันธูปธิ เป็นต้น ไม่ต้องเชื่อคนอื่นอีกแล้ว ฉะนั้น ผู้ยังไม่ถึงวิมุตติจะบัญญัติธรรมใดๆ ก็ยังเป็นสมมติอยู่นั่นเอง ตกลงว่าสมมติทับสมมติเรื่อยไป ส่วนท่านที่ถึงวิมุตติแล้ว แม้จะบัญญัติธรรมเหล่าใดๆ บัญญัตินั้นก็ถูกต้องตามบัญญัติจริงๆ เพราะความในใจของท่านยังเป็นวิมุตติอยู่ตามเดิม
    สมถ-วิปัสสนานี้ เป็นวิถีทางตรงที่จะให้ถึงซึ่งวิมุตติ แล้วเกิดปฏิเวธ บัญญัติสภาวะสิ่งนั้นๆ ให้เป็นไปตามความจริงถูกต้องได้ สมถะเป็นปฏิปักษ์แก่กามภพ ตัดหนทางอันคดเคี้ยวให้ตรง ด้วยองค์ฌานแลสมาธินั้นๆ วิปัสสนาปัญญา รอบรู้เห็นอยู่เฉพาะซึ่งของจริงทั้งหลาย เป็นต้นว่าเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นจริงอยู่อย่างนั้น ไม่แปรผันยักย้ายเป็นอื่นไปเลย จิตวางเฉย รู้เท่าทันต่อสิ่งเหล่านั้นแล้ว ไม่ถือมั่นด้วยอัตตานุทิฏฐิ ตัดกระแสของภพทั้งสามให้ขาดไปด้วยวิปัสสนาอยู่ในที่เดียว
   อุบาย ของสมถะนี้ท่านแสดงไว้มีมากมายหลายอย่าง จะต่างกันก็แต่อุบายเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อเข้าถึงองค์ของสมถะแล้วก็อันเดียวกัน คือเอกัคคตารมณ์ ฉะนั้น ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าท่านจึงแสดงสมถะ ฌาน สมาธิ เป็นอันเดียวกัน เพราะธรรมทั้งสามนี้ มีพระกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์เหมือนกันทั้งนั้น ต่างแต่ผลัดกันเป็นเหตุเป็นผลแห่งกันและกันเท่านั้น (ดังจักอธิบายต่อไปข้างหน้าเรื่องรูปฌาน ๔ และสมาธิ)

จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
จิตที่อบรมดีแล้วนำความสุขมาให้

    พระ กรรมฐานทั้งหลาย ๔๐ มีกสิณ ๑๐ เป็นต้น มีอาหาเรปฏิกูลสัญญาเป็นปริโยสาน เมื่อน้อมเข้ามาให้มีอยู่เฉพาะที่กาย วาจา ใจ ของตนแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าตัวของเราทั้งก้อนนี้เป็นที่ประชุมที่ตั้งของพระกรรมฐาน หรือเป็นแหล่งของสมถะ ฌาน สมาธิ ตลอดถึงปัญญาและวิมุตติด้วย เพราะเหตุที่เราไม่เข้าไปเพ่งพิจารณาที่กายนี้ ตามวิถีที่พระพุทธองค์เจ้าทรงสอนไว้ จึงไม่เห็นธรรมวิเศษของดีทั้งหลาย มีสมถะเป็นต้นฯ ฉะนั้น ในที่นี้จะได้ยกเอาพระกรรมฐาน อันเป็นแหล่งของสมถะ ฌาน สมาธิ คือ กายนี้อย่างเดียวมาแสดงพอเป็นสังเขป เมื่อเจริญกรรมฐานอันนี้ได้แล้ว กรรมฐานอื่นนอกจากนี้ก็ไม่ต้องลำบาก
    กายคตานี้ท่านแสดงไว้มีหลายนัย เช่น แสดงเป็นธาตุ ๔ อสุภ ๑๐ เป็นต้น ในที่นี้จะรวมย่อเข้าแสดงเป็นอันเดียว ให้ชื่อว่า อสุภกายคตา แล้วจะจำแนกออกไปพอเป็นสังเขปบ้างเล็กน้อยดังนี้
    กายคตา พิจารณากายให้เห็นเป็นธาตุ เมื่อผู้จะพิจารณากายนี้ให้เห็นเป็นธาตุ ๔ แล้ว พึงน้อมเอาจิตที่สงบพอเป็นบาทฐานซึ่งได้อบรมไว้แล้วด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ดังนี้เป็นต้นนั้น เข้าไปเพ่งพิจารณาเฉพาะอาการของกายทั้งหลาย ที่เรียกว่า ทวตฺตึสาการ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น แล้วอย่าให้จิตนั้นส่งไปในที่อื่น น้อมเอาจิตนั้นเพ่งเฉพาะสิ่งเดียว เช่นจะเพ่งผม ก็ให้เพ่งเอาแต่เฉพาะผมอย่างเดียวเสียก่อนว่า ผมๆๆ เท่านั้นเรื่อยไป พร้อมกับคำนึงและทำความเชื่อมั่นว่านั่นเป็นธาตุดินจริงๆ ดังนี้ ถ้าจะเพ่งอาการอื่นต่อไปมีขนเป็นต้น ก็ให้เพ่งมีอาการและลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน อาการเพ่งอย่างนี้ ถ้าชัดส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนอื่นๆ ก็จะชัดไปตามกัน แต่เมื่อจะเพ่งส่วนใด ขอให้ชัดในส่วนนั้นเสียก่อน อย่าพึงรีบร้อนไปเพ่งส่วนนั้นบ้าง ส่วนนี้บ้าง อาการโน้นบ้าง อาการนี้บ้าง พระกรรมฐานจะไม่ชัด อาการเพ่งอย่างนี้เรียกว่าเพ่งส่งตามอาการ บางคนมักจะให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นตรงที่เพ่งนั้นๆ เพราะจิตยังไม่สงบหรือกำหนดอุบายยังไม่ถูก บางทีถูก เช่นอย่างว่าเพ่งผมแล้วอย่าสำคัญว่าผมมีอยู่ที่ศีรษะของเราดังนี้ก็แล้วกัน มันจะมีมาในที่ใดมากแลน้อย ประการใดก็ดี ให้เพ่งแต่ว่าผมเท่านั้นก็พอแล้วฯ
    ถ้าดังอธิบายมานี้ยังไม่ชัด พึงน้อมเอาอาการทั้งหลายมีผมเป็นต้น ให้เข้ามาตั้งเฉพาะผู้มีความรู้สึก “คือใจ” แล้วเพ่งโดยดังนัยก่อนนั้น เมื่อยังไม่ชัด พึงนึกน้อมเอาธาตุดินภายในกายนี้มีผมเป็นต้น ว่าต้องเป็นดินแน่ แล้วน้อมออกไปเทียบกับธาตุดินภายนอก ว่าต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกันดังนี้ก็ได้ หรือน้อมเอาธาตุดินภายนอกเข้ามาเทียบกับธาตุดินภายในกายของเรานี้ว่าจะต้อง เป็นอย่างนั้นแน่ ดังนี้ก็ได้ เมื่อเห็นชัดโดยอาการอย่างนั้น เรียกว่าเห็นโดยอนุมาน พอเป็นมุขบาทของฌานสมาธิได้บ้าง
    ถ้า หากความเห็นอันนั้นแก่กล้า จะสามารถตัดความกังขาลังเลสงสัยเสียได้จริงๆ ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนั้นทีเดียว จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แน่นอน จนจิตนั้นถอนออกจากความถือมั่นสำคัญเดิม ด้วยอำนาจของความหลง จิตตกลงเชื่อแน่วแน่แจ่มใสมีสติรู้อยู่ทุกระยะที่รู้ที่เห็นที่พิจารณาทุก อาการทุกส่วน เรียกว่าเห็นด้วยอำนาจของ สมาธิ มีสมาธิเป็นภูมิฐาน
    เมื่อ ความรู้ความเห็นอันนั้นมีกำลังเพียงพอ ปัญญาเข้าไปตรวจดูว่าของเหล่านี้มีอยู่ภายในเช่นไร ภายนอกทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ของที่หยาบและละเอียดย่อมมีสภาวะเป็นเหมือนกันทั้งนั้น ในโลกนี้มีธาตุ ๔ ทั้งหมดล้วนแต่เกิดจากธาตุ ๔ ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด กี่ร้อยกี่พันชาติ ก็มีสภาวะเป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้น เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นด้วย วิปัสสนาปัญญา
    เมื่อ เพ่งพิจารณาโดยอาการทั้งสาม ดังที่อธิบายมาแล้วนี้ เมื่อถึงกาลสมัยซึ่งมันจะเป็นไปเอง โดยที่ไม่ได้ตั้งใจอยากจะให้มันเป็น หรือตกแต่งเอาด้วยประการใดๆ จิตที่เพ่งพิจารณาอยู่นั้นจะรวมลงมีอาการให้วุ่นวายคล้ายกับเผลอสติหรือบาง ทีก็เผลอเอาจริงๆ ดังนี้เรียกว่าจิตเข้าสู ภวังค์ คือเป็นภพใหญ่ของจิตที่ยังไม่ปราศจากอุปธิ รวมเอาขันธ์ทั้งห้า ซึ่งเป็นส่วนภายนอกเข้าไว้ในที่เดียวกัน ในขณะเดียวกันนั้น บางทีจะปรากฏภาพที่เราเพ่งพิจารณามาแล้วแต่เบื้องต้น เช่น เพ่งผมให้เป็นดินนั้นแปรเป็นสภาพที่ละเอียดชัดขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะได้เห็นด้วยขันธ์ในอันบริสุทธิ์ มิได้เห็นด้วยขันธ์อันหยาบๆ ภายนอกนี้ บางทีเมื่อภาพชนิดนั้นไม่ปรากฏ จะมีปีติปรากฏขึ้นในขณะนั้นให้เป็นเครื่องอัศจรรย์ เช่นทำให้กายหวั่นไหวหรือโยกคลอน สะอื้นน้ำตาร่วง กายเบา เหล่านี้ หรืออาจจะให้เห็นอะไรต่ออะไรมากอย่างนานัปการ ทำผู้ทำกรรมฐานให้ชอบใจมาก ถ้าผู้เจริญวิปัสสนาแล้วเกิดอาการเหล่านี้ จัดเป็นอุปกิเลสของวิปัสสนา ถ้าท่านผู้หาอุปธิมิได้ในขันธสันดานของท่านแล้ว อาการเหล่านี้เป็นวิหารธรรม เพื่อวิหารสุขในทิฏฐธรรมของท่าน ถ้าผู้เจริญสมถะอยู่ ความรู้ความเห็นอย่างนั้นเรียกว่ารู้เห็นด้วยอำนาจภวังค์ ความรู้ความเห็นสามตอนปลายนี้ เรียกว่า ปัจจักขาสิทธิ
    การ เพ่งพิจารณากายนี้ มีนัยวิจิตรพิสดารมาก แต่เมื่อสรุปใจความลงแล้ว ผู้มายึดเอากายนี้เพ่งเป็นต้นทางแล้ว ปลายทางก็มีอาการเป็น ๒ คือ เห็นชัดด้วยอนุมาน ๑ เห็นชัดด้วยปัจจักขาสิทธิ ๑  ปัจจักขา สิทธิยังแจกออกไปอีกเป็น ๓ คือ เห็นชัดด้วยสมาธิ ๑ เห็นชัดด้วยฌาน ๑ เห็นชัดด้วยวิปัสสนาปัญญา ๑ ฉะนั้น ความรู้ความเห็นซึ่งเกิดจากการเพ่งพิจารณากายมีแยบคายออกเป็นทาง ๓ เส้น ดังอธิบายมาแล้วนี้ จะไม่นำมาอธิบายอีก จะแสดงแต่ต้นทาง มีพิจารณากายให้เป็นอสุภเป็นต้น ผู้พิจารณากายพึงรู้เอาโดยนัยดังอธิบายมาแล้วนั้นเถิด
    กายคตา การพิจารณากายให้เป็นอสุภ พึงเพ่งพิจารณากายก้อนนี้ อันเป็นที่ตั้งของอัตตานุทิฏฐิให้เกิดอุปธิกิเลส เป็นเหตุให้เราหลงถือว่าเป็นสุภของสวยงาม ให้เป็นอสุภ แล้วจะได้ละวิปลาส หลงถือของไม่สะอาดสวยงาม แล้วรู้ตามเป็นจริง
    กาย นี้เป็นของอสุภมาแต่กำเนิด เมื่อจะเกิดมาเป็นกายก็เอาอสุภคือสัมภวธาตุ (เลือดขาว) ของมารดาบิดามาประสมกันเข้าแล้วจึงเกิดเป็นกายได้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมา ซึ่งนอนอยู่ในครรภ์ของมารดานั้น ก็นอนอยู่ในอสุภ เกลือกกลั้วด้วยน้ำเลือดน้ำเน่าของมารดา อาศัยน้ำเลือดน้ำเน่าเหล่านั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจึงเจริญมา เปรียบเหมือนตัวหนอนซึ่งเกิดอยู่ในหลุมคูถ บ่อนกินคูถเป็นอาหารจึงเติบโตขึ้นมาได้ฉะนั้น ตัวหนอนบ่อนกินคูถเป็นอาหารด้วยมุขทวาร ยังดีกว่าทารกที่รับอาหารด้วยสายรกสืบจากมารดาเข้าไปหล่อเลี้ยงชีวิตโดย อาการซึมซาบเข้าไปทางสายสะดือนั้นเสียอีก
  เมื่อ คลอดออกมาก็เป็นของน่าอุจาดเหลือที่จะทน เปรอะเปื้อนด้วยน้ำเน่าแลน้ำหนอง เหม็นสาบเหม็นโขงยิ่งร้ายกว่าผีเน่าที่นอนอยู่ในโลง คนทั้งหลายนอกจากมารดาบิดาแลญาติที่ใกล้ชิดแล้ว ไม่อาจมองดูได้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาทุกระยะวัยนั้นเล่า ก็อาศัยของเน่าปฏิกูลเป็นเครื่องบำรุงมาตลอดกาล เช่นอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นต้น จะเป็นของดีวิเศษปรุงสำเร็จมาแล้วด้วยของดีอันมีค่า เมื่อเข้ามาถึงมุขทวารแล้ว อาหารเหล่านั้นก็เป็นของปฏิกูลคลุกเคล้าไปด้วยเขฬะน้ำลายอันเป็นของน่า เกลียดหน่ายทั้งตนแลคนอื่นด้วย เมื่อกลืนล่วงลำคอลงไปอยู่ในกระเพาะอาหารแล้ว เปื่อยเน่าเท่ากับหลุมคูถที่หมักหมมมานานตั้งหลายปี ของปฏิกูลซึ่งมีอยู่ภายในทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมซึมซาบไหลออกมาภายนอก เกรอะกรังอยู่ตามผิวหนังแลช่องทวารต่างๆ แมลงหวี่แมลงวันพวกหลงของเน่าสำคัญว่าเป็นของดี พากันยื้อแย่งไต่ตอมกิน ในกายนี้ทั้งหมดจะหาของดีสักชิ้นหนึ่งก็ไม่ได้ เว้นไว้แต่บุคคลผู้ยังหลงสำคัญว่าเป็นของดีสะอาด จึงสามารถหลงรักและชมชอบว่าเป็นของดีสะอาด ทั้งๆ ที่เขายังหลงอยู่นั้นเอง จึงได้หาเครื่องทาหาของย้อมมาประพรมเพื่อกลบกลิ่นอันไม่พึงใจ แต่เขาเหล่านั้นหารู้ไม่ว่า การทำเช่นนั้นเพื่อกลบกลิ่นกลับเข้าไปตรงกันข้ามไปเสียว่าเพื่อความหรูหรา และเพลิดเพลินเจริญใจแก่ตนและบุคคลผู้ที่ได้เห็นได้ดู ข้อนี้อุปมาเหมือนกับหีบศพที่กลบให้มิดปิดให้ดี ระบายสีให้สะอาดวาดลวดลายด้วยน้ำทอง คนทั้งหลายมองดูแล้วชมว่าสวย ที่ไหนได้ ภายในเป็นซากอสุภ
    พิจารณากายนี้ให้เป็นอสุภดังแสดงมาแล้วนี้ก็ได้ หรือจะพิจารณาโดยอนุพยัญชนะคือ ทวตฺตึสาการ อาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ให้เป็นอสุภแต่ละอย่างๆ ดังแสดงมาแล้วข้างต้นก็ได้ เมื่อผู้มาพิจารณาโดยนัยนี้ให้เห็นเป็นอสุภดังแสดงมานี้แล้ว ย่อมละเสียซึ่งความเมาในรูปนี้ได้
    กายคตา พิจารณาให้เห็นเป็นทุกข์ ให้พิจารณาจำเดิมแต่ตั้งปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ของมารดา นั่งขดคู้อยู่ด้วยอิริยาบถเดียว สิ้นทศมาสสิบเดือน อาศัยผลกรรมตามสนองจึงประคองชีวิตมาได้โดยความลำบาก แม้แต่อาหารที่จะเลี้ยงชีพเป็นต้นว่าข้าวแลน้ำก็มิได้นำเข้าทางมุขทวาร อาศัยรสชาติอาหารของมารดาที่ซึมซาบออกไปจากกระเพาะแล้วนั้น ค่อยซึมซาบไปหล่อเลี้ยงโดยสายรกที่ติดต่อจากมารดาเข้าไปโดยทางสายสะดือ ลมหายใจเล่าก็ต้องอาศัยลมหายใจของมารดาที่กลั่นกรองแล้วออกจากปอด เข้าไปสูบฉีดทีละนิดทีละหน่อยพอให้มีชีวิตเป็นไป ความอึดอัดเพราะการคับแคบก็เหลือที่จะทนทาน อาหารที่มารดารับเข้าไปถ้าเป็นของร้อนและเผ็ดแสบ ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ร้อนและเผ็ดแสบไปด้วย ความทุกข์ในเมื่ออยู่ในครรภ์เหลือที่จะทนทาน แต่เป็นการจำเป็น บุญกรรมตามสนองไว้จึงไม่ถึงกับตาย แต่เมื่อทุกข์ถึงขนาดเพราะได้รับการกระทบกระทั้ง บางกรณีก็ถึงซึ่งชีวีไปได้อยู่ในครรภ์นั่นเอง เมื่อคลอดจากครรภ์ของมารดานั้น ความทุกข์ก็แสนสุดขนาดเหลือที่จะประมาณ ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนกับช้างสารที่หนีนายพรานออกไปในช่องหินที่คับแคบในระหว่างภูเขาทั้ง สอง ฉะนั้น
    ความ ทุกข์เมื่ออยู่ในครรภ์ จะว่าเป็นนรกใหญ่ของมนุษย์ในชาตินี้ก็ว่าได้ คราวเมื่อคลอดออกมา เท่ากับว่านายนิรยบาลทำทัณฑกรรมก็ว่าได้ นับแต่วันคลอดแล้วมา อาการของทุกข์ในกายนี้ย่อมขยายตัวออกมาให้ปรากฏทุกระยะ จำเดิมแต่ทุกข์เพราะหิวกระหาย ทุกข์เพราะกายนี้คอยรับเอาซึ่งสัมผัส เกิดจากเย็นร้อนอุตุฤดูต่างๆ หรือเกิดแผลพุพองเปื่อยเน่า แมลงต่างๆ ต่อยกัด สัตว์เล็กสัตว์โตรบกวนราวี ถูกโบยตีทารุณทัณฑกรรมต่างๆ หลายอย่างเหลือที่จะคณนานับ ทุกข์สำคัญคือทุกข์ที่มีประจำในตัวไม่รู้จักจบสิ้น ทุกข์เหล่านั้นเรียกว่า โรค ๖๔ ประการ มีโรคเกิดประจำ ตา หู จมูก เป็นต้น
    ปกิณณกทุกข์ นั้นมีทุกข์เกิดจากความโศกเศร้า เสียใจอาลัยโทมนัสขัดแค้นเป็นต้น ทุกข์เหล่านี้จะเรียกว่าทุกข์ที่เป็นบริวารของนรกก็ว่าได้
   ปริเยสิกทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหาเลี้ยงชีพ เป็นต้นว่า การกสิกรรม อดทนต่อแดดและฝน โสมมด้วยของสกปรกตลอดวัน พอตกกลางคืนพักผ่อนรับประทานเสร็จแล้วค่อยสบายนอนหลับสนิท บางทีกลางคืนทำงานตลอดรุ่ง กลางวันพักผ่อนนอนสบายใจ หรือบางทีทำงานอาชีพตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง หาเวลาว่างมิได้ดังนี้ก็ดี หรืออาชีพด้วยการค้าขาย มีการหลอกลวงหรือฉ้อโกงกัน เกิดทะเลาะวิวาททุบต่อยจนถึงฆ่ากันตาย ด้วยการอาฆาตบาดหมางเพราะอาชีพนั้นดังนี้ก็ดี ถ้าจะเปรียบแล้วทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ก็เหมือนกับว่าทุกข์ของเปรต ที่เป็นเศษจากผลกรรมที่ตกนรกเล็กน้อยแล้วนั้น มารับผลของกรรมที่เป็นบุญ ได้รับความสุขในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันไปเสวยผลของกรรมที่เป็นบาปได้รับทุกข์ บางทีในเวลากลางคืนได้รับผลของกรรมที่เป็นบาป เป็นทุกข์ในเวลากลางคืน กลางวันได้รับผลของบุญที่เป็นสุข
   กาย อันนี้เกิดมาทีแรกก็เป็นทุกข์ ความเป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นทุกข์ คราวที่สุดจวนจะตายก็เป็นทุกข์ หาความสุขสบายของกายอันนี้แม้แต่น้อยหนึ่งย่อมไม่มีเลย เว้นไว้แต่ผู้ยังหลงมัวเมาเข้าใจว่าทุกข์เป็นสุขเท่านั้น เหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสไว้ว่า ในโลกนี้นอกจากทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นย่อมดับไป ย่อมไม่มีอะไร ดังนี้ ฉะนั้น ผู้มาพิจารณากายนี้ให้เห็นเป็นทุกข์ดังอธิบายมานี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในกายนี้ แล้วพยายามหาวิถีทางที่จะหนีให้พ้นจากทุกข์
    กายคตา พิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง จำเดิมแต่กายนี้ปฏิสนธิ อาการของกายนี้ทุกส่วนยังไม่ปรากฏ เป็นของเล็กน้อยละเอียดที่สุด จิตเข้ามายึดถือเอาปฏิสนธิจากสัมภวธาตุของมารดาบิดาอันผสมกัน แล้วกลั่นกรองให้เป็นของละเอียด จนเป็นน้ำมันใสมีประมาณเล็กน้อยที่สุด น้ำมันแต่ละหยดนั้นแหละจะค่อยแปรมาโดยลำดับ คือ จะแปรมาเป็นน้ำมันข้น แล้วแปรมาเป็นน้ำล้างเลือด แล้วแปรมาเป็นน้ำเลือด แล้วแปรมาเป็นก้อนเลือด แล้วแปรมาเป็นก้อนเนื้อ
    ดัง ในกายวิรติคาถา ข้อ ๒,๓,๔ ฉบับสิงหล พ.ศ. ๒๔๒๔ ท่านกำหนดเด็กอยู่ในครรภ์ ๙ เดือนไว้ดังนี้ ๑๕ วันทีแรกเกิดเป็นกระดูกอ่อนแลวิถีประสาท ร่างกายโต ๑/๘ ของนิ้ว ย่างเข้า ๒๑ วัน ร่างกายนี้กลมงอเหมือนตัวหนอนหรืออักษร S เกิดช่องทรวงอก ช่องท้อง ปุ่มที่จะเป็นมือและเท้างอกออกมาบ้างนิดหน่อย ร่างกายโตเท่าฟองไข่นกพิราบ หนัก ๑ กรัม ยาว ๑ นิ้ว ข้างโตเป็นศีรษะ ข้างเล็กเป็นเท้า ลำไส้เกิดในตอนนี้ ลายเป็นจุดๆ ที่ตัวคือสันหลัง จุดดำคือลูกตา มีหลอดเล็กๆ เท่าขนไก่ไหวอยู่ริกๆ หลังจุดนี้คือหัวใจ เดือนที่ ๒ เกิดเยื่อบางๆ หุ้มจุดดำๆ รอบสายสะดือ ตอนนี้ร่างกายของเด็กโตเท่าฟองไข่ไก่ หนัก ๕ กรัม ยาว ๔ นิ้ว ปาก จมูก หู ตา มือ เท้า งอกขึ้นเป็นจุด มือและเท้ายังไม่แตกแยก ติดกันเป็นพืด เหมือนเท้าเป็น เดือนที่ ๓ โตเท่าฟองไข่ห่านหนัก ๕-๖ ออนซ์ เท้าและมือแยกออกเป็นนิ้วๆ สายสะดือและตัวของเด็กยาว ๖ นิ้วเท่ากัน เดือนที่ ๔ อวัยวะในกายของเด็กนั้นเกือบจะบริบูรณ์หมด ดวงตายังไม่ลืม เล็บทั้งหลายงอกแต่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ถ้าตั้งใจฟังที่ครรภ์ของมารพา ในตอนนี้จะได้ยินเสียงหัวใจของเด็กเต้น ระยะนี้เด็กดิ้นได้แล้ว สายสะดือยาว ๗ นิ้ว เด็กหนัก ๑ ปอนด์ เดือนที่ ๕ อาการต่างๆ ของเด็กครบบริบูรณ์ ผมมีสีเข้ม ตาลืมได้แล้ว เด็กหนัก ๑ ปอนด์ สายสะดือยาว ๑๐ นิ้ว ตอนนี้ฟังเสียงหัวใจของเด็กเต้นได้ยินถนัด เดือนที่ ๖ สายสะดือและตัวของเด็กยาว ๑๒ นิ้ว เด็กหนัก ๒ ปอนด์ บางทีอาจคลอดเดือนนี้ก็ได้แต่ไม่ค่อยรอด เดือนที่ ๗ ตัวของเด็กเพิ่มขึ้นถึง ๔ ปอนด์ สายสะดือแลตัวของเด็กยาว ๑๔ นิ้วเท่ากัน แต่เล็บยังไม่งอกเต็ม ถ้าคลอดในเดือนนี้พอมีหวังเลี้ยงได้บ้าง เดือนที่ ๘ อวัยวะครบทุกส่วน ตัวเด็กและสายสะดือของเด็กยาว ๑๖ นิ้วเท่ากัน เด็กหนัก ๖ ปอนด์ เดือนที่ ๙ เป็นเดือนที่ครบกำหนดคลอด มีอวัยวะครบบริบูรณ์ ตัวเด็กแลสายสะดือยาว ๑๗ นิ้ว หนัก ๗ ปอนด์ ถ้าเป็นหญิงมักเบากว่าชาย หัวใจของหญิงเต้นเร็วกว่าชาย (หญิงบางคนตั้งครรภ์ถึงสิบเดือนจึงคลอด แต่โดยมาก ๙ เดือนกับ ๑๔-๑๕-๑๖ วันเป็นพื้น)
    อาการ อนิจจัง แปรปรวนของกาย เมื่ออยู่ในครรภ์ย่อมเป็นมาอย่างนี้ เมื่อคลอดออกมาแล้วย่อมแปรไปโดยลำดับ คือเป็นเด็กแล้วเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วแก่เฒ่าชรา ที่สุดกายนี้ก็แตกสลายไป อาศัยไม่ได้แล้ว ทอดทิ้งเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไปตามเดิม ผู้มาพิจารณากายนี้เห็นเป็นอนิจจัง ดังแสดงมานี้แล้ว จะเห็นร่างกายนี้ไม่มีแก่นสารเลย แล้วจะได้แสวงหาธรรมะที่เป็นสาระ สมกับพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ชนทั้งหลายเหล่าใดรู้สิ่งที่เป็นสาระโดยเป็นสาระด้วย สิ่งที่หาใช่สาระโดยหาใช่สาระด้วย ชนเหล่านั้นย่อมถึงสารธรรม ดังนี้
   กายคตา พิจารณาให้เห็นเป็นอนัตตา กายนี้เป็นทุกข์เป็นอนิจจัง แปรปรวนมาโดยลำดับยักย้ายมาทุกระยะ หาได้เว้นไม่แม้แต่วินาทีเดียว ใครจะรักใคร่จะชอบหรือเกลียดโกรธเขาโดยประการใดๆ ก็ดี หรือจะปรนปรือปฏิบัติ ถนอมเลี้ยงเขาโดยทุกสิ่งทุกประการ กายนี้ก็มิได้มีใจสงสารเอ็นดูกรุณาแก่เราเลยสักนิดสักหน่อย จะระทมทุกข์ร้อนอาลัยไม่อยากให้เขาเป็นไปเช่นนั้น เขาย่อมไม่ฟังเสียงทั้งนั้น กายเขามีหน้าที่จะรับทุกข์เขาก็รับไป เขามีหน้าที่จะแปรปรวนเป็นอนิจจัง เขาก็เป็นไปตามสภาพของเขา ฉะนั้น พระรัฐปาลเถรเจ้า จึงแสดงความข้อนี้แก่พระเจ้าโกรัพยราชว่า โลกนี้ (คือขันธโลก) ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใครจะป้องกันไม่ได้ทั้งนั้น ไม่มีใครเป็นใหญ่ โลกนี้ฟูอยู่ (ด้วยความไม่พอไม่อิ่มเป็นนิตย์) เป็นทาสของตัณหา ตายแล้วละทิ้งหมด ไปคนเดียว ดังนี้
    เมื่อผู้มาพิจารณากายนี้ให้เห็นเป็นอนัตตา ดังแสดงมานี้แล้ว ก็จะละเสียได้ซึ่ง อตฺตานุทิฏฐิ และ อสฺมิมาน ที่เห็นว่าเป็นตนเป็นตัวเอาจริงๆ แล้วหลงเข้ามายึดมั่นด้วยความสำคัญผิด
    กายคตา พิจารณาให้เห็นเป็นของตาย กายอันนี้เราได้รับแบ่งส่วนตายมาจากบิดามารดา บิดามารดาของเราได้รับแบ่งส่วนของตายมาจากปู่ย่า ตายาย ปู่ย่าตายายของเรา ได้รับแบ่งส่วนตายมาจากบรรพบุรุษแต่ก่อนๆ โน้นโดยลำดับมา ตกลงว่าทุกๆ คนที่เกิดมาแล้วนี้ ย่อมได้รับมรดกคือความตายมาจากบรรพบุรุษแต่ก่อนๆ โน้นโดยลำดับมาด้วยกันทั้งนั้น
    คน เราในโลกนี้ทั้งหมดซึ่งมองเห็นกันอยู่ในเดี๋ยวนี้ก็คือคนตายนั่นเอง จะมีใครเหลืออยู่ในโลกนี้ได้ เว้นไว้แต่ตายก่อนตายหลังเท่านั้น ถึงแม้ตัวของเราเองซึ่งมีชีวิตเป็นอยู่ได้เพราะอาหารในเดี๋ยวนี้ก็ดี ได้ชื่อว่า “กินเพื่ออยู่ อยู่เพื่อตาย” คนแลสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมเหมือนกันทั้งหมด จะมีชื่อเสียงและยศศักดิ์ มั่งมีและทุกข์จน ทุกชั้นทุกวรรณะ โดยสมมติและนิยมว่า สมณชีพราหมณ์นักพรต ผู้ดีวิเศษมีฤทธิ์เดชตปธรรมทั้งหลายสักเท่าใดก็ดี ก็หนีจากอาการทั้ง ๒ นี้ไม่ได้ทั้งนั้น ความเกิดและความตายทั้ง ๒ นี้ย่อมเป็นเครื่องหมายส่อแสดงว่า โลกมี ดังนี้
    ความ ตายย่อมมีประจำอยู่ในกายของเรานี้ทุกลมหายใจเข้าออก ตายมาทุกระยะทุกวัย ตายโดยอายุขัย คือสิ้นลมหายใจแล้วย่อมทอดทิ้งกายนี้ให้กลิ้งอยู่เหนือแผ่นปฐพี ท่านอุปมาไว้เหมือนท่อนไม้แลท่อนฟืน ฉะนั้น สิ่งของทั้งหลายที่เราสำคัญหมายมั่นว่าเป็นของๆ เรา ความจริงเปล่าทั้งนั้น ดูแต่กายนี้เมื่อวิญญาณไปปราศแล้ว ก็ต้องทอดทิ้งไว้บนดินแล้วหนีไปแต่ตนคนเดียว ผู้มายึดมั่นสำคัญกายนี้ อันเป็นของไม่มีสาระว่าเป็นของมีสาระ ย่อมไม่ถึงธรรมที่เป็นสาระ มีแต่ความดำริผิดเป็นที่ไป ฉะนั้น พึงพิจารณากายนี้ให้เป็นของตาย สลายตามเป็นจริง ซึ่งเป็นคู่กันกับความเกิด แล้วจะได้ละเลิกถือของไม่มีสาระว่าเป็นของมีสาระเสียได้
    กายคตา พิจารณาให้เห็นเป็นอริยสัจ คือให้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พิจารณาเอาแต่เฉพาะกายอย่างเดียวให้เห็นเป็นอริยสัจดังนี้ คือ
    พิจารณาให้เห็นเป็นทุกข์นั้น ให้พิจารณาดังอธิบายมาแล้วข้างต้น
    พิจารณา ให้เป็นสมุทัยนั้น คือ กายนี้มีวิถีประสาทรับส่งอารมณ์ ซึ่งเกิดจากทวารนั้นๆ มีจักษุทวารเป็นต้น เข้าไปหาจิตซึ่งเป็นเหตุจะให้ได้รับความสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส เป็นอาทิ จึงเรียกว่ากายเป็นสมุทัย เมื่อประสาทนั้นๆ กระด้างหรือตาย อายตนะทั้งหลายมีจักษุประสาทเป็นต้นย่อมไม่ทำหน้าที่ของตนเรียกว่า มรรค คือเป็นเหตุจะให้ดับความรู้สึกในอารมณ์นั้นๆ เมื่อประสาทเหล่านั้นไม่ทำหน้าที่แล้ว เวทนาทั้งหลายมีจักษุเวทนาเป็นต้นย่อมไม่มีดังนี้เรียกว่านิโรธ อริยสัจจะครบพร้อมทั้งสี่ย่อมมีทั้งรูปทั้งนาม จริงอยู่ที่ว่ามานี้เป็นอริยสัจของผู้อยู่ในภวังคจิตอย่างเดียว และประสงค์จะอธิบายให้ทราบว่ากายอย่างเดียวเป็นอริยสัจครบทั้งสี่ จึงได้อธิบายดังนี้ ส่วนอริยสัจในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีพร้อมทั้งรูปและนามอยู่แล้ว เป็นอริยสัจของพระองค์ที่ทรงตรัสรู้ชอบเอง ด้วยพระองค์เองแล้ว อันนั้นไม่มีปัญหา แต่ในที่นี้จะนำเอามาแสดงไว้พอให้เป็นสังเขป เพื่อผู้สนใจทั้งหลายจะได้นำเอามาเทียบเคียงกันกับอริยสัจที่อธิบายข้างต้น นั้น
    อริยสัจในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น พระองค์ทรงแสดงว่า ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นของทนได้ยาก เป็นของควรกำหนด สมุทัย (เป็นนามธรรมเฉพาะ) คือใจเข้าไปยึดขันธ์ นั้นเป็นของควรละ นิโรธ คือการละสมุทัย แล้วทุกข์ก็ไม่มี มรรค คือปัญญา สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบไม่วิปริต คือเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอัน ด้วยอำนาจความยึดมั่นสำคัญผิด กายและจิตจึงเป็นเราเป็นเขาเป็นตนเป็นตัวไป
           อริยสัจนี้ พระองค์ทรงแสดงไว้ว่ามีปริวัฏละ ๓ เป็นไปในสัจจะ ๔ คือ
           รอบที่ ๑ ทุกข์ เป็นของควรกำหนด เราได้กำหนดแล้ว
           รอบที่ ๒ สมุทัย เป็นของควรละ เราได้ละแล้ว
           รอบที่ ๓ นิโรธ เป็นของควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว
           รอบที่ ๔ มรรค เป็นของควรเจริญ เราได้เจริญแล้ว
    รวม เรียกว่าอริยสัจ ๔ มีปริวัฏเวียนไปในสัจจะละ ๓ รวมเป็นอาการ ๑๒ ดังนี้ สัจจะที่แสดงมานี้ย่อมทำกิจในขณะเดียวกัน อธิบายว่าคำว่าทุกข์เป็นของควรกำหนด เมื่อกำหนดทุกข์อยู่นั้นถ้าหากมันจะถึงอริยสัจจริงๆ แล้วย่อมเข้าไปเห็นอาการของสมุทัย คือผู้ไปยึดถือทุกข์ อาการเห็นชัดอย่างนี้จัดเป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ การเข้าไปเห็นทุกข์กับผู้ไปยึดถือทุกข์เป็นคนละคนไปว่า ทุกข์มิใช่ผู้ยึดถือ ผู้ยึดถือมิใช่ทุกข์ แล้วทุกข์ย่อมดับไป จักได้ชื่อว่านิโรธ เรียกว่าทำกิจในขณะเดียวกันดังนี้ อริยสัจตอนนี้เป็นอริยสัจของผู้มีสมาธิและปัญญาพร้อมกันบริบูรณ์ ได้ชื่อว่าเป็นอริยสัจในองค์มรรคแท้
    กายคตา พิจารณาให้เห็นเป็นสติปัฏฐาน คือสติเข้าไปตั้งไว้เฉพาะในกาย แล้วพิจารณากายนี้ให้เห็นเป็นธาตุ ๔ หรือเป็นอสุภ เป็นต้น ดังอธิบายมาแล้วในข้อต้นนั้น จนจิตเห็นชัดเชื่อแน่วแน่ว่าต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ จึงถอนเสียได้ซึ่งอัตตานุทิฏฐิเห็นว่าเป็นตน เป็นตัว เป็นเรา เป็นเขา กายนี้เป็นสักแต่ว่าธาตุ ๔ เป็นต้นเท่านั้น แล้วพิจารณาธาตุ ๔ เป็นต้นนั้นให้ละเอียดลงไปอีกว่า ถ้าหากเราไม่สมมติว่าธาตุ ๔ เป็นตนแล้ว ของเหล่านั้นก็ไม่มีชื่อ เป็นแต่สักว่าสิ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปรากฏอยู่ที่เฉพาะทวารทั้งหลายมีจักษุทวารเป็นต้น ไม่ใช่ตัวตนเราเขา
    ส่วนสติปัฏฐานอันอื่นนอกจากนี้คือ เวทนา จิต ธรรม ก็ให้พิจารณาโดยนัยเดียวกัน พิจารณาอย่างนี้เรียกว่าพิจารณาให้เป็นสติปัฏฐาน
    โพธิ ปักขิยธรรมทั้งหลายอื่นนอกจากนี้ มีสัมมัปปธานเป็นต้น พิจารณากายนี้ให้เป็นไปในธรรมนั้นๆ ได้ทั้งนั้น การพิจารณากายนี้มีนัยกว้างขวางวิจิตรพิสดารมากเหลือที่จะนำมาแสดงให้สิ้น สุดลงได้ ฉะนั้นกายนี้จะเรียกว่า มหาฐาน เป็นที่ตั้งที่ชุมนุมของธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นฝ่ายดีแลฝ่ายชั่วก็ได้ ผู้มาพิจารณากายนี้โดยแสดงมาแล้วนั้นเป็นต้น เรียกว่าพิจารณาธรรม ผู้มารู้มาเห็นเช่นนี้เรียกว่าเห็นธรรม อย่าพึงสงสัยและเข้าใจว่าธรรมมีในที่อื่น ถ้าธรรมมีในที่อื่นนอกจากกายกับใจนี้แล้ว ธรรมอันนั้นก็มิใช่ธรรมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์วิมุตติหลุดพ้นได้ อย่าพึงสงสัยในความรู้ความเห็นแลการปฏิบัติของตนว่าไม่ใช่ บางทีได้ฟังอุบายและความรู้ความเห็นของคนโน้นเขาว่าอย่างโน้น คนนี้เขาว่าอย่างนี้ แล้วให้นึกชอบใจในอุบายของเขา เลยสงสัยในอุบายของตนเกรงว่าจะไม่ถูก แล้วทำกำลัง ๕ มีศรัทธาเป็นต้นให้เสื่อมไป ผู้มาเจริญกายคตานี้ย่อมมีอุบายแปลกๆ ต่างกัน หลายอย่างหลายประเภท แล้วแต่นิสัยวาสนาของตนจะบันดาล จะให้เสมอเหมือนกันทั้งหมดย่อมไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะสงสัยซึ่งอุบายนั้นๆ ผลของการปฏิบัติแลนิสัยวาสนาใครๆ แต่งเอาไม่ได้ทั้งนั้น เราจะแต่งเอาได้ก็แต่ปฏิปทา วาสนาและผลนั้นย่อมบันดาลให้เอง
    เมื่อ เข้าใจดังนี้แล้ว พึงเจริญให้มากกระทำให้ยิ่ง จึงจะได้รับความรู้ความเห็นอันจริง อุปมาเหมือนต้นไม้ เมื่อบำรุงราก ลำต้น กิ่ง ใบ ให้เจริญดีอยู่แล้ว เราไม่ต้องสงสัย คงจะได้รับผลอันเป็นที่พึงใจในวันหนึ่งข้างหน้า การพิจารณากายคตามีการพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุ ๔ เป็นต้น ให้เป็นสติปัฏฐานเป็นปริโยสาน โดยนัยดังแสดงมาแล้วนี้จะเอาเป็นอารมณ์ของฌานก็ได้ เอาเป็นอารมณ์ของสมาธิก็ได้ คำว่าสมถะหมายเอาการกระทำใจให้สงบจากความวุ่นวายภายนอก มีการส่งใจไปตามอายตนะทั้งหลาย มีตาเป็นต้น แล้วใจนั้นสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เรียกว่าสมถะ สมาธิก็นับเข้าในสมถะนี้ด้วย แต่มีลักษณะอาการคุณวิเศษต่างกันอยู่บ้างดังจะอธิบายต่อไปนี้

สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เฉพาะตน คนอื่นจะทำให้ไม่ได้

    สมถะ สมถะเมื่อแยกออกไปแล้ว มี ๒ ประเภทคือ สมถะทำความสงบเฉยๆ ๑ สมถะที่ประกอบด้วยองค์ฌาน ๑
    สมถะทำความสงบเฉยๆ นั้น จะกำหนดพระกรรมฐานหรือไม่ก็ตาม แล้วทำจิตให้สงบอยู่เฉยๆ ไม่เข้าถึงองค์ฌาน อย่างนี้เรียกว่า ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ย่อมมีแก่ชนทั่วไปในบางกรณี ไม่จำกัดมีได้เฉพาะผู้เจริญพระกรรมฐานเท่านั้น
    ส่วนสมถะที่ประกอบไปด้วยองค์ฌานนั้น มีได้แต่เฉพาะผู้เจริญพระกรรมฐานเท่านั้น เมื่อถึงซึ่งความสงบครบด้วยองค์ฌานแล้ว เรียกว่า ฌานุเปกขา ฌานุเปกขานี้ท่านจำแนกไว้เป็น ๒ ประเภท คือฌานุเปกขาที่ปรารภรูปเป็นอารมณ์ เอารูปเป็นนิมิต เรียกว่ารูปฌาน ๑ อรูปฌาน ปรารภนามนามเป็นอารมณ์ เอานามเป็นนิมิต ๑ แต่ละประเภทท่านจำแนกออกไว้เป็นประเภทละ ๔ รวมเรียกว่ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ จึงเป็นสมาบัติ ๘
    ฌาน นี้มีลักษณะอาการให้เพ่งเฉพาะในอารมณ์เดียว จะเป็นรูปหรือนามก็ตาม เพื่อน้อมจิตให้สงบปราศจากกังวลแล้วเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ มีความสุขเป็นที่นิยมแลปรารถนา เมื่อสมประสงค์แล้วก็ไม่ต้องใช้ปัญญาวิพากษ์วิจารณ์ในสังขารทั้งหลายมีกาย เป็นต้น ดังแสดงมาแล้วนั้นก็ดี หรือจะพิจารณาใช้แต่พอเป็นวิถีทางเดินเข้าไปเท่านั้น เมื่อถึงองค์ฌานแล้วย่อมมีลักษณะแลรสชาติ สุข เอกัคคตา และเอกัคคตา อุเบกขา เสมอเหมือนกันหมด ฉะนั้น ฌานนี้จึงเป็นของฝึกหัดได้ง่าย จะในพุทธกาลหรือนอกพุทธกาลก็ตาม ผู้ฝึกหัดฌานนี้ย่อมมีอยู่เสมอ แต่ในพุทธศาสนา ผู้ฝึกหัดฌานได้ช่ำชองแล้ว มีวิปัสสนาปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครองฌานอยู่ เนื่องด้วยอุบายของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเป็นเครื่องส่องสว่างให้ จึงไม่หลงในฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นฌานของท่านเลยเป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของท่านผู้ขีณาสพ เรียกว่า โลกุตรฌาน ส่วนฌานที่ไม่มีวิปัสสนาปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครอง เรียกว่า โลกิยฌาน เสื่อมได้ และเป็นไปเพื่อก่อภพก่อชาติอีก ต่อไปนี้จะได้แสดงฌานเป็นลำดับไป
    รูปฌาน เมื่อ ผู้มาเพ่งพิจารณาพระกรรมฐานบทใดบทหนึ่งอยู่ มีกายคตาเป็นต้น จนปรากฏพระกรรมฐานนั้นชัดแจ่มแจ้งกว่าอนุมานทิฏฐิ ซึ่งได้กำหนดเพ่งมาแต่เบื้องต้นนั้น ด้วยอำนาจของจิตที่เปลี่ยนจากสภาพเดิม อันระคนด้วยอารมณ์หลายอย่าง และเป็นของหยาบด้วย แล้วเข้าถึงซึ่งความผ่องใสในภายในอยู่เฉพาะอารมณ์อันเดียว เรียกง่ายๆ ว่า ขันธ์ทั้งห้าเข้าไปรวมอยู่ภายในเป็นก้อนเดียวกัน ฉะนั้น ความชัดอันนั้นจึงเป็นของแจ้งชัดกว่าความแจ้งชัดที่เห็นด้วยขันธ์ ๕ ภายนอก พร้อมกันนั้น จิตจะมีอาการวูบวาบรวมลงไป คล้ายกับจะเผลอสติแล้วลืมตัว บางทีก็เผลอสติแล้วลืมตัวเอาจริงๆ แล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่คนเดียว ถ้าหากผู้สติดีหมั่นเป็นบ่อยๆ จนชำนาญแล้ว ถึงจะมีลักษณะอาการอย่างนั้นก็ตามรู้ตามเห็นอยู่ทุกระยะ ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ”จิตเข้าสู่ภวังค์  เป็น อย่างนั้นอยู่ขณะจิตหนึ่งเท่านั้น แล้วลักษณะอย่างนั้นหายไป ความรู้อยู่หรือจะส่งไปตามอาการต่างๆ ของอารมณ์ก็ตามเรื่อง บางทีจะแสดงภาพให้ปรากฏในที่นั้นด้วยอำนาจของสังขารขันธ์ภายใน ให้ปรากฏเห็นเป็นต่างๆ เช่น มันปรุงอยากจะให้กายนี้เป็นของเน่าเปื่อยปฏิกูล หรือสวยงามประการใดๆ ภาพก็จะปรากฏขึ้นมาในที่นั้นโดยไม่รู้ตัว ดังนี้เป็นต้น แล้วขันธ์ทั้งสี่มีเวทนาขันธ์เป็นอาทิก็เข้ารับทำหน้าที่ตามสมควรแก่ภาวะของ ตนๆ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต บางทีส่งจิตนั้นไปดูสิ่งต่างๆ ที่ตนต้องการแลปรารถนาอยากจะรู้ ก็ได้เห็นตามเป็นจริง บางทีสิ่งเหล่านั้นมาปรากฏขึ้นเฉยๆ ในที่นั้นเอง พร้อมทั้งอรรถแลบาลีก็มีได้ ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าใช้ขันธ์ภายในได้
    ยัง อีก ขันธ์ภายในจะต้องหลอกลวงขันธ์ภายนอก เช่น บางคนซึ่งเป็นคนขี้ขลาดมาแล้วแต่ก่อน พอมาอบรมถึงจิตในขณะนี้เข้าแล้ว ภาพที่ตนเคยกลัวมาแล้วแต่ก่อนๆ นั้น ให้ปรากฏขึ้นในที่นั้นเอง สัญญาที่เคยจำไว้แต่ก่อนๆ ที่ว่าเป็นของน่ากลัวนั้นก็ยิ่งทำให้กลัวมากขึ้นจนขวัญหนีดีฝ่อ ด้วยสำคัญว่าเป็นของจริงจังอย่างนี้เรียกว่าสังขารภายในหลอกสังขารภายนอก เพราะธรรมเหล่านี้เป็นสังขตธรรม ด้วยอำนาจอุปาทานนั้นอาจทำผู้เห็นให้เสียสติไปได้ ผู้ฝึกหัดมาถึงขั้นนี้แล้วควรได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ผู้ชำนาญ เมื่อผ่านพ้นในตอนนี้ไปได้แล้ว จะทำหลังมือให้เป็นฝ่ามือได้ดี เรื่องเหล่านี้ผู้เจริญพระกรรมฐานทั้งหลาย มีความมุ่งหมายเป็นส่วนมาก ผู้ที่ยังไม่เคยเป็น แต่เพียงได้ฟังเท่านั้น ตอนปลายนี้ชักให้กลัวเสียแล้วไม่กล้าจะทำต่อไปอีก ความจริงเรื่องเหล่านี้ผู้เจริญพระกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อทำถูกทางเข้าแล้วย่อมได้ประสบทุกคนไป แลเป็นกำลังให้เกิดวิริยะได้อย่างดีอีกด้วย ภวังค์ชนิดนี้เป็นภวังค์ที่นำจิตให้ไปสู่ปฏิสนธิเป็นภพชาติ ไม่อาจสามารถจะพิจารณาวิปัสสนาชำระกิเลสละเอียดได้ ฉะนั้น ท่านจึงจัดเป็นอุปกิเลส
    ฌาน ทั้งหลาย มีปฐมฌานเป็นต้น ท่านแสดงองค์ประกอบไว้เป็นชั้นๆ ดังจะแสดงต่อไปนี้ แต่เมื่อจะย่นย่อใจความเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ แล้ว ฌานต้องมีภวังค์เป็นเครื่องหมาย ภวังค์นี้ท่านแสดงไว้มี ๓ คือ ภวังคบาต ๑ ภวังคจลนะ ๑ ภวังคุปัจเฉทะ ๑
           ภวังคบาต เมื่อจิตตกลงสู่ภวังค์นั้นมาอาการให้วูบวาบลง ดังแสดงมาแล้วในข้างต้น แต่ว่าเป็นขณะจิตนิดหน่อย บางทีแทบจะจำไม่ได้เลย ถ้าหากผู้เจริญบริกรรมพระกรรมฐานนั้นอยู่ ทำให้ลืมพระกรรมฐานที่เจริญอยู่นั้น แลอารมณ์อื่นๆ ก็ไม่ส่งไปตามขณะจิตหนึ่ง แล้วก็เจริญบริกรรมพระกรรมฐานต่อไปอีกหรือส่งไปตามอารมณ์เดิม
           ภวังคจลนะ เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ว่าเมื่อถึงภวังค์แล้ว เที่ยวหรือซ่านอยู่ในอารมณ์ของภวังค์นั้น ไม่ส่งออกไปนอกจากอารมณ์ของภวังค์นั้น ปฏิภาคนิมิตและนิมิตต่างๆ ความรู้ความเห็นทั้งหลายมีแสงสว่างเป็นต้น เกิดในภวังค์นี้ชัดมาก จิตเที่ยวอยู่ในอารมณ์นี้
           ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อจิตตกลงสู่ภวังค์แล้วขาดจากอารมณ์ภายนอกทั้งหมด แม้แต่อารมณ์ภายในของภวังค์ที่เป็นอยู่นั้น ถ้าเป็นทีแรกหรือยังไม่ชำนาญในภวังค์นั้นแล้วก็จะไม่รู้ตัวเลย เมื่อเป็นบ่อยหรือชำนาญในลักษณะของภวังค์นี้แล้วจะมีอาการให้มีสติรู้อยู่ แต่ขาดจากอารมณ์ใดๆ ทั้งหมด ภวังค์นี้จัดเป็นอัปปนาสมาธิได้ ฉะนั้นอัปปนานี้บางท่านเรียกว่าอัปปนาฌาน บางทีท่านเรียกว่า อัปปนาสมาธิ มีลักษณะผิดแปลกกันนิดหน่อยดังอธิบายมาแล้วนั้น เมื่อถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว มาอยู่ในอุปจารสมาธิ ไม่ได้เป็นภวังคจลนะ ในตอนนี้พิจารณาวิปัสสนาได้ ถ้าเป็นภวังคจลนะแล้วมีความรู้แลนิมิตเฉยๆ เรียกว่า อภิญญา ภวังค์ทั้งสามดังแสดงมานี้เป็นเครื่องหมายของฌาน
    ความแปลกต่างของฌาน ภวังค์ สมาธิ จะได้แสดงตอนอรูปฌานต่อไป
    รูปฌาน มี ๔ คือ ปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตฺถฌาน ๑
          ปฐมฌาน นั้นประกอบด้วยองค์ ๕ คือ มีวิตก ยกเอาพระกรรมฐานบทใดบทหนึ่งขึ้นมาเพ่งพิจารณาให้เป็นอารมณ์ ๑ วิจารเพ่งคือพิจารณาเฉพาะอยู่แต่พระกรรมฐานนั้นอย่างเดียว ๑ เห็นชัดในพระกรรมฐานนั้นแล้วเกิดปีติ ๑ ปีติเกิดแล้วมีความเบากายโล่งใจเป็นสุข ๑ แล้วจิตนั้นก็แน่วอยู่ในเอกัคคตา ๑ เรียกว่าปฐมฌานมีองค์ ๕
          ทุติยฌาน มีองค์ ๓ ด้วยอำนาจเอกัคคตา จิตนั้นยังไม่ถอนกิจ ซึ่งจะยกเอาพระกรรมฐานมาพิจารณาอีกย่อมไม่มี ฉะนั้นฌานชั้นนี้จึงคงยังปรากฏเหลืออยู่แต่ปีติ สุข เอกัคคตาเท่านั้น
          ตติยฌาน มีองค์ ๒ ด้วยอำนาจเอกัคคตา จิตติดอยู่ในอารมณ์ของตนมาก เพ่งเอาแต่ความสุขอย่างเดียว จึงยังคงเหลืออยู่เพียง ๒ คือ สุขกับเอกัคคตา
           จตุตฺถฌาน มีองค์ ๒ เหมือนกัน คือ เอกัคคตาที่เพ่งเอาแต่ความสุขนั้นเป็นของละเอียด จนสุขนั้นไม่ปรากฏ เพราะสุขนั้นยังเป็นของหยาบกว่าเอกัคคตา จึงวางสุขอันนั้นเสีย แล้วยังคงมีอยู่แต่เอกัคคตากับอุเบกขา
    ฌาน ทั้งสี่นี้ละนิวรณ์ ๕ (คือสงบไป) ได้แล้วตั้งแต่ปฐมฌาน ส่วนฌานนอกนั้นกิจซึ่งจะต้องละอีกย่อมไม่มี ด้วยอำนาจการเพ่งเอาแต่จิตอย่างเดียวเป็นอารมณ์หนึ่ง จึงละองค์ของปฐมฌานทั้งสี่นั้นเป็นลำดับไป แล้วยังเหลืออยู่แต่ตัวฌานตัวเดียว คือ เอกัคคตา ส่วนอุเบกขา เป็นผลของฌานที่ ๔ นั้นเอง แต่ปฐมฌานปรารภพระกรรมฐานภายนอกมาเป็นเหตุจำเป็น จึงต้องมีหน้าที่พิเศษมากกว่าฌานทั้ง ๓ เบื้องปลายนั้น ฌานทั้ง ๔ นี้ปรารภรูปเป็นเหตุ คือ ยกเอารูปพระกรรมฐานขึ้นมาเพ่งพิจารณา แล้วจิตจึงเข้าถึงซึ่งองค์ฌาน ฉะนั้นจึงเรียกว่า รูปฌาน
    อรูปฌาน อรูปฌานนี้ ในพระสูตรต่างๆ โดยส่วนมากท่านไม่ค่อยจะแสดงไว้ เช่น ในโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นต้น พระองค์ทรงแสดงแต่รูปฌาน ๔ เท่านั้น ถึงพระองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของการเจริญกายคตากรรมฐานไว้ว่ามีอานิสงส์ ๑๐ ข้อ ๑๐ ความว่า ได้ฌานโดยไม่ลำบาก ดังนี้ แต่เมื่อกล่าวถึงวิหารธรรมของท่านผู้ที่เข้าสมาบัติแล้ว ท่านแสดงอรูปฌานไว้ด้วย สมาบัติ ๘ ฌานทั้ง ๘ นี้ บางทีท่านเรียกว่า วิโมกข์ ๘ บ้าง แต่ท่านแสดงลักษณะผิดแปลกออกไปจากฌาน ๘ นี้บ้างเล็กน้อย อรรถรสแลอารมณ์ของวิโมกข์ ๓ เบื้องต้น ก็อันเดียวกันกับรูปฌาน ๓ นั่นเอง เช่น วิโมกข์ข้อที่ ๑ ว่า ผู้มีรูปเป็นอารมณ์แล้วเห็นรูปทั้งหลายดังนี้เป็นต้น  แต่รูป ฌานแสดงแต่เพียง ๓ รูปฌานที่ ๔ เลยแสดงเป็นรูปวิโมกข์เสีย อรูปวิโมกข์ที่ ๔ เอาสัญญาเวทยิตนิโรธมาเข้าใส่ฌานทั้ง ๘ รวมทั้งสัญญาเวทยิตนิโรธเข้าด้วยเป็น ๙ ฌานทั้งหมดนี้เป็นโลกีย์โดยแท้ แต่เมื่อท่านผู้เข้าฌานเป็นอริยบุคคล ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตระไปตาม เปรียบเหมือนกับฉลองพระบาทของพระราชา เมื่อคนสามัญรับมาใช้แล้วก็เรียกว่ารองเท้าธรรมดา ฉะนั้น ข้อนี้จะเห็นได้ชัดทีเดียวดังในเรื่องวิโมกข์ ๘ นี้ พระองค์ทรงแสดงแก่พระอานนท์ว่า อานนท์ ภิกษุจะฆ่าวิโมกข์ ๘ นี้ได้ด้วยอาวุธ ๕ ประการ คือ เข้าวิโมกข์ได้โดยอนุโลมบ้าง ทั้งอนุโลมแลปฏิโลมบ้าง เข้าออกได้ในที่ตนประสงค์ เข้าออกได้ซึ่งวิโมกข์ที่ตนประสงค์ เข้าออกได้นานตามที่ตนประสงค์ จึงจะสำเร็จ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ดังนี้
    ฉะนั้น ต่อไปนี้จะนำเอาอรูปฌาน ๔ มาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อผู้ที่สนใจจะได้นำไปวิจารณ์ในโอกาสอันสมควร ผู้ได้รูปฌานที่ ๔ แล้วจิตตกลงเข้าถึงอัปปนาเต็มที่แล้ว ฌานนี้ท่านแสดงว่าเป็นบาทของอภิญญา คือเมื่อต้องการอยากจะรู้จะเห็นอะไรต่ออะไร แล้วน้อมจิตนั้นไปเพื่อความรู้ในสิ่งนั้นๆ (คือถอนจิตออกมาจากอัปปนามาหยุดในอุปจาระ) แล้วสิ่งที่ตนต้องการรู้นั้นก็จะปรากฏชัดขึ้นมาในที่นั้นเอง เมื่อไม่ทำเช่นนั้น จะเดินอรูปฌานต่อ ก็มาเพ่งเอาองค์ของรูปฌานที่ ๔ คือเอกัคคตากับอุเบกขามาเป็นอารมณ์ จนจิตนั้นนิ่งแน่วแน่แล้วไม่มีอะไร ไม่ใส่ใจในเอกัคคตาแลอุเบกขาแล้ว คงยังเหลือแต่ความว่างโล่งเป็นอากาศอยู่เฉยๆ
    อรูปฌานที่ ๑ จึงได้ยึดเอามาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ
    อรูปฌานที่ ๒ ด้วย อำนาจจิตเชื่อน้อมไปในฌานกล้าหาญ ย่อมเห็นอาการของผู้รู้ว่าจิตไปยึดอากาศ อากาศเป็นของภายนอก วิญญาณนี้เป็นผู้ไปยึดถือเอาอากาศมาเป็นอารมณ์ แล้วมาชมว่าเป็นตนเป็นตัว วิญญาณนี้เป็นที่รับเอาอารมณ์มาจากอายตนะภายนอก วิญญาณจึงได้กลับกลอกแลหลอกลวง เวลานี้วิญญาณล่วงพ้นเสียได้แล้วจากอายตนะทั้งหลาย วิญญาณไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย บริสุทธิ์เต็มที่ แล้วก็ยินดีในวิญญาณนั้น ถือเอาวิญญาณมาเป็นอารมณ์ข่มนิวรณธรรม อยู่ด้วยความบริสุทธิ์อันนั้น ดังนี้ เรียกว่าวิญญาณัญจายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๒
    อรูปฌานที่ ๓ วิญญาณ เป็นอรูปจิต เมื่อติดอยู่กับวิญญาณแล้ว นิมิตอันเป็นของภายนอกซึ่งจะส่งเข้าไปทางอายตนะทั้ง ๕ มันก็ไม่รับ เพ่งเอาแต่ความละเอียดแลความบริสุทธ์อันเป็นธรรมารมณ์ภายในอย่างเดียว จิตเพ่งผู้รู้ดูผู้ละเอียดก็ยิ่งเห็นแต่ความละเอียด ด้วยความน้อมจิตเข้าไปหาความละเอียดจิตก็ยิ่งละเอียดเข้าไปทุกที เกือบจะไม่มีอะไรเลยก็ว่าได้ ในที่นั้นถือว่าน้อยนิดเดียวก็ไม่มี (คืออารมณ์หยาบไม่มี) เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๓
    อรูปฌานที่ ๔ ด้วย อำนาจการเพ่งว่าน้อยหนึ่งในที่นี้ก็ไม่มีดังนี้อยู่ เมื่อจิตน้อมไปในความละเอียดอยู่อย่างนั้น ความสำคัญนั่นนี่อะไรต่ออะไรย่อมไม่มี แต่ว่าผู้ที่น้อมไปหาความละเอียดแลผู้รู้ว่าถึงความละเอียดนั้นยังมีอยู่ เป็นแต่ผู้รู้ไม่คำนึงถึง คำนึงเอาแต่ความละเอียดเป็นอารมณ์ ฉะนั้น ในที่นั้นจะเรียกว่าสัญญาความจำอารมณ์อันหยาบก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีเสียแล้ว จะเรียกว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ แต่ความจำว่าเป็นของละเอียดยังมีปรากฏอยู่ ฌานชั้นนี้ท่านจึงเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๔
    เมื่อ แสดงมาถึงอรูปฌานที่ ๔ นี้ ท่านผู้อ่านทั้งหลายสมควรจะได้อ่านฌานวิเศษ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธต่อไปอีกด้วย เพราะเป็นฌานแถวเดียวกัน แลเป็นที่สุดของฌานทั้งหลายเหล่านี้ คือผู้เข้าอรูปฌานที่ ๔ ชำนาญแล้ว เมื่อท่านจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็มายึดเอาอรูปฌานที่ ๔ นี้เองมาเป็นอารมณ์ ด้วยการไม่ยึดเอาความหมายอะไรมาเป็นนิมิตอารมณ์เสียก่อนเมื่อจะเข้า ตามนัยของนางธัมมทินนาเถรี ตอบปัญหานางวิสาขอุบาสก ดังนี้ ไม่ได้คิดว่าเราจักเข้า หรือเข้าอยู่ หรือเข้าแล้ว เป็นแต่น้อมจิตไปเพื่อจะเข้า ก็ได้อบรมจิตไว้อย่างนั้นแล้วก่อนแต่จะเข้า เมื่อเข้านั้นวจีสังขารคือความวิตกดับไปก่อน แล้วกายสังขารคือลมหายใจ แลจิตสังขารคือเวทนา จึงดับต่อภายหลัง ส่วนการออกก็ไม่ได้คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เป็นแต่ได้กำหนดจิตไว้แล้วก่อนแต่จะเข้าเท่านั้น ว่าเราจะเข้าเท่านั้นวันแล้วจะออก เมื่อออกนั้นจิตสังขารเกิดก่อน แล้วกายสังขาร-วจีสังขารจึงเกิดตามๆ กันมา เมื่อออกมาทีแรก ผัสสะ ๓ คือ สุญญตผัสสะ ๑ อนิมิตตผัสสะ ๑ อัปปณิหิตผัสสะ ๑ ถูกต้องแล้ว ต่อนั้นไปจิตนั้นก็น้อมไปในวิเวกดังนี้

เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
ทางอื่นนอกจากนี้แล้ว ที่จะเป็นไปเพื่อความเห็นอันบริสุทธิ์ ย่อมไม่มี

    สมาธิ เมื่อผู้มาเพ่งพิจารณาพระกรรมฐานบทใดบทหนึ่งอยู่ มีกายเป็นต้นแล้วจิตนั้นย่อมตั้งมั่น แน่วแน่อยู่เฉพาะหน้าในอารมณ์อันเดียว แต่ไม่ถึงกับเข้าสู่ภวังค์ที่เรียกว่า ฌาน มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่นรู้ตัวอยู่ จิตหยาบก็รู้ว่าหยาบ ละเอียดก็รู้ว่าละเอียด รู้จริงเห็นจริงตามสมควรแก่ภาวะของตน หากจะมีธรรมารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น จิตนั้นก็มิได้หวั่นไหวไปตามธรรมารมณ์นั้นๆ ย่อมรู้อยู่ว่าอันนั้นเป็นธรรมารมณ์ อันนั้นเป็นจิต อันนั้นเป็นนิมิตดังนี้เป็นต้น เมื่อต้องการดูธรรมารมณ์นั้นก็ดูได้ เมื่อต้องการปล่อยก็ปล่อยได้ บางทียังมีอุบายพิจารณาธรรมารมณ์นั้นให้ได้ปัญญา เกิดความรู้ชัดเห็นจริงในธรรมารมณ์นั้นเสียอีก อุปมาเหมือนบุคคลผู้นั่งอยู่ที่ถนนสี่แยก ย่อมมองเห็นผู้คนที่เดินไปมาจากทิศทั้ง ๔ ได้ถนัด เมื่อต้องการติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นก็ได้สมประสงค์ เมื่อไม่ต้องการติดต่อก็ทำกิจตามหน้าที่ของตนเรื่อยไปฉะนั้น ดังนี้เรียกว่าสมาธิ
    สมาธินี้ท่านจำแนกไว้เป็น ๓ ชั้นคือ
    ขณิกสมาธิ สมาธิที่เพ่งพิจารณาพระกรรมฐานอยู่นั้น จิตรวมบ้าง ไม่รวมบ้าง เป็นครู่เป็นขณะ พระกรรมฐานที่เพ่งพิจารณาอยู่นั้นก็ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง เปรียบเหมือนสายฟ้าแลบในเวลากลางคืนฉะนั้น เรียกว่า ขณิกสมาธิ
    อุปจารสมาธิ นั้นจิตค่อยตั้งมั่นเข้าไปหน่อยไม่ยอมปล่อยไปตามอารมณ์จริงจัง แต่ตั้งมั่นก็ไม่ถึงกับแน่วแน่เป็นอารมณ์อันเดียว ถึงเที่ยวไปบ้างก็อยู่ในของเขตของจิต อุปมาเหมือนวอก เจ้าตัวกลับกลอกถูกโซ่ผูกไว้ที่หลัก หรือนกกระทาขังไว้ในกรงฉะนั้น เรียกว่าอุปจารสมาธิ
    อัปปนาสมาธิ นั้นจิตตั้งมั่นจนเต็มขีด แม้ขณะจิตนิดหน่อยก็มิได้ปล่อยให้หลงเพลินไปตามอารมณ์ เอกัคคตารมณ์จมดิ่งนิ่งแน่ว ใจใสแจ๋วเฉพาะอันเดียว มิได้เกี่ยวเกาะเสาะแส่หาอัตตาแลอนัตตาอีกต่อไป สติสมาธิภายในนั้น หากพอดีสมสัดส่วน ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องตั้งสติรักษา ตัวสติสัมปชัญญะสมาธิ มันหากรักษาตัวมันเอง อัปปนาสมาธินี้ละเอียดมาก เมื่อเข้าถึงที่แล้ว ลมหายใจแทบจะไม่ปรากฏ ขณะมันจะลง ทีแรกคล้ายกับว่าจะเคลิ้มไป แต่ว่าไม่ถึงกับเผลอสติเข้าสู่ภวังค์ ขณะสนธิกันนี้ท่านเรียกว่า โคตรภูจิต ถ้าลงถึงอัปปนาเต็มที่แล้วมีสติรู้อยู่ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ถ้าหาสติมิได้ ใจน้อมลงสู่ภวังค์เข้าถึงความสงบหน้าเดียว หรือมีสติอยู่บ้างแต่เพ่งหรือยินดีชมแต่ความสุขอันเกิดจากความสงบอันละเอียด อยู่เท่านั้น เรียกว่า อัปปนาฌาน
    อัป ปนาสมาธินี้มีลักษณะคล้ายกับผู้ที่เข้าอัปปนาฌานชำนาญแล้ว ย่อมเข้าหรือออกได้สมประสงค์ จะตั้งอยู่ตรงไหน ช้านานสักเท่าไรก็ได้ ซึ่งเรียกว่าโลกุตตรฌาน อันเป็นวิหารธรรมของพระอริยเจ้า อัปปนาสมาธิเมื่อมันจะเข้าทีแรก หากสติไม่พอเผลอตัวเข้า กลายเป็นอัปปนาฌานไปเสีย
    ฌาน แล สมาธิ มีลักษณะและคุณวิเศษผิดแปลกกันโดยย่ออย่างนี้ คือ
    ฌาน ไม่ว่าหยาบและละเอียด จิตเข้าถึงภวังค์แล้วเพ่งหรือยินดีอยู่แต่เฉพาะความสุขเลิศอันเกิดจากเอ กัคคตารมณ์อย่างเดียว สติสัมปชัญญะหายไป ถึงมีอยู่บ้างก็ไม่สามารถจะทำองค์ปัญญาให้พิจารณาเห็นชัดในอริยสัจธรรมได้ เป็นแต่สักว่ามี ฉะนั้น กิเลสทั้งหลายมีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น จึงยังละไม่ได้ เป็นแต่สงบอยู่
    ส่วน สมาธิ ไม่ว่าหยาบแลละเอียด เมื่อเข้าถึงสมาธิแล้ว มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามชั้นแลฐานะของตน เพ่งพิจารณาธรรมทั้งหลายอยู่ มีกายเป็นต้น ค้นคว้าหาเหตุผลเฉพาะในตน จนเห็นชัดตระหนักแน่วแน่ตามเป็นจริงว่า สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เป็นต้น ตามชั้นตามภูมิของตนๆ ฉะนั้น
    สมาธิ จึงสามารถละกิเลส มีสักกายทิฏฐิเสียได้ สมาธินี้ถ้าสติอ่อน ไม่สามารถรักษาฐานะของตนไว้ได้ ย่อมพลัดเข้าไปสู่ภวังค์เป็นฌานไป ฌานถ้ามีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้นเมื่อไร ย่อมกลายเป็นสมาธิได้เมื่อนั้น ในพระวิสุทธิมรรคท่านแสดงสมาธิเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฌาน เช่นว่า สมาธิกอปรด้วยวิตก วิจาร ปีติ เป็นต้น ดังนี้ก็มี บางทีท่านแสดงสมาธิเป็นเหตุของฌาน เช่นว่าสมาธิเป็นเหตุให้ได้ฌานชั้นสูงขึ้นไป ดังนี้ก็มี บางทีท่านแสดงสมาธิเป็นฌานเลย เช่นว่าสมาธิเป็นกามาพจร รูปาพจร อรูปาพจร ดังนี้ก็มี แต่ข้าพเจ้าแสดงมานี้ก็มิได้ผิดออกจากนั้น เป็นแต่ว่าแยกแยะสมถะฌาน สมาธิ ออกให้รู้จักหน้าตามันในขณะที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น สำหรับผู้ฝึกหัดเป็นไปแล้วจะไม่งง ที่ท่านแสดงไว้แล้วนั้นเป็นการยืดยาว ยากที่ผู้มีความทรงจำน้อยจะเอามากำหนดรู้ได้
    นิมิต เมื่อ อธิบายมาถึง ฌาน สมาธิ ภวังค์ ดังนี้แล้ว จำเป็นจะลืมเสียไม่ได้ซึ่งรสชาติอันอร่อย (คือ นิมิต) ซึ่งเกิดขึ้นในระยะของสิ่งเหล่านั้น ผู้เจริญพระกรรมฐานย่อมปรารถนาเป็นอย่างยิ่งแทบทุกคนก็ว่าได้ ความจริงนิมิตมิใช่ของจริงทีเดียวทั้งหมด นิมิตเป็นแต่นโยบายให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงก็มี ถ้าพิจารณานิมิตนั้นไม่ถูกก็เลยเขวไปก็มี ถ้าพิจารณาถูกก็ดีมีปัญญาเกิดขึ้น นิมิตที่เป็นของจริงคือนิมิตเป็นหมอดูไม่ต้องใช้วิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้ก็มี นิมิตนั้นเมื่อจะเกิดก็เกิดเอง เป็นของแต่งเอาไม่ได้ เมื่อจะเกิด เกิดจากเหตุ ๒ ประการ คือเกิดจากฌาน ๑ สมาธิ ๑ เมื่ออบรมและรักษาธรรม ๒ ประการนี้ไว้ไม่ให้เสื่อมแล้ว นิมิตทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเองอุปมาดังต้นไม้ที่มีดอกและผล ปรนปรือปฏิบัติรักษาต้นมันไว้ให้ดีเถิด อย่ามัวขอแต่ดอกผลของมันเลย เมื่อต้นของมันแก่แล้ว มีวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าคงได้รับดอกแลผลเป็นแน่นอน ดีกว่าจะไปมัวขอผลแลดอกเท่านั้น
    นิมิต ที่เกิดจากฌานนั้น เมื่อจิตตกเข้าถึงฌานเมื่อไรแล้ว นิมิตทั้งหลายมีอสุภเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นในลำดับดังได้อธิบายมาแล้วในข้างต้นว่า จิตเมื่อเข้าจะเข้าถึงฌานได้ย่อมเป็นภวังค์เสียก่อน ภวังค์นี้เป็นเครื่องวัดของฌานโดยแท้ ถ้าเกิดขึ้นในลำดับของภวังคบาต เกิดแวบขึ้นครู่หนึ่งแล้วนิมิตนั้นก็หายไปพร้อมทั้งภวังค์ด้วย ถ้าเป็นภวังคจลนะ พอเกิดขึ้นแล้วภวังค์นั้นก็เร่ร่อนเพลินไปตามนิมิตที่น่าเพลิดเพลินนั้นโดย สำคัญว่าเป็นจริง ถ้านิมิตเป็นสิ่งที่น่ากลัว กลัวจนตัวสั่น เสียขวัญ บางทีก็รู้อยู่ว่านั่นเป็นนิมิตมิใช่ของจริง แต่ไม่ยอมทิ้งเพราะภวังค์ยังไม่เสื่อม ภวังคจลนะนี้เป็นที่ตั้งของวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ มีโอภาโส แสงสว่างเป็นต้น ถ้าไม่เข้าถึงภวังค์ มีสติสัมปชัญญะแก่กล้าเป็นที่ตั้งของปัญญาได้เป็นอย่างดี มีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นในที่นี้เอง นิมิตนั้นเลยกลายเป็นอุปจารสมาธินิมิตไป ส่วนภวังคุปัจเฉทะไม่มีนิมิตเป็นเครื่องปรากฏ ถ้ามีก็ต้องถอยออกมาตั้งอยู่ในภวังคจลนะเสียก่อน ตกลงว่านิมิตมีที่ภวังคจลนะอยู่นั่นเอง
    นิมิต ที่เกิดในสมาธิ เมื่อเกิดขึ้นในภูมิของขณิกสมาธิ วับแวบขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็หายไป อุปมาเหมือนกันกับบุคคลผู้เป็นลมสันนิบาตมีแสงวูบวาบเกิดขึ้นในตา หาทันได้จำว่าเป็นอะไรต่ออะไรไม่ ถึงจะจำได้ก็อนุมานตามทีหลังคล้ายๆ กับภวังคบาตเหมือนกัน ถ้าเกิดในอุปจารสมาธินั้น นิมิตชัดเจนแจ่มแจ้งดี เป็นที่ตั้งขององค์วิปัสสนาปัญญา เช่นเมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่ พอจิตตกลงเข้าถึงอุปจารสมาธิแล้ว หรือเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้วถอนออกมาอยู่ในอุปจารสมาธิ นิมิตปรากฏชัดเป็นตามจริงด้วยความชัดด้วยญาณทัสสนะในที่นั้น เช่น เห็นรูปขันธ์เป็นเหมือนกับต่อมน้ำ ตั้งขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นเวทนาเป็นเหมือนกับฟองแห่งน้ำ เป็นก้อนวิ่งเข้ามากระทบฝั่งแล้วก็สลายเป็นน้ำตามเดิม เห็นสัญญาเป็นเหมือนพยับแดด ดูไกลๆ คล้ายกับเป็นตัวจริง เมื่อเข้าไปถึงที่อยู่ของมันจริงๆ แล้ว พยับแดดนั้นก็หายไป เห็นสังขารเหมือนกับต้นกล้วยซึ่งหาแก่นสารในลำต้นสักนิดเดียวย่อมไม่มี เห็นวิญญาณเปรียบเหมือนมายาผู้หลอกให้จิตหลงเชื่อ แล้วตัวเจ้าของหายไปหลอกเรื่องอื่นอีก ดังนี้เป็นต้น เป็นพยานขององค์วิปัสสนาปัญญาให้เห็นแจ้งว่า สัตว์ที่มีขันธ์ ๕ ต้องเหมือนกันดังนี้ทั้งนั้น ขันธ์มีสภาวะเป็นอยู่อย่างนี้ทั้งนั้น ขันธ์มิใช่อะไรทั้งหมด เป็นของปรากฏอยู่เฉพาะของเขาเท่านั้น ความถือมั่นอุปาทานย่อมหายไป มิได้มีวิปลาสที่สำคัญว่าขันธ์เป็นตนเป็นตัว เป็นอาทิ

นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ผู้จะบริสุทธิ์เพราะปัญญา

    วิปัสสนาปัญญา วิปัสสนาปัญญาเป็นผลออกมาจากอุปจารสมาธิโดยตรง ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นว่า อุปจารสมาธิเป็นที่ตั้งขององค์ปัญญา อธิบายว่า วิปัสสนาปัญญาจะเกิดนั้น สมาธิต้องตั้งมั่นลงเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ มิใช่เกิดเพราะฌานซึ่งมีแต่การเพ่งความสุขสงบอยู่หน้าเดียว และมิได้เกิดจากอัปปนาสมาธิอันหมดจากสมมติสัญญาภายนอกเสียแล้ว จริงอยู่ เมื่อจิตยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ วิปัสสนาปัญญาไม่สามารถจะทำหน้าที่ละสมมติของตนให้ถึงอาสวขัยได้ แต่ว่าอัปปนาเป็นของละเอียดกว่าสัญญาภายนอกเสียแล้ว จะเอามาใช้ให้เห็นแจ้งในสังขารนี้อย่างไรได้ อัปปนาวิปัสสนาปัญญาเป็นผู้ตัดสินต่างหาก อุปจารวิปัสสนาปัญญาเป็นผู้สืบสวนคดี ถ้าไม่สืบสวนคดีให้มีหลักฐานถึงที่สุดแล้ว จะตัดสินลงโทษอุปาทานอย่างไรได้ ถึงแม้ว่าอัปปนาวิปัสสนาปัญญาจะเห็นโทษของอุปาทานว่าผิดอย่างนั้นแล้ว แต่ยังหาหลักฐานพยานยังไม่เพียงพอ ก็คงไม่สมเหตุสมผลอยู่นั่นเอง เหตุนั้น วิปัสสนาปัญญาจึงได้ยึดเอาตัวสังขารนี้เป็นพยาน เอาอุปจารสมาธิเป็นโรงวินิจฉัย ท่านแสดงวิปัสสนาปัญญาไว้มีถึง ๑๐ นัยดังนี้ คือ
    .  สมฺมสนญาณ  ปัญญา พิจารณาสังขารเฉพาะในภายในเห็นเป็นอนิจจาทิลักษณะแล้ว พิจารณาสังขารภายนอกก็เป็นสภาวะอย่างนั้นด้วยกันหมดทั้งสิ้น หรือประมวลสังขารทั้งสองนั้นเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วพิจารณาเห็นอย่างนั้น
    . อุทยพฺพยญาณ   ปัญญาพิจารณาสังขารทั้งที่เกิดแลที่ดับโดยลักษณะอย่างนั้น
    . ภงฺคญาณ   ปัญญาพิจารณาสังขารเฉพาะแต่ฝ่ายทำลายอย่างเดียว โดยลักษณะอย่างนั้น
    . ภยตูปฏฺฐานญาณ   เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นอย่างภังคญาณนั้น แล้วมีความกลัวต่อสังขารเป็นกำลัง
    . อาทีนวญาณ   ปัญญาพิจารณาสังขารเห็นเป็นโทษเป็นของน่ากลัว อุปมาเหมือนเรานอนอยู่บนเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ฉะนั้น โดยลักษณะอย่างนั้น
    .  นิพฺพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเป็นของน่าเกลียดน่าหน่าย ว่าเราหลงเข้ามายึดเอาของไม่ดีว่าเป็นของดี โดยลักษณะอย่างนั้น
    . มุญฺจิตุกมฺยตาญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารแล้ว ใคร่หนีให้พ้นเสียจากสังขารนั้น เหมือนกับปลาที่ติดอวนหรือนกที่ติดข่ายฉะนั้น โดยลักษณะนั้น
    . ปฏิสงฺขาญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารโดยหาอุบายที่จะเอาตัวรอดด้วยอุบายต่างๆ ดังญาณทั้งหกในเบื้องต้นนั้น
    . สงฺขารุเปกฺขาญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารโดยอุบายต่างๆ อย่างนั้น เห็นชัดตามเป็นจริงไม่มีสิ่งใดปกปิด แล้วไม่ต้องเชื่อคนอื่นหมด หายความสงสัยแล้ววางเฉยในสังขารทั้งปวง โดยลักษณะนั้น
    ๑๐. สจฺจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารโดยอนุโลมกลับถอยหลังว่า มันเป็นจริงอย่างไร มันก็มีอยู่อย่างนั้น ตัวสัญญาอุปาทานต่างหากเข้าไปยึดมั่นสำคัญมันว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่แล้วสังขารมันก็เป็นอยู่ตามเดิม หาได้ยักย้ายไปเป็นอื่นไม่ สมกับที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระอานนท์ว่า อานนท์ ผู้ที่จะพิจารณาสังขารเห็นจริงตามพระไตรลักษณญาณแล้ว จึงจะมีขันติอนุโลม ถ้าหาไม่แล้วขันติอนุโลมย่อมมีไม่ได้ดังนี้
    วิปัสสนา นี้บางแห่งมีเพียง ๙ ท่านเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ ยกสัมมสนญาณออกเสีย ยังคงเหลืออยู่ ๙ นั่นเอง ในที่นี้นำมาแสดงให้ครบทั้ง ๑๐ เพื่อให้ทราบความละเอียดของวิปัสสนานั้นๆ
    ความ จริงวิปัสสนาญาณทั้งสิบนี้จะเกิดได้พร้อมๆ กันในวิถีจิตเดียวก็หามิได้ เมื่อจะเกิดนั้นย่อมเกิดจากภูมิของสมาธิเป็นหลัก สมาธิเป็นเกณฑ์ ถ้าหากสมาธิหนักแน่นมาก หรือถอนออกจากอัปปนาใหม่ๆ แล้ว วิปัสสนาญาณทั้งหกเหล่านี้คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ มักเกิด ถ้าหากอุปจารสมาธิแก่กล้า วิปัสสนาญาณทั้งสองเหล่านี้ คือ สัมมสนญาณ กับ ปฏิสังขาญาณ มักเกิด เรียกกันง่ายๆ ว่า ถ้าอุปจารสมาธิกล้าก็คือหนักไปทางปัญญา อัปปนาสมาธิกล้าก็คือหนักไปในทางสมถะ
    ถ้า สมถะกับปัญญามีกำลังพอเสมอเท่าๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว สังขารุเปกขาญาณย่อมเกิดขึ้น หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า มัคคสมังคี ส่วนสัจจานุโลมิกญาณ เป็นผลพิจารณาอนุโลมตามสัจธรรม ไม่แย้งสมมติบัญญัติของโลกเขา ความจริงของเขาเป็นอยู่อย่างไร ก็ให้เป็นไปตามความเป็นจริงของเขาอย่างนั้น ส่วนความจริงของท่านผู้รู้จริงเห็นจริงแล้ว ย่อมไม่เสื่อมไปตามเขา ถ้าเป็นผลของโลกุตตระ พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านย่อมพิจารณาอนุโลมตามพระอริยสัจของท่าน คือ เห็นตามความจริง ๔ ประการ ได้แก่ จริงสมมติ จริงบัญญัติ จริงสัจจะ จริงอริยสัจ วิชาของพระอริยเจ้าจึงได้ชื่อว่า วิชชาอันสมบูรณ์ทุกประการ
    ส่วน สัมมสนญาณเป็นวิปัสสนาญาณตัวเดิม อธิบายว่า สัมมสนญาณนี้เป็นที่ตั้งของวิปัสสนาญาณทั้งเก้า เมื่อวิปัสสนาญาณตัวนี้ทำหน้าที่ของตนอยู่นั้น วิปัสสนาญาณนอกนี้ย่อมมาเกิดขึ้นในระหว่าง แล้วแต่จะได้โอกาสสมควรแก่หน้าที่ของตน เช่น สัมมสนญาณ พิจารณาสังขารทั้งปวงอยู่โดยพระไตรลักษณ์ พอเห็นชัดเป็นทุกข์ ภยตูปัฏฐานญาณก็เกิด เห็นเป็นอนิจจัง ภังคญาณก็เกิด เห็นเป็นอนัตตา มุญจิตุกัมยตาญาณก็เกิด เป็นอาทิ ฉะนั้น สัมมสนญาณจึงได้ชื่อว่าเป็นฐานที่ตั้งของวิปัสสนาทั้งเก้านั้น
    สัม มสนญาณนี้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค พระสารีบุตรเถระท่านแสดงภูมิฐานไว้กว้างขวางมาก ถ้าต้องการ เชิญดูในคัมภีร์นั้นเถิด หากจะนำเอามาลงในหนังสือเล่มนี้ ก็จะเป็นหนังสือเล่มโตเกินต้องการไป แต่จะนำเอาใจความย่อๆ พอเป็นนิเขปมาแสดงไว้สักเล็กน้อยว่า ปัญญาการพิจารณาสังขารทั้งปวง ทั้งภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ใกล้ ไกล อดีต อนาคต เข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน แล้วพิจารณาให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ดี พิจารณากายโดยทวัตติงสาการก็ดี พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ผัสสะ ๖ วิญญาณ ๖ หรือธาตุ ๔ ธาตุ ๑๘ โดยนัยดังพิจารณาสังขารทั้งปวง รวมเรียกว่า สัมมสนญาณแต่ละอย่างๆ ฉะนั้น สัมมสนญาณจึงเป็นของกว้างขวางมาก แลเป็นภูมิฐานของวิปัสสนาทั้งหลายด้วย วิปัสสนาทั้งหลายมีสัมมสนญาณเป็นต้น เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่ ย่อมมาปรากฏชัดเฉพาะอยู่ในที่เดียวโดยไตรลักษณญาณ มีอาการดังนี้จึงจะเรียกว่าวิปัสสนาแท้
    อนึ่ง วิปัสสนานี้ ถ้าภูมิคือสมาธิยังไม่มั่นคงพอ อาจกลายเป็นฌานไป อาจทำปัญญาให้เขวไปเป็นวิปลาส หรือเป็นอุปกิเลส เป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิ ไปก็ได้ เหตุนี้ วิปัสสนาปัญญาท่านจึงแสดงไว้เป็น ๒ คือ โลกีย์ ๑ โลกุตตระ ๑ อธิบายว่าที่เป็นโลกีย์นั้น วิปัสสนาเข้าไปตั้งอยู่ในโลกิยภูมิ มีสมถะและวิปัสสนาอันเจริญไม่ถึงขีด คือ ไม่สม่ำเสมอกัน ไม่มีปฏิสังขาญาณเป็นเครื่องตัดสิน มีสัจจานุโลมิกญาณเป็นเครื่องอยู่ ส่วนโลกุตตรวิปัสสนาปัญญาเข้าถึงมัคคสังคี ตัดเสียซึ่งอุปกิเลสแลทิฏฐิวิปลาส อุจเฉททิฏฐิได้
    มรรค มรรคปฏิปทาหนทางปฏิบัตินั้น ดำเนินเข้าไปในกามาพจรภูมิก็ได้ เข้าในรูปาพจรภูมิก็ได้ อรูปาพจรภูมิก็ได้ เข้าไปในโลกุตตรภูมิก็ได้ มรรคใดซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นแก่นสาร มีมรรคทั้งเจ็ด คือ สัมมาสังกัปโปเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน เป็นบริขารบริวารที่สัมปยุตเข้ากับภูมินั้นๆ ได้ชื่อว่ามรรคในภูมินั้น
    ใน ที่นี้จะอธิบายเฉพาะมรรคที่เกิดในวิปัสสนาญาณอย่างเดียวตามความประสงค์ในที่ นี้ คือ นับตั้งต้นแต่เจริญสมถะมาจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณนี้ จัดเป็นมรรควิถีหนทางปฏิบัติที่จะให้ข้ามพ้นจากทุกข์ทั้งนั้น แต่บางทีในวิถีทางที่เดินมานั้น อาจพลัดโผเข้าช่อมตกหลุมบ่อและวกเวียนบ้างเป็นธรรมดา อย่างที่อธิบายมาแล้วไม่ผิด คือ อาจเขวไปเป็นอุปกิเลส แลทิฏฐิวิปลาส แลอุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ เพราะมรรคยังไม่ชำนาญ คือ ทางยังไม่ราบรื่น เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น นายตรวจเอก คือ มัคคามัคคญาณทัสสนะก็จะไม่มีหน้าที่จะทำ แต่ถ้ามรรคนั้นเป็นโลกุตตระ คือ เป็นเอกสมังคีประชุมลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ทางที่สองซึ่งจะนำพระอริยเจ้าให้หลงแวะเวียนอีก คือ เป็นมิจฉาทิฏฐิย่อมไม่มี มรรคแท้มีอันเดียวเท่านั้น แต่มรรคส่วนมากท่านแสดงไว้มีองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นเป็นปริโยสาน แต่ในที่บางแห่ง เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านแสดงว่า มรรคมีองค์อวัยวะ ๘ ของพระอริยเจ้ามีอันเดียว องค์อันเดียว นั้นไม่แก่ทางมัชฌิมาเป็นกลาง แท้จริงทางนั้นเอกเป็นมัชฌิมานี้เป็นทางของพระอริยเจ้าโดยตรง องค์อวัยวะทั้ง ๗ มารวมอยู่ในองค์อันหนึ่ง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิต้องละเสียซึ่งอดีตอนาคตสัญญา เพ่งพิจารณาขันธ์รู้แจ้งแทงตลอดเห็นตามสภาวะเป็นจริงทุกสิ่งถ้วนถี่ ทั้งขันธ์ภายนอก ภายใน หยาบและละเอียดเสมอกับด้วยปัญจขันธ์ คือ สัมมสนญาณประหารโสฬสวิจิกิจฉาให้ขาดด้วยอำนาจปฏิสังขาญาณ ผ่านพ้นมหรรณพโอฆสงสารด้วยอุเบกขาญาณเข้าถึงซึ่งมรรคอันเอก จิตสงบวิเวกอยู่ด้วยญาณ ด้วยอำนาจมัคคปหาน อาการทั้งหลาย ๗ มีสัมมาสังกัปปะเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน หยุดการทำหน้าที่ นี่แลจึงเรียกว่า ทางมัชฌิมาเป็นทางเอก เป็นทางวิเวกบริสุทธิ์หมดจด หากจะไปกำหนดตามอาการเป็นต้นว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ตามเป็นจริง เป็นต้น ย่อมไม่พ้นจากโสฬสวิจิกิจฉา กำหนดว่าสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นเป็นปริโยสานแล้ว เป็นอาการ ย่อมไม่ข้ามพ้นจากสัญญาอนาคตไปได้แน่ แต่เมื่อเข้าถึงมัชฌิมาทางอันเอกแล้ว ย่อมรู้แจ้งซึ่งอาการบริขารบริวารของสัมมาทิฏฐิได้เป็นอันดี เป็นต้นว่า การเพ่งพิจารณาพระกรรมฐาน มีกายคตา อสุภ เป็นต้น ก็เพื่อพ้นจากความดำริในกาม การพิจารณาว่าอันนั้นเป็นอสุภ เป็นธาตุ เป็นต้น เรียกว่าบ่นคนเดียว ไม่เสียดสีใคร ได้ชื่อว่าสัมมาวาจา การประกอบตามหน้าที่ของสมถะหรือวิปัสสนา ไม่ต้องไปเกะกะระรานกับคนอื่นๆ เรียกว่าสัมมากัมมันตะ การมีสติเพ่งพิจารณาองค์สมถะแลวิปัสสนาอยู่นั้น ได้ชื่อว่ามีชีวิตอันไม่เปล่าเสียจากประโยชน์ ได้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ การเพ่งพิจารณาสมถะทั้งปวงก็ดี หรือเจริญวิปัสสนาปัญญาทั้งสิ้นก็ดี ได้ชื่อว่าเป็นการพายการแจวอยู่แล้ว ด้วยเรือลำเล็กลอยในน้ำคือโอฆะ จึงเรียกว่าสัมมาวายามะ การเจริญสมถวิปัสสนามาโดยลำดับไม่ถอยหลัง มีสติตั้งมั่นจึงไม่เสื่อมจากภูมินั้นๆ เรียกว่าสัมมาสติ ใจแน่วแน่มั่นคงตรงต่อสัมมาทิฏฐิตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสมังคี มัชฌิมาทางเอกนี้ ไม่มีวิปลาสและอุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ โสฬสวิจิกิจฉาเป็นเครื่องกั้นนั่นแล จักได้ชื่อว่า สัมมาสมาธิ องค์อริยมรรคแท้
    บริวาร บริขารทั้ง ๗ ของสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นอริยมรรคแล้ว ย่อมรวมเป็นอันเดียว มีในที่เดียวไม่แตกต่างกันออกไปเลย จะสมมติบัญญัติหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้นนั่นเอง จึงได้นามสมัญญาว่าทางอันเอก มรรค ๘ นี้รวมสมังคีเป็นองค์อันหนึ่งในภูมิของพระอริยเจ้าแต่ละภูมินั้นครั้งเดียว ในสมัยวิมุตติแล้วไม่กลับเป็นอีกต่อไปในสมัยอื่น นอกนี้เป็นมัคคปฏิปทาดำเนินตามมรรคเท่านั้น ดังจักมีคำถามว่า ถ้ามัคคสมังคีเกิดมีในภูมิของพระอริยเจ้าแต่ละชั้นนั้นครั้งเดียวแล้วไม่ กลับเกิดอีก ถ้าอย่างนั้นพระอริยเจ้าก็เป็นอริยะแต่ขณะมัคคสมังคีสมัยวิมุตติ นอกจากนั้นแล้วก็เป็นปุถุชนธรรมดาซิ ตอบว่ามิใช่อย่างนั้น มัคคสมังคีสมัยวิมุตตินี้มีเฉพาะในภูมิของพระอริยะเท่านั้น แล้วเป็นของแต่งเอาไม่ได้ แต่งได้แต่มัคคปฏิปทา คือ สมถะแลวิปัสสนาเท่านั้น เมื่อธรรมทั้งสองนั้นมีกำลังสม่ำเสมอไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้วเมื่อไร มัคคสมังคีสมัยวิมุตติก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เมื่อเกิดขึ้นครู่หนึ่งขณะหนึ่งแล้วก็หายไป นอกจากนั้น ถ้าเป็นพระเสขบุคคลก็ดำเนินมัคคปฏิปทาขั้นสูงต่อๆ ไป อย่างนั้นอีกเรื่อยๆ ไป ถ้าเป็นพระอเสขบุคคลแล้ว มัคคปฏิปทานั้นก็เป็นวิหารธรรมในทิฏฐธรรมหรือสัลเลขปฏิปทาของท่านต่อไป ท่านแสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะว่า พระอริยมรรคของพระอรหันต์ทำหน้าที่ปหานกิเลสทั้งหลายมีอุปธิกิเลสเป็นต้น แล้ว ผลก็เกิดขึ้นในลำดับครู่หนึ่งแล้วก็หายไป แท้จริงของ ๒ อย่างนี้แต่งเอาไม่ได้ คือ ภวังคจิต ๑ มัคคสมังคี ๑ แต่ภวังคจิตถึงแต่งเอาไม่ได้ก็จริง แต่เข้าถึงที่เดิมได้บ่อยๆ เพราะภวังคจิตมีอุปธิยึดมั่นอยู่ในภูมินั้นๆ ส่วนมัคคสมังคีไม่มีอุปธิเข้ายึดมั่นเฉพาะในภูมินั้นๆ เสียแล้ว ฉะนั้น พระเสขบุคคลถึงหากว่าท่านยังไม่ถึงพระนิพพาน ก็เพราะละอุปธิอันละเอียดยังไม่หมด แต่ท่านได้รับรสของอมตะแล้ว หรือที่เรียกว่าตกถึงกระแสพระนิพพานแล้ว มีคติอันไม่ถอยหลังเป็นธรรมดา ถึงพระโสดาทั้งสามชั้นนั้นก็ดี หรือพระสกิทาคาก็ดี ท่านก็มีคติแน่นอนไม่ต้องตกอบายอีกเป็นแท้ ถึงท่านเดินทางยังไม่ตลอดมีอุปสรรคพักผ่อนนอนแรมตามระยะทาง (คือตาย) ก็ดี แต่ท่านยังมีจุดมุ่งหมายที่ปลายทางอยู่เสมอ แลตื่นนอนแล้ว นิสัยตักเตือนเป็นเพื่อนสหายพอสบอุบายที่เหมาะเจาะก็รีบเดินทันที เหตุนั้นพระเสขะทั้ง ๒ องค์นี้จะว่าเสื่อมได้ก็ใช่เพราะไม่ติดต่อตายในกลางคัน ภูมินั้นก็พักไว้ไปเสวยผลเสียก่อน หรืออินทรีย์ยังไม่แก่กล้าสามารถจะเดินให้ทันเขา แต่ตอนหลังนี้ไม่มีปัญหา จะว่าไม่เสื่อมก็ได้ เพราะว่านิสัยนั้นยังมีอยู่ อุปมาเหมือนกับพืชผลที่บุคคลเก็บมาไว้ข้างในไม่เหี่ยวแห้ง ถึงแม้จะนำไปปลูกในประเทศที่ใดๆ ก็ดี เมื่อมีผลขึ้นมาแล้วจะต้องมีรสชาติอย่างเดิมอยู่นั้นเอง ฉะนั้น เรื่องนิสัยนี้ ถ้าผู้ใช้ความสังเกตจะทราบได้ชัดทีเดียวว่าทุกๆ คนย่อมมีนิสัยไม่เหมือนกัน นิสัยของแต่ละคนนั้นจะแสดงให้ปรากฏตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งแก่ ย่อมจะแสดงอาการอยู่ในขอบเขตอันเดียวกันเรื่อยๆ มาทีเดียว นิสัยเป็นของละได้ยาก เว้นไว้แต่พระสัมมาสัมพุทธะเท่านั้นจะละได้ ส่วนพระอรหันต์ขีณาสพละไม่ได้ เช่นพระสารีบุตรเถระเป็นตัวอย่าง นิสัยท่านเคยเกิดเป็นวานรมาแล้วแต่ก่อน ครั้นมาในชาตินี้ถึงเป็นพระขีณาสพแล้ว นิสัยนั้นก็ยังติดตามมาอยู่ เมื่อท่านจะเดินเหินไปในที่เป็นหลุมบ่อโขดหิน ท่านมักชอบกระโดดอย่างวานร นี้เป็นตัวอย่าง
    สโมธานปริวัฏ สมถวิปัสสนาดังแสดงมาแล้วตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ เป็นวิถีทางเดินของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ทุกๆ คนจะเว้นเสียไม่ได้ ชื่อแลอาการของสมถวิปัสสนาดังแสดงมาแล้วหรือนอกออกไปกว่านั้นก็ดี ถึงจะมีมากสักเท่าใด ผู้ฝึกหัดพระกรรมฐานมากำหนดเพ่งเอาแต่เฉพาะกายอย่างเดียว โดยให้เห็นเป็นธาตุเป็นอสุภเป็นต้น เท่าที่อธิบายมาแล้วข้างต้นนั้น เท่านี้ก็เรียกว่าเดินอยู่ในวิถีขอบเขตของทางทั้ง ๒ นั้นอยู่แล้ว การปฏิบัติไม่เหมือนเรียนปริยัติ เรียนปฏิบัตินั้นเราเรียนแล้วได้น้อยหรือมากก็ตาม ตั้งหน้าตั้งตาลงมือทำตามให้รู้รสชาติของความรู้นั้นจริงๆ เรียนเพื่อหาความรู้ในการที่จะถอนตนออกจากเครื่องยุ่งเหยิง แม้แต่บทพระกรรมฐานที่เรียนได้แล้วเอามาเจริญบริกรรมเพ่งพิจารณาอยู่นั้นก็ ดี ถ้าหากเข้าถึงสมถวิปัสสนาอันแท้จริงแล้วก็จะสละทิ้งหมดทั้งนั้น คงยังเหลืออยู่แต่ความรู้ความชัดอันเกิดจากสมถวิปัสสนานั้นเท่านั้น สัญญาปริยัติจะไม่ปรากฏ ณ ที่นั้นเลย แต่มโนบัญญัติจะปรากฏขึ้นมาแทนที่ ฉะนั้น ความรู้ความเห็นอันนั้นจึงเป็นปัจจัตตัง จึงถึงองค์พระธรรมนำผู้รู้ผู้เห็นนั้นให้บริสุทธิ์หมดจดได้ ส่วนการเรียนพระปริยัติ เรียนเพื่อจดจำตำราคัมภีร์ มีจำบาลี บทบาท อักขระ พยัญชนะ เป็นต้น อันเป็นพุทธวจนะรากเหง้าของพุทธศาสนา ต้องใช้กำลังสัญญาจดจำเป็นใหญ่ คนเรียนพระกรรมฐานอื่นๆ นอกจากรูปกายนี้แล้ว (ข้าพเจ้าเห็นว่า) ไม่เหมาะแก่ผู้ปฏิบัติซึ่งมีการจดจำพระปริยัติน้อย เพราะกายนี้เพ่งง่าย รู้ง่าย จำได้ง่าย เพราะมีอยู่ในตัวทุกเมื่อ แหละถึงเราจะไม่ทราบว่าธรรมทั้งหลายมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นต้น มีอยู่ในตนก็ดี เมื่อเราเพ่งพิจารณาในรูปกายนี้ ก็ได้ชื่อว่าเจริญพระกรรมฐานทั้งหลายเหล่านั้นอยู่แล้ว แล้วเป็นที่ตั้งอุปาทานอันเป็นแหล่งแห่งกิเลสทั้งหลาย มีสักกายทิฏฐิความหลงถือว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นต้น
    เมื่อ มาเพ่งรูปกายนี้โดยวิธีที่แสดงมาข้างต้นนั้น หากมาเห็นชัดตามเป็นจริงว่ารูปกายนี้เป็นแต่สักว่าธาตุดินเป็นต้น เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทาน ก็ได้ชื่อว่าเห็นอาการของธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว หรือเห็นด้วยจิตอันดิ่งแน่วแน่ด้วยองค์ภวังค์ ก็พอจะยังนิวรณธรรมให้สงบอยู่ได้ ถ้าสมาธิแน่วแน่ดี อันมีวิปัสสนาเป็นผลเกิดขึ้นในที่นั้น ก็จะย้อนกลับมาเพ่งวิพากษ์วิจารณ์รูปสังขารตัวนี้เอง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้ว ก็จะทิ้งอุปธิตัวนี้แหละ
          ฉะนั้น รูปกายนี้จึงได้ชื่อว่าเหมาะ สมควรที่จะเอามาเป็นอารมณ์เจริญกรรมฐานของผู้มีการจดจำน้อย เมื่อผู้มาเพ่งพิจารณารูปกรรมฐานอันนี้เป็นอารมณ์อยู่ จะได้ความรู้จากรูปอันนี้เป็นอันมาก เช่น จะรู้ว่ารูปอันนี้สักแต่ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ หรือเป็นอสุภเป็นต้น เมื่อจิตพลิกกลับจากสัญญาอุปาทานที่เข้ามายึดถือใหม่นี้ แล้วเข้าไปรู้เห็นด้วยความรู้ความเห็นอันเป็นภาวะเดิมของตัว สัญญาอุปาทานใหม่นี้จะเป็นที่ขบขันมิใช่น้อย สมถะหรือฌานและสมาธิจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมาปรารภเอารูปกรรมฐานอันนี้เป็น อารมณ์ วิปัสสนาเห็นแจ้งชัดได้ก็เพราะมาเพ่งเอารูปสังขารอันนี้เป็นที่ตั้ง ฉะนั้น ทางทั้ง ๒ เส้นนี้เป็นของเกี่ยวพันกันไปในตัว
    อธิบาย ว่าเมื่อเจริญสมถะมีกำลังแล้ววิปัสสนาจึงจะเดินต่อ เมื่อเดินวิปัสสนาเต็มที่แล้ว จิตก็ต้องมาพักอยู่ในอารมณ์ของสมถะนั้นเอง ทั้งที่จิตเดินวิปัสสนาอยู่นั้น เช่น พิจารณาเห็นสังขารเป็นอนิจจลักษณะเป็นต้น จิตก็สงบเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้นเอง วิปัสสนาจึงแจ้งชัด ซึ่งจัดว่ามีสมถะอยู่พร้อมแล้ว เมื่อเจริญสมถะอยู่ เช่น เพ่งพิจารณารูปกายอันนี้ให้เป็นธาตุ ๔ เป็นต้น ตามความเป็นจริงแล้ว จิตนั้นสงบแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันนั้น ความเห็นตามเป็นจริงก็ได้ชื่อว่าวิปัสสนาอยู่แล้ว สมถะแลวิปัสสนาทั้งสองนี้ มีวิถีทางเดินอันเดียวกัน คือ ปรารภรูปขันธ์นี้เป็นอารมณ์เหมือนกัน จะมีแยกกันอยู่บ้างก็ตอนปลาย คือว่าเมื่อเจริญสมถะอยู่นั้น จิตตั้งมั่นแล้วน้อมไปสู่เอกกัคคตารมณ์หน้าเดียว จนจิตเข้าถึงภวังค์นั้นแล จึงจะทิ้งวิปัสสนา เรียกว่าสมถะแยกทางตอนปลายออกจากวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาเดินออกนอกขอบเขตของสมถะ หรือสมถะอ่อนไปจนเป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านตามอาการของสัญญา มีส่งตามตำราแลแบบแผนเป็นต้น เรียกว่าวิปัสสนาแยกออกจากสมถะ หรือจิตที่เพลินมองดูตามนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดจากสมถะนั้นก็ดี ถึงจิตนั้นจะแน่วแน่อยู่ในนิมิตนั้นก็ตาม เรียกว่าวิปัสสนาแปรไปเป็นวิปัสสนูปกิเลส เรียกว่าวิปัสสนาแยกทางออกจากสมถะเสียแล้ว
    สมถวิปัสสนา นี้ เมื่อมีกำลังเสมอภาคกันเข้าเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นแล มรรคทั้งแปดมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จะมารวมกันเข้าเป็นองค์อันเดียว อย่าว่าแต่มรรคทั้งแปดเลย อริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี โพธิปักขิยธรรมทั้งสามสิบเจ็ดก็ดี หรือธรรมหมวดอื่นๆ นอกจากนี้ก็ดี ย่อมมารวมอยู่ในมรรคอันเดียวในขณะเดียวกันนั้น ขณะนั้นท่านจึงเรียกว่า สมัยวิมุตติ หรือ เอกาภิสมัย รู้แจ้งแทงตลอดในสัพพเญยยธรรมทั้งปวงขณะเดียว ของไม่รวมกันอยู่ ณ ที่เดียวจะไปรู้ได้อย่างไร จึงสมกับคำว่า ผู้มีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จึงจะถึงวิมุตติธรรมได้ดังนี้
    ดัง จักมีคำถามว่า มรรคทั้งแปดทำไมจึงมารวมเป็นอันเดียวกัน แล้วธรรมทั้งหลายมีอริยสัจ ๔ เป็นต้น ก็มารวมอยู่ในที่นั้นด้วย ส่วนผู้ที่มาอบรมให้เป็นไปเช่นนั้นแต่ก่อนๆ ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นธรรมหมวดไหน แต่ในเวลาธรรมมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วทำไมจึงรู้ได้ (ข้าพเจ้าขอตอบโดยอนุมานว่า) เพราะจิตเดิมเป็นของอันเดียว ที่ว่าจิตมีมากดวง เพราะจิตแสดงอาการออกไปจึงได้มีมาก เมื่อจิตมีอันเดียว ธรรมอันบริสุทธิ์ที่จะให้หลุดพ้นจากอาการมาอย่างก็ต้องมีอันเดียวเหมือนกัน จิตอันเดียว ธรรมอันเดียว จึงเข้าถึงซึ่งวิมุตติได้ จึงเรียกว่า เอกาภิสมัยวิมุตติ
    ส่วน ท่านผู้ที่มาอบรมให้เป็นไปเช่นนั้นได้ แต่เมื่อก่อนๆ ถึงจะไม่รู้ว่า อันนั้นเป็นธรรมชาตินั้นๆ ก็ดี แต่เมื่อมารวมอยู่ในที่เดียวกันแล้ว ย่อมเห็นทั้งหมดว่าอันนั้นเป็นธรรมอย่างนั้น มีกิเลสและไม่มีกิเลส แสดงลักษณะอาการอย่างนั้นๆ ย่อมปรากฏชัดอยู่ในที่อันเดียว ส่วนสมมติบัญญัติจัดเป็นหมวดเป็นหมู่แต่งตั้งขึ้นมาตามลักษณะที่เป็นจริง อยู่นั้น จึงมีชื่อเรียกต่างๆ เป็นอย่างๆ ออกไป สำหรับผู้รู้อยู่ในที่เดียว เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว ใครจะสมมติบัญญัติหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านั้นย่อมเป็นอยู่อย่างนั้นๆ ทีเดียว ข้อนี้เปรียบเหมือนกับกล้องจุลทรรศน์รวมดึงดูดเอาเงาของภาพทั้งหลายที่มี อยู่ข้างหน้าเข้ามาไว้ที่เดียวทั้งหมด แล้วทำภาพในขณะเดียวกันทั้งหมด แต่กล้องนั้นมิได้สมมติบัญญัติภาพเหล่านั้นเลย
    ฉะนั้น สมถวิปัสสนาที่แสดงมาแต่ต้นจนอวสานนี้ เป็นวิถีทางของพระโยคาวจรผู้เจริญสมถวิปัสสนา เพื่อให้ถึงซึ่งมรรคอันสูงขึ้นไปโดยลำดับ ถ้าเป็นมรรคสามในข้างต้น ความรู้ ความเห็น การละ ก็เป็นไปตามภูมิของตนโดยลำดับของมัคคสมังคีนั้น มีผลเกิดขึ้นในความอิ่มความเต็มแล้ว วางเฉยขณะหนึ่งแล้วก็หายไป ต่อนั้นไปก็ดำเนินมัคคปฏิปทาต่อไปอีก ในสมัยวิมุตติอื่นก็เช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าเป็นมรรคที่สูงสุดยอดเยี่ยมของมรรคทั้งหลายแล้ว ต่อจากผลนั้นมามีลักษณะจิตอันหนึ่ง ให้น้อมไปในวิเวกเป็นอารมณ์ แล้วย้อนกลับมาตรวจดูมัคคปฏิปทา อันปหานกิเลสแล้วชำนะธรรมารมณ์อันเป็นเครื่องอยู่ต่อไป ข้อนี้อุปมาเหมือนบุรุษผู้ชาวสวนถางป่า เมื่อเขาถางป่าเตียนหมดแล้วก็ใช้ไฟเผา จนทำให้ที่เขาถางนั้นเป็นเถ้าเป็นฝุ่นไปหมด เมื่อป่าที่เขาเผานั้นเตียนโล่งไปหมดแล้ว เขาก็มาตรวจดูภูมิภาคเหล่านั้นด้วยความปลาบปลื้ม ที่ไหนสมควรจะเพาะปลูกพืชพรรณธัญญชาติสิ่งใด ในที่ไหน เขาก็ปลูกตามชอบใจ
    ฉะนั้น ขอสาธุชนผู้หวังอมตรสให้ปรากฏในมัคควิถี จงพากันยินดีในทางอันเอกจะได้ถึงวิเวกอันเกษมศานต์ การกระทำพระกรรมฐานดังแสดงมาแล้วนี้มิใช่เป็นการยากลำบากนัก ถ้าหากรู้จักหนทางแล้ว เดินพริบหนึ่งขณะจิตเดียวก็จะถึงซึ่งเอกายนมรรค ไม่จำเป็นจะต้องพักผ่อนนอนแรมตามระยะทางให้ชักช้า ขอแต่เชิญพากันตั้งศรัทธาปสาทะในมัคคปฏิปทาเป็นนายหน้าก็แล้วกัน คุณมหันต์อันเราประสงค์คงได้แน่

ธรรมทานจากhttps://sites.google.com/site/smartdhamma/sxng-thang-smtha-wipassna