วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความรักสากล คือ UNIVERSAL LOVE

ความรักสากล คือ UNIVERSAL LOVE
โดย พุทธทาสภิกขุ

          วามรักสากล หมายถึงว่า มีความรักชีวิตผู้อื่น ไม่เลือกหน้า ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีเขา ไม่มีเรา. ทุกศาสนาก็ต้องการอย่างนี้ ; แม้แต่จริยธรรมก็ต้องการอย่างนี้ ให้มีความรักผู้อื่น เสมอกันกับความรักตัว ; นี่จิตใจมันสูง. ถ้าจิตใจมันต่ำ มันก็เห็นแก่ตัว มันรักผู้อื่นไม่ได้ ; แม้แต่เพื่อนฝูงอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ก็ยังชกต่อยกัน ; ที่จะไปรักคนอื่นทั่วไป แม้ที่เป็นศัตรูนี้จะทำได้อย่างไร.
          เราจะต้องมีความคิดนึกที่ถูกต้องตามหลักตามอุดมคติของศีลธรรม ; ว่าเราทุกคนชีวิตทั้งหมดนี้ เป็นเพื่อนเดินทางจากความชั่วไปสู่ความดี. จากความต่ำไปสู่ความสูง, จากความทุกข์ทรมานไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง, เป็นเพื่อนด้วยกันทั้งหมดทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหน ภาษาไหน, หรือจะเป็นศาสนาไหนก็ตาม, ล้วนเป็นเพื่อนเดินทางด้วยกันทุกคน. เราต่างกันแต่เพียงว่ามีฐานะต่างกัน อะไรต่างกันบางอย่างเท่านั้นเอง ; แต่ทว่า หน้าที่แล้วละก็เหมือนกันหมด ; จะต้องเดินทางจากความต่ำไปหาความสูง เพื่อหมดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จากความสุขอยู่ในกรงขัง ไปสู่ความพ้นเป็นอิสระทางวิญญาณ. ฉะนั้น เรา ต้องรักผู้อื่นด้วยกันทั้งหมด ในฐานะเป็นเพื่อนเสมอกัน เป็นความรักสากลอย่างนี้ เป็นความไม่เห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิง.
          ดังที่กล่าวมานี้ เป็น อุดมคติของลูกเสือ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ; ความเห็นแก่ตัวมีขึ้นเมื่อไร ก็มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อนั้น. เห็นแก่ตัว มีขึ้นมา ก็โลภ อยากจะได้, เห็นแก่ตัว เมื่อไม่ได้อย่างใจ มัน ก็โกรธ ก็ฆ่าเขา ตีเขา ด่าเขา, เห็นแก่ตัว มัน ก็มืดมัว ซอกแซก สงสัย สนใจ ไม่มีขอบเขตจำกัด และมัวเมาในสิ่งต่าง ๆ. เมื่อมีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นที่ไหน ; มันก็มีความชั่ว หรือว่ามีกิเลสขึ้นมามีการเบียดเบียนที่นั่น แม้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มันก็เบียดเบียนตัวเอง ทรมานตัวเองให้เร่าร้อนหม่นหมองอยู่ตลอดเวลา ; นี่เรียกว่าเบียดเบียนตัวเอง มีความเห็นแก่ตัวที่ไหน ก็มีความเบียดเบียนตัวเองที่นั่น ; ฉะนั้น เราต้องทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นอุดมคติของทุกศาสนา เป็นอุดมคติของศีลธรรมทั้งหมด จนกระทั่วเกิด universal love มีความรักสากล.
          สิ่งต่าง ๆ ที่เขาให้ลูกเสือศึกษาอบรมประพฤติฝึกฝน ก็เพื่อสิ่งเหล่านี้คือความดีสูงสุด ที่มนุษย์ควรจะได้ทั้งนั้น. อย่าไปเห็นว่า มันหยุดอยู่เพียงแค่รู้เท่านั้น ต้องประพฤติกระทำ เพื่อเกิดนิสัยที่ดี เพื่อให้เกิด spirit ที่ดี ให้มีขึ้นมาในตัว. เราจะ ต้องมองให้เห็นอุดมคติหรือความมุ่งหมาย แล้วกระทำให้ได้. อย่าทำเพียงแสดงละคร, อย่าเพียงแต่สวมเครื่องแบบลูกเสือ, อย่าเพียงแต่แสดงท่าทางไปตามแบบ ; อย่างนั้นมันก็เป็นลูกเสือไปตามแบบ. ไม่ใช่เราจับสัตว์บางชนิดมาสวมเครื่องแบบลูกเสืออย่างนี้ก็จะเป็นลูกเสือได้ เป็นตำรวจ เป็นทหารได้. แต่ เป็นอะไรก็ตาม ต้องหมายความว่า จะเป็นได้ ต่อเมื่อ ปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ อยู่, หรือ ปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นสำเร็จแล้ว ; เพียงแต่สวมเครื่องแบบแล้วออกท่าทางนั้น เป็นละครลิงชนิดหนึ่ง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น. ต้องประพฤติ กระทำได้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยจิตใจ นั้นจึงจะได้เป็น ตามที่เรามุ่งหมายที่เป็นลูกเสือ.
          นี้เรียกว่าเราจะเพ่งเล็งถือเอาจริยธรรมสากลเป็นหลัก ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ นั้นคืออะไร ? เป็นอย่างไร ? เป็นอุดมคติของลูกเสือ. เป็นอุดมคติของจริยธรรมสากล, เป็นอุดมคติของทางศาสนาทุกศาสนาพร้อมกันในตัว ; คล้ายกับยิงนกทีเดียวได้นกหลายตัว ตัวใหญ่ ๆ ทุกชนิดได้หมด. มันดีอย่างนี้ โดยใช้จริยธรรมสากลเป็นหลัก ; สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์เป็นอย่างนี้. เมื่อเราเป็นลูกเสือก็ควรจะทำให้ได้อย่างนี้.
*******
กิ่งธรรมจาก http://www.buddhadasa.org

อริยสัจ 4

 อริยสัจ 4
     
     เมื่อกล่างถึงอริยสัจ 4 เราชาวพุทธ หรือบางท่านเป็นศาสนิกอื่น ทราบและเข้าใจดี ว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสากลจักวาลนี้ โดยเมื่อทราบความจริงแล้ว หนทางในการเข้าใจถึงความจริง ดังนี้

       อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
       1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
       2. ทุกขสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
       3. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
       4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ ได้แก่มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ 6.สัมมาวายามะ-พยายามชอบ 7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง
ทางสายกลาง หนทางไปสู่ความจริง

      มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ อริยสัจ 4 นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

    กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่
  1. ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
  2. ปหานะ - สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
  3. สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
  4. ภาวนา - มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา
กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ
     กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ) ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12 ดังนี้
  1. สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า
    1. นี่คือทุกข์
    2. นี่คือเหตุแห่งทุกข์
    3. นี่คือความดับทุกข์
    4. นี่คือทางแห่งความดับทุกข์
  2. กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า
    1. ทุกข์ควรรู้
    2. เหตุแห่งทุกข์ควรละ
    3. ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
    4. ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
  3. กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว
    1. ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
    2. เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
    3. ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
    4. ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
*******
กิ่งธรรมจาก http://th.wikipedia.org

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สารคดีแห่งศตวรรษ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สรรพสิ่งที่อยู่ในจักรวาลนี้เป็น เป็นไปกฎแห่งธรรม ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา เมื่อดับไป การเกิดก็จะเกิดขึ้นอีก  ธรรมทาน ทานธรรม จึงน้อมนำ
 
สารคดีแห่งศตวรรษ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
จาก เว็บไชต์ธรรมะพีเดีย

      เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ปรัชญาทางศาสนาพุทธ คือรากฐานของวิทยาศาสตร์ ในยุคปัจจุบันทำไมเขาจึงกล่าวเช่นนั้น
      กว่า 2500 ปีก่อน เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้นพบอะไร ทำไมสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบ จึงเปลี่ยนแปลงความเชื่ออย่างขนานใหญ่ ให้กับคนในยุคนั้น ยุคที่เต็มไปด้วยความเชื่อเรื่องเทพเเจ้าและอิทธิฤิทธิ์ปาฎิหารย์ และ ทำไมศาสนาพุทธจึงสูญหายไปจากอินเดีย ดินแดนที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดแล้วปัจจุบันหล่ะ ศาสนาพุทธหายไปจากอินเดียจริงหรือหรือยังคงเหลือ อะไรบางอย่างไว้
      ตามรอยพระพุทธเจ้า สารคดีความยาว 12 ชั่วโมง กับการเดินทางอันยาวนาน เพื่อค้นหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ที่เคยฝังตัวอยู่ใต้แผ่นดินของอินเดียมานานกว่า 700 ปี เรื่องราวของศาสดาเอกองค์หนึ่งของโลก ผู้มีปรัชญายึดหลักทางสายกลาง
      ตามรอยพระพุทธเจ้า จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในอดีต ครั้งสมัยก่อนพุทธกาล เพื่อเรียนรู้สภาพสังคม และความเชื่อในดินแดนชมพูทวีป ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อครั้งใหญ่ ความรุ่งเรืองและมั่นคงอย่างถึงขีดสุด ของศาสนาพุทธในสมัยพุทธกาล ความล่มสลายและสูญสิ้นไปจากแผ่นดินเกิดอย่างสิ้นเชิง ในสมัยหลังพุทธกาล
      อะไร เป็นสาเหตุความเสื่อมสลายในครั้งนั้น ความแตกต่างทางความเชื่อของศาสนาพุทธ แต่ละนิกายเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมชาวอินเดีย จึงยังคงรักษาความเชื่อในศาสนาฮินดูเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
      ตามรอยพระพุทธเจ้า สารคดีที่จะเปิดเผยเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาอย่างลึกถึงแก่น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีและมานุษยวิทยาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งศตวรรษ 

ตอนที่ ๑ : สู่ต้นกำเนิดแม่น้ำคงคา





 




 





ตอนที่ ๘ : ปรัชญาที่เปลี่ยนไป


ตอนที่ ๙ : วันที่พุทธหายไปจากอินเดีย


ตอนที่ ๑๐ : เมืองพุทธแห่งหิมาลัย


ตอนที่ ๑๑ : การกลับมาของสาวกพระพุทธเจ้า 



ตอนที่ ๑๒ : ไขปริศนาการค้นพบอันยิ่งใหญ่

 เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปสรรพสิ่งที่อยู่ในจักรวาลนี้เป็นเป็นไปกฎแห่งธรรม

ธรรมทาน  http://thammapedia.com






   

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สมาธิมีประโยชน์มากมาย ต้องใช้ให้คุ้มและให้ครบ

"สมาธิมีประโยชน์มากมาย ต้องใช้ให้คุ้มและให้ครบ" 
 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)  


       ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเสด็จหลีกไปจากสำนักของท่านอาฬารดาบสและอุททกดาบส ทั้งที่ได้สมาธิถึงสมาบัติสูงสุด ก็เพราะไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่สมบูรณ์

       แต่พระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งสมาธิ พระองค์ทรงใช้สมาธิเป็นบาทคือ เป็นเครื่องช่วยหนุนธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติสูงขึ้นไปให้ทำงานได้ผลดีเพราะ สภาพจิตที่เป็นสมาธินั้นมีลักษณะที่เป็นคุณสมบัติสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะ
       ๑. ทำให้จิตมีกำลัง
       ๒. ทำให้จิตใส
       ๓. ทำให้จิตสงบ

       ข้อที่ ๓ นี้ทำให้คนติดมากคือ ทำให้จิตสงบแล้วก็สุข แล้วก็เลยติดเพลิน เลยกลายเป็นกล่อมไป

       คุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธินี้ ขอขยายความหน่อยว่า
       ๑. ทำให้จิตมีพลัง
       ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า เหมือนสายธารที่ไหลลงจากภูเขา ซึ่งปิดช่องทางที่น้ำจะแยกกระจายออกไปหมดแล้ว ไหลลงไปทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงมาก (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๕๑)
       ถ้าจะทำในขณะนี้ ก็เหมือนกับคนขึ้นไปบนยอดเขา เอาน้ำขึ้นไปด้วยถังใหญ่ถังหนึ่ง พอถึงยอดเนินเขาแล้วก็สาดน้ำโครมลงไปอย่างไม่มีทิศทาง น้ำกระจายทั้งถังหายเงียบหมด ไม่เกิดอะไรขึ้น

       ที่นี้เอาใหม่ แบกน้ำถังเท่ากันขึ้นไป แต่คราวนี้เทน้ำถังเท่ากันนั้นลงในร่องในรางหรือในท่อ น้ำไหลไปทางเดียว ก็มีกำลังมากสามารถพัดพาสิ่งที่ขวางหน้า เช่นกิ่งไม้ไปได้ เหมือนกับจิตที่เป็นสมาธิซึ่งแน่วแน่ พุ่งไปทางเดียว ก็มีกำลังมาก
      นี้เป็นคุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิประการที่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก อย่างพวกนักบวชนอกพุทธศาสนาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ชอบเอาจิตที่เป็นสมาธิไปใช้พัฒนาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เป็นด้านพลังจิต

       ๒. ทำให้จิตใส

       ถ้าเราเอาภาชนะตักน้ำจากบ่อจากสระหรือหลุมน้ำข้างทางที่ขุ่น มีฝุ่นละอองมีดินละลายปนอยู่ข้นคลั่ก มองไม่เห็นอะไรเลย เอาไปตั้งไว้ในที่นิ่งสนิทไม่มีลมพัดไหว และที่นั้นก็มั่นคงไม่หวั่นไหวตั้งอยู่ไม่นาน ตะกอนก็ตกก้นหมด น้ำก็ใสแจ๋ว มีอะไรในน้ำก็มองเห็นชัดเจน

       เปรียบเหมือนกับจิตของเรา ที่ฟุ้งซ่านพล่านอยู่ด้วยอารมณ์ต่างๆ มากมาย เรื่องราวอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นวุ่นวาย บังกันไปบังกันมา มองอะไรไม่ชัดเจน แต่พอเราทำจิตให้เป็นสมาธิ เหลืออารมณ์เดียวที่ต้องการ อารมณ์อื่นตกตะกอนนอนนิ่งหมด จิตก็ใสไม่มีอะไรบัง เราก็มองเห็นสิ่งนั้นชัดเจน

       ฉะนั้น จิตที่เป็นสมาธิจึงเอื้อต่อปัญญา ทำให้มองเห็นตามเป็นจริง ดังพุทธพจน์ที่ว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจะรู้เข้าใจตามเป็นจริง (สํ.ข.๑๗/๒๗; สํ.สฬ.๑๘/๑๔๗; สํ.ม.๑๙/๑๖๕๔; องฺ.เอกาทสก.๒๔/๒๐๙)

       แต่ไม่ใช่ว่าเกิดสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเองนะ หลายคนเข้าใจผิด ถ้าอย่างนั้น อาฬารดาบสและอุททกดาบส ก็รู้แจ้งสัจจธรรมหมดสิเพราะท่านได้สมาธิสูงลึกซึ้งถึงอรูปฌาน ถ้าเข้าใจว่าได้สมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง ก็ไม่ถูก

จิตที่เป็นสมาธิ เปรียบเหมือนน้ำที่ใส ปัญญาเหมือนนัยน์ตาเมื่อน้ำใส นัยน์ตาก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายในน้ำได้ชัด แต่ถึงแม้ว่าน้ำใสแต่ตาไม่มีหรือไม่มอง ก็ไม่เห็นอยู่นั่นเอง

       พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้ ขอยกพุทธพจน์มาให้ดูเอง ดังนี้
       “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำ ที่ใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัวเลย คนตาดียืนอยู่บนฝั่ง ก็จะเห็นได้ แม้ซึ่งหอยโข่ง หอยกาบ แม้ซึ่งก้อนหิน ก้อนกรวด แม้ซึ่งฝูงปลา ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ก็ตาม กำลังหยุดอยู่ก็ตาม ในห้วงน้ำนั้น นั่นเพราะเหตุไร? ก็เพราะน้ำไม่ขุ่น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ก็จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ตน จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นจักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จักประจักษ์แจ้งได้ซึ่งคุณวิเศษล้ำมนุษย์สามัญ กล่าวคือญาณทัสสนะ ที่สามารถทำให้เป็นอริยชน...”
(องฺ.เอก. ๒๗/๔๐)

       อนึ่ง จิตที่เป็นสมาธิเอื้อต่อการเกิดปัญญา ไม่ใช่ควาหมายความว่าทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง ปัญญาเกิดจากสมาธิได้นั้น เพราะเรามีเรื่องที่คิดพิจารณาหรือมองอยู่แล้ว เราพยายามมองเพ่งพินิจมัน แต่อารมณ์ต่างๆ มันมาบังกัน อารมณ์นั้นบังอารมณ์นี้ ก็เลยไม่เห็นชัดสักที แต่พอจิตเป็นสมาธิ อารมณ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องว่างหายไป เหลือแต่สิ่งที่ต้องการมอง นี่คือจิตใส เรามองอยู่ก็จึงเห็นสิ่งนั้นชัดเจน

       จะเห็นว่า บางครั้งเราคิดปัญหาบางอย่างอยู่นาน ยังไม่ได้คำตอบ จนเปลี่ยนไปทำอะไรอื่นๆ ต่อมาขณะที่กำลังว่างๆ นั่งสงบในที่บรรยากาศดี บางทีคำตอบในเรื่องนี้ก็ผุดโพลงขึ้นมา นี่เพราะจิตที่คิดอยู่สงบแน่วแน่ลง ก็ใสกระจ่างแจ่มแจ้งขึ้นมานั่นเอง

       ๓. ทำให้จิตสงบ
       ข้อนี้ชัดอยู่แล้ว จิตที่เป็นสมาธินั้นตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ต้องการ เป็นจิตที่อยู่ตัว ลงตัว เข้าที่ สมดุลไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ว้าวุ่น ไม่พล่าน ไม่ขุ่นมัว ไม่เดือดร้อน ไม่มีอะไรกวน ก็ย่อมสงบ และมีความสุข ตอนนี้ถ้าจะพักผ่อน ก็พักผ่อนได้เต็มที่ และถ้าจะติดเพลินก็อยู่ตอนนี้ จึงว่าต้องระวังจะเป็นตัวกล่อม

       ประโยชน์ที่ต้องการของสมาธิอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นก็เป็น “กัมมนีย์” คือเหมาะแก่งาน ใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ แล้วแต่จะเอาไปใช้อะไร

       แต่งานสำคัญที่ต้องการในพระพุทธศาสนา ก็คือ งานทางปัญญาเพราะจะบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนาด้วยปัญญา แต่ปัญญาจะทำงานได้ดี จะมองเห็นชัดเจน ก็ต้องอาศัยจิตที่เป็นสมาธิผ่องใส

       ถ้าเราใช้จิตสมาธิเพื่อประโยชน์ทางปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา คุณสมบัติทั้งสามด้านของจิตสมาธิก็มาเสริมกันเอง ให้ทำงานได้ผลเต็มที่ คือ ลักษณะด้านที่ ๒ เป็นหลัก

       หมายความว่า จิตที่ใสเป็นสมาธิ เอื้อต่อการใช้ปัญญา และเอื้อต่อการมองเห็นด้วยปัญญา แล้วลักษณะที่ ๑ มาช่วย ทำให้จิตนั้นมีกำลังอีก การใช้ปัญญาในจิตที่มีกำลังด้วยก็ยิ่งชัดเจนและเดินหน้า แล้วยังมีลักษณะที่ ๓ ความสงบช่วยด้วย โดยไม่มีอะไรกวน ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้สั่นให้ไหวมายั่วมาล่อออกไป การใช้ปัญญาก็ยิ่งได้ผล

        ดังนั้น ลักษณะของสมาธิ ๓ อย่างนี้ จะต้องใช้ให้ถูกต้อง เมื่อใดรู้ธรรมแจ้งจบแล้ว การใช้ประโยชน์ก็มาอยู่ที่ลักษณะที่ ๓ มาก เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากสมาธิในแง่ที่สองที่จะต้องพัฒนาปัญญา เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว

       เมื่อพระองค์เสด็จไปบำเพ็ญพุทธกิจมาเสร็จแล้ว ก็ทรงพักผ่อนด้วยการเข้าฌาน ดังที่เรียกว่าเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือ สำหรับพักผ่อน เป็นการใช้สมาธิในความหมายที่ ๓ แต่พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้นจากกิเลสหมดแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทรงติดเพลินสมาธินั้น และไม่มีทางที่จะทรงประมาท

       สำหรับพวกเราทั่วไป ยังต้องระวัง ถ้าติดเพลิน ใช้สมาธิเป็นตัวกล่อม ก็จะกลายเป็นเครื่องฉุดดึงตัวเองไว้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรมขัดขวางต่อการพัฒนา จึงได้บอกแต่ต้นว่า ตัวกล่อมนี้ ข้อเสียของมันก็คือ มันทำให้หยุดการพัฒนา มันทำให้เราหยุดอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไป

       ดังนั้น ชาวพุทธหยุดไม่ได้ ต้องก้าวต่อไป โดยใช้สมาธิเป็นตัวเอื้อ ช่วยเกื้อหนุนให้เดินหน้าไปในไตรสิกขา
       ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องของการกล่อมด้วยการอ้อนวอนเทพเจ้า คนจำนวนมากกล่อมใจตัวเองด้วยเรื่องนี้ จนกระทั่งศาสนาที่มองเห็นว่า มนุษย์จะหลงจมอยู่ด้วยความหวังพึ่ง ไม่พัฒนาต่อไป ก็ต้องใช้อุบายที่จะทำให้มนุษย์เหล่านั้นหรือศาสนิกของตนต้องเพียรพยายามเอา เอง ไม่ใช่รอคอยเทพเจ้าช่วยแล้วมัวนั่งงอมืองอเท้าอยู่อย่างเดียว ก็เลยต้องจำกัดการช่วยว่าจะช่วยอีกนานหลายพันปีข้างหน้า หรือไม่รู้ว่าเมื่อไร ตอนนี้ให้ดิ้นรนช่วยตัวเองไปก่อน หรือบอกว่าพระเจ้าจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตัวเอง เป็นต้น แล้วแต่วิธีการของศาสนานั้นๆ

       แต่ในพุทธศาสนานี้ ท่านไม่ให้มัวหวังผลอ้อนวอนนอนรอคอยการดลบันดาลอย่างนั้นเลย เพราะสอนหลักให้ทำการด้วยความเพียรซึ่งมีฐานอยู่ในหลักสิกขา ที่มีสาระว่าให้ฝึกฝนพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลาอย่างจริงจังไม่ประมาท เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มีชีวิตที่ปลอดโปร่งโล่งเบา และมีความสุขที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง 
*******
กิ่งธรรมจาก http://www.dhammathai.org