วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รู้ทุกข์ พบธรรม พระไพศาล วิสาโล

"ความโกรธความเกลียดเหมือนกับกองไฟ มันไม่ได้อยู่ถาวรตลอดกาล ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องมอดดับ แต่เป็นเพราะเราไปต่ออายุให้มัน ไปเติมฟืนเติมเชื้อให้มัน มันก็เลยลุกอยู่อย่างนั้น ต่อเมื่อเราวางเฉย เราเห็นมันเฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ ดับไปเอง"
 
รู้ทุกข์ พบธรรม โดย พระไพศาล วิสาโล

        พุทธศาสนานั้นพูดถึงความทุกข์ไว้มาก จนมีความเข้าใจในหมู่คนจำนวนไม่น้อยว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบทุกข์นิยม หรือมองโลกในแง่ร้าย ที่จริงแล้วที่ท่านพูดถึงทุกข์ไว้มากก็เพราะทุกข์กับธรรมะมีความสัมพันธ์กัน มาก สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแยกไม่ออก จะเข้าถึงธรรมได้ก็ต้องเจอทุกข์เสียก่อน ถ้าไม่เจอทุกข์ก็เข้าถึงธรรมหรือพบธรรมได้ยาก ในแง่หนึ่งก็เพราะว่าทุกข์เป็นตัวผลักให้เราเข้าหาธรรมะ ถ้าสุขสบายดีก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องเข้าหาธรรมะ แต่พอเจอทุกข์ก็อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าหาธรรมะ เหมือนกับว่าเจอร้อนแล้วก็ต้องไปหาน้ำมาดับร้อน หรือเข้าหาที่ที่สงบเย็น ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่สัตว์เองก็เหมือนกัน เราสังเกตไหมว่าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยเฉพาะในเมือง มักจะมีหมาข้างถนนมานอนหน้าร้าน เพราะอะไร ก็เพราะมันเย็น พอประตูเปิด แอร์เย็น ๆ ก็จะโชยออกมา
       คนจำนวนไม่น้อยพบธรรมเพราะถูกความทุกข์ผลักดัน อย่างเช่นท่านโกเอ็นก้า ท่านเป็นคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญมากในการเผยแผ่ธรรมะให้แพร่หลายไปทั่วโลก คำว่าวิปัสสนาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็เพราะศูนย์วิปัสสนาของท่านโกเอ็นก้า เดี๋ยวนี้พอพูดกับฝรั่งว่าวิปัสสนาก็ไม่ต้องแปลความหมายแล้ว เพราะเขาเข้าใจ จนบางทีเข้าใจว่าหมายถึงการปฏิบัติแนวของท่านโกเอ็นก้าอย่างเดียว ที่จริงแล้วคำว่าวิปัสสนามีความหมายกว้างกว่านั้น การที่ท่านโกเอ็นก้าหันมาสนใจพุทธศาสนา จนกระทั่งกลายเป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญก็เพราะว่าท่านมีความทุกข์ คือท่านเป็นไมเกรนตั้งแต่ยังหนุ่ม ตอนอายุ ๓๐ กว่า ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพม่า แต่ท่านไม่มีความสุข ทั้ง ๆ ที่มีทั้งเงินและชื่อเสียง สาเหตุก็เพราะปวดไมเกรน รักษาเท่าไรก็ไม่หาย เงินมีมากมายแต่รักษาไมเกรนไม่ได้  บังเอิญมีคนแนะนำให้ท่านไปลองทำสมาธิ ตอนนั้นท่านก็ไม่เคยรู้จักสมาธิมาก่อน พอมีคนแนะนำก็เลยไปฝึกกับอาจารย์วิปัสสนาซึ่งเป็นฆราวาสชื่อท่านอูบาขิ่น  ปรากฏว่าทำไปแล้วได้ผล คือไมเกรนหาย พอหายก็เกิดศรัทธาในสมาธิภาวนา จึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งกลายเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิปัสสนา จากนั้นก็กลายเป็นอาจารย์วิปัสสนาเสียเอง
      ต่อมาท่านได้ทราบว่าคุณแม่กำลังป่วยหนัก ท่านจึงย้ายไปอินเดียเพื่อสอนวิปัสสนาให้แก่คุณแม่  แต่พอไปถึงอินเดียก็ไม่ได้สอนวิปัสสนาให้บุพการีเท่านั้น แต่ยังสอนให้ผู้คนวงกว้างด้วย  เพราะว่าอินเดียไม่ค่อยมีอาจารย์ด้านวิปัสสนา  ท่านมีชื่อเสียงที่อินเดียก่อน จากนั้นก็เดินทางไปสอนวิปัสสนาในในยุโรปและอเมริกา ทำให้ท่านมีชื่อเสียงก้องโลก และทำให้ธรรมะเผยแพร่ไปทั่วโลก นี่เป็นตัวอย่างของการที่ทุกข์ผลักดันให้พบธรรมะ ไม่ว่าความเจ็บป่วย หรือการถูกบีบบังคับให้พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน  ล้วนเป็นผลดีต่อธรรมะทั้งสิ้น
        มีหลายคนที่มาพบธรรมะได้ก็เพราะความเจ็บความป่วย  โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะเป็นโรคที่ถึงตาย รักษาได้ยาก ใครที่เป็นแล้วก็จะนึกถึงความตาย และเห็นว่าธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยบำบัดความทุกข์ ทำให้ใจสงบได้ เพราะหวังพึ่งยาไม่ค่อยได้แล้ว  หลายคนถ้าไม่เป็นมะเร็งก็ไม่เข้าวัดปฏิบัติธรรม เมื่อพบธรรมะและความสงบในจิตใจ  บางคนถึงกับขอบคุณโรคมะเร็ง เพราะถ้าไม่เป็นโรคนี้ก็ไม่มีทางได้พบธรรมะซึ่งเป็นหนทางพาไปสู่ความสุขที่ ประเสริฐ หรือได้พบคำตอบว่าเกิดมาทำไม อะไรคือคุณค่าและความหมายของชีวิต
       การที่ธรรมะได้รับความนิยมมากในเมืองไทยในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ที่ทำให้หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ใช่แค่สิ้นเนื้อประดาตัวอย่างเดียว แต่ยังมีทุกข์ท่วมท้นใจ  หลายคนไม่รู้จะไปไหน จึงต้องใช้ธรรมะดับความทุกข์ กลายเป็นผู้ใฝ่ธรรม ฆราวาสหลายคนที่มีชื่อเสียงด้านธรรมะ ก็เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ นั้นเอง หากเขายังมีความเจริญรุ่งเรืองในทางธุรกิจ ก็คงไม่เหลียวแลธรรมะ เพราะคิดว่าความรู้ที่ตัวเองมี กิจการที่ตัวเองมี หรือทรัพย์สินเงินทองที่ตัวเองมีมากมายนั้น เป็นที่พึ่งของชีวิตได้ แต่พอสูญเสียสิ่งเหล่านี้จนแทบไม่เหลือ ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นที่พึ่งแทน
        บางคนเสียคนรัก เสียพ่อ เสียแม่ เกิดความเศร้าโศกเสียใจ จึงต้องไปหาธรรมะมาดับความทุกข์ในใจ บางคนก็เสียลูก มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นลูกชายอายุ ๑๕ ปี มาขออนุญาตเธอไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย เธอเห็นว่าลูกเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีความใฝ่รู้ พึ่งตัวเองได้ อีกทั้งอินเดียเป็นประเทศที่น่าจะทำให้ลูกได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย จึงอนุญาตให้ลูกไป แต่พอลูกไปอินเดียได้ไม่กี่เดือน ก็ปรากฏว่าจมน้ำตาย พอแม่ได้ข่าวก็ช็อคเลย ไม่ได้แค่เสียใจที่ลูกตาย แต่รู้สึกผิดด้วยว่าตัวเองมีส่วนทำให้ลูกตาย  เธอโทษตัวเองว่าถ้าไม่อนุญาตให้ลูกไปอินเดีย ลูกก็จะไม่ตาย เธอได้แต่ลงโทษตัวเอง หัวใจแทบจะสลาย เสียศูนย์อยู่เป็นปี โดยไม่รู้สึกดีขึ้น สุดท้ายก็เลยต้องเข้าหาธรรมะ
       พอได้เรียนรู้เรื่องธรรมะเธอก็เข้าใจเลยว่า ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้น บางคนตายเร็ว บางคนตายช้า  ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้ทำไว้ เพราะทุกคนมีกรรมเป็นของตน คนเรามาเจอกัน มีชีวิตอยู่ด้วยกันก็เพียงแค่ชั่วคราว สักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน พอเธอเห็นความจริงเช่นนี้ก็คลายความเศร้าโศกลงได้  
      ขณะเดียวกัน การเจริญสมาธิภาวนา ก็ทำให้เธอรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ความเศร้าโศกเสียใจก็ดี ความรู้สึกผิดก็ดี แต่ก่อนมันกัดกินใจเธอมาก แต่ตอนหลังก็ทำร้ายจิตใจเธอได้น้อยลง เพราะรู้ทันมัน พอมันเกิดขึ้น ก็มีสติเห็นมัน ไม่จมเข้าไปในอารมณ์นั้น  สติยังช่วยให้เธอเห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยึดเหนี่ยวอารมณ์นั้นเอาไว้ให้หนักอกหนักใจอีกต่อไป  จิตใจเธอจึงเบา สบาย โปร่ง โล่ง เดี๋ยวนี้พอเธอนึกถึงลูกก็ไม่เสียใจแล้ว เพราะเข้าใจและทำใจได้ ทุกวันนี้เทอจึงมีจิตใจที่เบาสบายยิ่งกว่าตอนที่ยังไม่เสียลูกไปเสียอีก ตอนที่ลูกยังไม่เสีย เธอก็มีความทุกข์ตามประสาปุถุชน ถึงแม้ตอนนี้ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ก็สามารถปล่อยวางได้มากขึ้น  จึงขอบคุณลูกที่ทำให้แม่ได้พบธรรมะ เธอบอกว่าความตายของลูกนับว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้แม่ได้มาพบธรรมะอันประเสริฐยิ่ง คงมีแม่ไม่กี่คนที่กล้าพูดว่าขอบคุณความตายของลูก เพราะว่าความตายของลูกนั้นใหญ่หลวงมาก แต่เธอก็สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะว่าสิ่งที่ได้พบ ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียลูกนั้นมีคุณค่ามากเหลือเกิน
      มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องพบเจอกับความทุกข์แบบที่เรียกได้ว่าน้อยคนจะ ได้เจอ เธอเป็นสาวสวย ตอนอายุ ๒๑ ปี เป็นดาวมหาวิทยาลัย ต่อมาเธอได้รู้จักผู้ชายคนหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต  ติดต่อกันสักระยะหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นก็หลงรักเธอทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยเจอตัวกัน พอได้เจอตัวกันก็ยิ่งหลงรักมากขึ้น แต่เธอบอกกับชายคนนั้นว่าเธอไม่ได้รักเขา ผู้ชายคนนั้นโกรธมาก ถึงกับเอาน้ำกรดสาดหน้าเธอจนเสียโฉมไปทั้งใบหน้า และยังทำให้ตาบอดไปอีกข้างหนึ่งด้วย คนที่เคยภูมิใจกับความสวยงามของตน  พอถูกน้ำกรดทำลายให้เสียโฉมอย่างนี้  ก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ทั้งนั้น  เธอก็เช่นกัน คิดถึงการฆ่าตัวตาย แต่พอนึกถึงแม่แล้วก็เปลี่ยนใจ ไม่อยากทำร้ายตัวเอง เพราะจะทำให้แม่เสียใจ
     เธอตัดสินใจย้ายบ้าน เพราะอับอายคนที่เคยรู้จักเธอและเห็นใบหน้าที่สะสวยของเธอมาก่อน แต่แม้จะย้ายบ้านเธอก็มีความทุกข์มาก อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ๓-๔ ปี เธอกลับกลายเป็นคนใหม่ ไม่รู้สึกอับอายกับใบหน้าที่เสียโฉมอีกแล้ว ปล่อยวางได้ ทุกวันเธอนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน  มีคนมาทักเธอ เธอก็ไม่รู้สึกอับอาย พูดคุยกับเขาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เธอมีอาชีพเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแห่งหนึ่ง มีความสุขกับการทำงาน เพราะเจ้านายก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี
      เคยมีคนมาถามเธอว่าโกรธคนที่เอาน้ำกรดมาสาดหน้าหรือไม่ เธอบอกว่าไม่โกรธเลย ต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำ ที่ทำให้เธอเป็นแบบนี้  เธอบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลดีแก่เธอหลายอย่าง คือ ทำให้เธอมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ถ้าเธอหน้าตาไม่เสียโฉมก็คงจะไม่อยู่ติดบ้าน เพลิดเพลินกับแสงสี  แต่พอเป็นอย่างนี้แล้วเธอจึงอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์นั้นทำให้เธอมีความคิดเป็นผู้ใหญ่  ทำให้เธอได้คิดว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยง มีวันหมดอายุ  เธอบอกว่า “ถ้าเราไม่สูญเสียตรงนี้ อนาคตเราแก่ไป มันก็ต้องไปตามกาลเวลา  มันก็ทำให้เราปล่อยวาง  พอเราปล่อยวางเรื่องตัวของตัวได้ เวลาเจอเรื่องอะไรที่มันแย่ ๆ หรือมีคนพูดไม่ดี เราก็ไม่สนใจ เพราะเราไม่ได้ยึดติดตรงนั้นแล้ว”  นี้เป็นตัวอย่างของคนที่เจอทุกข์แล้วจึงได้พบธรรมะ
      ที่จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างทุกข์กับธรรมะไม่ได้มีเพียงเท่า นั้น หากใคร่ครวญให้ดีจะเห็นว่าการเจอทุกข์ช่วยให้ได้เห็นธรรมะแจ่มแจ้งโดยตรง ยกตัวอย่างเรื่องของนางกีสาโคตมี ที่เสียลูกไป หากนางไม่เสียลูกไปก็คงจะไม่เห็นว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ที่จริงแล้วนางเป็นคนฉลาด แต่ว่ายากที่จะพบธรรมได้ หากไม่เสียลูก ลูกของนางยังเล็ก กำลังน่ารัก พอนางต้องเสียลูกไปก็เห็นเลยว่าคนเราหนีความ  พลัดพรากสูญเสียไม่พ้น นางยอมรับได้ว่าทุกคนต้องตาย ทุกคนต้องสูญเสียคนรัก หรือสิ่งอันเป็นที่รัก  พอนางเผาลูกของตนเองแล้วก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมเพียงแค่ไม่กี่ประโยคเท่านั้น ชี้ให้ เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนางได้เจอได้เจอความทุกข์มาด้วยตนเอง จึงเข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้ง  ถ้านางไม่พบเจอความสูญเสียด้วยตนเอง ฟังไปก็แค่เข้าใจ  คงไม่เกิดปัญญาถึงขั้นที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้
       เช่นเดียวกับนางปฏาจารา ซึ่งไม่ใช่เสียลูกเพียงคนเดียว แต่เสียสามี และเสียพ่อเสียแม่ด้วย ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็ถูกไฟเผาผลาญจากฟ้าผ่า เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว การสูญเสียทั้งหมดเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในเวลาอันรวดเร็วมาก นางไม่เหลือใครเลย จนกระทั่งแทบจะเป็นบ้า พอนางได้มาพบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็พูดเตือนสติ พอนางตั้งสติได้ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องความเป็นทุกข์ของชีวิต เรื่องความไม่เที่ยงของสังขาร  นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที  คือถ้าไม่เจอทุกข์ด้วยตนเองก็ไม่มีทางที่จะซาบซึ้งถึงธรรมได้
       พระเถรีบางท่านแก่หง่อม เดินไปไหนมาไหนก็ต้องกระย่องกระแย่ง มีไม้เท้ายัน คราวหนึ่งเดินพลาด หกล้ม ตัวกระแทกพื้น เจ็บปวดมาก  แต่ท่านมีสติจึงเห็นชัดว่าสังขารเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือเลย เกิดปัญญา ปล่อยวางสังขารทั้งปวง ก็บรรลุธรรม เรียกว่าท่านบรรลุธรรมได้เพราะความทุกข์  สำหรับบางคนแม้ไม่บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้า แต่ความทุกข์ก็สามารถสอนธรรมจนปล่อยวางได้มาก เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ผู้คนสูญเสียทรัพย์สมบัติไปมากมาย แต่มีบางคนได้ธรรมะเป็นรางวัล เพราะได้เห็นอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์นี้ว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นของ เราเลยสักอย่าง ทรัพย์สมบัติที่อยู่กับเราเป็นของชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานก็ต้องพรากจากกัน ถึงแม้จะไม่มีคนเอาไป ก็อาจถูกน้ำพัดพาไป อันนี้เป็นตัวอย่างธรรมะที่สามารถเห็นได้จากน้ำท่วม ใครที่ไม่เจอธรรมะแบบนี้ก็ถือว่าขาดทุน คือทั้งเสียทรัพย์และเสียใจด้วย แต่ถ้าใครเจอทุกข์แล้วเห็นธรรมก็เรียกได้ว่าคุ้มมาก
       ขอให้พิจารณาดูว่าความทุกข์นั้นไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างเดียว มันสามารถนำสิ่งดี ๆ มาให้แก่ชีวิตของเราได้ โดยเฉพาะธรรมะ  ความทุกข์สามารถเขย่าใจของเราให้เกิดปัญญาจนเห็นธรรมะได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอความทุกข์ อย่ามัวตีอกชกหัวว่าทำไมเราถึงมีเคราะห์กรรมอย่างนี้ จะคิดแบบนั้นก็ได้  ถ้าคิดแล้วทำให้รู้สึกว่าต้องเข้าหาธรรมะเพื่อดับความทุกข์ในจิตใจ แต่จะดีกว่าหากว่าเวลามีความทุกข์เกิดขึ้นเราพยายามหาประโยชน์จากมัน ถ้ามองดูให้ดีจะเห็นว่าความทุกข์ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ประโยชน์ในทางโลกอย่างเดียว เช่น พอเราป่วยก็มีคนมาเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ แต่ว่ามันยังสามารถทำให้เราได้เห็นธรรมะที่ลึกซึ้ง  ยิ่งทุกข์มาก  โอกาสที่จะเห็นความจริงที่ลึกซึ้งก็มากขึ้น
      มีผู้หญิงคนหนึ่ง วันหนึ่งพบว่าสามีที่อยู่ด้วยกันมา ๑๐ กว่าปีนอกใจ เธอโกรธแค้นมาก ถึงกับเรียกสามีว่ามึง และด่าว่าเป็นหมูเป็นหมาไปเลย สุดท้ายก็เลิกกัน  พอหย่ากันเสร็จเธอก็สบายใจ รู้สึกแปลกใจด้วยซ้ำที่ทำใจได้ ไม่ระทมทุกข์ โศกเศร้า เธอเข้าใจว่าเป็นผลของการปฏิบัติธรรม จึงปล่อยวางได้เร็ว แต่ที่ไหนได้  ๒-๓ เดือนต่อมาเธอไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗ คืน ๘ วัน ปรากฏว่าเพียงแค่วันแรกเท่านั้น จิตใจเธอก็รุ่มร้อนมาก เพราะใจนึกถึงพฤติกรรมของอดีตสามี ยิ่งนึกก็ยิ่งแค้น เพราะรู้สึกว่าถูกหักหลัง ถูกหลอกลวง ที่เคยคิดว่าตัวเองปล่อยวางได้ ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะว่าใจยังไม่ว่างต่างหาก มัวทำโน่นทำนี่ ใจก็เลยไม่ได้คิดถึงเรื่องสามี แต่พอมาปฏิบัติธรรมแล้วใจก็ว่าง จึงเอาเรื่องเก่า ๆ มาคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น
      ปฏิบัติธรรมวันที่ ๒ ก็ยังรู้สึกรุ่มร้อน วันที่ ๓ ก็ยังร้อนอยู่เพราะเรื่องเดิม พอถึงวันที่ ๔  เช้าวันนั้นเธอเดินจงกรมโดยเอามือกุมไว้ข้างหน้า พอเดินไปหนึ่งชั่วโมงก็รู้สึกเมื่อยมือ  จึงปล่อยมือลง พอปล่อยแล้วก็รู้สึกสบายทันที ขณะนั้นเองเธอก็ได้คิดว่าปล่อยเมื่อไรก็สบายเมื่อนั้น  ถ้ายึดเอาไว้มันก็ทุกข์ พอเห็นอย่างนี้เธอก็ปล่อยเรื่องของสามีไปจากใจทันที รู้สึกเบาสบายอย่างไม่เคยปรากฏ  เธอได้เห็นตอนนั้นอย่างแจ่มแจ้งว่า ทุกข์เพราะยึด  สุขเพราะปล่อย
      ตอนที่เธอนึกถึงสามีนั้น เธอลืมตัว  ทั้ง ๆ ที่คิดแล้วก็ทุกข์แต่ก็ยังคิดไม่หยุด เพราะลืมตัว แต่พอรู้ตัวขึ้นมาหลังจากที่ปล่อยมือแล้วสบาย  เธอก็ปล่อยวางเรื่องสามีไปทันที  เพราะรู้ว่าคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ มันผ่านไปแล้ว จะคิดไปทำไม แต่ตอนคิดนั้นไม่รู้ตัวเลย   เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะใจที่หมกมุ่นยึดติดกับ อดีต  แม้สามีจะนอกใจ แต่ถ้าไม่เอามาคิด ก็ไม่ทุกข์
      ทุกข์เพราะยึด สุขเพราะปล่อย คือธรรมที่ผู้หญิงคนนี้เห็น เนื่องจากเจอทุกข์ด้วยตนเอง  ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่เห็นธรรม  ทุกข์มีประโยชน์ตรงนี้เอง ดังนั้นเวลาเราเจอความทุกข์ต้องรู้จักหาประโยชน์หรือใช้ประโยชน์จากมันให้ ได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายถึงพูดเรื่องความทุกข์ ไว้มาก ก็เพราะว่าทุกข์กับธรรมะนั้นใกล้กันมาก ถ้าเจอทุกข์ก็จะมีแรงผลักให้เข้าหาธรรมะ ยิ่งถ้าเราเห็นทุกข์ด้วยสติ หรือใคร่ครวญทุกข์ด้วยปัญญา ก็จะยิ่งพบธรรมะหรือความจริงที่ลึกซึ้ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อรู้ทุกข์ก็พบธรรม
     เพราะฉะนั้นเมื่อเจอความทุกข์ก็ขอให้ตั้งสติดูใจของตน   ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์นั้นไม่ใช่เพื่อให้เราเป็นทุกข์ แต่เพื่อให้เรารู้จักทุกข์ อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากการเห็นทุกข์ก่อน คนเราถ้าเห็นทุกข์แล้วจะไม่เป็นทุกข์ ส่วนผู้คนที่เป็นทุกข์นั้นก็เพราะไม่เห็นทุกข์ สังเกตหรือไม่เวลาเรามีความหงุดหงิด หรือความโกรธเกิดขึ้น ถามว่าทุกข์ไหม ทุกคนก็ทุกข์ทั้งนั้น แต่พอเรามีสติเห็นความหงุดหงิด เห็นความโกรธ ความทุกข์ก็จะดับไปเลย เพราะว่า “เห็น” ทุกข์ แต่ไม่ “เป็น”ทุกข์  หรือไม่ “เป็น”ผู้ทุกข์  คนส่วนใหญ่เวลามีความทุกข์แล้วก็จะเป็นผู้ทุกข์ไปเลย ไม่ใช่เห็นทุกข์
     เราต้องฉลาดในการเห็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ ต้องฉลาดที่จะเห็นความโกรธ ไม่ใช่เป็นผู้โกรธ ฉลาดที่จะเห็นความหงุดหงิด ไม่ใช่เป็นผู้หงุดหงิด แต่ส่วนใหญ่คนเราจะไม่เป็นอย่างนั้น พอเกิดความโกรธขึ้นก็เป็นผู้โกรธเลย พอโกรธแล้วก็ร้อน แต่บางทีไม่รู้สึกว่าร้อนด้วยซ้ำ  เพราะว่าใจมัวหมกมุ่นอยู่กับการคิดด่าเขา สรรหาถ้อยคำเพื่อด่าเขาให้เจ็บแสบ หรือคิดหาวิธีแก้แค้น ร้อนก็ร้อน แต่ตอนนั้นใจไม่ได้รับรู้ความร้อนด้วย เพราะคิดแต่จะเล่นงาน ตอบโต้ แก้แค้นเขา อย่างนี้เรียกว่าทุกข์แต่ไม่รู้ว่าทุกข์
     เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าเมื่อมีทุกข์ สิ่งที่ต้องทำคือกำหนดรู้ทุกข์ อย่างที่เราสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีตอนหนึ่งว่า “ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้” ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ สิ่งที่ต้องละคือสมุทัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์ อย่างแรกที่ต้องทำคือรู้ทุกข์ คือรู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ รู้ว่ากำลังโกรธ รู้ว่ากำลังหงุดหงิด  เวลามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว  เพราะกำลังถูกอารมณ์ครอบงำอยู่ การมีสติจะช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์เหล่านั้น  เมื่อมีทุกข์ ก็รู้ว่าทุกข์ นี้คือความหมายแง่หนึ่งของ การรู้ทุกข์
ต่อมาก็เห็นว่าที่กำลังทุกข์อยู่นั้นไม่ใช่เราทุกข์ มันเป็นกายที่ทุกข์ เป็นกายที่ปวด ไม่ใช่เราปวด ที่ร้อนนั้นไม่ใช่เราร้อน แต่เป็นกายที่ร้อน ที่โกรธก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นจิตที่โกรธ ถ้าไม่มีสติก็ไม่เห็น  หลงคิดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ไปหมด ไปคิดว่าเราปวด เราเจ็บ เราโกรธ เราโมโห มีแต่ตัวเราเป็นผู้กระทำ แต่พอมีสติเราจะเห็นว่าที่จริงแล้วความปวดนั้นเป็นเรื่องของกาย ส่วนความโกรธเป็นเรื่องของใจ เวลาเดินก็เห็นว่า ที่เดินนั้นคือรูปหรือกาย  ไม่ใช่เราเดิน เวลาเผลอคิด ก็เห็นว่าใจคิด ไม่ใช่เราคิด  ต่อไปก็จะเห็นว่า เวลามีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตโกรธหรอก แต่เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง เวลาเมื่อยหรือเกิดทุกขเวทนา ก็จะเห็นว่าทุกขเวทนาก็อันหนึ่ง ร่างกายหรือรูปก็อันหนึ่ง คือจะเห็นแยกเป็นส่วน ๆ  แต่ก่อนนั้นไม่ใช่อย่างนี้   คือ รู้สึกว่าฉันปวด ฉันเมื่อย ฉันโกรธ
      บ่อยครั้งเรามักจะเอาความทุกข์ของรูป ความทุกข์ของนาม มาเป็นความทุกข์ของเราหรือตัวเรา ที่จริงแล้วตัวเราหรือ “ตัวกู”นั้นไม่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็หลงคิดว่ามันมีจริง ๆ   ตัวกูนี้แหละที่รับสมอ้างว่าเป็นเจ้าของความทุกข์ต่าง ๆ มากมาย  ไปเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของกู ไปเอาความทุกข์ของใจมาเป็นความทุกข์ของกู  ก็เลยทุกข์หนักขึ้น  ที่จริงแล้วยิ่งทุกข์เท่าไร ยิ่งต้องสลัดความทุกข์ออกไป ไม่ใช่ดึงมาเป็นของกูหรือตัวกูตลอดเวลา แต่ถ้าเราเจริญสติ พอมีทุกข์ก็จะเห็นว่าที่ทุกข์นั้นไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกายที่ทุกข์ เป็นกายที่ปวด ที่โกรธก็ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นใจที่โกรธ และต่อไปก็จะเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีสติ จิตก็จะไปรวมกับความโกรธ หรือสำคัญมั่นหมายว่าความโกรธเป็นกู  แล้วก็เลยมีกูผู้ทุกข์ขึ้นมา
      ความรู้สึกว่า กูทุกข์ กูปวด กูโกรธ อุปมาเหมือนตัวเราไปอยู่กลางกองไฟ ก็ต้องร้อนจนทุกข์ทรมาน แต่พอก้าวออกมาจากกองไฟ  ความทุกข์ทรมานก็จะหายไป  กองไฟยังร้อนอยู่ ยังลุกโพลงอยู่ แต่เราไม่รู้สึกร้อนแล้ว เพราะว่าเราอยู่ห่างจากมัน จิตที่เห็นความโกรธก็เหมือนกับคนที่เดินออกมาจากกองไฟ   แม้ความโกรธยังมีอยู่ แต่ไม่รู้สึกทุกข์แล้ว  เพราะมันมีระยะห่างระหว่างจิตกับความโกรธ
      ถ้าเรามีสติก็จะเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง จิตไม่ไปผสมโรงกับความโกรธ มันจะแยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จิตเห็นความโกรธ แล้วจะทุกข์ร้อนได้อย่างไร สิ่งที่เราทำในเวลาเจริญสติก็คือเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับกายหรือใจ ก็เห็นมันเฉย ๆ  ไม่ไปผสมโรงกับมัน แต่วางระยะห่างจากมัน เปรียบเหมือนกับการเดินออกมาจากกองไฟ  มีระยะห่างระหว่างเรากับกองไฟ  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป   ทีนี้พอเราไม่ทำอะไรกับมัน กองไฟก็ดับไป แต่ที่กองไฟมันยังลุกโพลงอยู่ก็เพราะเราคอยเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน เราคิดถึงเรื่องที่โกรธเมื่อไรก็เท่ากับไปเติมเชื้อเติมฟืนให้กับความโกรธ  เมื่อคิดถึงคนที่เราโกรธ ก็ยิ่งโกรธมากขึ้น คิดถึงคนที่เกลียด ก็ยิ่งเกลียดมากขึ้น นั่นคือการต่ออายุให้กับความโกรธความเกลียด
     ความโกรธความเกลียดเหมือนกับกองไฟ มันไม่ได้อยู่ถาวรตลอดกาล ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องมอดดับ แต่เป็นเพราะเราไปต่ออายุให้มัน ไปเติมฟืนเติมเชื้อให้มัน มันก็เลยลุกอยู่อย่างนั้น ต่อเมื่อเราวางเฉย เราเห็นมันเฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ ดับไปเอง ทุกข์จะไม่ยืดยาวต่อไป 
      สรุปก็คือ ที่ท่านสอนว่า ให้รู้ทุกข์ หรือกำหนดรู้ทุกข์นั้น คือ  นอกจากรู้ว่าทุกข์คืออะไรแล้ว ยังหมายความว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าตัวเองทุกข์  เวลาโกรธ ก็ให้รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธอยู่     แล้วก็ควรรู้ไปถึงขั้นว่า ที่กำลังทุกข์อยู่นี้ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นรูปหรือกาย นามหรือใจที่ทุกข์  มันเป็นขันธ์ ๕ ที่ทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเห็นธรรมชัดขึ้นเรื่อย ๆ  รู้ทุกข์ขั้นสุดท้ายก็คือ รู้หรือเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่ทุกข์เลย สังขารทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด กายนี้ก็ทุกข์ ใจนี้ก็ทุกข์ ทุกข์ในที่นี้หมายถึงถูกบีบคั้น ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีแต่จะเสื่อมสลายดับไป ไม่มีอะไรที่จะให้ความสุขได้อย่างแท้จริง ทรัพย์สินเงินทองก็เป็นทุกข์ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม มันเป็นทุกข์ไปหมด ก็เลยไม่อยากจะยึดหรือครอบครองอีกต่อไป
     ที่เราหวงแหนสิ่งต่าง ๆ อยากครอบครองมัน เพราะคิดว่ามันจะให้ความสุขกับเราได้ แต่พอเห็นว่าทุกอย่างมันเป็นทุกข์ไปหมด เหมือนกับดุ้นฟืนที่ติดไฟ ก็ไม่อยากจะจับหรือถืออีกต่อไป พอรู้ว่ามันเป็นของร้อนก็ปล่อยมันเอง ไม่จับแล้ว อันนี้คือการปล่อยวางเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์
      พระพุทธเจ้าตรัสว่า  โลกนี้มีแต่ทุกข์และความดับทุกข์ ที่ดับทุกข์ได้ก็เพราะปล่อย ที่ปล่อยก็เพราะเห็นและรู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์  นอกจากทุกอย่างจะถูกบีบคั้นจนแตกสลายในที่สุดแล้ว มันยังบีบคั้นผู้ที่ไปยึดถือมันด้วย ยิ่งยึดแน่นเท่าไร ก็ถูกบีบคั้นมากเท่านั้น  การเห็นความจริงเช่นนี้ คือความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่ารู้ทุกข์ พอรู้ทุกข์แล้วใจก็จะปล่อยวางเอง เกิดความอิสระขึ้นมา ได้พบกับสุดยอดของธรรม คือนิพพาน ซึ่งเป็นความสงบเย็น ทั้งหมดนี้เป็นผลของการรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง
       รู้ทุกข์ก็พบธรรม  นี้คือความจริงที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายค้นพบ  ดังนั้นความทุกข์จึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวและปฏิเสธเสมอไป มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่ามากที่เราควรรู้จัก ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้ก็จะไม่หันหลังให้ทุกข์แล้ว แต่เราจะหันหน้าดูทุกข์ เพื่อรู้จักมัน  แล้วเราจะได้ประโยชน์จากมัน
      ทีแรกทุกข์จะผลักเราให้เข้าไปหาธรรมะ แต่ต่อไปเมื่อเรามีสติแก่กล้า เราก็จะรู้จักดูทุกข์ แล้วในที่สุดก็จะพบธรรมที่ลึกซึ้ง เกิดปัญญาจนพาใจออกจากความทุกข์ พบความสงบเย็นได้ในที่สุด 

ธรรมทานจาก http://visalo.org/article

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น