วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พยายามทะลุเปลือกเข้าถึงหัวใจศาสนาให้ได้ โดย พุทธทาสภิกขุ

 "พุทธศาสตร์ พุทธะ แปลว่า ตื่น พุทธศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ของคนตื่น, ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ของคนหลับ"
 
พยายามทะลุเปลือกเข้าถึงหัวใจศาสนาให้ได้
โดย พุทธทาสภิกขุ


         เราจะต้องเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนา ก็เพราะว่ามันมีเปลือกนอกหุ้มอยู่; กล้าพูดว่าศาสนาทุกศาสนามีเปลือกหรือมีเนื้องอกที่เกิดขึ้นหุ้มห่อศาสนานั้น ๆ, ส่วนที่เป็นหัวใจจึงอยู่เป็นส่วนที่ลึก เข้าใจได้ยาก มันจำเป็นที่จะต้องมีเปลือก. อย่าไปเสียใจเลย เรื่องพิธีรีตอง เรื่องลัทธิประกอบข้างนอก ซึ่งเป็นเปลือกนั้นมันต้องมีศาสนาตั้งอยู่ได้ก็เพราะเปลือก. นี่พูดแล้วคล้าย ๆ กับว่า มันตรงกันข้าม ดูตั้งแต่ว่าผลไม้ ผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดต้องมีเปลือก; ถ้าไม่มีเปลือกมันเป็นผลไม้ไม่ได้, เนื้อในมันก็เสียหายหมดกินไม่ได้. ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า เมื่อต้นไม้มันจะออกผลนี้ มันต้องออกเปลือกก่อนเสมอแหละ, มันตั้งต้นเป็นเปลือกเล็ก ๆ ขึ้นมา แล้วก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตขยายใหญ่ แล้วมีเนื้อในเพิ่มขึ้นทีหลัง, นี่มันรู้จักออกเปลือกก่อน เพื่อจะคุ้มครองเนื้อใน, มันต้องมีเปลือกจำเป็นที่จะต้องมีเปลือก, ไม่มีเปลือกมันมีเนื้อในไม่ได้.
          ศาสนา ที่อยู่มาได้นี้ ก็เพราะว่ามีเปลือก คือพิธีต่าง ๆ อะไรต่าง ๆ ที่ค่อนข้างดูแล้วมันก็เป็นความงมงาย, หรือเป็นความเชื่ออย่างงมงาย มันก็เป็นเปลือก ที่มันจะห่อหุ้มสติปัญญาอันลึกซึ้งไว้. เราจะต้องค่อย ๆ ทำลายเปลือกเข้าไป ๆ ให้ถึงเนื้อในซึ่งเป็นหัวใจแห่งศาสนาของตน ๆ; ไม่ใช่จะดูหมิ่นสบประมาทอะไร ในการที่จะพูดว่า ทุกศาสนามีเปลือกกำลังมี เปลือกหุ้มห่อ, และถ้าสาวกในชั้นหลังเปลี่ยนแปลงหนักเข้าก็สร้างเปลือกให้ศาสนาตนเองมากเข้า ๆ จนย้อนกลับไปสู่ ระดับไสยศาสตร์, ไสยะ แปลว่า หลับ, ไสยศาสตร์เป็นความรู้ของคนหลับ.
          พุทธ ศาสตร์ พุทธะ แปลว่า ตื่น พุทธศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ของคนตื่น, ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ของคนหลับ; แต่แล้วมันก็ ทิ้งกันไม่ได้ ไสยศาสตร์มันก็เป็นเปลือกคือความเชื่อตามธรรมดาสามัญของคนที่ไม่มีความรู้ อะไร, มันก็ต้องมีความเชื่อ มีความอยากจะเอาตัวรอด ก็ต้องยึดถือชั้นเปลือก ๆ ไปก่อน แล้วก็ค่อย ๆ เข้าถึงชั้นใน, ไสยศาสตร์จึงคู่กันมากับพุทธศาสตร์.
          ไม่ ว่าในของศาสนาไหน ประชาชนโดยทั่วไปก็ต้องมีลักษณะเป็นคนหลับ ถือไสยศาสตร์, โดยเฉพาะอย่างยิ่งหวังพึ่งปัจจัยภายนอก. ดังนั้นถ้าศาสนาไหนเกิดขึ้นมา สอนให้พึ่งปัจจัยภายนอกก็ได้เปรียบ สอนง่ายเข้าใจกันได้ง่าย รับถือกันได้โดยง่าย; แต่ในที่สุดมันดับทุกข์สิ้นเชิงไม่ได้, มันก็ต้องเลื่อนชั้นเป็นศาสนาตื่นมีสติปัญญาสามารถจะขจัดปัญหาอันละเอียดอัน สุขุมของโมหะของอวิชชา.
          เป็น อันว่า เรื่องมีเปลือกนี้จำเป็นที่จะต้องมี เหมือนกับว่าผลไม้ถ้าไม่มีเปลือก เนื้อในมันก็อยู่ไม่ได้; แต่เรากินเปลือกนั้นกินไม่ได้, แล้วมันต้องรู้จักแกะเปลือกออกไป เข้าถึงเนื้อในแห่งผลไม้. พระศาสนานี้ก็เหมือนกัน ควรจะเข้าถึงหัวใจกันให้ได้ ว่าความไม่เห็นแก่ตัว. ความเห็นแก่ตัวนั้นไม่ต้องสอน มันมาจากสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้, มันเตลิดเป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็เห็นแก่ตัว ปัญหามันก็เกิดขึ้น มีความทุกข์ทรมาน. เมื่อเกิดความทุกข์ทรมานก็เท่ากับเป็นการลงโทษ, เมื่อรับโทษหนักเข้า ๆ รับโทษนั่นแหละหนักเข้า ๆ คือมีความทุกข์มากเข้า ๆ มันก็รู้สึกได้เองว่านี่เป็นความทุกข์, มันจึงหันไปหาสภาพที่ตรงกันข้าม คือนึกถึงความดับทุกข์. นี่เรียกว่า มีความทุกข์ถึงที่สุดแล้ว ก็จะเหลียวหาเครื่องดับทุกข์ เป็นที่พึ่งเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิง, ศรัทธาเปลี่ยนจากความงมงายนั้นไปหาสิ่งที่จะดับทุกข์ได้จริง.
          ฉะนั้น ตามหลักปฏิจจสมุปบาท สูตรที่สมบูรณ์นั้นกล่าวศรัทธาต่อท้ายจากความทุกข์; ปฏิบัติส่วนสมุทยวารกล่าวถึงความทุกข์เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ก็กลับขึ้นรอบใหม่, ก็มีศรัทธา คิดจะดับทุกข์ จึงแสวงหา, ไปหาสัตตบุรุษคบสัตตบุรุษ ปฏิบัติตามสัตตบุรุษ, จนกระทั่งรู้จักเรื่องมรรค ผล นิพพาน. ฉะนั้นความทุกข์นั่นเองบีบบังคับคนเรา ให้ทนอยู่ไม่ ได้ต้องเปลี่ยน, ก็เปลี่ยนจากความทุกข์ ก็มามีศรัทธา, แล้วตั้งต้นกันใหม่ในสิ่งที่จะดับทุกข์ได้. ก่อนนี้เป็นศรัทธางมงายของอวิชชา, เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นศรัทธาของสติปัญญา, มีสติปัญญาแล้ว จึงศรัทธา ก็สามารถที่จะเดินไปในทางที่ถูกต้อง เพื่อจะดับทุกข์ได้. 
          นี่ เห็นไหมว่า เราจะต้องเจาะเปลือก, เราจะต้องปอกเปลือก จะต้องเจาะเปลือก เพื่อเข้าถึงเนื้อใน ถึงหัวใจแห่งพระศาสนาที่จะช่วยได้, ก็ให้อภัยกันได้ ที่ว่าศาสนามันต่าง ๆ กัน. จำเป็นที่จะต้องมีศาสนาต่าง ๆ กัน เพราะว่ามนุษย์มันมี หลายชนิดมีหลายชั้น, เรียกว่ามีภูมิหลังต่างกันคือมีวัฒนธรรมเป็นภูมิหลังของชีวิตต่างกัน; ฉะนั้นเขาจะต้องเลือกหาศาสนาที่เหมาะสมกับภูมิหลังแห่งชีวิตของเขา; ดังนั้นจึงมีศาสนาต่าง ๆ ต่าง ๆ เรียกว่ามากพอที่จะให้เลือกครบทุกระดับแห่งมนุษย์ที่มีชีวิต คือมีภูมิหลังต่าง ๆ กัน. นี้เราจึงจำเป็นจะต้องมีศาสนาต่างกัน แต่แล้วเราจะมาทะเลาะวิวาทกันไม่ได้, เราต้องเข้าถึงหัวใจของศาสนาทุกศาสนา ซึ่งจะกำจัดความเห็นแก่ตัว.
          การเรียนของเรา ก็ต้องเรียนให้รู้หัวใจของศาสนา, การรู้ของเราก็ต้องรู้หัวใจของศาสนา, การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้ถึงหัวใจของศาสนา, การได้รับผลของการปฏิบัติก็ต้องเข้าถึงหัวใจ ชั้นที่เป็นผลของการปฏิบัติ. นี่เรียกว่าต้องเข้าถึงหัวใจของศาสนา. ศาสนาอื่นต่างออกไป ก็มีหลักเกณฑ์ที่ต่างออกไป ไปศึกษาได้. ในที่นี้จะบรรยายระบุเฉพาะพุทธศาสนา ให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาแต่ละศาสนาแล้วก็จะสำเร็จประโยชน์.
          พระศาสดาเป็นผู้เปิดเผยพระศาสนา, ศาสนาเกิดขึ้นเพราะการเปิดเผยของพระศาสดา. ชนทั้งหลายเป็นศาสนิกคือเป็นผู้ ฟังและปฏิบัติตาม, ศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งระหว่างพระศาสดากับศาสนาและศาสนิกแห่งศาสนา นั้น ๆ, เป็นหน้าที่ของศาสนิกแห่งศาสนานั้น ๆ จะต้องเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ๆ.
*******
กิ่งธรรมจาก http://www.buddhadasa.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น