วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กุญแจภาวนา โดยหลวงพ่อชา สุภัทโท

ธรรมทาน ทานธรรม "ให้ใจสงบไปอย่างนี้เสียก่อน นั่งอยู่ที่ไหนก็ตาม นั่งเก้าอี้ นั่งรถ นั่งเรือก็ตาม ถ้ากำหนดเมื่อใดให้มันเข้าเลย ขึ้นรถไฟพอนั่งลงให้มันเข้าเลย อยู่ที่ไหนนั่งได้ทั้งนั้น"

 

กุญแจภาวนา

โดยหลวงพ่อชา สุภัทโท

 ศึกษาธรรมเพื่อพ้นความทุกข์

   การศึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้น เราศึกษาไปเพื่อหาทางพ้นทุกข์ เพื่อความสงบสุขเป็นจุดสำคัญ จะศึกษาเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องจิต เรื่องเจตสิกก็ตาม ก็เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เท่านั้นจึงจะถูกทาง มิใช่เพื่ออย่างอื่น เพราะทุกข์มันมีเหตุเกิด และมีที่ของมันอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถ้าเราเข้าใจเสียว่า มันจะเป็นจิตก็ช่างมันเถอะ เมื่อมันนิ่งอยู่อย่างนี้ก็คือปกติของมัน ถ้าว่ามันเคลื่อนปุ๊บก็เป็นสังขาร (การปรุงแต่ง) แล้ว มันจะเกิดยินดีก็เป็นสังขาร มันจะเกิดยินร้ายก็เป็นสังขาร มันอยากจะไปโน่นไปนี่ก็เป็นสังขาร ถ้าไม่รู้เท่าสังขาร ก็วิ่งตามมันไป เป็นไปตามมัน เมื่อจิตเคลื่อนเมื่อใด ก็เป็นสมมุติสังขารเมื่อนั้น ท่านจึงให้พิจารณาสังขาร คือจิตมันเคลื่อนไหวนั่นเอง เมื่อมันเคลื่อนออกไปก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านให้พิจารณาอันนี้ ท่านจึงให้รับทราบสิ่งเหล่านี้ไว้ ให้พิจารณาสังขารเหล่านี้ ปฏิจสมุปบาทธรรมก็เหมือนกัน อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ฯลฯ เราเคยเล่าเรียนมา ศึกษามาก็เป็นความจริงคือ ท่านแยกเป็นส่วน ๆ ไป เพื่อให้นักศึกษารู้ แต่เมื่อมันเกิดมาจริง ๆ แล้ว ท่านมหานับไม่ทันหรอก

รู้จากปริยัติต่างกับรู้จากปฏิบัติ
   อุปมาเหมือนเราตกจากยอดไม้ก็ตุ๊บถึงดินโน่น ไม่รู้ว่ามันผ่านกิ่งไหนบ้าง จิตเมื่อถูกอารมณ์ปุ๊บขึ้นมา ถ้าชอบใจก็ถึงดีโน่น อันที่ติดต่อกันเราไม่รู้ มันไปตามที่ปริยัติรู้นั่นเอง แต่มันก็ไปนอกปริยัติด้วย มันไม่บอกว่า ตรงนี้เป็นอวิชชา ตรงนี้เป็นสังขาร ตรงนี้เป็นวิญญาณ ตรงนี้เป็นนามรูป มันไม่ได้ให้ท่านมหาอ่านอย่างนั้นหรอก เหมือนกับการตกจากต้นไม้ ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริง ๆ อาตมาจึงมีหลักเทียบว่า เหมือนกับการตกจากต้นไม้ เมื่อมันพลาดจากต้นไม้ไปปุ๊บ มิได้คณนาว่ามันกี่นิ้วกี่ฟุต เห็นแต่มันตูมถึงดินเจ็บแล้ว ทางนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันเป็นขึ้นมา เห็นแต่ทุกข์ โสกะปริเทวะทุกข์โน่นเลย มันเกิดมาจากไหน มันไม่ได้อ่านหรอก มันไม่มีปริยัติที่ท่านเอาสิ่งละเอียดนี่ขึ้นมาพูด แต่ก็ผ่านไปทางเส้นเดียวกัน แต่นักปริยัติเอาไม่ทัน ฉะนั้น ท่านจึงให้ยืนตัวว่า อะไรที่เกิดขึ้นมาจากผู้รู้อันนี้ เมื่อผู้รู้รู้ตามความเป็นจริงของจิต หรือเจตสิกเหล่านี้ จิตก็ไม่ใช่เรา สิ่งเหล่านี้มีแต่ของทิ้งทั้งหมด ไม่ควรเข้าไปยึดไปหมายมั่นทั้งนั้น

เรียนรู้เรื่องจิตเพื่อปล่อยวาง
   สิ่งที่เรียกว่าจิตหรือเจตสิกนี้ พระศาสดามิใช่ให้เรียนเพื่อให้ติด ท่านให้รู้ว่าจิตหรือเจตสิก เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น มีแต่ท่านให้ปล่อยให้วางมัน เมื่อเกิดมาก็รับรู้ไว้ รับทราบไว้ ตัวจิตนี่เอง มันถูกอบรมมาแล้ว ถูกให้พลิกออกจากตัวนี้ เกิดเป็นสังขารปรุงไป มันก็เลยมาปรุงแต่งเรื่อยไป ทั้งดีทั้งชั่วทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดเป็นไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พระศาสดาให้ละ แต่ต้องเรียนรู้อย่างนี้เสียก่อน จึงจะละได้ ตัวนี้เป็นตัวธรรมชาติอยู่อย่างนี้ จิตก็เป็นอย่างนี้ เจตสิกก็เป็นอย่างนี้ อย่างมรรค ปัญญาอันเห็นชอบ เห็นชอบแล้วก็ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เหล่านี้เป็นเรื่องของเจตสิกทั้งนั้น ออกจากผู้รู้นั่นเอง เหมือนกับตะเกียงเป็นตัวผู้รู้ ถ้ารู้ชอบ ดำริชอบ อย่างอื่นก็ชอบไปด้วย เหมือนกับแสงสว่างของตะเกียง มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน มันเกิดจากผู้รู้อันนี้ ถ้าจิตนี้ไม่มี ผู้รู้ก็ไม่มีเช่นกัน มันคืออาการของพวกนี้ ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้รวมแล้วเป็นนามหมด ท่านว่าจิตนี้ก็ชื่อว่าจิต มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล มิใช่ตัว มิใช่ตน มิใช่เรา มิใช่เขา ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม มิใช่ตัวตนเราเขา ไม่เป็นอะไร ท่านให้เอาที่ไหน เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขันธ์ห้า ท่านให้วาง

สมถะและวิปัสสนาอยู่ด้วยกัน

   ฉะนั้น ภาวนาก็เหมือนกับไม้ท่อนเดียว วิปัสสนาอยู่ปลายท่อนทางนี้ สมถะอยู่ปลายท่อนทางนั้น ถ้าเรายกไม้ท่อนนี้ขึ้น ปลายท่อนไม้จะขึ้นข้างเดียวหรือสองข้าง ถ้ายกไม้ท่อนนี้ขึ้น ปลายทั้งสองก็จะขึ้นด้วย อะไรจะเป็นตัววิปัสสนา อะไรจะเป็นตัวสมถะ ก็ตัวจิตนี่เอง และเมื่อจิตสงบแล้ว ความสงบเบื้องแรกสงบด้วยสมถะ คือสมาธิธรรมทำให้จิตเป็นสมาธิมันก็สงบ ถ้าความสงบหายไปก็เกิดทุกข์ ทำไมอาการนี้จึงให้เกิดทุกข์ เพราะความสงบของสมถะเป็นตัวสมุทัยแน่นอน มันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมีความสงบแล้วยังไม่จบ พระศาสดามองเห็นแล้วว่าไม่จบ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ มันไม่จบเพราะอะไร เพราะมันยังมีทุกข์อยู่ ท่านจึงเอาตัวสมถะ ตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปอีก ค้นหาเหตุผล จนกระทั่งท่านไม่ติดในความสงบ ความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมุติ เป็นบัญญัติอีก ติดอยู่นี่ก็ติดสมมุติ ติดบัญญัติ เมื่อติดสมมุติ ติดบัญญัติ ก็ติดภพ ติดชาติ ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนี่แหละ ก็เป็นภพอีก เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้

ขันธ์ห้าหรือความสงบยึดติดไม่ได้
   ท่านจึงพิจารณา ภพชาติเกิดเพราะอะไร เมื่อยังไม่รู้เท่าสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ท่านให้ยกเอาเรื่องจิตสงบนี้ขึ้นมาพิจารณาเข้าไปอีก สังขารที่เกิดขึ้นมาสงบหรือไม่สงบ พิจารณาเรื่อยไปจนได้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เหมือนก้อนเหล็กแดง ขันธ์ห้าเหมือนกับก้อนเหล็กแดง เมื่อมันแดงรอบแล้ว ไปจบตรงไหนมันจึงจะเย็นได้ มีที่เย็นไหม เอามือแตะข้างบนดูซิ ข้างล่างดูซิ แตะข้างโน้นข้างนี้ดูซิ ตรงไหนที่มันเย็น เย็นไม่ได้เพราะก้อนเหล็กมันแดงโร่ไปหมด ขันธ์ห้านี้ก็ฉันนั้น ความสงบไปติดไม่ได้ จะว่าความสงบเป็นเรา จะว่าเราเป็นความสงบไม่ได้ ถ้าเข้าใจว่าความสงบเป็นเรา เข้าใจว่าเราเป็นความสงบ ก็เป็นก้อนอัตตาอยู่นั่นเอง ก้อนอัตตาก็เป็นตัวสมมุติอยู่ จะนึกว่าเราสงบ เราฟุ้งซ่าน เราดี เราชั่ว เราสุข เราทุกข์ อันนี้ก็เป็นภพเป็นชาติอยู่อีก เป็นทุกข์อีก ถ้าสุขหายไปก็กลายเป็นทุกข์ ถ้าความทุกข์หายไปก็เป็นสุข ก็ต้องเวียนไปนรกไปสวรรค์อยู่ไม่หยุดยั้ง พระศาสดาเห็นอาการจิตของท่านเป็นอย่างนี้ นี่แหละท่านว่าภพยังอยู่ ชาติยังอยู่ พรหมจรรย์ยังไม่จบ ท่านจึงยกสังขารขึ้นพิจารณาตามธรรมชาติ เพราะมีปัจจัยอยู่นี่ จึงเกิดอยู่นี่ ตายอยู่นี่ มีอาการที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่นี่ ท่านจึงยกสิ่งนี้พิจารณาไป ให้รู้เท่าตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า ทั้งรูปทั้งนามสิ่งทั้งหลายที่จิตไปคิด ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารทั้งหมด เมื่อรู้แล้วท่านให้วาง เมื่อรู้แล้วท่านให้ละ ให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามเป็นจริง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ทุกข์ ก็ไม่วางสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของหลอกลวง สมกับที่พระศาสดาตรัสว่า จิตนี้ไม่มีอะไร ไม่เกิดตามใคร ไม่ตายตามใคร จิตเป็นเสรี รุ่งโรจน์โชติการ ไม่มีเรื่องราวต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในที่นั้น ที่จะมีเรื่องราวก็เพราะมันหลงสังขารนี่เอง หลงอัตตานี่เอง พระศาสดาจึงให้มองดูจิตของเรา เบื้องแรกมันมีอะไร ไม่มีอะไรจริง ๆ สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดด้วย มิได้ตายด้วย ถูกอารมณ์ดีมากระทบก็มิได้ดีด้วย ถูกอารมณ์ร้ายมากระทบก็มิได้ร้ายด้วย เพราะรู้ตัวของตัวอย่างชัดเจนแล้ว รู้ว่าสภาวะเหล่านี้ไม่เป็นแก่นสาร ท่านเห็นเป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา ท่านให้รอบรู้ของท่านอยู่อย่างนี้

ไม่ดีใจไม่เสียใจคือไม่เกิดไม่ตาย

   ตัวผู้รู้นี้รู้ตามความเป็นจริง ผู้รู้มิได้ดีใจไปด้วย มิได้เสียใจไปด้วย อาการที่ดีใจไปด้วยนั่นแหละเกิด อาการที่เสียใจไปด้วยนั่นแหละตาย ถ้ามันตายก็เกิด ถ้ามันเกิดก็ตาย ตัวที่เกิดที่ตายนั่นแหละเป็นวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่หยุด เมื่อจิตผู้ปฏิบัติเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องสงสัย ภพมีไหม ชาติมีไหม ไม่ต้องถามใคร พระศาสดาพิจารณาอาการสังขารเหล่านี้แล้วจึงได้ปล่อยวางสังขาร วางขันธ์ห้าเหล่านี้ เป็นเพียงผู้รับทราบไว้เฉย ๆ มันจะดีขึ้นมา ท่านก็ไม่ดีกับมัน เป็นคนดูอยู่เฉย ๆ ถ้ามันร้ายขึ้นมา ท่านก็ไม่ร้ายกับมัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันขาดจากปัจจัยแล้ว รู้ตามความเป็นจริง ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดไม่มี ตัวนี้ก็เป็นผู้รู้ยืนตัว ตัวนี้แหละเป็นตัวสงบ ตัวนี้เป็นตัวไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตัวนี้มิใช่เหตุ มิใช่ผล ไม่อาศัยเหตุ ไม่อาศัยผล ไม่อาศัยปัจจัย หมดปัจจัย สิ้นปัจจัย นอกเหนือเกิดตาย นอกสุขเหนือทุกข์ นอกดีเหนือชั่ว หมดเรื่องจะพูด ไม่มีปัจจัยส่งเสริมแล้ว เรื่องที่เราจะพูดว่าจะติดในสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องจิตหรือเจตสิก ฉะนั้นเรื่องจิตหรือเรื่องเจตสิกนี้ ก็เป็นเรื่องมีจริงอยู่ เป็นจริงอย่างนั้น แต่พระศาสดาเห็นว่ารู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารู้แล้วเชื่อสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร หาความสงบไม่ได้ รู้แล้วท่านให้วาง ให้ละ ให้เลิก เพราะจิตเจตสิกนี่เองนำความผิดมาให้เรา นำความถูกมาให้เรา ถ้าเราฉลาดก็นำความถูกมาให้เรา ถ้าเราโง่ก็นำความผิดมาให้เรา เรื่องจิตหรือเจตสิกนี้มันเป็นโลก พระศาสดาก็เอาเรื่องของโลกมาดูโลก เมื่อรู้โลกได้แล้วท่านจึงว่า โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก เมื่อท่านมาดูสิ่งเหล่านี้จึงเป็นอย่างนี้

ปฏิบัติที่จิต
   ฉะนั้น เรื่องสมถะหรือเรื่องวิปัสสนานี้ ให้ทำให้เกิดในจิตเสีย ให้เกิดในจิตจริง ๆ จึงจะรู้จัก ถ้าไปเรียนตามตำราว่าเจตสิกเป็นอย่างนั้น ๆ จิตเป็นอย่างนั้น ๆ ก็เรียนได้ แต่ว่าใช้ระงับความโลภ ความโกรธ ความหลงของเราไม่ได้ เพราะเรียกไปตามอาการของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภมีอาการอย่างนั้น ๆ ความโกรธมีอาการอย่างนั้น ๆ ความหลงมีอาการอย่างนั้น ๆ ไปเล่าอาการของมันเท่านั้น ก็รู้ไปตามอาการ พูดไปตามอาการ รู้อยู่ฉลาดอยู่ แต่ว่าเมื่อมันเกิดกับใจเรา จะเป็นไปตามอาการหรือไม่ เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจมากระทบ มันก็เกิดเป็นอาการขึ้นกับใจเรา เราติดมันไหม เราวางมันได้ไหม อาการที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดขึ้นมาเรารู้แล้ว ผู้รู้เอาความไม่ชอบใจไว้ในใจหรือเปล่า หรือว่าเห็นแล้ววาง ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้วยังเอาไว้ในใจของเรา ให้เรียนใหม่ เพราะยังผิดอยู่ ถ้ามันยิ่งแล้วมันวาง ให้ดูอย่างนี้ ดูจิตของเราจริง ๆ มันจึงจะเป็นปัจจัตตัง ถ้าจะพูดไปตามอาการของจิต อาการของเจตสิกว่ามีเท่านั้นดวง เท่านี้ดวง อาตมาว่ายังน้อยเกินไป มันยังมีมาก ถ้าเราจะไปเรียนสิ่งเหล่านี้ให้รู้แจ้งแทงตลอดหมดนั้น ไม่แจ้งมันจะหมดอย่างไร มันไม่หมดหรอก หมดไม่เป็น ฉะนั้น เรื่องการปฏิบัตินี้จึงสำคัญมาก การปฏิบัติอาตมามิได้ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่รู้ว่าจิตว่าเจตสิกอะไรหรอก ดูผู้รู้นี่แหละ ถ้ามันคิดชังท่านมหา ทำไมจึงชัง ถ้ามันรักท่านมหา ทำไมจึงรัก อย่างนี้แหละ จะเป็นจิตหรือเจตสิกก็ไม่รู้ จี้เข้าตรงนี้ จึงแก้เรื่องที่มันรักหรือชังนั่นให้ออกจากใจได้ จะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าทำจิตอาตมาให้หยุดรักหรือชังได้ จิตอาตมาก็พ้นจากทุกข์แล้ว จะเป็นอะไรก็ช่าง มันสบายแล้ว ไม่มีอะไรมันก็หยุด เอาอย่างนี้จะพูดให้มาก ๆ ก็ช่างเขา มากก็ตาม มากก็จะมาอยู่ตรงนี้ และมันไม่มากไปไหน มันมากออกจากตรงนี้ น้อยก็น้อยออกจากตรงนี้ เกิดก็เกิดออกจากนี่ ดับก็ดับอยู่นี่ มันจะไปไหน ท่านจึงให้นามว่าผู้รู้ อาการที่ผู้รู้รู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็รู้จิตหรือรู้เจตสิกนี่แหละ จิต หรือเจตสิกนี้มันหลอกลวงไม่หยุดสักที เราก็ไปเรียนอาการที่มันหลอกลวงนั่นเอง ทั้งเรียนเรื่องมันหลอกลวง ทั้งถูกมันหลอกลวงเราอยู่นั่นเอง จะว่าอย่างไรกัน ทั้ง ๆ ที่รู้จักมัน มันก็ลวงทั้ง ๆ ที่รู้ มันเรื่องอย่างนี้ คือเรื่องเราไปรู้จักเพียงชื่อของมัน อาตมาว่าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้น ทรงประสงค์ว่าทำอย่างไรจึงจะออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ ท่านให้ค้นหาเหตุของสิ่งเหล่านี้ขึ้นไป ฉะนั้น อาตมาปฏิบัติโดยไม่รู้จักมาก รู้จักเพียงว่า ศีลเป็นมรรค งามเบื้องต้นคือศีล งามท่ามกลางคือสมาธิ งามเบื้องปลายคือปัญญา สามอย่างนี้ดูไปดูมาก็เป็นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าจะแยกออกเป็น ๓ อย่างก็ได้

ปัญญามาก่อนศีล สมาธิ
   การรักษาศีล ปัญญาต้องมาก่อน แต่เราพูดว่ารักษาศีลก่อน ตั้งศีลก่อน ศีลจะสมบูรณ์อย่างนั้นจะต้องมีปัญญา ต้องค้นคิด กายของเรา วาจาของเรา พิจารณาหาเหตุผล นี่ตัวปัญญาทั้งนั้น ก่อนที่จะตั้งศีลขึ้นได้ต้องอาศัยปัญญา เมื่อพูดตามปริยัติก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อาตมาพิจารณาแล้ว การปฏิบัตินี้ต้องปัญญามาก่อน มารู้เรื่องกายวาจา ว่าโทษของมันเกิดขึ้นมาอย่างไร ปัญญานี้ต้องพิจารณาหาเหตุผลควบคุม กายวาจาจึงจะบริสุทธิ์ได้ ถ้ารู้จักอาการของกายวาจาที่สุจริตทุจริตแล้ว ก็เห็นที่ปฏิบัติ ถ้าเห็นที่ปฏิบัติแล้ว ก็ละสิ่งที่ชั่ว ประพฤติสิ่งที่ดี ละสิ่งที่ผิด ประพฤติสิ่งที่ถูกเป็นศีล ถ้ามันละผิดให้ถูกแล้วใจก็แน่วแน่เข้าไป อาการที่ใจแน่วแน่มั่นคง มิได้ลังเลสงสัยในกายวาจาของเรานี้เป็นสมาธิ ความตั้งใจมั่นแล้ว เมื่อตั้งใจมั่นแล้ว รูปเกิดขึ้นมาเสียงเกิดขึ้นมา พิจารณามันแล้ว นี่เป็นกำลังตอนที่สอง เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เกิดขึ้นมาบ่อย ๆ ได้พิจารณาบ่อย ๆ ด้วยอาการที่เราตั้งใจมิได้เผลอ จึงรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ มันเกิดตามความเป็นจริงของมัน เมื่อรู้เรื่อย ๆ ไปก็เกิด
       ปัญญา เมื่อรู้ตามความเป็นจริง ตามสภาวะของมัน สัญญาจะหลุด เลยกลายเป็นตัวปัญญา จึงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา คงรวมเป็นอันเดียวกัน ถ้าปัญญากล้าขึ้น ก็อบรมสมาธิให้มั่นคงขึ้นไป เมื่อสมาธิมั่นคงขึ้นไป ศีลก็มั่นก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อศีลสมบูรณ์ขึ้น สมาธิก็กล้าขึ้นอีก เมื่อสมาธิกล้าขึ้น ปัญญาก็กล้ายิ่งขึ้น สามอย่างนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน สมกับพระศาสดาตรัสว่า มรรคเป็นหนทาง เมื่อสามอย่างนี้กล้าขึ้นมาเป็นมรรค ศีลก็ยิ่ง สมาธิก็ยิ่ง ปัญญาก็ยิ่ง มรรคนี้จะฆ่ากิเลส โลภเกิดขึ้น โกรธเกิดขึ้น หลงเกิดขึ้น มีมรรคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ฆ่าได้

มรรคกับศีล สมาธิ ปัญญา
   ข้อปฏิบัติอริยสัจจ์ คือ ที่ท่านว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั้นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือข้อปฏิบัติอยู่ในใจ คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นอยู่นี้ ที่นับมือให้ดูนี้ มิใช่ว่ามันอยู่ที่มือ มันอยู่ที่จิตอย่างนั้นต่างหาก ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา เป็นอยู่อย่างนั้น มันหมุนอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อะไรเกิดขึ้นมา มรรคนี้จะครอบงำอยู่เสมอ ถ้ามรรคไม่กล้า กิเลสก็ครอบได้ ถ้ามรรคกล้า มรรคก็ฆ่ากิเลส ถ้ากิเลสกล้ามรรคอ่อน กิเลสก็ฆ่ามรรค ฆ่าใจเรานี่เอง ถ้ารูป เวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้นมาในใจ เราไม่รู้เท่ามัน มันก็ฆ่าเรา มรรคกับกิเลสเดินเคียงกันไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติคือใจ จำเป็นจะต้องเถียงกันไปอย่างนี้ตลอดทาง คล้ายมีคนสองคนเถียงกัน แท้จริงเป็นมรรคกับกิเลสเท่านั้นเอง ที่เถียงกันอยู่ในใจของเรา มรรคมาคุมเราให้พิจารณากล้าขึ้น เมื่อเราพิจารณาได้ กิเลสก็แพ้เรา เมื่อมันแข็งมาอีก ถ้าเราอ่อน มรรคก็หายไป กิเลสเกิดขึ้นแทน ย่อมต่อสู้กันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะมีฝ่ายชนะ จึงจะจบเรื่องได้ ถ้าพยายามตรงมรรค มันก็ฆ่ากิเลสอยู่เรื่อยไป ผลที่สุด ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็อยู่ในใจอย่างนี้ นั่นแหละคือเราได้ปฏิบัติอริยสัจจ์ ทุกข์เกิดขึ้นมาด้วยวิธีใด ทุกข์ก็เกิดมาจากเหตุ คือสมุทัยเป็นเหตุ "เหตุอะไร" เหตุคือศีล สมาธิ ปัญญา นี้อ่อน มรรคก็อ่อน เมื่อมรรคอ่อน กิเลสก็เข้าครอบได้ เมื่อครอบได้ก็เป็นตัวสมุทัย ทุกข์ก็เกิดขึ้นมา ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ตัวที่จะดับสิ่งเหล่านี้ก็หายไปหมด อาการที่ทำมรรคให้เกิดขึ้นคือศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อศีลยิ่ง สมาธิยิ่ง ปัญญายิ่ง นั่นก็คือมรรคเดินอยู่เสมอ มันจะทำลายตัวสมุทัย คือ เหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ระหว่างที่ทุกข์เกิดไม่ได้ เพราะมรรคฆ่ากิเลสอยู่นี้ ในระหว่างกลางนี้ตรงจิตที่ดับทุกข์ ทำไมจึงดับทุกข์ได้ เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญายิ่ง คือมรรคนี้ไม่หยุด อาตมาว่าปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องจิต เรื่องเจตสิก ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน มันมารวมอยู่นี่ ถ้าจิตพ้นสิ่งเหล่านี้ก็แน่แล้ว มันจะไปทางไหน ไม่ต้องไปไล่มันมาก ต้นกะบกต้นนี้ใบเป็นอย่างไร หยิบมาดูใบเดียวเท่านั้นก็เข้าใจได้แล้ว มันมีสักหมื่นใบก็ช่างมัน ใบกะบกเป็นอย่างนี้ดูใบเดียวเท่านี้ ใบอื่นก็เหมือนกันหมด ถ้าจะดูลำต้นกะบกต้นอื่น ดูต้นเดียวก็รู้ได้หมด ดูต้นเดียวเท่านั้น ต้นอื่นก็เหมือนกันอีกเช่นกัน ถึงมันจะมีแสนต้นก็ตาม อาตมาดูเข้าใจต้นเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว อาตมาคิดว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้

มรรคเป็นเหตุ ความสงบเป็นผล

   ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สิ่งทั้งสามประการนี้ท่านเรียกว่า มรรค อันมรรคนี้ยังมิใช่ศาสนา อีกซ้ำยังไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาต้องการอย่างแท้จริงเลย แต่ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไป เหมือนกับที่ท่านมหามาจากกรุงเทพฯ จะมาวัดหนองป่าพง ท่านมหาคงไม่ต้องการหนทาง ต้องการถึงวัดต่างหาก แต่หนทางเป็นสิ่งจำเป็นแก่ท่านมหา ที่จะต้องมา ฉะนั้นถนนที่ท่านมหามานั้นมันไม่ใช่วัด มันเป็นเพียงถนนมาวัดเท่านั้น แต่ก็จำเป็นต้องมาตามถนน จึงจะมาถึงวัดได้ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ถ้าจะพูดว่านอกศาสนาแต่ก็เป็นถนนเข้าไปถึงศาสนา เมื่อทำศีลให้ยิ่ง สมาธิให้ยิ่ง ปัญญาให้ยิ่งแล้ว ผลคือความสงบเกิดขึ้นมา นั่นเป็นจุดที่ต้องการ เมื่อสงบแล้วถึงได้ยินเสียงก็ไม่มีอะไร เมื่อถึงความสงบอันนี้แล้วก็ไม่มีอะไรจะทำ ฉะนั้นพระศาสดาจึงให้ละ จะเป็นอะไรก็ไม่ต้องกังวล อันนี้เป็นปัตจัตตังแล้วจริง ๆ มิได้เชื่อใครอีก หลักของพระพุทธศาสนาจึงมิได้มีอะไร ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีปาฏิหาริย์อย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวง สิ่งเหล่านี้พระศาสดามิได้สรรเสริญ แต่มันก็อาจทำได้ เป็นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นโมหธรรม พระศาสดาไม่สรรเสริญ ท่านสรรเสริญผู้ที่ทำให้พ้นจากทุกข์ได้เท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติอุปกรณ์เครื่องปฏิบัตินั้นได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องฝึกหัดอย่างนี้ อันนี้คือทางดำเนินเข้าไป ก่อนจะถึงได้ต้องมีปัญญามาก่อน นี้เป็นมรรค มรรคมีองค์แปดประการ รวมแล้วได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ากิเลสหุ้มขึ้นมาก็เกิดไม่ได้ ถ้ามรรคกล้าก็ฆ่ากิเลส สองอย่างเท่านี้ที่จะต่อสู้กันไปตลอดจนปลายทางทีเดียว รบกันไปเรื่อย ไม่มีหยุด ไม่มีสิ้นสุด

การปฏิบัติต้องอาศัยความอดทน
   อุปกรณ์เครื่องปฏิบัติ ก็เป็นของลำบากอยู่ ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น ต้องทำเอง ให้มันเกิดมาเอง เป็นเอง ละทิ้งความคิดทั้งหมด นักปริยัติชอบสงสัย เช่น เวลานั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบปั๊บ เอ มันเป็นปฐมฌานละกระมัง ชอบคิดอย่างนี้ พอนึกอย่างนี้ จิตมันถอนเลย ถอนหมดเลย เดี๋ยวก็นึกว่าเป็นทุติยฌานแล้วกระมัง อย่าเอามาคิด พวกนี้มันไม่มีป้ายบอก มันคนละอย่าง ไม่มีป้ายบอกว่า "นี่ทางเข้าวัดหนองป่าพง" มิได้อ่านอย่างนั้น มันไม่บอก มีแต่พวกเกจิอาจารย์มาเขียนไว้ว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มาเขียนไว้ทางนอก ถ้าจิตเราเข้าไปสงบถึงนั้นแล้วไม่รู้จักหรอก รู้อยู่แต่ว่ามันไม่เหมือนปริยัติที่เราเรียน ถ้าผู้เรียนปริยัติแล้วชอบกำเข้าไปด้วย ชอบนั่งคอยสังเกตว่า เอ เป็นอย่างไร มันเป็นปฐมฌานแล้วหรือยัง นี่มันถอนออกแล้ว ไม่ได้ความ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยาก พอตัณหาเกิด มันจะมีอะไร มันก็ถอนออกพร้อมกัน นี่แหละเราทั้งหลายต้องทิ้งความคิดความสงสัยให้หมด ให้เอาจิตกับกายวาจาล้วน ๆ เข้าปฏิบัติ ดูอาการของจิต อย่าแบกคัมภีร์เข้าไปด้วยไม่มีคัมภีร์ในนั้น ขืนแบกเข้าไปมันเสียหมด เพราะในคัมภีร์ไม่มีสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้ที่เรียนมากๆ รู้มากๆ จึงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะมาติดตรงนี้ ความจริงแล้วเรื่องจิตใจอย่าไปวัดออกมาทางนอก มันจะสงบก็ให้มันสงบไป ความสงบถึงที่สุดมันมีอยู่ ปริยัติของอาตมามันน้อย เคยเล่าให้มหาอมรฟัง เมื่อคราวปฏิบัติในพรรษาที่ ๓ นั้น มีความสงสัยอยู่ว่าสมาธิเป็นอย่างไรหนอ คิดหาไป นั่งสมาธิไป จิตยิ่งฟุ้ง ยิ่งคิดมาก เวลาไม่นั่งค่อยยังชั่ว แหม มันยากจริง ๆ ยิ่งยากยิ่งทำไม่หยุด ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่เฉย ๆ แล้วสบาย เมื่อตั้งใจว่าจะทำให้จิตเป็นหนึ่งยิ่งเอาใหญ่ มันยังไงกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ต่อมาจึงคิดได้ว่า มันคงเหมือน……….ใจเรานี้กระมัง ถ้าว่าจะตั้งให้หายใจน้อย หายใจใหญ่ หรือ………พอดี ดูมันยากมาก แต่เวลาเดินอยู่ไม่รู้ว่าหายใจเข้าออกตอนไหน ในเวลานั้นดูมันสบายแท้ จึงรู้เรื่องว่า อ้อ อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เวลาเราเดินไปตามปกติมิได้กำหนดลมหายใจ มีใครเคยเป็นทุกข์ถึงลมหายใจไหม? ไม่เคย มันสบายจริง ๆ ถ้าจะไปนั่งตั้งใจเอาให้มันสงบ มันก็เลยเป็นอุปาทานยึดใส่ ตั้งใส่ หายใจสั้น ๆ ยาว ๆ เลย ไม่เป็นอันกำหนด จิตเกิดมีทุกข์ยิ่งกว่าเก่า เพราะอะไร เพราะความตั้งใจของเรากลายเป็นอุปาทานเข้าไปยึด เลยไม่รู้เรื่อง มันลำบากเพราะเราเอาความอยากเข้าไปด้วย   
 

สภาวธรรม เกิดเอง เป็นเอง พอดี
   วันหนึ่งขณะที่เดินจงกรมอยู่ เวลาประมาณห้าทุ่มกว่า รู้สึกแปลก ๆ มันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดมาก มีอาการสบาย ๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้าน ไกลประมาณสิบเส้นจากที่พักซึ่งเป็นวัดป่าเมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว เลยมานั่งที่กระท่อม มีฝ่าแถบตองบังอยู่ เวลานั่งรู้สึกว่าคู้ขาเข้าเกือบไม่ทัน เอ๊ะ จิตมันอยากสงบ มันเป็นเองของมันพอนั่งจิตก็สงบจริง ๆ รู้สึกตัวหนักแน่น เสียงเขาร้องรำอยู่ในบ้าน มิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ ไม่รู้สึกรำคาญ ภายในจิตเหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่ไม่ติดกัน ดูจิตกับอารมณ์ตั้งอยู่คนละส่วน เหมือนกระโถนกับกาน้ำนี่ ก็เลยเข้าใจว่า เรื่องจิตเป็นสมาธินี่ ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามันมีเสียงขึ้นก็ดูตัวผู้รู้ ขาดกันคนละส่วนจึงพิจารณาว่า "ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ มันจะใช่ตรงไหนอีก" มันเป็นอย่างนี้ไม่ติดกันเลย ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อย ๆ จึงเข้าใจว่า อ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่า สันตติ คือ ความสืบต่อ ขาดมันเลยเป็นสันติ แต่ก่อนมันเป็นสันตติ ทีนี้เลยกลายเป็นสันติออกมา จึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้น ไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มี ตอบไม่ได้ ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น

ประสบการณ์การรู้ธรรม ๓ วาระ


   ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉย ๆ นี่แหละ ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศีรษะจะถึงหมอน มีอาการน้อมในใจไม่รู้มันน้อมไปไหน แต่มันน้อมเข้าไป น้อมเข้าไป คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟเข้า ไปดันกับสวิตช์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้นก็หลุดเข้าไปข้างในโน้น ไปอยู่ข้างในจึงไม่มีอะไร แม้อะไร ๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่งก็ถอยออกมา คำว่าถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะให้มันถอยออกมาหรอก เราเป็นเพียงผู้ดูเฉย ๆ เราเป็นเพียงผู้รู้เท่านั้น อาการเหล่านี้เป็นออกมา ๆ ก็มาถึงปกติจิตธรรมดา เมื่อเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นว่า "นี่มันอะไร?" คำตอบเกิดขึ้นว่า "สิ่งเหล่านี้ของเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน" พูดเท่านี้จิตก็ยอม เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่งก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อม มันน้อมเอง พอน้อมเข้าไป ๆ ก็ไปถูกสวิตช์ไฟดังเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมดหลุดเข้าไปข้างในอีก เงียบ ยิ่งเก่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควร แล้วก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน ในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่า จงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้ จงเข้าอย่างนั้น ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ ดูอยู่เฉย ๆ มันก็ถอยออกมาถึงปกติ มิได้สงสัย แล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพี แผ่นดิน แผ่นหญ้า ต้นไม้ ภูเขา โลก เป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคน หมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไร ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้เลย นานที่สุดอยู่ในนั้น พอถึงกำหนดเวลาก็ถอนออกมา คำว่า ถอน เราก็มิได้ถอนหรอก มันถอนของมันเอง เราเป็นผู้ดูเท่านั้น ก็เลยออกมาเป็นปกติ สามขณะนี้ ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกอะไรเล่า

พลิกโลกพลิกแผ่นดิน

   ที่เล่ามานี้เรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น อาตมามิได้กล่าวถึงจิต ถึงเจตสิก ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น มีศรัทธาทำเข้าไปจริง ๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้ แผ่นดิ้นนี้มันพลิกไปหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็น อาจจะว่าเราเป็นบ้าจริง ๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันก็เป็นเราผู้เดียวเท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้น เราลงทางนี้ มันต่างกับมนุษย์ไปหมด มันก็เป็นของมันเรื่อย ๆ ไป ท่านมหาลองไปทำดูเถอะ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปดูไกลอะไรหรอก ดูจิตของเราต่อ ๆ ไป มันอาจหาญที่สุด อาจหาญมาก นี่คือเรื่องกำลังของจิต เรื่องกำลังของจิตมันเป็นได้ถึงขนาดนี้

ทางแยกของวิปัสสนากับอิทธิปาฏิหาริย์
   นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ขณะนี้ยังเป็นกำลังของสมาธิอยู่ ถ้าเป็นสมาธิชั้นนี้มันสุดของมันแล้ว มันไม่สะกด มันไม่เป็นขณะ มันสุดแล้ว ถ้าจะทำวิปัสสนาที่นี่ คล่องแล้วจะใช้ในทางอื่นก็ได้ ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจะใช้ฤทธิ์ ใช้เดช ใช้ปาฏิหาริย์ ใช้อะไร ๆ อาจใช้ได้ทั้งนั้น นักพรตทั้งหลายเอาไปใช้ ใช้ทำน้ำมนต์น้ำพร ใช้ทำตะกรุด คาถาได้หมดทั้งนั้น ถึงขั้นนี้แล้วมันไปของมันได้ มันก็ดีไปอย่างนั้นแหละ ดีเหมือนกับเหล้า ดีกินแล้วก็เมา ดีไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ตรงนี้เป็นที่แวะ พระศาสดาท่านก็แวะตรงนี้ นี่เป็นแท่นที่จะทำวิปัสสนาแล้วเอาไปพิจารณา ทีนี้สมาธิไม่ต้องเท่าไร ดูอาการภายนอกเลย ดูเหตุผลพิจารณาเรื่อยไป ถ้าเป็นอย่างนี้ เราเอาความสงบนี้มาพิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบอารมณ์ แม้จะดี จะชั่ว สุข ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับคนขึ้นต้นมะม่วงแล้วเขย่าลูกหล่นลงมา เราอยู่ใต้ต้นมะม่วงคอยเก็บเอา ลูกไหนเน่าเราไม่เอา เอาแต่ลูกที่ดี ๆ ไม่เปลืองแรง เพราะไม่ได้ขึ้นต้นมะม่วง คอยเก็บอยู่ข้างล่างเท่านั้น

วิปัสสนาคือพิจารณาให้เกิดปัญญา

   ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาแล้ว เอาความรู้มาให้เราหมด มิได้ไปปรุงแต่งมัน ลาภ ยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ มันมาเอง เรามีความสงบ มีปัญญา สนุกเฟ้น สนุกเลือกเอา ใครจะว่าดี ว่าชั่ว ว่าร้าย ว่าโน่น ว่านี่ สุข ทุกข์ ต่าง ๆ นานา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นกำไรของเราหมด เพราะมีคนขึ้นเขย่าให้มะม่วงหล่นลงมา เราก็สนุกเก็บเอาไม่กลัว จะกลัวทำไม มีคนขึ้นเขย่าลงมาให้เรา ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เปรียบเหมือนมะม่วงหล่นลงมาหาเรา เราเอาความสงบมาพิจารณาเก็บเอา เรารู้จักแล้ว ลูกไหนดี ลูกไหนเน่า เมื่อเริ่มพิจารณาสิ่งเหล่านี้ อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้แหละเรียกว่าปัญญา เป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมันหรอกวิปัสสนานี้ถ้ามีปัญญา มันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน ถ้ามันรู้แจ้งน้อยก็เรียกว่าวิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่งก็เรียกว่าวิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริง ก็เรียกว่าวิปัสสนาถึงที่สุด เรื่องวิปัสสนานี้อาตมาเรียกปัญญา การไปทำวิปัสสนาจะทำเอาเดี๋ยวนั้น ๆ ทำได้ยาก มันต้องเดินมาจากความสงบ เรื่องมันเป็นเองทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องเราจะไปบังคับ

หน้าที่ของเราคือทำความเพียร

   พระศาสดาจึงตรัสว่า เรื่องของเป็นเอง เมื่อเราทำไปถึงชั้นนี้แล้วเราก็ปล่อยตามบุญวาสนาบารมีของเรา แต่เราไม่หยุดทำความเพียร จะช้าหรือเร็วเราบังคับไม่ได้ เหมือนปลูกต้นไม้ มันรู้จักของมัน มันอยากเร็วก็รู้ว่ามันหลง มันอยากช้าก็รู้ว่ามันหลง เมื่อทำแล้วจึงเกิดผลขึ้นมาเหมือนเราปลูกต้นไม้ เช่น ปลูกพริกต้นนี้ หน้าที่ของเราคือขุดหลุมปลูก ให้น้ำ ให้ปุ๋ย รักษาแมลงให้มันเท่านั้น นี่เรื่องของเรา นี่เรื่องศรัทธาของเรา ส่วนต้นพริกจะโตก็เป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา จะไปถึงให้มันยืดขึ้นมาก็ไม่ได้ ผิดเรื่อง เราต้องให้น้ำ เอาปุ๋ยใส่ให้ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ก็จะสบาย จะถึงชาตินี้ก็ช่าง ถึงชาติหน้าก็ตาม เรามีศรัทธาอย่างนี้แล้ว มีความรู้สึกแน่นอนแล้วอย่างนี้ จะเร็วหรือช้านั้น เป็นเรื่องของบุญวาสนาบารมีของเรา ทีนี้ก็รู้สึกสบาย เหมือนขับรถม้า ก็มิได้เอารถไปก่อนม้า แต่ก่อนมันเอารถไปก่อนม้า ถ้าไถนาก็เดินก่อนควาย หมายความว่าใจมันเร็วมาก ร้อนมาก ทีนี้ไม่เป็นอย่างนั้นไม่เดินก่อน ต้องเดินตามหลังควาย ข้าเอาน้ำให้กิน เอาปุ๋ยให้กิน กินไปเถอะ มดปลวกมาข้าจะไล่ให้เจ้า เท่านั้นแหละต้นพริกต้นนี้มันก็จะงามขึ้นเอง เมื่อมันงามแล้ว เราจะบังคับว่าแกต้องเป็นดอกเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าทำ เราจะเป็นทุกข์เปล่า ๆ มันจะเป็นของมันเอง เมื่อมันเป็นดอกแล้ว เราจะให้เป็นเม็ดเดี๋ยวนี้ อย่าไปบังคับมัน ทุกข์จริงนา ทุกข์จริง ๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเรารู้จักหน้าที่ของเราของเขา หน้าที่ของใครของมัน จิตก็จะรู้หน้าที่การงาน ถ้าจิตไม่รู้หน้าที่การงาน ก็จะไปบังคับต้นพริกให้มีผลในวันนั้นเอง ให้มันโตเป็นดอกเป็นผลขึ้นในวันนั้น นั่นล้วนแต่เป็นตัวสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทั้งนั้นถ้ารู้อย่างนี้คิดอย่างนี้ รู้ว่ามันหลงมันผิด รู้อย่างนี้แล้ว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องบุญ วาสนา บารมี ต่อไป เราก็ทำของเราไป ไม่ต้องกลัวว่าจะนานร้อยชาติ พันชาติ ก็ช่าง มันจะชาติไหนก็ตาม ปฏิบัติสบาย ๆ นี่แหละ

รู้ความจริงแล้ว ทำผิดไม่ได้
   จิตถ้าตกกระแสแล้วไม่กลับ ความชั่วนิดหน่อยนั้นพ้นแล้ว โสดา (โสดาบันบุคคล = พระอริยชั้นต้น) ท่านว่าจิตน้อมไปแล้ว ท่านจึงว่าพวกเหล่านี้จะมาสู่อบายอีกไม่ได้ มาตกนรกอีกไม่ได้ จะตกได้อย่างไร จิตละบาปแล้ว เห็นโทษในบาปแล้ว จะให้ทำความชั่วทางกายวาจาอีกนั้นทำไม่ได้ เมื่อทำบาปไม่ได้ ทำไมจึงจะไปสู่อบาย ทำไมจึงจะไปตกนรกได้มันน้อมเข้าไปแล้ว เมื่อจิตน้อมเข้าไป มันก็รู้จักหน้าที่ รู้จักการงาน รู้จักปฏิปทา รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักกายของเรา รู้จักจิตของเรา รู้จักรูปเรานามเรา สิ่งที่ควร ละวาง ก็ละไป วางไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องสงสัย

เห็นอสุภะในทุกคน
   นี่เรื่องที่อาตมาได้ปฏิบัติมา ไม่ใช่ว่าจะไปทำให้มันละเอียดหลายสิ่งหลายประการ เอาให้ลมละเอียดอยู่ในใจนี้ ถ้าเห็นรูปนี้ชอบรูปนี้เพราะอะไร ก็เอารูปนี้มาพิจารณาดูว่า เกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตะโจคือหนัง พระพุทธเจ้าให้เอาพวกนี้มาพิจารณาย้ำเข้าไป แยกออกแจกออก เผามันออก ลอกมันออก ทำอยู่อย่างนี้ เอาอยู่อย่างนี้ จนมันไม่ไปไหน มองพวกเดียวกัน เช่น พระเณรเวลาเดินบิณฑบาต เห็นพระเห็นคน ต้องกำหนดให้เป็นร่างผีตายซากผีตายเดินไปก่อนเราเดินไปข้างหน้า เดินไปเปะ ๆ ปะ ๆ กำหนดมันเข้า ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น เจริญอยู่อย่างนั้น เห็นผู้หญิงรุ่น ๆ นึกชอบขึ้นมา ก็กำหนดให้เป็นผี เป็นเปรต เป็นของเน่าเหม็นไปหมด ทุกคนไม่ให้เข้าใกล้ ให้ในใจของเรา เป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรมันก็ไม่อยู่หรอก เพราะมันเป็นของเปื่อย ของเน่าให้เราเห็นแน่นอน พิจารณาให้มันแน่ให้มันเป็นอยู่ในใจอย่างนี้แล้ว ไปทางไหนก็ไม่เสีย ให้ทำจริง ๆ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองเห็นซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกัน เลยมีแต่ของอย่างนี้ทั้งนั้น พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก อาตมาว่ามันสนุกจริง ๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้าไปมัวอ่านตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริง ๆ ทำให้มีกรรมฐานในตัวเรา

อย่ามักง่ายข้ามขั้นตอน
   การเรียนอภิธรรมนั่นก็ดีอยู่ แต่จะต้องไม่ติดตำรา มุ่งเพื่อรู้ความจริง หาทางพ้นทุกข์จึงจะถูกทาง เช่น ในปัจจุบันมีการสอน การเรียนวิปัสสนาแบบต่าง ๆ หลาย ๆ อาจารย์ อาตมาว่าวิปัสสนานี่มันทำไม่ได้ง่าย ๆ จะไปทำเอาเลยไม่ได้ ถ้าไม่ดำเนินไปจากศีล ลองดูก็ได้ เรื่องศีล เรื่องสิกขาบทบัญญัตินี่ ถ้ากายวาจาไม่เรียบร้อยแล้ว ไปไม่รอด เพราะเป็นการข้ามมรรค บางคนพูดว่า สมถะไม่ต้องไปทำ เข้าไปวิปัสสนาเลยคนมักง่ายหรอกที่พูดเช่นนั้น เขาว่าศีลไม่ต้องเกี่ยว ก็การรักษาศีลนี้มันยากไม่ใช่เล่น ถ้าจะข้ามไปเลยมันก็สบายเท่านั้นอะไรที่ยากแล้วข้ามไป ใคร ๆ ก็อยากข้าม มีพระรูปหนึ่งบอกว่าเป็นนักปฏิบัติ เมื่อมาขออยู่กับอาตมาถามถึงระเบียบปฏิบัติจึงอธิบายให้ฟังว่า เมื่อมาอยู่กับผมจะสะสมเงินทองและสิ่งของไม่ได้ ผมถือตามวินัย ท่านพูดว่าท่านปฏิบัติไม่ยึดไม่หมาย อาตมาบอกว่าผมไม่ทราบกับท่าน ท่านเลยถามว่า ถ้าผมจะใช้เงินทองแต่ไม่ยึดไม่หมายจะได้ไหม อาตมาตอบว่าได้ ถ้าท่านเอาเกลือมากินดูแล้วไม่เค็มก็ใช้ได้ ท่านจะพูดเอาเฉย ๆ เพราะท่านขี้เกียจรักษาของจุก ๆ จิก ๆ นี่มันยาก เมื่อเอาเกลือมากินท่านไม่เค็มแล้วผมจึงเชื่อ ถ้ามันไม่เค็มจะเอามาให้กินสักกระทอ (เข่งเล็ก) ลองดู มันจะไม่เค็มจริง ๆ หรือ เรื่องไม่ยึดไม่หมายนี้ ไม่ใช่เรื่องพูดเอาคาดคะเนเอา ไม่ใช่ ถ้าท่านพูดอย่างนี้อยู่กับผมไม่ได้ ท่านจึงลาไป

ศีลและสมถะต้องทำให้มาก

   เรื่องศีล เรื่องธุดงควัตร พวกเราต้องพยายามปฏิบัติ พวกญาติโยมก็เหมือนกัน ถึงปฏิบัติอยู่บ้านก็ตาม พยายามให้มีศีลห้า กายวาจาของเราพยายามให้เรียบร้อย พยายามดี ๆ เถอะ ค่อยทำค่อยไป การทำสมถะนี้ อย่านึกว่าไปทำครั้งหนึ่งสองครั้งแล้วมันไม่สงบก็เลยหยุด ยังไม่ถูก ต้องทำนานอยู่นะ ทำไมจึงนาน คิดดูสิเราปล่อยมานี่ กี่ปีเราไม่ได้ทำ มันว่าไปทางโน้นก็วิ่งตามมัน มันว่าไปทางนี้ก็วิ่งตามมัน ที่นี้จะมาหยุดให้มันหยุดอยู่เท่านี้ เดือนสองเดือนจะให้มันนิ่ง มันก็ยังไม่พอ คิดดูเถิด เรื่องการทำจิตใจให้เราเข้าใจว่า สงบในเรื่อง สงบในอารมณ์ ทีแรกพอเกิดอารมณ์ ใจไม่สงบ ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหาไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือวิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไร มันยิ่งชวนกันมา "เราไม่อยากมันทำไมจึงมา ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น" นั้นแหละเราอยากให้มันเป็น เพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ แหม เล่นอยู่กับพวกนี้กว่าจะรู้ตัวว่าผิดก็นานโขอยู่ คิด ๆ ดูแล้ว โอ เราไปเรียกมันมามันจึงมา ไม่อยากให้มันเป็น อยากให้มันสงบ ไม่อยากให้มันฟุ้งซ่าน นี่แหละความอยากทั้งแท่งละ

มีสติดูจิต เห็นความคิด เกิดปัญญา

   ช่างมันเถอะ เราทำของเราไป เมื่อมีอารมณ์อะไรมาก็ให้พิจารณามันไป เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทิ้งลงใส่สามขุมนี่เลย แล้วคิดไปพิจารณาไป เรื่องอารมณ์นั้น โดยมากเรามีแต่เรื่องคิด คิดตามอารมณ์ เรื่องคิดกับเรื่องปัญญามันคนละอย่าง มันพาไปอย่างนั้นก็คิดตามมันไป ถ้าเป็นเรื่องความคิดมันไม่หยุด แต่เรื่องปัญญาแล้วหยุดอยู่นิ่งไม่ไปไหน เราเป็นผู้รับรู้ไว้ เมื่ออารมณ์อันนี้อันนั้นมาจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เรารู้ ๆ ไว้ เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ว่า เออ เรื่องเจ้าคิด เจ้านึก เจ้าวิตกวิจารมานี้ เรื่องเหล่านี้มันไม่เป็นแก่นสารทั้งหมด เป็นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น ตัดบทมันเลย ทิ้งลงไตรลักษณ์เลยยุบไป ครั้นนั่งต่อไปอีก มันก็เกิดขึ้นอีก เป็นมาอีก เราก็ดูมันไป สะกดรอยมันไป เปรียบเหมือนกับเราเลี้ยงควาย หนึ่งต้นข้าว สองควาย สามเจ้าของ ควายจะต้องกินต้นข้าว ต้นข้าวเป็นของที่ควายจะกิน จิตของเราก็เหมือนควาย อารมณ์คือต้นข้าว ผู้รู้ก็เหมือนเจ้าของ การปฏิบัติเป็นเหมือนอย่างนี้ไม่ผิด เปรียบเทียบดู เวลาเราไปเลี้ยงควายทำอย่างไร ปล่อยมันไป แต่เราพยายามดูมันอยู่ ถ้ามันเดินไปใกล้ต้นข้าว เราก็ตวาดมัน ควายมันได้ยินก็จะถอยออก แต่เราอย่าเผลอนะ ถ้ามันดื้อไม่ฟังเสียงก็เอาไม้ค้อนฟาดมันจริง ๆ มันจะไปไหนเสีย มันจะได้กินต้นข้าวหรือ แต่เราอย่าไปนอนหลับกลางวันก็แล้วกัน ถ้าขืนนอนหลับ ต้นข้าวหมดแน่ ๆ เรื่องปฏิบัติก็เช่นกัน เมื่อเราดูจิตของเราอยู่ ผู้รู้ดูจิตเจ้าของ ผู้ใดตามดูจิต ผู้นั้นจักพ้นบ่วงของมาร จิตก็เป็นจิตแล้วใครจะมาดูจิตอีกเล่า เดี๋ยวก็งงงันเท่านั้น จิตอันหนึ่ง ผู้รู้อันหนึ่ง รู้ออกมาจากจิตนั่น รู้จิตเป็นอย่างไร สบอารมณ์เป็นอย่างไร ปราศจากอารมณ์เป็นอย่างไร ผู้ที่รู้อันนี้ท่านเรียกว่าผู้รู้ ผู้รู้จะตามดูจิต ผู้รู้นี้จะเกิดปัญญา จิตนั้นคือความนึกคิด ถ้าพบอารมณ์นั้นก็แวะไป ถ้าพบอารมณ์อีกมันก็แวะไปอีก เหมือนกับควายเรานั่นแหละ มันจะไปทางไหนเราก็ดูมันอยู่มันจะไปไหนได้ มันจะไปใกล้ต้นข้าวก็ตวาดมันอยู่ ว่าไม่ฟังก็ถูกไม้ค้อนเท่านั้น ทรมานมันอยู่อย่างนี้ จิตก็เหมือนกัน เมื่อถูกอารมณ์มันจะเข้าจับทันที เมื่อมันเข้าจับผู้รู้ต้องสอน ต้องพิจารณามันว่าดีไม่ดี อธิบายเหตุผลให้มันฟัง มันไปจับสิ่งอื่นอีก มันนึกว่าเป็นของน่าเอา ผู้รู้นี้ก็สอนมันอีก อธิบายให้มีเหตุผลจนมันทิ้ง อย่างนี้จึงสงบได้ จับอะไรมาก็มีแต่ของไม่น่าเอาทั้งนั้น มันก็หยุดเท่านั้น มันขี้เกียจเหมือนกัน เพราะมีแต่ถูกด่าถูกว่าเสมอ ทรมานมันเข้า ทรมานเข้าไปถึงจิต หัดมันอยู่อย่างนั้นแหละ

รู้ตัวเองแล้วสบาย
    ตั้งแต่ ครั้งอาตมาปฏิบัติอยู่ในป่า ก็ปฏิบัติอย่างนี้ สอนศิษย์ทั้งหลายก็สอนอย่างนี้ เพราะต้องการเห็นความจริง ไม่ต้องการเห็นในตำรา ต้องการเห็นในใจเจ้าของว่า ตัวเองหลุดพ้นจากสิ่งที่คิดนั้นหรือยัง เมื่อหลุดแล้วก็รู้จัก เมื่อยังไม่หลุดก็พิจารณาเหตุผลจนรู้เรื่องของมัน ถ้ารู้เรื่องของมันก็หลุดเอง ถ้ามีอะไรมาอีก ติดอะไรอีก ก็พิจารณาสิ่งนั้นอีก ไม่หลุดไม่ไป ย้ำมันอยู่ตรงนี้ มันจะไปไหนเสีย อาตมาชอบให้เป็นอย่างนั้นในตัวเอง เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่าปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญู หิ วิญญูชนทั้งหลายรู้เฉพาะตน ก็ต้องหาเอาจากเจ้าของ ให้รู้จากตัวเองนี้แหละ ถ้าเชื่อตัวเองก็รู้สึกสบาย เขาว่าไม่ดีก็สบาย เขาว่าดีก็สบาย เขาจะว่าอย่างไรก็สบายอยู่ เพราะอะไรจึงสบาย เพราะรู้จักตัวเองถ้าคนอื่นว่าเราดี แต่เราไม่ดี เราจะเชื่อเขาอย่างนั้นหรือ เราก็ไม่เชื่อเขา เราปฏิบัติของเราอยู่ คนไม่เชื่อตนเอง เมื่อเขาว่าดีก็ดีตามเขา ก็เป็นบ้าไปอย่างนั้น ถ้าเขาว่าชั่ว เราก็ดูเรา มันไม่ใช่หรอก เขาว่าเราทำผิด แต่เราไม่ผิดดังเขาว่าเขาพูดไม่ถูก ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม เพราะเขาพูดไม่ถูกตามความเป็นจริง ถ้าเราผิดดังเขา ก็ถูกดังเขาว่าแล้ว ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไมอีก ถ้าคิดได้ดังนี้รู้สึกสบายจริง ๆ มันเลยไม่มีอะไรผิด ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด อาตมาปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้มันลัดตรงจริง ๆ แม้จะเอาธัมมะธัมโม หรืออภิธรรมมาเถียง อาตมาก็ไม่เถียง ไม่เถียงหรอก ให้แต่เหตุผลเท่านั้น ให้เข้าใจเสียว่า เรื่องปฏิบัตินี้พระพุทธเจ้าให้วางทั้งหมด วางอย่างรู้ มิใช่ว่าวางอย่างไม่รู้ จะวางอย่างควายอย่างวัว ไม่เอาใจใส่ อย่างนี้ไม่ถูก วางเพราะการรู้สมมติบัญญัติความไม่ยึด

ยึดไว้ก่อน พอร้อนแล้วก็วาง
   ทีแรกท่านสอนว่า ทำให้มาก เจริญให้มาก ยึดให้มาก ยึดพระพุทธ ยึดพระธรรม ยึดพระสงฆ์ ยึดให้มั่น ท่านสอนอย่างนี้ เราก็ยึดเอาจริง ๆ ยึดไป ๆ คล้ายกับท่านสอนว่า อย่าไปอิจฉาคนอื่น ให้ทำมาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง มีวัวมีควาย มีไร่มีนา ให้หาเอาจากของ ๆ เรานี่แหละ ไม่บาปหรอก ถ้าไปทำของคนอื่นมันบาป ผู้ฟังจึงเชื่อ ทำเอาจากของตนเองอย่างเต็มที่ แต่มันก็ยุ่งยากลำบากเหมือนกัน ที่ยากลำบากนั้นเพราะของเราเอง ก็ไปบ่นปรับทุกข์ให้ท่านฟังอีกว่า มีสิ่งของใด ๆ ก็ยุ่งยากเป็นทุกข์ เมื่อเห็นความยุ่งยากแล้ว แต่ก่อนเข้าใจว่ายุ่งยากเพราะแย่งชิงของคนอื่น ท่านจึงแนะให้ทำของ ๆ ตน นึกว่าจะสบายครั้นทำแล้วก็ยังยุ่งยากอยู่ ท่านจึงเทศน์อย่างใหม่ให้ฟังอีกว่า "มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไปยึดไปหมาย มันก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าของใครทั้งนั้น ไฟอยู่บ้านเขา ไปจับมันก็ร้อน ไฟอยู่บ้านเรา ไปจับมันก็ร้อนอยู่อย่างนั้น" ท่านก็พูดตามเรา เพราะท่านสอนคนบ้า การรักษาคนบ้าก็ต้องทำอย่างนั้น พอช้อคไฟได้ท่านก็ช้อค เมื่อก่อนยังอยู่ต่ำเกินไปเลยไม่ทันรู้จัก เรื่องอุบายของพระพุทธเจ้าท่านสอนเราต่างหาก หมดเรื่องของท่านมาติดเรื่องของเรา ถึงจะเป็นอย่างไรก็ตาม เอาอุบายทั้งหลายเหล่านี้นั่นแหละมาสอนเรา

การปฏิบัติคือการฝืนใจตัวเอง
   เรื่องปฏิบัตินี่ อาตมาพยายามค้นคิดเหลือเกิน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค ผล นิพพาน มีอยู่ มันมีอยู่ ดังพระองค์ตรัสสอน แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติดีเกิดจากการทรมาน กล้าหาญ กล้าฝึก กล้าหัด กล้าคิด กล้าแปลง กล้าทำ การทำนั้นทำอย่างไร ท่านให้ฝืนใจตัวเอง ใจเราคิดไปทางนี้ ท่านให้ไปทางโน้น ใจเราคิดไปทางโน้น ท่านให้มาทางนี้ ทำไมท่านจึงฝืนใจ เพราะใจถูกกิเลสเขาพอกมาเต็มที่แล้ว มันยังไม่ได้ฝึกหัดดัดแปลง พระองค์จึงไม่ให้เชื่อ มันยังไม่เป็นศีล ยังไม่เป็นธรรม เพราะใจมันยังไม่แจ้ง ไม่ขาว จะไปเชื่อมันได้อย่างไรได้ ท่านจึงมิให้เชื่อเพราะใจเป็นกิเลส ทีแรกมันเป็นลูกน้องกิเลสอยู่ นาน ๆ ไปเลยกลายเป็นกิเลส ท่านเลยบอกว่าอย่าเชื่อใจ ดูเถิดข้อปฏิบัติมีแต่เรื่องฝืนใจทั้งนั้น ฝืนใจก็เดือดร้อน พอเดือดร้อนก็บ่นว่า แหม ลำบากเหลือเกิน ทำไม่ได้ แต่พระองค์ไม่นึกอย่างนั้น ทรงนึกว่า ถ้าเดือดร้อนนั้นถูกแล้ว แต่เราเข้าใจว่าไม่ถูก เป็นเสียอย่างนี้มันจึงลำบาก เมื่อเริ่มทำเดือดร้อน เราก็นึกว่าไม่ถูกทาง คนเราอยากมีความสุข มันจะถูกหรือไม่ถูกไม่รู้ เมื่อขัดกับกิเลสตัณหา ก็เลยเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็หยุดทำ เพราะเข้าใจว่าไม่ถูกทาง แต่พระองค์ตรัสว่าถูกแล้ว ถูกกิเลสแล้ว กิเลสมันเร่าร้อน แต่เรานึกว่าเราเร่าร้อน

    พระ พุทธเจ้าว่ากิเลสเร่าร้อน เราทั้งหลายเป็นอย่างนี้มันจึงยาก เราไม่พิจารณา โดยมากมักเป็นไปตามกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค มันติดอยู่นี่ อยากทำตามใจของเรา อันไหนชอบก็ทำอยากทำตามใจ ให้นั่งสบาย นอนสบาย จะทำอะไรก็อยากสบาย นี่กามสุขัลลิกานุโยค ติดสุข มันจะไปได้อย่างไร ถ้าหากเอากามความสบายไม่ได้แล้ว ความสุขไม่ได้แล้วก็ไม่พอใจ โกรธขึ้นมา ก็เป็นทุกข์ เป็นโทสธรรม นี่เป็นอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งไม่ใช่หนทางของผู้สงบ ไม่ใช่หนทางของผู้ระงับกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ทางสองเส้นนี้พระพุทธเจ้าไม่ให้เดิน ความสุขพระองค์ให้รับทราบไว้ ความโกรธ ความเกลียด ความไม่พอใจ ก็ไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าเดิน ไม่ใช้ทางของสมณะ เป็นทางที่ชาวบ้านเดินอยู่ พระผู้สงบแล้วไม่เดินอย่างนั้นเดินไปตรงกลาง สัมมาปฏิปทานี่ กามสุขัลลิกานุโยคอยู่ทางซ้าย อัตตกิลมถานุโยคอยู่ทางขวา

ดินทางสายกลางคือสงบ วางสุข วางทุกข์
   ดังนั้น ถ้าจะบวชปฏิบัติต้องเดินทางสายกลางนี้ เราจะไม่เอาใจใส่ความสุขความทุกข์ จะวางมัน แต่รู้สึกว่ามันเตะเรา เดี๋ยวไอ้นี่เตะทางนี้ ไอ้นั่นเตะทางนั้น เหมือนกับลูกโป่งลาง (กระดิ่งที่ทำด้วยไม้) มันฟัดเราทั้งสองข้างเข้าใส่กัน มีสองอย่างนี้แหละเตะเราอยู่ ดังนั้น พระองค์เทศน์ครั้งแรกจึงทรงยกทางที่สุดทั้งสองขึ้นแสดง เพราะมันติดอยู่นี่ ความอยากได้สุขเตะทางนี้บ้าง ความทุกข์ไม่พอใจเตะทางโน้นบ้าง สองอย่างเท่านั้นเล่นงานเราตลอดกาลการเดินทางสายกลาง เราจะวางสุข เราจะวางทุกข์ สัมมาปฏิปทาต้องเดินสายกลาง เมื่อความอยากได้สุขมากระทบ ถ้าไม่ได้สุขมันก็ทุกข์เท่านั้น จะเดินกลางๆ ตามทางพระพุทธเจ้าเดินนั้นลำบาก มันมีสองอย่างคือดีกับร้ายเท่านั้น ถ้าไปเชื่อพวกนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าโกรธขึ้นมาก็คว้าหาท่อนไม้เลย ไม่ต้องอดทน ถ้าดีก็ลูบตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้านั่นใช้แล้ว ทางสองข้างมันไม่ไปกลาง ๆ สักที พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ทำอย่างนั้น ท่านให้ค่อย ๆ วางมันไป ทางสายนี้คือสัมมาปฏิปทา ทางเดินออกจากภพ จากชาติ ทางไม่มีภพ ไม่มีชาติ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว มนุษย์ทั้งหลายที่ต้องการภพ ถ้าตกลงมาก็ถึงสุขนี่ มันมองไม่เห็นตรงกลางผ่านเลยลงมานี่ ถ้าไม่ได้ตามความพอใจก็เลยมานี่ ข้ามตรงกลางไปเรื่อย ที่พระอยู่เรามองไม่เห็นสักที วิ่งไปวิ่งมาอยู่นี่แหละ ไม่อยู่ตรงที่ไม่มีภพ ไม่มีชาติ เราไม่ชอบจึงไม่อยู่ บางทีก็เลยลงมาข้างล่าง ถูกสุนัขกัด ปีนขึ้นไปข้างบนก็ถูกอีแร้ง อีกาปากเหล็กมาจิกกระบาล ก็เลยตกนรกอยู่ไม่หยุดไม่ยั้งเท่านั้น นี่แหละภพ อันที่ว่าไม่มีภพ ไม่มีชาติ มนุษย์ทั้งหลายไม่เห็น จิตมนุษย์มองไม่เห็นจึงข้ามไปข้ามมาอยู่อย่างนั้น สัมมาปฏิปทาคือทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าเดินพ้นภพ พ้นชาติ เป็นอัพยากตธรรม จิตนี้วาง นี่เป็นทางของสมณะ ถ้าใครไม่เดินเกิดเป็นสมณะไม่ได้ ความสงบเกิดไม่ได้ ทำไมจึงสงบไม่ได้ เพราะมันเป็นภพ เป็นชาติ เกิดตายอยู่นั่นเอง แต่ทางนี้ไม่เกิดไม่ตาย ไม่ต่ำไม่สูง ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีไม่ชั่วกับใคร ทางนี้เป็นทางตรง เป็นทางสงบระงับ สงบจากความสุขความทุกข์ ความดีใจ ความเสียใจ นี้คือลักษณะปฏิบัติ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้แล้วหยุดได้ หยุดถามได้แล้ว ไม่ต้องไปถามใครนี่แหละ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญู-หิ ไม่ต้องถามใคร รู้เฉพาะตนแน่อนอย่างนั้น ถูกตามที่พระองค์สอนไว้ อาตมาเล่าประวัติย่อ ๆ ที่เคยทำเคยปฏิบัติมา ไม่ได้รู้มาก ไม่ได้เรียนมาก เรียนจากจิตใจตนเองตามธรรมชาตินี้ โดยทดลองทำดู เมื่อมันชอบขึ้นมาก็ไปตามมันดู มันจะพาไปไหน มีแต่มันลากเราไปหาความทุกข์โน่น เราปฏิบัติดูตัวเองจึงค่อยรู้จักค่อยรู้ขึ้น เห็นขึ้นไปเอง ให้เราพากันตั้งอกตั้งใจทำ

การปฏิบัติต้องตั้งใจและพยายาม

   ถ้าอยากปฏิบัติ ให้ท่านมหาพยายามอย่าคิดให้มาก ถ้าจะนั่งสมาธิแล้วอยากให้มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ หยุดดีกว่า เวลานั่งสงบจะนึกว่า ใช่อันนั้นไหม ใช่อันนี้ไหม หยุดเอาความรู้ปริยัติใส่หีบใส่ห่อไว้เสีย อย่าเอามาพูด ไม่ใช่ความรู้พวกนั้นจะเข้ามาอยู่นี่หรอก มันพวกใหม่ เวลาเป็นขึ้นมา มันไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเราเขียนตัวหนังสือว่า"ความโลภ" เวลามันเกิดในใจไม่เหมือนตัวหนังสือ เวลาโกรธก็เหมือนกัน เขียนใส่กระดานดำเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นตัวอักษร เวลามันเกิดในใจอ่านอะไรไม่ทันหรอก มันเป็นขึ้นมาที่ใจเลย สำคัญนัก สำคัญมาก ปริยัติเขียนไว้ก็ถูก แต่ต้องโอปนยิโก ให้เป็นคนน้อม ถ้าไม่น้อมก็ไม่รู้จักจริง ๆ มันไม่เห็น อาตมาก็เหมือนกันไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก เคยสอบปริยัติธรรม มีโอกาสได้ไปฟังครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟัง จนจะเกิดความประมาท ฟังเทศน์ไม่เป็น พวกพระกรรมฐาน ระธุดงค์นี่ไม่รู้พูดอย่างไร พูดเหมือนกับมีตัวมีตนจริง ๆ จะไล่เอา จริง ๆ ต่อมาค่อยทำไปปฏิบัติไป ๆ จึงเห็นจริงตามที่ท่านสอน ท่านเทศน์ให้ฟังก็รู้เป็นเห็นตาม มันเป็นอยู่ในใจของเรานี่เอง ต่อไปนาน ๆ จึงรู้ว่ามันก็ล้วนแต่ท่านเห็นมาแล้ว ท่านเอามาพูดให้ฟัง ไม่ใช่ว่าท่านพูดตามตำรา ท่านพูดตามความรู้ความเห็นจากใจให้ฟัง เราเดินตามก็ไปพบที่ท่านพูดไว้หมดทุกอย่าง จึงนึกว่ามันถูกแล้วนี่จะอย่างไหนอีก เอาเท่านี้แหละ อาตมาจึงปฏิบัติต่อไป

คนทำจะได้

    การ ปฏิบัตินั้นให้พยายามทำ มันจะสงบหรือไม่สงบก็ช่าง ปล่อยไว้ก่อน เอาเรื่องเราปฏิบัติเป็นเรื่องแรก เอาเรื่องเราได้สร้างเหตุนี่แหละ ถ้าทำแล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ได้ เราทำได้แล้วอย่ากลัวว่าจะไม่ได้ผลมันไม่สงบ เราก็ทำได้ ทีนี้ถ้าเราไม่ทำ ใครเล่าจะได้ ใครเล่าจะเห็น คนหานั่นแหละจะเห็น คนกินนั่นแหละจะอิ่ม ของแต่ละสิ่งละอย่างมันโกหกเราอยู่สิบครั้ง ให้มันรู้ก็ยังดีอยู่ คนเก่ามาโกหกเรื่องเก่า ถ้ารู้จักก็ดีอยู่ มันนานเหลือเกินกว่าจะรู้ มันพยายามมาหลอกลวงเราอยู่นี่ ดังนั้น ถ้าจะปฏิบัติแล้ว ให้ตั้งศีล สมาธิ ปัญญาไว้ในใจของเรา ให้นึกถึงพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เลิกสิ่งทั้งหลายทั้งปวงออกเสีย การกระทำของเรานี้เองเป็นเหตุเกิดขึ้นในภพในชาติหนึ่งจริง ๆ เป็นคนซื่อสัตย์กระทำไปเถอะ การปฏิบัตินั้นแม้จะนั่งเก้าอี้อยู่ก็ตามกำหนดได้ เบื้องแรกไม่ต้องกำหนดมาก กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือจะว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ได้ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อกำหนดให้มีความตั้งใจไว้ว่า การกำหนดลมนี้จะไม่บังคับ ถ้าเราจะลำบากกับลมหายใจแล้วยังไม่ถูก ดูเหมือนลมหายใจสั้นไป ยาวไป ค่อยไป แรงไป เดินลมไม่ถูก ไม่สบาย แต่เมื่อใดลมออกก็สบาย ลมเข้าก็สบาย จิตของเรารู้จักลมเข้า รู้จักลมออก นั่นแม่นแล้ว ถูกแล้ว ถ้าไม่แม่นมันยังหลง ถ้ายังหลงก็หยุด กำหนดใหม่ เวลากำหนดจิตอยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเกิดแสงสว่างเป็นปราสาทราชวังขึ้นมา ก็ไม่ต้องกลัว ให้รู้จักมัน ให้ทำเรื่อยไป บางครั้งทำไป ๆ ลมหมดก็มีหมดจริง ๆ ก็จะกลัวอีก ไม่ต้องกลัว มันหมดแต่ความคิดของเราเท่านั้น เรื่องความละเอียดยังอยู่ ไม่หมดถึงกาลสมัยแล้ว มันฟื้นกลับขึ้นมาของมันเอง

ทำจิตให้สงบก่อน แล้วจึงพิจารณาอารมณ์

   ให้ใจสงบไปอย่างนี้เสียก่อน นั่งอยู่ที่ไหนก็ตาม นั่งเก้าอี้ นั่งรถ นั่งเรือก็ตาม ถ้ากำหนดเมื่อใดให้มันเข้าเลย ขึ้นรถไฟพอนั่งลงให้มันเข้าเลย อยู่ที่ไหนนั่งได้ทั้งนั้น ถ้าขนาดนี้รู้จักแล้ว รู้จักทางบ้างแล้ว จึงมาพิจารณาอารมณ์ ใช้จิตที่สงบนั่นพิจารณาอารมณ์ รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง ธรรมารมณ์บ้าง ที่เกิดขึ้นให้มาพิจารณา ชอบหรือไม่ชอบต่าง ๆ นานา ให้เป็นผู้รับทราบไว้ อย่าเข้าไปหมายในอารมณ์นั้น ถ้าดีก็ ให้รู้ว่าดี  ถ้าไม่ดีก็ให้รู้ว่าไม่ดี อันนี้เป็นของสมมุติบัญญัติ ถ้าจะดีจะชั่วก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อ่านคาถานี้ไว้ด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ปัญญาจะเกิดเอง อารมณ์นั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทิ้งใส่สามขุมนี้ นี้เป็นแก่นของวิปัสสนา ทิ้งใส่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดีชั่วร้ายอะไรก็ทิ้งมันใส่นี่ ไม่นานเราก็จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดปัญญาอ่อน ๆ ขึ้นมา นั่นแหละเรื่องภาวนา ให้พยายามทำเรื่อย ๆ ศีลห้านี้ถือมาหลายปีแล้วมิใช่หรือเริ่มภาวนาเสีย ให้รู้ความจริง เพื่อละ เพื่อถอน เพื่อความสงบ

นักปฏิบัติต้องรักษาวินัยและเชื่อฟังอาจารย์

   พูดถึงการสนทนาแล้ว อาตมาสนทนาไม่ค่อยเป็น มันพูดยากอยู่ ถ้าใครอยากรู้จักต้องอยู่ด้วยกัน อยู่ไปนาน ๆ ก็รู้จักหรอก อาตมาเคยไปเที่ยวธุดงค์เหมือนกัน อาตมาไม่เทศน์ไปฟังครูบาอาจารย์รูปนั้นรูปนี้เทศน์ มิใช่ว่าไปเทศน์ให้ท่านฟัง ท่านพูดอะไรก็ฟัง ฟังเอา พระเล็กพระน้อยเทศน์ก็ฟัง เราจะฟังก็ฟัง ไม่ค่อยสนทนา ไม่รู้จะสนทนาอะไร ที่จะเอาก็เอาตรงที่ละที่วางนั่นเอง ทำเพื่อมาละมาวาง ไม่ต้องไปเรียนให้มาก แก่ไปทุกวัน ๆ วันหนึ่งไปตะปบแต่แสงอยู่นั่นไม่ถูกตัวสักที การปฏิบัติธรรมแม้จะมีหลายแบบ อาตมาไม่ติ ถ้ารู้จักตามความหมายไม่ใช่ว่าจะผิด แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วไม่ค่อยรักษาวินัยอาตมาว่าจะไปไม่รอด เพราะมันข้ามมรรค ข้ามศีล สมาธิ ปัญญา บางท่านพูดว่า อย่าไปติดสมถะ อย่าไปเอาสมถะ ผ่านไปวิปัสสนาเลย อาตมาเห็นว่าถ้าผ่านไปเอาวิปัสสนาเลย มันจะไปไม่รอด วิธีปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์ทองรัต ท่านเจ้าคุณอุบาลี นี่หลักนี้อย่าทิ้ง แน่นอนจริง ๆ ถ้าทำตามท่านถ้าปฏิบัติตามท่าน เห็นตัวเองจริง ๆ ท่านอาจารย์เหล่านี้ เรื่องศีลท่านพยายามรักษาให้แน่นอนท่านไม่ให้ข้าม
       การเคารพครูบาอาจารย์ การเคารพข้อวัตรปฏิบัตินั้น ถ้าครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ ถ้าท่านว่าผิดให้หยุดก็หยุดชื่อว่าทำเอาจริงๆจัง ๆ ให้เห็น ให้เป็นขึ้นในใจ ท่านอาจารย์บอกอย่างนี้ ดังนั้นพวกลูกศิษย์ทั้งหลายจึงมีความเคารพยำเกรงในครูบาอาจารย์มาก เพราะเห็นตามรอยของท่าน ลองทำดูซิ ทำดังที่อาตมาพูด ถ้าเราทำมันก็เห็นก็เป็น ทำไมจะไม่เป็น เพราะเป็นคนทำคนหา อาตมาว่ากิเลสมันไม่อยู่หรอก ถ้าทำถูกเรื่องของมัน เป็นผู้ละ พูดจาน้อย เป็นคนละทิฏฐิมานะทั้งหลายทั้งปวง คนพูดผิดก็ฟังได้ คนพูดถูกก็ฟังได้หมด พิจารณาตัวเองอยู่อย่างนี้ อาตมาว่าเป็นไปได้ทีเดียวถ้าพยายาม แต่ว่าไม่ค่อยมีนักปริยัติที่มาปฏิบัติ ยังมีน้อยอยู่ คิดเสียดายเพื่อน ๆ ทั้งหลาย เคยแนะนำให้มาพิจารณาอยู่

ถ้าปฏิบัติแล้วจะรู้ซึ้ง รู้แจ้ง รู้ชัด
   ท่านมหามาที่นี่ก็ดีแล้ว เป็นกำลังอันหนึ่ง แถวบ้านเราบ้านไผ่ใหญ่ หนองสัก หนองขุ่น บ้านโพนขาว ล้วนแต่เป็นบ้านสำนักเรียนทั้งนั้น เรียนแต่ของที่มันต่อกัน ไม่ตัดสักที เรียนแต่สันตติเรียนสนธิต่อกันไป ถ้าเราหยุดได้ เรามีหลักวิจัยอย่างนี้ดีจริง ๆ มันไม่ไปทางไหนหรอก มันไปอย่างที่เราเรียนนั่นแหละ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติผู้เรียนไม่ค่อยรู้ ถ้าปฏิบัติแล้วก็รู้ซึ้ง สิ่งที่เราเคยเรียนมาแจ้งออกชัดออก เริ่มปฏิบัติเสียให้เข้าใจอย่างนี้ พยายามมาอยู่ตามป่าที่กุฏิเล็ก ๆ นี้ มาฝึกทดลองดูบ้างดีกว่าเราไปเรียนปริยัติอย่างเดียว ให้พูดอยู่คนเดียว ดูจิตดูใจเราคล้าย ๆ กับว่า จิตมันวางเป็นปกติจิต ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติ เช่น มันคิดนึกต่าง ๆ นั่นเป็นสังขาร สังขารนี้มันจะปรุงเราต่อไป ระวังให้ดีให้มันรู้ไว้ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติแล้ว ไม่เป็นสัมมาปฏิปทาหรอก มันจะก้าวไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ของพวกนี้มันปรุง นั่นแหละเป็นจิตสังขาร ถ้ามันดีก็ดี ถ้ามันชั่วก็ชั่ว มันเกิดกับจิตของเรา อาตมาว่าถ้าได้จ้องดูมันอยู่อย่างนี้ รู้สึกว่าสนุก ถ้าจะพูดเรื่องนี้อยู่อย่างเดียวแล้วสนุกอยู่ตลอดวัน เมื่อรู้จักเรื่องวาระของจิต ก็เห็นมีอาการอย่างนี้ เพราะกิเลสมันอบรมจิตอยู่ อาตมาเห็นว่าจิตนี้เหมือนกับจุดจุดเดียวเท่านั้น อันที่เรียกว่าเจตสิกนั่นเป็นแขก แขกมาพักอยู่ตรงจุดนี้ คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนโน้นมาเยี่ยมเราบ้าง มาพักอยู่ตรงนี้ เราจึงเรียกพวกนั้นที่ออกจากจิตของเรามาเป็นเจตสิกหมด

มีสติรู้ ตื่นอยู่ เฝ้าดูจิต

   ทีนี้เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไร โบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหนมีที่นั่งที่เดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธตัวตั้งมั่นอยู่นี่ ทำความรู้นี้ไว้จะได้รักษาจิต เรานั่งอยู่ตรงนี้แล้ว แขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็ก ๆ โน้น มาทีไรก็มาที่นี่หมดเราจึงรู้จักมันหมด เลยพุทโธอยู่คนเดียว พูดถึงอาคันตุกะแขกที่จรมาปรุงแต่งต่าง ๆ นานา ให้เราเป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่าเจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เอง เราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้วมันก็ไม่มีที่นั่ง มันมาที่นี่มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีกมาเมื่อไรก็พบแต่ผู้นี้นั่งอยู่ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง เพียงพูดกันอยู่ที่นั่นเราก็จะรู้จักหมดทุกคน พวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้นมันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละ เพียงเท่านี้ อาตมาว่าธรรมนั้นดูตรงนี้ก็เห็นไปหมด ได้พูด ได้ดู ได้พิจารณาอยู่คนเดียว พูดธรรมะก็อย่างนี้แหละ อาตมาพูดอย่างอื่นไม่เป็น พูดก็พูดไปอย่างนี้ ทำนองนี้ นี่ก็เป็นแต่เพียงพูดให้ฟังเท่านั้น ทีนี้ให้ไปทำดู ถ้าไปทำมันจะเป็นอย่างนั้น ๆ มีหนทางบอก ถ้ามันเป็นอย่างนั้นให้ทำอย่างนั้น ก็ไปทำดูอีก ถ้าไปทำดูอีกมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องแก้ โน่นแหละจึงจะมีที่บอก ในเมื่อเดินสายเดียวกัน มันต้องเป็นใจจิตท่านมหาแน่นอน ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องเกิดขัดข้อง ขัดข้องก็ต้องจี้จุด เมื่อพูดตรงนี้มันไปถูกจิตท่านมหา มันก็รู้จักแก้ ถ้ามันติดอีก ท่านผู้แนะนำก็จะบอกเพราะตรงนี้ท่านก็เคยติดมาแล้ว ก็ต้องแก้อย่างนั้น มันรู้เรื่องกันก็พูดกันได้ เช่นเดียวกับอารมณ์คือเสียง  ได้ยินเป็นอย่างหนึ่ง เสียงเป็นอย่างหนึ่ง เรารับทราบไว้ไม่มีอะไร เราอาศัยธรรมชาติอย่างนี้แหละมาพิจารณาหาความจริง จนใจมันแยกของมันเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ มันไม่เอาใจใส่เอง มันจึงเป็นอย่างนั้นได้ เมื่อหูได้ยินเสียง ดูจิตของเรา มันพัวพันไปตามไหม มันรำคาญไหม เท่านี้เราก็รู้ ได้ยินอยู่แต่ไม่รำคาญ ฉัน อยู่ที่นี่ เอากันใกล้ ๆ มิได้เอาไกล จะหนีจากเสียงนั้น หนีไม่ได้หรอก ต้องหนีวิธีนี้จึงจะหนีได้ โดยเราฝึกจิตของเราจนมั่นอยู่ในสิ่งนี้ วางสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่วางแล้วนั้นก็ยังได้ยินอยู่ ได้ยินอยู่แต่ก็วางอยู่ เพราะสิ่งเหล่านั้น ถูกวางอยู่แล้ว มิใช่จะไปบังคับให้มันแยก มันแยกเองโดยอัตโนมัติ เพราะการละ การวาง จะอยากให้มันไปตามเสียงนั้นมันก็ไม่ไป เมื่อเรารู้ถึงรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลายเหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้ว เห็นชัดอยู่ในดวงจิตของเราว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสามัญลักษณะ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหมดทั้งนั้น เมื่อได้ยินครั้งใดก็เป็นสามัญลักษณะอยู่ในใจ เวลาอารมณ์ทั้งหลายมากระทบได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินนั้น ไม่ใช่จิตของเราจะไม่มีการงาน สติกับจิตพัวพันคุ้มครองกันอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา ถ้าท่านมหาทำจิตให้ถึงอันนี้แล้ว ถึงจะเดินไปทางไหน มันก็ค้นคว้าอยู่นี่ เป็นธรรมวิจัย หลักของโพชฌงค์เท่านั้นเอง มันหมุนเวียนพูดกับตัวเอง แก้ปลดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีอะไรจะมาใกล้มันได้มันมีงานทำของมันเอง

จิตที่ตื่นรู้ เบิกบาน เป็นพุทธะ

   นี่เรื่องอัตโนมัติของจิตที่เป็นอยู่ ไม่ได้แต่งมัน หัดเบื้องแรก มันเป็นเลย ถ้าเราทำอยู่อย่างนี้ ท่านมหาจะมีอาการอย่างหนึ่งแปลกขึ้นมา คือ เวลาไปนอน ตั้งใจแล้วนอน เคยนอนกรนหรือนอนละเมอ กัดฟันหรือนอนดิ้น นอนขวาง ถ้าจิตเป็นอย่างนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้ฉิบหายหมดถึงจะหลับสนิทตื่นขึ้นมาแล้ว มีอาการคล้ายกับไม่ได้นอน เหมือนไม่ได้หลับ แต่ไม่ง่วง เมื่อก่อนเราเคยนอนกรน ถ้าเราทำจิตให้ตื่นแล้วไม่กรนหรอก จะกรนอย่างไร คนไม่ได้นอน กายมันไประงับเฉย ๆ ตัวนี้ตื่นอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ตื่นอยู่ทุกกาลเวลา คือพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้แจ้ง ผู้สว่าง ตัวนี้ไม่ได้นอนมันเป็นของมันอยู่ ไม่รู้สึกง่วง ถ้าเราทำจิตของเราอย่างนี้ไม่นอนตลอด ๒-๓ วัน บางทีมันง่วง ร่างกายมันเพลีย พอง่วงเรามากำหนดเข้าสมาธิทันทีสัก ๕ นาที หรือ ๑๐ นาทีแล้วลืมตาตื่นขึ้น จะรู้สึกเท่ากับได้นอนตลอดคืนและวัน เรื่องการนอนหลับนี่ ถ้าไม่คิดถึงสังขารแล้วไม่เป็นไร แต่ว่าเอาแต่พอควร เมื่อนึกถึงสภาวะสังขารความเป็นไปแล้ว ก็ให้ตามเรื่องของมัน ถ้ามันถึงตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องนำไปบอกหรอก มันบอกเอง มันจะมีผู้จี้ผู้จด ถึงขี้เกียจก็มีผู้บอกให้เราขยันอยู่เสมออยู่ไม่ได้หรอก ถ้าถึงจุดมันจะเป็นของมันเอง ดูเอาสิ อบรมมานานแล้ว อบรมตัวเองดู

กายวิเวกสำคัญมาก

   แต่ว่าเบื้องแรกกายวิเวกสำคัญนะ เมื่อเรามาอยู่กายวิเวกแล้ว จะนึกถึงคำพระสารีบุตรเทศน์ไว้เกี่ยวกับ กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก (อุปธิวิเวก = สงัดจากกิเลส-นิพพาน) กายวิเวกเป็นเหตุให้เกิดจิตวิเวก จิตวิเวกเป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก แต่บางคนพูดว่าไม่สำคัญหรอก ถ้าใจเราสงบแล้วอยู่ที่ไหนก็ได้ จริงอยู่ แต่เบื้องแรกให้เห็นว่ากายวิเวกเป็นที่หนึ่ง ให้คิดอย่างนี้ วันนี้หรือวันไหนก็ตาม ท่านมหาเข้าไปนั่งอยู่ในป่าช้าไกล ๆ บ้าน ลองดู ให้อยู่คนเดียว หรือท่านมหาจะไปอยู่ยอดเขายอดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่หวาดสะดุ้ง ให้อยู่คนเดียวนะ เอาให้สนุกตลอดคืน แล้วจึงจะรู้จักว่ามันเป็นอย่างไร เรื่องกายวิเวกนี่ แม้เมื่อก่อนอาตมาเองก็นึกว่าไม่สำคัญเท่าไร คิดเอาแต่เวลาไปทำดูแล้ว จึงนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์สอนให้ไปหากายวิเวกเป็นเบื้องแรก เป็นเหตุให้จิตวิเวก ถ้าจิตวิเวกก็เป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก เช่นเรายังครองเรือน กายวิเวกเป็นอย่างไร พอกลับถึงบ้านเท่านั้นต้องวุ่นวายยุ่งเหยิง เพราะกายไม่วิเวก ถ้าออกจากบ้านมาสู่สถานที่วิเวก ก็เป็นไปอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ช่วยชี้แนะผิดถูกฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า เบื้องแรกนี้กายวิเวกเป็นของสำคัญ เมื่อได้กายวิเวกแล้วก็ได้ธรรม เมื่อได้ธรรมแล้วก็ให้มีครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟัง คอยแนะนำตรงที่เราเข้าใจผิด เพราะที่เราเข้าใจผิดนั่นเหมือนกับเราเข้าใจถูกนี่เอง ตรงที่เราเข้าใจผิดแต่นึกว่าถูก ถ้าได้ท่านมาพูดให้ฟังจึงเข้าใจว่าผิด ที่ท่านว่าผิดก็ตรงที่เรานึกว่าถูกนั่นแหละ อันนี้มันซ้อนความคิดของเราอยู่

เรียนตามแบบ รบนอกแบบ

   ตามที่ได้ทราบข่าวมีพระนักปริยัติบางรูป ท่านค้นคว้าตามตำราเพราะได้เรียนมามาก อาตมาว่าทดลองดูเถอะ การกางแบบกางตำราทำนี่ ถึงเวลาเรียน ๆ ตามแบบ แต่เวลารบ ๆ นอกแบบ ไปรบตามแบบมันสู้ข้าศึกไม่ไหว ถ้าเอากันจริงจังแล้วต้องรบนอกแบบ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ตำรานั้น ท่านทำไว้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น บางทีอาจทำให้เสียสติก็ได้ เพราะพูดไปตามสัญญา สังขาร ท่านไม่เข้าว่าสังขารมันปรุงแต่งทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ลงไปพื้นบาดาลโน่น ไปพบปะพญานาค เวลาขึ้นมาก็พูดกับพญานาค พูดภาษาพญานาค พวกเราไปฟังมันไม่ใช่ภาษาพวกเรา มันก็เป็นบ้าเท่านั้นเอง ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้ทำอย่างนั้น เรานึกว่าจะดิบจะดีมันไม่ใช่อย่างนั้น ที่ท่านพาทำนี้มีแต่ส่วนละส่วนถอนเรื่องทิฏฐิมานะ เรื่องเนื้อเรื่องตัวทั้งนั้น อาตมาว่าการปฏิบัตินี้ก็ยากอยู่ ถึงอย่างไรก็อย่างทิ้งครูทิ้งอาจารย์ เรื่องจิตเรื่องสมาธินี่หลงมากจริง ๆ เพราะสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นไปได้ แต่มันเป็นขึ้นมาได้เราจะว่าอย่างไร อาตมาก็ระวังตังเองเสมอ

ตัดปัญหา อย่าคาดหวังหรือกะเกณฑ์

   เมื่อคราวออกปฏิบัติในระยะ ๒-๓ พรรษาแรก ยังเชื่อตัวเองไม่ได้ แต่พอได้ผ่านไปมากแล้ว เชื่อวาระจิตตัวเองแล้วไม่เป็นอะไรหรอก ถึงจะมีปรากฏการณ์อย่างไรก็ให้มันเป็นมา ถ้ารู้เรื่องอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ก็ระงับไป มีแต่เรื่องจะพิจารณาต่อไปก็สบาย ท่านมหายังไม่ได้ทำดู เคยนั่งสมาธิแล้วใช่ไหม การนั่งสมาธินี่ สิ่งที่ไม่น่าผิดก็ผิดได้ เช่น เวลานั่งเราตั้งใจว่า "เอาละ จะเอาให้มันแน่ ๆ ดูที" เปล่า! วันนั้นไม่ได้อะไรเลย แต่คนเราชอบทำอย่างนั้น อาตมาเคยสังเกต มันเป็นของมันเอง เช่น บางคืนพอเริ่มนั่งก็นึกว่า "เอาละ วันนี้อย่างน้อยตีหนึ่งจึงจะลุก" คิดอย่างนี้ก็บาปแล้ว เพราะว่าไม่นานหรอก เวทนามันรุมเอาเกือบตาย มันดีเวลานั่งโดยไม่ต้องกะเกณฑ์ ไม่มีที่จุดที่หมาย ทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม สามทุ่ม ก็ช่างมัน นั่งไปเรื่อย ๆ วางเฉยไว้ อย่าบังคับมัน อย่าไปหมายมั่น อย่าไปบังคับหัวใจว่า จะเอาให้มันแน่ ๆ มันก็ยิ่งไม่แน่ ให้เราวางใจสบาย ๆ หายใจก็ให้พอดี อย่าเอาสั้นเอายาว อย่าไปแต่งมัน กายก็ให้สบาย ทำเรื่อยไป มันจะถามเราว่า จะเอากี่ทุ่มจะเอานานเท่าไร มันมาถามเรื่อยหรอก เราต้องตวาดมันว่า "เฮ้ย อย่ามายุ่ง" ต้องปราบมันไว้เสมอ เพราะพวกนี้มีแต่กิเลสมากวนทั้งนั้น อย่าเอาใจใส่มัน เราต้องพูดว่า "กูอยากพักเร็วพักช้า ไม่ผิดกระบาลใครหรอก กูอยากนั่งอยู่ตลอดคืนมันจะผิดใคร จะมากวนกูทำไม" ต้องตัดมันไว้อย่างนี้ แล้วเราก็นั่งเรื่อยไปตามเรื่องของเรา วางใจสบายก็เลยสงบ เป็นเหตุให้เข้าใจว่าอำนาจอุปาทานความยึดหมายนี้สำคัญมากจริง ๆ เมื่อเรานั่งไป ๆ นานแสนนาน เลยเที่ยงคืนค่อนคืนไป ก็เลยนั่งสบาย มันก็ถูกวิธี จึงรู้ว่าความยึดมั่นถือมั่นเป็นกิเลสจริง ๆ เพราะวางจิตไม่ถูก บางคนนั้น เวลานั่งจุดธูปไว้ข้างหน้าคิดว่า "ธูปดอกนี้ไหม้หมดจึงจะหยุด" แล้วนั่งต่อไป พอนั่งไปได้  ๕ นาที ดูเหมือนนานตั้งชั่วโมง ลืมตามองดูธูป แหม ยังยาวเหลือ หลับตานั่งต่อไปอีก แล้วก็ลืมตาดูธูป ไม่ได้เรื่องอะไรเลย อย่า อย่าไปทำ มันเหมือนกับลิง จิตเลยไม่ต้องทำอะไร นึกถึงแต่ธูปที่ปักไว้ข้างหน้าว่า จวนจะไหม้หมดหรือยังหนอ นี่มันเป็นอย่างนี้ เราอย่าไปหมาย ถ้าเราทำภาวนา  อย่าให้กิเลสตัณหามันรู้เงื่อนรู้ปลายได้ "ท่านจะเอาอย่างไร" มันถามเรา "จะเอาขนาดไหน จะเอาประมาณเท่าไรดึกเท่าไร" มันมาทำให้เราตกลงกับมัน ถ้าเราไปว่าจะเอาสักสองยามมันจะเล่นงานเราทันที นั่งไปยังไม่ถึงชั่วโมงต้องร้อนรนออกจากสมาธิ แล้วก็เกิดนิวรณ์ว่า "แหม มันจะตายหรือยังกันนา ว่าจะเอาให้มันแน่ มันก็ไม่แน่นอนตั้งสัจจะไว้ก็ไม่ได้ดั่งตั้ง" คิดทุกข์ใส่ตัวเองด่าตัวเอง พยาบาทตัวเอง ไม่มีคนพยาบาทก็เป็นทุกข์อีกนั่นแหละ ถ้าได้อธิษฐานแล้วต้องเอาให้มันรอดตาย หรือตายโน่น อย่าไปหยุดมันจึงจะถูก เราค่อยทำค่อยไปเสียก่อน ไม่ต้องอธิษฐาน พยายาม ฝึกหัดไป บางครั้งจิตสงบ ความเจ็บปวดทางร่างกายก็หยุด เรื่องปวดแข้ง ปวดขามันหายไปเอง

หมั่นพิจารณาเสมอ ๆ อย่าเผลอใจ

   การปฏิบัติอีกแบบหนึ่งนั้น เห็นอะไรก็ให้พิจารณา ทำอะไรก็ให้พิจารณาทุกอย่าง อย่าทิ้งเรื่องภาวนา บางคนพอออกจากทำความเพียรแล้ว คิดว่าตัวเองหยุดแล้ว พักแล้ว จึงหยุดกำหนดหยุดพิจารณาเสีย เราอย่าเอาอย่างนั้น เห็นอะไรให้พิจารณาเห็นคนดีคนชั่ว คนใหญ่คนโต คนร่ำคนรวยคนยากคนจน เห็นคนเฒ่าคนแก่ เห็นเด็กเห็นเล็ก เห็นคนน้อยคนหนุ่ม ให้พิจารณาไปทุกอย่าง นี่เรื่องภาวนาของเราการพิจารณาเข้าหาธรรมะนั้น ให้เราพิจารณาดูอาการเหตุผลต่าง ๆ นานา มันน้อยใหญ่ ดำขาว ดีชั่ว อารมณ์ทุกอย่างนั่นแหละ ถ้าคิดเรียกว่ามันคิด แล้วพิจารณาว่า มันก็เท่านั้นแหละ สิ่งเหล่านี้ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย นี่แหละป่าช้าของมัน ทิ้งมันใส่ลงตรงนี้ จึงเป็นความจริง เรื่องการเห็นอนิจจังเป็นต้นนี้คือ เรื่องไม่ให้เราทุกข์ เป็นเรื่องพิจารณา เช่น เราได้ของดีมาก็ดีใจ ให้พิจารณาความดีเอาไว้ บางทีใช้ไปนาน ๆ เกิดไม่ชอบมันก็มี อยากเอาให้คน หรืออยากให้คนมาซื้อเอาไป ถ้าไม่มีใครมาซื้อก็อยากจะทิ้งไป เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นอนิจจังมันจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ขายไม่ได้ทิ้ง ก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้เอง พอรู้จักเรื่องเดียวเท่านั้น จะมีอีกกี่เรื่องก็ช่าง เป็นอย่างนี้หมด เรียกว่าเห็นอันเดียวก็เห็นหมด บางทีรูปนี้หรือเสียงนี้ไม่ชอบ ไม่น่าฟัง ไม่พอใจ ก็ให้พิจารณาจำไว้ ต่อไปเราอาจจะชอบ อาจจะพอใจในของที่ไม่ชอบ เมื่อก่อนนี้ก็มี มันเป็นได้ เมื่อนึกรู้ชัดว่า "อ้อ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ทิ้งลงใส่นี่แหละ ก็เลยไม่เกิดความยึดมั่น ในสิ่งที่ได้ดีมีเป็นต่าง ๆ เห็นเป็นอย่างเดียวกัน ให้เป็นธรรมะเกิดขึ้นเท่านั้น เรื่องที่พูดมานี้ พูดให้ฟังเฉย ๆ  เมื่อมาหาก็พูดให้ฟังเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องพูดมากอะไร ลงมือทำเลย เช่น เรียกกัน ถามกัน ชวนกันไปว่า ไปไหมไป ไปก็ไปเลย พอดีพอดี

นิมิตเป็นของหลอกลวง

   เมื่อลงนั่งสมาธิถ้าเกิดนิมิตต่าง ๆ เช่น เห็นนางฟ้า เป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนั้นให้เราดูเสียก่อนว่า จิตเป็นอย่างไร อย่าทิ้งหลักนี้ จิตต้องสงบจึงเป็นอย่างนั้น นิมิตที่เกิดขึ้น อย่าอยากให้มันเกิด อย่าไม่อยากให้มันเกิด มันมาก็พิจารณา พิจารณาแล้วอย่าหลง ให้นึกว่ามันไม่ใช่ของเรา นี่ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นกัน ถึงมันจะเป็นอยู่ก็อย่าเอาใจใส่มัน เมื่อมันยังไม่หายตั้งจิตใหม่ กำหนดลมหายใจมาก ๆ สูดลมเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ อย่างน้อย ๓ ครั้งก็ตัดได้ ตั้งกำหนดใหม่เรื่อยไป สิ่งเหล่านี้อย่าว่าเป็นของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงนิมิตคือ ของหลอกลวงให้เราชอบ ให้เรารัก ให้เรากลัว นิมิตเป็นของหลอกลวงใจเรา มันไม่แน่นอน ถ้าเห็นแล้วอย่าไปหมายมัน ไม่ใช่ของเราอย่าวิ่งตามนิมิต เห็นนิมิตให้ย้อนดูจิตเลย อย่าทิ้งหลักเดิม ถ้าทิ้งตรงนี้ไปวิ่งตามมัน อาจพูดลืมตัวเองเป็นบ้าไปได้ ไม่กลับมาพูดกับเราเพราะหนีออกจากคอกแล้ว ให้เชื่อตัวเองแน่นอน เห็นอะไรมาก็ตาม ถ้านิมิตเกิดขึ้นมาดูจิตตัวเอง จิตต้องสงบมันจึงเป็นถ้าเป็นมา ให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่ของเรา นิมิตนี้ให้ประโยชน์แก่คนมีปัญญา ให้โทษแก่คนไม่มีปัญญา ทำความเพียรไป จนเราไม่ตื่นเต้นในนิมิต มันอยากเกิดก็เกิด ไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่กลัวมัน เชื่อใจได้อย่างนี้ไม่เป็นไร ทีแรกเราตื่นของน่าดู มันก็อยากดู ความดีใจ เกิดขึ้นมาอย่างนี้ก็หลง ไม่อยากให้มันดีมันก็ดี ไม่รู้จะทำอย่างไร ปฏิบัติไม่ถูกก็เป็นทุกข์ มันอยากดีใจก็ช่างมัน ให้เรารู้ความดีใจนั่นเองว่า ความดีใจนี้ก็ผิดไม่แน่นอนเช่นกัน แก้มันอย่างนี้ อย่าไปแก้ว่า "ไม่อยากให้มันดีใจ ทำไมจึงดีใจ" นี่ผิดอยู่นะ ผิดอยู่กับของเหล่านี้ ผิดอยู่ใกล้ ๆ ไม่ได้ผิดอยู่ไกลหรอก อย่ากลัวนิมิต ไม่ต้องกลัว 

   เรื่องภาวนานี้พอพูดให้ฟังได้ เพราะเคยทำมา ไม่รู้ว่าจะถูกหรือไม่นะ ให้เอาไปพิจารณาเอาเอง เอ้า พอสมควรละนะ.

 

ทานธรรมจาก https://sites.google.com/site/smartdhamma

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โพธิในเรือนใจ พระไพศาล วิสาโล

"โพธิจิตสามารถเบ่งบานเติบใหญ่ได้มิใช่จากการปลีกตัวหลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันและทำงานอย่างมีสติ ตื่นรู้ และรู้เท่าทัน"
 โพธิในเรือนใจ   

พระไพศาล วิสาโล

       เมื่อพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ เราก็นึกถึงความเห็นแก่ตัว “ใคร ๆ ก็เห็นแก่ตัวทั้งนั้น” เป็นประโยคที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ และมักประสบกับกับตัวเป็นประจำ
       อย่างไรก็ตามคนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ตลอดจนความเสียสละ และความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ กันว่ามโนธรรม
       มโนธรรมหรือความใฝ่ดีทำให้เรามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ส่วนรวม แม้ตนเองจะลำบากหรือสูญเสียทรัพย์ก็ตาม การที่เราปีติหรืออิ่มเอิบภาคภูมิใจเมื่อได้ทำความดี แม้ไม่ได้รางวัลหรือคำสรรเสริญ นั่นก็เพราะเรามีมโนธรรมอยู่ในจิตใจ
        มโนธรรมทำให้เราได้สัมผัสกับความสุขทางจิตใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงทรัพย์ ยศ อำนาจ แต่สุขเพราะได้ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือเห็นผู้อื่นมีความสุข ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว ซึ่งแม้จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนแสวงหาทรัพย์สมบัติและอำนาจ แต่แม้จะครอบครองสิ่งเหล่านั้นมากมายเพียงใด ใช่หรือไม่ว่าเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นทุกข์ รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามแก่ส่วนรวม
       ความเห็นแก่ตัวหรืออัตตาทำให้เราเป็นทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่าเรา สุขสบายกว่าเรา แต่มโนธรรมกลับทำให้เราไม่สบายใจเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์ร้อนกว่าเรา ขณะเดียวกันก็ทำให้ความทุกข์ของเราเล็กลง คนที่อกหักหรือตกงานจะรู้สึกทันทีว่าความทุกข์ของตนเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเห็นผู้คนมากมายสูญบ้านและคนรักจากภัยสึนามิ
          หากจิตของเราแบ่งออกเป็นชั้น ชั้นแรกคืออัตตา ถัดมาคือมโนธรรม คนที่มีอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวมาก ย่อมมีเปลือกหรือผิวชั้นแรกที่หนา จนยากที่มโนธรรมหรือความใฝ่ดีจะฝ่าออกมาได้ ส่วนคนที่มีความเห็นแก่ตัวน้อย เปลือกหรือผิวชั้นแรกจะบาง เปิดโอกาสให้คุณธรรมหรือความใฝ่ดีแสดงตัวออกมาได้ง่าย
       อัตตาหรือมโนธรรม จะมากหรือน้อย เป็นเรื่องของการฝึกฝนกล่อมเกลาก็จริง แต่ก็ต้องอิงกับธรรมชาติดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามโนธรรมเป็นธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ จะเรียกว่าเมตตาและความเห็นใจติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น เด็กทารก เมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงเด็กอื่นร้อง ก็จะร้องด้วย (แต่จะเงียบหากได้ยินเสียงร้องของตัวเองจากเครื่องบันทึกเสียง) ส่วนทารกที่อายุมากกว่า ๑๔ เดือนจะไม่ร้องเฉย ๆ แต่จะพยายามเข้าไปช่วยเด็กคนนั้น เด็กที่อายุมากกว่านั้นจะร้องน้อยลง แต่จะหาทางไปช่วยมากขึ้น
       ไม่ใช่แต่เด็กเท่านั้น แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความเห็นใจ มีการทดลองแขวนหนูเอาไว้จนมันร้องและดิ้น เมื่อหนูหลายตัวเห็นเหตุการณ์ จะมีบางตัวที่พยายามไปช่วยเหลือหนูตัวนั้น จนรู้วิธีคือกดคันบังคับเพื่อหย่อนหนูตัวนั้นลงมาอย่างปลอดภัย
      การทดลองอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือมีการฝึกลิงกัง ๖ ตัวให้รู้จักหากินด้วยการดึงโซ่ที่มีอาหารผูกติดอยู่ แต่ทุกตัวพบว่าเมื่อดึงโซ่ทีไรก็จะเกิดไฟช็อตลิงตัวที่ ๗ ผลที่ตามมาคือลิง ๔ ตัวจะหันไปดึงโซ่เส้นอื่น แม้จะได้อาหารน้อยกว่า แต่ไม่ทำให้เพื่อนถูกช็อต ตัวที่ ๕ จะเลิกดึงโซ่ติดต่อกัน ๕ วัน ส่วนตัวที่ ๖ ไม่ยอมดึงโซ่เลยตลอด ๑๒ วัน นั่นหมายความว่าทั้ง ๒ ตัวยอมหิวเพื่อจะได้ไม่ทำให้เพื่อนเจ็บปวด
       นอกเหนีออัตตาและมโนธรรมแล้ว ใจเรายังมีธรรมชาติอีกชั้นหนึ่งซึ่งอยู่ลึกสุด ได้แก่ สภาวะที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส ปลอดพ้นจากความเห็นแก่ตัว หรือความยึดถือในอัตตา เป็นสภาวะที่เส้นแบ่งระหว่าง “ฉัน” กับ “ผู้อื่น” หมดไป เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง จิตอยู่เหนือการแบ่งเป็นขั้วหรือมองโลกเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ได้-เสีย เกิด-ตาย ดังนั้นจึงไม่หวั่นไหวกับความผันผวนปรวนแปร หรือความพลัดพรากสูญเสีย
       มนุษย์ทุกคนสามารถประจักษ์ถึงสภาวะนี้ได้ ในยามที่จิตเราสงบ ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นสภาวะที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า “จิตว่าง” คีอว่างจากกิเลสหรือความสำคัญมั่นหมายใน “ตัวกู ของกู” นี้เป็นสภาวะที่มีอยู่แล้วในใจเรา แต่มักถูกเคลือบคลุมด้วยอัตตาหรือความเห็นแก่ตัว จึงทำให้เรารู้สึกหม่นหมองอยู่บ่อยครั้ง ดังมีพุทธพจน์ว่า “จิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เกิดขึ้นภายหลัง”
        ธรรมชาติส่วนที่สามซึ่งอยู่ลึกสุดนี้ เรียกอีกอย่างว่า “โพธิจิต” คือจิตที่ตื่นรู้ เห็นความจริงแจ่มแจ้ง เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการฝึกฝนพัฒนา หากมนุษย์สามารถเข้าถึงโพธิจิต หรือให้โพธิจิตได้แสดงตัวออกมา จะมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขจากโพธิจิตที่เปล่งประกายออกมา ทำให้รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม ไม่ดิ้นรนแสวงหาอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนที่จะต้องปรนเปรอ ดิ้นรน เป็นความสงบอย่างยิ่ง แต่หากยังไม่ได้สัมผัสกับสภาวะเช่นนี้ ก็จะรู้สึกพร่องอยู่ลึก ๆ และโหยหาตลอดเวลา แม้จะมีสมบัติล้นโลก อำนาจล้นฟ้า หรือแม้จะทำความดีมามากมาย ก็ยังรู้สึกว่าบางสิ่งขาดหายไปในชีวิต
       อุปสรรคที่ทำให้เราไม่อาจเข้าถึงชั้นโพธิจิต(หรือปิดกั้นมิให้โพธิจิตแสดงตัวออกมาได้) ก็คือการยึดติดอยู่กับอัตตา การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว (เปลือกชั้นแรก) และยึดติดถือมั่นในความดี หรือปล่อยใจขึ้นลงไปกับสุขหรือทุกข์ของผู้อื่น (จิตชั้นที่สอง) เช่น ทุกข์เพราะช่วยคนอื่นไม่สำเร็จ หรือทุกข์เพราะทำดีไม่พอ หรือให้อัตตาเข้ามาครอบงำความดี กลายเป็นการทำดีเพื่อหล่อเลี้ยงอัตตา หรือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดีนะ (ใครมาตำหนิไม่ได้ หรือถ้าคนอื่นไม่เห็นความดีของฉัน ฉันก็จะโกรธและน้อยใจ) ถ้าใครทำดีกว่าฉัน ฉันก็จะไม่พอใจหรืออิจฉา และถ้าเจอคนที่ไม่ดีเท่าฉัน หรือไม่ดีเหมือนฉัน ฉันก็จะยกตนข่ม หรือดูถูกว่าเขาดีสู้ฉันไม่ได้ เป็นต้น
จิตชั้นนอกสุดนั้นมุ่งปรนเปรออัตตา ส่วนจิตชั้นที่สอง มุ่งขัดเกลาอัตตาให้ประณีตขึ้นหรือลดอัตตาให้เบาบาง จิตชั้นในสุด คือ สภาวะที่ไร้อัตตา หรือนำไปสู่การไร้ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา
       โพธิจิตเป็นธรรมชาติของจิตที่เราต้องรู้จัก เข้าถึง และ เปิดโอกาสให้แสดงตัว หรือเรียกอีกอย่างว่า หล่อเลี้ยงบ่มเพาะ ก็ได้ เหมือนกับรดน้ำจนเมล็ดแตกเป็นต้นกล้า และจากต้นกล้ากลายเป็นไม้ใหญ่ ที่แผ่ร่มเงา ให้ความสงบเย็น
       โพธิจิตสามารถเบ่งบานเติบใหญ่ได้มิใช่จากการปลีกตัวหลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันและทำงานอย่างมีสติ ตื่นรู้ และรู้เท่าทัน
      เวลาอัตตาเข้ามาครอบงำใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” (เช่น บ้าน “ของกู” งาน “ของกู”) แต่ทำด้วยปัญญาและอุตสาหะ อย่างถูกต้องชอบธรรมและตรงตามความเป็นจริง (ส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย) พูดอีกอย่างคือทำเต็มที่ด้วยใจปล่อยวาง เพราะตระหนักว่า “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”
        “จิตวิวัฒน์” คือการพัฒนาจิตชั้นที่สองและสาม คือมโนธรรมและโพธิจิตให้เจริญงอกงาม จนสามารถบันดาลใจให้เกิดความสุข ตลอดจนขับเคลื่อนชีวิตและการทำงานให้เป็นไปในทางที่ดีงาม จนบรรลุถึงคุณค่าสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเกิดมาในโลกนี้ นั่นคือเข้าถึงอิสรภาพและความสงบเย็น ชนิดที่ความผันผวนปรวนแปรในโลกมิอาจแผ้วพานได้ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความล้มเหลว ความพลัดพราก ความเจ็บ หรือความตายก็ตาม
ธรรมทานจาก  http://visalo.org


วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อาหารของดวงใจ

ราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้ กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความสำราญอย่างอื่นที่ไหนอีก นอกจากความสำราญทางกายและเมื่อกายสำราญแล้ว ใจก็สำราญเอง คนพวกนี้ ไม่ฟังธรรม หรือ ศึกษาธรรม และ ไม่ไหว้พระสงฆ์ ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.

อาหารของดวงใจ

โดย พุทธทาสภิกขุ 

 

       ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมณ์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายโลก ความอิ่มเอิบด้วยปีติและปราโมชอันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายธรรม. อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุด แห่งอารยธรรมทั้งฝ่ายโลก และฝ่ายธรรม เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียว.
      เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้ กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความสำราญอย่างอื่นที่ไหนอีก นอกจากความสำราญทางกายและเมื่อกายสำราญแล้ว ใจก็สำราญเอง คนพวกนี้ ไม่ฟังธรรม หรือ ศึกษาธรรม และ ไม่ไหว้พระสงฆ์ ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.
      ความสำราญทางกาย หรือฝ่ายโลกนั้น ต้อง"ดื่ม" หรือ ต้อง"กิน" อยู่เสมอ จึงจะสำราญ แต่ที่แท้ มันเป็นเพียง การระงับ หรือ กลบเกลื่อนความหิวไว้ทุกชั่วคราวที่หิวเท่านั้น ส่วนความสำราญฝ่ายใจหรือฝ่ายธรรมนั้น ไม่ต้องดื่มไม่ต้องกิน ก็สำราญอยู่เอง เพราะมันไม่มีความหิว ไม่ต้องดื่มกิน เพื่อแก้หิว ที่กล่าวนี้ ผู้ที่นิยม ความสำราญทางกาย อย่างเดียว อาจฟังไม่เข้าใจก็ได้ แต่อย่าเพ่อ เบื่อหน่าย ขอให้ทนอ่าน สืบไปอีกหน่อยพวกที่นิยม ความสำราญกาย ในทางโลก กล่าวว่า "ใจอยู่ในกาย" แต่พวกนิยม ความสำราญใจ ในทางธรรม กล่าวว่า "กายอยู่ในใจ"พวกแรก รู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลัง อยู่ในโลกนานพอจนรู้จักโลกดี ทั้งสองซีกแล้ว ขณะเมื่อ พวกที่ชอบสำราญกาย กำลังปรนเปรอให้เหยื่อแก่ความหิวของเขาอย่างเต็มที่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจ กำลังเอาชนะ ความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์จนมันดับสนิท สงบอยู่ภายใต้อำนาจของเขาเองพวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการให้ "สิ่งสนองความอยาก" แก่ความหิวของเขาว่า เป็นความสำราญ
      พวกหลัง เอาคุณภาพของการที่ยิ่งไม่ต้องให้สิ่งสนองความอยาก เท่าใดยิ่งดี ว่าเป็นความสำราญพวกหนึ่ง ยิ่งแพ้ตัณหา มากเท่าใดยิ่งดี อีกพวหนึ่งยิ่งชนะมาก เท่าใด ยิ่งดี !พวกที่ชอบสำราญกาย ย่อมจะแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว ทำเอง และ ชักชวนลูกหลาน ให้หาความสำราญกายอย่างเดียว เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่น นอกจากนั้น ครั้นได้ เครื่องสำราญกายมา ใจก็ไม่สงบสุข เพราะ มันยังอยาก ของแปลก ของใหม่ อยู่เสมอไป (ได้เพียงความสำราญ ชั่วแล่น เหมือนกินข้าว มื้อหนึ่ง ก็สงบหิว ไปได้ชั่วมื้อหนึ่ง) เมื่อความหม่นหมองใจ เกิดขึ้น ก็คิดเอาว่า
       ตนเป็นคนมีกรรมหรือโชคร้ายไม่เหมือนคนอื่นเขา เมื่อต้องเจ็บป่วยตามธรรมดาของสังขาร ก็น้อยใจโชคของตัว อย่างหาที่เปรียบมิได้ ยิ่งเมื่อแสวงหาโชค โดยทางใด ก็ไม่ได้เสียเลยแล้ว ก็เลยเห็นไปว่า ในโลกนี้ ไม่มีความยุติธรรม มีแต่ความดุร้าย คนชนิดนี้ ในที่สุด ก็มอบตัวให้แก่ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ประกอบกรรมชนิดที่โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้สิ่งที่เรียกว่า โชคชะตาไป แม้อย่างดีที่สุด คนพวกนี้ จะทำได้ ก็เพียง แต่ เป็นผู้ทนระทมทุกข์ อยู่ด้วย การแช่งด่า โชคชะตาของตัวเอง เท่านั้น ในสโมสร หรือสมาคม ของพวกที่แสวง ความสำราญทางกาย ซึ่งกำลังร่าเริงกันอยู่นั้น พวกเทพยดา ย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละครย้อมสีหน้าก็มี หลงทำไป
       ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเอง ให้เห็นว่า เก๋ ว่าสุข ก็มาก บางคนต้องร้องไห้ และหัวเราะสลับกันทุกๆ วัน วันละ หลายครั้ง จิตใจฟูขึ้น แล้วเหี่ยวห่อลง, ขึ้นๆ ลงๆ ตามที่กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกปากและไม่ถูกปาก ใจของพวกนี้ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอเท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่า ใจอยู่ในกายคือแล้วแต่กาย หรือสำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้องต่อเมื่อ เขาได้รับความสำราญกาย เต็มที่แล้ว ต่างหาก ใจของพวกเขา จึงเป็น อย่างที่เขา เรียกว่า "สุข" แม้คนพวกนี้จะพูดว่า ความสำราญใจ ! ความสำราญใจ !!" อยู่บ้าง ก็เป็นเพียง การหลงเอา ความสำราญฝ่ายกาย ขึ้นมาแทน เท่านั้น จะสำราญใจ ได้อย่างไร ในเมื่อใจ ถูกทำให้พองขึ้น ยุบลง เสมอ ความพองขึ้น หรือยุบลง ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจ ให้เหน็ดเหนื่อย เท่ากัน เพียงแต่เป็น รุปร่างที่ต่างกัน เท่านั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ และความเพลิดเพลิน ทำให้พองเบ่ง เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกสบประมาท และหาความ เพลิดเพลิน มิได้ ทำให้ยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่าง ทำความหวั่นไหว โยกโคลง ให้เท่ากัน อย่างเด็ดขาด เมื่อเขาได้ สมใจอยาก เขาก็ได้ ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ ก็ได้ความหวั่นไหว เมื่อมืดมน หนักเข้า ก็แน่ใจลงเสียว่า ความอร่อย หรือ ขณะที่อร่อย นั่นแหละเป็น "พระนิพพาน" ของชีวิต แต่เมื่อคิดดู เราพอจะเห็นได้ว่า นั่นยังไม่ได้ ถอยห่าง ออกมาจาก กองทุกข์ แม้แต่นิดเดียว, มันเป็นเพียง ความสำคัญผิด เท่านั้น และ เป็นความสำคัญผิด ที่จะมัดตรึง ตัวเอง ให้ติดจม อยู่กับบ่อโคลน นั่นตลอดเวลาเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นได้สืบไปว่า การสำราญทางฝ่ายโลก หรือจะเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายกาย หรือวัตถุ นั้น คืออะไร และเมื่อได้ หมกมุ่นมัว แต่แสวงอาหาร ให้กาย ท่าเดียว แล้วจะเป็นอย่างไร หรือ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ารู้จักความสุข เฉพาะในด้านนี้ ด้านเดียว แล้ว ก็จะรู้จักโลกเพียงซีกเดียว อย่างไร และยิ่งกว่านั้น คนที่รู้จักโลก เพียงซีกหนึ่งเช่นนี้ หาอาจทำ อารมณ์เหล่านี้ ให้เป็น เครื่องอำนวยความสะดวก หรือ ความเพลิน แก่เขาได้ เช่นเดียวกับ ผู้ที่เข้าใจโลกดี ทั้งสองซีกไม่; เพราะ ต้องตกเป็นทาส ของความมัวเมา รื้อไม่สร่าง บูชามันให้เป็น สิ่งสูงสุด กว่าสิ่งใดอยู่เสมอส่วนผู้ที่รู้จักโลก ดีแล้วนั้น ย่อมบูชา ความสำราญทางธรรม หรือ ฝ่ายใจอันแท้จริง เป็นส่วนสำคัญ และถือเอาส่วนกาย หรือวัตถุ เป็นเพียง เครื่องอำนวยความสะดวก ในฐานเป็นคนใช้ สำหรับรับใช้ ในการแสวงหา ความสำราญ ทางฝ่ายจิต เท่านั้น พวกนี้จึงมีอุดมคติว่า"กายอยู่ในใจ" คือแล้วแต่ใจ กายเป็นของนิดเดียว, และอาศัยใจ ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาด และคุณภาพสูงสุด อยู่ทุกๆประการ และทุกๆเวลา "แสวงหาอาหาร ให้ดวงใจดีกว่า ! "ความเจริญงอกงามของดวงใจ นั้น ยังไปได้ไกลอีกมากมายนัก คือกว่าจะถึงพระนิพพาน เมื่อไร นั่นแหละ จึงจะหมด ขีดของทางไป แล้วมีอุดมสันติสุขอยู่ตลอด อนันตกาล ส่วนความเจริญทางกายนั้น ไม่มีทางไปอีกต่อไป สูงสุดอยู่ได้เพียงแค่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์ทางใจ บางอย่าง เช่น ยศศักดิ์ เท่านั้น แต่ไม่มีใคร เคยทำให้เกิด ความอิ่ม ความพอใจ ในเรื่องนี้เลย แม้ในอดีต, ในปัจจุบัน และ อนาคต. เพราะว่า การแสวงหาทางฝ่ายนี้ ต้องการ "ความไม่รู้จักพอ" นั่นเอง เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสียเมื่อใด ก็หมดสนุก ! ใครจะขวขวายอย่างไร ก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่า "การสยบซบซึมอยู่ ท่ามกลางกองเพลิง แห่งความถูกปลุกเร้าของตัณหา" ซึ่งเมื่อใดม่อยหรี่ลง ก็จะต้องหาเชื้อเพลิงเพิ่มให้ใหม่อีก และไม่มีเวลาพอ เช่นเดียวกับ ไฟธรรมดา กับ เชื้อเพลิงธรรมดา เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การแสวงหาอาหารทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจ จึงเป็นสิ่งที่มีค่า น่าทำกว่า, เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติที่สูงกว่า, ทำยาก หรือ น่าสรรเสริญกว่า, หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่า โดยทุกๆ ปริยาย.

       การแสวงความสำราญทางฝ่ายกาย เป็นต้นเหตุแห่งสงคราม, การแสดงความสำราญฝ่ายจิต เป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพ.ถ้าชาวโลก ยังบูชาลัทธิวัตถุนิยม มัวแสวงแต่ ความสำราญทางกาย อย่างเดียว อยู่เพียงใด ก็ไม่มีหวังในสันติภาพ แม้จะเปิด สภาสันนิบาตชาติ ขึ้นอีกสัก ๑๐ สันนิบาต ก็ตาม นักวัตถุนิยม เห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละ ได้ทุกอย่าง เพื่อให้กาย หรือโลกของตน อิ่มหมีพีมัน ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอา ความสงบ เยือกเย็น ของจิต. ผู้แสวงความสำราญ ทางกาย นั้น การแสวง ของเขา จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องกระทบ กับผู้อื่น เพราะความสำราญกาย นี้ เป็นของเนื่องด้วยผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ เมื่อความเห็นแก่ตัวมีอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงครามก็คือ การปะทะของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัวเพื่อความสำราญทางกายนั่นเอง สงครามโลกซึ่งเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวของคนหลายชาติรวมกันก็ไม่ต่างอะไรกัน อีก ส่วนการแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่งใครเลย แม้แต่น้อย, เพราะเหตุว่า มีอะไรๆ ให้แสวง อยู่ในตน ผู้เดียวเสร็จ ไม่ต้อง
เนื่องด้วยผู้อื่น การสงคราม ไม่สามารถ เกิดจาก ผู้แสวงสุขทางจิต! เช่นเดียวกับที่ไฟไม่สามารถ เกิดจากความเย็น.การแสวงหาอาหาร ทางฝ่ายกาย ง่ายหรือตื้น และ เป็น ต้นเหตุ แห่งสงคราม การแสวงหาอาหารของดวงใจ ยากและลึก และเป็นต้นเหตุของสันติภาพ ดัง
กล่าวมาแล้ว. 

      แต่มนุษย์ในโลกนี้ ส่วนมาก ปล่อยตนไปตามสัญชาตญาณ หรือธรรมดาฝ่ายต่ำมากเกินไป จึงเท่าที่เราเห็นกัน จึงมีแต่ ผู้ถือลัทธิวัตถุนิยม ยิ่งนานเข้าเท่าใด วิธีการแสวงหา อาหารของดวงใจ ก็ยิ่งลบเลือน หายไปจาก ความทรงจำ และ ความเอาใจใส่ ของมนุษย์ มากขึ้น เพียงนั้น ในที่สุด ก็ไม่มีอะไรเหลือ อยู่ในมันสมองของมนุษย์ นอกจากความเห็นแก่ตัว และนั่นคือ สมัยที่ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลกข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ผู้แสวงหาสุขทางใจ มีอยู่เพียงกี่คน ก็ตาม ก็เป็นเหมือน ลูกตุ้ม ที่ถ่วงโลกไว้ มิให้หมุนไป ถึงยุคไฟประลัยกัลป์ เร็วเกินไปเพียงนั้น"เรายอมรับว่า เป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่า เป็นลูกตุ้ม ที่ถ่วง ไม่ให้ พวกท่านวิ่งเข้าไปสู่กองไฟ เร็วเกินไป ถ้าพวกข้าพเจ้า จะพลอยเป็น อย่างท่าน ไปด้วย เชื่อแน่ว่า โลกคงจะแตกดับ เร็วกว่า ที่พวกข้าพเจ้า จะแยกเป็นอยู่ เช่นนี้" นี่เป็นคำ ซึ่ง พวกแสวงสุขทางฝ่ายจิต ควรจะพูดได้โดยชอบธรรม !พระพุทธองค์ ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมผู้แสวงสุขทางใจ เพียงพระองค์เดียว และสมัยเดียว ก็ชื่อว่าเป็น โลกนาถ ที่พึ่งของโลก หลายสมัย เพราะว่า อิทธพล แห่งธรรม ที่พระองค์ ทรงเปิดเผยขึ้นนั้น ได้ถ่วงให้โลก ที่กำลังหมุนไปหา ความแตกดับ หมุนไปช้าเข้า มากกว่ามากนัก เมื่อหมุนไปช้า เช่นนี้ คนทั้งโลก แม้ที่สุด แต่ คนที่ไม่เคย ได้ยินชื่อ ของพระองค์ ก็พลอยมีส่วน ได้รับความสุขด้วย แต่เมื่อโลก ละทิ้ง การแสวงหา อาหารทางใจ มารับเอา อาหารทางกาย มากขึ้นเช่นนี้ พระพุทธองค์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะโลกเป็นฝ่ายที่ทิ้งพระพุทธองค์พุทธบริษัททุกคน ยังภักดีต่อ การแสวงหาความสุขทางใจ กันอยู่ นับว่า ตระกูลของพระองค์ ยังไม่ขาดทายาท เสียทีเดียว และจะยังเป็นเหมือน ลูกตุ้มน้อยๆ ที่เหลืออยู่เพื่อตัวเองและโลกด้วย, ทั้งขณะที่พวกอื่นเขาอาจกำลังเกลียดพวกนี้อยู่.
      พุทธบริษัท คงต้องถือว่า กายอยู่ในใจ, อาหารทางใจ สำคัญกว่า อาหารทางกาย และยังคงต้องภักดี ต่อลัทธิ แสวงสุขทางใจ อยู่เสมอ. การเป็นพุทธบริษัทแต่ปากนั้น ไม่ทำให้เป็น พุทธบริษัท ได้เลย พุทธบริษัทที่แท้ เป็นนักนิยมวัตถุ หรือ ถือลัทธิหลงชาติ ไปไม่ได้ พุทธบริษัทที่ขวางๆ รีๆ นั่นยิ่งจะร้ายไปกว่า ผู้ที่มิได้เป็นพุทธบริษัท เมื่อเกิด "มิคสัญญี" พุทธบริษัท ที่แท้จริง เท่านั้น ที่จะเป็นผู้เหลืออยู่ แม้นี้ก็เป็น อานิสงฆ์ แห่งการนิยม อาหารของดวงใจเมื่อได้พร่ำ กล่าวถึงความดีของอาหารทางดวงใจมามากแล้ว กระทั่งในแง่การเมืองเป็นที่สุด จึงต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงลักษณะของอาหารทางใจโดยตรงบ้าง,ให้ควรกัน.คำสองคำซึ่งใครๆ ก็เคยได้ยินมีอยู่ว่า โลก กะ ธรรม โลก กับธรรม จะเป็น อันเดียวกัน ไม่ได้. 
      โดยที่โลกเป็นฝ่ายนิยมวัตถุ, ธรรมเป็นฝ่ายนิยม "ความเป็นอิสระ เหนือวัตถุ" และ"ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ นี่เอง คือ อาหารของดวงใจ"กายต้องการอาหารทางฝ่ายโลก, ใจต้องการอาหารฝ่ายธรรม, ผู้ที่เห็นว่า ใจเป็นใหญ่ จนถึงกับเป็นที่อิงอาศัยของกาย ย่อมแสวงหาอาหารให้กายเพียงเพื่อสักว่าให้มันเป็นอยู่ได้ (ยาปนมัตต์) เท่านั้น นอกนั้นใช้แสวงเพื่อใจอย่างเดียวอันความเป็นอิสระเหนือวัตถุนั้นเห็นได้ยาก ตรงที่ตามธรรมดาก็ไม่มีใครนึกว่า ตนได้ตกเป็นทาสของวัตถุ แต่อย่างใด ใครๆ ก็กำลังหาวัตถุมากินมาใช้มาประดับเกียรติยศของตน และบำเรอคนที่ตนรัก ทำให้เห็นไปว่า นั่นเป็นนาย มีอิสระเหนือวัตถุพอแล้ว เช่น มีเงินจะใช้มัน เมื่อไรก็ได้ ส่วน ความหม่นหมองใจ ที่เกิดขึ้นมากมายหลายประการ หามีใครคิดไม่ว่า นั่นเป็นอิทธพลของวัตถุที่มันครอบงำย่ำยีเล่นตามพอใจของมัน ดวงใจได้เสียความสงบเย็น ที่ควรจะได้ไปจนหมด ก็เพราะ ความโง่เง่าของตัวเอง, ที่ไปหลงบูชาวัตถุ จนกลายเป็นของมีพิษสงขึ้นมา ดวงใจ
       ที่แท้จริง ก็ไม่อาจฟักตัว เจริญงอกงาม ขึ้นมา เพราะ ขาดการบำรุง ด้วยอาหาร โดยที่เจ้าของไม่เคยคิดว่ามันต้องการอาหารเป็นพิเศษยิ่งกว่ากาย สัญชาตญาณ ทั้งหลาย ชวนกันขึ้นนั่งบัลลังก์บัญชาการเต็มที่ ออกคำสั่งทับถมดวงใจที่แท้จริง หรือธรรมชาติฝ่ายสูง ที่เป็นชั้นปรมัตถธรรม จนไม่ปรากฏ สาละวนแต่ แสวงหาอาหาร ตามอำนาจฝ่ายต่ำ หรือที่เรียก ในที่นี้ว่า กาย (โวหารธรรม) เมื่อใจขาดอาหาร แม้แต่ที่เป็นเบื้องต้น เช่นนี้แล้ว ก็ไม่งอกงาม พอที่จะแจ่มใส ส่องแสง ให้ผู้นั้นมองเห็น และถืออุดมคติ แห่งความสุขทางใจได้ ชีวิตก็เป็นของมืดมน ต้องร้องไห้ ทั้งที่ ไม่รู้เห็นว่า มีอะไรมาทำเอาเมื่อเด็กๆ ที่เกิดมาในโลก ไม่อาจสำนึก ในปริยายนี้ ได้ด้วยตนเอง เช่นนี้แล้ว การศึกษาธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยได้ในเบื้องต้น การศึกษาธรรม ทางฝ่ายหลักวิชา จึงเป็น อาหารของดวงใจ ในขั้นแรก และขั้นกลาง ก็คือ การย่อยหลักวิชาๆ นั้น ออกด้วย มันสมอง ของตนเอง ได้ความรู้ ความแจ่มแจ้ง ความโปร่งใส เยือกเย็น อะไรมา นั่นเป็น อาหารชั้นปลาย ส่งเสริมกัน สืบไปให้เจริญ จนสามารถ ทำพระนิพพาน ให้ปรากฏ จึงจะนับว่าถึงที่สุดปริยัติธรรม หรือ ธรรมในส่วนหลักวิชานั้น ช่วยได้โดยเป็น เครื่องสะกิดใจ ให้รู้สึก ในเบื้องต้นว่า เรามีกายสองซีก คือ ซีกรูปกาย และธรรมกาย รูปกาย เจริญได้เองด้วยการมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยข้าวปลาอาหาร ส่วนธรรมกายนั้น มี กาย วาจา ใจ ที่สุจริตผ่องใส เป็นที่ตั้งที่ปรากฏ, มีผลของความสุจริต เป็นอาหาร ที่จะบำรุง ให้เติบโต สืบไป และทำให้เรา รู้สึกสืบไป เป็นลำดับว่า ถ้าบำรุงแต่รูปกาย อย่างเดียว มันก็จะอ้วนดี แต่ซีกเดียว อีกซีกหนึ่ง ซึ่งเป็นซีกใน จะเหี่ยวแห้งอยู่ ผลที่ได้ ก็คือ ร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ใจเต็มไปด้วย ความหม่นหมอง เมื่อยังเด็ก ความหม่นหมอง มิปรากฏนัก ก็เพราะยังเป็น ผู้ที่ผู้อื่นเลี้ยงดูให้ และ กายก็ยัง มิได้ขยายตัวเต็มที่ จนสามารถ ทำความรู้สึกได้สุดขีด ทุกๆ อินทรีย์ (คือเต็มที่ ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ครั้นเมื่อ กายเจริญเต็มที่เข้า ความหม่นหมอง ก็เกิดมากขึ้น เพราะยิ่งขาดดุลยภาพ (ของความที่ รูปกาย และ ธรรมกาย จะต้องมี ความเจริญคู่เคียง สม่ำเสมอกันไป จึงความหม่นหมอง จะไม่อาจเกิด) นั่นเอง สรุปความว่า ปริยัติธรรม ช่วยให้เราทราบว่า เราจะต้องประพฤติธรรม เช่นนั้นเช่นนี้ เพื่อธรรมกายของเรา มิฉะนั้น เราตายด้านไปซีกหนึ่ง, เมื่อเรารู้ ปริยัติธรรม พอสมควรแล้ว เราก็ได้ อาหารของดวงใจ ในส่วนหลักวิชาและ ภาคพื้น ของการปฏิบัติ สัมมาทิฎฐิ หรือ รุ่งอรุณ ได้ปรากฏแก่เราแล้ว เป็นแรกเริ่มปฏิบัติธรรม หรือ ธรรมคือตัวการปฏิบัตินั้น เป็นการทรมานอินทรีย์ (sense) เพื่อเอาชนะอินทรีย์, ชนะได้เท่าใด ความเยือกเย็น พร้อมทั้ง ความรู้แจ้ง ก็เกิดขึ้น เท่านั้น ความเยือกเย็น เกิดจาก ความที่ อินทรีย์ สงบรำงับลง ความเห็นแจ้ง ความจริงในตัวเอง ปรากฏเพราะ ไม่ถูกม่าน แห่งความ กลัดกลุ้ม ของอินทรีย์ ปิดบังไว้ เช่นแต่ก่อน วิธีเอาชนะ อินทรีย์ ตามหลัก แห่งพุทธศาสนา ได้แก่ การบังคับตัวเอง ให้งดเว้นจากสิ่งชั่ว, บังคับตัวเอง ให้ทำ แต่สิ่งที่ดี เข้าแทน และต่อจากนั้น พยายามหาวิธี ชำระจิต ให้เป็นอิสระ จากความหม่นหมอง ทั้งที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายๆ และที่นอนนิ่ง เงียบๆ อยู่ในสันดาน อันเป็นเหมือน เชื้อ ที่ก่อเกิด ของอย่างแรก หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การบังคับกาย และ วาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า ศีล, บังคับจิต ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า สมาธิ, และใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว คือ ค้นหาความจริง ที่ยาก ที่ลึก จนปรากฏ แจ่มแจ้ง เรียกว่า ปัญญา, การบังคับหรือ ควบคุมอินทรีย์ เช่นนี้ ทำให้ดวงใจ ได้รับ ความสะบักสะบอม น้อยลง วัตถุ หรือ อารมณ์ ทั้งหลาย มีพิษสง น้อยเข้า หรือ หมดไป เพราะ ค่าที่เรา สามารถบังคับ ตัวเอง ไว้ในภาวะ ที่จะ ไม่หลงใหลไป ตามทั้งใน ทางชอบ และ ทางชัง เมื่อใจเรา ได้รับความ พักผ่อน อย่างผาสุก เนื่องจาก การบังคับอินทรีย์ ของเรา เช่นนี้แล้ว เราก็ได้ อาหารของดวงใจ ในส่วนของการปฏิบัติ, อันจะเป็น อุปกรณ์ ให้ได้รับ อาหารชั้นสูงสุด สืบไปปฏิเวธธรรม หรือ ธรรมในส่วน การรู้แจ้ง แทงตลอดในสิ่งที่เคยหลงใหล ไม่รู้เท่าทันมาก่อน เป็นความรู้ชนิดที่จะตัดรากความหม่นหมองของดวงใจเสีย โดยประการทั้งปวง, เช่น ความสงสัย ความเข้าใจผิด หลงรัก หลงชัง ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เสียแล้ว ทำความแจ่มแจ้งใจ โปร่งใจ เยือกเย็นใจ ให้เกิดขึ้นแทน นี้เป็นผล ที่ปรากฏแก่ใจ สมจริง ตามที่เรียนรู้ ทางหลักวิชา โดยปริยัติ ซึ่งเป็นเพียง "การรู้อย่างคาดคะเน ด้วยเหตุผล ล่วงหน้าไปก่อน" การแทงตลอดนี้ หมายถึง การแทงตลอด ม่านอวิชชา คือ ความโง่หลง ซึ่งเป็นของเฉพาะตัว อย่างยิ่ง. น่าอัศจรรย์มาก ที่คนบ้าคลั่ง อาจรักษาโรค ของตนเอง ด้วยการฟัง วิธีรักษา มาจากผู้อื่น แล้วรักษาตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็น ค่อยไป จนหายได้ ในที่สุด! ช่างไม้หรือนักยันตรกรรม ที่ติดขัดในปัญหาขัดข้องบางอย่างในหน้าที่การงานของตน อาจผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ โดยการ พยายาม คิดค้น หาเอาเอง หรือ ถามท่านผู้รู้ แล้วมา แก้ไขไปเอง เมื่อพบเงื่อนถูก ผ่านไปได้ ก็ได้รับความสุขใจ ผู้ที่รู้ว่า ตนกำลังติดขัด ในปัญหาชีวิต (คือ ความที่ชีวิต ถูกกดถ่วง ด้วยความ หม่นหมอง อยู่เสมอ ตั้งแต่ ชนิดที่ หยาบที่สุด จนถึง ที่ละเอียดที่สุด) ก็ฉันนั้น, คือเมื่อได้คิดค้น ไปเองบ้าง ไต่ถามท่าน ผู้รู้ มาคิดค้น ไปบ้าง จนได้รับความแจ่มแจ้ง เบาโปร่ง ปรากฏกับใจเอง ก็เป็นสุข นักศิลปินที่แท้จริง เขาหาความสุข จากความพอใจ ตัวเอง ในการที่ ทำสิ่งที่ยากๆ ได้สำเร็จ มิใช่เพราะ พอใจในเงิน หรือ รางวัลที่จะได้รับ ซึ่งเป็นวิสัย ของ นักการค้า ในที่นี้จะ เห็นได้ว่า ความสุขที่เกิดจากความพอใจ หรือ ความรู้แจ้งนั้น เป็นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งนักการค้า หรือ ผู้นิยมวัตถุ จะเห็นเป็นความสุข ไปไม่ได้เลย ผลอันนี้คือ อาหารของดวงใจ ในส่วนปฏิเวธ, ซึ่งเมื่อ แทงตลอด ถึงที่สุด ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ ก็คือ การพบกันเข้ากับ พระนิพพาน และ การแทงตลอด ที่ถึงขีด ระยะหนึ่งๆ ข้างต้นๆ นั้น คือ มรรคผล ขั้นหนึ่งๆ ตามหลัก ที่ท่านกำหนดไว้เมื่อได้ อาหารทางใจ เป็นลำดับมา จนลุถึง พระนิพพาน เช่นนี้แล้ว ต่อจากนั้น ก็เป็น ใจที่มีรสของ พระนิพพาน เป็นอาหาร ศานติเป็น รสของพระนิพพาน ! และ ใจมีศานตินั้น เป็นอาหาร !! ศานติ ในที่นี้ หมายถึง ความเยือกเย็น ของพระนิพพาน หรือ สภาพอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพแห่ง ความว่างโปร่ง เป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งหลาย เหนือรูปธรรม นามธรรม เหนือกฏแห่งรูปธรรม และ นามธรรม ทั้งหมด และเป็นสิ่งที่ ใครจะกฏเกณฑ์อะไร ให้ไม่ได้เลยเมื่อเราอาบน้ำ เราได้รับความเย็นของน้ำ หรือ เพราะน้ำ, เมื่อใจลุถึง พระนิพพาน มันย่อมเยือกเย็น เพราะ ความเย็นของ พระนิพพานนั่นเอง ความเยือกเย็นอันนี้ เป็น ยอดอาหาร ชั้นพิเศษ ของดวงใจ ก็ความหม่นหมอง ต่างๆ ของดวงใจนั้น ถูกสลัดทิ้งเสียหมดแล้ว ตั้งแต่ได้รับอาหารขั้นปฏิเวธขั้นสูง มาบัดนี้ ได้รับความเยือกเย็น ของพระนิพพาน เข้าอีก จึงเป็นการยาก ที่จะกล่าว ให้เป็นที่เข้าใจ กันอย่างทั่วไปว่า รสชาติอันนี้ ในขณะนี้ จะเป็นอย่างไร ท่านจึงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่แม้แต่อยากพูดให้ฟัง ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร (Subjective) อย่าว่าแต่ รสชาติ ของพระนิพพานเลย แม้เพียงแต่ รสของวิเวก หรือ สมาธิขั้นต้นๆ ก็เป็นของยากที่จะอธิบายว่า มีรสชาติเป็นอย่างไรเสียแล้ว เพราะเป็นรสที่ต้องจัดเป็นรสแปลกใหม่อีกรสหนึ่ง จากบรรดารส ที่คนธรรมดา เราเคยรู้รสกันมาในวงแห่ง โลกิยารมณ์ ความจริง ตามธรรมดา สิ่งที่เรียกกันว่า รส นั้น เป็นของอธิบายยากมาก บางอย่าง ไม่มีทาง จะเทียบเคียง เสียเลย เช่น นาย ก. ไม่เคยกิน ของหวาน เลย นาย ข. ก็ไม่อาจที่จะ อธิบายให้ นาย ก. ทราบได้ว่า รสหวานนั้น เป็นอย่างไร จะว่า ตรงกันข้ามกับ ขม กับ เค็ม กับเปรี้ยว หรือ อะไรทุกอย่าง นาย ก. ก็ไม่อาจทายได้ว่า รสหวาน นั้นเป็นอย่างไร แม้ นาย ข. จะคิดค้นหา คำใดมาพูด ก็ไม่ได้  คงได้แต่ว่า หวานๆ อยู่อย่างเดิม นั่นเอง นี่คือ ความเป็น ปัจจัตตัง และ ความเป็น ของอธิบายให้ชัด ไม่ได้ ของรส ส่วนรสของ พระนิพพาน ก็ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ ยิ่งยากขึ้นไป กว่านั้น อีก
       หลายเท่านัก แม้ในทาง ที่จะให้เปรียบเทียบ หรือ คาดคะเน ก็เมื่อนาย ก. ไม่ควรจะดื้อเถียง นาย ข. ว่า รสหวานไม่มีในโลก, และ ทางที่ดีที่สุด นาย ก. ควรใช้ความพยายาม จนหาน้ำตาล มาชิมดูได้ ด้วยตน ก็จะรู้ว่า หวานเป็นอย่างไร ฉันใด ผู้ที่ยังไม่ถึงนิพพาน ก็ไม่ควรปฏิเสธ รสของนิพพาน. แต่ควร ตะเกียกตะกาย จนได้ชิมรสของพระนิพพาน ด้วยตนเองฉันนั้นก่อนแต่จะจบเรื่องนี้ อยากจะเล่านิทาน ฟังกันเล่น สักหน่อยหนึ่ง


เต่าตัวหนึ่ง
      เป็นสหาย กับ ปลาตัวหนึ่ง วันหนึ่งได้พบกัน ปลาถามว่า 

     "สหายเอ๋ย, ท่านไปที่ไหนเสียเป็นนาน?"
      "ไปเที่ยวบนบกมา" เต่าตอบ
      "บกเป็นอย่างไร?" ปลาถาม
      "อ๋อ บกงดงามมาก มีอะไรสวยๆ แปลกๆ ลมพัดเย็นสบาย มีอาหารดีเยอะ มีเสียงแปลกๆ ซึ่งเราไม่เคยได้ยิน ในที่นี้เลย"
      "ฉันไม่เข้าใจเลย สหายเอ๋ย บกนั้น อ่อนละมุน ให้ศรีษะของเราแหวกว่าย ไปได้สะดวกเช่นนี้หรือ?"
      "ไม่ใช่"
  
   "บกไหลเอ่อไปได้ตามร่อง เช่นนี้หรือ?"
      "ไม่ใช่"
      "บกเย็นชุ่ม ซึมซาบ เอิบอาบ เช่นนี้หรือ ?"
     "ไม่ใช่"
      "บกเป็นละลอก ริ้วๆ เมื่อถูกลมพัดหรือ ?"
       "ไม่ใช่"

     แม้ปลาจะตั้งคำถามมาอย่างไร คำตอบก็มีแต่ "ไม่ใช่" ทั้งนั้น ในที่สุด ปลาก็หมดศรัทธา ประณามเต่าว่า "สหายเอ๋ย ท่านโกหกเสียแล้ว เอาสิ่งที่ ไม่มีจริง เป็นจริง มากล่าว" แต่เต่าก็ ไม่รู้ที่จะตอบ สหายของตน อย่างไรดี
ในที่สุด ก็ได้แต่ ค่อยคลาน กลับขึ้นบกอีก เต่าได้เที่ยว ไปบนบก อีกใหม่, บนบก ซึ่งสหายของเขา ไม่เคยนึก และ ไม่ยอมเชื่อว่ามี ! เต่าได้เที่ยวไปวันแล้ววันเล่าๆ บนบก ซึ่ง สหายของเขา หาว่า เขาโกหก !
!

      นิทานเรื่องนี้ จะอาจเป็น เครื่องรองรับ ความเป็นปัจจัตตัง และ การพูดบรรยาย ไม่ได้ ของศานติ- อาหารของดวงใจ ชั้นพิเศษ ชั้นยอดสุด, ได้บ้างกระมัง, น้ำกับ บก ต่อติดกันอยู่ ห่างกัน เพียงชั่วเส้นริมน้ำ เส้นเล็กๆ ที่ริมสระเท่านั้น แต่ปลาก็ไม่อาจรู้ หรือแม้แต่คาดคะเนว่า บกเป็นอย่างไรได้เลย พระพุทธองค์ตรัสว่า โลก คือโอกะ หรือโอฆะ (แปลว่า น้ำ ทั้งสองศัพท์) สัตว์โลก ก็คือผู้ที่จมอยู่ในโลก หรือน้ำ นั่นเอง พระนิพพาน เป็นฝั่งเกาะที่รอดพ้น แต่น้อยคนนักที่จะว่ายออกไปถึงเกาะ ดุจพวกนกที่ติดบ่วงแล้ว น้อยตัวนักที่จะหลุดไปได้ ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ ของนายพราน ฉันใด ก็ฉันนั้น
      ผู้ที่ตกโลก หรือ จมโลก ก็คือ ผู้ที่รู้จักแต่โลก หรือ กามคุณ ซึ่งเรียก ในที่นี้ว่าอาหารของฝ่ายกาย หรือ โลกิยะนั่นเอง
       เมื่อรู้จัก แต่อย่างเดียว ก็ไม่ (หรือ มักจะไม่) เชื่อว่า บก หรือ โลกุตตระ มีอยู่ ณ ที่ใดอีก เช่นเดียวกับปลา ก็บัดนี้ การที่จะเดินทางไปสู่บกนั้น ผู้เดินต้องกิน "อาหารของดวงใจ" ดังที่กล่าวมาแล้ว การที่ ไม่ค่อยมีใครสนใจ
       ในเรื่องอาหารของดวงใจ ก็เพราะไม่เคยคิดที่จะเดินทางไปสู่ "บก"นั่นเอง !อาหารของดวงใจ มีหลายชั้นนัก เพราะฉะนั้น ย่อมจะมีผู้แสวง และ เสพได้ในชั้นต่างๆ บางชั้น เป็นธรรมดา เรารู้ในข้อนี้ได้ ก็โดยที่จะเห็นได้ว่า คนบางคน หาได้ตกโลก เต็มที่ เหมือนกับ บางคนไม่ เช่นเดียวกับ ถ้าเราจะมองดู ภาพสมมติ สักภาพหนึ่ง เป็น ภาพแห่ง ริมฝั่งทะเล เราเห็นคนบางพวก ตกน้ำ จมมิดอยู่ บางพวก ชูศีรษะ ร่อนขึ้นเหนือน้ำ ได้มองดูรอบๆ สังเกตหา ฝั่งบกอยู่ บางพวก มองเห็นฝั่งแล้ว บางพวก กำลังว่ายมุ่งเข้าฝั่ง บางพวก ใกล้ฝั่ง เข้ามามากแล้ว บางพวก ถึงที่ตื้น ยืนถึง เดินตะคุ่มๆ เข้ามาแล้ว บางพวก เดินท่อง เพียงแค่เข่า เข้ามาแล้ว บางพวก นั่งพักอย่างสบาย หรือ เที่ยวไป อย่างอิสระบนบก ! เราจะเป็นพวกไหน ย่อมไม่มีใครรู้ได้ เท่าตัวเราเอง !! เป็นของน่าคิด

      ที่สุดนี้ หวังว่า ตลอดเวลา ที่มนุษย์ยังคงได้รับรส ของพระพุทธวจนะ อยู่เพียงใด คงจะมีสักพวกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พวกบริโภค อาหารของฝ่ายกาย อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งจะเกิดความรู้สึกอึดอัด ในความซ้ำซาก และหมด "ทางไปในฝ่ายสูง" ของโลกิยาหาร หรือ ลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) แล้วเกิดความสนใจ ในคุณภาพอันสูงสุด ของ โลกุตตราหาร หยิบเอา ลัทธิมโนนิยม (Spiritualism) ขึ้นมาพิจารณาดูบ้าง ด้วยกิริยา อันเคารพ และแยบคาย เพราะ ยังมีทางไปอีกสูงมาก

ธรรมทานจาก http://www.buddhadasa.com