วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

สอน "อานาปานสติ" พัฒนาศักยภาพสมอง การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้

สอน "อานาปานสติ" พัฒนาศักยภาพสมอง
การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้



     อ่านข่าว ว่ามีการนำ อานาปานสติ มาใช้จัดการเรียนการสอนนักเรียน และการบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้ 
    ทั้งสองเรื่องสร้างความปลื้มปีติ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการนำธรรมไปเป็นทาน ขออนุโมทนาเรื่องราวมีดังต่อไปนี้

      มองในแง่การตลาดอาจคิดเช่นนั้นได้ แต่ถ้าโรงเรียนไม่ได้หวังสร้างกระแส และนำหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้อย่างจริงจัง ย่อมเกิดผลดีต่อเด็กตามมา
      กว่า 5 ปีของการนำวิธีสอนแบบ Mindfulness in Education หรืออานาปานสติ มาบูรณาการกับการเรียน เห็นผลลัพธ์จากเด็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนและชีวิต คงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการเป็นตัวจริงของโรงเรียนนานาชาติ ดิ อเมริกัน สคูล ออฟ แบงค็อก (The American School of Bangkok : ASB) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของรองผู้อำนวยการโรงเรียน "นิศานาถ ตะเวทิกุล"
     เธอเล่าว่าปัจจุบันปัญหาสังคมมีอยู่ทุกโรงเรียน การที่เด็กมาโรงเรียนแล้วไม่มีความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสมาธิเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเด็ก ดังนั้นหากโรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ต้องช่วยกันดูแลด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ เพื่อทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียน 
     อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีนักเรียน 44 ชาติผสมผสานกัน หากจะให้เน้นเรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งคงไม่ได้ "นิศานาถ" จึงเริ่มต้นด้วยการนำบทวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศทั้งนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ หรือประเทศแถบยุโรป ซึ่งมีการวิจัยมาแล้วว่า การจับลมหายใจช่วยให้สมองทำงานได้ดี มาเป็นตัวเชื่อมต่อทางความคิดให้นักเรียนเกิดความสนใจในการทำสมาธิ 
     "สิ่งที่เราไม่ทำเลยคือการบังคับ เพราะรู้ว่าถ้าบอกนักเรียนให้ต้องมานั่งสมาธิถือว่าจบเลย เขาจะต่อต้านทันที และไม่ยอมให้เราคุยกับเขาอีกแล้ว ซึ่งเด็กทุกคนของเราจะทำสมาธิ มากน้อยแตกต่างกัน บางคนที่ซนมาก นั่งนิ่งนานไม่ได้ ต้องให้เขานั่งเปิดตา หลายครั้งเราเน้นการเดินสมาธิ โดยประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่ด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ ให้สติอยู่ที่กาย จิตอยู่ที่ดนตรี"
      อานาปานสติจะนำไปใช้กับเด็กทุกระดับชั้น แต่แตกต่างตามช่วงวัย ตัวอย่างเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือระดับ Middle School โรงเรียนจะสอนเด็กเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายบวกกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่ค่อยเที่ยง แต่เมื่อเป็นระดับ High School จะมีวิชา Stress Management ซึ่งอยู่ในหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 
      "ไม่ใช่แค่การสอนให้เด็กจับลมหายใจ แต่เราต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า นักเรียนระดับโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะมีความเครียดมากกว่าเด็กเล็ก คือทำให้รู้ก่อนว่าความเครียดคืออะไร แล้วมีวิธีใดคลายความเครียด หลังจากนั้นจะสอดแทรกเรื่องลมหายใจเข้าไป หากเขาได้ทำแล้วรู้สึกนิ่งจะชอบเอง ซึ่งเมื่อเด็กชินกับการจับลมหายใจ จะสามารถนำไปใช้กับการสอบ และการอ่านหนังสือ"
      เป้าหมายของเธอคืออยากให้นักเรียนประสบความสำเร็จสูงสุด ทั้งด้านการเรียน และชีวิตส่วนตัว เพื่อจะได้เป็นบุคคลที่มีความสุขอย่างแท้จริง และมีความสำเร็จด้านการงานต่อไป หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิต 
     นอกจากนี้ "นิศานาถ" ยังบอกอีกว่าเร็วนี้ ๆ มีโอกาสเข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และในระยะต่อไปจะเข้าไปเรียนรู้เพื่อนำหลักสูตรของ มจร. ซึ่งมีหลักสูตรเฉพาะที่สอนคนนานาชาติมาผสมผสานกับหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อให้ได้หลักสูตรที่เหมาะสมกับนักเรียนนานาชาติ 
      ทั้งนี้ ด้วยจุดเด่นของโรงเรียนที่นำอานาปานสติมาใช้ในการเรียนการสอน ทั้งยังช่วยเสริมถึงการจัดตั้ง PGA International Preparatory Golf Academy ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.โดยเป็นที่รู้กันว่า ASB มีความโดดเด่นด้านกอล์ฟอยู่แล้วก่อนที่จะขยายมาสู่การเปิดโรงเรียนสอนกอล์ฟเต็มตัว การเปิดสอนลักษณะนี้ถือเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย "โทนี่ มีชัย" เป็นหนึ่งในผู้ร่วมดำเนินโครงการ
      โปรแกรมการสอนจะมีหลายรูปแบบ รับทั้งนักเรียนที่เรียนแบบพาร์ตไทม์และฟูลไทม์ ในส่วนของฟูลไทม์จะรับนักเรียนระดับชั้น ม.3-6 โดยช่วงเช้าเป็นการเรียนวิชาการตามปกติ ส่วนช่วงบ่ายจะเรียนเกี่ยวกับกอล์ฟโดยเฉพาะ เป็นโปรแกรมที่ฝึกให้เป็นนักกอล์ฟระดับโลก แต่ถ้านักเรียนไม่ได้เลือกเส้นทางนี้อาจเลือกเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพได้ 
   นอกจากนั้น โรงเรียนได้ติดต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีหลักสูตร Golf Management แล้วประมาณ 10 แห่ง เมื่อเด็กเรียนจบจากที่นี่สามารถไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยพันธมิตรได้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายนักเรียนรุ่นแรกแบบพาร์ตไทม์ 30 คน และฟูลไทม์ 12 คน ในเบื้องต้นจะเน้นตลาดนักเรียนจากมาเลเซียและสิงคโปร์
      "เรากล้าใช้คำว่า PGA เพราะว่าโค้ชของเราทั้งหมดเป็นสมาชิก PGA ตอนนี้มีนักเรียนมาดูโรงเรียนกันแล้ว ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ที่ผ่านมามีโค้ชระดับประเทศ และระดับโลกพาเด็กมาเรียนกับเรา เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะคนละแบบ เราก็จะนำอานาปานสติเข้าไปปรับให้เขาเกิดความสมดุล เพราะบางคนมีความทะเยอทะยานมาก หรือบางคนจิตไม่นิ่ง ซึ่งเมื่อเขาหาจุดสมดุลได้แล้วจะทำให้มองเกมได้ชัดเจนมาก" 
       ถึงตรงนี้ "นิศานาถ" กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีนักเรียนจากแคมปัสสุขุมวิท และบางนารวม 800 กว่าคน เปิดสอนชั้นอนุบาลถึง ม.6 ตั้งเป้ามีนักเรียนเพิ่มขึ้น 30% การคัดเลือกนักเรียนค่อนข้างละเอียด ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญ และยอมรับ Mindfulness in Education ด้วย
       "เราไม่ได้มองจำนวนนักเรียนเป็นสำคัญ แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่มีอยู่เป็นคนเก่ง และดีที่สุด ซึ่งเมื่อผู้ปกครอง และนักเรียนมีความสุขแล้ว เขาจะบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เราคิดว่าความจริงใจของเราจะทำให้ธุรกิจโตโดยธรรมชาติ และมั่นคง ถ้าคุณบอกว่าความสำเร็จคือการมีนักเรียนเป็นพันคน แต่ยังมีความเครียด และกลุ้มกับปัญหาถือว่าไม่สำเร็จ"
      "แต่ถ้าเรามาทำงานแล้วมีความสุข ให้นำความสุขนั้นมาช่วยพนักงาน และนักเรียน เพื่อให้พวกเขามีความสุข และประสบความสำเร็จได้ ก็จะส่งผลให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น และเติบโตตามมาเอง"
      อาจเพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีปัญหามากขึ้น จึงทำให้โรงเรียนนานาชาติสายเลือดไทยหลายแห่งเริ่มนำเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน
      บางโรงเรียนเห็นว่านี่เป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่าง และน่าจะเป็นจุดขายสำหรับดึงดูดผู้ปกครองในการเลือกสรรโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพให้กับบุตรหลาน

       และอีกเรื่องหนึ่งประโยชน์ของสมาธิ ในความก้าวหน้าของการแพทย์ คือ

 การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้
         วารสารทางการแพทย์แลนเซตรายงานว่า การบำบัดโดยการทำสมาธิแบบมีสติรู้ทันความคิด (Mindfulness-Based Cognitive Therapy) ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนหลายล้าน ในการบำบัดอาการจากโรคซึมเศร้าที่กำเริบขึ้นมาอีก
        นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบเปรียบเทียบการบำบัดด้วยวิธีนี้กับการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่ออาการกำเริบ และพบว่าการบำบัดแบบมีสติรู้ทันความคิดให้ผลออกมาดี และเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยเรียนรู้การตั้งสติและเข้าใจถึงความคิดด้านลบที่ผุดขึ้นมาในใจและหายไปได้

       หน่วยงานสาธารณสุขในอังกฤษและเวลส์รณรงค์ให้แพทย์เสนอการบำบัดวิธีนี้กับผู้ป่วย ขณะที่โดยปกติแพทย์มักจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ป่วยเป็นระยะเวลานานและมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก
      ในการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 212 คน ที่เสี่ยงจะมีอาการกำเริบ และบำบัดโดยวิธีที่เรียกว่าการมีสติรู้ทันความคิด ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ลดจำนวนยาลง ผู้ฝึกสอนให้กลุ่มตัวอย่างเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ให้ตระหนักถึงสัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าและวิธีรับมือเพื่อไม่ให้อาการกำเริบ
       นักวิจัยนำผลที่ได้ในกลุ่มตัวอย่างนี้ไปเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาเป็นระยะเวลา 2 ปี และพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบในทั้งสองกลุ่ม มีจำนวนพอ ๆ กัน แต่ผู้ที่บำบัดด้วยการฝึกมีสติรู้ทันความคิดหลายคนค่อย ๆ เลิกใช้ยาไปในที่สุด
      นักวิจัยชี้ว่าการบำบัดแบบการมีสติรู้ทันความคิด อาจเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับคนที่ไม่ต้องการหรือไม่ประสงค์จะกินยาไปนาน ๆ และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนนับล้าน ที่มีอาการโรคซึมเศร้ากำเริบและต้องใช้ยาเป็นประจำ
      ดร. เกว็น แอดส์เฮด จากราชสมาคมจิตแพทย์ บอกว่าผลการวิจัยนี้มีนัยสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามหาทางให้หายจากโรคและเป็นหลักฐานชี้ว่าการมีสติรู้ทันความคิดเป็นการบำบัดที่จิตแพทย์ควรจะต้องพิจารณาใช้เป็นทางเลือก แต่ ดร. แอดส์เฮดชี้ว่างานวิจัยไม่ได้เสนอว่าการบำบัดวิธีนี้สามารถนำไปใช้กับโรคซึมเศร้าได้ทุกประเภท และไม่ได้ระบุให้นำไปใช้แทนการบำบัดด้วยยาสำหรับคนที่มีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลหรือคนที่คิดฆ่าตัวตาย

http://www.prachachat.net/

บีบีซีไทย - BBC Thai
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น