วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

สอน "อานาปานสติ" พัฒนาศักยภาพสมอง การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้

สอน "อานาปานสติ" พัฒนาศักยภาพสมอง
การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้



     อ่านข่าว ว่ามีการนำ อานาปานสติ มาใช้จัดการเรียนการสอนนักเรียน และการบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้ 
    ทั้งสองเรื่องสร้างความปลื้มปีติ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการนำธรรมไปเป็นทาน ขออนุโมทนาเรื่องราวมีดังต่อไปนี้

      มองในแง่การตลาดอาจคิดเช่นนั้นได้ แต่ถ้าโรงเรียนไม่ได้หวังสร้างกระแส และนำหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้อย่างจริงจัง ย่อมเกิดผลดีต่อเด็กตามมา
      กว่า 5 ปีของการนำวิธีสอนแบบ Mindfulness in Education หรืออานาปานสติ มาบูรณาการกับการเรียน เห็นผลลัพธ์จากเด็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนและชีวิต คงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการเป็นตัวจริงของโรงเรียนนานาชาติ ดิ อเมริกัน สคูล ออฟ แบงค็อก (The American School of Bangkok : ASB) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของรองผู้อำนวยการโรงเรียน "นิศานาถ ตะเวทิกุล"
     เธอเล่าว่าปัจจุบันปัญหาสังคมมีอยู่ทุกโรงเรียน การที่เด็กมาโรงเรียนแล้วไม่มีความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสมาธิเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเด็ก ดังนั้นหากโรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ต้องช่วยกันดูแลด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ เพื่อทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียน 
     อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีนักเรียน 44 ชาติผสมผสานกัน หากจะให้เน้นเรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งคงไม่ได้ "นิศานาถ" จึงเริ่มต้นด้วยการนำบทวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศทั้งนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ หรือประเทศแถบยุโรป ซึ่งมีการวิจัยมาแล้วว่า การจับลมหายใจช่วยให้สมองทำงานได้ดี มาเป็นตัวเชื่อมต่อทางความคิดให้นักเรียนเกิดความสนใจในการทำสมาธิ 
     "สิ่งที่เราไม่ทำเลยคือการบังคับ เพราะรู้ว่าถ้าบอกนักเรียนให้ต้องมานั่งสมาธิถือว่าจบเลย เขาจะต่อต้านทันที และไม่ยอมให้เราคุยกับเขาอีกแล้ว ซึ่งเด็กทุกคนของเราจะทำสมาธิ มากน้อยแตกต่างกัน บางคนที่ซนมาก นั่งนิ่งนานไม่ได้ ต้องให้เขานั่งเปิดตา หลายครั้งเราเน้นการเดินสมาธิ โดยประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่ด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ ให้สติอยู่ที่กาย จิตอยู่ที่ดนตรี"
      อานาปานสติจะนำไปใช้กับเด็กทุกระดับชั้น แต่แตกต่างตามช่วงวัย ตัวอย่างเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือระดับ Middle School โรงเรียนจะสอนเด็กเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายบวกกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่ค่อยเที่ยง แต่เมื่อเป็นระดับ High School จะมีวิชา Stress Management ซึ่งอยู่ในหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 
      "ไม่ใช่แค่การสอนให้เด็กจับลมหายใจ แต่เราต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า นักเรียนระดับโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะมีความเครียดมากกว่าเด็กเล็ก คือทำให้รู้ก่อนว่าความเครียดคืออะไร แล้วมีวิธีใดคลายความเครียด หลังจากนั้นจะสอดแทรกเรื่องลมหายใจเข้าไป หากเขาได้ทำแล้วรู้สึกนิ่งจะชอบเอง ซึ่งเมื่อเด็กชินกับการจับลมหายใจ จะสามารถนำไปใช้กับการสอบ และการอ่านหนังสือ"
      เป้าหมายของเธอคืออยากให้นักเรียนประสบความสำเร็จสูงสุด ทั้งด้านการเรียน และชีวิตส่วนตัว เพื่อจะได้เป็นบุคคลที่มีความสุขอย่างแท้จริง และมีความสำเร็จด้านการงานต่อไป หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิต 
     นอกจากนี้ "นิศานาถ" ยังบอกอีกว่าเร็วนี้ ๆ มีโอกาสเข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และในระยะต่อไปจะเข้าไปเรียนรู้เพื่อนำหลักสูตรของ มจร. ซึ่งมีหลักสูตรเฉพาะที่สอนคนนานาชาติมาผสมผสานกับหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อให้ได้หลักสูตรที่เหมาะสมกับนักเรียนนานาชาติ 
      ทั้งนี้ ด้วยจุดเด่นของโรงเรียนที่นำอานาปานสติมาใช้ในการเรียนการสอน ทั้งยังช่วยเสริมถึงการจัดตั้ง PGA International Preparatory Golf Academy ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.โดยเป็นที่รู้กันว่า ASB มีความโดดเด่นด้านกอล์ฟอยู่แล้วก่อนที่จะขยายมาสู่การเปิดโรงเรียนสอนกอล์ฟเต็มตัว การเปิดสอนลักษณะนี้ถือเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย "โทนี่ มีชัย" เป็นหนึ่งในผู้ร่วมดำเนินโครงการ
      โปรแกรมการสอนจะมีหลายรูปแบบ รับทั้งนักเรียนที่เรียนแบบพาร์ตไทม์และฟูลไทม์ ในส่วนของฟูลไทม์จะรับนักเรียนระดับชั้น ม.3-6 โดยช่วงเช้าเป็นการเรียนวิชาการตามปกติ ส่วนช่วงบ่ายจะเรียนเกี่ยวกับกอล์ฟโดยเฉพาะ เป็นโปรแกรมที่ฝึกให้เป็นนักกอล์ฟระดับโลก แต่ถ้านักเรียนไม่ได้เลือกเส้นทางนี้อาจเลือกเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพได้ 
   นอกจากนั้น โรงเรียนได้ติดต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีหลักสูตร Golf Management แล้วประมาณ 10 แห่ง เมื่อเด็กเรียนจบจากที่นี่สามารถไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยพันธมิตรได้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายนักเรียนรุ่นแรกแบบพาร์ตไทม์ 30 คน และฟูลไทม์ 12 คน ในเบื้องต้นจะเน้นตลาดนักเรียนจากมาเลเซียและสิงคโปร์
      "เรากล้าใช้คำว่า PGA เพราะว่าโค้ชของเราทั้งหมดเป็นสมาชิก PGA ตอนนี้มีนักเรียนมาดูโรงเรียนกันแล้ว ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ที่ผ่านมามีโค้ชระดับประเทศ และระดับโลกพาเด็กมาเรียนกับเรา เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะคนละแบบ เราก็จะนำอานาปานสติเข้าไปปรับให้เขาเกิดความสมดุล เพราะบางคนมีความทะเยอทะยานมาก หรือบางคนจิตไม่นิ่ง ซึ่งเมื่อเขาหาจุดสมดุลได้แล้วจะทำให้มองเกมได้ชัดเจนมาก" 
       ถึงตรงนี้ "นิศานาถ" กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีนักเรียนจากแคมปัสสุขุมวิท และบางนารวม 800 กว่าคน เปิดสอนชั้นอนุบาลถึง ม.6 ตั้งเป้ามีนักเรียนเพิ่มขึ้น 30% การคัดเลือกนักเรียนค่อนข้างละเอียด ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญ และยอมรับ Mindfulness in Education ด้วย
       "เราไม่ได้มองจำนวนนักเรียนเป็นสำคัญ แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่มีอยู่เป็นคนเก่ง และดีที่สุด ซึ่งเมื่อผู้ปกครอง และนักเรียนมีความสุขแล้ว เขาจะบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เราคิดว่าความจริงใจของเราจะทำให้ธุรกิจโตโดยธรรมชาติ และมั่นคง ถ้าคุณบอกว่าความสำเร็จคือการมีนักเรียนเป็นพันคน แต่ยังมีความเครียด และกลุ้มกับปัญหาถือว่าไม่สำเร็จ"
      "แต่ถ้าเรามาทำงานแล้วมีความสุข ให้นำความสุขนั้นมาช่วยพนักงาน และนักเรียน เพื่อให้พวกเขามีความสุข และประสบความสำเร็จได้ ก็จะส่งผลให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น และเติบโตตามมาเอง"
      อาจเพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีปัญหามากขึ้น จึงทำให้โรงเรียนนานาชาติสายเลือดไทยหลายแห่งเริ่มนำเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน
      บางโรงเรียนเห็นว่านี่เป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่าง และน่าจะเป็นจุดขายสำหรับดึงดูดผู้ปกครองในการเลือกสรรโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพให้กับบุตรหลาน

       และอีกเรื่องหนึ่งประโยชน์ของสมาธิ ในความก้าวหน้าของการแพทย์ คือ

 การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้
         วารสารทางการแพทย์แลนเซตรายงานว่า การบำบัดโดยการทำสมาธิแบบมีสติรู้ทันความคิด (Mindfulness-Based Cognitive Therapy) ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนหลายล้าน ในการบำบัดอาการจากโรคซึมเศร้าที่กำเริบขึ้นมาอีก
        นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบเปรียบเทียบการบำบัดด้วยวิธีนี้กับการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่ออาการกำเริบ และพบว่าการบำบัดแบบมีสติรู้ทันความคิดให้ผลออกมาดี และเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยเรียนรู้การตั้งสติและเข้าใจถึงความคิดด้านลบที่ผุดขึ้นมาในใจและหายไปได้

       หน่วยงานสาธารณสุขในอังกฤษและเวลส์รณรงค์ให้แพทย์เสนอการบำบัดวิธีนี้กับผู้ป่วย ขณะที่โดยปกติแพทย์มักจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ป่วยเป็นระยะเวลานานและมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก
      ในการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 212 คน ที่เสี่ยงจะมีอาการกำเริบ และบำบัดโดยวิธีที่เรียกว่าการมีสติรู้ทันความคิด ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ลดจำนวนยาลง ผู้ฝึกสอนให้กลุ่มตัวอย่างเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ให้ตระหนักถึงสัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าและวิธีรับมือเพื่อไม่ให้อาการกำเริบ
       นักวิจัยนำผลที่ได้ในกลุ่มตัวอย่างนี้ไปเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาเป็นระยะเวลา 2 ปี และพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบในทั้งสองกลุ่ม มีจำนวนพอ ๆ กัน แต่ผู้ที่บำบัดด้วยการฝึกมีสติรู้ทันความคิดหลายคนค่อย ๆ เลิกใช้ยาไปในที่สุด
      นักวิจัยชี้ว่าการบำบัดแบบการมีสติรู้ทันความคิด อาจเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับคนที่ไม่ต้องการหรือไม่ประสงค์จะกินยาไปนาน ๆ และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนนับล้าน ที่มีอาการโรคซึมเศร้ากำเริบและต้องใช้ยาเป็นประจำ
      ดร. เกว็น แอดส์เฮด จากราชสมาคมจิตแพทย์ บอกว่าผลการวิจัยนี้มีนัยสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามหาทางให้หายจากโรคและเป็นหลักฐานชี้ว่าการมีสติรู้ทันความคิดเป็นการบำบัดที่จิตแพทย์ควรจะต้องพิจารณาใช้เป็นทางเลือก แต่ ดร. แอดส์เฮดชี้ว่างานวิจัยไม่ได้เสนอว่าการบำบัดวิธีนี้สามารถนำไปใช้กับโรคซึมเศร้าได้ทุกประเภท และไม่ได้ระบุให้นำไปใช้แทนการบำบัดด้วยยาสำหรับคนที่มีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลหรือคนที่คิดฆ่าตัวตาย

http://www.prachachat.net/

บีบีซีไทย - BBC Thai
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

ฤทธิ์-ปาฎิหาริย์ โดย พุทธทาสภิกขุ

พระศาสดา ทรมานคน บางคน ที่เข้าไปเผ้า พระองค์ ในที่ประชุมใหญ่ และพระองค์ ทรงบันดาล ด้วย อิทธาภิสังขาร เฉพาะผู้นั้น ให้เห็น หรือ ได้ยิน อย่างนี้ อย่างนั้น เพื่อทำลาย ทิฎฐิ หรือ มานะ บางอย่าง ของเขาเสีย        เมื่อผู้ที่ทำการต่อสู้กัน ต่างก็มีฤทธิ์ด้วยกัน นั่นย่อมแล้วแต่ อำนาจจิต ของใคร จะสูงกว่า หรือ มีกำลังแรงกว่า เมื่อผู้มีฤทธิ์ ฝ่ายหนึ่ง ได้บันดาล ให้ทุกๆ คนในที่นั้น เห็นภาพ อันน่ากลัว มาคุกคาม อยู่ตรงหน้า

ฤทธิ์-ปาฎิหาริย์

โดย พุทธทาสภิกขุ 
      เรื่องของฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ นับว่าเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ยังมัวอยู่มาก ในบรรดา เรื่องที่ยังมัวอยู่ หลายเรื่อง ด้วยกัน และดูเหมือน จะเป็นเพราะ ความที่มันเป็น เรื่องมัว นี่เอง ที่เป็นเหตุ ให้มีผู้สนใจ ในเรื่องนี้ อยู่เรื่อยๆ มาเป็นลำดับ อย่างไม่ขาดสาย และมากกว่า ที่ถ้ามันจะเป็น เรื่องที่กระจ่าง เสียว่า มันเป็นเรื่อง อะไรกันแน่ หมายความว่า ถ้าเราทราบดีว่า ฤทธิ์ คืออะไร และเป็นเรื่อง เหมาะสำหรับใคร โดยเฉพาะแล้ว เชื่อว่า จะทำให้มีผู้สนใจ เรื่องนี้ น้อยเข้า เป็นอันมาก        ท่านผู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ ไม่เคยปรากฏว่า ได้รับผล อัน"เด็ดขาดแท้จริง" อย่างไร จากฤทธิ์นั้น ทั้งทางวัตถุ และความสุขในส่วนใจ ฤทธิ์ เป็นเรื่องจริง สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า ฤทธิ์ คืออะไร และ ตนเป็นผู้ที่ ตกอยู่ใน ภูมิแห่งใจที่ต่ำ จนผู้มีฤทธิ์ จะออกอำนาจฤทธิ์ บังคับ เมื่อไรก็ได้ แต่สำหรับ ผู้มีฤทธิ์ หรือ ผู้ที่รู้เรื่องฤทธิ์ดี หรือมีกำลังใจ เข็มแข็ง เท่ากับ ผู้มีฤทธิ์ จะเห็นว่า ฤทธิ์นั้น เป็นเพียงเรื่อง "เล่นตลก" ชนิดหนึ่ง เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ แยบคายมาก ลึกซึ้งมาก        พระพุทธองค์ ทรงสะอิดสะเอียน ในเมื่อจะต้องมีการแสดงฤทธิ์ เว้นแต่ จะเป็น การจำเป็น จริงๆ ทรงห้าม พระสาวก ไม่ให้แสดงฤทธิ์ พระองค์เอง ก็ตรัสไว้ใน เกวัฎฎสูตร๑ ว่า พระองค์เอง ก็ไม่พอพระทัย ที่จะทรมานใคร ด้วยอิทธิปาฎิหาริย์ และ อาเทศนาปาฎิหาริย์ เพราะมันพ้องกันกับ วิชากลางบ้าน ซึ่งพวกนักเลงโต ในสมัยนั้น เล่นกันอยู่ เรียกว่า วิชาคันธารี และมนต์มณิกา พระองค์ พอพระทัยที่สุด ที่จะใช้ อนุสาสนีปาฎิหาริย์ คือ การพูดสั่งสอนกัน ด้วยเหตุผล ที่ผู้ฟังจะตรองเห็นตามได้เอง อันเป็น การทรมาน ที่ได้ผลเด็ดขาด ดีกว่าฤทธิ์ ซึ่งเป็นของชั่วขณะ อันจะต้องหาวิธีทำให้ มั่นคง ด้วยการสั่งสอน ที่มีเหตุผล อีกต่อหนึ่ง ในภายหลัง        แต่ถึงแม้ว่า ฤทธิ์จะเป็น เรื่องหลอกลวงตา อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่อง ที่น่าสนใจอยู่บ้าง เพราะมันเป็นสิ่งที่ท่านผู้มีฤทธิ์ เคยใช้ต่อต้าน หรือ ทำลายอุปสรรค ของท่านสำเร็จมาแล้ว เป็นอันมากเหมือนกัน เมื่อเราปวดท้อง เพราะอาหารเน่าบูดในท้อง ยาขนานแรก ที่เราต้องกิน ก็คือ ยาร้อน เพื่อระงับความปวด ให้หายไปเสียขณะหนึ่งก่อน แล้วจึง กินยาระบาย ถ่ายของบูดเน่าเหล่านั้นออก อันเป็นการแก้ให้หายเด็ดขาด ในภายหลัง ทั้งที่ ยาแก้ปวดท้อง เป็นเพียง แก้ปวดชั่วคราว ไม่ได้แก้ สมุฎฐาน ของโรค มันก็เป็น ยาที่มีประโยชน์ อยู่เหมือนกัน ในเมื่อเรารู้จักใช้ เปรียบกันได้กับ เรื่องฤทธิ์ อันท่านใช้ ทรมานใคร ในเบื้องต้น แล้ววทำให้มั่นคง ด้วยปัญญา หรือ เหตุผลในภายหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น        แต่ถ้าไม่มีการทำให้มั่นคง ด้วยเหตุผล ที่เป็นปัจจัตตะ หรือ สันทิฎฐิโก ในภายหลัง ผลที่ได้มักไม่สมใจ เช่นเดียวกับ กินเพียง ยาระงับ ความเจ็บปวด อย่างเดียว แต่หาได้ ถ่ายโทษร้าย นั้นออกเสียไม่ มันก็กลับเจ็บอีก หรือ กลายเป็นโทษร้าย อย่างอื่นไป ควรใช้กำลังฤทธิ์ ในเบื้องต้น ใช้ปัญญา หรือ เหตุผล ในภายหลัง ย่อมได้ผลแนบแนียน และไพศาลกว่า ที่จะได้เพียงอย่างเดียว แต่อย่างเดียว คนบางพวก เลื่อมใสในศาสนา ด้วยอำนาจปาฏิหาริย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จูงให้เข้า ปฏิบัติศาสนา จนได้รับ ผลของศาสนานั้นแล้ว แม้จะ มารู้ภายหลังว่า เรื่องฤทธิ์ เป็นเรื่องหลอก เขาก็ละทิ้ง เฉพาะเรื่องของฤทธิ์ แต่หาได้ ทิ้งศาสนา หรือความสุข ที่เขาประจักษ์ กับเขาเอง ในภายหลังนั้นไม่        แต่มีปรากฏ อยู่บ้างเหมือนกัน ที่คนบางคน เลื่อมใสฤทธิ์ อย่างเดียว เข้ามาเป็นสาวก ของพระพุทธองค์แล้ว หาได้ทำให้ตน เข้าถึงหัวใจ แห่งพุทธธรรม ด้วยปัญญาไม่ ต้องหันหลัง กลับไปสู่ มิจฉาทิฎฐิ ตามเดิม เช่น สุนักขัตตะลิจฉวีบุตร เป็นต้น แต่ก็มีมากหลาย ที่ถูกทรงชนะ มาด้วยฤทธิ์ แล้วได้รับการอบรม สั่งสอนต่อ ได้บรรลุ พระอรหัตตผลไป เช่น ท่านพระองคุลิมาล เป็นต้น จึงเป็นอันว่า เรื่องฤทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ น่ารู้สนใจ อยู่ไม่น้อย แม้จะไม่เป็นการสนใจ เพื่อฝึกฝนตน ให้เป็นผู้มีฤทธิ์ แต่ก็เป็น การสนใจ เพื่อจะรู้สิ่งที่ควรรู้ ในฐานะที่ตน เป็นนักศึกษา หาความแจ่มแจ้ง ในวิชา ทั่วๆไป ต่อไปนี้ จะได้วินิจฉัย ในเรื่องฤทธิ์นี้ เป็นเพียง แนวความคิดเห็น ที่ขยายออกมา สำหรับ จะได้ช่วยกัน คิดค้นหาความจริง ให้พบใกล้ชิด เข้าไปหาจุด ของความจริง แห่งเรื่องนี้ ยิ่งขึ้นเท่านั้น        ในบาลี พระไตรปิฎก เราพบเรื่องของ ฤทธิ์ ชั้นที่เป็น วิชชา หรือ อภิญญา หนึ่งๆ แสดงไว้ แต่ลักษณะ หรือ อาการว่า สามารถทำได้ เช่นนั้นๆ เท่านั้น หามีบทเรียนหรือ วิธีฝึกกล่าวไว้ด้วยไม่ อันท่านผู้อ่าน จะอ่านพบได้จาก พระบาลี มหาอัสสปุรสูตร หรือ สามัญญผลสูตร แล้ว, ในบาลี คล้ายๆ กับ ท่านแสดงว่า เมื่อได้พยายามฝึกจิต ของตนให้ผ่องใส จนถึงขนาด ที่เหมาะสม แก่การใช้มันแล้ว ฤทธิ์นั้นก็เป็นอันว่า อยู่ในกำมือ ต่อมาในชั้น อรรถกถา และคัมภีร์พิเศษ เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยเฉพาะ ได้อธิบายถึง วิธีฝึกฝน เพื่อการแสดงฤทธิ์ ไว้โดยตรง และดูคล้ายกับว่า ท่านประสงค์ ให้เป็น บุรพภาค ของ การบรรลุมรรคผล เสียทีเดียว        ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า เรื่องฤทธิ์ นี้เป็น เรื่องของพุทธศาสนา โดยตรง หรือ เป็นส่วนหนึ่ง ของพุทธศาสนา ในบาลีมัชฌิมนิกาย มีพุทธภาษิตว่า พระตถาคต สอนแต่เรื่องความทุกข์ กับ ความพ้นทุกข์ เท่านั้น ๒ ทั้งเรื่อง ของฤทธิ์ ก็ไม่เข้า หลักโคตมีสูตรแปดหลัก แต่หลักใด หลักหนึ่ง การที่เรื่องของฤทธิ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนาได้ ก็เป็น การเทียบเคียง โดยส่วนเปรียบว่า ผู้ที่ฝึกจิต ของตน ให้อยู่ในอำนาจ อาจที่จะ บรรลุมรรคผล ได้ ในทันตาเห็น นี้แล้ว จิตชนิดนั้น ก็ย่อมสามารถ ที่จะ แสดงฤทธิ์ เช่นนั้นๆ ได้ ตามต้องการ เมื่อต้องการ, และ อีกประการหนึ่ง ฤทธิ์ เป็นเครื่องมือ อย่างดี ที่จะ ทรมานบุคคล ประเภท ที่ไม่ใช่ นักศึกษา หรือ นักเหตุผล ให้มาเข้ารีต ถือศาสนา ได้, ในยุคพุทธกาล ยังเป็น ยุคแห่งจิตศาสตร์ ไม่นิยม พิสุจน์ค้นคว้า กันใน ทางวัตถุ เช่น วิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน มหาชน หนักไปในทางนั้น บรรดาศาสดา จึงจำเป็น ที่จะต้องมี ความรู้ ความสามารถ ในเรื่อง ฤทธิ์ นี้เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งด้วย เราอาจกล่าวได้ว่า ฤทธิ์ เป็นของคู่กันกับ ลัทธิคำสอน มาตั้งแต่ ดึกดำบรรพ์ ก่อนพุทธกาล ซึ่งศาสดานั้น ใช้เป็นเครื่องมือ เผยแพร่ ศาสนาของตน แม้พระพุทธองค์ ซึ่งปรากฏว่า เป็นผู้ที่ทรง เกลียดฤทธิ์ ก็ยังต้องทรงใช้บ้าง ในบางคราว เมื่อจำเป็น ดังที่ปรากฏอยู่ ในบาลี หลายแห่ง        ครั้งก่อนพุทธกาล นานไกล ในยุคพระเวท พระเวทยุคแรกๆ ก็มีแต่คำสั่งสอน ในการปฏิบัติและบูชา เท่านั้น ครั้นตกมายุคหลัง เกิดพระเวทที่สี่ (อรรถวนเวท) ซึ่งเต็มไปด้วยเวทมนต์ อันเป็นไปในการให้ ประหัตประหาร  ล้างผลาญ กัน หรือ ต่อสู้ ต้านทาน เวทมนต์ ของศัตรู ขึ้นด้วยอำนาจ ความนิยม ของมหาชน หรือ อาจกล่าวได้ อีกอย่างว่า ตามอำนาจ สัญชาตญาณ ของ ปุถุชน นั่นเอง นับได้ว่า ยุคนี้เป็นมูลราก ของสิ่งที่ เรียกกันว่า "ฤทธิ์" และนิยม สืบกันมา ด้วยเหตุที่ว่า มหาชน ชอบซื้อ "สินค้า" ที่เป็นไปทำนองฤทธิ์ มากกว่า เหตุผลทางปรัชญา ถ้าศาสนาใด ด้อยในเรื่องนี้ ก็จะมีสาวก น้อยที่สุด จะได้แต่ คนฉลาด เท่านั้น ที่จะเข้ามาเป็นสาวก ถ้าเกิดการแข่งขัน ในระหว่างศาสนา ก็เห็นจะเป็น ฤทธิ์ อย่างเดียว เท่านั้น ที่จะนำความ มีชัย มาสู่ตนได้ ในเมื่อให้ มหาชนทั้งหมด เป็นกรรมการตัดสิน คือ ให้พวกเขา หันเข้ามา เลื่อมใส และเพราะเหตุนี้เอง ในบาลี จึงมีกล่าวประปรายถึง ฤทธิ์ ส่วนในอรรถกถา ได้กล่าวอย่าง ละเอียดพิสดาร พระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าว วิธีฝึกฤทธิ์ ไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหนังสือ ที่แต่งขึ้น เพื่อเอาชนะน้ำใจ ชาวเกาะลังกา นับตั้งแต่ พระสังฆราช แห่งเกาะนั้น ลงมา อันนับว่า เป็นหนังสือ เล่มสำคัญที่สุด ของท่านผู้นี้ และได้กล่าวไว้ ใน อรรถกถาขุททกนิกาย ว่า พระศาสดาของเรา ทรงแสดงฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ แข่งกับ ศาสดานิครนถเดียรถีย์ อันเรียกว่า ยมกปาฎิหาริย์ และเล่าเรื่อง พระศาสดาทรงแสดงปาฎิหาริย์ ย่อยๆ อย่างอื่นอีก เป็นอันมาก นี่ชี้ให้เห็นชัดทีเดียวว่า จะอย่างไรก็ตาม ได้มีการต่อสู้ และ แข่งขัน ในระหว่าง เพื่อนศาสดา ด้วยใช้ฤทธิ์ เป็นเครื่องพิสูจน์ ตามความนิยม ของมหาชน เป็นแน่แท้ ในยุคนั้น, แต่นักต่อสู้นั้นๆ จะเป็น องค์พระศาสดาเอง ดังที่ท่านผู้นี้กล่าว หรือ ว่าเป็นพวกสาวกในยุคหลังๆ หรือ ยุคของท่านผู้กล่าวเอง หรือ ราว พ.ศ. ๙๐๐ ก็อาจเป็นได้ ทั้งสองทาง        อาจมีผู้แย้งว่า ถ้าเป็นยุคหลัง ทำไมเรื่องนี้ จึงไปอยู่ใน บาลีเดิมเล่า?  พึงเข้าใจว่า บาลีพระไตรปิฎก ของเรานี้ ปรากฏว่า มีอยู่คราวหนึ่ง ซึ่งถูก ถ่ายจากภาษาสิงหล กลับสู่ภาษาบาลี แล้ว เผา ต้นฉบับเดิม เสีย และผู้ที่ทำดังนี้ ก็คือ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เป็น เอกอัคร แห่ง พระอรรถกถาจารย์ ทั้งหลาย นั่นเอง, ท่านผู้นี้เป็น พราหมณ์ โดยกำเนิด จึงนำให้ นักศึกษา หลายๆ คนเชื่อว่า ถ้าเรื่อง ของ พราหมณ์ หลายเรื่อง (เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องพระราหู จับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในสังยุตตนิกาย เป็นต้น) ได้เข้ามาปนอยู่ใน พระไตรปิฎก ถึงกับบรรจุ เข้าใน พระพุทธโอษฐ์ ก็มีนั้น ต้องเป็นฝีมือ ของท่านผู้นี้ หรือ บุคคลประเภท เดียวกับท่านผุ้นี้ แต่ที่ท่านบรรจุเข้า ก็ด้วย ความหวังดี ให้คนละบาป บำเพ็ญบุญ เพราะสมกับ ความเชื่อถือ ของคน ในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า พระศาสดา มิได้ทรงสอน เรื่องฤทธิ์ หรือ เรื่องฤทธิ์ มิได้เข้าเกี่ยวข้อง กับพุทธศาสนา ในครั้งพุทธกาลแล้ว มันก็น่าจะ ได้เข้าเกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นแน่. ท่านผู้ที่ดึงเข้ามา เกี่ยวข้อง ก็ได้ทำไป ด้วยความหวังดี เพื่อให้ พุทธศาสนา อันเป็นที่รัก ของท่าน ต้านทานอิทธิพล ของศาสนาอื่น ซึ่งกำลังท่วมทับ เข้ามานั่นเอง มิฉะนั้น น่ากลัวว่า พุทธศาสนา จะเหลืออยู่ ในโลกน้อยกว่า ที่เป็นอยู่ ในบัดนี้มาก        เมื่อเหตุผลมีอยู่ดังนี้ ข้อปัญหาต่อไป จึงมีอยู่ว่า เราจะปรับปรุง ความคิดเห็น และความเชื่อถือ ในเรื่องฤทธิ์ นี้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า ฤทธิ์ เป็นเพียง เครื่องประดับ หรือ เครื่องมือ อย่างหนึ่ง ซึ่ง พุทธศาสนา เคยใช้ประดับ หรือ ใช้ต้านทานศัตรู มาแล้ว แต่หาใช่เป็น เนื้อแท้ของ พุทธวจนะ ซึ่งกล่าวเฉพาะ ความดับทุกข์ โดยตรงไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อเราในบัดนี้ จะเข้าเกี่ยวข้อง กับฤทธิ์ อย่างดีที่สุด ที่จะทำได้ ก็เท่ากับ ที่เป็นมาแล้ว นั่นเอง เราไม่อาจถือเอามัน เป็นสรณะ อันแท้จริง อย่างไรได้ เพราะเหตุผล ดังที่ ข้าพเจ้า จะได้แสดงต่อไป ตามความรู้ ความเห็น ฝากท่านผู้รู้ ช่วยกัน พิจารณาหาความจริง สืบไป        คำว่า ฤทธิ์ แปลว่า เครื่องมือ ให้สำเร็จ ตามต้องการ แต่ความหมายจำกัด แต่เพียงว่า เฉพาะ ปัจจุบัน ทันด่วน หรือ ชั่วขณะเท่านั้น เมื่อ หมดอำนาจ บังคับของฤทธิ์ แล้ว สิ่งทั้งปวง ก็กลับคืน เข้าสู่สภาพเดิม ผู้มีกำลังจิตสูง ย่อมแสดงฤทธิ์ ได้สูง จนผู้ที่มีฤทธิ์ด้วยกัน ต้องยอมแพ้ เพราะมีอำนาจใจ ต่ำกว่า จิตเป็นธรรมชาติ อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้มีการฝึก ให้ถูกวิธี ของมันแล้ว ย่อมมีอำนาจมากพอ ที่จะครอบงำ สิ่งทั้งหลาย ที่มีจิตใจ ด้วยกัน ได้หมด ช้างป่าดุร้าย และน่าอันตรายมาก ถ้าเราไม่ได้ ค้นพบ วิธีฝึก มันแล้ว ก็ไม่อาจ ได้รับประโยชน์ อะไร จากมันเลย คนเรา ที่รู้จักคิดว่า ช้างนี้ คงฝึกได้ อย่างใจ และค้นพบ วิธีฝึก บางอย่าง ในขั้นต้น ก็นับว่า เป็นผู้ที่ทำ สิ่งที่ยากมาก แต่ผู้ที่ค้นพบ เรื่องของจิต และ วิธีฝึกมัน โดยประการต่างๆ นั้น นับว่า ได้ทำสิ่ง ที่ยาก มากกว่า นั้นขึ้นไปอีก         ในยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อได้มีการสนใจ ในเรื่องจิตกันขึ้น นักจิตศาสตร์ ได้พยายาม ทดลอง โดยอาการต่างๆ แยกกันไป คนละสาย สองสาย จนในที่สุด ก็ได้ลุถึง คุณสมบัติ อันสูงสุด ที่จิต ที่เขาฝึก ถึงที่สุด ในแง่นั้นๆแล้ว สามารถจะ อำนายประโยชน์ ให้ได้ อันจำแนกได้ โดยประเภทหยาบๆ คือ         (๑) เข้าถึงธรรมชาติ ที่เรียกว่า ทิพย์ แล้วหา ความเพลิดเพลิน จากสิ่งที่เรียกว่า วิสัยทิพย์ นั้นๆ       (๒) มีอำนาจบังคับทางจิต สำหรับบังคับจิต ของเพื่อนสัตว์ ด้วยกัน เพื่อเอาผล เช่นนั้น เช่นนี้ ตามความปรารถนา       (๓) สามารถรู้เรื่อง เกี่ยวกับ สากลจักรวาล พอที่จะให้ตน หมดความอยากรู ้อยากค้นคว้า อีกต่อไป เพราะตนพอใจ ในความรู้นั้นๆ เสียแล้ว       (๔) สามารถปลงวาง สลัดออกเสีย ซึ่งความทุกข์ ทางใจ อันได้แก่ ลัทธิศาสนา ที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ในจิต ทั้งมวล นับตั้งแต่ สุขใน ฌาน สมาธิ มรรค ผล นิพพาน เป็นลำดับๆ        พวกใด ดำเนินสายแห่งการค้นคว้าของเขา เข้าไปในดงรกแห่งฤทธิ์วิธี ย่อมได้ผลใน สองประเภท ข้างต้น (ข้อ ๑-๒) พวกที่ดำเนินไป เพื่อฟันฝ่า รกชัฎ แห่งตัณหา อันเป็น ก้อนหินหนัก แห่งชีวิต ก็ได้ ผลประเภทหลัง (ข้อ ๓-๔) พวกแรก คือ พวกฤทธิ์ พวกหลัง คือ ศีลธรรม และ ปรัชญาในทางจิต ทั้งสองประเภทนี้ เป็นที่นิยม ของมหาชน อย่างคู่เคียง กันมา ในยุคที่ความนิยม ในทางจิตศาสตร์ ยังปกคลุม ดินแดน อันเป็นที่เกิดขึ้น แห่งวิชานี้ คือ ชมพูทวีป หรือ อินเดียโบราณ มหาชนในถิ่นนั้น ต่างได้รับผล สมประสงค์ กันทั้ง ฝ่ายฤทธิ์ และ ฝ่ายความพ้นทุกข์ ของจิต แต่ในที่นี้ จะได้กล่าวเฉพาะ เรื่องฤทธิ์ อย่างเดียว งดเรื่องของความพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเสีย        ผู้ที่ฝึกใจตามวิธีที่ค้นคว้า และ สั่งสอนสืบๆ กันมา หลายชั่วอายุคน ได้ถึงขึดสุด อย่างถูกต้องแล้ว สามารถบังคับใจตนเอง ให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ อันเกี่ยวกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ความรู้สึกในใจ อันเกิดขึ้นจาก รูป เสียง เป็นต้น นั้นๆ แล้ว ฝึกวิธี ที่จะส่งกระแสจิตนั้นๆ ไปครอบงำ จิตผู้อื่น ให้ผู้อื่นรู้สึกเช่นนั้นบ้าง ในทางรูป เสียง กลิ่น ฯลฯ ทุกประการ ผู้ที่มีกำลังจิตอ่อนกว่า ทุกๆ คน แม้จะมี จำนวนมากมาย เท่าใด ก็จะรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นเดียวกันหมด เพราะใจของเขา ถูกอำนาจจิต ของผู้ที่ส่งมา ครอบงำ เขาไว้ ครอบงำ เหมือนกันหมด ทุกๆ คนจึงได้เเห็น หรือ ได้ยิน ได้ดมตรงกันหมด เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม บ้านเมืองที่งดงาม ฯลฯ ตามแต่ที่ผู้ออกฤทธิ์ ได้สร้างมโนคติ ขึ้นในใจ ของเขา แล้วส่งมาครอบงำ อำนาจครอบงำ อันนี้ เป็นไปแนบเนียน สนิทสนม ผู้ที่ถูกงำไม่มีโอกาสรู้สึกตัวในเวลานั้น ว่าถูกครอบงำ ทางจิต และ สิ่งที่รู้สึกนั้น ไม่ใช่ของจริง เมื่อเรานอนหลับ และ กำลังฝันอยู่ เราไม่อาจรู้ตัวว่า เราฝัน เรากลัวจริง โกรธจริง กำหนัดจริง ฉันใด ในขณะที่ เราถูกงำ ด้วยอำนาจฤทธิ์ ก็รู้สึกว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทุกอย่างฉันนั้น        ผู้ออกฤทธิ์บางคน สามารถออกอำนาจบังคับ เฉพาะคน ยกเว้นให้บางคน คนในหมู่นั้น แม้นั่งอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน จึงเห็นต่างๆกัน ดังเราจะได้ยิน ในตอนที่ เกี่ยวกับ พระศาสดา ทรมานคน บางคน ที่เข้าไปเผ้า พระองค์ ในที่ประชุมใหญ่ และพระองค์ ทรงบันดาล ด้วย อิทธาภิสังขาร เฉพาะผู้นั้น ให้เห็น หรือ ได้ยิน อย่างนี้ อย่างนั้น เพื่อทำลาย ทิฎฐิ หรือ มานะ บางอย่าง ของเขาเสีย        เมื่อผู้ที่ทำการต่อสู้กัน ต่างก็มีฤทธิ์ด้วยกัน นั่นย่อมแล้วแต่ อำนาจจิต ของใคร จะสูงกว่า หรือ มีกำลังแรงกว่า เมื่อผู้มีฤทธิ์ ฝ่ายหนึ่ง ได้บันดาล ให้ทุกๆ คนในที่นั้น เห็นภาพ อันน่ากลัว มาคุกคาม อยู่ตรงหน้า เช่นนั้นๆ แล้ว ถ้าหาก อีกฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจจิต สูงกว่า ก็อาจรวบรวม กำลังจิตของตน เพิกถอนภาพ อันเกิดจาก อำนาจฤทธิ์ ของฝ่ายแรก กวาดให้เกลี้ยง ไปเสียจาก สนามแห่งวิญญาณ แล้วบันดาล ภาพอันน่ากลัว ซึ่งเป็น ฝ่ายของตน ขึ้น คุกคาม บ้าง แม้ว่า ในขณะที่คนนั้นๆ ถูกอำนาจฤทธิ์ ครอบงำ อยู่ และ เขาไม่อาจทราบว่า นั่นเป็น กำลังฤทธิ์ ดุจตกอยู่ใน ขณะแห่งความฝัน ก็ดี เขายังได้รับการศึกษา และความเชื่อ มาก่อนแล้วว่า มีวิธี ที่จะต่อสู้ ต้านทาน ซึ่งเป็น การเพิกถอนฤทธิ์ ของฝ่ายหนึ่ง เช่นนั้นๆ ด้วย จึงโต้ตอบ กันไปมา จนกว่า ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง จะสิ้นฤทธิ์        ในรายที่ไม่ได้ทำการต่อสู้ ประหัตประหาร กันโดยตรง แต่ต่อสู้ เพื่อแข่งขัน ชิงเกียรติยศ อย่างใด อย่างหนึ่ง เพื่อเรียกเอา ความเลื่อมใส ของมหาชน มาสู่ พวกของตัวนั้น ก็ทำนองเดียวกัน คือ มีการต้านทาน เพื่อมิให้ อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงฤทธิ์ ของเขาได้สมหมาย ซึ่งถ้าหาก การต้านทาน นั้นสำเร็จ ฝ่ายโน้นก็แพ้ แต่ต้นมือ ถ้าต้านทานไม่สำเร็จ ก็ต้องหาอุบาย กวาดล้าง อำนาจฤทธิ์ ในเมื่อฝ่ายหนึ่ง ได้ส่งมาแล้ว ซึ่งถ้ายังทำไม่ได้อีก ตนก็ตกเป็น ฝ่ายแพ้ ฤทธิ์ของผู้ที่มี ดวงใจบริสุทธิ์ เป็นอริยบุคคล ย่อมมีกำลังสูง และหนักแน่น ยั่งยืนกว่า ของฝ่ายที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส เป็นธรรมดา เพราะเหตุว่า จิตของผู้มีกิเลส ถูกกิเลสตัดทอน เสียตอนหนึ่งแล้ว ยังอาจที่จะ ง่อนแง่น คลอนแคลน ได้ ในเมื่ออิฎฐารมณ์ หรือ อนิฎฐารมณ์ มากระทบ ในขณะที่ ต่อสู้กันนั้น อีกประการหนึ่ง ผู้ไม่มีกิเลส ย่อมไม่ทำเพราะเห็นแก่ตัว จึงมีกำลัง ปีติปราโมทย์ ความเชื่อ และ อื่นๆ ซึ่งเป็นดุจเสบียงอาหาร ของฤทธิ์ มากกว่า ย่อมได้เปรียบ ในข้อนี้        ในรายที่ไม่มีการต่อสู้กัน เป็นเพียงการทรมาน ผู้ที่มีกำลังใจ อ่อนกว่า แต่มีมานะ หรือ ความกระด้าง เพราะเหตุบางอย่าง ย่อมเป็นการง่ายกว่า ชนิดที่ต่อสู้กัน คนธรรมดา สตรี เด็กๆ เพียงแต่อำนาจสะกดจิตชั้นต่ำๆ ซึ่งยังมีเหลือออกมา ถึงสมัยปัจจุบันนี้บ้าง ก็อาจที่จะเป็น อำนาจงำ ให้ตกอยู่ใต้ อำนาจของผู้แสดง นั้นได้ เสียแล้ว แม้ว่าสมัยนี ้จะเป็นสมัย ที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ในเรื่องนี้ และทั้งผู้ฝึก ก็มิได้เป็น "นัก" ในเรื่องนี้ อย่างเอาจริง เอาจัง ก็ในสมัยโบราณ คนทุกคนเชื่อในเรื่องฤทธิ์ และผู้ฝึก ก็ฝึก อย่างเอาจริง เอาจัง เรื่องของฤทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่แนบเนียน และเป็นเรื่องจริง ได้อย่างเต็มที่ ในสมัยนั้น ความที่ทุกคนเชื่อก็ดี ความที่ผู้ฝึกเองก็เชื่อ และตั้งใจฝึกเป็นอย่างดี ก็ดี ล้วนแต่เป็น สิ่งส่งเสริม ในเรื่องฤทธิ์ ให้เป็นเรื่องจริง เรื่องจัง ยิ่งขึ้นไปอีก เราอาจกล่าวได้ว่า ในยุคโบราณยุคหนึ่ง ความเชื่อในเรื่องนี้ มีเต็มร้อยเปอร์เซนต์ อิทธิพลในเรื่องฤทธิ์ จึงมีได้ เต็ม ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันถูกฝา ถูกตัว แก่กัน ครั้นมาบัดนี้ ทั้งความเชื่อ และการฝึกฝน มีเหลือน้อย ไม่ถึง ห้าเปอร์เซนต์ เลยกลายเป็น เรื่องเหลวไหล เสียเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ บางที มีแต่ตัว ไม่มีฝา บางทีมีฝา แต่ไม่มีตัว ต่างฝ่าย ต่างก็ขี้เกียจเก็บ เลยทิ้งให้ ค่อยหาย สาปสูญไป ความยั่วยวน อันเกิดจากฝีมือ ของนักวิทยาศาสตร์ แผนปัจจุบัน กำลังมีอิทธิพล มากขึ้นๆ ในอันที่จะ ให้จิตของคนเรา ตกต่ำ อ่อนแอ ต่อการที่จะบังคับตัวเอง ให้ว่างโปร่ง เพื่อเป็นบาทฐาน ของฤทธิ์ ได้ เมื่อว่างผู้แสดงฤทธิ์ ได้ นานเข้า ความเชื่อในเรื่องนี้ ก็สาปสูญไป ทั้งของผู้ที่จะฝึกและของผู้ที่จะดู        บัดนี้ จะย้อนกลับไปหาเรื่องของการฝึก เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ดีขึ้น (มิใข่เพื่อรื้อฟื้นขึ้นฝึกกัน) ผู้ที่จะฝึกในเรื่องฤทธิ์ ต้องเป็นผู้ที่มีใจ เป็นสมาธิง่าย กว่าคนธรรมดา เพราะเรื่องนี้ มิใช่เป็นสาธารณะ สำหรับคนทั่วไป แม้ผู้ที่เชื่อและตั้งใจฝึกจริงๆ ถึงฝึกสมาธิได้แล้ว ท่านยังกล่าวว่า ร้อยคนพันคน จึงจะมีสักคนหนึ่ง ที่จะเขยิบตัวเอง ขึ้นไป จนถึงกับ แสดงฤทธิ์ได้ การปฏิบัติ เพื่อรู้อริยสัจ หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้ เสียอีก ที่เป็นสาธารณะกว่า! คนบางประเภท หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยเหตุผล ที่แวดล้อมเหมาะสม จูงความคิด ให้ตกไป ในแนวแห่ง ความเบื่อหน่าย และปล่อยวางได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวกับ การฝึกสมาธิเลย จึงกล่าวย้ำ เพื่อกันสงสัย ได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับคนธรรมดา เราๆ การฝึกเพื่อพระนิพพาน เป็นของง่ายกว่า ที่จะฝึกในเรื่องฤทธิ์ ให้ได้ถึงที่สุด ยิ่งถ้าจะฝึกเพื่อทั้งฤทธิ์ และพระนิพพาน ทั้งสองอย่างด้วยแล้ว ก็ยิ่งยาก มากขึ้นไปอีก ในหมู่พระอรหันต์ ก็ยังมีแบ่งกันว่า ประเภทสุกขวิปัสสก และประเภทอภิญญา คือแสดงฤทธิ์ไม่ได้ และแสดงได้        ผู้ฝึกสมาธิ เพื่อมรรคผลนิพพานนั้น เมื่อใจเป็นสมาธิแล้ว ก็น้อมไปสู่ การคิดค้นหาความจริง ของชีวิต หรือ ความทนทุกข์ ของสัตว์ ว่า มีอยู่อย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร จะดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ส่วนผู้ที่ฝึก เพื่อฤทธิ์นั้น แทนที่จะน้อมไปเพื่อคิดค้นหาความจริง เขาก็น้อมสมาธิ นั้นไปเพื่อ การสร้างมโนคติ ต่างๆ ให้ชำนาญ ซึ่งเป็นบทเรียน ที่ยากมาก เมื่อเขาสร้าง ภาพแห่งมโนคติ ได้ด้วยการบังคับจิต หรือวิญญาณของเขา ได้เด็ดขาด และ คล่องแคล่ว แล้ว ก็หัดรวมกำลังส่งไป ครอบงำสิ่งที่อยู่ใกล้ จะขยายวงกว้าง ออกไปทุกที เพื่อให้ ภาพแห่งมโนคติ นั้นครอบงำใจ ของผู้อื่น ตามที่ เขาต้องการ ความยากที่สุด ตกอยู่ที่ตนจักต้อง ดำเนินการ เปลี่ยนแปลงภาพ นั้นๆ ให้เป็นไป ตามเรื่องที่ต้องการ ดุจการฉายภาพยนต์ ลงในผืนจอ แห่งวิญญาณ ของผู้อื่น จึงเป็นการยากกว่า การที่เจริญสมาธิ เพื่อสงบนิ่ง อยู่เฉยๆ หรือคิดเรื่องใด เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องเดียว โดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี ความลำบาก นั้นๆ มิได้เป็นสิ่งที่ อยู่นอกวิสัย เพราะเมื่อจิต ได้ถูกฝึก จนถึงขีด ที่เรียกว่า "กัมมนีโย" นิ่มนวล ควรแก่ การใช้งานทุกๆ อย่างแล้ว ก็ย่อมใช้ได้ สมประสงค์        ฤทธิ์ตามที่กล่าวไว้ ใน นิทเทสแห่งอภิญญา ของฝ่ายพุทธศาสนานั้น ดูคล้ายกับ ยืมของใครมาใส่ไว้ เพื่อแสดง ความสามารถของจิต อันสูงสุดประเภทนี้ ให้ครบถ้วน นอกจาก ไม่เป็นไป เพื่อความพ้นทุกข็ โดยตรงแล้ว ยังไม่ค่อย ตรงกับ อาการที่ พระพุทธองค์ ทรงแสดงอยู่บ้าง ในบางคราว ในบาลีไม่ได้แสดงวิธีฝึก ไม่ได้แสดงวี่แววว่า ควรฝึก หรือจำเป็น และไม่ค่อยปรากฏว่า พระมหาสาวกองค์ได้ ได้รับประโยชน์ หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงนำความเข้าใจ ให้เกิดขึ้นว่า ถ้าหากว่า เรื่องอภิญญาเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องที่กล่าว เพื่อแสดง คุณสมบัติของจิต ที่ฝึกแล้วถึงที่สุด ให้ครบถ้วนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ของพระสาวกเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การฝึกก็เป็นอันว่า ต้องต่างกันด้วย ไม่มาก ก็น้อย จากวิธีที่เขาฝึกกัน ในสายของฤทธิ์โดยตรง เพราะเรื่องโน้น เป็นเรื่องของ ผู้ขวนขวาย เพื่อเสียสละ มิใช่เรื่องของ ผู้ขวนขวาย เพื่อรับเอา ในพระบาลี กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อจิตเป็น จตุตถฌาน คล่องแคล่ว ดีแล้ว ก็น้อมไปเพื่อ อภิญญา เช่นนั้นๆ สำเร็จได้ ด้วยอำนาจ จตุตถฌาน นั่นเอง เมื่อการน้อมนั้นๆ สำเร็จก็จะสามารถทำได้ เช่นนั้นๆ ดูเหมือนว่า ถ้า น้อมไปเพื่ออภิญญานั้นๆ ไม่สำเร็จ ก็น้อมเลยไป เป็นลำดับๆ ข้ามไปหา การคิดค้น เรื่องอริยสัจ เลยทีเดียว คล้ายกับว่า มีไว้เผื่อเลือก หรือ สำหรับคน ที่มีอุปนิสัยบางคน ในบาลีบางแห่ง ไม่มีกล่าวถึง อภิญญาเลย เมื่อกล่าวถึง จตุตถฌานแล้ว ก็กล่าวถึง วิชชาสาม คือ ระลึกถึงความเป็นมา แล้วของตนในอดีต ความวิ่งวนของหมู่สัตว์ ในสังสารวัฎ และเหตุผล เรื่อง อริยสัจ เป็นที่สุด พระบาลี ชนิดหลังนี้ มีมากกว่า ที่กล่าวถึง อภิญญา และที่กล่าวถึง จตุตถฌาน แล้ว กล่าวอริยสัจเสียเลย ก็มีมากกว่ามาก        ในอรรถกถาซึ่งเป็น คำอธิบายของพระบาลี ก็มิได้กล่าววิธีฝึกฤทธิ์นั้นๆ มักแก้ในทางศัพท์ ทางข้อธรรมะแท้ๆ หรือ มิฉะนั้น ก็ทางนิยายเลยไป แต่ได้ท้าให้ค้นดู เอาจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค เพราะ ผู้ร้อยกรอง อรรถกถา กับผู้แต่งวิสุทธิมรรค เป็นคนเดียวกัน หรือ วิสุทธิมรรคมีอยู่แล้ว ก่อนการแต่งอรรถกถานั้นๆ         ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีเรื่องของการฝึกฤทธิ์อย่างพิสดาร จนกล่าวได้ว่า ไม่มีคัมภีร์ใด มีพิสดารเท่า ในวงของ คัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนา ด้วยกัน เพราะความพิสดารนั่นเอง จำเป็นที่ข้าพเจ้า จะต้องขอร้อง ให้ท่านพลิกดู ในหนังสือชื่อนั้น ด้วยตนเอง ด้วยว่า เหลือที่จะ นำมาบรรยาย ให้พิสดาร ในที่นี้ได้ เมื่อกล่าวแต่ หลักย่อๆ ก็คือ ขั้นแรก ท่านสอน ให้หาความชำนาญ จริงๆ ในการเพ่งสีต่างๆ และวัตถุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม จนติดตาติดใจ เพื่อสะดวกในการ สร้างภาพแห่งมโนคติ ในขั้นต่อไป อันเรียกว่า เพ่งกสิณ ซึ่งเป็น สิ่งมีมา ก่อนพุทธกาล มิใช่สมบัติ ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ ผู้เพ่งต่อฤทธิ์ ต้องหนักไปใน การฝึกกสิณ เท่ากับ ผู้เพ่งต่อพระนิพพาน หนักไปใน การฝึกแห่ง อานาปานสติ และกายคตาสติ เป็นต้น ดิน น้ำ ไฟ ลม คือ ส่วนผสมของสิ่งต่างๆ ในโลก หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า โลก เท่าที่ปรากฏแก่ ความรู้สึก ของคนทั่วไป ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง

ธรรมทาน http://pohdhamma.blogspot.com