วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตอน สิบ อานาปานสติ ขั้นที่ หก (การกำหนดสุข)

 สุข ทุกข์ ท่าว่าอยู่ที่ลมหายใจ ธรรมทาน ทานธรรม
 "คำว่า ความสุข ในการเจริญอานาปานสติ นั้น หมายถึงความสุขที่เป็นความรู้สึกขององค์ฌาน เช่นเดียวกับปีติ ซึ่งเป็นองค์ฌานด้วยกัน ฉะนั้นจึงหมายถึงความสุขที่เป็นไปในทางใจโดยส่วนเดียว และเป็นสิ่งที่จะต้องหยิบขึ้นมาเพ่งพิจารณาในฐานะเป็นเวทนาอีกอย่างหนึ่ง เพื่อการเจริญอานาปานสติขั้นที่หกนี้, โดยวิธีอย่างเดียวกันกับการพิจารณาปีติ"

ตอน สิบ อานาปานสติ ขั้นที่ หก

(การกำหนดสุข)

โดยพุทธทาสภิกขุ

    อุเทส หรือหัวข้อแห่งอานาปานสติข้อที่สองแห่งจตุกกะที่สอง หรือจัดเป็นขั้นที่หก แห่งอานาปานสติทั้งปวงนั้น มีอยู่ว่า :
   “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้าดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจออก ดังนี้”. (สุขปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; สุขปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)
   คำอธิบายของอานาปานสติขั้นที่หกนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกันกับอานาปานสติขั้นที่ห้าทุกประการ จนแทบจะกล่าวได้ว่า เหมือนกันทุกตัวอักษรแต่ต้นจนปลาย. ผิดกันอยู่หน่อยเดียวตรงที่ว่า ในขั้นที่ห้านั้น เป็นการเพ่งพิจารณาที่ปีติ. ส่วนในขั้นที่หกนี้ เพ่งพิจารณาที่ตัวความสุข อันเป็นสิ่งที่คู่กันอยู่กับปีติ. แต่เนื่องจากสิ่งทั้งสองนี้จัดเป็นเวทนาด้วยกัน เมื่อกล่าวโดยหลักรวมจึงเป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน คือเป็นเพียงเวทนาด้วยกัน นั่นเอง. คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเหมือนกันโดยประการทั้งปวง, มีอยู่แต่ว่าจะต้องทำการวินิจฉัยในข้อที่ว่า ปีติกับความสุขโดยลักษณะเฉพาะ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างเท่านั้น.
คำว่าสุข
   คำว่า “สุข” โดยทั่วไป ท่านจำแนกเป็น ๒ คือสุขเป็นไปในทางกายและสุขเป็นไปในทางจิต. สุขที่เป็นไปในทางกาย เป็นสิ่งที่มีมูลโดยตรงมาจากวัตถุหรือรูปธรรม และอาการของความสุขแสดงออกมาทางกาย หรือเนื่องด้วยกายเป็นส่วนใหญ่. ส่วนความสุขที่เป็นไปในทางจิต เป็นสิ่งที่สูงหรือประณีตขึ้นไปกว่านั้น ฉะนั้น จึงมีมูลมาจากนามธรรมเป็นส่วนใหญ่ ปรารภธรรมะเป็นส่วนใหญ่และเป็นไปในทางจิต คือแสดงออกในทางจิตโดยเฉพาะ ; ส่วนที่เป็นผลเนื่องมาถึงทางกายด้วยนั้น ย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ถือว่าเป็นส่วนที่พลอยได้, คงเพ่งเล็งเอาส่วนที่เนื่องอยู่กับจิตเป็นส่วนใหญ่.
    คำ ว่า ความสุข ในการเจริญอานาปานสติ นั้น หมายถึงความสุขที่เป็นความรู้สึกขององค์ฌาน เช่นเดียวกับปีติ ซึ่งเป็นองค์ฌานด้วยกัน ฉะนั้นจึงหมายถึงความสุขที่เป็นไปในทางใจโดยส่วนเดียว และเป็นสิ่งที่จะต้องหยิบขึ้นมาเพ่งพิจารณาในฐานะเป็นเวทนาอีกอย่างหนึ่ง เพื่อการเจริญอานาปานสติขั้นที่หกนี้, โดยวิธีอย่างเดียวกันกับการพิจารณาปีติ.
วิธีปฏิบัติ
   การปฏิบัติอานาปานสติขั้นที่หกนี้ ผู้ปฏิบัติพึงย้อนไปทำการกำหนดศึกษามาตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่สี่ พึงกำหนดองค์ฌานต่าง ๆ ให้แจ่มแจ้งอีกครั้งหนึ่ง. เมื่อแจ่มแจ้งทั่วทุกองค์แล้ว เพื่อกำหนดเจาะจงเอาเฉพาะองค์ที่เรียกว่า “สุข” เพื่อการเพ่งพิจารณาหรือการตามดู โดยนัยที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้าทุก ๆ ประการ โดยหัวข้อดังต่อไปนี้ คือ :-
      ๑. สิ่งที่เรียกว่าความสุขนี้ คืออะไร ? มีลักษณะอย่างไร ?
      ๒. สิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้น เกิดขึ้นในขณะไหน เวลาใด ?
      ๓. เกิดขึ้นด้วยอำนาจอะไร ? หรือด้วยการทำอย่างไร ?
      ๔. เกิดญาณและสติขึ้นในลำดับต่อไปด้วยอาการอย่างไร ?
      ๕. ในขณะนั้นชื่อว่าเธอย่อมตามเห็นซึ่งเวทนา คือความสุขนั้น โดยลักษณะอย่างไรอยู่ ? แล้วละอะไรเสียได้ ?
      ๖. การตามเห็นเวทนานั้น มีอาการแห่งการเจริญสติปัฏฐานภาวนาเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างไร ?
      ๗. ในขณะที่สโมธานซึ่งธรรมย่อมมีการสโมธานธรรม, ย่อมรู้โคจรและย่อมแทงตลอดสมัตถะของธรรมนั้น ๆ อย่างไร ?
      ๘. ย่อมสโมธานธรรมที่เป็นหมวดหมู่ โดยรายละเอียดอย่างไร ?
      ๙. ย่อมสโมธานธรรมโดยหลักใหญ่ หรือโดยกว้างขวางมีจำนวนเท่าไร ? และ
      ๑๐. มีวิธีการพิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสุขเวทนานั้นโดยละเอียดอย่างไร ?

   รวมเป็น ๑๐ ประการดังนี้ ซึ่งควรจะกล่าวแต่ใจความ เพื่อเป็นเครื่องทบทวนความจำได้โดยสะดวกอีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้ :-
      ๑. ความสุขในที่นี้ คือสุขที่เป็นไปทางจิตที่เรียกว่า เจตสิกสุข มีลักษณะเยือกเย็นเป็นที่ตั้งแห่งปัสสัทธิหรือสมาธิโดยตรง. ในที่นี้เล็งถึงสุขซึ่งเป็นงค์ฌาน องค์หนึ่งนั่นเอง.
      ๒. สุขที่เป็นเวทนา เนื่องในการเจริญอานาปานสตินี้ อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขณะแห่งอานาปานสติขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ที่สาม เป็นลำดับมาและถึงที่สุดเป็นสุขโดยสมบูรณ์ในขั้นที่สี่ ขั้นที่ห้า ที่หก (มีข้อความโดยละเอียดดังที่กล่าวแล้ว ในคำอธิบายอานาปานสติขั้นที่สี่ อันว่าด้วยองค์ฌานเป็นลำดับมา).
      ๓. ความสุขในที่นี้ เกิดมาจากอุบายของการกระทำอันแยบคายเนื่องด้วยลมหายใจเข้า – ออก ด้วยอาการ ๑๖ อย่าง มีการรู้ทั่วถึงอยู่ซึ่งเอกัคคตาจิตเป็นต้น และมีการทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำ ให้แจ้ง ได้ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า – ออก เป็นที่สุด (โดยอาการอย่างเดียวกันกับที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่ห้า ในตอนที่กล่าวถึงการเกิดแห่งปีติ ๑๖ ประการ).
      ๔. เมื่อความสุขเกิดขึ้นด้วยอาการ ๑๖ อย่างนั้นแล้ว สุขเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติรู้พร้อมเฉพาะด้วยอำนาจการหายใจเข้า – ออก สติเกิดขึ้นเป็นอนุปัสสนาญาณ, สุขปรากฏขึ้นในฐานะเป็นอารมณ์, สติปรากฏในฐานะเป็นผู้กำหนดอารมณ์, ผู้ปฏิบัติตามเห็นสุข ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น (ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า).
      ๕. เธอตามเห็นความสุขนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา. แล้วละสัญญาว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าอัตตาเสียได้, เมื่อเบื่อหน่ายอยู่ละความเพลิดเพลินเสียได้ เมื่อคลายความกำหนัดอยู่ ละความกำหนัดเสียได้เมื่อทำความดับอยู่ ละการก่อเสียได้. เมื่อทำการสละคืนอยู่ ละการยึดมั่นเสียได้(ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า)
      ๖. เมื่อตามเห็นเวทนาอยู่ ดังนั้น ย่อมเป็นการเจริญสติปัฏฐานภาวนาเพราะความหมายที่ว่า ได้ทำไม่ให้เกิดความก้ำเกินของธรรมที่เกิดขึ้นในขณะที่สติกำหนดเวทนา, ได้ทำให้อินทรีย์เป็นต้น รวมกันทำกิจอันเดียว, สามารถทำให้มีการนำความเพียรเข้าไปเหมาะสมแก่ธรรมเหล่านั้น และอินทรีย์เหล่านั้น,และเพราะเป็นสิ่งที่ทำมากและส้องเสพมาก, ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้จึงได้ชื่อว่าภาวนา (ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า).
      ๗. เมื่อภาวนาโดยทำนองนั้นเป็นไปโดยสมบูรณ์ ย่อมมีการสโมธานธรรม เช่นอินทรีย์ห้า เป็นต้น, ในขณะนั้นมีการรู้โคจร กล่าวคือ อารมณ์ของธรรม มีอินทรีย์เป็นต้นเหล่านั้น และมีการแทงตลอดซึ่งสมัตถะ คือคุณค่าอันสม่ำเสมอของธรรมเหล่านั้น (ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า).
      ๘. ย่อมมีการสโมธานธรรม อันเป็นหมวดหมู่โดยละเอียด คือมีการสโมธานอินทรีย์ทั้งห้า พละทั้งห้า โพชฌงค์ทั้งเจ็ด มรรคทั้งแปด โดยรายละเอียดที่อาจชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เพราะประกอบด้วยความหมายอย่างไรจึงได้ชื่อว่าสโมธานธรรมอันมีชื่ออย่างนั้น (ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า).
      ๙. ย่อมสโมธานธรรมโดยกว้างขวางถึง ๒๙ ประการ มีการสโมธานอินทรีย์ห้าเป็นต้น และสโมธาน อมโตคธะ กล่าวคือ นิพพานเป็นที่สุด (ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า).
      ๑๐. การพิจารณาเวทนาโดยละเอียด ได้แก่การพิจารณาตัวเวทนาและธรรมอื่น ที่เกิดสืบต่อจากเวทนาคือ สัญญา และวิตก ว่าแต่ละอย่าง ๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร, เมื่อเกิด เกิดเพราะปัจจัยอะไร, เมื่อดับดับเพราะปัจจัยอะไร และเมื่อตั้งอยู่ มันแสดงให้เห็นอะไร จนเกิดความรู้สึกในจิตใจของผู้ปฏิบัติขึ้นมาอย่างไรตามลำดับ (ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้า).
   สรุปความว่า การเจริญอานาปานสติขั้นที่หกนี้ มีการปฏิบัติทุกอย่างทุกตอน เป็นอย่างเดียวกันกับอานาปานสติขั้นที่ห้า ผิดกันแต่อารมณ์สำหรับเพ่งพิจารณาได้เปลี่ยนจากเวทนา คือ ปีติ มาเป็นเวทนา คือ สุข. ทั้งนี้ เพื่อให้สิ่งที่เรียกว่าความสุขได้รับการพิจารณาสืบต่อไปจากปีติ ในฐานะที่ความสุขเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือมากยิ่งขึ้นไปกว่าปีติ, ผลของการพิจารณาย่อมสูงกว่าปีติตามขั้นไปเป็นธรรมดา เพื่อว่าผู้ปฏิบัติจักเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งเวทนาทั้งปวงอย่างแท้จริง.
(จบ อานาปานสติขั้นที่หก อันว่าด้วยการรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข) 


ทานธรรมจาก https://sites.google.com/site/smartdhamma

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น