วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เพาะธรรม สงบจิตด้วยการนั่งสมาธิ

"พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา"


สงบจิตด้วยการนั่งสมาธิ

โดยหลวงพ่อชา  สุภัทโธ 


         ปฏิบัติทำไมมันถึงยากถึงลำบาก เพราะว่ามันอยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบปฏิบัติทำไมมันถึงยากถึงลำบาก เพราะว่ามันอยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบ ถ้าไม่มีความอยากให้สงบก็ไม่นั่งไม่ทำอะไร พอเราไปนั่งก็อยากให้มันสงบ เมื่ออยากให้มันสงบ ตัววุ่นวายก็เกิดขึ้นมาอีก ก็เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นมาอีก มันก็ไม่สบายใจอีกแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้

        ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยาก ถ้าไม่อยากจะทำอะไรเราก็ไม่ได้ทำ อันนั้นปัญญาของเราไม่ถึง ทีนี้มันก็เลยอู้เสีย ปฏิบัติไปไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปนั่งสมาธิปุ๊บ ก็ตั้งความอยากไว้แล้ว

       อย่างพวกเราที่มาปฏิบัติอยู่ในป่านี้ ทุกคนต้องอยากมาใช่ไหม นี่จึงได้มา อยากมาปฏิบัติที่นี้ มาปฏิบัตินี่ก็อยากให้มันสงบ อยากให้มันสงบก็เรียกว่าปฏิบัติเพราะความอยาก มาก็มาด้วยความอยาก ปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยความอยาก เมื่อมาปฏิบัติแล้วมันจึงขวางกัน ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ทำ จึงเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันล่ะ

          อย่าให้ตัณหาเข้าครอบงำในการปฏิบัติ          การกระทำความเพียรก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่า อย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ทุกประการท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าว ซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหละ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

          สมมุติวิมุติมันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าว มันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งหมดนั่นแหละ เขาจะหาว่าเราทานเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่เช่นนี้เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้ เป็นปัญญาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา

        
ดังนั้น การปฏิบัติเพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว เร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง ช้าก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง มันก็ไปในแบบเดียวกัน

ธรรมทาน จาก http://mindcyber.com


วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

สอน "อานาปานสติ" พัฒนาศักยภาพสมอง การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้

สอน "อานาปานสติ" พัฒนาศักยภาพสมอง
การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้



     อ่านข่าว ว่ามีการนำ อานาปานสติ มาใช้จัดการเรียนการสอนนักเรียน และการบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้ 
    ทั้งสองเรื่องสร้างความปลื้มปีติ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการนำธรรมไปเป็นทาน ขออนุโมทนาเรื่องราวมีดังต่อไปนี้

      มองในแง่การตลาดอาจคิดเช่นนั้นได้ แต่ถ้าโรงเรียนไม่ได้หวังสร้างกระแส และนำหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้อย่างจริงจัง ย่อมเกิดผลดีต่อเด็กตามมา
      กว่า 5 ปีของการนำวิธีสอนแบบ Mindfulness in Education หรืออานาปานสติ มาบูรณาการกับการเรียน เห็นผลลัพธ์จากเด็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนและชีวิต คงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการเป็นตัวจริงของโรงเรียนนานาชาติ ดิ อเมริกัน สคูล ออฟ แบงค็อก (The American School of Bangkok : ASB) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของรองผู้อำนวยการโรงเรียน "นิศานาถ ตะเวทิกุล"
     เธอเล่าว่าปัจจุบันปัญหาสังคมมีอยู่ทุกโรงเรียน การที่เด็กมาโรงเรียนแล้วไม่มีความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสมาธิเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเด็ก ดังนั้นหากโรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ต้องช่วยกันดูแลด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ เพื่อทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียน 
     อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีนักเรียน 44 ชาติผสมผสานกัน หากจะให้เน้นเรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งคงไม่ได้ "นิศานาถ" จึงเริ่มต้นด้วยการนำบทวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศทั้งนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ หรือประเทศแถบยุโรป ซึ่งมีการวิจัยมาแล้วว่า การจับลมหายใจช่วยให้สมองทำงานได้ดี มาเป็นตัวเชื่อมต่อทางความคิดให้นักเรียนเกิดความสนใจในการทำสมาธิ 
     "สิ่งที่เราไม่ทำเลยคือการบังคับ เพราะรู้ว่าถ้าบอกนักเรียนให้ต้องมานั่งสมาธิถือว่าจบเลย เขาจะต่อต้านทันที และไม่ยอมให้เราคุยกับเขาอีกแล้ว ซึ่งเด็กทุกคนของเราจะทำสมาธิ มากน้อยแตกต่างกัน บางคนที่ซนมาก นั่งนิ่งนานไม่ได้ ต้องให้เขานั่งเปิดตา หลายครั้งเราเน้นการเดินสมาธิ โดยประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่ด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ ให้สติอยู่ที่กาย จิตอยู่ที่ดนตรี"
      อานาปานสติจะนำไปใช้กับเด็กทุกระดับชั้น แต่แตกต่างตามช่วงวัย ตัวอย่างเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือระดับ Middle School โรงเรียนจะสอนเด็กเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายบวกกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่ค่อยเที่ยง แต่เมื่อเป็นระดับ High School จะมีวิชา Stress Management ซึ่งอยู่ในหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 
      "ไม่ใช่แค่การสอนให้เด็กจับลมหายใจ แต่เราต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า นักเรียนระดับโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะมีความเครียดมากกว่าเด็กเล็ก คือทำให้รู้ก่อนว่าความเครียดคืออะไร แล้วมีวิธีใดคลายความเครียด หลังจากนั้นจะสอดแทรกเรื่องลมหายใจเข้าไป หากเขาได้ทำแล้วรู้สึกนิ่งจะชอบเอง ซึ่งเมื่อเด็กชินกับการจับลมหายใจ จะสามารถนำไปใช้กับการสอบ และการอ่านหนังสือ"
      เป้าหมายของเธอคืออยากให้นักเรียนประสบความสำเร็จสูงสุด ทั้งด้านการเรียน และชีวิตส่วนตัว เพื่อจะได้เป็นบุคคลที่มีความสุขอย่างแท้จริง และมีความสำเร็จด้านการงานต่อไป หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิต 
     นอกจากนี้ "นิศานาถ" ยังบอกอีกว่าเร็วนี้ ๆ มีโอกาสเข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และในระยะต่อไปจะเข้าไปเรียนรู้เพื่อนำหลักสูตรของ มจร. ซึ่งมีหลักสูตรเฉพาะที่สอนคนนานาชาติมาผสมผสานกับหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อให้ได้หลักสูตรที่เหมาะสมกับนักเรียนนานาชาติ 
      ทั้งนี้ ด้วยจุดเด่นของโรงเรียนที่นำอานาปานสติมาใช้ในการเรียนการสอน ทั้งยังช่วยเสริมถึงการจัดตั้ง PGA International Preparatory Golf Academy ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.โดยเป็นที่รู้กันว่า ASB มีความโดดเด่นด้านกอล์ฟอยู่แล้วก่อนที่จะขยายมาสู่การเปิดโรงเรียนสอนกอล์ฟเต็มตัว การเปิดสอนลักษณะนี้ถือเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย "โทนี่ มีชัย" เป็นหนึ่งในผู้ร่วมดำเนินโครงการ
      โปรแกรมการสอนจะมีหลายรูปแบบ รับทั้งนักเรียนที่เรียนแบบพาร์ตไทม์และฟูลไทม์ ในส่วนของฟูลไทม์จะรับนักเรียนระดับชั้น ม.3-6 โดยช่วงเช้าเป็นการเรียนวิชาการตามปกติ ส่วนช่วงบ่ายจะเรียนเกี่ยวกับกอล์ฟโดยเฉพาะ เป็นโปรแกรมที่ฝึกให้เป็นนักกอล์ฟระดับโลก แต่ถ้านักเรียนไม่ได้เลือกเส้นทางนี้อาจเลือกเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพได้ 
   นอกจากนั้น โรงเรียนได้ติดต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีหลักสูตร Golf Management แล้วประมาณ 10 แห่ง เมื่อเด็กเรียนจบจากที่นี่สามารถไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยพันธมิตรได้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายนักเรียนรุ่นแรกแบบพาร์ตไทม์ 30 คน และฟูลไทม์ 12 คน ในเบื้องต้นจะเน้นตลาดนักเรียนจากมาเลเซียและสิงคโปร์
      "เรากล้าใช้คำว่า PGA เพราะว่าโค้ชของเราทั้งหมดเป็นสมาชิก PGA ตอนนี้มีนักเรียนมาดูโรงเรียนกันแล้ว ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ที่ผ่านมามีโค้ชระดับประเทศ และระดับโลกพาเด็กมาเรียนกับเรา เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะคนละแบบ เราก็จะนำอานาปานสติเข้าไปปรับให้เขาเกิดความสมดุล เพราะบางคนมีความทะเยอทะยานมาก หรือบางคนจิตไม่นิ่ง ซึ่งเมื่อเขาหาจุดสมดุลได้แล้วจะทำให้มองเกมได้ชัดเจนมาก" 
       ถึงตรงนี้ "นิศานาถ" กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีนักเรียนจากแคมปัสสุขุมวิท และบางนารวม 800 กว่าคน เปิดสอนชั้นอนุบาลถึง ม.6 ตั้งเป้ามีนักเรียนเพิ่มขึ้น 30% การคัดเลือกนักเรียนค่อนข้างละเอียด ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญ และยอมรับ Mindfulness in Education ด้วย
       "เราไม่ได้มองจำนวนนักเรียนเป็นสำคัญ แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่มีอยู่เป็นคนเก่ง และดีที่สุด ซึ่งเมื่อผู้ปกครอง และนักเรียนมีความสุขแล้ว เขาจะบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เราคิดว่าความจริงใจของเราจะทำให้ธุรกิจโตโดยธรรมชาติ และมั่นคง ถ้าคุณบอกว่าความสำเร็จคือการมีนักเรียนเป็นพันคน แต่ยังมีความเครียด และกลุ้มกับปัญหาถือว่าไม่สำเร็จ"
      "แต่ถ้าเรามาทำงานแล้วมีความสุข ให้นำความสุขนั้นมาช่วยพนักงาน และนักเรียน เพื่อให้พวกเขามีความสุข และประสบความสำเร็จได้ ก็จะส่งผลให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น และเติบโตตามมาเอง"
      อาจเพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีปัญหามากขึ้น จึงทำให้โรงเรียนนานาชาติสายเลือดไทยหลายแห่งเริ่มนำเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน
      บางโรงเรียนเห็นว่านี่เป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่าง และน่าจะเป็นจุดขายสำหรับดึงดูดผู้ปกครองในการเลือกสรรโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพให้กับบุตรหลาน

       และอีกเรื่องหนึ่งประโยชน์ของสมาธิ ในความก้าวหน้าของการแพทย์ คือ

 การบำบัดเพื่อให้มีสติรู้ทันความคิดช่วยดับโรคซึมเศร้าได้
         วารสารทางการแพทย์แลนเซตรายงานว่า การบำบัดโดยการทำสมาธิแบบมีสติรู้ทันความคิด (Mindfulness-Based Cognitive Therapy) ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนหลายล้าน ในการบำบัดอาการจากโรคซึมเศร้าที่กำเริบขึ้นมาอีก
        นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบเปรียบเทียบการบำบัดด้วยวิธีนี้กับการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่ออาการกำเริบ และพบว่าการบำบัดแบบมีสติรู้ทันความคิดให้ผลออกมาดี และเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยเรียนรู้การตั้งสติและเข้าใจถึงความคิดด้านลบที่ผุดขึ้นมาในใจและหายไปได้

       หน่วยงานสาธารณสุขในอังกฤษและเวลส์รณรงค์ให้แพทย์เสนอการบำบัดวิธีนี้กับผู้ป่วย ขณะที่โดยปกติแพทย์มักจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ป่วยเป็นระยะเวลานานและมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก
      ในการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 212 คน ที่เสี่ยงจะมีอาการกำเริบ และบำบัดโดยวิธีที่เรียกว่าการมีสติรู้ทันความคิด ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ลดจำนวนยาลง ผู้ฝึกสอนให้กลุ่มตัวอย่างเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ให้ตระหนักถึงสัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าและวิธีรับมือเพื่อไม่ให้อาการกำเริบ
       นักวิจัยนำผลที่ได้ในกลุ่มตัวอย่างนี้ไปเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาเป็นระยะเวลา 2 ปี และพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบในทั้งสองกลุ่ม มีจำนวนพอ ๆ กัน แต่ผู้ที่บำบัดด้วยการฝึกมีสติรู้ทันความคิดหลายคนค่อย ๆ เลิกใช้ยาไปในที่สุด
      นักวิจัยชี้ว่าการบำบัดแบบการมีสติรู้ทันความคิด อาจเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับคนที่ไม่ต้องการหรือไม่ประสงค์จะกินยาไปนาน ๆ และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนนับล้าน ที่มีอาการโรคซึมเศร้ากำเริบและต้องใช้ยาเป็นประจำ
      ดร. เกว็น แอดส์เฮด จากราชสมาคมจิตแพทย์ บอกว่าผลการวิจัยนี้มีนัยสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามหาทางให้หายจากโรคและเป็นหลักฐานชี้ว่าการมีสติรู้ทันความคิดเป็นการบำบัดที่จิตแพทย์ควรจะต้องพิจารณาใช้เป็นทางเลือก แต่ ดร. แอดส์เฮดชี้ว่างานวิจัยไม่ได้เสนอว่าการบำบัดวิธีนี้สามารถนำไปใช้กับโรคซึมเศร้าได้ทุกประเภท และไม่ได้ระบุให้นำไปใช้แทนการบำบัดด้วยยาสำหรับคนที่มีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลหรือคนที่คิดฆ่าตัวตาย

http://www.prachachat.net/

บีบีซีไทย - BBC Thai
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

ฤทธิ์-ปาฎิหาริย์ โดย พุทธทาสภิกขุ

พระศาสดา ทรมานคน บางคน ที่เข้าไปเผ้า พระองค์ ในที่ประชุมใหญ่ และพระองค์ ทรงบันดาล ด้วย อิทธาภิสังขาร เฉพาะผู้นั้น ให้เห็น หรือ ได้ยิน อย่างนี้ อย่างนั้น เพื่อทำลาย ทิฎฐิ หรือ มานะ บางอย่าง ของเขาเสีย        เมื่อผู้ที่ทำการต่อสู้กัน ต่างก็มีฤทธิ์ด้วยกัน นั่นย่อมแล้วแต่ อำนาจจิต ของใคร จะสูงกว่า หรือ มีกำลังแรงกว่า เมื่อผู้มีฤทธิ์ ฝ่ายหนึ่ง ได้บันดาล ให้ทุกๆ คนในที่นั้น เห็นภาพ อันน่ากลัว มาคุกคาม อยู่ตรงหน้า

ฤทธิ์-ปาฎิหาริย์

โดย พุทธทาสภิกขุ 
      เรื่องของฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ นับว่าเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ยังมัวอยู่มาก ในบรรดา เรื่องที่ยังมัวอยู่ หลายเรื่อง ด้วยกัน และดูเหมือน จะเป็นเพราะ ความที่มันเป็น เรื่องมัว นี่เอง ที่เป็นเหตุ ให้มีผู้สนใจ ในเรื่องนี้ อยู่เรื่อยๆ มาเป็นลำดับ อย่างไม่ขาดสาย และมากกว่า ที่ถ้ามันจะเป็น เรื่องที่กระจ่าง เสียว่า มันเป็นเรื่อง อะไรกันแน่ หมายความว่า ถ้าเราทราบดีว่า ฤทธิ์ คืออะไร และเป็นเรื่อง เหมาะสำหรับใคร โดยเฉพาะแล้ว เชื่อว่า จะทำให้มีผู้สนใจ เรื่องนี้ น้อยเข้า เป็นอันมาก        ท่านผู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ ไม่เคยปรากฏว่า ได้รับผล อัน"เด็ดขาดแท้จริง" อย่างไร จากฤทธิ์นั้น ทั้งทางวัตถุ และความสุขในส่วนใจ ฤทธิ์ เป็นเรื่องจริง สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า ฤทธิ์ คืออะไร และ ตนเป็นผู้ที่ ตกอยู่ใน ภูมิแห่งใจที่ต่ำ จนผู้มีฤทธิ์ จะออกอำนาจฤทธิ์ บังคับ เมื่อไรก็ได้ แต่สำหรับ ผู้มีฤทธิ์ หรือ ผู้ที่รู้เรื่องฤทธิ์ดี หรือมีกำลังใจ เข็มแข็ง เท่ากับ ผู้มีฤทธิ์ จะเห็นว่า ฤทธิ์นั้น เป็นเพียงเรื่อง "เล่นตลก" ชนิดหนึ่ง เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ แยบคายมาก ลึกซึ้งมาก        พระพุทธองค์ ทรงสะอิดสะเอียน ในเมื่อจะต้องมีการแสดงฤทธิ์ เว้นแต่ จะเป็น การจำเป็น จริงๆ ทรงห้าม พระสาวก ไม่ให้แสดงฤทธิ์ พระองค์เอง ก็ตรัสไว้ใน เกวัฎฎสูตร๑ ว่า พระองค์เอง ก็ไม่พอพระทัย ที่จะทรมานใคร ด้วยอิทธิปาฎิหาริย์ และ อาเทศนาปาฎิหาริย์ เพราะมันพ้องกันกับ วิชากลางบ้าน ซึ่งพวกนักเลงโต ในสมัยนั้น เล่นกันอยู่ เรียกว่า วิชาคันธารี และมนต์มณิกา พระองค์ พอพระทัยที่สุด ที่จะใช้ อนุสาสนีปาฎิหาริย์ คือ การพูดสั่งสอนกัน ด้วยเหตุผล ที่ผู้ฟังจะตรองเห็นตามได้เอง อันเป็น การทรมาน ที่ได้ผลเด็ดขาด ดีกว่าฤทธิ์ ซึ่งเป็นของชั่วขณะ อันจะต้องหาวิธีทำให้ มั่นคง ด้วยการสั่งสอน ที่มีเหตุผล อีกต่อหนึ่ง ในภายหลัง        แต่ถึงแม้ว่า ฤทธิ์จะเป็น เรื่องหลอกลวงตา อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่อง ที่น่าสนใจอยู่บ้าง เพราะมันเป็นสิ่งที่ท่านผู้มีฤทธิ์ เคยใช้ต่อต้าน หรือ ทำลายอุปสรรค ของท่านสำเร็จมาแล้ว เป็นอันมากเหมือนกัน เมื่อเราปวดท้อง เพราะอาหารเน่าบูดในท้อง ยาขนานแรก ที่เราต้องกิน ก็คือ ยาร้อน เพื่อระงับความปวด ให้หายไปเสียขณะหนึ่งก่อน แล้วจึง กินยาระบาย ถ่ายของบูดเน่าเหล่านั้นออก อันเป็นการแก้ให้หายเด็ดขาด ในภายหลัง ทั้งที่ ยาแก้ปวดท้อง เป็นเพียง แก้ปวดชั่วคราว ไม่ได้แก้ สมุฎฐาน ของโรค มันก็เป็น ยาที่มีประโยชน์ อยู่เหมือนกัน ในเมื่อเรารู้จักใช้ เปรียบกันได้กับ เรื่องฤทธิ์ อันท่านใช้ ทรมานใคร ในเบื้องต้น แล้ววทำให้มั่นคง ด้วยปัญญา หรือ เหตุผลในภายหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น        แต่ถ้าไม่มีการทำให้มั่นคง ด้วยเหตุผล ที่เป็นปัจจัตตะ หรือ สันทิฎฐิโก ในภายหลัง ผลที่ได้มักไม่สมใจ เช่นเดียวกับ กินเพียง ยาระงับ ความเจ็บปวด อย่างเดียว แต่หาได้ ถ่ายโทษร้าย นั้นออกเสียไม่ มันก็กลับเจ็บอีก หรือ กลายเป็นโทษร้าย อย่างอื่นไป ควรใช้กำลังฤทธิ์ ในเบื้องต้น ใช้ปัญญา หรือ เหตุผล ในภายหลัง ย่อมได้ผลแนบแนียน และไพศาลกว่า ที่จะได้เพียงอย่างเดียว แต่อย่างเดียว คนบางพวก เลื่อมใสในศาสนา ด้วยอำนาจปาฏิหาริย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จูงให้เข้า ปฏิบัติศาสนา จนได้รับ ผลของศาสนานั้นแล้ว แม้จะ มารู้ภายหลังว่า เรื่องฤทธิ์ เป็นเรื่องหลอก เขาก็ละทิ้ง เฉพาะเรื่องของฤทธิ์ แต่หาได้ ทิ้งศาสนา หรือความสุข ที่เขาประจักษ์ กับเขาเอง ในภายหลังนั้นไม่        แต่มีปรากฏ อยู่บ้างเหมือนกัน ที่คนบางคน เลื่อมใสฤทธิ์ อย่างเดียว เข้ามาเป็นสาวก ของพระพุทธองค์แล้ว หาได้ทำให้ตน เข้าถึงหัวใจ แห่งพุทธธรรม ด้วยปัญญาไม่ ต้องหันหลัง กลับไปสู่ มิจฉาทิฎฐิ ตามเดิม เช่น สุนักขัตตะลิจฉวีบุตร เป็นต้น แต่ก็มีมากหลาย ที่ถูกทรงชนะ มาด้วยฤทธิ์ แล้วได้รับการอบรม สั่งสอนต่อ ได้บรรลุ พระอรหัตตผลไป เช่น ท่านพระองคุลิมาล เป็นต้น จึงเป็นอันว่า เรื่องฤทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ น่ารู้สนใจ อยู่ไม่น้อย แม้จะไม่เป็นการสนใจ เพื่อฝึกฝนตน ให้เป็นผู้มีฤทธิ์ แต่ก็เป็น การสนใจ เพื่อจะรู้สิ่งที่ควรรู้ ในฐานะที่ตน เป็นนักศึกษา หาความแจ่มแจ้ง ในวิชา ทั่วๆไป ต่อไปนี้ จะได้วินิจฉัย ในเรื่องฤทธิ์นี้ เป็นเพียง แนวความคิดเห็น ที่ขยายออกมา สำหรับ จะได้ช่วยกัน คิดค้นหาความจริง ให้พบใกล้ชิด เข้าไปหาจุด ของความจริง แห่งเรื่องนี้ ยิ่งขึ้นเท่านั้น        ในบาลี พระไตรปิฎก เราพบเรื่องของ ฤทธิ์ ชั้นที่เป็น วิชชา หรือ อภิญญา หนึ่งๆ แสดงไว้ แต่ลักษณะ หรือ อาการว่า สามารถทำได้ เช่นนั้นๆ เท่านั้น หามีบทเรียนหรือ วิธีฝึกกล่าวไว้ด้วยไม่ อันท่านผู้อ่าน จะอ่านพบได้จาก พระบาลี มหาอัสสปุรสูตร หรือ สามัญญผลสูตร แล้ว, ในบาลี คล้ายๆ กับ ท่านแสดงว่า เมื่อได้พยายามฝึกจิต ของตนให้ผ่องใส จนถึงขนาด ที่เหมาะสม แก่การใช้มันแล้ว ฤทธิ์นั้นก็เป็นอันว่า อยู่ในกำมือ ต่อมาในชั้น อรรถกถา และคัมภีร์พิเศษ เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยเฉพาะ ได้อธิบายถึง วิธีฝึกฝน เพื่อการแสดงฤทธิ์ ไว้โดยตรง และดูคล้ายกับว่า ท่านประสงค์ ให้เป็น บุรพภาค ของ การบรรลุมรรคผล เสียทีเดียว        ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า เรื่องฤทธิ์ นี้เป็น เรื่องของพุทธศาสนา โดยตรง หรือ เป็นส่วนหนึ่ง ของพุทธศาสนา ในบาลีมัชฌิมนิกาย มีพุทธภาษิตว่า พระตถาคต สอนแต่เรื่องความทุกข์ กับ ความพ้นทุกข์ เท่านั้น ๒ ทั้งเรื่อง ของฤทธิ์ ก็ไม่เข้า หลักโคตมีสูตรแปดหลัก แต่หลักใด หลักหนึ่ง การที่เรื่องของฤทธิ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนาได้ ก็เป็น การเทียบเคียง โดยส่วนเปรียบว่า ผู้ที่ฝึกจิต ของตน ให้อยู่ในอำนาจ อาจที่จะ บรรลุมรรคผล ได้ ในทันตาเห็น นี้แล้ว จิตชนิดนั้น ก็ย่อมสามารถ ที่จะ แสดงฤทธิ์ เช่นนั้นๆ ได้ ตามต้องการ เมื่อต้องการ, และ อีกประการหนึ่ง ฤทธิ์ เป็นเครื่องมือ อย่างดี ที่จะ ทรมานบุคคล ประเภท ที่ไม่ใช่ นักศึกษา หรือ นักเหตุผล ให้มาเข้ารีต ถือศาสนา ได้, ในยุคพุทธกาล ยังเป็น ยุคแห่งจิตศาสตร์ ไม่นิยม พิสุจน์ค้นคว้า กันใน ทางวัตถุ เช่น วิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน มหาชน หนักไปในทางนั้น บรรดาศาสดา จึงจำเป็น ที่จะต้องมี ความรู้ ความสามารถ ในเรื่อง ฤทธิ์ นี้เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งด้วย เราอาจกล่าวได้ว่า ฤทธิ์ เป็นของคู่กันกับ ลัทธิคำสอน มาตั้งแต่ ดึกดำบรรพ์ ก่อนพุทธกาล ซึ่งศาสดานั้น ใช้เป็นเครื่องมือ เผยแพร่ ศาสนาของตน แม้พระพุทธองค์ ซึ่งปรากฏว่า เป็นผู้ที่ทรง เกลียดฤทธิ์ ก็ยังต้องทรงใช้บ้าง ในบางคราว เมื่อจำเป็น ดังที่ปรากฏอยู่ ในบาลี หลายแห่ง        ครั้งก่อนพุทธกาล นานไกล ในยุคพระเวท พระเวทยุคแรกๆ ก็มีแต่คำสั่งสอน ในการปฏิบัติและบูชา เท่านั้น ครั้นตกมายุคหลัง เกิดพระเวทที่สี่ (อรรถวนเวท) ซึ่งเต็มไปด้วยเวทมนต์ อันเป็นไปในการให้ ประหัตประหาร  ล้างผลาญ กัน หรือ ต่อสู้ ต้านทาน เวทมนต์ ของศัตรู ขึ้นด้วยอำนาจ ความนิยม ของมหาชน หรือ อาจกล่าวได้ อีกอย่างว่า ตามอำนาจ สัญชาตญาณ ของ ปุถุชน นั่นเอง นับได้ว่า ยุคนี้เป็นมูลราก ของสิ่งที่ เรียกกันว่า "ฤทธิ์" และนิยม สืบกันมา ด้วยเหตุที่ว่า มหาชน ชอบซื้อ "สินค้า" ที่เป็นไปทำนองฤทธิ์ มากกว่า เหตุผลทางปรัชญา ถ้าศาสนาใด ด้อยในเรื่องนี้ ก็จะมีสาวก น้อยที่สุด จะได้แต่ คนฉลาด เท่านั้น ที่จะเข้ามาเป็นสาวก ถ้าเกิดการแข่งขัน ในระหว่างศาสนา ก็เห็นจะเป็น ฤทธิ์ อย่างเดียว เท่านั้น ที่จะนำความ มีชัย มาสู่ตนได้ ในเมื่อให้ มหาชนทั้งหมด เป็นกรรมการตัดสิน คือ ให้พวกเขา หันเข้ามา เลื่อมใส และเพราะเหตุนี้เอง ในบาลี จึงมีกล่าวประปรายถึง ฤทธิ์ ส่วนในอรรถกถา ได้กล่าวอย่าง ละเอียดพิสดาร พระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าว วิธีฝึกฤทธิ์ ไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหนังสือ ที่แต่งขึ้น เพื่อเอาชนะน้ำใจ ชาวเกาะลังกา นับตั้งแต่ พระสังฆราช แห่งเกาะนั้น ลงมา อันนับว่า เป็นหนังสือ เล่มสำคัญที่สุด ของท่านผู้นี้ และได้กล่าวไว้ ใน อรรถกถาขุททกนิกาย ว่า พระศาสดาของเรา ทรงแสดงฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ แข่งกับ ศาสดานิครนถเดียรถีย์ อันเรียกว่า ยมกปาฎิหาริย์ และเล่าเรื่อง พระศาสดาทรงแสดงปาฎิหาริย์ ย่อยๆ อย่างอื่นอีก เป็นอันมาก นี่ชี้ให้เห็นชัดทีเดียวว่า จะอย่างไรก็ตาม ได้มีการต่อสู้ และ แข่งขัน ในระหว่าง เพื่อนศาสดา ด้วยใช้ฤทธิ์ เป็นเครื่องพิสูจน์ ตามความนิยม ของมหาชน เป็นแน่แท้ ในยุคนั้น, แต่นักต่อสู้นั้นๆ จะเป็น องค์พระศาสดาเอง ดังที่ท่านผู้นี้กล่าว หรือ ว่าเป็นพวกสาวกในยุคหลังๆ หรือ ยุคของท่านผู้กล่าวเอง หรือ ราว พ.ศ. ๙๐๐ ก็อาจเป็นได้ ทั้งสองทาง        อาจมีผู้แย้งว่า ถ้าเป็นยุคหลัง ทำไมเรื่องนี้ จึงไปอยู่ใน บาลีเดิมเล่า?  พึงเข้าใจว่า บาลีพระไตรปิฎก ของเรานี้ ปรากฏว่า มีอยู่คราวหนึ่ง ซึ่งถูก ถ่ายจากภาษาสิงหล กลับสู่ภาษาบาลี แล้ว เผา ต้นฉบับเดิม เสีย และผู้ที่ทำดังนี้ ก็คือ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เป็น เอกอัคร แห่ง พระอรรถกถาจารย์ ทั้งหลาย นั่นเอง, ท่านผู้นี้เป็น พราหมณ์ โดยกำเนิด จึงนำให้ นักศึกษา หลายๆ คนเชื่อว่า ถ้าเรื่อง ของ พราหมณ์ หลายเรื่อง (เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องพระราหู จับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในสังยุตตนิกาย เป็นต้น) ได้เข้ามาปนอยู่ใน พระไตรปิฎก ถึงกับบรรจุ เข้าใน พระพุทธโอษฐ์ ก็มีนั้น ต้องเป็นฝีมือ ของท่านผู้นี้ หรือ บุคคลประเภท เดียวกับท่านผุ้นี้ แต่ที่ท่านบรรจุเข้า ก็ด้วย ความหวังดี ให้คนละบาป บำเพ็ญบุญ เพราะสมกับ ความเชื่อถือ ของคน ในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า พระศาสดา มิได้ทรงสอน เรื่องฤทธิ์ หรือ เรื่องฤทธิ์ มิได้เข้าเกี่ยวข้อง กับพุทธศาสนา ในครั้งพุทธกาลแล้ว มันก็น่าจะ ได้เข้าเกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นแน่. ท่านผู้ที่ดึงเข้ามา เกี่ยวข้อง ก็ได้ทำไป ด้วยความหวังดี เพื่อให้ พุทธศาสนา อันเป็นที่รัก ของท่าน ต้านทานอิทธิพล ของศาสนาอื่น ซึ่งกำลังท่วมทับ เข้ามานั่นเอง มิฉะนั้น น่ากลัวว่า พุทธศาสนา จะเหลืออยู่ ในโลกน้อยกว่า ที่เป็นอยู่ ในบัดนี้มาก        เมื่อเหตุผลมีอยู่ดังนี้ ข้อปัญหาต่อไป จึงมีอยู่ว่า เราจะปรับปรุง ความคิดเห็น และความเชื่อถือ ในเรื่องฤทธิ์ นี้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า ฤทธิ์ เป็นเพียง เครื่องประดับ หรือ เครื่องมือ อย่างหนึ่ง ซึ่ง พุทธศาสนา เคยใช้ประดับ หรือ ใช้ต้านทานศัตรู มาแล้ว แต่หาใช่เป็น เนื้อแท้ของ พุทธวจนะ ซึ่งกล่าวเฉพาะ ความดับทุกข์ โดยตรงไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อเราในบัดนี้ จะเข้าเกี่ยวข้อง กับฤทธิ์ อย่างดีที่สุด ที่จะทำได้ ก็เท่ากับ ที่เป็นมาแล้ว นั่นเอง เราไม่อาจถือเอามัน เป็นสรณะ อันแท้จริง อย่างไรได้ เพราะเหตุผล ดังที่ ข้าพเจ้า จะได้แสดงต่อไป ตามความรู้ ความเห็น ฝากท่านผู้รู้ ช่วยกัน พิจารณาหาความจริง สืบไป        คำว่า ฤทธิ์ แปลว่า เครื่องมือ ให้สำเร็จ ตามต้องการ แต่ความหมายจำกัด แต่เพียงว่า เฉพาะ ปัจจุบัน ทันด่วน หรือ ชั่วขณะเท่านั้น เมื่อ หมดอำนาจ บังคับของฤทธิ์ แล้ว สิ่งทั้งปวง ก็กลับคืน เข้าสู่สภาพเดิม ผู้มีกำลังจิตสูง ย่อมแสดงฤทธิ์ ได้สูง จนผู้ที่มีฤทธิ์ด้วยกัน ต้องยอมแพ้ เพราะมีอำนาจใจ ต่ำกว่า จิตเป็นธรรมชาติ อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้มีการฝึก ให้ถูกวิธี ของมันแล้ว ย่อมมีอำนาจมากพอ ที่จะครอบงำ สิ่งทั้งหลาย ที่มีจิตใจ ด้วยกัน ได้หมด ช้างป่าดุร้าย และน่าอันตรายมาก ถ้าเราไม่ได้ ค้นพบ วิธีฝึก มันแล้ว ก็ไม่อาจ ได้รับประโยชน์ อะไร จากมันเลย คนเรา ที่รู้จักคิดว่า ช้างนี้ คงฝึกได้ อย่างใจ และค้นพบ วิธีฝึก บางอย่าง ในขั้นต้น ก็นับว่า เป็นผู้ที่ทำ สิ่งที่ยากมาก แต่ผู้ที่ค้นพบ เรื่องของจิต และ วิธีฝึกมัน โดยประการต่างๆ นั้น นับว่า ได้ทำสิ่ง ที่ยาก มากกว่า นั้นขึ้นไปอีก         ในยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อได้มีการสนใจ ในเรื่องจิตกันขึ้น นักจิตศาสตร์ ได้พยายาม ทดลอง โดยอาการต่างๆ แยกกันไป คนละสาย สองสาย จนในที่สุด ก็ได้ลุถึง คุณสมบัติ อันสูงสุด ที่จิต ที่เขาฝึก ถึงที่สุด ในแง่นั้นๆแล้ว สามารถจะ อำนายประโยชน์ ให้ได้ อันจำแนกได้ โดยประเภทหยาบๆ คือ         (๑) เข้าถึงธรรมชาติ ที่เรียกว่า ทิพย์ แล้วหา ความเพลิดเพลิน จากสิ่งที่เรียกว่า วิสัยทิพย์ นั้นๆ       (๒) มีอำนาจบังคับทางจิต สำหรับบังคับจิต ของเพื่อนสัตว์ ด้วยกัน เพื่อเอาผล เช่นนั้น เช่นนี้ ตามความปรารถนา       (๓) สามารถรู้เรื่อง เกี่ยวกับ สากลจักรวาล พอที่จะให้ตน หมดความอยากรู ้อยากค้นคว้า อีกต่อไป เพราะตนพอใจ ในความรู้นั้นๆ เสียแล้ว       (๔) สามารถปลงวาง สลัดออกเสีย ซึ่งความทุกข์ ทางใจ อันได้แก่ ลัทธิศาสนา ที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ในจิต ทั้งมวล นับตั้งแต่ สุขใน ฌาน สมาธิ มรรค ผล นิพพาน เป็นลำดับๆ        พวกใด ดำเนินสายแห่งการค้นคว้าของเขา เข้าไปในดงรกแห่งฤทธิ์วิธี ย่อมได้ผลใน สองประเภท ข้างต้น (ข้อ ๑-๒) พวกที่ดำเนินไป เพื่อฟันฝ่า รกชัฎ แห่งตัณหา อันเป็น ก้อนหินหนัก แห่งชีวิต ก็ได้ ผลประเภทหลัง (ข้อ ๓-๔) พวกแรก คือ พวกฤทธิ์ พวกหลัง คือ ศีลธรรม และ ปรัชญาในทางจิต ทั้งสองประเภทนี้ เป็นที่นิยม ของมหาชน อย่างคู่เคียง กันมา ในยุคที่ความนิยม ในทางจิตศาสตร์ ยังปกคลุม ดินแดน อันเป็นที่เกิดขึ้น แห่งวิชานี้ คือ ชมพูทวีป หรือ อินเดียโบราณ มหาชนในถิ่นนั้น ต่างได้รับผล สมประสงค์ กันทั้ง ฝ่ายฤทธิ์ และ ฝ่ายความพ้นทุกข์ ของจิต แต่ในที่นี้ จะได้กล่าวเฉพาะ เรื่องฤทธิ์ อย่างเดียว งดเรื่องของความพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเสีย        ผู้ที่ฝึกใจตามวิธีที่ค้นคว้า และ สั่งสอนสืบๆ กันมา หลายชั่วอายุคน ได้ถึงขึดสุด อย่างถูกต้องแล้ว สามารถบังคับใจตนเอง ให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ อันเกี่ยวกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ความรู้สึกในใจ อันเกิดขึ้นจาก รูป เสียง เป็นต้น นั้นๆ แล้ว ฝึกวิธี ที่จะส่งกระแสจิตนั้นๆ ไปครอบงำ จิตผู้อื่น ให้ผู้อื่นรู้สึกเช่นนั้นบ้าง ในทางรูป เสียง กลิ่น ฯลฯ ทุกประการ ผู้ที่มีกำลังจิตอ่อนกว่า ทุกๆ คน แม้จะมี จำนวนมากมาย เท่าใด ก็จะรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นเดียวกันหมด เพราะใจของเขา ถูกอำนาจจิต ของผู้ที่ส่งมา ครอบงำ เขาไว้ ครอบงำ เหมือนกันหมด ทุกๆ คนจึงได้เเห็น หรือ ได้ยิน ได้ดมตรงกันหมด เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม บ้านเมืองที่งดงาม ฯลฯ ตามแต่ที่ผู้ออกฤทธิ์ ได้สร้างมโนคติ ขึ้นในใจ ของเขา แล้วส่งมาครอบงำ อำนาจครอบงำ อันนี้ เป็นไปแนบเนียน สนิทสนม ผู้ที่ถูกงำไม่มีโอกาสรู้สึกตัวในเวลานั้น ว่าถูกครอบงำ ทางจิต และ สิ่งที่รู้สึกนั้น ไม่ใช่ของจริง เมื่อเรานอนหลับ และ กำลังฝันอยู่ เราไม่อาจรู้ตัวว่า เราฝัน เรากลัวจริง โกรธจริง กำหนัดจริง ฉันใด ในขณะที่ เราถูกงำ ด้วยอำนาจฤทธิ์ ก็รู้สึกว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทุกอย่างฉันนั้น        ผู้ออกฤทธิ์บางคน สามารถออกอำนาจบังคับ เฉพาะคน ยกเว้นให้บางคน คนในหมู่นั้น แม้นั่งอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน จึงเห็นต่างๆกัน ดังเราจะได้ยิน ในตอนที่ เกี่ยวกับ พระศาสดา ทรมานคน บางคน ที่เข้าไปเผ้า พระองค์ ในที่ประชุมใหญ่ และพระองค์ ทรงบันดาล ด้วย อิทธาภิสังขาร เฉพาะผู้นั้น ให้เห็น หรือ ได้ยิน อย่างนี้ อย่างนั้น เพื่อทำลาย ทิฎฐิ หรือ มานะ บางอย่าง ของเขาเสีย        เมื่อผู้ที่ทำการต่อสู้กัน ต่างก็มีฤทธิ์ด้วยกัน นั่นย่อมแล้วแต่ อำนาจจิต ของใคร จะสูงกว่า หรือ มีกำลังแรงกว่า เมื่อผู้มีฤทธิ์ ฝ่ายหนึ่ง ได้บันดาล ให้ทุกๆ คนในที่นั้น เห็นภาพ อันน่ากลัว มาคุกคาม อยู่ตรงหน้า เช่นนั้นๆ แล้ว ถ้าหาก อีกฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจจิต สูงกว่า ก็อาจรวบรวม กำลังจิตของตน เพิกถอนภาพ อันเกิดจาก อำนาจฤทธิ์ ของฝ่ายแรก กวาดให้เกลี้ยง ไปเสียจาก สนามแห่งวิญญาณ แล้วบันดาล ภาพอันน่ากลัว ซึ่งเป็น ฝ่ายของตน ขึ้น คุกคาม บ้าง แม้ว่า ในขณะที่คนนั้นๆ ถูกอำนาจฤทธิ์ ครอบงำ อยู่ และ เขาไม่อาจทราบว่า นั่นเป็น กำลังฤทธิ์ ดุจตกอยู่ใน ขณะแห่งความฝัน ก็ดี เขายังได้รับการศึกษา และความเชื่อ มาก่อนแล้วว่า มีวิธี ที่จะต่อสู้ ต้านทาน ซึ่งเป็น การเพิกถอนฤทธิ์ ของฝ่ายหนึ่ง เช่นนั้นๆ ด้วย จึงโต้ตอบ กันไปมา จนกว่า ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง จะสิ้นฤทธิ์        ในรายที่ไม่ได้ทำการต่อสู้ ประหัตประหาร กันโดยตรง แต่ต่อสู้ เพื่อแข่งขัน ชิงเกียรติยศ อย่างใด อย่างหนึ่ง เพื่อเรียกเอา ความเลื่อมใส ของมหาชน มาสู่ พวกของตัวนั้น ก็ทำนองเดียวกัน คือ มีการต้านทาน เพื่อมิให้ อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงฤทธิ์ ของเขาได้สมหมาย ซึ่งถ้าหาก การต้านทาน นั้นสำเร็จ ฝ่ายโน้นก็แพ้ แต่ต้นมือ ถ้าต้านทานไม่สำเร็จ ก็ต้องหาอุบาย กวาดล้าง อำนาจฤทธิ์ ในเมื่อฝ่ายหนึ่ง ได้ส่งมาแล้ว ซึ่งถ้ายังทำไม่ได้อีก ตนก็ตกเป็น ฝ่ายแพ้ ฤทธิ์ของผู้ที่มี ดวงใจบริสุทธิ์ เป็นอริยบุคคล ย่อมมีกำลังสูง และหนักแน่น ยั่งยืนกว่า ของฝ่ายที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส เป็นธรรมดา เพราะเหตุว่า จิตของผู้มีกิเลส ถูกกิเลสตัดทอน เสียตอนหนึ่งแล้ว ยังอาจที่จะ ง่อนแง่น คลอนแคลน ได้ ในเมื่ออิฎฐารมณ์ หรือ อนิฎฐารมณ์ มากระทบ ในขณะที่ ต่อสู้กันนั้น อีกประการหนึ่ง ผู้ไม่มีกิเลส ย่อมไม่ทำเพราะเห็นแก่ตัว จึงมีกำลัง ปีติปราโมทย์ ความเชื่อ และ อื่นๆ ซึ่งเป็นดุจเสบียงอาหาร ของฤทธิ์ มากกว่า ย่อมได้เปรียบ ในข้อนี้        ในรายที่ไม่มีการต่อสู้กัน เป็นเพียงการทรมาน ผู้ที่มีกำลังใจ อ่อนกว่า แต่มีมานะ หรือ ความกระด้าง เพราะเหตุบางอย่าง ย่อมเป็นการง่ายกว่า ชนิดที่ต่อสู้กัน คนธรรมดา สตรี เด็กๆ เพียงแต่อำนาจสะกดจิตชั้นต่ำๆ ซึ่งยังมีเหลือออกมา ถึงสมัยปัจจุบันนี้บ้าง ก็อาจที่จะเป็น อำนาจงำ ให้ตกอยู่ใต้ อำนาจของผู้แสดง นั้นได้ เสียแล้ว แม้ว่าสมัยนี ้จะเป็นสมัย ที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ในเรื่องนี้ และทั้งผู้ฝึก ก็มิได้เป็น "นัก" ในเรื่องนี้ อย่างเอาจริง เอาจัง ก็ในสมัยโบราณ คนทุกคนเชื่อในเรื่องฤทธิ์ และผู้ฝึก ก็ฝึก อย่างเอาจริง เอาจัง เรื่องของฤทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่แนบเนียน และเป็นเรื่องจริง ได้อย่างเต็มที่ ในสมัยนั้น ความที่ทุกคนเชื่อก็ดี ความที่ผู้ฝึกเองก็เชื่อ และตั้งใจฝึกเป็นอย่างดี ก็ดี ล้วนแต่เป็น สิ่งส่งเสริม ในเรื่องฤทธิ์ ให้เป็นเรื่องจริง เรื่องจัง ยิ่งขึ้นไปอีก เราอาจกล่าวได้ว่า ในยุคโบราณยุคหนึ่ง ความเชื่อในเรื่องนี้ มีเต็มร้อยเปอร์เซนต์ อิทธิพลในเรื่องฤทธิ์ จึงมีได้ เต็ม ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันถูกฝา ถูกตัว แก่กัน ครั้นมาบัดนี้ ทั้งความเชื่อ และการฝึกฝน มีเหลือน้อย ไม่ถึง ห้าเปอร์เซนต์ เลยกลายเป็น เรื่องเหลวไหล เสียเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ บางที มีแต่ตัว ไม่มีฝา บางทีมีฝา แต่ไม่มีตัว ต่างฝ่าย ต่างก็ขี้เกียจเก็บ เลยทิ้งให้ ค่อยหาย สาปสูญไป ความยั่วยวน อันเกิดจากฝีมือ ของนักวิทยาศาสตร์ แผนปัจจุบัน กำลังมีอิทธิพล มากขึ้นๆ ในอันที่จะ ให้จิตของคนเรา ตกต่ำ อ่อนแอ ต่อการที่จะบังคับตัวเอง ให้ว่างโปร่ง เพื่อเป็นบาทฐาน ของฤทธิ์ ได้ เมื่อว่างผู้แสดงฤทธิ์ ได้ นานเข้า ความเชื่อในเรื่องนี้ ก็สาปสูญไป ทั้งของผู้ที่จะฝึกและของผู้ที่จะดู        บัดนี้ จะย้อนกลับไปหาเรื่องของการฝึก เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ดีขึ้น (มิใข่เพื่อรื้อฟื้นขึ้นฝึกกัน) ผู้ที่จะฝึกในเรื่องฤทธิ์ ต้องเป็นผู้ที่มีใจ เป็นสมาธิง่าย กว่าคนธรรมดา เพราะเรื่องนี้ มิใช่เป็นสาธารณะ สำหรับคนทั่วไป แม้ผู้ที่เชื่อและตั้งใจฝึกจริงๆ ถึงฝึกสมาธิได้แล้ว ท่านยังกล่าวว่า ร้อยคนพันคน จึงจะมีสักคนหนึ่ง ที่จะเขยิบตัวเอง ขึ้นไป จนถึงกับ แสดงฤทธิ์ได้ การปฏิบัติ เพื่อรู้อริยสัจ หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้ เสียอีก ที่เป็นสาธารณะกว่า! คนบางประเภท หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยเหตุผล ที่แวดล้อมเหมาะสม จูงความคิด ให้ตกไป ในแนวแห่ง ความเบื่อหน่าย และปล่อยวางได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวกับ การฝึกสมาธิเลย จึงกล่าวย้ำ เพื่อกันสงสัย ได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับคนธรรมดา เราๆ การฝึกเพื่อพระนิพพาน เป็นของง่ายกว่า ที่จะฝึกในเรื่องฤทธิ์ ให้ได้ถึงที่สุด ยิ่งถ้าจะฝึกเพื่อทั้งฤทธิ์ และพระนิพพาน ทั้งสองอย่างด้วยแล้ว ก็ยิ่งยาก มากขึ้นไปอีก ในหมู่พระอรหันต์ ก็ยังมีแบ่งกันว่า ประเภทสุกขวิปัสสก และประเภทอภิญญา คือแสดงฤทธิ์ไม่ได้ และแสดงได้        ผู้ฝึกสมาธิ เพื่อมรรคผลนิพพานนั้น เมื่อใจเป็นสมาธิแล้ว ก็น้อมไปสู่ การคิดค้นหาความจริง ของชีวิต หรือ ความทนทุกข์ ของสัตว์ ว่า มีอยู่อย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร จะดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ส่วนผู้ที่ฝึก เพื่อฤทธิ์นั้น แทนที่จะน้อมไปเพื่อคิดค้นหาความจริง เขาก็น้อมสมาธิ นั้นไปเพื่อ การสร้างมโนคติ ต่างๆ ให้ชำนาญ ซึ่งเป็นบทเรียน ที่ยากมาก เมื่อเขาสร้าง ภาพแห่งมโนคติ ได้ด้วยการบังคับจิต หรือวิญญาณของเขา ได้เด็ดขาด และ คล่องแคล่ว แล้ว ก็หัดรวมกำลังส่งไป ครอบงำสิ่งที่อยู่ใกล้ จะขยายวงกว้าง ออกไปทุกที เพื่อให้ ภาพแห่งมโนคติ นั้นครอบงำใจ ของผู้อื่น ตามที่ เขาต้องการ ความยากที่สุด ตกอยู่ที่ตนจักต้อง ดำเนินการ เปลี่ยนแปลงภาพ นั้นๆ ให้เป็นไป ตามเรื่องที่ต้องการ ดุจการฉายภาพยนต์ ลงในผืนจอ แห่งวิญญาณ ของผู้อื่น จึงเป็นการยากกว่า การที่เจริญสมาธิ เพื่อสงบนิ่ง อยู่เฉยๆ หรือคิดเรื่องใด เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องเดียว โดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี ความลำบาก นั้นๆ มิได้เป็นสิ่งที่ อยู่นอกวิสัย เพราะเมื่อจิต ได้ถูกฝึก จนถึงขีด ที่เรียกว่า "กัมมนีโย" นิ่มนวล ควรแก่ การใช้งานทุกๆ อย่างแล้ว ก็ย่อมใช้ได้ สมประสงค์        ฤทธิ์ตามที่กล่าวไว้ ใน นิทเทสแห่งอภิญญา ของฝ่ายพุทธศาสนานั้น ดูคล้ายกับ ยืมของใครมาใส่ไว้ เพื่อแสดง ความสามารถของจิต อันสูงสุดประเภทนี้ ให้ครบถ้วน นอกจาก ไม่เป็นไป เพื่อความพ้นทุกข็ โดยตรงแล้ว ยังไม่ค่อย ตรงกับ อาการที่ พระพุทธองค์ ทรงแสดงอยู่บ้าง ในบางคราว ในบาลีไม่ได้แสดงวิธีฝึก ไม่ได้แสดงวี่แววว่า ควรฝึก หรือจำเป็น และไม่ค่อยปรากฏว่า พระมหาสาวกองค์ได้ ได้รับประโยชน์ หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงนำความเข้าใจ ให้เกิดขึ้นว่า ถ้าหากว่า เรื่องอภิญญาเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องที่กล่าว เพื่อแสดง คุณสมบัติของจิต ที่ฝึกแล้วถึงที่สุด ให้ครบถ้วนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ของพระสาวกเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การฝึกก็เป็นอันว่า ต้องต่างกันด้วย ไม่มาก ก็น้อย จากวิธีที่เขาฝึกกัน ในสายของฤทธิ์โดยตรง เพราะเรื่องโน้น เป็นเรื่องของ ผู้ขวนขวาย เพื่อเสียสละ มิใช่เรื่องของ ผู้ขวนขวาย เพื่อรับเอา ในพระบาลี กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อจิตเป็น จตุตถฌาน คล่องแคล่ว ดีแล้ว ก็น้อมไปเพื่อ อภิญญา เช่นนั้นๆ สำเร็จได้ ด้วยอำนาจ จตุตถฌาน นั่นเอง เมื่อการน้อมนั้นๆ สำเร็จก็จะสามารถทำได้ เช่นนั้นๆ ดูเหมือนว่า ถ้า น้อมไปเพื่ออภิญญานั้นๆ ไม่สำเร็จ ก็น้อมเลยไป เป็นลำดับๆ ข้ามไปหา การคิดค้น เรื่องอริยสัจ เลยทีเดียว คล้ายกับว่า มีไว้เผื่อเลือก หรือ สำหรับคน ที่มีอุปนิสัยบางคน ในบาลีบางแห่ง ไม่มีกล่าวถึง อภิญญาเลย เมื่อกล่าวถึง จตุตถฌานแล้ว ก็กล่าวถึง วิชชาสาม คือ ระลึกถึงความเป็นมา แล้วของตนในอดีต ความวิ่งวนของหมู่สัตว์ ในสังสารวัฎ และเหตุผล เรื่อง อริยสัจ เป็นที่สุด พระบาลี ชนิดหลังนี้ มีมากกว่า ที่กล่าวถึง อภิญญา และที่กล่าวถึง จตุตถฌาน แล้ว กล่าวอริยสัจเสียเลย ก็มีมากกว่ามาก        ในอรรถกถาซึ่งเป็น คำอธิบายของพระบาลี ก็มิได้กล่าววิธีฝึกฤทธิ์นั้นๆ มักแก้ในทางศัพท์ ทางข้อธรรมะแท้ๆ หรือ มิฉะนั้น ก็ทางนิยายเลยไป แต่ได้ท้าให้ค้นดู เอาจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค เพราะ ผู้ร้อยกรอง อรรถกถา กับผู้แต่งวิสุทธิมรรค เป็นคนเดียวกัน หรือ วิสุทธิมรรคมีอยู่แล้ว ก่อนการแต่งอรรถกถานั้นๆ         ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีเรื่องของการฝึกฤทธิ์อย่างพิสดาร จนกล่าวได้ว่า ไม่มีคัมภีร์ใด มีพิสดารเท่า ในวงของ คัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนา ด้วยกัน เพราะความพิสดารนั่นเอง จำเป็นที่ข้าพเจ้า จะต้องขอร้อง ให้ท่านพลิกดู ในหนังสือชื่อนั้น ด้วยตนเอง ด้วยว่า เหลือที่จะ นำมาบรรยาย ให้พิสดาร ในที่นี้ได้ เมื่อกล่าวแต่ หลักย่อๆ ก็คือ ขั้นแรก ท่านสอน ให้หาความชำนาญ จริงๆ ในการเพ่งสีต่างๆ และวัตถุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม จนติดตาติดใจ เพื่อสะดวกในการ สร้างภาพแห่งมโนคติ ในขั้นต่อไป อันเรียกว่า เพ่งกสิณ ซึ่งเป็น สิ่งมีมา ก่อนพุทธกาล มิใช่สมบัติ ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ ผู้เพ่งต่อฤทธิ์ ต้องหนักไปใน การฝึกกสิณ เท่ากับ ผู้เพ่งต่อพระนิพพาน หนักไปใน การฝึกแห่ง อานาปานสติ และกายคตาสติ เป็นต้น ดิน น้ำ ไฟ ลม คือ ส่วนผสมของสิ่งต่างๆ ในโลก หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า โลก เท่าที่ปรากฏแก่ ความรู้สึก ของคนทั่วไป ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง

ธรรมทาน http://pohdhamma.blogspot.com

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนากรรมกร

"ทำการงาน เอาเหงื่อล้างกิเลส แล้วผลของเหงื่อนั้น เป็นประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ด้วย ไม่ใช่ให้แก่ตัวเองอย่างเดียว ฉะนั้น เราถือเอา ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน และเมื่อใช้วิธีนี้ ผมว่า เหมาะที่สุด แก่โลก แก่มนุษย์"

วิปัสสนากรรมกร

โดย พุทธทาสภิกขุ
       เรื่องทำการงานนี่ เคยพูดกันมาหลายหนแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ตามใจ ทำวิปัสสนา ในการงานนี้ เราต้องการอยู่เสมอ ยังต้องการอยู่ จะเป็นครั้งนี้ หรือ ครั้งพุทธกาลโน้น ก็ตามใจ เรื่องมันเรื่องเดียว เรื่องวิปัสสนา คือ ต้องเห็นความจริง เห็นข้อเท็จจริง เห็นความจริงที่ทำลายความเห็นแก่ตัวนี่จะจำจะจดก็จดประโยคสั้นๆ นี้ว่า วิปัสสนาที่แท้จริง เป็นการเห็นความจริง ที่ทำลาย ความเห็นแก่ตัว เท่านี้ก็พอแล้ว
       นี่คือวิธีที่เราจะเห็นความจริง ชนิดทำลายความเห็นแก่ตัว มีอีกหลายแบบ หลายอย่าง แล้วมันก็ไม่จำเป็น จะต้องเหมือนกัน ไปหมดมันปรับปรุงได้ ตามกาละสมัย ข้อนี้ อย่าว่าแต่ ธรรมะเลย แม้แต่วินัยพระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสอนุญาตไว้ ว่าถ้าอันไหน ไม่เหมาะสม จะเพิกถอนแก้ไขก็ได้พระพุทธเจ้า ท่านตรัสอนุญาต ไว้อย่างนี้ เมื่อจะปรินิพพาน เมื่อวันจะนิพพาน เราไม่สมัครที่จะ แก้ไขกันเอง ฝ่ายเถรวาท ยินดีที่จะเอา ตามตัวหนังสือ ไม่แก้ไข ดัดแปลง อะไร เหมือนพวกมหายาน ถ้าแก้ไข ก็แก้ไขได้ แต่ไม่อยากจะแก้ไข รักษาไว้ ตามตัวหนังสือ
     นี้หมายความว่า สิ่งต่างๆ นั้น ปรับปรุงแก้ไขตามควรแก่กาลเทศะได้ เดี๋ยวนี้ แม้พระแต่ละองค์ ก็ไม่ได้เป็นอยู่ เหมือนครั้งพุทธกาล เนื่องจาก โลกมันเปลี่ยนแปลง ในระหว่าง ๒,๐๐๐ กว่าปีนี้ โลกมันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลง หลายอย่าง หลายประการ แต่ว่า ส่วนใหญ่ เปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ เราจะต้องทำอะไรให้มันเป็นประโยชน์มากขึ้นจะเนิบๆ เนือยอยู่ เหมือนครั้งพุทธกาล นั้นไม่ได้ เราทำผิด หรือทำถูก ก็ตามใจ แต่ว่า เราทิ้งอะไรบางอย่าง จากครั้งพุทธกาลกันก็มี ในส่วนการเป็นอยู่ หรือการทำประโยชน์ผู้อื่น อย่างนี้เราทิ้ง แต่ หลักธรรมนั้นทิ้งไม่ได้ นี่ หลักวิปัสสนา หลักธรรมะทิ้งไม่ได้ ต้องเป็นหลักที่ทำลายความเห็นแก่ตัว ถอนความเห็นแก่ตัว ถอนความรู้สึกว่าตัว ในที่สุด อันเดียว คงไว้ ส่วนวิธีการต่างๆ ที่จะให้สำเร็จผลตามนั้น ก็ต้องปรับปรุงได้ ต้องเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะแก่ กาละสมัยได้ แล้วก็ต้องเป็นคนที่มี ความเข้าใจถูกต้อง ในวัตถุประสงค์ ไม่คุ้มดีคุ้มร้าย เหมือนพระเหล่านี้ ผมพูดตรงๆ เรียกว่า เขาเป็น คนคุ้มดีคุ้มร้าย มีความเห็นแก่ตัวมากเราถือเอาตามหลักธรรมะ ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้แล้ว มันมีทางมากทาง ไปอ่านดูใหม่ ในเรื่องนิมิตตายตนสูตร ทางแห่งนิมิต ๕ ประการ นั้น ไปอ่านดู ด้วยการเรียน ด้วยการฟัง ด้วยการสอน 
       ด้วยการคิดนึก ด้วยการ ทำความเพียร มันมีได้หลายทาง แต่ว่า ตลอดเวลานั้น ต้องให้มี ความพอใจ ในการกระทำ ของตัว ว่าถูกต้อง ที่เรียกว่า ปีติ (ให้เกิดความอิ่มใจ) คือ ทำใจคอ ให้ปกติ ถ้าใจคอปกติ ก็เป็นสมาธิ เท่าที่จำเป็น หรือ พอเหมาะ พอดี ที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ไม่ใช่สมาธิ เหลือเฟือ ให้มันพอดี กับเวลา ใช้เวลาไม่มากดอก ก็จะได้ความรู้ ที่เป็น การบรรลุธรรม เป็นการตรัสรู้ ในเวลานั้น เพราะทุกอย่าง มันเป็นไปเท่าที่ ธรรมชาติ ต้องการ พอเหมาะพอดีไม่มากไม่เกิน

เปรียบเทียบวิธีการวิปัสสนา
      ทีนี้จะยกตัวอย่างให้ฟัง ได้ง่ายๆ เหมือนกับเราหาไม้ มาเยอะแยะไปหมด หาอิฐ หาปูนซิเมนต์ หาเหล็ก มาเยอะแยะไปหมด แล้วก็ไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มี ที่จะให้เป็นเรือน เป็นกุฎิ อะไรขึ้นมา เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มี หรือว่า เพราะหลงใหล แต่ในการหา สะสมไม้ สะสมอิฐ สะสมเหล็ก สะสมปูน สะสมทัพพสัมภาระ อย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำ จนกระทั่ง ของนี้ผุพังไปในที่สุด จนกระทั่ง สมภารนี้ก็ตายไป ไม่ได้ทำกุฎิ หรือทำบ้านทำเรือน ของคนชาวบ้าน นี้อย่างนี้ทีนี้ อีกอย่างหนึ่ง ก็ตรงกันข้าม คือหาไม้มา ๔-๕ อัน ทำเข้าไปหมด หาไม้มาอีก ๔-๕ อัน ทำเข้าไปหมด หาอิฐมา ๑๐๐-๒๐๐ ก้อน ทำเข้าไปหมด หากระเบื้องอะไร ทำเข้าไปหมด พอหมดก็จบกัน ของก็หยุดหา อย่างนี้ก็มี นี่เรียกว่า พอดี ทำพอดี แล้วทำตาม common sense ง่ายๆ คือ ตามความคิดนึกธรรมชาติง่ายๆ เพราะเราไม่ได้หามาก แล้วไม่มัวหลง แต่ที่จะหาสิ่งก่อสร้าง แล้วก็ไม่ได้สร้าง
       ทำวิปัสสนา ทำอานาปานสติ แบบที่เขียนอยู่ในกระดานดำ เวลานี้ มีช่องทางที่จะเฟ้อ ในการมีสมาธิ ก็ได้ คือ มุ่งกันแต่เรื่อง มีสมาธิ แล้วก็พยายาม ในขอบเขต ที่กว้างมากเกินไป แล้วมันก็ไม่ได้ง่ายๆ ไม่พอง่ายๆ แล้วสมาธินั้น ก็ไม่มีวันที่จะได้ใช้ สำหรับเป็นวิปัสสนา เพื่อพิจารณาให้เกิดญาณ อย่างนี้ทีนี้ พวกคุ้มดีคุ้มร้าย พระคุ้มดีคุ้มร้าย เหล่านี้ ได้ยินแต่เรื่องสมาธิ แล้วกระท่อนกระแท่น จับหลักไม่ถูก มันก็ไปทำไม่ได้ แต่มันยังมีอยาก อยากมาก อยากจะทำให้ได้ อยากจะทำสมาธิ ให้วิเศษวิโส กว่าใครเลย แล้วมันก็ทำไม่ได้ ก็พยายามอยู่แต่อย่างนี้ ก็เลยไม่ได้ทำส่วนที่เป็นปัญญาได้ คือโง่ ถึงขนาดที่จะฟังคำพูดเหล่านี้ ที่ตรงนี้ ไม่เข้าใจ เมื่ออาทิตย์ก่อนมีความโง่มากขนาดนั้น จึงฟังคำพูด ที่เราพูดตรงนี้ อาทิตย์ก่อนนั้น ไม่เข้าใจ
      ทีนี้ย้อนไปดูถึงคนบางคน เป็นฆราวาสด้วยซ้ำไป ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็บรรลุธรรมะที่ตรงนั้นเอง บรรลุมรรคผลที่ตรงหน้าพระพุทธเจ้า ที่ตรงนั้นเอง ไม่ได้ไปทำสมาธิที่ไหน ไม่ได้ไปทำวิปัสสนาที่ไหน ก็บรรลุมรรคผล ที่ตรงนั้นเลย อย่างนี้มันเป็นอย่างไร ลองคิดดู ไม่มีเวลา ที่เกิดอาการที่ว่าจะต้องไปหาไม้หาไร่มาสะสมมาปลูกเรือน มาอะไรทำนองนี้
      แล้วยังมีวิธีที่จะรู้ธรรมะที่จะหลุดพ้นมากๆ วิธี อย่างที่กล่าวไว้ใน นิมิตตายตนสูตร ขอให้ไปสนใจทำให้เข้าใจจนสามารถทำให้มันเป็นเรื่อง ของปัญญา ของวิปัสสนา นี้อยู่เรื่อยไป โดยไม่ต้องคำนึงถึง สมาธิหลับตา หรือ 
สมาธิที่มากมาย เกินความจำเป็น ก็ยังทำได้ ถ้าเราพิจารณา ด้วยความ ตั้งใจจริง จะให้มันมีแรงมากจนถึงขนาดมันเป็นสมาธิอยู่ในตัวมันเอง เรื่องนี้เคยพูด หลายแห่ง หลายหน หลายตัวอย่างแล้ว พอเราจะตั้งใจจะทำการพิจารณาคือ คิด สมาธิมันก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และอัตโนมัติด้วย นี่พอดีไม่มากไม่น้อย
      เราเอาพวกที่เขาจัดไว้ว่า เป็น วิปัสสนาญาณิกะ ดีกว่า คือพวกที่เอาการพิจารณานำหน้าสมาธิ ถ้าทำเอาสมาธินำหน้าวิปัสสนา อย่างนั้น เขาเรียกว่า สมถญาณิกะ คือทำสมาธิมากๆ มากๆ หลายอย่างหลายแบบ จนเกิดสมาธิ จึงค่อยน้อมไปสู่ วิปัสสนา ทีหลัง มันก็ใช้นิดเดียว นอกนั้นก็เหลือ เหลือใช้ อย่างนี้มันก็ได้ คือว่า ทำสมาธิให้มาก แล้วลากวิปัสสนาไปตาม เรียกว่า สมถญาณิกะ นี่จัดแบ่งกันทีหลังให้ชื่อทีหลัง
       ถ้าว่าเป็นวิปัสสนาญาณิกะ ก็คือเอาการคิดการพิจารณานำหน้าเรื่อย ลงมือคิดพิจารณาเลย สมาธิถูกลากมาเอง การเพ่งพิจารณา มันลากสมาธิตามมาเอง แล้วมันลากมาได้ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น มันไม่อาจที่จะลากมาให้มากเกินกว่าที่จำเป็นได้ นี่คือแบบวิธีที่ลัดที่สุดของพวกที่เป็นฆราวาสหรือพวกสมัยนี้ที่จะทนไหว เขาก็ถือกันว่าทั้ง ๒ แบบนี้ใช้ได้ แม้แต่พวกพระ พวกพระจะเลือกเอาแบบไหนก็ได้ ผมแนะว่า อย่าหามกัน มากเกินไป แบกหามกัน มากมายเกินไป แล้วก็ไม่รู้จะใช้อะไร นี่คือ เราเรียกว่าพวกแบบฃกระได ก็ได้ เที่ยวแบกกระไดอยู่เรื่อย แต่ไม่รู้ว่าจะไปพาดขึ้นบ้านเรือนใครที่ไหน ไม่รู้ว่า ปราสาทอยู่ที่ไหน เที่ยวแบกกระได อยู่เรื่อย นี่พวกทำสมาธิล้วนๆ เป็นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะไปจดเข้าที่จุดไหนสำหรับการพิจารณา
       นี้อยากจะใช้ วิธีวิปัสสนานำหน้า ลากสมาธิไป คือว่า พอเพ่งคิดเท่าไร สมาธิจะเกิดขึ้น เท่านั้น เพ่งคิดให้แรงเข้า สมาธิก็เกิดขึ้นแรงเข้า ตามธรรมชาติ ธรรมดา เป็นเหตุให้เขาเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้น ด้วยอำนาจปัญญา คือทำอย่างนี้ นี่มันมีผลเหมือนกัน คือว่า ทำลายกิเลส เหมือนกัน เราก็เอาอย่างนี้ดีกว่า ที่เรียกว่า ทำอย่างร่ำรวย มีผลงานมาก เพราะ พวกที่บรรลุธรรมะ ตรงที่ หน้าที่นั่งของพระพุทธเจ้า ชั่วไม่กี่นาทีนั้น ก็แบบนี้ ทั้งนั้น มันเป็นแบบคิดพิจารณา หรือ วิปัสสนานำหน้า แต่ว่า ถ้าเขาเป็น คนมีนิสัย มีอุปนิสัย มีจิต ลักษณะเหมาะสม ที่เขาอาจจะมีสมาธิ มากมาย เต็มที่ก็ได้ เขาจึงไม่ต้องการ ถ้าบรรลุธรรมะเป็นที่พอใจ ไม่มีความทุกข์ อะไรเสียแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจ ที่จะไปหัดสมาธิ กันทำไมอีก ทั้งๆที่ คนนั้น ถ้าไปหัดสมาธิ แล้วก็จะได้ มากมายทีเดียว คนได้บรรลุธรรมะ ชนิดที่ทำความดับทุกข์ได้ จะสนใจที่จะไปหัดสมาธิ ทำไมอีก มันก็มี บ้านเรือน อยู่พอสมควร แก่อัตภาพแล้ว จะไปหาไม้ หาอิฐ หาปูน อะไรมากองไว้ ทำไมอีก เป็นอย่างนี้ เป็นต้น
       แล้วก็มีกรณีพิเศษ คือว่า คนที่ได้บรรลุพระอรหันต์ โดยไม่ได้ไปทำวิปัสสนา ที่ในป่า ที่ไหน บรรลุตรงหน้าพระพุทธเจ้านั้น เขาแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ได้ มีปฏิสัมภิทา มีอะไรต่างๆ นี้ก็เป็นได้ เพราะว่า จิตใจคนนั้น พิเศษมาแต่เดิม พอรู้ธรรมะในส่วนดับทุกข์สิ้นเชิง แล้วก็รู้เรื่องอื่น ที่เกี่ยวข้องกัน แล้วก็มีจิตใจที่เป็นสมาธิ ขนาดแสดงฤทธิ์ได้ โดยในตัวเองได้ ไม่ต้องไปฝึก
โดยเฉพาะ

      เดี๋ยวนี้ คนเรามันหมดปัญญา หมดท่าเข้า ก็เลยคว้า คว้าไปตามเรื่อง คว้าไปตามเรื่อง คือว่า ตามที่มีสอน มีแนะ มีสอน อยู่กันเป็นแบบพิธีรีตอง เป็นธรรมเนียมประเพณี ฉะนั้นจึงเรียกว่า กระท่อนกระแท่น เหมือนที่ผมเรียกเมื่อตะกี้ มันกระท่อนกระแท่น, กระท่อนกระแท่น เหมือนอย่างว่าในรายที่หาไม้ หาปูน หาเหล็ก หาสัมภาระมากๆ อย่างนี้ แล้วมันกระท่อนกระแท่น ก็ตรงที่ว่า ไม่มีความรู้เลยว่า จะใช้ไม้ อย่างไหน สักกี่อัน จะใช้ปูนสักเท่าไร ใช้อิฐสักเท่าไร มันกระท่อนกระแท่นตรงที่ หาอันนั้น มากเกินไป หาอันนี้ น้อยเกินไป บางอย่างไม่ได้หาเลย อย่างนี้เป็นต้น ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบรรลุธรรมะ กันจริงๆ เดี๋ยวนี้ มัน กระท่อน กระแท่น แบบนี้
      ความรู้ทางปริยัตินั้น ก็กำลังขยายกันออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ จะทำวิปัสสนานี้ ก็ต้องเรียนอภิธรรม อภิธรรมนั้น คือ ปริยัติอย่างยิ่ง ปริยัติแห่งปริยัติทีเดียว เพราะอธิบายคำมันมากไป นี่ทำวิปัสสนา ก็ต้องเรียนอภิธรรม อย่างนี้เป็นต้น แล้ว หลักสำหรับวิปัสสนานั้น เท่าที่มีอยู่ ในพระไตรปิฎก ก็เหลือเฟือ แสนจะเหลือเฟือ ที่แท้ต้องการเพียงหลัก ในบางสูตร เท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องการ คำอธิบาย ทำนองปริยัติให้มาก ออกไป เรื่องภพ เรื่องภูมิ เรื่องโลก เรื่องส่วนแยกของขันธ์ ของธาติ อายตนะ จนเป็นวิทยาศาสตร์ หลับหูหลับตา ตัวเองก็ไม่เข้าใจ ได้แต่ท่องได้ เท่านั้นเอง

วิปัสสนาแบบสวนโมกข์
      ทีนี้อยากจะพูดให้เข้าเรื่องเสียที ที่เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับสมัยนี้ ที่จริง ก็เคยพูด มาคราวสองคราวแล้ว ผมจำได้ ว่าใช้วิธีที่มันเหมาะ สำหรับ คนสมัยนี้ แล้วก็ย้ำ ย้ำเป็นหลัก เป็นคำสำคัญ ว่า พระเณร อย่าเลวกว่า ชาวบ้าน ยังจำได้หรือเปล่า? ว่าพระเณร อย่าเลว อย่าเหลวไหลกว่า ชาวบ้าน  หมายความว่า เมื่อชาวบ้าน ต้องทำงาน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย อย่างชาวบ้าน ก็บรรลุธรรมะได้ ดังที่ปรากฏ อยู่ในพระคัมภีร์นั้นๆ มาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วบรรลุธรรมะ ที่ตรงนั้นได้ ทั้งที่เป็นฆราวาส และ
ฆราวาสบางคน ก็เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อยู่ในบ้านเรือน
นับจำนวนไม่ไหว เมื่อชาวบ้าน ที่ยังทำมาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เป็นอย่างนี้ ได้แล้ว พระเป็นไม่ได้ มันก็เรื่อง เหลวไหล สิ้นดี ฉะนั้น อย่าอวดดิบอวดดี ให้มันมากไป นักเลย เอาแต่พอเหมือน ที่ชาวบ้าน เขาได้กัน ก็ดีโขอยู่แล้ว
นี่จงเกิดความคิด ที่ฉวยโอกาส เอาการงาน เป็นวิปัสสนา หรือว่า เอาวิปัสสนา ในการงาน มีวิปัสสนา ในการงาน หรือว่า ทำการงาน ให้เป็นวิปัสสนา เสีย นี้ตั้งชื่อเสียใหม่เลยว่า วิปัสสนากรรมกร หรือ วิปัสสนาแบบสวนโมกข์ วิปัสสนาของเรา วิปัสสนาแบบกรรมกร ถ้าใครถามเมื่อไรที่ไหน ก็ตอบว่า วิปัสสนาสวนโมกข์นี้ คือ วิปัสสนา แบบกรรมกร ทำการงาน ให้เป็นวิปัสสนา มีวิปัสสนา ในการงานนั้น แต่ต้องการงาน อย่างแบบของผมแล้วหลักใหญ่ๆ ก็พูดอยู่แล้วว่า ต้องเป็นความ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ให้ยกหู ชูหาง อย่ามีความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าอะไร มาช่วยกำราบอันนี้ได้ อันนั้น ใช้ได้หมด ทีนี้ การงาน ความเหน็ดเหนื่อย ความเสียสละ นี่เป็นพื้นฐาน ถ้ายังไม่ยอมเสียสละ แล้วมันยังเลวเกินไป มันเป็นเรือโกลน ที่ใช้ไม่ได้ แม้แต่จะ

เป็น เรือโกลน คือโกลนมาไม่ดี
      ฉะนั้น อย่างน้อย ต้องมีการแสดง ความไม่เห็นแก่ตัว หรือ ความเสียสละ ความเห็นแก่ตัว ในระดับที่เพียงพอ ให้ดูก่อน เป็นข้อแรก แล้วจึง ขยับขยาย ให้มันยิ่งขึ้นไป โดยแนวนั้น โดยไม่ต้อง เปลี่ยนเรื่อง ให้มันหลายเรื่อง เมื่อถือเอา การงานเป็นวิปัสสนา แล้วก็ให้มันเป็น วิปัสสนา เรื่อยไปจากการงานนั้น
       เราต้องการ ให้ทำงานชนิดที่เป็น การเสียสละ จริงๆ ฉะนั้น จึงบัญญัติไว้ชัดว่า ต้องไม่หวังอะไรตอบแทน อย่าหวังจะได้ อะไรตอบแทน อย่าหวัง จะได้คำ ขอบใจ แม้แต่คำว่า ขอบใจ ก็อย่าหวังจะได้ ความเอาอกเอาใจ พะเน้าพนอ อะไรบางอย่าง ก็อย่าหวังจะได้ แล้วเวลาเจ็บไข้ ถ้าสำหรับผมนี้ เป็นเจ้าของงานจะมีการตอบแทน อะไรบ้าง ก็ขอให้คิดว่า มันเป็นหน้าที่ตามวินัย ที่เพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน จะต้องช่วยเหลือคนเจ็บไข้ แต่ไม่ใช่ธรรมะ ฉะนั้น ให้คงถือ อยู่ไปตามเดิมว่า พวกที่เหน็ดเหนื่อยนั้น ไม่ได้รับอะไรตอบแทน แม้แต่สิ่งของ แม้แต่ขอบใจ แม้แต่ การเอาอกเอาใจ การเอาใจใส่ อย่าหวังเลย ให้มันเป็น
       การกระทำ เพื่อขูดเกลา ความเห็นแก่ตัว ไปโดยส่วนเดียว ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อหน้าที่ ตามหลักจริยธรรมสากล ไปท่าเดียว แต่ผมเรียกว่า ทำงานด้วยจิตว่าง ไปท่าเดียว
ทีนี้ พูดถึงงานที่ทำ ไม่ใช่ต้องเป็น งานแกะสลัก หรือวาดเขียน เหมือนกับ พระคุ้มดีคุ้มร้าย องค์นั้นพูด งานอะไรก็ได้ งานอะไรก็ได้ ทั้งนั้น นี่มันเป็นหลักตายตัว งานอะไรก็ได้ ขนทรายขนดิน ขนหิน ทำอะไรก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น แล้วมีหลักว่า เอาเหงื่อล้างกิเลส ก็แล้วกัน พอผมพูด ประโยคนี้ โปรเฟสเซอร์ฝรั่ง ชูมือสูง เต้นเร่าๆ ไม่เข้าใจ ขอให้ทำชนิดที่เอาเหงื่อล้างกิเลส ก็แล้วกัน หมายความว่า เอาความ ไม่เห็นแก่ตัว นี่ ล้างความ เห็นแก่ตัว ก็แล้วกัน ไม่ใช่ต้องเป็นงานนั้นงานนี้ แต่ทีนี้เมื่อต้องทำงานแล้ว ควรจะทำงานที่ถนัด ต้องทำงานที่ถนัด ดีกว่า ทำงานที่ไม่ถนัด เพราะทำได้ดีกว่า มันไม่เหนื่อยเปล่า มันยังได้ผลดีกว่า แล้วงานที่ถนัดนี้ มันขยับขยายได้ แต่ว่าเป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ แก่พระศาสนามากที่สุด ก็แล้วกัน มันอาจจะทำอย่างอื่นก็ได้ แต่เราจะเน้นมันมา ปรับปรุงมันมา โยงมันมา ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์แก่ศาสนาได้มากที่สุด ก็แล้วกัน

       ทีนี้คนอย่างเรายังไม่มีปัญญาทำอย่างอื่น จึงคิดว่าการแสดงภาพเขียน หรือ ภาพสลักนี้ ดีที่สุด สำหรับเรา เวลานี้ ใช้คำว่า เวลานี้ ช่วยจำไว้ด้วย เวลาอื่น ไม่รับรอง เวลานี้ ในสภาพที่ เหมาะสมที่สุดนี้ งานนี้ จะช่วยเผยแผ่ สิ่งที่ควรจะเผยแผ่ ได้ผลมาก เกินค่าของเหงื่อที่เสียไป เพราะว่างานนี้จะมีประโยชน์ทั้งในทางธรรมะ ในทางประวัติ ในทางโบราณคดี ในทางศิลป กระทั่ง ในทางวัฒนธรรมของคนไทย เพราะทำให้รู้อะไรทุกอย่าง ในแง่เหล่านี้ วัฒนธรรมไทยงอกออกมาจากวัฒนธรรมอินเดียอย่างไร ถ้าคนมีหูตาฉลาด จะดูได้จากภาพหินสลักเหล่านี้ ดูในแง่ศิลปก็ได้ ถ้าดูในแง่ของพุทธประวัติ ก็เห็นได้ไม่น้อยกว่าที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในประเทศไทย เพราะอย่างนี้ ยังไม่มีในประเทศไทย มันเพิ่มส่วน ที่แปลกเข้ามา
       ดูในแง่ธรรมะ ก็เรื่องความว่างนี้ ดูได้ดีกว่า เพราะเขาไม่แสดงรูป พระพุทธเจ้า คงทิ้งเป็น ความว่าง โดยหลักว่า พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่แสดงได้ด้วยรูป ด้วยสิ่งที่มีรูป นี่อย่างนี้ เป็นไปในฝ่ายธรรมะนะ
       ทีนี้ประวัตินั่นประวัตินี่ ที่เป็นเรื่องราวไม่มีในหนังสือพุทธประวัติ ที่อ่าน นี่ดูซิ มาเพิ่มเข้าอีก ในส่วนที่เป็นพุทธประวัติ แล้วในทางโบราณคดีทางอะไรต่างๆ ซึ่งเราพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงปรับปรุง ให้เหงื่อนั้น เสียไปในลักษณะอย่างนี้ นี่เรียกว่า ยิงทีเดียวได้นกหลายตัว ทำการงาน เอาเหงื่อล้างกิเลส แล้วผลของเหงื่อนั้น เป็นประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ด้วย ไม่ใช่ให้แก่ตัวเองอย่างเดียว ฉะนั้น เราถือเอา ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน และเมื่อใช้วิธีนี้ ผมว่า เหมาะที่สุด แก่โลก แก่มนุษย์ ในยุคปรมาณู ยิ่งกว่าจะนั่งหลับหู หลับตา ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไปนั่งหลับหูหลับตา แต่กลางคืน ก็พอแล้ว นี่กลางวัน ใช้วิธี เอาเหงื่อ ล้างกิเลสนี้ ก็ถมไปแล้ว มันลึกซึ้งกว่า มีประโยชน์ กว้างขวางกว่าฉะนั้น อย่าได้คิดว่า จะหัดเขียน หัดแกะ หัดทำ นี่เพื่อจะไปเป็น อาชีพข้างหน้า อย่างนั้น มันทำลายตัวเอง ให้ตกต่ำลงไป แล้วเหงื่อนั้น จะไม่ล้างกิเลส เว้นไว้เสียแต่ว่า ทำเพื่อไม่ให้หวังอะไรตอบแทน หวังแต่จะ ให้ผู้อื่น ได้ตะพึด นี่เรียกว่า เหมือนกับตายแล้ว เรานี้ตายแล้ว ฉะนั้น คำกลอน บทนั้น ยังคงใช้ได้ อยู่เสมอ ทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงาน ให้ความว่าง กินอาหาร ด้วยความว่าง ตายแล้วตั้งแต่ทีแรก เป็นคนตาย อย่ามี หู หัว หาง ไว้ยกกันอีก นี่เรียกว่า คนตาย 
     ทีนี้ ปัญหามันที่อยู่ว่า หัวหางนี้ มันมีสลอนไป ยกกันสลอนไป มีปัญหาเท่านี้ ไม่มีทางอื่น ที่จะกำราบมัน นอกจากว่า มีหลักที่จะทำลาย ความเห็นแก่ตัว โดยทำตน ให้เป็นคนต่ำ ทำตนให้เป็นคนแพ้ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร นี้ดีที่สุด ยกหูชูหาง เมื่อไรเป็นมารเมื่อนั้น แพ้เมื่อไร เป็นพระเมื่อนั้น
นี่เห็นได้แล้วว่า มันเกินไป เกินกว่า พระคุ้มดีคุ้มร้าย ชนิดนี้ จะเข้าใจอุดมคติของเราได้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่จะต้องพูดกับแก ก็เลยไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียว กับพระ ๒-๓ องค์นี้ เพราะ มันไม่มี ประโยชน์อะไร จะพูด แต่ถ้าคุณยังอยากจะพูด ก็อย่าพูดอะไรให้มากนัก เว้นแต่ว่า เราสมัครเป็น กรรมกร มีวิปัสสนา ในการงาน ปรับปรุงการงาน ให้เป็นวิปัสสนาคำว่า กัมมัฎฐาน ก็แปลว่า การงาน กัมมัฏฐาน แปลว่า การงาน เพราะฉะนั้น การงาน ก็เป็น กัมมัฎฐาน ได้ด้วย ถ้าว่า การงานนั้น ไม่เพิ่ม ความเห็นแก่ตัว
       นี่ ระวัง ๆ ๆ อย่าให้การงานอะไร เพิ่มความเห็นแก่ตัว เพิ่มความหวังที่จะได้นั่นได้นี่ ยอมเป็นผู้ สิ้นเนื้อประดาตัว อยู่ตลอดเวลา ให้เหมือนกับ ตายแล้ว เสร็จแล้ว อยู่ตลอดเวลา ยิ่งดี เป็นหลักง่ายๆ ที่ถือปฏิบัติได้ว่า หูหาง มันจะไม่ชูขึ้นมาได้นี่รวมความแล้ว ผมมองเห็นไปแต่ในลักษณะอย่างนี้ว่า วิธีนี้เท่านั้น ที่ประหยัดที่สุด ประหยัดอะไรที่สุด แล้วก็รวดเร็วที่สุด แล้วก็ง่ายดายที่สุด แล้วก็จะไม่ให้พระนี้ เลวกว่าชาวบ้าน เหมือนที่พูดแล้ว โดยวิธีนี้ ฉะนั้น จึงถือว่า วิธีนี้คงจะเหมาะแล้ว สำหรับมนุษย์ ในยุคปรมาณูนี้ ภิกษุสามเณร ในยุคปรมาณูนี้ ใช้ไฟฉายโก้ๆ แทนที่จะใช้ โคมผ้าใส่จอก น้ำมันเนย มันเปลี่ยนไปเท่าไร ฉะนั้น การงาน มันก็ต้อง เปลี่ยน บ้างซิ ที่อยู่ เป็นอย่างไร มันก็ผิดไปกับ ครั้งพุทธกาล ในกุฎิมีอะไร มีตำราท่วมหู ท่วมหัว สารพัดอย่าง มีเครื่องใช้ บางอย่าง ซึ่งไม่ใช่ของพระ มันก็เรียกว่า ผิดไปมากแล้ว สำหรับมนุษย์ ในยุคปรมาณู แล้วไปดูกุฎิ กุฎิอะไร ของพระเถระ เจ้าใหญ่นายโต มีอะไรผิดไป จากครั้ง พุทธกาล มากไปกว่า พวกเรา ที่นี่ อีก เรื่องมันไปกันใหญ่แล้ว เป็นยุคจรวดดาวเทียม ไปด้วย เหมือนกัน เพราะว่า ผู้ปฏิบัติ ที่จะทำลายกิเลสในจิตใจ น่าปรับปรุง ให้มันทันกัน กับยุค ที่มัน พรวดพราด แบบนี้
     ฉะนั้น จึงปรับปรุงในทาง เอา การงาน เป็นวิปัสสนา มีวิปัสสนา ในการงาน เอาเหงื่อ ล้างกิเลส มีหลักสั้นๆ ๓ แบบ วิปัสสนาญาณิกะ แม้แต่ จะหลุดพ้น ตามแบบ ปัญญาวิมุติ ล้วนๆ ก็ยังดี อย่าไปหวัง ให้มากกว่านั้น แล้วอันนี้ มันเหมาะกับ ยุคดาวเทียม มีปัญญาเพียงพอ ที่จะตัดกิเลส อยู่ทุกวัน ก็พอแล้ว การไปนั่งหลับตา ตามโคนต้นไม้นั้น มันก็ทำตามโอกาสเถอะ อย่าไปมัวเมาแต่อย่างนั้นอย่างเดียว เหมือนกับพระที่ว่าแกไม่เข้าใจคำนี้ เราสนใจมาตั้ง ๔๐ ปี แล้ว เรื่องในคำนี้ คำคำนี้ ก่อนแกเกิด ฉะนั้น เรื่องนี้ จึงไม่มีทางจะพูดกันรู้เรื่อง

การเป็นอยู่แบบวิปัสสนากรรมกร
วันนี้เราถือโอกาสตั้งชื่อ การเป็นอยู่แบบนี้ว่า วิปัสสนากรรมกร คุณเห็นแล้วนี่ว่า คนที่มาที่นี่ โดยมากเขาถามว่า ที่นี่ทำวิปัสสนาไหม? ก็บอกเขาเลยว่า วิปัสสนากรรมกร เข้าใจไม่เข้าใจ ก็ตามใจเขา เขาไม่มีเวลาที่จะฟังคำอธิบายเอาเหงื่อล้างกิเลส ไม่เอาเปรียบข้าวสุก ไม่เอาเปรียบข้าวสุก ของชาวบ้าน ถ้าทำเนิบๆ นาบๆ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ตลอดปี ตลอดชาติ ก็ไม่เห็น ได้อะไรขึ้นมา ต้องทำจริง และรุนแรง ทุกอย่าง ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทางสติปัญญา มันจึงจะทันกัน หรือสมกันกับ โลกในยุคดาวเทียม นี้ ขอแต่ว่า เป็นไปใน ทางถูกต้อง ก็แล้วกัน เป็นไปในทาง ทำลาย ความเห็นแก่ตัว มีเท่านั้น มีข้อเดียวเท่านั้นควบคุมทุกอย่าง ให้เป็นไปแต่ ในทาง ทำลาย ความเห็นแก่ตัว นับตั้งแต่ จะกินอาหาร จะอาบน้ำ จะไปถาน ทุกอย่างแหละ ระมัดระวังตัว ให้ดี ให้เป็นการ ทำลายความเห็นแก่ตัว เข้าส้วมแท้ๆ มันก็มีคนเห็นแก่ตัวแล้ว  แล้วไม่ต้อง แก้ตัว พระเณร ทั้งนั้น ที่ใช้ส้วม ไม่มีใครมาช่วย เข้าส้วม ให้เลอะเทอะ แล้วมันก็มีแต่ ความเห็นแก่ตัว เข้าแล้ว นี่เป็นตัวอย่างนะ แล้วอย่างอื่นๆ เช่นว่า ไม่มีความเป็น ระเบียบเรียบร้อย หรือมัน ไม่มีประโยชน์ หรืออะไร นี้ทางหนึ่ง
         แล้วอีกทางหนึ่ง ทำลายประโยชน์ ให้หมดเปลืองไป โดยไม่จำเป็น นี้ก็เป็นเรื่อง ความเห็นแก่ตัว ทางหนึ่งไม่สร้างประโยชน์อะไรขึ้นมา ก็เป็นความเห็นแก่ตัว ทางหนึ่ง มันทำลายประโยชน์ ของผู้อื่น ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น หามาไว้ นี้ก็เป็นความเห็นแก่ตัว จับจ่ายใช้สอย บางสิ่งบางอย่าง ในลักษณะที่จะยกหูชูหางของตัว โดยไม่ประหยัด สิ่งเหล่านั้น นี่ก็เป็นเรื่อง ความเห็นแก่ตัวขอให้วัดทั้งวัด นี้เป็นลักษณะ เป็นนิมิต เป็นเครื่องหมายที่จะวัดว่า มีความเห็นแก่ตัว หรือไม่เห็นแก่ตัว แล้วให้รู้ไว้ว่า เรามีหลักใหญ่ๆว่า จะสร้างวัดนี้ให้พูดได้ ให้ก้อนหินพูดได้ ให้ต้นไม้พูดได้ ให้อะไรๆ มันพูดได้ คือว่า ให้มันแสดงอะไร ที่จับใจผู้เห็น และเกิดความรู้สึกในข้อนี้ เป็นความเงียบ ความสงบ ความหยุด ความว่าง อะไรก็แล้วแต่ฉะนั้น ถ้ามีทุกๆอย่าง ที่ส่อลักษณะ อย่างนั้น อย่าให้มี สกปรก รกรุงรัง หรือเกิด ความคิดไปทางอื่น ที่เราให้ต้นไม้พูดได้ ให้ก้อนหินพูดได้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ ฉะนั้น จะวางก้อนหินสักก้อน ก็วางให้มัน เกิดความหมาย ถ้าโง่เกินไป มันก็เป็นบาป ของคนนั้น ไม่ใช่บาปของเรา เราวางไว้ ในลักษณะ ที่มันจะ มีความหมาย แล้วเขา ไม่รู้ความหมาย นั้น มันไม่ใช่ บาปของเรา นั้นมันบาป ของคนที่มานั้นเอง
       เดี๋ยวนี้คนส่วนมาก ก็ไม่ได้ประโยชน์ ถึงขนาดนี้ เห็นๆอยู่แล้ว พันคน จะได้สักคนหนึ่ง เท่านั้น ที่จะรู้สึก เกิดประทับใจ จากสิ่งต่างๆ ที่แสดงอยู่ แล้วรู้สึกว่า ความหยุด ความไม่ยึดมั่น นี้มันดี ไม่ค่อยมีใครรู้ ไม่ใช่ว่า ก้อนหินจะมีจิต มีวิญญาณ ที่จะคิดนึกรู้สึกอะไรได้ แต่ว่า ลักษณะบางอย่าง ที่เราอาจจะ ถือเอาประโยชน์ได้ แล้วมันก็เป็น ประโยชน์ในอรรถกถา มีภิกษุองค์หนึ่ง บรรลุพระอรหันต์ เพียงแตสักว่า เห็นดอกมะลิป่า ร่วงลงมาจากต้นนั้น ดอกมะลิป่า ไม่ใช่มีชีวิตจิตใจ ร่วงตามธรรมดา ธรรมชาติ ของมัน แต่พระองค์นั้น มองไปแง่ ที่มีความหมาย ไปในทางไม่เที่ยง ไม่มีความหวังอะไรเลยในสิ่งเหล่านี้ ในสิ่งที่เอร็ดอร่อย สวยงาม อะไรนี้ ฉะนั้นจึงเป็น พระอรหันต์ ได้ โดยเห็น สิ่งที่มันทำอะไรไป ตามธรรมชาติ ของมัน ไม่มีจิต มีใจ อะไร
         นี้เรามัน ไม่เป็นอย่างนั้น พอมีอะไรหล่น มีอะไร มันก็ไม่รู้สึกเพราะว่า ใจเรา มันเตลิดเปิดเปิง ไปทางไหนเสียแล้ว ไม่มีโอกาส ที่จะเห็น ดอกไม้ป่าร่วง แล้วเป็นพระอรหันต์ได้เสียแล้ว เพราะว่า ใจของเรา กระด้าง และ เตลิดเปิดเปิง ไปไกลแล้ว จึงเหมาะแล้ว ที่จะเอาเหงื่อ ล้างกิเลส เพราะมันมีแต่ ความกระด้าง มากเสียแล้ว ไม่ละเอียด ละมุนละไม เหมือนตัวอย่างนั้นแต่ว่าโดยทั่วไปนี้ ให้มองดู มันเงียบ มันหยุด ต้นไม้นี้ มันกินอาหารอย่างนี้ มันกินอย่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เรามันกินอาหาร อย่างยึดมั่นถือมั่น วันนี้มีอย่างนี้ มีแกงมีกับอย่างนี้ ถึงปากไม่พูด ก็นึกอยู่ในใจ ว่านี้อร่อย อยากจะได้อีก มีแต่กินอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่เหมือนต้นไม้ มันดูดซึม ไปตามธรรมชาติ ตามระเบียบ สม่ำเสมอ ไม่มีตัวกู-ของกู เหมือนคน
      ถ้าใครดูในแง่ ดังกล่าวนี้ออก ก็แปลว่า คนนั้นได้ฟัง ต้นไม้พูด ได้ยินต้นไม้พูด นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกมากมาย เกี่ยวกับต้นไม้ก็ดี ก้อนหินก็ดี มีอยู่มากมาย ฉะนั้นให้ดูๆ ไว้เรามีหน้าที่ มากกว่าต้นไม้ เรามีอะไรมากกว่าต้นไม้ เราต้องระมัดระวังกว่า ต้องใช้เวลา ให้มีค่ากว่า ใช้คำว่า ต้อง นี้ไม่ถูก แต่มันก็ต้องใช้ คำ นี้ เพราะ มันกระด้าง เกินไปนัก เรียกว่า มันควร "ควรกระทำ" ให้มากกว่าต้นไม้ ดีกว่าต้นไม้ อยู่ในป่า ก็ไม่เห็นป่า ถ้าไม่มีสติปัญญา ไปนั่งโคนต้นไม้ ก็ไม่ได้ยินต้นไม้พูด ฉะนั้น สร้างสติปัญญา ให้เพียงพอ อยู่ตรงนี้ก็จะได้ยินต้นไม้พูด หรือว่า ได้เห็นอะไร เห็นต้นไม้ แสดงธรรมถ้าทำด้วย ความยึดมั่น ในรูปในแบบ ให้มันฝังตัวเข้าไปในต้นไม้ ขุดโพรง เข้าไปอยู่ มันก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้จักต้นไม้ ไม่รู้จัก ประโยชน์ 
ที่จะได้จากต้นไม้โคนไม้ หรือว่า ที่สงัดอื่นๆ ที่เขา รวมเรียกกันว่าที่ สงัด นี้ หมายถึง สิ่งแวดล้อมจิตใจ ไปในทางหยุด ไปในทางว่าง ไปทางสงบสงัด แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อเรา อยู่ในป่าเสียเองแล้ว ก็ควรจะได้รับประโยชน์อันนี้ อย่าเป็นเหมือนกับว่า มันไม่รู้สึกเสียอีก นี่เรียกว่า อยู่ในป่าก็ไม่เห็นป่า ฉะนั้น จงอยู่ในป่าเห็นลักษณะเห็นธรรมชาติ เห็นความจริงอะไรเกี่ยวกับป่า ก็เรียกว่า อยู่ในป่าแล้วก็เห็นป่า นี้ก็ทำไปตามโอกาส
     ส่วนแรงงานยังเหลือ ก็ใช้ไปในทาง ทำบทเรียน ที่ไม่เห็นแก่ตัว นีแรงงาน ที่เหลือ จะไปทิ้ง เสียที่ไหน? ค่าข้าวสุก ของชาวบ้าน จะเอาไปทิ้ง เสียที่ไหน? ถ้าเรามีเวลา เหลือพอ ที่จะใช้มัน ก็ใช้มัน ไปในทาง ที่เป็นประโยชน์ ของโลก เป็นส่วนรวม เวลาวันละ ๒-๓ ชั่วโมงก็ตามนี้ ทำสิ่งที่ มันเป็นประโยชน์ แก่โลก เป็นส่วนรวม

การทำงานก็เพื่อประโยชน์ที่พอเหมาะพอดี
     อยากจะยืนยันว่า การเขียนภาพ การสลักภาพนั้น ไม่ใช่การเขียนใหม่ ไม่ใช่สลักภาพ ของพระบ้าๆ บอๆ องค์ที่ว่านี้ ที่ใช้ชื่อว่า ธรรมกาโม อย่าเห็น เป็นเพียง เรื่องเขียนภาพ หรือสลักภาพ ให้เป็นเรื่องที่ว่า เสียสละ เพื่อประโยชน์ แก่เพื่อมนุษย์ อะไรก็ได้ อะไรถนัด ก็ทำอันนั้น ก็แล้วกัน อะไรมีค่าสูงกว่า เราเลือกเอาอันนั้น อะไรที่เป็นประโยชน์โดยเร็ว เราเลือกเอา อันนั้นเอีก ผมจึงบอกว่า จะเป็นงาน ทำให้มี สิ่งที่ ในประเทศไทย ยังไม่มี เพื่อ
ให้พุทธบริษัท ได้เห็น สิ่งเหล่านี้ ก็มีเท่านั้นเอง ไม่ได้หวังอะไร มากไปกว่านั้น

        ลำพังผมคนเดียว จะทำอะไรได้ หลายๆ คน ก็ช่วยกันทำ เป็นการ ใช้แรงงาน ส่วนเหลือ ของร่างกาย ให้หมดไป แต่แล้วอย่าลืมว่า ในขณะนี้ ในเวลาอย่างนั้น แหละ มีวิปัสสนา ที่ต้องระวังให้ดี คือ ระวังหู ระวังหาง ให้ดี อย่าให้ยกขึ้นมา เพราะเหตุนี้ มีวิปัสสนา อยู่ที่เหงื่อไหล นั้นด้วย แล้วสำคัญเสียด้วย ดีกว่าที่ไปนั่งตาก ลมเย็นๆ ที่โคนไม้ มันจะเคลิ้ม ไปในทางอื่น ไม่แน่นอนว่า มันขูดเกลา ความเห็นแก่ตัว ด้วยซ้ำไป เดี๋ยวไปหลงใหล ในทางความสงบ เพลิดเพลิน แล้วนอนหลับ แบบหนึ่ง ไปเสีย ก็ไม่ได้อะไร หรือจะทำสมาธิ กระทั่งเกิดฌาณ เกิดสมาบัติ แล้วมันก็จะเหลือใช้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น เอาสมาธิจำเป็น แก่การงานของเรา
       ยกตัวอย่าง เหมือนว่า เรามีเครื่องสีข้าว เล็กๆ เท่านี้ ซึ่งมันต้องการ แรงฉุดสัก ๑๐ แรงม้า แล้วเราไปซื้อ เครื่องทำแรงม้า มามาก นี้จะบ้าหรือจะดี คิดดูเท่านี้ ซื้อเครื่องทำแรงม้ามา ๑๒ แรง ที่ต้องการเพียง ๑๐ แรงม้า มันจะบ้า หรือ จะดี จึงว่า ทำให้มันเหมาะพอดี ให้มันไปของมัน โดยธรรมชาติ แล้วมันก็พอเหมาะพอดี แล้วมีโอกาส ที่จะได้รับ ผลสูงสุดเต็มที่ แล้วก็เร็วกว่า จะหาเงินไปซื้อ เครื่องทำแรงม้า มาได้ มันก็แย่นะ พอได้มา แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ประโยชน์จริงๆ มันอยู่ตรงที่ มันสีข้าว นั้นให้ได้
        ฉะนั้น เมื่อเรา ทำลายตัวกู-ของกู นี้ให้ได้ แม้ด้วยความรู้เท่านี้ แม้แต่ ด้วยสมาธิเท่านี้ แม้ด้วยอะไรเท่านี้ ทำไปให้ได้ นั่นแหละดีนี่เพราะเหตุที่ ชาวบ้านเขามีสมาธิพอดี มีปัญญาพอดี เขาจึงสามารถ บรรลุธรรมะได้ ในเพศฆราวาส เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี ได้ หรือว่า พอไปเฝ้า พระพุทธเจ้า เดี๋ยวใจ เป็นพระอรหันต์ได้ เพราะมันมี แรงงานพอดี มันไม่เหมือนกับ คนบ้าๆ บอๆ มันมีอะไรแง่นี้ แง่นั้น ล้วนแต่เฟ้อ เดี๋ยวนี้ระวังให้ดี กำลังจะเฟ้อเรื่องวิชาความรู้ ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว แล้วเห่อตาม พวกคนสมัยใหม่ รู้นั่น รู้นี่ มากไปแล้ว ไปรษณีย์ที่มา ผ่านผมนี้ รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ กำลังจะมี เฟ้ออะไรบางอย่าง ในทางหนังสือ หนังหา นั่นแหละ เป็นเรื่องทำลายตัว โดยที่ตัวคิดว่า จะส่งเสริมตัว แต่เป็น เรื่องทำลายตัว โดยไม่รู้สึกตัว
        เอาละ สรุปความทีว่า เราเรียก ระบบของเรา หรือ อุดมคติของเรา ว่า วิปัสสนากรรมกร แต่ไม่ใช่ กรรมกรเหมือนคนอื่น กรรมกร ที่ความว่างเลี้ยงไว้ กรรมกรของความว่าง เรียกร้องเอาอะไรไม่ได้ เรียกร้องเอาอะไรมาเป็น ตัวกู-ของกู ไม่ได้ เป็นของความว่างทั้งหมด แล้วอย่างน้อย ก็จะมความเบาสบาย ไม่แพ้ลูกสุนัข ลูกสุนัขที่กำลังเล่น มันไม่มีเป็นตัวกู-ของกู มันสบาย

ธ-ปาฎิ-๒ ๓๑.ก/๕๕-๗๑

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

ความไม่เห็นแก่ตัว

ธรรมทาน ทานธรรม
 
 "ศาสนา" นั้น เขามีไว้หรือต้องการเพื่อจะทำความสุขให้แก่มนุษย์เป็นส่วนรวม คือโลกเป็นส่วนรวม. เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลองแต่ในทางที่จะเป็นหมัน ; เพราะว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกนี่หันหลังให้ศาสนา, สลัดสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ; เพราะว่าเขาไปหมกมุ่นมัวเมาแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุให้ก้าวหน้า ไปตามทางของความเจริญของคนสมัยนี้ ; แล้วการศึกษาของโลกสมัยนี้ ก็ถูกลากไป ทำตามความประสงค์อันนั้น"
 
ความไม่เห็นแก่ตัว
โดย พุทธทาสภิกขุ
 
  นี่ขอ ให้สังเกตดูให้ดี ๆ ในข้อนี้ว่า ความเจริญก้าวหน้าของโลกมีมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความเห็นแก่ตัวให้แก่คนในโลกมากขึ้นเท่านั้น ; เพราะว่าความเจริญของโลกนั้น มีแต่เป็นไปในทางวัตถุ ซึ่งเป็นธรรมดาของเรื่องแต่ในทางฝ่ายวัตถุ : เช่นเรื่องที่ยั่วยวน เย้ายวนความต้องการให้มากยิ่งขึ้น. เมื่อ ต่างคนต่างมีความต้องการมากยิ่งขึ้น ก็หลีกไม่พ้นที่จะมีความเห็นแก่ตัว, เห็นแก่ความสุขส่วนตัวมากยิ่งขึ้น.
          การ กล่าวอย่างนี้ดู ๆ คล้ายกับว่า เป็นการติเตียนระบบการศึกษา หรือความเจริญก้าวหน้าของโลกในปัจจุบันนี้. ที่จริงก็ควรจะติเตียน ; ในฐานะที่อาตมาเป็นนักบวชในศาสนาก็อยากจะกล่าวตรง ๆ ว่าเป็นการติเตียน, หรือจะเรียกว่าดูหมิ่นด้วยซ้ำไป ที่การศึกษาและความเจริญ ก้าวหน้าของโลก ในปัจจุบันนี้ ก้าวหน้าไปในลักษณะที่เพิ่มความเห็นแก่ตัวให้คนในโลก ; มิได้ก้าวหน้าไปในทางที่จะบรรเทาความเห็นแก่ตัว. หากแต่ว่าความเห็นแก่ตัวนั้น มันเป็นไปอย่างเร้นลับ, หรือการเพิ่มความเห็นแก่ตัวให้แก่คนในโลกนี้ ก็เป็นไปอย่างเร้นลับ และโดยไม่เจตนา ; ทางออกมีอยู่หน่อยเดียวตรงที่ว่า "โดยไม่เจตนา". การศึกษาหรือความเจริญก้าวหน้าแผนใหม่นี้ แม้ไม่ได้เจตนาที่จะไม่ทำให้คนเห็นแก่ตัว ผลมันก็ยังมีไปในลักษณะที่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ; แม้ไม่มีเจตนาก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ ; ถ้าพูดให้ยุติธรรม.
          นัก ศึกษาหรือผู้ขวนขวายความก้าวหน้าในโลกปัจจุบันนี้ อาจจะไม่รับผิดชอบในข้อนี้, บิดพลิ้วบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมรับผิดชอบ, แล้วก็ดำเนินการไปในทำนองนั้นมากขึ้น ทีนี้ บาปก็เกิดขึ้นในโลก คือเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ; โลกก็ต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้, อย่างที่ได้เห็นอยู่ชัด ๆ ว่า ไม่ได้ดีขึ้นเลย ไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะว่าจิตใจหรือดวงวิญญาณหรือ เจตนารมณ์ของสิ่งทุกสิ่งมันเป็นไปเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัว. นี่แหละเรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งเหลือวิสัย เหลือกำลัง เหลืออำนาจของฝ่ายศีลธรรม หรือฝ่ายของศาสนา ที่จะช่วยกำจัดหรือควบคุมความเห็นแก่ตัวในโลกนี้ได้.
          ใน สมัยโบราณที่แล้วมา ทางฝ่ายศาสนาหรือศีลธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์นั้นมีอิทธิพลมาก ; ทางฝ่ายวัตถุยังไม่เจริญก้าวหน้า คนส่วนมากก็ไม่เป็นบ่าว ไม่เป็นทาสของวัตถุมากเหมือนเดี๋ยวนี้. เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ถูกทำให้มึนเมาด้วยความก้าวหน้าทางวัตถุ ทางสุขสนุกสนานทางวัตถุ ถึงขนาดที่เรียกว่ามึนเมาและเสพติด, คนส่วนใหญ่ในโลกจึงเป็นคนมึนเมาด้วยวัตถุ แล้วก็เพิ่มความเห็นแก่ตัวมากขึ้นด้วยเหตุนั้น. ส่วนทางฝ่ายศาสนา ศีลธรรม ประเพณีนี้กลายเป็นเรื่องหมดกำลัง ; เหลือแต่พิธีรีตอง, ทำพอเป็นพิธี.
          ปัจจุบัน นี้ไม่ว่าเมืองไทย หรือเมืองไหน ประเทศไหน ; เรื่องทางฝ่ายศาสนาทำแต่พอเป็นพิธี และเป็นพิธีทั่วไป. แม้กระทั่งในกองทัพ ในที่ ๆ ไม่น่าจะมี ก็มีพิธีทางศาสนา, ซึ่งก็เป็นเพียงพิธีเท่านั้น ไม่ได้ครอบงำน้ำใจของคนทั้งหลายให้บรรเทาความเห็นแก่ตัวเลย ; มันเลยทิ้งกันไกล. ส่วนใหญ่และเนื้อแท้ในจิตใจของมนุษย์เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ; ศาสนาหรือวัฒนธรรมหรือประเพณีก็กลายเป็นเพียงพิธีรีตองไป, ไม่มีอิทธิพล ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลังอันแท้จริง. เพราะฉะนั้น โลกเรานี้จึงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งอยู่ในสมัยนี้, เป็นปัญหาอย่างที่เรียกว่าเหลือประมาณ ครอบงำโลกสมัยนี้อยู่ มีมากมายหลายแขนงหรือทั่วทุกแขนง. จะถือโอกาสยกตัวอย่าง เอามาให้ดูสักแขนงหนึ่ง เช่นเรื่องการกีฬา :-
          เดี๋ยว นี้ การกีฬา ที่จัดที่ทำกันอยู่ในโลกนี้ทั่ว ๆ ไปทั้งโลก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย กลายเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัว, และอบรมน้ำใจที่ไม่เป็นนักกีฬา, นักกีฬาสมัยนี้เลวกว่านักกีฬาสมัยโบราณมาก มีการเอาเปรียบทั้งต่อหน้าและลับหลัง, มีการทำอันตรายในสนามนั้นเอง, มีความคิดที่จะเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายตรงกันข้ามมาตั้งแต่บ้าน มาตั้งแต่จะออกเดินทางมา, แล้วก็คิดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาเป็นนักกีฬาแต่ชื่อแต่พิธีเท่านั้น แต่ในจิตใจนั้นไม่เป็นนักกีฬา, ถ้าเป็นอย่างนี้อย่ามาเล่นกีฬา อย่าจัดกีฬาขึ้น บางทีคนจะมีน้ำใจเป็นนักกีฬามากกว่า. พอว่าจัดกีฬาขึ้น ก็เป็นโอกาสให้คนมีน้ำใจเอาเปรียบผู้อื่น เพราะความเห็นแก่ตัว ; และยิ่งเล่นกีฬา อย่างที่คนในโลกเล่นกันอยู่ในบัดนี้ ก็คือยิ่งเพิ่มความที่ไม่ใช่นักกีฬา หรือเพิ่มความเห็นแก่ตัวมาก ยิ่งกว่าที่จะลดความเห็นแก่ตัว.
          นี่ เพราะ โลกก้าวหน้าทางวัตถุ คนที่เป็นนักกีฬาแต่ละคนเป็นไปในทางของวัตถุ ต้องการวัตถุ ต้องการประโยชน์ ยิ่งกว่าต้องการน้ำใจนักกีฬา ซึ่งเป็นธรรมะมากเกินไป ; เขาถือว่าไม่เห็นแก่ตัว เป็นอุดมคติมากเกินไป ซื้ออะไรกินไม่ได้, sporting spirit นั้นมันซื้ออะไรกินไม่ได้ เป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ. ส่วนเกียรติยศชื่อเสียงของประเทศชาติ หรือประโยชน์ ที่จะได้สนุกสนานจากการแข่งขัน การต้อนรับในการเลี้ยงดูนั้นมันมีมาก, เลยคำนึงแต่เรื่องจะเอาชนะ ; ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกลก็เอาด้วยเวทมนต์ คือการเอาเปรียบนั่นเอง. มนุษย์เราเลวลงมากถึงขนาดนี้ ว่าแม้แต่การจะเล่นกีฬาก็เป็นการเพิ่มความไม่เป็นนักกีฬาเสียแล้ว ; เพราะว่า ทุกคนมึนเมาไปด้วยอำนาจของวัตถุ ซึ่งเรียกกันว่า เป็นที่ตั้งของกิเลส.
          ตัวอย่าง เพียงเรื่องกีฬาเรื่องเดียว ก็เห็นได้ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมากจากสมัยโบราณ ; นี่จะเรียกว่าด่า หรือจะเรียกว่าติเตียน หรือจะเรียกว่าดูหมิ่น หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามใจเถิด. อาตมาพูดไปในฐานะที่เป็นนักบวชในศาสนาพุทธ ได้มองเห็นสิ่งนี้อยู่อย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น. รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่เพิ่มให้มากขึ้นแก่ทางฝ่ายศาสนา ; ในเมื่อ ทางฝ่ายศาสนาต้องการจะช่วยทำความสงบสุขสันติสุขให้แก่โลก มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าคนในโลกเปลี่ยนไปในทางเห็นแก่ตัว หรือเป็นทาสของฝ่ายวัตถุอย่างมากขึ้น. ในที่สุดกิจกรรมทางฝ่ายศาสนาก็เป็นหมันไปโดยส่วนใหญ่, ไม่สามารถจะสร้างสันติสุขให้แก่โลกได้, กลายเป็นเรื่องของบุคคลบางคน ไม่กี่คนเพื่อแสวงหาความสุขอันแท้จริงทางฝ่ายจิตใจเท่านั้น และมีเพียงไม่กี่คน.
          สิ่ง ที่เรียกว่า "ศาสนา" นั้น เขามีไว้หรือต้องการเพื่อจะทำความสุขให้แก่มนุษย์เป็นส่วนรวม คือโลกเป็นส่วนรวม. เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลองแต่ในทางที่จะเป็นหมัน ; เพราะว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกนี่หันหลังให้ศาสนา, สลัดสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ; เพราะว่าเขาไปหมกมุ่นมัวเมาแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุให้ก้าวหน้า ไปตามทางของความเจริญของคนสมัยนี้ ; แล้วการศึกษาของโลกสมัยนี้ ก็ถูกลากไป ทำตามความประสงค์อันนั้น.
          ท่าน ที่เป็นนักศึกษาอย่าได้อวดดิบอวดดีไปเลยว่า เรามีอะไรเป็นตัวเรา, เป็นอิสระ มีอุดมคติ มีหลักการอะไรของเรา ; ที่จริงทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกมันเป็นไปตามความนิยมของคนส่วนมากในโลก. เมื่อคนส่วนมากในโลกมึนเมาในทางวัตถุธรรมเสียแล้ว การศึกษาซึ่งจัดโดยคนในโลกนั้น มันก็ต้องเป็นอุปกรณ์ เพื่อวัตถุประสงค์อันนั้นไป. การศึกษาจะก้าวหน้าอย่างไร มันก็เป็นไปเพื่อความเจริญทางวัตถุ, และเพื่อเป็นทาสทางวัตถุกันมากขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ความก้าวหน้าทางวิชาความรู้ ทางแขนงไหนก็ตาม ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญทางวัตถุ เพื่อมีอำนาจ เพื่อมีกำลังที่จะต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามนั้นทางหนึ่ง, แล้วก็ เพื่อความฟุ่มเฟือยในการอยู่ดีกินดี ตามที่เรียกกันในโลกปัจจุบันนี้อีกส่วนหนึ่ง. มันจึงมีวิกฤตกาลถาวรในโลกนี้ ; เพราะเหตุนี้ถึงต่อสู้กัน แย่งชิงกัน แข่งขันกัน ในทางการศึกษา ทางการสร้างความเจริญก้าวหน้า ทั่วไป.
          ที นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายมองดูว่า spirit ของการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นมันเหลืออยู่ที่ตรงไหน ? spirit ของอนุกาชาด คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้นมันเหลืออยู่ที่ไหน ? ในจิตใจของคนในโลกสมัยนี้ ใคร กลุ่มไหน สมาคมไหน กำลังทำประโยชน์ผู้อื่นอันแท้จริง ด้วยความบริสุทธิ์ใจบ้าง ? แทบจะหาทำยายาก การช่วยกันดูเป็นการจ้างกันมากกว่า ; การที่คน ๆ หนึ่ง พวกหนึ่ง หรือหมู่หนึ่งไปช่วยอีกหมู่หนึ่งนั้น ดูเหมือนเพื่อจะผูกมัดเขาให้เป็นพวกของตัว, หรือจ้างเขาให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมมือกันกับตัวมากกว่า. น้ำใจแท้จริงที่บำเพ็ญประโยชน์ให้ผู้อื่นนั้น ค่อย ๆ จางไป ๆ ๆ จนบัดนี้แทบจะไม่เหลือหลออยู่ในโลกนี้ แม้ในประเทศไทยเรา.
          ดู ตัวอย่างว่า เมื่อเรา ต้องการเงินสักจำนวนหนึ่ง สมัยก่อนก็บอกกันได้ด้วยปาก แล้วก็ได้เงินจำนวนนี้มา. สมัยนี้ต้องจัดงานบอลล์ กินเหล้า เมายา เป็นภูติผีปิศาจกันไปแทบทั้งหมด จึงจะได้เงินมาสักจำนวนหนึ่ง จากการจัดงานบอลล์นั้นเป็นต้น. นี่จะเห็นได้ว่า ไม่มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยผู้อื่นด้วยบริสุทธิ์ใจ ในการบริจาคเงินนี้ ; บริจาคไป เพราะได้กินเหล้า ; หรือว่าได้ทำอะไรไปตามที่เขามีให้แล้วก็เพื่อเอาหน้าเอาตา เพื่อให้มีชื่อว่า ตนได้บริจาคไปเท่านั้นเท่านี้ ; แล้วก็เลี้ยงพวกบริจาคไปพลาง เอาเงินไปพลาง บางทีเงินนั้นเหลือนิดเดียว เพราะเอาไปเลี้ยงสุรากันเสียหมดในงานบอลล์ครั้งนั้น.
          นี่ มองเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ที่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น หรือช่วยผู้อื่นนั้น เสียไปหมด ; มีแต่การหลอกลวง ในเมื่อปากพูดว่า "นี่แหละเป็นการกุศล เพื่อช่วยการกุศล" เพื่อช่วยการกุศลอันนี้ ๆ. แต่ใจจริงนั้นไปเพื่อกินเหล้าแล้วบริจาคอยากเอาหน้า ไม่ได้บริจาคไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ. นี่มันไม่เหมือนกับเมื่อครั้งสมัยบิดามารดา ปู่ย่าตาทวดของเรา ซึ่งบริจาคอะไรก็ไม่ต้องเอาเหล้ามาให้กิน ท่านก็บริจาคกันได้ ; หมายความว่า มันมีเจตนารมณ์ จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น มีอยู่เหลืออยู่ ในจิตใจของท่าน. เวลานี้เขาก็กำลังนิยมกัน ไม่เท่าไรก็จะมาถึงจังหวัดนี้ถึงที่นี่ ที่จะมีการเรี่ยไร เพื่อจัดงานบอลล์ อย่างนี้เป็นต้น. วิธีเช่นนี้มันมาจากเมืองนอกแล้วก็มาเมืองไทย แล้วก็ไปทุก ๆ หัวระแหง ; นี่ spirit ของการเห็นแก่ตัว, ไม่มี spirit ของการเห็นแก่ผู้อื่น.
          เท่า ที่กล่าวมานี้ เป็นการมองดูโลกในปัจจุบันนี้ ว่ามีอยู่ในสภาพอย่างไร ? มันสูงต่ำกว่าเจตนารมณ์ของพวกเราอนุกาชาดอย่างไร ? เดี๋ยวนี้ เรากำลังประชุมกันที่นี่เพื่อปรึกษาหารือกันใน หลักการอนุกาชาด ซึ่งมีเจตนารมณ์ในทางไม่เห็นแก่ตัว, ให้เห็นแก่ผู้อื่น มีการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น และหวังว่าท่านทั้งหลายมีความตั้งใจอันดีในเรื่องนี้. แต่เราก็ต้องมาพิจารณาดูถึงอุปสรรคที่มันเกิดขึ้น ; แล้วก็มองใกล้ ๆ เรานับตั้งแต่เด็ก ๆ ของเรา เพื่อนฝูงของเรา ใกล้ ๆ นี่แหละ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้.
          เด็ก ๆ ของเราเป็นอย่างไร ? นักเรียนของเรากำลังเป็นอย่างไร ? แม้แต่ครูบาอาจารย์เองกำลังเป็นอย่างไร ? ถ้าเด็กของเราและครูบาอาจารย์ของเรากำลังเดินตามก้นฝรั่ง วัฒนธรรมอย่างฝรั่ง, เป็นอะไรลึกลับในทางเห็นแก่ตัว. เห็นแก่ความเจริญอย่างวัตถุ เป็นไปเพื่อความอยู่ดีกินดีทางวัตถุแล้ว เราก็จะต้องสูญเสียความรู้สึกที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ไปอย่างเดียวกันทีละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว ; แล้วเราก็จะเป็นอนุกาชาดแต่ชื่อ ไม่ได้มีหัวใจบริสุทธิ์ที่จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น.
          เป็น "อนุกาชาดแต่ชื่อ" ก็หมายความว่า เป็นเพียงแต่ว่าให้ได้ติดเครื่องหมาย หรือว่ามารับการอบรมครั้งนี้ ก็เพียงเพื่อจะให้เป็นคะแนนเกี่ยวกับงานในหน้าที่ เพื่อความดีความชอบไปเสีย ; มันก็จะกลายเป็นอย่างนี้ไปเสีย. ฉะนั้น ขอให้สำรวมให้ดี, ให้ตั้งจิตอธิษฐานให้ดี ให้เปิดพิธีการอบรมนี้ ด้วยการจุดธูปบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตั้งใจว่าเราจะอบรม เราจะปลูกฝัง เราจะยึดมั่นในอุดมคติที่เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น. ส่วนเรื่องคะแนนที่จะได้มาเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การงานนี้เป็นเรื่องเล็ก น้อย และถ้าเอาแต่สนใจในเรื่องนั้นแล้ว จะกลายเป็น "คนเห็นแก่ตัว" โดยไม่รู้สึกตัวได้เหมือนกัน.
 
ทานธรรมจาก http://www.buddhadasa.org