วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทำชีวิตให้หายวุ่น พระไพศาล วิสาโล

"ความสุขใจอันเกิดจากจิตที่ผ่อนคลาย เป็นสมาธิ อย่าลืมว่ามีเงินมากเท่าไรก็ซื้อความสุขใจไม่ได้ การมีเวลาให้ใจได้อยู่นิ่ง ๆ และผ่อนคลาย เช่น ทำสวน เดินเล่น ทำโยคะ หรือนั่งสมาธิ เป็นการทำให้เวลามีค่ายิ่งกว่าเงินทองเสียอีก"
 
 ทำชีวิตให้หายวุ่น
พระไพศาล วิสาโล
 
         เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็บ่นว่า “วุ่น” มากขึ้น หาเวลาว่างได้น้อยลง โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ในกรุงเทพ ฯ ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อพาลูกไปโรงเรียน หลายคนต้องกินข้าวบนรถ จะได้ไม่ต้องเจอกับจราจรที่ใกล้จลาจล ช่วงที่อยู่สำนักงานก็มีงานเต็มมือ กว่าจะกลับบ้านก็ค่ำมืด แล้วยังต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง กว่าจะเข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน เวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ เช่น พูดคุยกับลูก ดูแลต้นไม้ ออกกำลังกาย ฯลฯ
      นึกดูก็น่าแปลกที่ผู้คนนับวันจะมีเวลาว่างน้อยลง ทั้ง ๆ ที่มีเทคโนโลยีช่วยประหยัดเวลามากมาย อาทิ หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า รถยนต์ และอาหารสำเร็จรูป ทั้งหมดนี้ไม่เพียงช่วยให้ภารกิจแต่ละอย่างเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังช่วยให้เราสามารถทำหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน เช่น แปรงฟัน ซักผ้า หุงข้าว อุ่นอาหาร และฟังวิทยุ ในเวลาเดียวกัน แต่แล้วทำไมเราจึงกลับวุ่นกว่าเดิม และมีแนวโน้มว่าจะวุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ขณะที่ชาวบ้านในชนบท ซึ่งไม่ค่อยมีเทคโนโลยีเหล่านี้ กลับมีเวลาว่างมากกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่กิจวัตรแต่ละอย่างใช้เวลามากกว่า แค่หุงข้าวอย่างเดียวก็ใช้เวลาร่วม ๒๐ นาที
       มักมีคำอธิบายว่าสาเหตุที่คนสมัยนี้มีเวลาว่างน้อยลง เพราะต้องแข่งขันกันทำมาหากินมากขึ้น นอกจากข้าวของจะแพงขึ้นแล้ว ผู้คนก็มากขึ้นด้วย จำนวนคนแข่งขันที่มีมากขึ้นก็เป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เด็กสมัยนี้ต้องเรียนหนังสือมากขึ้น เสาร์อาทิตย์ก็ไม่เว้น จะทำอะไรก็ต้องเสียเวลาไปกับการรอคอยเพราะหลายคนมีเป้าหมายเดียวกับเรา เช่น เข้าคิวซื้อของ หรือติดไฟแดงบนท้องถนน
        อย่างไรก็ตามนั่นคงไม่ใช่สาเหตุเดียว เพราะถึงแม้จะอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปแข่งขันกับใคร เพราะเป็นวันหยุด เราก็ยังวุ่นอยู่ดี แม้จะน้อยกว่าวันธรรมดาหรือยามที่ต้องออกไปนอกบ้านก็ตาม น่าคิดว่าอะไรทำให้เราวุ่นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แข่งขันกับใคร
         บ่อยครั้งสิ่งที่ทำให้เราวุ่นนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานเลย แต่เป็นเรื่องการเสพการบริโภคมากกว่า เดี๋ยวนี้เรามีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องบริโภคทางปากเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริโภคทางตาและทางหูด้วย คงยากที่จะปฏิเสธว่า โทรทัศน์ ดีวีดี ซีดี นับวันจะแย่งชิงเวลาของเรา(และครอบครัว) ไปมากขึ้นทุกที และเดี๋ยวนี้ถ้าไม่พูดถึงโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต ก็เท่ากับมองข้ามตัวการสำคัญไป จำเพาะวัยรุ่นไทยวันหนึ่ง ๆ เสียเวลาไปกับโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต รวมแล้วประมาณ ๕ ชั่วโมง ผู้ใหญ่แม้จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่ก็เสียเวลาไปกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นทุกที
         นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่พยายามแย่งชิงเวลาจากผู้คน อาทิ การช็อปปิ้งหรือเที่ยวห้าง การดูหนังฟังคอนเสิร์ต กิจกรรมเหล่านี้ได้พัฒนาเทคนิคการดึงดูดใจจนยากที่จะปฏิเสธได้หากเผลอเข้าไป เฉียดกราย กิจกรรมเหล่านี้และเทคโนโลยี (ซึ่งมีชื่อไพเราะว่า “สารสนเทศ”)มีส่วนไม่น้อยในการทำให้คนสมัยนี้ดูเหมือนจะวุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรีบทำให้เสร็จไว ๆ จะได้มีเวลาสำหรับการเสพผ่านกิจกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าว บางครั้งก็ต้องยอดอดหลับอดนอน ถ้าไม่เชื่อก็คอยสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก (ซึ่งจะมาถึงในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมนี้) ว่าจะเป็นอย่างที่กล่าวไหม
       คนยากคนจนโดยเฉพาะในชนบท ไม่มีปัญญาซื้อเทคโนโลยีหรือทำกิจกรรมดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่เขามีเวลาว่างมากกว่าคนในเมือง นอกจากมีเวลาอยู่กับลูกหลาน สนทนากับเพื่อนบ้าน ทำบุญที่วัดแล้ว ยังมีเวลานอนมากกว่าด้วย มองในแง่นี้ก็จะเห็นได้ว่าความว่างหรือวุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับฐานะทาง เศรษฐกิจด้วย คือยิ่งมีเงินมาก ก็ยิ่งวุ่นมากขึ้น
        จริงอยู่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความวุ่นเพราะต้องทำงานตัวเป็นเกลียว ย่อมทำให้มีเงินมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็เป็นจริงด้วยเช่นกัน คือเมื่อมีเงินมากขึ้น ก็มีแนวโน้มจะวุ่นมากขึ้น เพราะมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคให้เลือกมากมาย ถ้าเก็บเงินไว้ไม่ใช้เลย ก็ดูกระไรอยู่ แต่ทันทีที่ลงมือใช้หรือลงมือบริโภค ก็หมายถึงการเสียเวลาไปกับมัน ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเสียเวลามาก เวลาว่างจึงมีน้อยลงเป็นลำดับ นี้แหละคือปัญหาของคนมีเงิน คือยิ่งมีเงิน ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีเวลาน้อยลง ดังนั้นเมื่อทำอะไรจึงมีแนวโน้มที่จะรีบเร่งให้เสร็จไว ๆ ก็เลยยิ่งรู้สึกวุ่นมากขึ้น
         มองให้ดีจะพบว่าความวุ่นมักเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง ทั้งโดยการหา กิจกรรมหรือสิ่งเสพต่าง ๆ มาทำให้วุ่น และโดยการเร่งรีบทำสิ่งต่าง ๆ จนเกิด ความรู้สึกวุ่นขึ้นมา ประการหลังนี้ถูกตอกย้ำให้เป็นหนักขึ้นเมื่อมีทัศนคติว่า  “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” หรือ “เวลาเป็นของมีค่า” คนมีเงินจะได้รับ           อิทธิพลอย่างมากจากทัศนคติดังกล่าว ดังนั้นจึงคอยไม่เป็นและเร่งรีบจนเป็นนิสัย หนักกว่านั้นก็คือจะไม่ยอมเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ “เป็นเงินเป็นทอง” จึงทนไม่ได้กับการนั่งเล่น เดินเล่น ปลูกต้นไม้ บางคนแม้แต่จะพูดคุยกับลูกเมีย ก็ไม่มีเวลาให้เพราะกลัวว่าจะเสียเวลาทำมาหากิน (แม้แต่เด็ก ๆ ก็ติดทัศนคติแบบนี้มากขึ้นทุกที เด็กคนหนึ่งเมื่อถูกถามว่าทำไมไม่คุยกับพ่อบ้าง คำตอบก็คือ “คุยแล้วไม่ได้คะแนน ก็เลยไม่รู้จะคุยทำไม) คนที่คิดแบบนี้จึงชอบหมกมุ่นกับงาน หรือไม่ก็หางานมาทำตลอดเวลา หรือทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ถ้าหยุดหรือมีเวลาว่างเมื่อไรก็จะไม่สบายใจหรือรู้สึกผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตจะไม่วุ่นได้อย่างไร

       ชีวิตจะหายวุ่นและมีเวลาว่างมากขึ้น จึงอยู่ที่ตัวเราเป็นสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ผู้คนแวดล้อม หรือแม้แต่อาชีพการงาน (การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่าคนอเมริกันในปัจจุบันใช้เวลากับการทำมาหากินน้อยลงเมื่อเทียบกับ ๔ ทศวรรษที่แล้ว แต่กลับรู้สึกวุ่นมากกว่า) ดังนั้นถ้าอยากให้ชีวิตวุ่นน้อยลง อย่างแรกที่ทำได้เลยคือลืมไปเสียบ้างว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ถึงแม้สิ่งที่ทำจะไม่ให้ผลงอกเงยเป็นเงินทอง ก็ควรทำด้วยความใส่ใจ ไม่เร่งรีบ พึงตระหนักว่า “ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด” คือทำทุกอย่างในปัจจุบันให้ดีที่สุด แม้จะเป็นแค่การล้างมือ อาบน้ำ หรือถูฟัน เงินทองนั้นสำคัญก็จริงอยู่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความสุขใจอันเกิดจากจิตที่ผ่อนคลาย เป็นสมาธิ อย่าลืมว่ามีเงินมากเท่าไรก็ซื้อความสุขใจไม่ได้ การมีเวลาให้ใจได้อยู่นิ่ง ๆ และผ่อนคลาย เช่น ทำสวน เดินเล่น ทำโยคะ หรือนั่งสมาธิ เป็นการทำให้เวลามีค่ายิ่งกว่าเงินทองเสียอีก

       ควบคู่กันไปก็คือการทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ การทำหลายอย่างพร้อมกันนอกจากจะทำไม่ได้ดีสักอย่างแล้ว ยังทำให้จิตเป็นสมาธิได้ยาก การแบ่งความใส่ใจให้แก่หลายสิ่งในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเครียดและวุ่นได้ง่าย ถึงเวลาจะพักจิตให้สงบก็ทำไม่ได้ จึงกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ
       ประการต่อมาคือใช้ชีวิตให้เรียบง่ายมากขึ้น มีทรัพย์สมบัติให้น้อยลง เพราะยิ่งมีสมบัติมาก ก็ยิ่งต้องเสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านั้น จนแทบไม่มีเวลาว่างให้กับตนเองและครอบครัว จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีภูมิคุ้มกันกระแสบริโภคนิยม ที่หมั่นโฆษณาให้เราซื้อสินค้าสารพัดไม่หยุดหย่อน อีกทั้งผลิตสิ่งใหม่ ๆ มาดึงดูดใจเราเสมอ ถ้ายังใจไม่ถึงพอที่จะแจกจ่ายทรัพย์สมบัติที่มีมากมายให้แก่คนอื่น ๆ ก็ควรลดการซื้อข้าวของเข้าบ้าน และทำใจให้เป็นสุขกับสมบัติที่มีอยู่
      มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ชอบบ่นว่าวุ่นเหลือเกินนั้น ปัญหาที่แท้จริงของเขาก็คือมีเงินมากเกินไป เงินนั้นทำให้เรามีทางเลือกมากก็จริง แต่ทางเลือกที่มีมากมายก็อาจทำให้เราเสียเวลาในการเลือก และถ้าไม่เลือกเลย แต่เอาทุกทาง ก็ยิ่งเสียเวลามากขึ้น ดังนั้นเงินจึงสร้างภาระให้แก่เราในเวลาเดียวกัน คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่การทิ้งเงินไปให้หมด แต่อยู่ที่การมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเงิน คือใช้เงินให้เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็รู้เท่าทันว่ามันเป็นโทษอย่างไร ไม่ลุ่มหลงติดยึดจนเป็นทาสมัน
      การทำชีวิตให้เป็นอิสระเหนือเงินคือกุญแจสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้เรามีจิตที่ว่างมากขึ้น วุ่นน้อยลง แม้รอบตัวจะยุ่งเหยิงก็ตาม

ธรรมทาน  http://www.visalo.org/article/sukjai254906.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น