วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การกำหนดลมหายใจสั้น

ธรรมทาน ทานธรรม การควบคุมลมหายใจ ท่านเปรียบว่าเหมื่อนคนไกวเปล เป็นอย่างไรน่าติดตาม การไกวเปลในที่นี้ เป็นการไกวเปลของคนเลี้ยงเด็ก. เมื่อคนเลี้ยงเด็กจับเด็กใส่เปลลงไปใหม่ๆ เด็กก็ยังไม่หลับ และพยายามที่จะลงจากเปล ซึ่งอาจจะตกจากเปลเมื่อไรก็ได้ เขาจะต้องระวังด้วยการจับตาดู ไม่ว่าเปลนั้นจะแกว่งไปทางไหน จะแกว่งสั้นหรือแกว่งยาว จะแกว่งเร็วหรือแกว่งช้า ตามการต่อสู้ของเด็กก็ตาม, หรือการชักอันไม่สม่ำเสมอของตนเองก็ตาม, หมายความว่าเขาจะต้องจับตาดูอยู่ทุกครั้งที่แกว่ง และทุกทิศทางที่มันแกว่งไป. ครั้งไหนแกว่งไปสั้น ครั้งไหนแกว่งไปยาวอย่างไร เขาย่อมรู้ได้ดี

ตอน หก อานาปานสติ ขั้นที่ สอง

(การกำหนดลมหายใจสั้น)

โดย พุทธทาสภิกขุ

  
อานาปานสติขั้นที่สองนี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุ นั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจเข้าสั้น ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจออกสั้น ดังนี้”. (บาลีว่า รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต รสฺสํ อสฺสสิสฺสามีติ ปชานาติ ; รสฺสํ วา ปฺสสสนฺโต รสฺสํ ปสฺสสิสฺสามีติ ปชานาติ)

 
   อานาปานสติข้อ นี้ มีความหมายแตกต่างจากขั้นที่หนึ่ง เพียงที่กล่าวถึงลมหายใจที่สั้น. ลมหายใจสั้นในที่นี้ เป็นเพียงชั่วขณะ คือชั่วที่มีการฝึกให้หายใจสั้นแทรกแซงเข้ามา. เมื่อบุคคลผู้ปฏิบัติรู้ความที่ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไรอย่างทั่วถึงแล้ว ระงับความสนใจต่ออาการแห่งการหายใจชนิดที่เรียกว่าสั้นนั้นเสีย ไปหายใจอยู่ด้วยลมหายใจที่เป็นปรกติ ซึ่งจะเรียกว่าสั้นหรือยาวก็ได้ แล้วแต่จะเอาหลักเกณฑ์อย่างใดเป็นประมาณ ปัญหาก็หมดไป ไม่มีสิ่งที่จะต้องอธิบายเป็นพิเศษ สำหรับกรณีที่มีการหายใจสั้น.

   แต่ถ้าหากว่าบุคคลผู้นั้น มารู้สึกตัวว่า ตนเป็นผู้มีการหายใจสั้นกว่าคนธรรมดาอยู่เป็นปรกติวิสัย ก็พึงถือว่าระยะหายใจเพียงเท่านั้น ของบุคคลนั้นเป็นการหายใจที่เป็นปรกติอยู่แล้ว. และเมื่อได้ปรับปรุงการหายใจให้เป็นปรกติแล้ว ก็ถือเอาเป็นอัตราปรกติสำหรับทำการกำหนดในยะระเริ่มแรก เป็นลำดับไปจนกว่าจะเกิดฉันทะและปราโมทย์ ซึ่งมีความยาวแห่งลมหายใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ และมีกรรมวิธีต่าง ๆ ดำเนินไปจนครบทั้ง ๑๐ ขั้น ตามที่กล่าวมาแล้วในอานาปานสติขั้นที่หนึ่งอันว่าด้วยการหายใจยาว ฉันใดก็ฉันนั้น. ในกรณีที่มีการหายใจสั้นเป็นพิเศษ เพราะเหน็ดเหนื่อย การตกใจหรือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนนั้น ย่อมมีการกำหนดให้รู้ว่าสั้นเพียงในขณะนั้นเท่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านไปแล้ว การหายใจก็เป็นปรกติ และดำเนินการปฏิบัติไปโดยนัยแห่งการหายใจปรกติ เพราะการหายใจสั้นชนิดนั้นได้ผ่านไปแล้วโดยไม่ต้องคำนึง.

   ในกรณีที่มีการหายใจสั้นแทรกแซงเข้ามา เพราะอุบัติเหตุอย่างอื่นก็ตาม เพราะความสับสนแห่งการฝึกในขั้นที่ยังไม่ลงรูปลงรอยก็ตาม การหายใจสั้นเหล่านั้นถูกกำหนดรู้ว่าสั้น แล้วก็ผ่านไป ไม่กลับมาอีก ปัญหาก็หมดไป. ในกรณีที่เราฝึกให้ลมหายใจสั้น เพื่อการทดลองในการศึกษานั้น ย่อมหมดปัญหาไปในขณะที่การทดลองสิ้นสุดลง. สำหรับความมุ่งหมายอันแท้จริงแห่งการฝึกลมหายใจสั้นนั้น มีอยู่ว่า เมื่อ ฝึกจิตให้เป็นสมาธิได้ด้วยลมหายใจอย่างยาวแล้ว ก็ควรฝึกให้เป็นสมาธิด้วยลมหายใจสั้น ซึ่งเป็นของยากขึ้นไปกว่าให้ได้ด้วย เพื่อความสามารถและคล่องแคล่วถึงที่สุด ในการฝึกสมาธิด้วยลมหายใจทุกชนิดนั่นเอง.

   สรุปความว่า การหายใจสั้นในอานาปานสติขั้นที่สองนี้ กล่าวไว้สำหรับการหายใจสั้นที่จะพึงมีแทรกแซงเข้ามาเอง เป็นครั้งคราว และที่เป็นในการฝึกเพื่อการสังเกตเปรียบเทียบให้เรารู้จักลักษณะแห่งการ หายใจยาว – สั้น และมีอะไรแตกต่างกันอย่างไรตามธรรมชาติเท่านั้น. เมื่อได้กำหนดจนเข้าใจดีทั้งสองอย่างแล้ว การกำหนดก็ดำเนินไปในการหายใจที่เป็นไปตามปรกติหรือในอัตราที่เราถือว่าเป็น ปรกติ และสามารถเป็นสมาธิอยู่ทั้งในขณะที่มีลมหายใจสั้นหรือยาว ไม่หวั่นไหว. การหายใจตามธรรมชาติ ย่อมเปลี่ยนไปตามอำนาจสิ่งแวดล้อม เช่นฉันทะเป็นต้น สั้นๆ ยาวๆ แทรกแซงกันบ้าง แต่ก็ไม่มากมายนัก ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่นเมื่อมีความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็สังเกตได้ด้วยลมหายใจที่สั้นเข้า แล้วก็แก้ไขด้วยการน้อมจิตไปสู่ความปราโมทย์ ซึ่งจะทำให้ลมหายใจกลับยาวไปตามเดิม. ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของบุคคลผู้ปฏิบัตินั่นเอง ทำให้กำหนดได้ทั้งลมหายใจที่ยาวและสั้น ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นสลับซับซ้อนอย่างไรและสามารถกำหนดให้เป็นสมาธิได้ ไม่ว่ามันจะอยู่ในสภาพที่เรียกกันว่ายาวหรือสั้น.

   เมื่อการปฏิบัติได้ดำเนินมาถึงขั้นที่สองนี้แล้ว เราอาจจะเข้าใจหลักการปฏิบัติได้ด้วยการอุปมากับการไกวเปล : การไกวเปลในที่นี้ เป็นการไกวเปลของคนเลี้ยงเด็ก. เมื่อคนเลี้ยงเด็กจับเด็กใส่เปลลงไปใหม่ๆ เด็กก็ยังไม่หลับ และพยายามที่จะลงจากเปล ซึ่งอาจจะตกจากเปลเมื่อไรก็ได้ เขาจะต้องระวังด้วยการจับตาดู ไม่ว่าเปลนั้นจะแกว่งไปทางไหน จะแกว่งสั้นหรือแกว่งยาว จะแกว่งเร็วหรือแกว่งช้า ตามการต่อสู้ของเด็กก็ตาม, หรือการชักอันไม่สม่ำเสมอของตนเองก็ตาม, หมายความว่าเขาจะต้องจับตาดูอยู่ทุกครั้งที่แกว่ง และทุกทิศทางที่มันแกว่งไป. ครั้งไหนแกว่งไปสั้น ครั้งไหนแกว่งไปยาวอย่างไร เขาย่อมรู้ได้ดี การกำหนดลมหายใจในขั้นนี้ ก็มีอุปมัยฉันนั้น. ด้วยอำนาจที่สติหรือจิตก็ตาม กำหนดอยู่ที่ลมหายใจนั้น จึงทราบความที่ลมหายใจแล่นไปช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ได้อยู่ตลอดเวลา เพราะความที่สติไม่ผละจากลมนั้น และดำเนินไปโดยทำนองนี้จนกว่าจะสม่ำเสมอเป็นระเบียบดี จึงเริ่มกำหนดในขั้นละเอียดยิ่งขึ้นไป คือในอานาปานสติขั้นที่สาม. กรรมวิธีแห่งการเกิดขึ้น ของฉันทะ ปราโมทย์ และอื่นๆ มีสติ ญาณและลมหายใจเป็นต้น ในการหายใจสั้นนี้ ย่อมเป็นไปโดยทำนองเดียวกันกับที่เกิดจากการหายใจยาว โดยประการทั้งปวง.



(จบอานาปานสติขั้นที่สอง อันว่าด้วยการกำหนดลมหายใจสั้น)
ธารธรรม  https://sites.google.com/site/smartdhamma

ทิปธรรม หมอนพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ได้เขียนเล่าใน www.doctor.or.th ว่า หมอสมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ได้เขียนเรื่อง " หายใจช้า " โดยได้แนะนำวิธีฝึกหายใจเข้า-ออกช้าๆ ไม่เกินนาทีละ 10 ครั้ง ทำวันละ 15นาทีจะมีผลดีต่อสุขภาพ เช่น คลายเครียด ลดความดันเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ นพ.สุรเกียรติ ยังอธิบายว่า การใช้ลมหายใจในการส่งเสริมสุขภาพตนเองนั้น เป็นภูมิปัญญาของชาวตะวันออกมาแต่โบราณกาล ที่รู้จักกันดีก็คือ การทำสมาธิโดยใช้ลมหายใจ   ( อานาปานสติ) การฝึกชี่กง รำมวยจีน (ไทเก้ก) โยคะ    ซึ่งเป็นการผสมกลมกลืนของการเคลื่อนไหวร่างกาย   ลมหายใจ และสติสัมปชัญญะ และคุณหมอยังได้อธิบายเพิ่มเติม ว่า จริงๆ แล้ว เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน หากปล่อยให้วุ่นวายใจอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมมีความเครียด ความทุกข์ สะสมไปเรื่อยๆ จนอาจ ก่อให้เกิดโรคทางกายต่างๆ เช่น โรคกระเพาะ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องผูก ท้องเดิน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง โรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานกำเริบ เป็นหวัดง่าย เป็นต้น ทางการแพทย์เรียกโรคเหล่านี้ว่า" โรคกายที่เกิดจากความเครียด”
      การที่เราจะเลือกวิธีใด มาช่วยให้เรามีสติอยู่กับลมหายใจ ขึ้นอยู่ความชอบ หรือรูปแบบที่สมดุลกับตนเอง เราอาจได้ยินได้ฟังคำว่า ทำงานคือการปฏิบัติธรรม ซึ่งอาจฟังดูเป็นจินตนาการไกลเกินตัวเราจะก้าวถึง แต่หากเราลองเริ่มจากลมหายใจให้อยู่กับสติ เราจะพบอะไรมากมายกว่าที่เราตั้งเป้าหมาย


 ธรรมทานจาก http://www.pharmacy.cmu.ac.th



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น