วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่สี่ ส่วนที่ สาม

ความแตกต่างระหว่างคำว่า วิตก กับคำว่า วิจาร และรู้จักความที่สิ่งทั้งสองนี้มีอยู่พร้อมกัน กล่าวคือ การที่ลูกวัวถูกผูกติดอยู่กับเสาก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในขณะที่มันวนเวียนอยู่ รอบๆ เสา, หรืออาการที่มันวนเวียนอยู่รอบ ๆ เสา ก็มีอยู่ในขณะที่มันยังถูกผูกติดอยู่กับเสา

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่สี่ ส่วนที่ สาม

(การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

โดยพุทธทาสภิกขุ


นิวรณ์ กับ คู่ปรับ

    สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ ตามตัวหนังสือแปลว่า เครื่องกางกั้น แต่ความหมายหมายถึงสิ่งที่ทำความเสียหายให้แก่ความดีงามของจิต. ความดีงามของจิตในที่นี้เรียกว่า ความเป็นเอก หรือ เอกัตตะ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น : ดังนั้นนิวรณ์จึงเป็นอุปสรรคหรือเป็นคู่ปรับกันกับเอกัตตะ ในฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันซึ่งจะได้ยกมากล่าวเป็นคู่ๆ พร้อมกันไปดังนี้ :

    ๑. กามฉันทะ เป็นนิวรณ์. เนกขัมมะ เป็นเอกัตตะ. กามฉันทะคือความพอใจในกาม ความหมกหมุ่นอาลัยในกาม หรือความใคร่ในทางกาม ที่กลุ้มรุมรบกวนจิตอยู่ ทำจิตให้ไม่แจ่มใสหรือเป็นประภัสสร : เช่นเดียวกับน้ำที่ใสสะอาด เมื่อบุคคลเอาสีแดงเป็นต้น ใส่ลงไปในน้ำแล้ว ย่อมหมดความเป็นน้ำใส ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายใต้น้ำนั้นได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น. เนกขัมมะ คือความที่จิตปราศจากกาม ไม่ถูกกามรบกวน ไม่ถูกกามกระทำให้มืดมัวไป. เมื่อใดจิตมีลักษณะเช่นนั้น เรียกว่าจิตมีเนกขัมมะ หรือเป็นเอกัตตะข้อที่หนึ่ง.

    ๒. พยาบาท เป็นนิวรณ์. อัพยาบาท เป็นเอกัตตะ. พยาบาท หมายถึงความที่จิตถูกประทุษร้ายด้วยโทสะหรือโกธะ กล่าวคือความขัดใจ ความไม่พอใจ ความโกรธเคือง ความกระทบกระทั่งแห่งจิตทุกชนิด ที่เป็นไปในทางที่จะเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น หรือวัตถุอื่น. ส่วน อัพยาบาท เป็นไปในทางตรงกันข้าม หมายถึงจิตเยือกเย็นไม่มีความกระทบกระทั่ง หรือ หงุดหงิดแต่ประการใด. เมื่อพยาบาทเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแล้ว ในขณะนั้นจิตย่อมพลุ่งพล่าน เสียความเป็นประภัสสร หรือความผ่องใส เหมือนน้ำที่ใสสะอาดแต่ถูกความร้อนทำให้เดือดพล่านอยู่ ย่อมสูญเสียความผ่องใส ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ใต้พื้นน้ำนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.

    ๓. ถีนมิทธะ เป็นนิวรณ์. อาโลกสัญญา เป็นเอกัตตะ. ถีนมิทธะในที่นี้ ได้แก่ความเศร้าซึม ความมึนชา ง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น แม้ที่สุดแต่ความละเหี่ยท้อแท้ ก็นับรวมอยู่ในข้อนี้. เมื่อครอบงำจิตแล้ว จิตสูญเสียความผ่องใส เช่นเดียวกับน้ำที่ใสสะอาด แต่ถ้ามีเมือกหรือตะไคร่ หรือสาหร่ายเป็นต้นลอยอยู่ในน้ำนั้น น้ำก็สูญเสียความผ่องใส ไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งต่างๆ มีกรวดทรายเป็นต้น ที่มีอยู่ใต้พื้นน้ำนั้น จึงจัดเป็นนิวรณ์ เพราะทำความเสื่อมเสียให้แก่จิต คือทำจิตให้ใช้การไม่ได้. อาโลกสัญญา คือการทำในใจให้เป็นแสงสว่าง ราวกะว่ามีแสงอาทิตย์ส่องอยู่โดยประจักษ์ตลอดเวลา. ข้อนี้เกี่ยวกับอุปนิสัยด้วย เกี่ยวกับการฝึกด้วย ที่จะทำให้บุคคลนั้นมีจิตแจ่มจ้าราวกะว่าได้รับแสงแดดอยู่ตลอดเวลา, คือไม่มีการง่วงซึม มึนชา ซบเซา. ถ้าหลับก็หลับโดยสนิท ถ้าตื่นก็ตื่นโดยแจ่มใส. อาโลกสัญญา เป็นความเป็นเอก หรือความเป็นเลิศชนิดหนึ่งของจิต และเป็นคู่ปรับโดยตรงของถีนมิทธะ.

    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ เป็นนิวรณ์. อวิกเขปะ เป็นเอกัตตะ. อุทธัจจ-กุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ความแตกต่างกันของอุทธัจจะกับกุกกุจจะ พึงถือเอาตามความหมาย รูปศัพท์. อุทธัจจะ หมายถึงความพลุ่งขึ้น หรือฟุ้งขึ้น เช่นความคิดฟุ้งขึ้น เพราะความทึ่ง หรือความสนใจที่มากเกินไป : ส่วน กุกกุจจะ เป็นความรู้สึกที่แผ่ซ่านระส่ำระสาย เพราะความไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ที่ไหนดี, หรือทำอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นที่พอใจหรือเป็นสุข. เกิดขึ้นเพราะมีสิ่งอื่นมายั่วบ้าง เพราะความเคยชินบ้าง เพราะการกระทำที่เกินขอบเขตเกินเวลาบ้าง จนพร่าไปหมด. ครั้นสิ่งทั้ง ๒ นี้เกิดขึ้นครอบงำจิตแล้ว ก็ทำจิตให้สูญเสียความเป็นประภัสสรไปในอีกทางหนึ่ง : เปรียบเหมือนน้ำที่ใสสะอาดแต่ถ้าถูกเป่าให้เป็นระลอก หรือเป็นคลื่นอยู่เสมอแล้ว ย่อมสูญเสียความผ่องใสไม่อำนวยความสำเร็จแก่การมองเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดภาย ใต้พื้นน้ำนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ; จึงจัดเป็นสิ่งที่ทำความเสื่อมเสียแก่จิต. อวิกเขปะ แปลว่าไม่ซัดไป หรือไม่ส่ายไป คือไม่พลุ่งขึ้นข้างบนหรือไม่ส่ายไปรอบตัว, เมื่อเป็นลักษณะของจิต ได้แก่ความที่จิตมีความคงที่ หรือคงตัว ทนได้ต่อสิ่งรบกวน ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งรบกวน มีความเป็นปรกติของตัวเองอยู่ได้ จึงจัดว่าเป็นความเป็นเอก หรือความเป็นเลิศของจิตอีกชนิดหนึ่งอาศัยการศึกษาฝึกฝนอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะมีคุณธรรมข้อนี้ขึ้นมาได้ เพราะธรรมชาติของจิตย่อมกลับกลอกและหวั่นไหว.

    ๕. วิจิกิจฉา เป็นนิวรณ์. ธัมมววัตถานะ เป็นเอกัตตะ. วิจิกิจฉาหมายถึงความลังเล หรือโลเลแห่งจิต ไม่มีความแน่ใจในตัวเอง ในวิธีการหรือหลักการ ที่ตนกำลังยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ. ไม่แน่ใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือในปฏิปทาทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ทางพระศาสนา. มีความเชื่อครึ่งหนึ่ง มีความสงสัยครึ่งหนึ่งในสิ่งนั้นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่. ความลังเลเช่นนี้ครอบงำจิตแล้ว ทำให้จิตสูญเสียความเป็นประภัสสรหรือความผ่องใส หมดสมรรถภาพในตัวมันเอง ในทางที่จะรู้แจ้งสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง เหมือนกับน้ำที่ใสสะอาดแต่มีอยู่ในที่มืดสนิท ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ในการที่มองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ที่พื้นภาย ใต้น้ำนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น. ธัมมววัตถานะ ได้แก่การกำหนดที่แน่นอนชัดเจนลงไปยังธรรมะหรือหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งโดยกระจ่างชัด ไม่มีการสงสัยหรือลังเล. สิ่งที่เราต้องประสงค์โดยตรงในที่นี้ หมายถึง การที่บุคคลแต่ละคน จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเป็นแก่การครองชีวิตของตน หรือการประกอบอาชีพการงานในหน้าที่ของตน ทั้งทางกายและทางจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หลักเกณฑ์ในเรื่องความดีความชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ทางแห่งความเสื่อมและความเจริญ ตลอดถึงทางแห่งมรรค ผล นิพพานเป็นที่สุด. ธัมมววัตถานะนี้ มีทางมาจากการศึกษาโดยตรง ซึ่งหมายถึงการฟังหรือการอ่าน การคิด การถาม การซักไซ้สอบสวน การกำหนดจดจำ จนมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นที่แน่ใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่สงสัยหรือลังเลในสิ่งที่ตนจะต้องทำหรือกำลังทำอยู่. ความสงสัยเป็นสิ่งที่รบกวนหรือทรมานจิตใจอย่างลึกซึ้ง ; ส่วนธัมมววัตถานะนั้นตรงกันข้าม, จึงจัดเป็นความเป็นเอกหรือความเป็นเลิศของจิตอีกอย่างหนึ่ง.

นิวรณ์ มีได้ไม่จำกัดจำนวน

    โดยทั่วไป ท่านกล่าวนิวรณ์ไว้เพียง ๕ อย่างเท่านั้น แต่ในที่บางแห่งโดยเฉพาะเช่นในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ได้เพิ่มนิวรณ์ขึ้นอีก ๓ อย่าง คือ : อวิชชาหรืออัญญาณ เป็นนิวรณ์, ญาณเป็นเอกัตตะ นี้คู่หนึ่ง ; อรติ เป็นนิวรณ์, ปามุชชะเป็นเอกัตตะ นี้คู่หนึ่ง ; และอกุศลธรรมทั้งปวง เป็นนิวรณ์, กุศลธรรมทั้งปวงเป็นเอกัตตะ นี้คู่หนึ่ง. แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าอัญญาณ หรืออวิชชา ในที่นี้อาจสงเคราะห์เข้าได้ในวิจิกิจฉา, อรติ คือความไม่ยินดีหรือความขัดใจนั้น อาจสงเคราะห์เข้าได้กับพยาบาท. ส่วนอกุศลธรรมทั้งปวงนั้น เป็นอันกล่าวเผื่อไว้สำหรับอุปกิเลสที่ไม่ได้ออกชื่อ แต่ก็อาจจะสงเคราะห์เข้าได้ในข้อใดข้อหนึ่งของนิวรณ์ ๕ ข้างต้นนั่นเอง. โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์นั้น โดยที่แท้ไม่จำกัดจำนวน คือจะเป็นอุปกิเลสชื่อไรก็ได้. การกำหนดไว้เพียง ๕ อย่าง เป็นบาลีพุทธภาษิตดั้งเดิม. ได้รับความนิยมทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงได้พิจารณากันแต่ ๕ อย่างเท่านั้น.

เหตุที่ได้ชื่อว่า นิวรณ์

    เหตุที่ได้ชื่อว่านิวรณ์ เพราะมีความหมายว่า เป็นเครื่องปิดกั้น. เมื่อถามว่าปิดกั้นอะไร ? มีคำตอบต่างๆ กัน เช่นปิดกั้นความดี ปิดกั้นทางแห่งพระนิพพาน ดังนี้เป็นต้น. แต่ในกรณีที่เกี่ยวกับการเจริญสมาธินี้ ท่านจำกัดความกันลงไปว่าโดยบุคลาธิษฐาน ก็คือปิดบังสัตว์หรือจิตของสัตว์ไม่ให้รู้ธรรม ; ส่วนโดยธรรมาธิษฐานนั้น หมายถึงปิดบัง นิยยานิกธรรม กล่าวคือธรรมเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ หรือกล่าวโดยนิตินัย ก็กล่าวได้ว่าปิดบังเอกัตตะนั่นเอง : ยกตัวอย่างเช่นเนกขัมมะ หรือความที่จิตว่างจากกาม เป็นนิยยานะอันหนึ่งของพระอริยเจ้าหมายความว่าพระอริยเจ้ามีจิตออกจากทุกข์ ด้วยเนกขัมมะนั้น, ส่วนกามฉันทะเป็นเครื่องปิดกั้นเนกขัมมะ คือกั้นหรือกีดกันเนกขัมมะออกไป แล้วมีกามฉันทะเข้ามาอยู่แทน กามฉันทะจึงได้ชื่อว่าเป็นนิวรณ์ หรือเป็นนิยยานาวรณา ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน กล่าวคือเป็นเครื่องปิดกั้นธรรม ซึ่งเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ปุถุชนไม่รู้ว่าเนกขัมมะนั้น เป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ของพระอริยเจ้า เพราะถูกกามฉันทะหุ้มห่อปิดบังจิต. โดยนัยนี้ จึงได้ความหมายเป็น ๒ ทาง คือปิดบังธรรมฝ่ายเอกัตตะไม่ให้ปรากฏแก่จิต หรือปิดบังจิตไม่ให้ลุถึงธรรมที่เป็นฝ่ายเอกัตตะ. แต่โดยผลแล้วเป็นอย่างเดียวกัน คือจิตถูกหุ้มห่อด้วยนิวรณ์อยู่ตลอดเวลา, เมื่อถือเอาโดยพฤตินัย จึงได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นหุ้มห่อจิตอยู่เป็นปรกตินั่นเอง : จิตเศร้าหมอง จิตไม่มีวิเวก จิตไม่มีสุขเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์นั้น.

การละนิวรณ์ มีหลายประเภท

    การทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์นั้น คือความมุ่งหมายโดยตรงของการทำสมาธิ ฉะนั้น การที่จิตปราศจากนิวรณ์ กับการที่จิตเป็นสมาธิ จึงเป็นของอันเดียวกัน. เมื่อใดจิตปราศจากนิวรณ์อยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นได้เองในบางขณะ ก็เป็นสมาธิธรรมชาติ ; เมื่อใดจิตปราศจากนิวรณ์โดยอาศัยการปฏิบัติ จิตก็มีสมาธิชนิดที่เรากำลังศึกษากันอยู่นี้. สมาธิตามธรรมชาติ ทำให้จิตพ้นจากนิวรณ์ได้โดยบังเอิญ เรียกว่า ตทังควิมุตติ แปลว่าหลุดพ้นเพราะประจวบเหมาะ หรือบังเอิญประจวบเหมาะกับสิ่งที่เป็นเครื่องระงับนิวรณ์, ส่วนในสมาธิที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น นิวรณ์ถูกละไปด้วยอำนาจของสมาธินั้น. การปราศจากนิวรณ์ด้วยอาการเช่นนี้ เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ. แต่ตลอดเวลาที่กิเลสยังไม่หมดสิ้นไปนิวรณ์ย่อมกลับเกิดขึ้นใหม่ ในเมื่อว่างจากสมาธิ ฉะนั้น จึงต้องมีการปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำลายรากเหง้า หรือต้นตอแห่งนิวรณ์เสีย, สิ่งนั้นคือวิปัสสนา. จิตที่ไม่ถูกนิวรณ์หรือกิเลสรบกวนอีกต่อไป ได้ชื่อว่ามี สมุจเฉทวิมุตติ คือความหลุดพ้น เพราะความขาดสูญของกิเลส เป็นความหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด. โดยนัยที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์นั้น รำงับ เองได้โดยบังเอิญอย่างหนึ่ง, รำงับอยู่ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ อย่างหนึ่ง, และมีรากเหง้าอันขาดสูญไปได้ด้วยอำนาจของวิปัสสนา อีกอย่างหนึ่ง. สองอย่างแรกเป็นการชั่วคราว อย่างหลังเป็นการถาวร. ผู้ปฏิบัติต้องไม่เพียงแต่ศึกษาหรือจดจำเรื่องราวอันเกี่ยวกับนิวรณ์อย่าง เดียว. แต่ต้องรู้จักหรือหยั่งทราบชัด ต่อสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ด้วยใจของตนเองจริงๆ ว่ามีอยู่อย่างไร เพียงไร และเมื่อไรเป็นต้น, และรู้จักลักษณะที่นิวรณ์นั้นๆ กำลังรบกวนตนเองอยู่อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อจะได้เห็นโทษแห่งนิวรณ์นั้นได้จริงๆ จนมีความพอใจและแน่ใจ ในการที่จะกำจัดนิวรณ์นั้นเสีย แม้เพื่อประโยชน์แห่งความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ได้ทุกขณะที่ตนต้องการ กล่าวคือแม้ยังจะไม่หมดกิเลสสิ้นเชิง. แต่ก็จะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอุบายชนิดที่นิวรณ์รบกวนไม่ได้เรื่อยๆ ไป จนกว่าจะหมดกิเลสสิ้นเชิง. โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า ความปราศจากนิวรณ์นั้น เป็นความสงบสุขอย่างยิ่งอยู่ในตัวของมันเอง ชั้นหนึ่งก่อน แล้วยังเป็นโอกาสหรือเป็นฐานที่ตั้งสำหรับการปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสอันเป็นรากเหง้าของนิวรณ์นั้นให้หมดสิ้นไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำลายนิวรณ์ในขั้นเด็ดขาด และเป็นความดับทุกข์ในขั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป.

การละนิวรณ์ คือหน้าที่ของสมาธิ

    สำหรับการปฏิบัติในขั้นนี้ เป็นเพียงขั้นสมาธิ ยังไม่ใช่ขั้นวิปัสสนา หน้าที่ของเราอันเกี่ยวกับนิวรณ์ จึงเป็นเพียงการทำสมาธิหรืออุบายอันเป็นเครื่องกีดกันนิวรณ์ออกไปเสียจากจิต ด้วยการนำเอาสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์เข้ามาสู่จิตจนกระทั่งนิวรณ์ต่างๆ ระงับไป. สิ่งที่กีดกันนิวรณ์ออกไปจากจิตในที่นี้คือ ตัวสติที่เกิด ขึ้นในการกำหนดลมหายใจ โดยวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น. โดยกรรมวิธีก็คือเป็นการนำจิตเข้าไปผูกไว้กับลมหายใจ จนกระทั่งเกิดเอกัตตธรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ นิวรณ์จึงหมดโอกาสที่จะครอบงำจิต. ตลอดเวลาที่สติยังไม่ละไป. จิตยังกำหนดอยู่ที่ลมหายใจหรือนิมิตแห่งสมาธิได้อยู่ เมื่อนั้นชื่อว่าไม่มีนิวรณ์ มีแต่เอกัตตธรรมอยู่แทนที่ดังที่กล่าวแล้ว. ผู้ปฏิบัติจะต้องมองให้เห็นชัดเจนทีเดียวว่า เอกัตตธรรมเหล่านี้มีอยู่อย่างไร : ยกตัวอย่างเช่นเนกขัมมะ หรือการหลีกออกจากกามนั้น เป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่า ได้เริ่มมีแล้วตั้งแต่ขณะหลีกออกไปสู่ที่สงัด และมีมากขึ้น หรือมั่นคงขึ้น นับตั้งแต่ขณะแห่งคณนา คือการกำหนดนิมิต หรือลมหายใจเป็นต้นไป กระทั่งถึงขณะแห่งปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นอันกล่าวได้ว่า เป็นเนกขัมมะในที่นี้แล้วอย่างสมบูรณ์ เอกัตตธรรมข้ออื่น เช่นอัพยาบาทเป็นต้น ก็ดำเนินไปในแนวเดียวกัน. แต่ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาจนทราบว่าองค์ฌานนั้นๆ มีอะไรบ้างและองค์แห่งฌานนั้น ๆ เป็นตัวเอกัตตธรรมข้อไหน, ฉะนั้น จะได้วินิจฉัยกันถึงองค์แห่งฌานสืบไป.

องค์แห่งฌาน

    คำว่า “องค์แห่งฌาน” หมายความว่า ส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ ของฌาน. เมื่อประกอบรวมกันหลายอย่าง จึงสำเร็จเป็นฌานขั้นหนึ่ง. เช่นอาจจะกล่าวได้ว่า ปฐมฌานมีองค์ห้า ทุติยฌานมีองค์สาม ตติยฌานมีองค์สอง จตุตถฌานมีองค์สอง ดังนี้เป็นต้น. ทั้งนี้เป็นการแสดงชัดอยู่แล้วว่าองค์แห่งฌานนั้น ไม่ใช่ตัวฌาน เป็นแต่เพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ ของฌาน. องค์แห่งฌาน มี ๕ องค์ คือ ๑ วิตก, ๒ วิจาร, ๓ ปีติ, ๔ สุข, ๕ เอกัคคตา, มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-

    ๑. วิตก คำคำนี้ โดยทั่วไปแปลว่า ความตริหรือความตรึก. แต่ในภาษาสมาธิ คำว่า วิตกนี้ หาใช่ความคิดนึกตริตรึกอย่างใดไม่. ถ้าจะเรียกว่าเป็นความคิด ก็เป็นเพียงการกำหนดนิ่งๆ แนบแน่นอยู่ในสิ่งๆ เดียว, ไม่มีความหมายที่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร. อาการแห่งจิตจะมีปรากฏอยู่ในขณะ แห่งคณนาและอนุพันธนาโดยอ้อม. และในขณะแห่งผุสนาและฐปนาโดยตรง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง คือสิ่งที่เรียกว่าวิตกในที่นี้. (ควรย้อนไปดูตอนอันว่าด้วยคณนาเป็นต้นให้เข้าใจจริง ๆ อีกครั้งหนึ่ง) และจะเข้าใจอาการของวิตกได้ดี ก็ต่อเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบ กับสิ่งที่เรียกว่าวิจาร และกล่าวบรรยายลักษณะควบคู่กันไป.

    ๒. วิจาร คำคำนี้ โดยทั่วไป หมายถึงการตรึกตรอง หรือสอดส่องหรือวินิจฉัย แต่ในทางภาษาสมาธิ หาได้มีความหายอย่างนั้นไม่ เป็น แต่เพียงอาการที่จิตรู้ต่ออารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้น, ซึ่งในที่นี้ ได้แก่ลมหายใจ, อยู่อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อาการที่เกิดขึ้นในขณะของอนุพันธนาเป็นต้นไป. (ควรย้อนไปดูเรื่องตอนอนุพันธนาเป็นต้น ดังที่แนะไว้แล้วในกรณีของวิตก) และจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ดี ด้วยการนำอุปมาเปรียบเทียบ ซึ่งจะดียิ่งกว่าบรรยายด้วยคำพูดตรงๆ ยกตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบกับการดู : เมื่อสายตาทอดไปจับที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้เปรียบกันได้กับอาการของวิตก, เมื่อเห็นสิ่งนั้นทั่วหมด เปรียบกันได้กับอาการของวิจาร. หรือเปรียบด้วยการสาดน้ำ : เมื่อน้ำกระทบกับสิ่งที่ถูกสาด ก็เปรียบได้ด้วยอาการของวิตก, เมื่อน้ำเปียกซึมไปทั่ว ก็เปรียบได้ด้วยอาการของวิจาร. หรือถ้า เปรียบกับการฝึกลูกวัว ซึ่งมักถูกใช้เป็นอุทาหรณ์ในการฝึกจิตทั่วๆ ไปก็อาจจะเปรียบได้ว่า เมื่อลูกวัวถูกแยกไปจากแม่ เอาไปผูกไว้ที่เสาหลักแห่งหนึ่งด้วยเชือก เสาหลักเปรียบด้วยลมหายใจ เชือกนั้นเปรียบด้วยสติ ลูกวัวนั้นเปรียบด้วยจิต การที่มันถูกผูกติดอยู่กับเสา เปรียบด้วยอาการของวิตก และการที่มันดิ้นไปดิ้นมา วนเวียนอยู่รอบๆ เสา รอบแล้ว รอบอีก เปรียบด้วยอาการของวิจาร.

    ผู้ศึกษาจะต้องรู้จักสังเกต ความแตกต่างระหว่างคำว่า วิตก กับคำว่า วิจาร และรู้จักความที่สิ่งทั้งสองนี้มีอยู่พร้อมกัน กล่าวคือ การที่ลูกวัวถูกผูกติดอยู่กับเสาก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในขณะที่มันวนเวียนอยู่ รอบๆ เสา, หรืออาการที่มันวนเวียนอยู่รอบ ๆ เสา ก็มีอยู่ในขณะที่มันยังถูกผูกติดอยู่กับเสา, แต่อาการทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่เป็นของสิ่งเดียวกันเลย ทั้งที่มีอยู่พร้อมกันหรือในขณะเดียวกัน. ความเข้าใจอันนี้ เป็นเหตุให้เข้าใจไปถึงว่า ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น วิตกกับวิจารมีอยู่ในขณะเดียวกันได้อย่างไร. สำหรับอาการอันนี้โดยเฉพาะ จะเห็นได้ชัดในกรณีของคนขัดหม้อ ซึ่งมือซ้ายจับหม้อ มือขวาจับเครื่องขัดหม้อ แล้วถูไปทั่วๆ ตัวหม้อ ในขณะเดียวกัน ; มือซ้าย คือวิตก มือขวา คือวิจาร, ฉันใดก็ฉันนั้น.สรุปความว่า วิตก คือ อาการที่จิตกำหนดนิมิต, วิจาร คือ อาการที่จิตเคล้าเคลียกันอยู่กับนิมิตอย่างทั่วถึงนั่นเอง และ เป็นสิ่งที่มีอยู่พร้อมกัน.

    ๓. ปีติ. คำนี้ ตามปรกติแปลว่าความอิ่มใจ. ในภาษาของสมาธิหมายถึงความอิ่มใจด้วยเหมือนกัน แต่จำกัดความเฉพาะความอิ่มใจที่ไม่เนื่องด้วยกาม และต้องเป็นความอิ่มใจที่เกิดมาจากความรู้สึกว่าตนทำอะไรสำเร็จ หรือตนได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว หรือต้องเสร็จแน่ๆ ดังนี้เป็นต้นเท่านั้น. ปีตินี้อาศัยเนกขัมมะ ไม่อาศัยกาม, ฉะนั้น จึงอาจจำกัดความลงไปว่า ปีติ คือ ความอิ่มใจที่เกิดมาจากการที่ตนเอาชนะกามได้สำเร็จ ด้วยนั่นเอง. ปีติ ในกรณีนี้จัดเป็นกุศลเจตสิกประเภทสังขารขันธ์ คือความคิดชนิดหนึ่ง กล่าวคือ การทำความอิ่มใจยังไม่จัดเป็น เวทนาขันธ์ ผู้ศึกษาพึงรู้จักสังเกตความแตกต่างระหว่างปีติกับสุขในข้อนี้, คือข้อที่ปีติเป็นสังขารขันธ์ และสุขเป็นเวทนาขันธ์, เพื่อกันความสับสนกันโดยสิ้นเชิง แล้วพึงทราบความที่ปีติเป็นแดนเกิดของความสุข.

    ๔. สุข. คำว่าสุขในที่นี้ หมายถึงสุขอันเกิดจากการที่จิตไม่ถูกนิวรณ์รบกวน รวมกันกับกำลังของปีติหรือปราโมทย์ ที่ได้ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกอันเป็นสุขนี้ขึ้น. ตามธรรมดาคนเรา เมื่อมีปีติ ก็ย่อมรู้สึกเป็นสุขอย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่สุขโดยอาการอย่างนี้ ย่อมตั้งอยู่ชั่วขณะ ส่วนสุขที่เกิดมาจากที่นิวรณ์ไม่รบกวนนั้น ย่อมตั้งอยู่ถาวรและมั่นคงกว่า. เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจพฤติอันนี้ดี ก็จะเห็นชัดแจ้งได้โดยตนเองว่า ปีติกับสุขนั้นไม่ใช่ของอย่างเดียวกันเลยแต่ก็มีอยู่พร้อมกันได้ในขณะเดียว กัน เหมือนกับการที่วิตกและวิจาร มีอยู่พร้อมกันได้ ฉันใดก็ฉันนั้น.

    ๕. เอกัคคตา. เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า จิตเตกัคคตา (จิตต +เอกัคคตา) แปลว่าความที่จิตเป็นสิ่งซึ่งมียอดสุดเพียงอันเดียว. โดยใจความก็คือความที่จิตมีที่กำหนดหรือที่จด-ที่ตั้งเพียงแห่งเดียว. อธิบายว่า ตามธรรมดาจิตนั้น ย่อมดิ้นรนกลับกลอก เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะเป็นของเบาหวิว. ต่อเมื่อได้รับการฝึกฝนโดยสมควรแก่กรณีแล้ว จึงจะเป็นจิตที่ตั้งมั่น มีอารมณ์อย่างเดียวอยู่ได้เป็นเวลานาน. ในกรณีแห่งสมาธินี้ เอกัคคตาหมายถึงความที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่ได้ในขณะแห่งฐปนา หรือในระยะแห่งปฏิภาคนิมิตเป็นต้นไป (ส่วนระยะที่ต่ำกว่านั้น ยังล้มลุกคลุกคลาน คือเป็นไปชั่วขณะ) และ อาการแห่งเอกัคคตานี้เอง เป็นอาการที่เป็นความหมายอันแท้จริง ของคำว่า สมาธิ หรือเป็นตัวสมาธิแท้ เอกัคคตานี้ ในที่บางแห่งเรียกว่า “อธิษฐาน” ก็มี.

องค์ฌาน ทำให้เกิดฌานได้อย่างไร

    สิ่งที่ต้องพิจารณาหรือวินิจฉัยต่อไปก็คือ องค์ฌานทั้ง ๕ องค์นี้ มีอยู่อย่างไร และสัมพันธ์กันในหน้าที่อย่างไร ในขณะแห่งปฐมฌาน เป็นต้น ? ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือมีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา. ข้อนี้ย่อมหมายความว่า ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น สิ่งทั้ง ๕ นี้ ย่อมมีอยู่ และสัมพันธ์เป็นสิ่งเดียวกัน คือปฐมฌาน. ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นแก่คนทั่วไปว่า ถ้าจิตที่เป็นสมาธิเป็นสิ่งที่มีอารมณ์อันเดียวและมียอดสุดอันเดียวคือเป็น เอกัคคตา ทั้งไม่มีความนึกตรึกตรองอะไรแล้ว จะมีความรู้สึกถึง ๕ อย่างพร้อมกันได้อย่างไร ? ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ถ้าสางไม่ออกแล้วก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสมาธิใน ขั้นปฐมฌานได้เลย. ในขั้นแรกจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า องค์-องค์นั้น เป็นเพียงส่วนประกอบหรือองค์ประกอบ คือเป็นสิ่งที่รวมกันปรุงให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ในฐานะเป็นสิ่งๆ เดียว เช่นเชือกเส้นหนึ่งมี ๕ เกลียว เราเรียกว่าเชือกเส้นเดียว ; หรือขนมบางอย่าง ประกอบด้วยเครื่องปรุง ๕ อย่าง เราเรียกว่าขนมอย่างเดียว, นี้คือความหมายของคำว่าองค์ หรือองค์ประกอบ. สำหรับในกรณีของปฐมฌานนั้น หมายความว่า เมื่อจิตกำลังเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ จิตย่อมมีสัมปยุตตธรรม คือสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันแก่จิต ถึง ๕ อย่าง, แต่ละอย่าง ๆ ก็เป็นความมั่นคงในตัวของมันเองด้วย สนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย จึงตั้งอยู่อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก. เปรียบเหมือนไม้ ๕ อัน แต่ละอัน ๆ ก็ปักอยู่อย่างแน่นแฟ้นแล้วยังมารวมกลุ่มกันในตอนยอดหรือตอนบน เป็นอันเดียวกัน ก็ยิ่งมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก, ข้อนี้ฉันใด ; ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏแล้วตั้งอยู่อย่างมั่นคงจิตหน่วงเอาความเป็นอัปปนา คือความแน่วแน่ได้ องค์ทั้ง ๕ นี้ ซึ่งมีความสำคัญแต่ละองค์ก็รวมกันเป็นจุดเดียว เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ฌาน” หรือสมาธิที่แน่วแน่ขึ้นมาได้. ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏนั้น วิตกมิได้มีอยู่ในลักษณะแห่งการกำหนดลมหายใจเข้าหรือออก แต่เปลี่ยนมาเป็นการกำหนดว่า “ลม” อยู่ในจุดหรือในดวงแห่งปฏิภาคนิมิตนั้น ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าวิตกในขั้นริเริ่มต่างๆ นั้น มิได้รำงับไปเสียในขณะแห่งคณนา หรืออนุพันธนาหรือผุสนาเลย แต่ได้กลายมาเป็นวิตกที่ละเอียดสุขุมสงบรำงับ เหลืออยู่จนกระทั่งถึงขณะแห่งฐปนาหรือปฏิภาคนิมิตนั้น. สำหรับองค์ที่เรียกว่าวิจารก็เป็นอย่างเดียวกัน คือมีเหลืออยู่ในลักษณะสุขุมมาตั้งแต่แรก จนกระทั่งถึงขณะแห่งฐปนา ก็ทำหน้าที่รู้สึกอย่างทั่วถึงในปฏิภาคนิมิต : ทำหน้าที่พร้อมกันกับวิตกดังที่เป็นมาแต่ต้น : เป็นอันว่าในขณะแห่งปฏิภาคนิมิต ก็ยังมีวิจารเหลืออยู่เต็มสัดเต็มส่วน. ปีตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาอันออกมาจากวิตกและวิจารอย่างประปราย ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แม้ในขณะแห่งอนุพันธนา หรือผุสนาก็ตาม. เมื่อวิตกวิจารเป็นสิ่งที่มั่นคงอย่างละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นทุกที ปีติก็ยังคงมีอยู่อย่างละเอียดสุขุมยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยามาจากวิตกและวิจารไปตามเดิม : ฉะนั้นปีติจึงมีออยู่ด้วย แม้ในขณะแห่งฐปนา หรือปฏิภาคนิมิต. สำหรับความสุขนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยละจากปีติ ปัญหาจึงไม่มีความที่จิตเป็นฐปนาหรือกำหนดอยู่ในปฏิภาคนิมิตได้ถึงที่สุด แน่วแน่ไม่หวั่นไหวนั่นเอง จัดเป็นเอกัคคตา. จึงเป็นว่าสิ่งทั้ง ๕ นี้ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตโดยสมบูรณ์. เมื่อจิตได้อาศัยปฏิภาคนิมิตแล้วหน่วงเอาอัปปนาสมาธิได้อย่างสมบูรณ์ถึงขั้น ฌานแล้ว สิ่งทั้ง ๕ นี้ จึงตั้งอยู่ในฐานะเป็นองค์แห่งฌานด้วยกันและกัน ในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องทำการกำหนดนิมิตอีกแต่ประการใด เพราะองค์แห่งฌานเข้าไปตั้งอยู่แทนที่ของนิมิต : คงเหลืออยู่แต่การควบคุมแน่วแน่ไว้เฉยๆ ด้วยอำนาจขององค์ทั้งห้าที่สมังคีกันดีแล้ว. เหมือนนายสารถีที่เพียงแต่นั่งถือบังเหียนเฉยๆ ในเมื่อม้าที่ลากรถได้หมดพยศแล้ว และวิ่งไปตามถนนอันราบรื่น ฉันใดก็ฉันนั้น. ผู้ศึกษาไม่พึงเข้าใจว่าองค์ทั้ง ๕ นี้ เป็นความคิดนึกที่ต้องทำอยู่ด้วยเจตนาแต่ละอย่างๆ : โดยที่แท้มันเป็นเพียงผลของการปฏิบัติ ที่ได้ทำมาอย่างถูกต้องจนเข้ารูปแล้ว ก็ย่อมเป็นไปได้เองโดยไม่มีเจตนา เหมือนการกระทำของนายสารถีที่กุมบังเหียนอยู่เฉยๆ แม้ไม่มีเจตนาในขณะนั้น สิ่งต่างๆ ก็เป็นไปด้วยดี ครบถ้วนเต็มตามความประสงค์.

องค์ฌาน องค์หนึ่งๆ เปลี่ยนความหมายได้หลายชั้น

    อีกอย่างหนึ่งพึงทราบว่า ชื่อต่างๆ ขององค์ฌานทั้ง ๕ ชื่อนี้ ย่อมเป็นเช่นเดียวกับชื่อแปลกๆ ของอาการต่างๆ หลายอย่าง ที่เกิดอยู่กับสิ่งๆ เดียว แล้วแต่ว่าเราจะมองในแง่ไหน เฉพาะในความหมายที่สำคัญเป็นแง่ๆ ไป. ชื่อๆ เดียวกัน อาจหมายความถึงกิริยาอาการที่ต่างกันในเมื่อเวลาได้ล่วงไป พร้อมกับความสำเร็จของงานที่ทำเป็นขั้นๆ ไป. ความแจ่มแจ้งในข้อนี้จักมีได้ด้วยการอุปมาในเรื่องการฝึกลูกวัวอีกตามเคย. สมมติว่าในขณะนี้ ลูกวัวได้หมดพยศ มีความเชื่อฟังเจ้าของถึงที่สุด และลงนอนสบายติดอยู่กับโคนเสาหลักนั้นแล้ว ลองพิจารณาดูกันใหม่ ว่ามีอาการที่เป็นองค์สำคัญๆ อะไรบ้างที่ยังเหลืออยู่ นับตั้งแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงในขณะนี้. อาการของลูกวัว ที่เปรียบกันได้กับคำว่าวิตกและวิจารในขั้นแรกจริงๆ นั้น อยู่ในลักษณะที่มันถูกผูก แล้วกระโจนไปกระโจนมา ดิ้นรนวนเวียนอยู่รอบๆ เสา ; แต่บัดนี้อาการของลูกวัว ส่วนที่จะเปรียบกันได้กับวิตกวิจารนั้น ได้เปลี่ยนมาอยู่ในลักษณะนอนเบียดอยู่โคนเสาอย่างสบาย. อาการถูกผูกซึ่งเปรียบกันได้กับวิตกก็ยังมีอยู่ ; อาการเคล้าเคลียกับเสา ซึ่งเปรียบกันได้กับวิจารก็ยังคงมีอยู่ หากแต่ว่าเปลี่ยนรูปไปในทางสุภาพเท่านั้น ส่วนความหมายยังคงอยู่ตามเดิม. ก่อนนี้ลูกวัวดื้อดึง ไม่ชอบเจ้าของ ยินดีในการไม่ทำอะไรตามใจเจ้าของเสียเลย บัดนี้ลูกวัวพอใจในความเป็นเช่นนี้ คืออาการที่มีความคุ้นเคยกับเจ้าของ ยินดีที่จะทำตามเจ้าของด้วยความพอใจ ย่อมเปรียบกันได้กับปีติ อาการที่ลูกวัวนอนเป็นสุข ไม่ถูกเบียดเบียนด้วยการเฆี่ยนตี หรือด้วยการดึงของเชือกเมื่อตัวเองดิ้น เป็นต้น เปรียบกันได้กับสุข. ข้อที่ลูกวัวไม่ละไปจากเสา กลับยึดเอาเสาเป็นหลักแหล่ง นี้ก็เปรียบกันได้กับเอกัคคตา, เป็นอันว่าลักษณะทั้ง ๕ ของลูกวัวนั้น เป็นองค์สำคัญแห่งความสำเร็จ ในการที่ได้รับการฝึกจากเจ้าของ และอาจเปรียบกันได้กับองค์ทั้ง ๕ แห่งปฐมฌาน ซึ่งเป็นความสำเร็จแห่งการเจริญสมาธิในขั้นนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า องค์แห่งฌานทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติที่จะต้องแยกทำด้วยเจตนาทีละอย่างๆ หากเป็นเพียงผลของการปฏิบัติอันหนึ่ง กล่าว คือฌานที่มีลักษณะอาการให้เห็นในเหลี่ยมที่ต่างๆ กัน เป็น ๕ อย่างดังนี้เป็นต้น. ด้วยเหตุนี้เอง องค์แห่งฌานซึ่งเป็นความรู้สึก ๕ ประการ โดยลักษณะที่กล่าวแล้ว จึงเป็นสิ่งที่มีได้ในจิตดวงเดียวพร้อมกัน และไม่ต้องมีการคิดนึกหรือเจตนาแต่อย่างใด เป็นการตัดปัญหาที่ว่า ความคิดนึกทั้ง ๕ อย่างจะมีอยู่ในฌานได้อย่างไร ให้สิ้นไป.ต่อแต่นี้ไปจะได้วินิจฉัยในข้อที่ว่า องค์แห่งฌานแต่ละองค์ๆ ได้ทำงานในหน้าที่ของตน มีผลในทางกำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้หมดไปได้อย่างไร สืบไป.

องค์ฌาน กำจัดนิวรณ์ได้อย่างไร

    ในการที่จะเข้าใจว่าองค์ฌานองค์หนึ่งๆ จะสามารถกำจัดนิวรณ์แต่ละอย่างๆ ได้อย่างไรนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาให้ทราบว่า องค์ฌานองค์ไหนมีลักษณะตรงกันข้ามกับนิวรณ์ข้อไหน. ข้อนี้อาจจะพิจารณาดูได้ด้วยเหตุผลธรรมดา คือ : สิ่งที่เรียกว่า วิตก ได้แก่การกำหนดอารมณ์อันใดอันหนึ่งอยู่ : ถ้าสิ่งนี้มีอยู่ นิวรณ์ที่มีอาการตรงกันข้าม เช่นอุทธัจจะกุกกุจจะ ก็ย่อมมีขึ้นไม่ได้ แม้ที่สุดแต่กามฉันทะก็ยังมีขึ้นไม่ได้ เพราะจิตกำลังติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ. สิ่งที่เรียกว่า วิจาร ก็เป็นอย่างเดียวกัน : เมื่อวิจารมีอยู่ ก็หมายถึงมีการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในตัวมันเอง ไม่ลังเลในการทำ, สิ่งที่เรียกว่าวิจิกิจฉาย่อมระงับไปโดยตรง, แม้สิ่งที่เรียกว่ากามฉันทะหรืออื่นๆ ก็ย่อมระงับไปโดยอ้อม. สิ่งที่เรียกว่า ปีติ และ สุข นั้น เป็นข้าศึกต่อพยาบาทและถีนมิทธะอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และยังสามารถระงับกามฉันทะ เพราะเหตุที่มีอารมณ์ต่างกัน แม้ว่าอาการจะคล้ายกัน คือ ปีติและสุขนั้นปรารภธรรมหรืออาศัยธรรมเป็นกำลัง ; ส่วนกามฉันทะ อาศัยวัตถุกามเป็นอารมณ์ หรือเป็นกำลัง. สำหรับสิ่งที่เรียกว่า เอกัคคตา นั้น ย่อมเป็นที่ระงับของนิวรณ์ทั่วไป.

    ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นสืบไปอีกว่า องค์แห่งฌานแต่ละองค์ๆ นอกจากจะเป็นข้าศึกต่อนิวรณ์อย่างหนึ่งๆ โดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นข้าศึกต่อนิวรณ์โดยส่วนรวม ตามมากตามน้อย พราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่าย จึงมีอยู่พร้อมกันไม่ได้ เหมือนความมืดกับแสงสว่าง มีอยู่พร้อมกันไม่ได้โดยธรรมชาติ ฉันใดก็ฉันนั้น.

องค์ฌาน กำจัดนิวรณ์เมื่อไร

    สำหรับทางพฤตินัยนั้น นิวรณ์เริ่มระงับไป ตั้งแต่ขณะแห่งอุปจารสมาธิ คือตั้งแต่ฌานยังไม่ปรากฏ. ครั้นถึงขณะแห่งฌานหรืออัปปนาสมาธิองค์แห่งฌานทั้ง ๕ จึงปรากฏขึ้นโดยสมบูรณ์ทั้ง ๕ องค์ : นี้เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า องค์แห่งฌานองค์หนึ่งๆ หาจำต้องทำหน้าที่ปราบนิวรณ์ที่เป็นคู่ปรับอย่างหนึ่งๆ เป็นคู่ๆ ไปโดยเฉพาะไม่ ; หรือว่า องค์แห่งฌานต้องพร้อมกันทุกองค์ คือเป็นอัปปนาสมาธิเสียก่อน จึงอาจจะละนิวรณ์ได้ ก็หาไม่. ตามพฤตินัยที่เป็นจริงนั้น นิวรณ์ทั้งหลายเริ่มถอยหลัง ตั้งแต่ขณะแห่งการกำหนดบริกรรมนิมิต และไม่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในขณะอุคคหนิมิต เพราะถ้านิวรณ์มีอยู่สิ่งที่เรียกว่าอุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นไม่ได้. ครั้นตกมาถึงขณะแห่งปฏิภาคนิมิต นิวรณ์ก็กลายเป็นสิ่งที่หมดกำลัง ทั้งที่องค์แห่งฌานยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งครบทั้ง ๕ องค์ และสมาธิก็ยังเป็นเพียงอุปจารสมาธิอยู่. ครั้นองค์แห่งฌานปรากฏชัดแจ้งมั่นคงทั้ง ๕ องค์ คือเป็นอัปปนาสมาธิหรือฌานแล้ว นิวรณ์ก็เป็นอันว่าขาดสูญไป ตลอดเวลาที่อำนาจของฌานยังคงมีอยู่ หรือเหลืออยู่แต่ร่องรอยกล่าวคือสุขอันเกิดจากฌาน. ฉะนั้น สิ่งที่ควรกำหนดสำหรับการศึกษาต่อไปก็คือความเป็นสมาธิ ๒ อย่าง ; 

อ่านต่อ ส่วนที่สี่
ธารธรรม  https://sites.google.com/site/smartdhamma/

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ ตอน สอง

การปลอบใจตัวเอง หรือชักนำจิตใจของตัวเอง ให้เกิดความแน่ใจหรือกำลังอย่างเพียงพอขึ้นมาใหม่ โอกาสก็จะอำนวยให้สำหรับการกำหนดได้โดยง่าย โดยลมหายใจนั้นค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นมาใหม่โดยสมควรแก่การกระทำ ในการประคับประคองจิต หรือการชักนำจิตของตนไปในทางที่จะให้เกิดปฏิกิริยาต่อร่างกาย อย่างพอเพียงที่จะทำให้ลมหายใจค่อยๆ กลับปรากฏชัดเจนขึ้นมาใหม่. 

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ ตอน สอง

(การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

โดยพุทธทาสภิกขุ


อุปสรรคของการเกิดปฏิภาคนิมิตและฌาน
    ต่อไปนี้ จะได้วินิจฉัยกันถึงอุปสรรคหรืออันตราย ของการทำสมาธิในอานาปานสติขั้นที่สี่ โดยละเอียด. อุปสรรคเฉพาะตอนแรกดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อานาปานสติขั้นที่สี่ มีใจความสำคัญอยู่ตรงที่การกำหนดลมหายใจที่ละเอียด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กายสังขารที่รำงับลงๆ จนถึงที่สุด. อุปสรรคอาจจะเกิดขึ้นได้ในตอนแรก คือจากการที่ลมหายใจละเอียดจนถึงกับกำหนดไม่ได้ หรือรู้สึกราวกะว่าหายไปเสียเฉยๆ .นี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติซึ่งประสบเข้าเป็นครั้ง แรก. ในกรณีเช่นนี้ เขาอาจจะระงับความสงสัยหรือความกระวนกระวายใจนั้นเสียได้ โดย ๒ วิธี คือ :-

    (๑) การเริ่มตั้งต้นหายใจเสียใหม่ให้รุนแรง แล้วตั้งต้นทำไปใหม่ตามลำดับตั้งแต่ต้นไปอีก ซึ่งถ้าหากสิ่งต่างๆ ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกว่าคราวก่อน ก็จักผ่านอุปสรรคอันนี้ไปได้โดยอัตโนมัติ.

    (๒) ถ้าหากว่าการทำอย่างนั้นยังไม่ได้ผลก็ดี หรือว่าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติมาจนถึงขั้นที่ละเอียดเช่นนี้แล้ว ไม่อยากจะย้อนกลับไปสู่ขั้นปฏิบัติที่ยังหยาบอยู่ก็ดีเขาอาจจะผ่านอุปสรรค อันนี้ไปได้ โดยวิธีแห่ง การปลอบใจตัวเอง หรือชักนำจิตใจของตัวเอง ให้เกิดความแน่ใจหรือกำลังอย่างเพียงพอขึ้นมาใหม่ โอกาสก็จะอำนวยให้สำหรับการกำหนดได้โดยง่าย โดยลมหายใจนั้นค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นมาใหม่โดยสมควรแก่การกระทำ ในการประคับประคองจิต หรือการชักนำจิตของตนไปในทางที่จะให้เกิดปฏิกิริยาต่อร่างกาย อย่างพอเพียงที่จะทำให้ลมหายใจค่อยๆ กลับปรากฏชัดเจนขึ้นมาใหม่. ตัวอย่าง เช่นเมื่อได้ทำมาจนถึงขั้นที่จะทำลมหายใจให้ละเอียดแล้วลมหายใจไม่ปรากฏ หรือมีอาการราวกะว่าแกล้งหายไปเสียเฉยๆ ดังนี้แล้ว เขาจะต้องถอนหายใจยาวๆ หลายครั้ง แล้วอธิษฐานจิตในการที่พิจารณาอย่างจริงจังว่าตนไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ในพวกบุคคลผู้มีลมหายใจไม่ปรากฏแต่ประการใดเลย. เขาพิจารณาเพื่อให้เกิดความแน่ใจสืบไปว่า คน ที่ไม่หายใจนั้นใครๆ ก็รู้ว่ามีอยู่ แต่คนเหล่านี้คือ คนที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา. คนที่กำลังดำน้ำ, พวกอสัญญีสัตว์, คนตายแล้ว, คนที่กำลังอยู่ในจตุตถฌาน, คนที่กำลังอยู่ในรูปสมาบัติหรืออรูปสมาบัติ, และคนที่กำลังอยู่ในนิโรธสมาบัติเท่านั้น ; ก็เรานี้มิได้อยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งของบุคคลเหล่านั้นแล้ว ไฉนเราจึงต้องเป็นบุคคลที่มีลมหายใจไม่ปรากฏด้วยเล่า.
    เมื่อเขาอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่ ในการที่จะต้องเป็นบุคคลที่ยังมีลมหายใจอยู่เช่นนั้น ลมหายใจก็ย่อมปรากฏแม้ในขั้นที่ละเอียดและในลักษณะที่ละเอียดได้โดย อัตโนมัติ โดยไม่สูญเสียผลแห่งการปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติมาแล้วจนถึงขั้นนี้. ญาณ คือความรู้ที่จะเกิดขึ้นแก่เขาว่า เพราะลมหายใจละเอียดเกินไปบ้าง, เพราะลมหายใจถูกแปรสภาพเป็นละเอียดเร็วเกินไปบ้าง, เพราะการกำหนดผุสนาไม่ถูกที่อันเหมาะสมบ้าง, หรือเพราะกำหนดฐปนาโดยอาการที่พรวดพราดผลุนผลันบ้าง, ลมหายใจจึงไม่ปรากฏเพื่อประโยชน์แก่การกำหนดนั้นๆ ข้อนี้เป็นทางแห่งการปรับปรุงขยับขยายสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันให้เหมาะสมเสียใหม่ ลมหายใจก็จะกลับปรากฏในลักษณะที่เหมาะสมยิ่งขึ้นไปอีก. อุปสรรคเกี่ยวกับการที่ลมหายใจไม่ปรากฏก็จะหมดไป เขาจะสามารถกำหนดลมหายใจได้ดี ทั้งในขณะแห่งคณนา อนุพันธนา ผุสนาและฐปนา แล้วแต่ว่าอุปสรรคและปัญหาจะเกิดขึ้นระยะไหน. ตามปรกติทั่วไปในกรณีของอานาปานสติมักจะเป็นปัญหายุ่งยากข้อนี้ขึ้น ในขณะแห่งผุสนานั่นเอง. อุคคหนิมิตไม่ปรากฏเพราะไม่มีความรู้สึกว่าลมมากระทบที่ฐานแห่งผุสนา ทำให้กำหนดจุดๆ นั้นไม่ได้ ; นี่เรียกว่าลมหายใจหายไปในระยะแห่งผุสนา. เขาจะต้องแก้ไขด้วยอุบายดังที่กล่าวมาแล้ว. สำหรับในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตนั้น สติกำหนดนิมิตที่เป็นมโนภาพที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ไม่เนื่องด้วยลมหายใจโดยตรงก็จริง แต่ก็ยังเนื่องกันอยู่โดยอ้อมคือถ้าลมหายใจไม่เป็นไปตามปรกติตามที่ต้อง ประสงค์ขั้นนี้ ปฏิภาคนิมิตก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็กลับล้มเหลวไป เพราะฐปนาไม่อาจเป็นไปด้วยดีนั่นเอง.
    อีกประการหนึ่ง พึงทราบไว้อีกชั้นหนึ่งในที่นี้ว่า ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเคลื่อนย้ายจากจุดที่ลมกระทบ คือจุดผุสนา ไปได้ตามการน้อมไปของจิต เช่น สามารถจะย้ายปฏิภาคนิมิตจากที่เคยตั้งอยู่ที่จะงอยจมูก ให้ออกไปภายนอกเช่นไปลอยอยู่ตรงหน้าห่างออกไปจากตัว หรือย้ายเข้าไปในภายใน ไปเด่นอยู่ที่ทรวงอกหรือที่สะดือก็ตาม แล้วแต่กรณี. เมื่อจุดแห่งผุสนาเป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายไปสู่ตำแหน่งใหม่ได้โดยมโนภาพ จุดแห่งฐปนาก็เป็นอันย้ายตามไปได้อย่างเดียวกัน. ในกรณีเช่นนี้ การกำหนดผุสนาและฐปนา จะต้องเป็นไปอย่างพลิกแพลงและละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไปตั้งแต่ต้น ลมหายใจก็จะต้องมีอยู่ได้เอง เป็นระเบียบอยู่ได้เองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีความสำนึก มากขึ้นไปตามส่วน. นี้เองเป็นการแสดงว่า ลมหายใจมีอยู่ได้โดยไม่ทำความรู้สึกว่ามีแต่อย่างใด ; เพราะฉะนั้นการกำหนดลมหายใจจะต้องเป็นการกำหนดที่ชัดเจนที่สุด และเป็นระเบียบที่สุดและด้วยความแน่ใจปราศจากความสงสัยที่สุด ในการที่จะไปสงสัย และทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่าลมหายใจมิได้มีอยู่ ซึ่งที่แท้มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ได้โดยไม่ต้องมีความสำนึก และเป็นระเบียบสม่ำเสมออยู่ได้ โดยไม่ต้องมีเจตนาควบคุม เพราะผลแห่งการฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี และอย่างเพียงพอนั่นเอง. สรุปความได้ว่าการหายไปแห่งลมหายใจจริงๆ นั้น ต้องไม่มีอย่างแน่นอน, ถ้ามีก็ต้องเป็นความสำคัญผิด ต้องขจัดให้หายไปด้วยอุบายดังที่กล่าวแล้ว ; ผู้นั้นจึงจะสามารถกำหนดลมหายใจ หรือกายสังขาร ในขั้นที่รำงับลงอย่างละเอียดที่สุดได้.นี้คืออุปสรรค และวิธีขจัดอุปสรรคชนิดที่มักเกิดในขั้นแรก แห่งอานาปานสติขั้นที่สี่นี้.

อุปสรรคทั่วไป

    ส่วนอุปสรรคในขั้นต่อไปและมีได้ทั่วๆ ไปนั้น อาจมีได้แทบทุกระยะแห่งการปฏิบัติและการเลื่อนลำดับของการปฏิบัติ หากแต่ว่าเป็นปัญหาที่อาจจะเกิดเฉพาะคน เพราะอุปนิสัยแตกต่างกัน ดังที่ได้เคยกล่าวแล้วข้างต้น. ถ้าจะประมวลมาให้หมด หรือเผื่อไว้สำหรับทุกคน ก็จะได้เป็นหัวข้อดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ควรสำเนียกศึกษาไว้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด.

    ก. เมื่อสติกำหนดลมหายใจออก จิตฟุ้งอยู่ในภายใน. คือเมื่อบุคคลส่งจิตไปตามลมที่กำลังออกไปในขณะแห่งลมหายใจออก โดยจะกำหนดเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด หรือไม่ก็ตาม เกิดความห่วงว่ามันจะหายใจกลับเข้าไปเมื่อไร หรือเกิดความกังวลว่า มันจะขาดตอน หรือมันจะหายไปเลยไม่กลับเข้า หรือเข้าไม่พอ หรือเข้าอย่างไม่มีระเบียบ ดังนี้แล้ว ย่อมเป็นอุปสรรคหรืออันตรายต่อความเป็นสมาธิ แม้ในชั้นหยาบ. เขาจะต้องมีหลักในการที่จะไม่ให้เกิดความระแวงหรือกลัวหรือห่วงเช่นนั้น. ความรู้สึกฟุ้งซ่านที่กล่าวนี้จะปรากฏแก่บุคคลผู้แรกฝึกเป็นธรรมดา. ถ้าไม่ได้รับการแนะนำล่วงหน้า ย่อมเกิดการเสียประโยชน์ หรือเสียเวลามากกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น.

    ข. ในกรณีแห่งการหายใจเข้า. ก็มีอุปสรรคในทำนองเดียวกัน คือเมื่อสติกำหนดลมหายใจเข้าถึงที่สุดแล้ว จิตแล่นออกไปภายนอก คือไปห่วงอยู่ว่าเมื่อไรลมจะกลับออกไป เมื่อไรมันจะกระทบฐานที่กระทบสำหรับขาออก ดังนี้เป็นต้น. นี้เรียกว่า จิตฟุ้งออกไปภายนอก มีอาการกลับกันกับข้อ ก. เมื่อนำมาเข้าคู่กัน ก็อาจจะสรุปได้ว่า เมื่อกำหนดลมหายใจออก จิตฟุ้งไปข้างใน คือไปกังวลอยู่ข้างใน : เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า จิตฟุ้งไปข้างนอก คือไปกังวลอยู่ข้างนอก. ทั้งนี้ เป็นกฎธรรมดาที่ว่า เมื่อสำเร็จเรื่องข้างนอกแล้ว ก็ไปห่วงข้างใน เมื่อสำเร็จเรื่องข้างในแล้วก็ไปห่วงข้างนอก. อาการเช่นนี้ จะเกิดขึ้นเองโดยอำนาจสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง, และผู้ปฏิบัติมีความร้อนรน หรือมีความตั้งใจรุนแรงเกินไปในการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง. การศึกษามาแล้วอย่างเพียงพอ กับการสำรวจจิตอย่างประณีตสุขุม หรือพอเหมาะพอสม และการไม่คิดอะไรล่วงหน้าไว้มา ๆ เป็นต้น ย่อมแก้อุปสรรคคู่นี้ได้
    อุปสรรคคู่ถัดไปก็คือ :

    ค. ความหวังอยู่ก็ดี ความพอใจอยู่ก็ดี ความอยากก็ดี ซึ่งมีอยู่ในลมหายใจออก.

    ง. ความหวังอยู่ก็ดี ความพอใจอยู่ก็ดี ความอยากก็ดี ซึ่งมีอยู่ในลมหายใจเข้า.

    ทั้งคู่นี้ ล้วนแต่เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. ความหวังในลมหายใจออกหรือเข้าก็ตาม เกิดมาแต่ความกลัวว่าลมจะหายไป ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติของตัวต้องชะงัก หรือไม่เป็นผลดีทันตามต้องการ. ผู้ที่ปฏิบัติด้วยตัณหาอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ในตัวการปฏิบัติเต็มที่ ยิ่งต้องรับเคราะห์กรรมข้อนี้มาก ส่วนผู้ที่ปฏิบัติด้วยปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ พร้อมด้วยคำแนะนำที่ดี ก็แทบจะไม่พบอุปสรรคอันนี้. ความพอใจในลมหายใจออกหรือเข้า ที่เกิดมาจากความรู้สึกสบายในขณะที่หายใจออกหรือเข้า หรือที่เกิดมาจากความรู้สึกที่เป็นการยึดมั่นถือมั่นก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากเพียงพอ ที่จะให้เกิดความฟุ้งซ่านแห่งจิต หรือเกิดความหยาบแห่งลมหายใจ จนไม่มีทางที่จะระงับลงได้. มันจูงไปในทางแห่งความตื่นเต้นเสียตลอดเวลา จึงจัดเป็นอุปสรรคหรืออันตรายในปริยายหนึ่ง. ส่วนความอยากหรือความหวังนั้น เนื่องมาจากความพอใจจึงมีความกระหายต่อการหายใจเข้าหรือออกก็ตาม. แม้ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มีจิตหยาบ มีลมหายใจหยาบ ไม่อาจจะระงับลงได้ จึงถือว่าทั้งคู่เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ เช่นเดียวกับความฟุ้งแห่งจิต ที่กล่าวแล้วในข้อ ก. และ ข.
    คู่ถัดไปอีก คือ :

    จ. เมื่อลมหายใจออกครอบงำ เกิดการลืมต่อการหายใจเข้า.

    ฉ. เมื่อลมหายใจเข้าครอบงำ เกิดการลืมต่อการหายใจออก.

    ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายแห่งการทำสมาธิ. คำว่า ถูกลมหายใจครอบงำ นั้น หมายความว่าเขาไปสนใจต่อลมหายใจนั้นรุนแรงเกินไปก็ดี ; หรือการหายใจออกมีอะไรที่ทำให้เกิดความสนใจมากโดยส่วนเดียว ส่วนขณะที่หายใจเข้าไม่มีอาการอย่างนั้น ดังนี้เป็นต้นก็ดี; หรือว่าอวัยวะเครื่องทำการหายใจไม่เป็นปรกติ สะดวกแต่การหายใจออก ไม่สะดวกในเมื่อหายใจเข้า, หรือสะดวกแต่เมื่อหายใจเข้า ไม่สะดวกในเมื่อหายใจออกก็ดี : ย่อมมีอาการที่เป็นอุปสรรคในข้อนี้เกิดขึ้น. โดยใจความก็คือได้มีอะไรมาทำให้เขาสนใจ หรือกำหนดลมหายใจได้แต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความไม่รู้เท่าถึงการณ์, ลักษณะที่เป็นได้ง่ายแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ก็อยู่ตรงที่เขาไปสนใจอย่างรุนแรงและยืดยาว ในสิ่งซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เขาประสบเข้า, และข้อถัดไปก็เนื่องมาจากอวัยวะซึ่งเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดไม่สามารถที่ จะทำหน้าที่ได้เท่ากัน ในขณะหายใจเข้าและออก จนทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น โดยที่ไม่สามารถจะใช้จุดๆ เดียวกัน ให้เป็นที่ตั้งของผุสนาได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งเมื่อหายใจออกและหายใจเข้า คู่ถัดไปอีกคือ :

    ช. เมื่อกำหนดนิมิต จิตในลมหายใจออกหวั่นไหว.

    ซ. เมื่อกำหนดลมหายใจออก จิตในนิมิตหวั่นไหว.

    ทั้งสองอย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. คำว่า นิมิต ในที่นี้ก็หมายถึงนิมิตในขั้นผุสนา หรืออุคคหนิมิต. เมื่อจิตไปกำหนดอยู่ที่อุคคหนิมิตคือฐานที่ลมกระทบ จิตที่กำหนดตัวลมก็หวั่นไหว หรือส่ายไป. อีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามก็คือ เมื่อกำหนดที่ตัวลมหายใจมากเกินไป หรือด้วยความตั้งใจเต็มที่ จิตที่จะกำหนดในนิมิต คือฐานที่ลมกระทบ หรือที่เรียกว่าผุสนานั้น ก็เป็นจิตหวั่นไหวหรือส่ายไป. อุปสรรคข้อนี้เกิดมาจากการกระทำที่สับสน หรือผิดลำดับ เพราะการศึกษาไม่เพียงพอ หรือทำไปตามความเข้าใจของตนเอง. เมื่อการปฏิบัติยังอยู่ในขั้นแรก อุปสรรคหรือปัญหานี้ยังไม่เกิด เพราะตัวลมหายใจนั้นเองเป็นตัวนิมิต. ถ้าปัญหาจะเกิด ก็เนื่องมาจากการที่ผู้นั้นได้ไปทำการกำหนดแบ่งแยกให้เป็นนิมิตอย่างหนึ่ง ให้ลมหายใจอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็กำหนดในฐานะที่เป็นนิมิตนั้นอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นลมหายใจนั้นอีกอย่างหนึ่ง ; เมื่อกำหนดอย่างใดมากไป จิตที่กำหนดทางอีกฝ่ายหนึ่งก็หวั่นไหว ดูๆ คล้ายกับว่าเป็นการรู้มาก ยากนาน. ถ้าหากกระทำแต่เพียงว่าสติกำหนดลมอย่างแน่วแน่แล้ว ถือเอาลมนั้นเป็นนิมิตพร้อมกันไปในตัว ก็ไม่มีทางที่จะกำหนดหนักไปในทางใดทางหนึ่ง อุปสรรคหรือปัญหาที่กล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ในขั้นที่กำหนดลมหายใจให้เป็นนิมิต ทั้งนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับลมหายใจออก. ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับลมหายใจเข้า ก็เป็นไปในทำนองอย่างเดียวกันคือ :

    ฌ. เมื่อกำหนดนิมิต จิตในลมหายใจเข้าหวั่นไหว.

    ญ. เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า จิตในนิมิตหวั่นไหว.
    ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. คำอธิบายและการแก้ไขอุปสรรคครั้งนี้ เป็นอย่างเดียวกับคู่ก่อน คือ ช. กับ ซ. จึงสามารถวินิจฉัยรวมกันไปในคราวเดียวกัน และอาจจะสรุปความประมวลเป็นใจความสำคัญ ที่ใช้ได้ทั่วไปทั้ง ๒ คู่ ว่า ในเมื่อยังใช้ลมหายใจเป็นนิมิต ก็ควรใช้อุบายในการกำหนดควบคู่ไปด้วยกัน คือไม่ทำในใจในทางที่จะแบ่งแยกกัน. ครั้นล่วงมาขณะแห่งอุคคหนิมิต ก็กำหนดเอาฐานที่ตั้งเป็นตัวนิมิต ไม่ใส่ใจถึงลมหายใจ ใส่ใจแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ตรงจุดนั้นเท่านั้น ซึ่งย่อมเป็นการกำหนดลมหายใจไปในตัว โดยไม่รู้สึกตัว ด้วยอุบายที่แยบคาย. ครั้นตกมาถึงระยะแห่งปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นการถือเอาดวงแห่งมโนภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวนิมิต การกำหนดลมหายใจก็กลายเป็นสิ่งที่ระงับไปแล้วโดยสิ้นเชิง โดยถือว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นระเบียบโดยไม่รู้สึก เมื่อการกำหนดปฏิภาคนิมิตยังเป็นไปได้ดีอยู่ คือปรกติอยู่ ก็เป็นอันถือว่าลมหายใจนั้นยังเป็นระเบียบอยู่โดยไร้สำนึกในขั้นนี้ จึงมีแต่การกำหนดนิมิตแต่ออย่างเดียวโดยตรง ไม่ต้องทำในใจให้เป็นห่วงถึงการกำหนดลมเลย. ทั้งหมดนี้อาจจะสรุปความสั้นๆ ได้อีกครั้งหนึ่งว่า :
(๑) ในขณะแห่งบริกรรมนิมิต กำหนดลมและนิมิตพร้อมกันไปในตัว

(๒) ในขณะแห่งอุคคหนิมิต กำหนดแต่นิมิตที่ตรงจุดแห่งผุสนา ให้การกำหนดลมเป็นแต่เพียงของฝาก หรือของพลอยได้ ซึ่งไม่ต้องสนใจเท่ากับการกำหนดนิมิต แต่ผุสนาย่อมเกิดขึ้น เมื่อลมกระทบเท่านั้น ฉะนั้นจึงเป็นการกำหนด ๒ อย่างพร้อมกันไปในตัวโดยอีกปริยายหนึ่ง.
(๓) ส่วนในขณะแห่งปฏิภาคนิมิต กำหนดแต่นิมิตโดยตรงเพียงอย่างเดียว ทิ้งลมหายใจไว้ในฐานะที่เป็นสิ่งดำเนินไปได้เอง โดยไม่ต้องมีการกำหนดแม้โดยปริยาย. อุปสรรคหรืออันตราย ๒ คู่นี้ย่อมหมดไปโดยอุบายอันแยบคาย แห่งการปฏิบัติอันถูกต้องในขณะแห่งนิมิต ๓ ระยะ ดังกล่าวนี้.
    คู่ถัดไปอีก คือ :-
    ด. เมื่อกำหนดลมหายใจออก จิตในลมหายใจเข้าหวั่นไหว.

    ต. เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า จิตในลมหายใจออกหวั่นไหว.
    ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. อุปสรรคคู่นี้เป็นไปในระยะแรกๆ. ความหมายโดยตรงหมายถึงอาการของบุคคลที่ไม่ทำในใจโดยแยบคาย คือไม่มีการทำในใจมากพอ ถึงกับไม่สามารถทำของ ๒ อย่างนี้ให้สม่ำเสมอกันด้วยความรู้สึกที่เท่ากัน. ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่รู้บ้าง เพราะความตั้งใจมากเกินไปบ้าง ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตให้เห็นว่าอุปสรรคในคู่นี้ มีอาการคล้ายกันกับข้อ ก. และ ข. หากแต่ มีความมุ่งหมายแตกต่างกันบ้างในข้อที่ว่าในขั้นนี้ หมายถึงจิตที่ไม่ได้รับการกระทำที่สม่ำเสมอกันในคู่หนึ่งๆ มีอาการผิดปรกติเป็นพิเศษกว่า หรือเล็กน้อยกว่า หรือเฉพาะคนกว่า ยิ่งกว่าในขั้นต้นคือในข้อ ก. และ ข. ; และยังหมายถึงว่าจิตหวั่นไหวในระยะหลังนี้ อาจจะมีมูลเหตุมาจากทางอื่น โดยไม่เนื่องกับการหายใจที่คู่กันในระยะเดียวกันก็ได้ เพราะเหตุที่โยนิโสมนสิการในลมหายใจไม่เท่ากันทั้ง ๒ ระยะ. ผู้ประสบอุปสรรคข้อนี้จะต้องหาทางแก้ไขเฉพาะส่วนที่หวั่นไหว หรือเท่าที่เป็นมูลเหตุของความหวั่นไหวเฉพาะส่วน. นำมากล่าวไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น.
    ส่วนคู่ต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแทรกแซง คือ :

    ถ. จิตแล่นไปตามอารมณ์ในอดีต เป็นจิตตกไปข้างกระสับกระส่าย (วิกเขปะ).
    ท. จิตหวังอารมณ์ในอนาคต เกิดเป็นจิตหวั่นไหว (วิกัมปิตะ).
    ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อการทำสมาธิ. ข้อที่ต้องสังเกตมีอยู่ว่าอารมณ์ในอดีตเป็นเหตุให้กระสับกระส่าย อารมณ์ในอนาคตเป็นเหตุให้หวั่นไหว; อาการทั้งสองนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร ? อาการกระสับกระส่ายหรือวิกเขปะนั้นหมายถึงมากเรื่อง หรือหลายทิศหลายทาง, ส่วนอาการหวั่นไหวหมายถึงเฉพาะเรื่อง และมีที่มุ่งหมายทางใดทางหนึ่ง. การแก้ไขอุปสรรคคู่นี้ มีอาการคล้ายกันในระยะแรก คือ ต้องละเว้นหรือรำงับจิตที่เป็นอย่างนั้นเสียก่อน แล้วจึง (๑) ทำการ “ตั้งจิตใหม่” ในอารมณ์หรือในฐานอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ผุสนา สำหรับจิตที่แล่นไปในอารมณ์อดีต ; และ (๒) ทำการ “น้อมจิตไป” ในอารมณ์หรือฐานอันเดียวอย่างเดียวกัน สำหรับจิตที่หวังอารมณ์ในอนาคต. ความแตกต่างระหว่างคำว่า “ตั้งจิตใหม่” (สำหรับข้อ ถ.) และคำว่า “น้อมจิตไป” (สำหรับข้อ ท.) มีอยู่อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาดูอย่างละเอียด จึงจะเข้าใจและปฏิบัติไปจนแก้อุปสรรคนั้นได้. คำว่า “ตั้ง” หมายความว่า ตั้งขึ้นใหม่ สำหรับกรณีที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาก่อน หรือตั้งขึ้นไม่สำเร็จก็ตาม หรือว่าไม่รู้จะตั้งตรงไหนก็ตาม ; ฉะนั้น ต้องมีการตั้งหรือการกำหนดโดยเฉพาะขึ้นมาใหม่. ส่วนคำว่า“น้อม” จิตไปนั้น หมายถึงจิตไปตั้งอยู่ ผิดที่ หรือเป็นการตั้งแล้วอย่างผิดที่หรือกำหนดผิดที่ จะต้องน้อมไปให้ถูกที่ หรือดึงไปให้ถูกที่ อาการจึงต่างกัน. โดยหลักการอันนี้ ทำให้เห็นได้เองว่า ความกระสับกระส่ายหรือวิกเขปะนั้น ไม่มีที่ตั้งและอาศัยมูลเหตุมาจากอารมณ์ในอดีต ซึ่งมีอยู่มากมายด้วยกัน แต่ก็ล้วนแต่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหวัง. ส่วนอาการที่เรียกว่าหวั่นไหว หรือวิกัมปิตะนั้นหมายถึงอาการตั้งอยู่แล้วในอารมณ์ที่มุ่งหวัง และเกี่ยวกับอารมณ์อนาคตโดยเฉพาะเท่านั้น. ถ้ารู้จักการตั้งและอาการน้อมไปทั้ง ๒ อย่างนี้ได้ดี ก็ย่อมจะแก้ปัญหาข้อนี้ได้.

    เมื่อสังเกตความหมายของคำเหล่านี้ได้ถึงที่สุดแล้ว ย่อมได้ความรู้กว้างออกไป แม้ในทางจิตวิทยาล้วนๆ ว่า อารมณ์ในอดีตกับอารมณ์ในอนาคตนั้นนำให้เกิดปฏิกิริยาแก่จิตใจแตกต่างกันใน แง่ที่ละเอียดอย่างนี้ ; ไม่ควรจะเหมาๆ เอาเสียว่าผิดกันแต่เป็นอดีตหรืออนาคต หรือโดยสักว่าชื่อ, ส่วนโดยผลหรือโดยปฏิกิริยานั้นเหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น. อารมณ์ในอดีตตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยสัญญา ; อารมณ์ในอนาคตตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยเวทนาและวิตก แล้วมันจะเหมือนกันได้อย่างไร. อีกทางหนึ่งก็คือการศึกษาให้รู้เรื่องสัญญา เวทนาและวิตก นั่นเอง จะเป็นประโยชน์แก่การตั้งจิต และการน้อมจิตไป ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ได้ตามความประสงค์.

    สำหรับคำว่า “ละเว้นจิตนั้นๆ เสีย” แล้วจึงตั้งใหม่ หรือน้อมไปใหม่นั้น มีทางที่จะละเว้นเสียด้วยการข่ม อย่างหนึ่ง ; และด้วยการพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อการข่มทำไปไม่สำเร็จ. อธิบายว่า เมื่อเราต้องการจะละสัญญาในอดีตเรื่องใดเสีย ด้วยการข่มใจไม่ให้ระลึกถึง โดยให้ไปกำหนดอยู่ในนิมิตของสมาธิ, แต่ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ เพราะสัญญาในอดีตมีกำลังมากเกินไปจนไม่อาจจะข่มได้ จะต้องอาศัยการละด้วยพิจารณาด้วยปัญญา คือเพ่งพิจารณาดูถึงอารมณ์แห่งสัญญาในอดีต ว่าอารมณ์นั้นก็ดี สัญญานั้นก็ดี เป็นแต่เพียงสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นมา และเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือปราศจากตัวตนโดยสิ้นเชิง. เมื่อเห็นชัดแจ้งดังนี้ การละเว้นจิตที่แล่นไปตามอารมณ์แห่งสัญญาในอดีต ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือทำลายเสียได้. สำหรับอารมณ์ในอนาคต ก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน หากแต่ว่าถ้าเป็นการพิจารณาจะต้องพิจารณาลงไปยังตัวเวทนาหรือวิตก : เวทนาคือเวทนาที่หวังจะได้มาเป็นความถูกอกถูกใจ เป็นต้น จากอารมณ์ในอนาคต. วิตกคือการตริตรึกไปสู่อารมณ์ในอนาคต. เมื่อทั้งเวทนาและวิตกเป็นเพียงมายา คือเป็นเพียงสิ่งที่ปรุงมันขึ้นในใจ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังที่กล่าวแล้ว ก็ทำลายเวทนาและวิตกเสียได้ อารมณ์ในอนาคตก็ถูกทำลายไป นี้เรียกว่า “ละเว้นจิตนั้นๆ” เสียได้ แล้วตั้งจิตใหม่หรือน้อมจิตไปสู่อารมณ์ใหม่ คือไปสู่นิมิตของสมาธิระยะใดระยะหนึ่งนั่นเอง.

    อุปสรรคคู่นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือระยะเริ่มแรก ได้แก่ในขณะแห่งคณนาหรืออนุพันธนาของบริกรรมนิมิตโดยเฉพาะและอาจก้าวก่าย ขึ้นไปถึงระยะผุสนาแห่งอุคคหนิมิตในบางส่วนหรือบางโอกาส. แต่ถ้าหากว่าได้แก้ไขอุปสรรคอันนี้ไปด้วยดีตั้งแต่ระยะแห่งบริกรรมนิมิตแล้ว การรบกวนในระยะแห่งอุคคหนิมิตก็ยากที่จะมีได้.

    อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องสำเหนียกไว้ก็คือว่า บุพพกิจเบื้องต้นต่างๆ ในระยะตระเตรียมตัวเพื่อทำกัมมัฏฐาน ตลอดถึงการละปลิโพธ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเกิดของอุปสรรคคู่นี้ หรือการไม่เกิดของอุปสรรคคู่นี้อย่างไม่น้อยทีเดียว. อีกสิ่งหนึ่งซึ่งควรระลึกด้วยก็คือ กัมมัฏฐานอุปกรณ์ ที่ใช้ทำอยู่เป็นประจำวันสำหรับสนับสนุน กัมมัฏฐานหลัก ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่มาก ในการป้องกันมิให้เกิดอุปสรรคคู่นี้ขึ้นมาได้ง่าย ๆ.
     อุปสรรคคู่ถัดไปคือ :

    ธ. จิตหดหู่ เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายเกียจคร้าน.

    น. จิตเพียรจัดเกินไป เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน.

    ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. อุปสรรคทั้งคู่นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ หากแต่ว่ามาในทางที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่มาด้วยกันอย่างเคียงคู่กันเหมือนคู่อื่นบางคู่.

    อุปสรรคอย่างแรก คำว่า “หดหู่” โดยใจความ หมายถึงความอ่อนกำลัง หรือไร้กำลัง เพราะปฏิบัติผิดก็ดี เพราะเนื่องด้วยโรคภัยก็ดี เพราะเนื่องด้วยร่างกายไม่สมประกอบก็ดี หรือเพราะกำลังในทางจิตคืออินทรีย์ต่าง ๆ (มีสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) อ่อนเกินไปก็ดี ล้วนแต่นำมาซึ่งผลอย่างเดียวกันคือความถอยกำลัง แล้วตกไปเป็นฝ่ายเกียจคร้าน. ความซึมเซา ง่วงเหงาหาวนอน มึนชา สลัว ท้อแท้ อิดโรย และอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะแห่งการถอยกำลังอย่างเดียวกันย่อมจัดเข้าไว้ในข้อนี้ ; หรือแม้ที่สุดแต่ความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งเกิดความไม่พอใจ หรือไม่เลื่อมใสต่อวัตถุประสงค์อันนี้โดยแท้จริง ก็นับรวมเข้าไว้ในข้อนี้. รวมความว่ากิริยาที่จิตถอยกำลังลงไป เรียกว่าความหดหู่ในที่นี้ทุกอย่าง. การระงับอุปสรรค หรืออันตรายคือความหดหู่นี้ มีหลักอยู่ว่า “เธอประคองจิตนั้นขึ้น แล้วย่อมละความเกียจคร้านเสียได้”. สิ่งที่ต้องศึกษา คือการที่จะประคองจิตนั้นขึ้นโดยวิธีไร. ผู้ปฏิบัติจะต้องประคองจิตด้วยอุบายที่แยบคายเริ่มด้วยการแก้ไขมูลเหตุต่างๆ ของความหดหู่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เท่าที่จะทำให้ได้ดีในภายนอกหรือในทางกายอย่างไรเสียก่อน แล้วจึงยกจิตในภายในขึ้น : เช่นถ้าร่างกายไม่ดี อาหารไม่เหมาะหรือสัปปายธรรมอย่างอื่นไม่เพียงพอ ก็ต้องแก้ไขส่วนนั้นก่อน แล้วจึงแก้ไขส่วนที่เป็นเรื่องของจิตโดยตรง. การแก้ไขทางจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปลูกฉันทะ ในการเจริญภาวนาให้มากขึ้นด้วยอุบายที่แยบคาย ซึ่งมีอยู่มากมายด้วยกัน แล้วแต่ความเหมาะสม. ถ้าเหลือวิสัยของตนเอง ผู้เป็นกัลยาณมิตรหรืออาจารย์ ก็อาจจะช่วยเหลือได้ดี. อุบายปลูกฉันทะนั้น ที่เป็นภายนอกก็คือ ระลึกถึงบุคคลภายนอกอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เช่น ระลึกในพระพุทธคุณ เกิดความเลื่อมใส แล้วก็เกิดความอยากหรือความพอใจในการปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนี้ก็ดี ; หรือระลึกถึงบุคคลคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งมานะ ว่าเราก็คนเขาก็คน เมื่อเขาปฏิบัติได้ เราก็ต้องปฏิบัติได้ ดังนี้เป็นต้นก็ดี เรียกว่าอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก. อีกทางหนึ่งก็คือ อุบายปลูกฉันทะอาศัยเหตุปัจจัยภายในของตัวเองโดยตรง ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ วัฏฏสงสารเป็นอย่างนี้ ความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ ความหยุดเวียนว่ายเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางอื่น : ยิ่งพิจารณาไปก็ยิ่งเห็นคุณแห่งพระธรรม และเห็นความจำเป็นที่ตนต้องพึ่งพระธรรม ไม่มีทางอื่นที่จะเป็นทางรอดของตนได้ ดังนี้เป็นต้นก็ดี : นี้เรียกว่าอาศัยเหตุที่เป็นภายใน เป็นอุบายประคองจิต เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่อินทรีย์ของตนได้ด้วยกันทั้งนั้น. ประคองจิตขึ้นมาได้เท่าไร ก็ย่อมมีกำลังละความหดหู่ หรือความเกียจคร้านเสียได้เท่านั้น. ผู้มีความเฉลียวฉลาดมากเท่าไร ก็ย่อมคิดหาอุบายประคองจิตของตนได้ เป็นวงกว้างขึ้นไปเท่านั้น. รวมความแล้ว ก็เป็นทางให้เกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ด้วยกันทั้งนั้น และล้วนแต่เป็นความหวังหรือเห็นแก่สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งตนหวังด้วยกันทั้ง นั้น จึงอาจจะนำมาใช้เป็นอุบายได้ : นับตั้งแต่เห็นแก่บิดามารดา เห็นแก่บุคคลที่ตนประสงค์จะให้เขาได้รับความพอใจ เห็นแก่พระพุทธเจ้า เห็นแก่พระศาสนา กระทั่งเห็นแก่ความหลุดพ้นของตัวเองเป็นที่สุด. ส่วนการเห็นแก่ทรัพย์ หรือชื่อเสียงเป็นต้นนั้น เป็นของต่ำเกินไปกว่าที่จะนำมาใช้เป็นอุบายสำหรับปลูกฉันทะในกรณีเช่นนี้ ได้. สรุปความว่า ถ้าจิตหดหู่ต้องแก้ไขด้วยอุบายที่เป็นการประคับประคอง.

    ส่วน อุปสรรคเกิดจากการที่จิตมีความเพียรจัดเกินไป จนตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่านนั้น เป็นสิ่งที่กลับตรงกันข้ามกับจิตที่หดหู่โดยประการทั้งปวง. อุบายสำหรับแก้ไขอุปสรรคข้อนี้ จึงมีอยู่ในรูปตรงกันข้ามว่า “เธอข่มจิตนั้นเสีย ย่อมละความฟุ้งซ่านได้” ดังนี้. จิตเพียรจัดเกินไป หมายถึงมีความขะมักเขม้นเกินขอบเขต. กล่าวโดยที่ถูกแล้ว จิตไม่ควรจะมีความขะมักเขม้นหรืออะไรๆ ที่มีความหมายมากมายเกินกว่าความพอดีทุกชนิดทีเดียว. แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความเพียร ก็ควรจะทราบว่าเป็นความเพียรที่ทำไปในลักษณะที่พอดี มิใช่พากเพียรด้วยตัณหามานะ เหมือนกรณีของชาวโลกที่ประกอบการงาน. ความเพียรที่จัดเกินไปนั้น ย่อมมีมูลมาจากตัณหามานะทิฏฐิ กระทั่งถึงอวิชชาเป็นที่สุด ; เพราะฉะนั้น จะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับความเพียรที่พอเหมาะพอดี มาเป็นพื้นฐานเสียก่อน. อีกทางหนึ่งความเพียรอาจจะพุ่งจัดเกินไปได้ ด้วยความเคยชินที่เลื่อนลอย ในการกระทำทางกายและทางจิต เช่นมีความขยันขันแข็งในการนั่ง หรือการยืน หรือการจงกรมเป็นต้น มากเกินไป. จนเกิดความผิดปรกติขึ้นในร่างกาย แล้วจิตก็ต้องฟุ้งซ่านไปตาม : หรือในระยะแห่งวิปัสสนา ขยันพิจารณาอย่างมุมานะมากเกินไป กว่าการเพ่งดูความจริงอย่างแน่วแน่แล้ว จิตก็ตกไปเป็นฝ่ายฟุ้งซ่านได้อย่างใหญ่หลวงโดยง่าย เพราะความเคยชินอันเลื่อนลอยนั้น. เมื่อเสียความเป็นปรกติทั้งทางฝ่ายกาย และฝ่ายจิตรวมเข้าด้วยกันแล้วเขาย่อมไม่สามารถจะข่มจิตได้ กระทั่งถึงแม้จะนอนหลับก็หลับไม่ได้ โดยที่จิตใฝ่ฝันเลื่อนลอยไป ไม่ยอมหยุด ทั้งที่กายนอนหลับตานิ่ง จนกระทั่งเป็นอันตรายในที่สุด.

     การ ข่มจิตในที่นี้จะสำเร็จได้ด้วยการป้องกัน และการกำจัดมูลเหตุแห่งความฟุ้งซ่านโดยตรงนั้นเอง. เมื่อได้บรรเทามูลเหตุชั้นหยาบๆ หรือที่เป็นภายนอกออกไปเสียได้แล้ว ก็สามารถขจัดความฟุ้งซ่านที่เป็นชั้นละเอียด หรือภายในได้ตามลำดับ. ในบางกรณี ต้องเป็นไปในทางพักผ่อนเสียชั่วคราว ทั้งทางกายและทางใจ พักผ่อนทางกาย คือการหยุดทำความเพียรชั่วคราว ; พักผ่อนทางจิตคือหยุดใช้การพิจารณา แล้วมาสงบอยู่ด้วยสมาธิเสียชั่วคราว ดังนี้ก็ดี, หรือหยุดสมาธิชั้นละเอียด ชนิดที่มีอารมณ์ละเอียด ไปเป็นสมาธิอย่างอื่น ที่อารมณ์หยาบกว่า กล่าวคือเปลี่ยนสมาธิเสียนั่นเอง ดังนี้ก็ดี. เป็นการชั่วคราวแล้ว ย่อมเป็นอุบายที่กำจัดความเพียรที่พุ่งจัดเกินไปได้ด้วยกันทั้งนั้น. สรุปความว่า การข่มจิตนั้น ไม่ได้หมายความอย่างข่มเขาวัวให้กินหญ้า หรือหักด้ามพร้ากับหัวเข่า : หากแต่ว่าเป็นการใช้อุบายที่แยบคายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนระงับความฟุ้งซ่านได้นั่นเอง. อย่างไรก็ตาม อุปสรรคคู่นี้เป็นอุปสรรคที่ยากลำบากต่อการที่จะขจัดยิ่งไปกว่าคู่ที่แล้วๆ มา และเป็นอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยง่ายกว่าอุปสรรคที่แล้วๆ มา กระทั่งมีขอบเขตที่จะต้องศึกษาเพื่อการควบคุมและแก้ไขที่กว้างขวางยิ่งกว่า อุปสรรคอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น.
    ส่วนอุปสรรคคู่สุดท้ายคือ :-

    บ. จิตไวต่อความรู้สึกเกินไป เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายกำหนัด.

    ป. จิตไม่แจ่มใส เป็นจิตติกไปข้างฝ่ายพยาบาท.

    ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. ที่ว่าจิตไวต่อความรู้สึกเกินไป เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายกำหนัดนั้น หมายถึงไวในการรู้สึกต่ออารมณ์ที่มากระทบ เป็นเหตุให้รู้สึกได้มากกว่าที่ควรจะเป็น และละเอียดลออมากกว่าที่ควรจะเป็น และขยายความรู้สึกออกไปได้เองมากกว่าที่เป็นจริง แม้ที่สุดแต่การคิดฝันเก่ง ไม่มีที่สิ้นสุด ก็นับเนื่องเข้าในข้อนี้. ว่าโดยที่แท้แล้ว ก็เป็นความไหวพริบ หรือความเฉลียวฉลาดชนิดหนึ่ง หากแต่ว่าไวจนควบคุมไม่ได้ และกลับเป็นผลร้ายแก่ความเป็นสมาธิ. ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นความรู้สึกของพวกศิลปิน ที่ช่างคิดช่างฝันในทางจิตรกรรมต่างๆ ที่ขยายตัวไปในทางงดงาม หรือแปลกประหลาดได้ไม่มีที่สิ้นสุด. ในทางจิตรกรรมหรือสิ่งอื่น มันเป็นผลดีในกรณีนั้นๆ แต่กลับเป็นอุปสรรคในทางฝ่ายสมาธิหรือสมถะเช่นนี้. การที่จิตไวต่อความรู้สึกเกินไปเช่นนี้ ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ผู้ปฏิบัติเหลือประมาณ, โดยที่แท้แล้ว ความกำหนัดในอารมณ์นั้น ก็เป็นอาการของสัญชาตญาณอยู่ตามธรรมดาแล้ว ครั้นมีความเฉลียวฉลาด หรือความไวต่อความรู้สึกเพิ่มขึ้นมาอีก อาการดังกล่าวแล้วนั้นก็เป็นไปอย่างแรงกล้ากว่าธรรมดา เป็นการส่งเสริมนิวรณ์ คือกามฉันทะให้มีกำลังยิ่งขึ้นไป และเกิดได้ง่าย หรือเกิดได้บ่อยยิ่งขึ้น. อุบายสำหรับกำจัดอุปสรรคข้อนี้มีอยู่ว่า “เธอเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) ต่อจิตนั้น ย่อมละความกำหนัดได้” ดังนี้.
    เพื่อ ความเข้าใจชัดเจนในอุบายอันนี้ ควรจะถือเอาความหมายแห่งรูปศัพท์นั้นๆ เป็นหลัก สิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นท่านเรียกว่า อภิญฺญาต, แปลตามตัวหนังสือว่า รู้ยิ่งหรือรู้เฉพาะ คือพุ่งดิ่งไป. ส่วนอุบายเครื่องกำจัดอุปสรรคนั้นท่านเรียกว่า สมฺปชานะ ซึ่งตามตัวหนังสือก็แปลว่า ความรู้ทั่วพร้อม (สํ = พร้อม + ป = ทั่ว + ชาน = รู้อยู่). เมื่อพิจารณาตามตัวหนังสือ ก็ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า สิ่งทั้งสองนี้เป็นข้าศึกกันอย่างไร คืออันหนึ่งเป็นสิ่งที่รู้อย่างพุ่ง หรือไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไปอย่างหลับหูหลับตา ; ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นความรู้อย่างรอบคอบและทั่วถึง ด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะ ; จึงเห็นได้ชัดสืบไปว่า สติสัมปชัญญะอีกนั่นเอง ที่จะเป็นเครื่องมือกำจัดเสียซึ่งความที่จิตไวต่อความรู้สึกเกินไป ในที่สุดก็ตัดทางมาแห่งความกำหนัดในกรณีที่กล่าวนี้เสียได้.
    สติสัมปชัญญะในกรณีที่กล่าวนี้ พอที่จะกล่าวได้ว่ามีเป็น ๒ ระยะคือ : (๑) จะระวังไม่ให้เอา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกเข้ามาในลักษณะที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์ และ (๒) อีกทางหนึ่งเป็นความรู้สึกภายใน ก็จะไม่ปล่อยให้จิตถือเอาธรรมารมณ์ปัจจุบัน หรือสัญญาในอดีตมาคิดฝัน. แม้ที่สุดแต่ความเป็นผู้ฉลาด หรือไวในการแปลความหมายของสิ่งต่างๆ ก็จะต้องถูกควบคุมไว้เป็นอย่างดี เช่นเมื่อได้เห็นวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งสัณฐานหรือลวดลายอย่างใดอย่าง หนึ่ง ก็มีการแปลความหมายให้วิจิตรพิสดารในทำนองตีปริศนา ที่เป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดความกำหนัด เพราะอำนาจความเคยชินของตัว ในการที่จะมองเห็นอะไรกลายเป็นนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดไปเสียทั้ง นั้น. ความเคยชินเช่นนี้ ยิ่งต้องการสติสัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่มีกำลังแก่กล้าและมาก ยิ่งขึ้นไปอีก.

    สรุปรวมความก็คือว่า ความที่จิตเลื่อนลอย คอยแต่จะตกไปสู่ความกำหนัดนั้น ต้องกันและแก้ด้วยสติสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม. พึงสังเกตโดยเฉพาะในข้อที่ว่า ในที่นี้ไม่ได้แนะให้แก้ด้วยอสุภกัมมัฏฐาน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน : ในที่นี้ โทษเป็นแต่เพียงความไวของจิต ที่มักผลุนผลันไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมันถนัดหรือเคยชิน จึงต้องแก้ด้วยสัมปชัญญะ ; หากแก้ด้วยอสุภกัมมัฏฐาน ก็จะกลายเป็นเรื่องอื่นไป ซึ่งจะยืดยาดโดยไม่จำเป็น และในที่สุดก็แก้ไม่ได้เลย.

    ส่วนอุปสรรคข้อที่ว่า จิตไม่แจ่มใส เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายพยาบาทนั้น โดยใจความก็คือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม. คำว่า ไม่แจ่มใส ในที่นี้ หมายถึงปราศจากความรู้ ที่ทำให้จิตแจ่มใสหรือผ่องใส : หรือปราศจากความรู้สึกที่ปรุงจิตให้ปีติปราโมทย์ หรือสงบเสงี่ยม, แต่เป็นจิตที่สลัวอยู่ด้วยความไม่รู้นั่นเอง ในที่สุดก็ตกไปข้างฝ่ายพยาบาท คำว่า พยาบาท ในที่นี้ มิได้หมายถึงความอาฆาตจองเวรโดยตรง หากแต่หมายถึงความไม่พอใจทุกชนิด โดยเฉพาะหมายถึงปฏิฆะคือความกลุ้มหงุดหงิดอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่โกรธผู้อื่น โกรธตัวเอง โกรธสิ่งของ และโกรธกระทั่งสิ่งที่ตนไม่รู้ว่าอะไร จนถึงความรู้สึกที่เป็นความรำคาญใจ หรือความไม่สบายใจอยู่ตามลำพังตนในที่สุด. อุบายเป็นเครื่องขจัดอุปสรรคอันนี้ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือท่านไม่ได้แนะให้แก้ด้วยการเจริญเมตตา แต่ได้แนะให้แก้ด้วยความเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมเช่นเดียวกับข้อก่อน. อธิบายว่า เมื่อมีสติสัมปชัญญะเพียงพอแล้ว ความมืดสลัวไม่ผ่องแผ้วแห่งจิตก็มีขึ้นไม่ได้. การควบคุมสติสัมปชัญญะให้ปรากฏอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในกรณีแห่งอุปสรรคทั้ง ๒ ข้อนี้. ลำพังการเจริญเมตตา ไม่สามารถจะกำจัดความสลัวแห่งจิตได้. อุปสรรคข้อนี้มีชื่อโดยบาลีว่า อปญฺญาตํ แปลว่า ไม่แจ่มใส ไม่ผ่องแผ้ว ไม่ชัดเจนหรือไม่แจ่มใสโดยใจความก็คือ มัวหรือสลัว ทำให้เห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่อาจระงับไปได้ ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม.

    อุปสรรคทั้ง ๙ คู่ หรือนับเรียงอย่างได้ ๑๘ อย่างเหล่านี้ บางทีก็เรียกว่า อุปกิเลสของสมาธิ บ้าง ในฐานะที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมาธิ : เรียกว่า อันตรายของสมาธิ บ้าง ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ทำอันตรายต่อสมาธิโดยตรง : เมื่อเกิดอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กายก็ดี จิตก็ดี ย่อมกระวนกระวายย่อมหวั่นไหว ย่อมดิ้นรนไปตามกัน. เมื่อจิตหมดจดจากอุปสรรคเหล่านี้ การเจริญสมาธิทุกขั้นย่อมเป็นไปได้โดยหลักใหญ่ๆ. ส่วนข้อปลีกย่อยหรือรายละเอียดนั้น จะไม่มีความสำคัญจนถึงกับจะแก้ไขไม่ได้ ในเมื่อตัวอุปสรรคอันแท้จริงเหล่านี้ได้ถูกขจัดไปหมดสิ้นแล้ว. จิตที่ปลอดจากอุปสรรคเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นจิตขาวรอบ หรือเป็นจิตถึงซึ่งความเป็นเอก (เอกตฺต) ความ เป็นเอกในที่นี้ มีความหมายทั้งความเป็นหนึ่งไม่มีสอง และความเป็นเอกคือประเสริฐ. จิตถึงความเป็นเอก เมื่อกล่าวถึงความเป็นเอก พึงทราบเสียด้วยว่า ท่านบัญญัติไว้เป็นขั้นๆ ต่างกันคือ :
๑. ความเป็นเอกในด้านการเสียสละ หรือการให้ทานของพวกที่พอใจในการให้ทาน
๒. ความเป็นเอกเพราะสมถนิมิตปรากฏชัดแล้วของพวกที่มีสมาธิ.
๓. ความเป็นเอกเพราะอนิจจังทุกขังอนัตตา ปรากฏแล้ว ของพวกที่เจริญวิปัสสนา.
๔. ความเป็นเอกเพราะความดับทุกข์ปรากฏแล้ว ของพระอริยบุคคลทั้งหลาย.
    รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกันเช่นนี้ เมื่อเป็นดังนี้ เราจะเห็นได้ว่าความเป็นเอกที่เราประสงค์ในที่นี้ ได้แก่ความเป็นเอกในข้อที่ ๒ คือความเป็นเอกเพราะสมาธินิมิตเป็นไปสำเร็จ หรือปรากฏชัดในการเจริญสมาธินั่นเอง. ท่านได้กำหนดองค์แห่งความเป็นเอกของสมาธิในกรณีนี้ไว้ว่า :
๑. จิตผ่องใส เพราะความหมดจดแห่งข้อปฏิบัติ.
๒. จิตเจริญงอกงาม ด้วยอุเบกขา.
๓. จิตอาจหาญร่าเริง ด้วยญาณ.
    ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะเครื่องหมายของจิต ที่ลุถึงปฐมฌานโดยตรง ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสำเร็จแห่งการเจริญสมาธิในขั้นแรก ซึ่งเราจะพิจารณากันต่อไปโดยละเอียด ดังต่อไปนี้ :-

    ข้อที่ว่า “จิตผ่องใส เพราะความบริสุทธิ์หมดจดแห่งข้อปฏิบัติ” นั้นหมายความว่า เมื่อจิตผ่านอุปสรรคทั้ง ๑๘ อย่างดังที่กล่าวแล้ว มาได้โดยเรียบร้อยเช่นนี้ ก็เป็นอันว่าข้อปฏิบัติหรือปฏิทานั้น ได้ดำเนินมาด้วยความหมดจด จิตจึงได้ผ่องใส เพราะความที่ไม่มีอุปสรรคหรือนิวรณ์อย่างใดรบกวน ความที่จิตผ่องใสในลักษณะเช่นนี้ เป็นองค์อันแรกหรือเป็นลักษณะอันแรกของปฐมฌาน.

    ข้อที่ว่า “จิตเจริญงอกงามด้วยอุเบกขา” นั้น เล็งถึงความที่บัดนี้จิตวางเฉยอยู่ได้ด้วยความวางเฉย ที่เป็นองค์แห่งฌาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า. เมื่อจิตวางเฉยได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน ท่านเรียกว่าเป็นจิตที่เจริญงอกงามตามความหมายของภาษาฝ่ายกัมมัฏฐานหรือโยค ปฏิบัติ นี้เป็นองค์ที่สอง หรือลักษณะที่สอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือลักษณะท่ามกลางของปฐมฌาน.

    ข้อที่ว่า “จิตมีความอาจหาญร่าเริงอยู่ด้วยญาณ” นั้น อธิบายว่าจิตที่เป็นมาแล้วโดยลักษณะอาการแห่งข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองนั้น ย่อมร่าเริงอยู่ด้วยความรู้ คือรู้ความที่นิวรณ์หมดไป รู้ความที่จิตเป็นสมาธิประกอบด้วยองค์แห่งฌานอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วมีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแลอยู่ จิตจึงอาจหาญร่าเริง ข้อนี้เป็นองค์ที่สาม หรือลักษณะที่สาม หรือลักษณะในที่สุดของปฐมฌาน.

    ทั้งหมดนี้ทำให้กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ปฐมฌานมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด. งามในเบื้องต้น เพราะจิตผ่องใสด้วยอำนาจข้อปฏิบัติที่หมดจดถึงที่สุด, งามในท่ามกลาง เพราะจิตเจริญรุ่งเรืองอยู่ด้วยอุเบกขา คือความวางเฉย, และ งามในที่สุด เพราะจิตกำลังร่าเริงอยู่ด้วยญาณนั้น. การที่จะเข้าใจในลักษณะทั้งสามนี้ ของปฐมฌานนั้นขึ้นอยู่ กับความเข้าใจในเรื่องนิวรณ์และองค์แห่งฌาน เป็นส่วนสำคัญ. นิวรณ์ และ องค์แห่งฌานเพื่อให้เข้าใจ ถึงข้อที่จิตผ่านอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต มาโดยลำดับจนลุถึงอัปปนาสมาธิในขั้นที่เป็นปฐมฌานได้อย่างไรโดยแจ่มแจ้งนั้น จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องอันเกี่ยวกับนิวรณ์ และองค์แห่งฌานเป็นหลักสำคัญเสียก่อน. 

อ่านต่อ ส่วนที่สาม
ธารธรรมจาก https://sites.google.com/site/smartdhamma

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ) ส่วนที่หนึ่ง

ผู้ศึกษาอานาปานสติ พึงศึกษาลักษณะของนิมิต การกำหนดนิมิตการเกิดแห่งนิมิต การเปลี่ยนไปแห่งนิมิต และการตั้งมั่นหรือการหยุดแห่งนิมิตโดยนัยดังที่กล่าวมานี้ ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบดังที่กล่าวมาแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จในการกำหนดนิมิตเป็นต้น ได้เป็นอย่างดี คือจะประสบความสำเร็จในการกำหนดลมหายใจ การทำลมหายใจให้ละเอียด การตั้งสติในลมหายใจและสมาธิที่ยึดลมหายใจเป็นหลักทุกขั้น ได้โดยไม่ยากเลย. 

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ ตอนที่ หนึ่ง

(การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

โดยพุทธทาสภิกขุ

 

อานาปานสติขั้นที่สี่นี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุ นั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้”.

    (บาลีว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ)

    อานาปานสติข้อนี้ มีสิ่งที่ต้องศึกษาและวินิจฉัย อยู่ตรงคำที่ว่า “กายสังขาร” และคำว่า “ทำกายสังขารให้รำงับอยู่” ซึ่งจะได้กล่าวเป็นลำดับไป : คำว่า “กายสังขาร” หมายถึง ลมหายใจ ในเมื่อทำหน้าที่ปรุงแต่งมหาภูตรูป อันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกในที่นี้ แต่ควรจะเข้าใจสืบไปว่า ลมหายใจเป็นสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับร่างกายอย่างใกล้ชิด ในฐานะเป็นสิ่งที่ปรุงสิ่งต่างๆ ที่เนื่องกับร่างกาย เช่นความร้อนหนาวในร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ตลอดถึงความอ่อนสลวยและความแข็งกระด้างเป็นต้น ของร่างกาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันกล่าวได้ว่า ร่างกายกับลมหายใจนี้ มีความสัมพันธ์กัน ในทางที่จะหยาบหรือละเอียด ในทางที่จะระส่ำระสายหรือสงบรำงับ ดังนี้เป็นต้น ได้พร้อมกันไปในตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เราสังเกตได้ว่า เมื่อร่างกายหยาบหรือระส่ำระสายเป็นต้น ลมหายใจก็หยาบหรือระส่ำระสายไปตาม ; เมื่อลมหายใจละเอียดหรือรำงับ ร่างกายก็สุขุมหรือรำงับไปตาม ; ฉะนั้น การบังคับร่างกาย ก็คือการบังคับลมหายใจ ; การบังคับลมหายใจ ก็คือการบังคับร่างกายพร้อมกันไปในตัว. เมื่อลมหายใจละเอียดหรืออยู่ในภาวะที่ละเอียด ร่างกายก็สุขุมละเอียดไม่กระด้าง ไม่เมื่อยขบ และไม่ระส่ำระสายอย่างอื่นๆ จึงเป็นอันว่านอกจากจะเป็นเครื่องสังเกตว่า เป็นไปด้วยกันหรือเสมอกันทุกลักษณะและอาการแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการกำหนดหรือการฝึกฝนพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน ในฐานะเป็นเครื่องส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังที่กล่าวแล้ว.

    สิ่งที่จะพึงสำเหนียกศึกษาต่อไป ก็คือข้อที่ว่าลมหายใจย่อมมีลักษณะหยาบหรือละเอียด สงบรำงับ หรือไม่สงบรำงับ อยู่ระดับหนึ่งตามธรรมชาติของมันเอง สุดแล้วแต่ร่างกายนั้นกำลังเป็นอยู่อย่างไร. แต่แม้ว่ามันจะเป็นอย่างไรอยู่แล้วก็ตาม ลักษณะที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินี้ เราย่อมบัญญัติว่าเป็นของหยาบ หรืออยู่ในขั้นหยาบ ซึ่งเราจักได้กระทำให้กลายเป็นของละเอียดหรือสงบรำงับยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ด้วยอำนาจของกัมมัฏฐาน กล่าวคืออานาปานสติในขั้นที่สี่นี้.
การทำกายสังขารให้รำงับ.
    คำว่า “การทำกายสังขารให้รำงับ” นั้น ควรจะได้วินิจฉัยถึงกิริยาที่เรียกว่า “รำงับ” ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งกันเสียก่อน.

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ลม หายใจที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินั้นจัดเป็นของหยาบหรือบัญญัติว่าหยาบ แต่ว่าไม่ปรากฏเพราะมิได้กำหนด ครั้นพอสักว่าไปกำหนดเข้าเท่านั้น ความหยาบก็จะปรากฏขึ้นมาทันทีอย่างรุนแรงแล้วก็จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่จะ ละเอียดหรือสงบรำงับลง. ถ้ายิ่งไปพิจารณาจริงๆ เข้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งละเอียดรำงับลงอีกตามลำดับ ดังนี้. ข้อนี้อุปมาเพื่อจะให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเปรียบกับเสียงฆ้องเมื่อมีการตีฆ้อง ย่อมเกิดเสียงดังที่สุดของฆ้องขึ้น. เมื่อเสียงดังที่สุด สิ้นสุดไปแล้ว ย่อมเหลือแต่เสียงกังวานเป็นระยะยาว. เสียงกังวานในระยะแรก ย่อมดังมากเกือบเท่ากับเสียงที่ตีโดยตรงแต่แล้วเสียงกังวานนั้น ย่อมค่อยๆ น้อยลง หรือจางลงๆ จนถึงขนาดจะไม่ได้ยินเสียง และเงียบหายไปในที่สุด. เปรียบเทียบกันได้กับลมหายใจ ที่มีลักษณะอาการละเอียดหรือรำงับลงๆ เช่นเดียวกับเสียงกังวานของฆ้อง ฉันใดก็ฉันนั้น. ขณะที่ยังไม่มีการตีฆ้องเสียงก็ไม่ปรากฏ นี้ย่อมเหมือนกับขณะที่ยังไม่ได้กำหนดลมหายใจ รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เงียบไปหมด หรือราวกะว่ามิได้มีการหายใจเลย ทั้งๆ ที่มีการหายใจอยู่เป็นปรกติ นี้เป็นเพราะยังไม่ได้กำหนด. พอสักว่าไปกำหนดเข้าก็รู้ทันทีว่ามีการหายใจ และอยู่ในระดับที่หยาบ เช่นเดียวกับเอาไม้ไปตีฆ้อง ก็เกิดเสียงชนิดที่ดังมากหรือหยาบมากขึ้นมาทันที. ครั้นมีการกำหนดลมหายใจแล้วมันก็เริ่มละเอียดไปตามลำดับของการกำหนด หรือการพิจารณาที่ยิ่งละเอียดลงตามลำดับ รำงับลงตามลำดับ เหมือนเสียงกังวานของฆ้องฉันนั้น, ทั้งหมดนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นใจความสำคัญ ๒ ประการ คือถ้าไม่มีการกำหนด ก็เป็นของหยาบ หยาบอยู่ตามปกติ แต่เรามิรู้สึก, และเมื่อไปกำหนดเข้า ย่อมเปลี่ยนเป็นของละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ. แต่การละเอียดโดยอัตโนมัติเช่นนี้ ยังไม่เป็นการเพียงพอ เราจักต้องทำให้ละเอียดให้ถึงที่สุดจริงๆ โดยวิธีแห่งอานาปานสติขั้นที่สี่นี้. นี้คือความหมายของคำว่า “รำงับ” ในบทบาลีที่มีอยู่ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่” ดังนี้.

สิ่งที่ต้องวินิจฉัยสืบไป ก็คือทำให้รำงับ ด้วยอาการอย่างไร ?

    การทำให้รำงับในที่นี้ อาจจะแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ รำงับด้วยการกำหนด อย่างหนึ่ง และ รำงับด้วยการพิจารณา อีกอย่างหนึ่ง. การกำหนด ในที่นี้ เป็นอาการที่ทำให้เป็นสมาธิ ได้แก่การกำหนดสติเข้าที่ลมหายใจ โดยอาการที่กล่าวในขั้นที่สาม. ยิ่งกำหนดมากขึ้นเพียงไร ลมก็ยิ่งละเอียดมากเข้า กระทั่งละเอียดถึงที่สุด ถึงกับกำหนดไม่ได้ ต้องรื้อขึ้นมาตั้งต้นใหม่ ดังที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้าก็ดี หรือละเอียดไปในทางที่ถูกจนกระทั่งเกิดปฏิภาคนิมิต กลายเป็นอัปปนาสมาธิ หรือฌานก็ดี ทั้งสองอย่างนี้ ล้วนแต่เป็นการสงบรำงับด้วยการกำหนด และเป็นแนวของฝ่ายสมาธิโดยตรง. ส่วนคำว่า “การพิจารณา” นั้น เป็นแนวทางฝ่ายปัญญา หรือการปฏิบัติที่ลัดตรงไปทางวิปัสสนา โดยไม่ประสงค์การทำสมาธิถึงที่สุด, หรืออีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นแนวปฏิบัติของบุคคลผู้ประสงค์จะทำให้ควบคู่กันไปทั้ง ๒ อย่าง การ พิจารณาในที่นี้ จะเป็นการพิจารณาตัวลมหายใจนั่นเองก็ได้ หรือพิจารณาสัจจะของธรรมชาติอันอื่น ซึ่งเรียกว่าธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลาที่หายใจเข้า-ออก อยู่ก็ได้. ถ้าสิ่งที่นำมาพิจารณาอยู่นั้น เป็นของละเอียดยิ่งขึ้นเพียงไร การพิจารณาก็ยิ่งละเอียดมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น และลมหายใจก็ยิ่งละเอียดขึ้นเพียงนั้น ฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า ผู้ที่ทำอานาปานสติถึงขั้นนี้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ ทั้งในทางของสมาธิและทั้งในทางของปัญญา คือ ว่าเขาจะทำสมาธิให้สูงยิ่งขึ้นไปตามลำดับก็ตาม หรือว่าจะยักไปในทางของวิปัสสนา คือพิจารณาเพื่อความรู้ก็ตาม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ ด้วยกันทั้งนั้น.

    สำหรับการทำการพิจารณา ที่สามารถทำกายสังขารให้รำงับลง ในที่นี้ มีลำดับแห่งความรำงับลงตามลำดับแห่งความหยาบละเอียด ของสิ่งที่นำมาพิจารณา คือ :ในขั้นแรก เมื่อยังไม่ได้พิจารณาหรือกำหนดอะไร ลมหายใจก็หยาบอยู่ตามปรกติ เมื่อกำหนดพิจารณาอยู่ที่ลมหายใจนั้นว่าเป็นอย่างไรเป็นต้น ลมหายใจก็ย่อมสงบรำงับลงทันที ;เมื่อกำหนดพิจารณามหาภูตรูป (คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) ซึ่งเป็นของเนื่องด้วยลมหายใจอยู่ ลมหายใจก็ยิ่งรำงับลงไปกว่านั้น ;เมื่อกำหนดพิจารณาอุปทายรูป กล่าวคือลักษณะและภาวะต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่กับมหาภูตรูป ซึ่งเป็นของละเอียดยิ่งไปกว่ามหาภูตรูป ลมหายใจก็ยิ่งรำงับลงไปกว่านั้น ;เมื่อกำหนดพร้อมกันทั้งสองอย่าง เช่นกำหนดพิจารณาอาการที่อุปาทายรูปเนื่องอยู่กับมหาภูตรูปอย่างไร เป็นต้น ลมหายใจก็ยิ่งรำงับลงไปกว่านั้น ;เมื่อกำหนดอรูป คือสิ่งที่ไม่มีรูปเลย มีอากาศและวิญญาณ เป็นต้นลมหายใจก็ยิ่งรำงับลงไปกว่านั้น ; เมื่อกำหนดพร้อมกันทั้งสองอย่าง คือทั้งรูปและอรูป เช่นกำหนดความที่สิ่งทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร และเนื่องกันอย่างไรเป็นต้น ลมหายใจก็ยิ่งละเอียดหรือรำงับลงไปยิ่งกว่านั้น ;เมื่อกำหนดละเอียดลงไปถึงสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยของรูปและอรูป ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นามรูป อีกต่อหนึ่ง จนกระทั่งเห็นว่านามรูป มีอะไรเป็นปัจจัยและปัจจัยนั้นๆ กำลังปรุงแต่งนามรูปนั้นอยู่อย่างไร ดังนี้เป็นต้น ลมหายใจก็ยิ่งละเอียดและรำงับลงไปยิ่งกว่านั้น ;และ เมื่อได้กำหนดพิจารณาไป กระทั่งถึงลักษณะแห่งนามรูป หรือความที่นามรูป ประกอบอยู่ด้วยไตรลักษณะ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้นแล้ว ลมหายใจก็ละเอียดหรือรำงับลงไปยิ่งกว่านั้น. ส่วนที่เป็นการกำหนดแล้วพิจารณา ทั้งหมดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นอาการของความสงบรำงับที่เป็นไปด้วยอำนาจของการพิจารณาตามแนว ของวิปัสสนา ซึ่งเป็นทางของปัญญาอันแตกต่างจากการกำหนดอย่างไม่พิจารณา ซึ่งเป็นอาการของสมถะ และเป็นแนวของสมาธิ อย่างแจ้งชัด.

    มีสิ่งสำคัญ ที่ควรจะทราบเสียด้วยเลยในที่นี้ว่า เมื่อการเจริญอานาปานสติดำเนินมาจนถึงขั้นที่สี่นี้ ผู้ประสงค์จะทำอานาปานสติต่อไป ตามลำดับที่มีอยู่ให้ครบทั้ง ๑๖ ขั้นนั้น ก็ต้องทำไปตามแนวของการกำหนดเพื่อความเป็นสมาธิโดยตรงไปก่อน จนกระทั่งถึงเกิดจตุตถฌานเป็นอย่างสูงสุด ด้วยอำนาจของการทำอานาปานสติข้อที่สี่นี้ แล้วจึงทำขั้นที่ ๕ ที่ ๖ ตามลำดับไป และไปกำหนดความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเป็นต้น ให้ถึงที่สุดเอาในขั้นแห่งอานาปานสติหมวดสุดท้าย คือตั้งแต่ขั้นที่ ๑๓-๑๔ และเป็นลำดับไป. ส่วนบุคคลผู้ไม่ประสงค์จะทำให้เต็มที่ในฝ่ายสมถะ แต่มีความประสงค์จะลดตรงไปสู่วิปัสสนาโดยด่วน ก็สามารถที่จะยัก หรือเปลี่ยนการกำหนด ให้กลายเป็นการพิจารณา และพิจารณารูปนาม โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างยิ่ง ไปเสียตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่สี่นี้ แล้วดำเนินข้ามเลยไปยังขั้นที่ ๑๓ – ๑๔ - ๑๕ - ๑๖ ด้วยอำนาจของการพิจารณาดิ่งไปในทางของปัญญาอย่างเดียว ดังที่จะได้กล่าวในขั้นนั้นๆ โดยไม่ห่วงหรือไม่ต้องการบรรลุฌานเป็นต้นไป แต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องการสมาธิถึงขนาดบรรลุฌานนั้นเอง ต้องการสมาธิเพียงเท่าที่จะเป็นบาทฐานของวิปัสสนาเท่านั้น โดยเพ่งเล็งเอาความดับทุกข์เป็นที่มุ่งหมาย แต่ไม่ประสงค์สมรรถภาพ หรือคุณสมบัติพิเศษ เช่นอภิญญาเป็นต้น.

    การพิจารณาตามแนวแห่งวิปัสสนาในเรื่องนี้ มีรายละเอียดอย่างไรจะกล่าวข้างหน้าในเรื่องที่ถึงเข้า คือในขั้นที่ ๑๓ - ๑๔. ในที่นี้มุ่งหมายจะวินิจฉัยกันเฉพาะ การทำกายสังขารให้สงบรำงับ ตามหลักของฝ่ายสมาธิอย่างเดียว แม้จะมีการระงับความมีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ในขั้นเหล่านี้บ้างก็เป็นเพียงการเห็นความไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เพราะสักว่าเป็นกายบ้าง เป็นลมหายใจบ้าง เป็นสติบ้าง เป็นจิตที่มีสติกำหนดลมหายใจบ้าง เป็นสัมปชัญญะคือเป็นเพียงญาณในขั้นต้นๆ รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไรดังนี้บ้าง. การเห็นเป็นแต่ธรรมชาติ ไม่เห็นความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ซึ่งน่ายึดถือหรือเป็นที่ตั้งแห่งความรักและความชังแต่อย่างใดทำนองนี้ ก็เป็นอันกล่าวได้ว่าเป็น การนำอภิชฌาและโทมนัสออกเสียได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกัน. โดยใจความก็คือว่า แม้ยังเป็นเพียงเรื่องของสมาธิ ก็ยังสามารถกำจัดความยึดถือว่าสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา ได้ตามส่วนของสมาธินั้น ในเมื่อการกระทำนั้นมีสัมมาทิฏฐิเป็นมูลฐานมาแต่เดิม แม้จะน้อยเพียงไรก็ตาม. ฉะนั้น เราจะได้พิจารณากันถึงการทำกายสังขารให้รำงับ โดยวิถีทางแห่งการกำหนดลมหายใจตามแนวสมาธิโดยตรงอย่างเดียวเป็นลำดับไป จนกระทั่งเกิดฌาน ให้เสร็จสิ้นไปเสียก่อน.

    เมื่อมาถึงขั้นนี้ ควรจะได้ทราบอย่างทั่วถึงกว้างขวางออกไป รวมทั้งเรื่องที่แล้วมา และเรื่องที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า ที่ติดต่อเป็นสายเดียวกันว่าลำดับแห่งกรรมวิธีของการเจริญอานาปานสติตั้งแต่ ต้น จนถึงที่สุด กล่าวคือการบรรลุมรรคผล นั้น อาจจะแบ่งออกได้โดยหลักใหญ่เป็น ๘ ระยะ คือ :

    ๑. คณนา การคำนวณหรือการนับ เพื่อทราบความสั้นยาวของลมหายใจ หรือเพื่อควบคุมการหายใจอย่างมีระยะ มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดก็ตาม เป็นการกำหนดลมหายใจอย่างหยาบ. (มีได้ในอานาปานสติ ขั้นที่ ๑ - ๒ - ๓).

    ๒. อนุพันธนา การติดตามลมหายใจอย่างละเอียด ด้วยสติที่ส่งไปตามอย่างไม่ทิ้งระยะว่าง โดยไม่ต้องนับ ไม่ต้องกำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดเป็นต้น. (มีได้ในอานาปานสติ ขั้นที่ ๓).

    ๓. ผุสนา การกำหนดฐานที่ลมถูกต้อง แต่เพียงแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงจุดเดียว เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอุคคหนิมิต ณ ที่นั้น. (มีได้ในอานาปานสติ ขั้นที่ ๔).

    ๔. ฐปนา ความแน่นแฟ้นมั่นคง แห่งการกำหนด ที่พื้นฐานอันเป็นที่ตั้งแห่งอุคคหนิมิตนั้น จนกระทั่งเปลี่ยนรูปเป็นปฏิภาคนิมิตปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนมั่นคงแน่นแฟ้น เพื่อเป็นที่หน่วงให้เกิดอัปปนาสมาธิ หรือฌานต่อไป. (มีได้ในอานาปานสติ ขั้นที่ ๔). 
(ทั้ง ๔ ระยะนี้เป็นระยะเนื่องด้วยสมาธิโดยตรง. ต่อจากนี้ไป เป็นระยะที่เนื่องด้วยวิปัสสนา หรือการพิจารณา).

    ๕. สัลลักขณา การกำหนดพิจารณานามรูป ตามทางของวิปัสสนาเพื่อความเห็นแจ้งลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเฉพาะ.(มีได้ตั้งแต่อานาปานสติ ขั้นที่ ๕ เป็นต้นไป จนถึงที่สุด).

    ๖. วิวัฏฏนา อาการตัดกิเลสของมรรค นับตั้งแต่วิราคะเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงขณะแห่งมรรคโดยตรง. (ย่อมมีในจตุกกะที่สี่ ขั้นใดขั้นหนึ่ง).

    ๗. ปริสุทธิ การบรรลุผลของการตัดกิเลส ที่เรียกโดยตรงว่าวิมุตติในขั้นที่เป็นสมุจเฉทวิมุตติ. (เป็นผลแห่งการเจริญอานาปานสติในขั้นสุดท้าย ที่กำหนดอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก).

    ๘. ปฏิปัสสนา ได้แก่ญาณเป็นเครื่องพิจารณา ในความสิ้นไปแห่งกิเลส และผลแห่งความสิ้นไปแห่งกิเลส ที่เกิดขึ้นแล้ว. (เป็นการพิจารณาผลอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก).
(๔ ขั้น ตอนหลังนี้ เป็นระยะแห่งวิปัสสนาและมรรคผล).

    เกี่ยวกับการทำกายสังขารให้รำงับนั้น ย่อมมีในระยะที่ ๓ และที่ ๔ คือผุสนาและฐปนาโดยตรง. สำหรับระยะที่หนึ่ง คือคณนานั้น เป็นเพียงการกำหนดลมหายใจเข้า – ออก ตามที่กล่าวมาแล้วในอานาปานสติขั้นที่หนึ่งและที่สอง. ส่วนอนุพันธนาระยะที่สองนั้น เป็นการกำหนดติดตามลมอย่างละเอียดถี่ยิบและวกไปวกมา ตามอาการที่ลมแล่นไป ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่สาม เป็นส่วนใหญ่. แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การมีความรู้ความเข้าใจ และการกระทำมาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ระยะที่หนึ่ง ที่สองนั้น ย่อมส่งเสริมความสำเร็จในระยะที่สาม ที่สี่นี้เป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีการพิจารณามาใหม่ ตั้งแต่ระยะที่หนึ่งถึงที่สี่ ในลักษณะที่สัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง, ดังต่อไปนี้ :

    ระยะที่หนึ่ง คือ คณนา ได้แก่การคำนวณหรือการนับ มีความหมายเป็น ๒ อย่างคือ คำนวณเพื่อให้รู้ความสั้นยาวของลมหายใจ อย่างหนึ่ง และเพื่อว่าเมื่อคำนวณอยู่ จิตจะไม่มีโอกาสละจากลมหายใจ นี้อีกอย่างหนึ่ง. เมื่อมีความมุ่งหมายอย่างนี้ อาการที่นับหรือคำนวณนั้น ต้องมีความสัมพันธ์กันด้วยดีคือการนับหรือคำนวณก็สำเร็จ การป้องกันจิตละจากอารมณ์ก็สำเร็จ. การคำนวณหรือการนับนั้น ถ้านับด้วยสังขยา ก็นับไม่น้อยกว่า ๕ และไม่มากเกินกว่า ๑๐. ถ้าไม่นับด้วยสังขยาก็คือเพียงแต่คำนวณเอาว่า สั้นยาวเท่าไร, อย่างไร ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยลมหายใจสั้นหรือยาวนั่นเอง. ทั้งหมดนี้ ต้องทำด้วยความตั้งใจที่มีกำลังพอเหมาะสม ไม่เนือยเกินไป และไม่ขะมักเขม้นเกินไป. การกำหนดนับด้วยสังขยานั้น เป็นอุบายที่ทำให้การกำหนดเป็นไปในลักษณะที่ง่ายขึ้น แต่ก็หยาบกว่าการคำนวณโดยไม่ต้องนับ.

    วิธีนับด้วยสังขยา คือชั่วระยะที่หายใจเข้าหรือหายใจออกครั้งหนึ่งมีการนับว่า ๑ - ๒ - ๓– ๔ - ๕ ให้จบลงพอเหมาะพอดีกันทุกครั้ง ที่หายใจเข้าหรือออก. แม้จะยืดการนับออกไปถึง ๑๐ คือนับ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗- ๘ - ๙ - ๑๐ ก็ต้องกะให้จบลงพอดี กับการสิ้นสุดของการหายใจระยะหนึ่งๆ. แม้จะนับชนิด ๑ ถึง ๖, ๑ ถึง ๗, ๑ ถึง ๘, ๑ ถึง ๙ ก็ตาม ย่อมมีวิธีแห่งการนับให้ลงจังหวะพอเหมาะพอดีอย่างเดียวกัน หากแต่ว่าไม่นิยม, สู้นับถึง ๕ หรือ ถึง ๑๐ ไม่ได้. การนับอย่างนี้จะเห็นได้ว่า เป็นการนับเมื่อมีการหายใจยาวเป็นปรกติเท่านั้น และทั้งยังเป็นระยะแห่งการกำหนดเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด หรือการกำหนดเป็นระยะๆ อยู่นั่นเอง และยังเป็นเหตุผลเกี่ยวกับข้อที่ว่าไม่ให้น้อยกว่า ๕ และไม่ให้เกิน ๑๐, เพราะถ้านับน้อยกว่า ๕ ก็ทิ้งระยะแห่งการนับห่างกันมาก จนนานพอที่จะทำ ให้จิตผละหนีไปได้จากอารมณ์ หรือจัดว่าเป็นอาการนับที่หยาบเกินไป, และมีผลไม่ต่างอะไรกับการกำหนดแต่เพียงว่าเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด. แต่ถ้านับเกินกว่า ๑๐ ซึ่งเป็นระยะที่ติดกันมากเกินไป ก็จะทำ ให้เกิดอาการลุกลนเมื่อนับ หรือความระหกระเหินในการนับขึ้นแก่จิต. รวมความก็คือช้าเกินไปก็ไม่ดี เร็วเกินไปก็ไม่ดี ห่างเกินไปก็ไม่ดี ถี่เกินไปก็ไม่ดี ล้วนแต่เป็นทางมาแห่งการกระทบกระเทือน และความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้ด้วยกันทั้งนั้น. นี้คือการนับด้วยวิธีแห่งสังขยา ซึ่งควรจะทดลองฝึกฝนดูให้ครบถ้วนทุกแบบ เพราะเป็นอุบายวิธีที่เป็นทั้งการฝึกฝน และการปรับปรุงให้จิตอยู่ในสภาพที่คล่องแคล่ว ทั้งให้จิตนั้นรู้จักตัวมันเองอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น. วิธีนับโดยการคำนวณความสั้นยาว โดยไม่ต้องมีการนับด้วยสังขยานั้น มีวิธีการดังได้กล่าวแล้วข้างต้น อันว่าด้วยความสั้นยาวแห่งลมหายใจ และการกำหนดความสั้นยาวนั้น ในอานาปานสติขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ มาแล้วอย่างเพียงพอ.

    ในที่นี้ขอสรุปใจความสำคัญแต่เพียงว่า การ คำนวณความสั้นยาวนั้น ก็ต้องทำด้วยความรู้สึกที่พอเหมาะพอดี คือไม่ทำด้วยความร้อนรน หรือกระหายเกินไป กล่าวคือมีความตั้งใจรุนแรงเกินไป หรือทำด้วยความเฉื่อยชา เนือย ๆ เลือน ๆ กล่าวคือมีความตั้งใจน้อยเกินไป. การทำอย่างแรก ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ซึ่งกำหนดอารมณ์ไม่ได้. การทำอย่างหลัง ทำให้จิตมีโอกาสผละหนีจากอารมณ์ โดยลักษณะอาการเช่นเดียวกับโทษที่เกิดขึ้นจากการนับที่มากหรือน้อยเกินไป ช้าหรือเร็วเกินไปนั่นเอง. อุปมาข้อนี้เปรียบได้กับการจับนกตัวเล็กๆ ถ้าทำมือหลวมๆ นกก็หนีไปตามช่องมือได้ ; ถ้าจับแน่นเกินไปนกก็ตายในมือ ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรแก่บุคคลผู้หวังจะได้นกเป็นๆ ฉันใดก็ฉันนั้น. การนับด้วยสังขยาก็ดี การคำนวณโดยไม่ต้องนับสังขยาก็ดี ล้วนแต่เรียกว่า คณนา ในที่นี้ด้วยกันทั้งนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำในขณะที่มีการกำหนดอยู่ตลอดระยะสั้นหรือระยะยาวของลม กล่าวคือตลอดเวลาที่สติเริ่มกำหนดไปตามลมครั้นถัดมาถึงระยะที่ลมหายใจเป็น ระเบียบแล้ว มีความรำงับลงบ้างแล้ว การกำหนดอย่างหยาบเช่นนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่จะต้องมีวิธีการกำหนดที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป กล่าวคือการกำหนดเฉพาะแห่ง อันจะได้กล่าวถึงได้โดยสมบูรณ์ข้างหน้าในขั้น ผุสนา, สำหรับในที่นี้ จะกล่าวแต่พอสังเขปเท่าที่ยังคาบเกี่ยวกันอยู่บางอย่างกับการนับหรือ คณนา เท่านั้น.

   การกำหนดลมเฉพาะแห่ง คือเมื่อเห็นว่าไม่จำเป็นจะมีการกำหนดวิ่งไปตามลมอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตรำงับพอสมควรแล้ว ก็เลือกกำหนดเฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่งซึ่งลมจะผ่านไปหรือผ่านมาเท่านั้น แล้วคอยกำหนดนับหรือคำนวณที่นั้น เพื่อความเข้าใจง่าย ก็ควรย้อนระลึกไปถึงอุปมาเรื่องคนใช้ที่ไกวเปลเด็กอีกตามเคย : เขานั่งอยู่ที่ตรงเสาเปลซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางของการไกวไปและการไกวมา. เมื่อเด็กยังไม่หลับหรือไม่ง่วง ยังจะดิ้นลงจากเปลอยู่ เขาก็ต้องเหลียวหน้าไปเหลียวหน้ามา ซ้ายที ขวาที อยู่ตลอดเวลา จับตาดูเพื่อไม่ให้เด็กนั้นมีโอกาสลงจากเปล. แต่ครั้นเด็กนั้นยอมนอน หรือง่วงนอนลงบ้างแล้วเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น คงจับตาอยู่เฉพาะตรงหน้า ชั่วขณะที่เปลผ่านมาเพียงแว็บหนึ่งเท่านั้นก็พอแล้ว. เขาไม่ต้องเหลียวซ้ายเหลียวขวาอีกต่อไป เพราะไม่มีความจำเป็นและยังแถมจะเหนื่อยเปล่า ข้อนี้ฉันใด ; เมื่อลมหายใจเริ่มรำงับลงอย่างที่เรียกว่า “กายรำงับลง” การปฏิบัติก็เลื่อนไปสู่ขั้นที่ละเอียดกว่าเดิม คือไม่กำหนดด้วยการวิ่งตามลมเข้าออก แต่ไปหยุดคอยกำหนดอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่งซึ่งเป็นการได้เปรียบหรือเหมาะสมที่ สุด ฉันนั้น.
   จุดที่กล่าวนี้ ควรที่จะได้รับการพิจารณาว่าจะเป็นที่ตรงไหน และเพราะเหตุอะไร. ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เราได้แบ่งพื้นฐานของทางลมหายใจสัมผัสออกเป็น ๓ ส่วน คือที่ตรงปลายจมูก ที่กลางอก และที่สะดือ ฉะนั้นควรจะพิจารณาต่อไปว่า การคอยเฝ้ากำหนดที่จุดไหนจะได้ผลอย่างไร : สมมติว่า ถ้ากำหนดที่กลางอก พื้นฐานก็จะใหญ่หรือยาวเกินไป จนยากแก่การที่จะกำหนดให้เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งได้ : ถ้ากำหนดที่สะดือ ก็ยังเป็นการเลื่อนลอย เพราะเป็นเพียงการอนุมานเอาตามความรู้สึกที่รู้สึกเป็นวงกว้างๆ ไม่มีจุดเล็กๆ ที่จะสามารถกำหนดได้อย่างเดียวกัน : เพราะฉะนั้นจึงเหลืออยู่แต่ที่ช่องจมูก ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง ที่ลมหายใจจะต้องผ่านอยู่เสมอ ทั้งออกและเข้า และแรงพอที่จะกำหนดได้โดยง่าย จึงเกิดความนิยมตรงเป็นอันเดียวกันหมดทุกพวก ว่าจะตั้งจุดแห่งการกำหนดที่ตรงนี้ สำหรับการปฏิบัติในขั้นนี้. อุปมาที่ช่วยให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้แก่การเฝ้าเมือง (สมัยโบราณ) ทั้งเมือง ที่ตรงประตูเมืองแห่งเดียว. คนเฝ้าประตูเมืองไม่จำเป็นจะต้องตรวจค้นคนที่ยังไม่ได้เข้าประตูเมืองหรือคน ที่ได้เข้าเลยประตูเมืองไปจนอยู่ในเมืองแล้ว. เขาจะตรวจค้นแต่บุคคลที่กำลังจะผ่านช่องประตูเมืองก็แล้วกัน. เขาย่อมเหนื่อยน้อย เปลืองเวลาน้อยแต่ได้ผลมาก นี้ฉันใด ; การกำหนดลมหายใจในขั้นนี้ ก็มีความมุ่งหมายฉันนั้นคือการกำหนดเฉพาะต่อเมื่อลมผ่านช่องจมูก โดยเฉพาะที่ปลายจะงอยจมูกด้านใน. ให้ปฏิบัติทำความรู้สึกราวกะว่าที่ตรงนั้นเป็นเนื้ออ่อนมากหรือกำลังเป็นแผล ซึ่งมีอาการไวต่อความรู้สึกอย่างยิ่ง ถึงกับว่า เมื่อลมผ่านแม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังอาจที่จะรู้สึกได้. สติคอยกำหนดอยู่ที่จุดนี้จุดเดียว ก็เป็นการเพียงพอสำหรับการปฏิบัติในขั้นนี้ และพึงทราบล่วงหน้าไว้เสียด้วยว่า ณ จุดๆ นี้เอง ซึ่งจะได้นามว่า ผุสนาอัน เป็นระยะที่สามของกรรมวิธีของการกำหนด ซึ่งจะต้องพิจารณากันอย่างละเอียดข้างหน้า. สำหรับคนธรรมดาเราๆ ก็มีทางที่จะกำหนดจุดๆ นี้ได้โดยง่าย และจะง่ายยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับคนประเภทที่มีจมูกโง้งเป็นขอ. สำหรับคนประเภทที่มีจมูกสั้นและหักหงาย เช่นจมูกของชนเผ่าพันธุ์นิโกร ทำให้มีการกำหนดที่สุดช่องจมูกได้ยากกว่าคนธรรมดา เพราะลมหายใจจะพุ่งไปกระทบที่ริมฝีปากบน ทำให้มีความรู้สึกที่ตรงนั้นมากกว่าที่ปลายจมูก. ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านแนะให้เปลี่ยนตำแหน่งจุดที่ประสงค์นั้น ไปที่จะงอยฝีปากบน แทนที่จะเป็นที่ปลายจะงอยจมูกซึ่งเรื่องนี้เจ้าตัวทุกคน ย่อมรู้ได้ดีด้วยตนเอง.

    เป็นอันว่าในบัดนี้ การกำหนดลมหายใจได้เปลี่ยนการกำหนดนับตลอดสาย มาเป็นการกำหนดนับเมื่อลมผ่าน เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง ด้วยอาการดังกล่าวแล้ว ; ฉะนั้น ในกรณีนี้ การนับหรือการคำนวณย่อมเปลี่ยนไปตาม กล่าวคือสำหรับการนับอย่างวิธีสังขยา ท่านแนะให้นับคราวละ ๕ คือเริ่มนับเป็น ๕ เป็น ๑๐ เป็น ๑๕ - ๒๐ - ๒๕ เรื่อยไป ทุกคราวที่ลมผ่านจุด ๆ นี้. หรือจะนับเป็นคราวละสิบ, เป็น ๑๐ - ๒๐ - ๓๐ - ๔๐ - ๕๐ แทนก็ได้ : ไม่ต้องมีการแจกโดยรายละเอียดเป็น ๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ อีกต่อไป ก็จะเข้ารูปกันได้ กับการฝึกในระยะที่แล้วมา และดำเนินไปได้โดยสะดวกในตัวมันเอง. ส่วนการคำนวณโดยไม่ต้องนับนั้น ก็กลายเป็นการคำนวณเอาตรงจุดนั้นเพื่อให้รู้ลมสั้นหรือยาวหนักหรือเบา หยาบหรือละเอียดเป็นต้น ได้ผ่านเข้าหรือผ่านออก ก็รู้ได้ที่ตรงนั้นเอง.

   นี่เป็นเรื่องทั้งหมดของคณนา หรือการคำนวณ.
   ระยะที่สอง คือ อนุพันธนา ได้แก่การติดตามลมอย่างละเอียดใกล้ชิดถึงที่สุด โดยทุกวิถีทางนั้น ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของปฏิบัติแห่งอานาปานสติขั้นที่ ๓ โดยตรง กล่าวคือการกำหนดรู้ซึ่งลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่. สำหรับวิธีปฏิบัติในขั้นนี้ ก็ยังเป็นการกำหนดลมหายใจอยู่นั่นเอง หากแต่ว่าเป็นขั้นที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป โดยการขจัดอาการหรือวิธีการต่างๆ ที่เป็นภาระในการกำหนดให้น้อยลง เท่าที่จะให้น้อยได้. อธิบายว่า เมื่อมีการกำหนดชนิดที่เป็นการนับ หรือชนิดที่กำหนดเป็น เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดอยู่เพียงใด การกำหนดก็ต้องยังหยาบอยู่เพียงนั้น คือต้องมีความรู้สึกที่เกิดดับ-เกิดดับ ทุกคราวที่กำหนดว่าเบื้องต้น หรือท่ามกลาง หรือที่สุด. การกำหนดขนาดที่เรียกว่าวิตก ซึ่งจะเป็นองค์ฌานข้างหน้าก็ยังหยาบอยู่ หรือมีวิตกไปในทางความหมายของคำนั้นๆ : แทนที่จะมีวิตกอยู่ที่ลมหายใจเพียงจุดเดียว ก็ไปมีวิตกเป็นเบื้องต้นบ้าง ตรงกลางบ้าง ที่สุดบ้าง เป็นการรบกวนจิตอย่างหยาบอยู่. การละการกำหนดเช่นนั้นเสีย ส่งสติไปตามโดยไม่ต้องมีการกำหนดเป็นระยะเช่นนั้นเลย ย่อมเป็นการกำหนดที่เข้าถึงตัวลมอย่างประณีตกว่า หรือละเอียดกว่า ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตลอดสาย หรือเป็นการกำหนดเฉพาะจุดก็ตาม. ยิ่งสำหรับการนับด้วยแล้ว นับว่ายิ่งหยาบไปกว่านั้นอีก จึงควรเว้นเสียโดยสิ้นเชิงในขั้นนี้. เนื่องจากการเจริญอานาปานสติขั้นที่สาม ซึ่งเป็นการกำหนดลมหายใจโดยประการทั้งปวงนั้น ก็ยังสามารถปฏิบัติให้เขยิบสูงขึ้นมา จนถึงขั้นที่ไม่มีการกำหนดว่าเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุด ภายหลังได้ทำการกำหนดโดยอาการเช่นนั้นมาแล้วอย่างเพียงพอ : ด้วยเหตุนี้ แม้การกำหนดลมเฉพาะที่ผ่านตรงช่องจมูก ก็ยังเป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่าเป็นการกำหนดกายสังขาร หรือลมหายใจ “ทั้งปวง” อยู่นั่นเอง ทั้งที่สติไม่ได้วิ่งตามลมหายใจเข้าออก คงกำหนดอยู่เฉพาะที่ตรงนั้น เหมือนนายประตูที่ตรวจตราอยู่ตรงที่ประตูแห่งเดียว ก็เป็นอันชื่อว่าตรวจคนทั้งหมด ทั่วทั้งในเมืองและนอกเมือง ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเข้าหรือออกหรือเดินวกไปวนมา ชนิดใดก็ตาม ฉันใดก็ฉันนั้น. การกำหนดอยู่ ณ จุดๆ เดียวโดยหลักเกณฑ์เช่นนี้ มีผลเท่ากับเป็นการกำหนดวกกลับไป กลับมา, เท่ากับเป็นการกำหนดเป็นวงกลม และเท่ากับเป็นการกำหนดอย่างถี่ยิบ ไม่มีระยะว่างเว้นโดยประการทั้งปวง อย่างนี้. โดยความหมายอย่างนี้เอง จึงได้ชื่อว่า อนุพันธนา คือการติดตามอย่างใกล้ชิดถึงที่สุด และไม่มีระยะว่างเว้น และจัดเป็นระยะที่สองของกรรมวิธีแห่งมนสิการอานาปานสติกัมมัฏฐาน ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตให้เข้าใจอย่างแจ้งชัดจริงๆ เป็นพื้นฐานเสียก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติก้าวหน้าในอันดับต่อไปได้โดยสะดวก. หลักสำคัญมีอยู่ว่า ยิ่ง กำหนดลมที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปเพียงใด หรือโดยวิธีเข้าถึงตัวลมโดยละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปเพียงใด จิตก็จะยิ่งกลายเป็นของละเอียดหรือสงบรำงับประณีตยิ่งขึ้นไปเพียงนั้น โดยอาการแห่งอัตโนมัติ คือเป็นไปในตัวเอง ; เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องสนใจในลม หรือในการกำหนดลม โดยวิธีที่เรียกว่า ละเอียดแยบคาย ยิ่งขึ้นไปทุกที ให้เพียงพอกัน.

    ระยะที่สาม คือ ผุสนา ได้แก่ฐานที่ลมถูกต้อง. ระยะนี้ต้องศึกษาพร้อมกันไปกับ ระยะที่สี่ คือ ฐปนา ซึ่งหมายถึงการที่จิตกำหนดหรือตั้งลงอย่างมั่นคง จึงจะเข้าใจได้โดยง่าย เพราะเป็นสิ่งที่เนื่องกันอย่างใกล้ชิดและทั้งยังคาบเกี่ยวไปถึงระยะที่ ๒ กล่าวคือ อนุพันธนา โดยปริยายอีกด้วย. ผุสนา หมายถึง ฐานที่ลมถูกต้อง ก็ได้ หมายถึง การถูกต้อง ก็ได้ โดย ใจความหรือโดยพฤตินัย ย่อมเป็นอย่างเดียวกัน เพราะถ้าไม่มีการถูกต้องก็ย่อมไม่มีฐานที่ถูกต้อง : และอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มีการกำหนดแล้ว ย่อมไม่มีทั้งการถูกต้องและฐานที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า มีการกำหนดเมื่อไร และที่ไหน ผุสนาก็จะมีเมื่อนั้น และที่นั่น. ในระยะแรกแห่งการปฏิบัติ ย่อมมีการกำหนดลมหายใจตลอดสาย คือจากเบื้องต้น ถึงที่สุด ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓, ผุสนา ชื่อว่ามีตลอดสายอยู่แล้ว หากแต่ว่าการฝึกในระยะนั้นยังไม่มีเรื่องที่จะต้องกล่าวถึงผุสนา เพียงแต่เป็นการฝึกให้สติกำหนดอยู่ที่ลม โดยเอาลมนั้นเป็นนิมิตของการกำหนด และเรียกว่า “บริกรรมนิมิต” ยังเป็นของหยาบอยู่. ส่วนในบัดนี้จะกำหนดเอาจุดใดจุดหนึ่ง แห่งพื้นที่หรือฐานที่ลมถูกต้องมาเป็นนิมิต เพื่อการปฏิบัติที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป จึงต้องเริ่มสนใจไปยังพื้นฐานที่ลมถูกต้อง ซึ่งในที่สุดก็ได้แก่จุดๆ หนึ่ง ที่ปลายจะงอยจมูก ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น. การกำหนดนิมิตจึงเปลี่ยนจากลมที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา แต่ไปกำหนดลงที่ตรงพื้นฐานจุดนี้และทำพื้นฐานจุดนี้ให้เป็นที่ตั้งของนิมิต อันใหม่ในขั้นที่ประณีตยิ่งขึ้น และเมื่อทำได้สำเร็จย่อมได้นามว่า “อุคคหนิมิต” ซึ่งจะต้องกำหนดเรื่อยไปและฝึกฝนเรื่อยไปแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี มีรายละเอียดต่างๆ ดังที่จะได้กล่าวข้างหน้าจนกระทั่งนิมิตนั้นตั้งลงแน่นแฟ้นมั่นคง กลายเป็น ฐปนา จนกระทั่งทำให้เกิด “ปฏิภาคนิมิต” ขึ้นได้ในที่สุด ซึ่งจะได้อาศัยเป็นที่หน่วงให้เกิดฌานสืบไป.

    พึงสังเกตในที่นี้อีกครั้งหนึ่งว่า ผุสนา กับ ฐปนา เป็นสิ่งที่เนื่องกันอย่างที่ไม่แยกจากกันได้. มีการกำหนดลมที่ถูกต้องพื้นฐานสำหรับการกำหนดที่ตรงไหน ก็เป็นผุสนาที่ตรงนั้น และฐปนาก็มีอยู่ในนั้น หากแต่ยังไม่เรียกว่าฐปนาแท้ จนกว่าเมื่อไร การกำหนดผุสนาเป็นไปด้วยดี เป็นระยะยาวได้ตามที่ต้องประสงค์ ฐปนาจึงจะตั้งลงเองโดยสมบูรณ์ เกิดเป็นการกำหนดโดยไม่ต้องมีการกำหนดขึ้นมาในขณะนั้น โดยจะเรียกว่าเป็น การหยุดกำหนดเพราะการกำหนดได้ตั้งมั่นถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ก็ยังได้. ข้อนี้อาจจะเปรียบเทียบด้วยอุปมาง่ายๆ เช่นการจับของบุคคลที่เอามือไปจับเข้าที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ; กิริยาที่จับนั้นเอง เรียกว่าจับ, ครั้นเอามือไปจับเสร็จแล้ว แม้มือยังหยุดอยู่ที่นั้น แต่การจับก็สิ้นสุดลงไปแล้ว เหลืออยู่เป็นการกุมอยู่ที่นั่น ได้แก่อาการที่มือหยุด หรือตั้งแน่นแฟ้นอยู่ที่นั่น : ฉะนั้นจึงเปรียบ การจับ ได้กับ ผุสนา และเปรียบ การกุมอยู่เฉยๆ อย่างมั่นคง ได้กับ ฐปนา ฉันใดก็ฉันนั้น. อย่าลืมว่า ถ้าไม่สังเกตดูให้ละเอียดแล้ว จะไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง “การจับ” กับ “การกุม” หรือระหว่าง ผุสนา กับ ฐปนา : ด้วยเหตุนี้แหละ ผู้ปฏิบัติจึงต้องทำการสำเหนียกศึกษาและสังเกตกำหนดอย่างใกล้ชิดที่สุด ว่า ฐานที่ถูกต้องคืออะไร, การถูกต้องคืออะไร, ความหยุดอยู่แห่งการถูกต้อง ที่เป็นไปอย่างมั่นคงดีแล้วนั้นคืออะไร ; ก็จะสามารถกำหนดนิมิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป และจิตที่สงบยิ่งขึ้นไปได้โดยไม่ยาก.

    เท่าที่กล่าวมาแล้วเพียงเท่านี้ ย่อมชี้ให้เห็นไดว่า คณนา และ อนุพันธนา เป็นเรื่องของบริกรรมนิมิต ผุสนา เป็นเรื่องของอุคคหนิมิต และ ฐปนา เป็นเรื่องของปฏิภาคนิมิต ซึ่งเราจะได้ศึกษาเรื่องนิมิตทั้งสามนี้ เพื่อความเข้าใจการปฏิบัติในขั้นนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการทำให้เข้าใจผุสนาและฐปนายิ่งขี้นไปตามลำดับ.

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับนิมิต

    สิ่งที่เรียกว่า นิมิต นั้น ท่านนิยมจัดไว้เป็น ๓ เสมอไปในทุกกัมมัฏฐาน, หากแต่ว่ากัมมัฏฐานบางอย่าง มีนิมิตครบทั้งสามประการไม่ได้เสียเอง. กัมมัฏฐานใดเป็นเช่นนั้น กัมมัฏฐานนั้นก็ไม่สำเร็จประโยชน์จนกระทั่งถึงเกิดฌาน : ส่วนกัมมัฏฐานใดอาจทำให้นิมิตเกิดขึ้นทั้ง ๓ ขั้น กัมมัฏฐานนั้นก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้จนกระทั่งเกิดฌานเป็นธรรมดา.

    นิมิตในขั้นที่หนึ่ง เรียกว่า บริกรรมนิมิต. ข้อนี้ได้แก่ตัวสิ่งนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งเราไปจับหรือไปทำ หรือไปเอามา สำหรับเป็นวัตถุเพื่อการเพ่งหรือกำหนดในระยะแรกที่สุด. นิมิตนี้ในกรณีอานาปานสติ ก็คือตัวลมหายใจที่เคลื่อนไป-เคลื่อนมา อยู่นั่นเอง. นิมิตขั้นที่สอง เรียกว่า อุคคหนิมิต หมายถึงนิมิตที่เข้าไปติดอยู่ที่ตาภายใน หรือในใจ กลายเป็นมโนภาพภายในอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากจากตัววัตถุโดยตรงที่เราเอามากำหนดในครั้งแรกไปเสียแล้ว. นิมิตนี้ใน กรณีของอานาปานสติ ก็ได้แก่ จุด หรือดวงขาวๆ ที่สามารถทำให้ปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดอยู่ได้ที่ตรงจุดของผุสนา กล่าวคือที่ปลายจะงอยจมูกนั่นเอง. ส่วนนิมิตขั้นที่สามต่อไปที่เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต นั้น หมายถึงอุคคหนิมิตในภายนั่นเอง หากแต่ว่าได้เปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นไป เปลี่ยนสีเป็นอย่างอื่นไปเปลี่ยนขนาดเป็นอย่างอื่นไป และเปลี่ยนอะไรๆ อีกบางอย่าง กระทั่งถึงให้เคลื่อนที่ไปมา หรือขึ้นลงได้ตามควรแก่การน้อมจิตไป โดยความรู้สึกที่เป็นสมาธิกึ่งสำนึก แล้วสามารถทำให้แน่วแน่อยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง โดยสมควรแก่อุปนิสัยของตน และหยุดนิ่งและแน่วแน่อยู่อย่างนั้น เพื่อเป็นนิมิต คือเป็นที่เกาะแห่งจิตอย่างประณีตที่สุด จึงมีความตั้งมั่นถึงที่สุด ชนิดที่เรียกว่า ฌานเกิดขึ้นโดยสมควรแก่การกระทำ.

   เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น ควรเปรียบเทียบกันดูกับกัมมัฏฐานที่ใช้วัตถุที่มีรูปร่างชัดเจนเป็นอารมณ์ เพื่อเป็นตัวอย่าง : เช่นในการเจริญกสิณ วงสีเขียวหรือวงสีแดง ที่เราทำขึ้นแล้ว วางไว้ตรงหน้าเพื่อเพ่งตาดู, วงสีเขียวหรือสีแดงที่วางอยู่ตรงหน้านั่นแหละคือ บริกรรมนิมิต. การเพ่งตาดู เรียกว่าการทำบริกรรมในนิมิตนั้น. ครั้นเพ่งตาดูบริกรรมนิมิตนั้นหนักเข้าๆ จนสำเร็จประโยชน์คือนิมิตนั้นติดตาในภายใน แม้จะหลับตาเสีย ก็ยังเห็นชัดเหมือนเมื่อลืมตาแล้ว. นิมิตที่ติดตาในภายใน อย่างนั้นแหละ เรียกว่า อุคคหนิมิต. การหลับตาเสีย แล้วเพ่งดูนิมิตในเช่นนี้อยู่ เรียกว่าการเพ่งต่ออุคคหนิมิต. เพียงเท่านี้เราก็เห็นได้แล้วว่าบริกรรมนิมิต กับอุคคหนิมิตนั้น ไม่ใช่ของอันเดียวกันแล้ว : อย่างแรกเป็นวัตถุข้างนอก ; อย่างหลังเป็นมโนภาพที่เราสร้างขึ้นจนสำเร็จภายในใจ โดยเลียนมาจากของภายนอก หรือเนื่องมาจากภายนอกเป็นต้นเหตุ. ครั้นกำหนดอุคคหนิมิตที่เป็นภายในได้แน่วแน่ในรูปเดิมของมันตามสมควรแล้ว การฝึกอาจจะเลื่อนไปถึงขั้นที่บังคับจิตให้น้อมนึก เพื่อเปลี่ยนแปลงอุคคหนิมิตที่เห็นในภายในนั้นให้เปลี่ยนรูปไปต่างๆ เปลี่ยนขนาดไปต่างๆ เช่นดวงกสิณที่เคยเห็นกลมๆ เล็กๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง ๖ นิ้ว (เท่าที่ใช้กันโดยมาก) ก็กลายเป็นดวงใหญ่เท่าที่ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ หรือเล็กลงมาในขนาดที่เป็นเพียงจุดๆ เดียว หรือจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่นอีกกี่อย่างก็ได้ จนกระทั่งไปหยุดอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พอใจที่สุด หรือเหมาะสมที่สุด ที่จะทำให้จิตกำหนดแน่วแน่วอยู่ในนิมิตนั้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป เพราะแน่นแฟ้นมั่นคงถึงที่สุดเรียกได้ว่าเป็นการหยุดลงหรือตั้งมั่นลงได้ จริงๆ. นี้คือขณะแห่งฐปนา ที่จะเป็นไปจนกว่าจะถึงที่สุด คือการบรรลุฌาน. นิมิตที่เปลี่ยนแปลงได้ และตั้งมั่นลงในรูปอื่นจากอุคคหนิมิตนี้ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต.

    ตัวอย่างที่สอง : ในกรณีแห่งการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน อันเป็นกัมมัฏฐานประเภทที่น่าหวาดเสียว และวุ่นวายกว่าประเภทกสิณนั้น สิ่งที่เรียกว่าบริกรรมนิมิต คือตัวซากศพชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติจะใช้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนด. เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะต้องมีซากศพชนิดหนึ่งนั้นวางอยู่ตรงหน้า แล้วก็เพ่งตาดูเพื่อกำหนดทุกส่วนสัดของซากศพอย่างแม่นยำ นี้เรียกว่ากำลังเพ่งต่อบริกรรมนิมิตคือซากศพนั้น. ระยะต่อมาก็คือการเพ่งจนติดตาแล้ว แม้หลับตาเสียก็ยังเห็นเช่นเดียวกับเมื่อลืมตา หรือชัดแจ๋วยิ่งไปกว่าเมื่อลืมตาเสียอีก. ภาพแห่งซากศพที่เป็นมโนภาพ คือเห็นได้โดยไม่ต้องลืมตานั้น เรียกว่าอุคคหนิมิต ในกรณีนี้.การเพ่งซากศพในมโนภาพนั้น เรียกว่าการเพ่งอุคคหนิมิต ในกรณีนี้. ระยะต่อไปก็คือการเพ่งที่ประณีตละเอียดยิ่งขึ้นไป และคล่องแคล่วในการน้อมนึกยิ่งๆ ขึ้นไป จนสามารถเปลี่ยนมโนภาพนั้นให้เป็นไปอย่างซาบซึ้ง ตามที่ตนปรารถนา โดยประการที่จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด หรือความสลดสังเวชอย่างซาบซึ้งตรึงใจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วไปหยุดเป็นมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่อย่าง เหมาะสมและมั่นคง แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป เป็นอารมณ์ทำให้เกิดสมาธิที่มีผลในการรำงับความกำหนัด ได้เป็นพิเศษ. มโนภาพในระยะหลังนี้เรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต” ในกรณีนี้.

    ส่วนใน กรณีที่เป็นการเจริญอานาปานสติ ที่เรากำลังศึกษากันอยู่นี้ก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ทั้งๆ ที่วัตถุที่นำมาใช้กำหนดนั้น แตกต่างกัน :ลมหายใจที่เป็นตามธรรมชาติ ซึ่งเราไปกำหนดเข้านั่นแหละ คือบริกรรมนิมิตในกรณีนี้. การกำหนดที่ตัวลมหายใจอย่างนี้ ก็เรียกว่าการเพ่งต่อบริกรรมนิมิตอย่างเดียวกัน. ระยะถัดไป ไม่กำหนดที่ตัวลม แต่ไปกำหนดที่จุดใดจุดหนึ่งที่ลมกระทบเพียงจุดเดียว และเป็นจุดที่ตั้งอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด สำหรับการกำหนด ; และมีการทำในใจ ประหนึ่งว่าจุดนั้นเป็นแผลอ่อน ที่ไวต่อการรู้สึกหรือราวกะว่ามีอะไรอย่างหนึ่งได้ถูไป-ถูมา ที่จุดนั้นอย่างรุนแรง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการหายใจ หรือลมหายใจ หรือการผ่านไป-ผ่านมา ของลมหายใจ หรืออะไรๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นภายนอกและภายใน. กำหนดแน่วแน่อยู่แต่ ณ จุดที่เป็นที่เกิดของความรู้สึก ทำให้เป็นราวกะว่าเป็นจุดในมโนภาพ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่อย่างแน่วแน่, นี้เป็นอุคคหนิมิตในกรณีนี้. นิมิตในขั้นสุดท้ายนั้นได้แก่ปฏิภาคนิมิต กล่าวคือนิมิตที่เปลี่ยนรูปไปเป็นอย่างอื่นจากอุคคหนิมิต คือจากความรู้สึกที่เป็นเพียงว่ามีจุดอยู่จุดหนึ่ง. มันได้เปลี่ยนไปด้วยอำนาจของความที่สิ่งต่างๆ ที่เนื่องกันอยู่ มีลมหายใจเป็นต้น เป็นของละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมพร้อมกับอาศัยอดีตสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในอุปนิสัยของบุคคลนั้นเข้าช่วยปรุงแต่งด้วย. สิ่งที่เรียกว่าปฏิภาคนิมิตนี้จะเกิดขึ้นผิดแผกกันบ้าง เป็นคนๆ ไปคือจะปรากฏแก่คนบางคนที่ตรงจุดๆ นั้น หรือใกล้ๆ กับจุดนั้น ออกไปข้างนอกก็ตาม เข้ามาข้างในก็ตาม ราวกะว่ามีปุยนุ่นกระจุกหนึ่ง มาติดอยู่ตรงนั้น หรือมีหมอกกลุ่มหนึ่งปรากฏอยู่ที่นั้น นี้พวกหนึ่ง. บางพวกจะมีนิมิตปรากฏชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือเป็นดวงขาวลอยเด่นอยู่ หรือเป็นดวงแก้วดวงหนึ่ง หรือเป็นไข่มุกเม็ดหนึ่ง หรือเป็นเพียงสิ่งที่รูปร่างอย่างเมล็ดฝ้ายเมล็ดหนึ่ง ดังนี้ก็มี. ที่น้อยลงไปอีกก็คือ คนบางพวกจะมีนิมิตปรากฏเป็นรูปสะเก็ดไม้ชิ้นหนึ่ง หรือพวงดอกไม้พวงหนึ่ง หรือสายสร้อยพวงหนึ่ง หรือสายแห่งควันไฟเกลียวหนึ่งดังนี้ ก็มีอยู่ประเภทหนึ่ง. และประเภทที่น้อยไปกว่านั้นอีก คือมีได้ยากไปกว่านั้นอีก ก็คือบางจำพวกจะมีนิมิตปรากฏเหมือนใยแมงมุมรังหนึ่ง เมฆที่ซับซ้อนกันหมู่หนึ่ง ดอกบัวที่บานออกเป็นแฉกๆ ดอกหนึ่ง หรือล้อรถที่มีซี่กำออกไปจากดุมเป็นซี่ๆ วงหนึ่ง จนกระทั่งถึงบางพวกมีนิมิตเป็นดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ดวงใหญ่เกินประมาณดวงหนึ่งๆ ก็ได้ แล้วแต่กรณี. ทั้งหมดนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิตในกรณีนี้. แม้จะต่างกันอย่างไร ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่อย่างแน่นแฟ้น หยุดอยู่อย่างมั่นคง เป็นที่ยึดหน่วงของจิตอันสงบรำงับ จนถึงขนาดที่เป็นฌานได้ด้วยกันทั้งนั้น.

    ข้อที่ปฏิภาคนิมิตมีลักษณะแตกต่างกันมากชนิดเช่นนี้ ในกรณีที่เกี่ยวกับอานาปานสตินี้เห็นได้ว่ามีมากชนิดกว่าที่จะเป็นไปในกรณี ของกัมมัฏฐานประเภทอื่น เช่นกสิณหรืออสุภเป็นต้น : ทั้งนี้เพราะเหตุว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่ละเอียดหรือไม่มีดุ้นหรือชิ้น ให้เห็นชัดเหมือนวงกสิณหรือท่อนอสุภ นี้อย่างหนึ่ง. และอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ใกล้ชิดไปกว่านั้น ก็คือความที่คนเราแต่ละคนๆ มีสัญญาหรือความรู้สึกหรือความกำหนดจดจำต่างๆ ที่เราได้สะสมมาตั้งแต่เกิดและฝังไว้ในอุปนิสัยสันดานของเราเองนั้น ต่างกันอย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้. เมื่อถึงคราวที่สิ่งเหล่านี้มีโอกาสแสดงตัวออกมา ก็แสดงออกมาในรูปแห่งการปรุงที่มีลักษณะต่างๆ กัน ในขณะที่จิตกำลังอยู่ในภาวะกึ่งสำนึก หรือเกือบไร้สำนึก เช่นในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตนี้ เป็นต้น. สรุปได้สั้นๆ ว่า จิตปรุงปฏิภาคนิมิตขึ้นมาในลักษณะที่แตกต่างกัน เพราะความมีสัญญาในอุปนิสัยมีอยู่ผิดแผกกัน นั่นเอง.ผู้ปฏิบัติไม่ควรไปทำความฉงนในความไม่คงเส้นคงวา หรือความพิสูจน์ไม่ได้เหล่านี้ : เพราจะทำให้เกิดกังวลและเป็นอันตรายแก่การเจริญสมาธินั้น เปล่า ๆ.ขืนไปค้นคว้าเข้า ก็กลายเป็นเรื่องจิตวิทยาแขนงหนึ่งไป หาใช่การทำสมาธิไม่.

นิมิตต่างกัน มีผลแก่จิตต่างกัน

    เมื่อได้กล่าวถึงความแตกต่างของนิมิตเช่นนี้แล้ว อยากจะถือโอกาสแนะให้สังเกตเสียเลยทีเดียวว่า กัมมัฏฐานต่างๆ นั้น มิใช่ว่าเพียงแต่จะให้เกิดนิมิตต่างๆ กันอย่างเดียว มันยังทำให้มีผลเป็นปฏิกิริยาต่ออุปนิสัย หรือจิตใจหรือจริตของบุคคลผู้ปฏิบัติ ต่างๆ กันไปด้วย. เราควรจะเปรียบเทียบกันดูเพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัด. ถ้าเราเอาสิ่งไม่มีชีวิต หรือไม่ค่อยจะมีความหมายอะไร เช่นดินสีเหลืองก้อนหนึ่งมาทำเป็นวงกสิณแล้วเพ่ง แม้เป็นสมาธิแล้ว ทำปฏิกิริยาให้แก่จิตในทางที่ผิดแผกแตกต่างจากการที่เราจะไปนำเอาศพเน่าศพ หนึ่งมาทำเป็นวัตถุสำหรับเพ่ง. แม้ว่าสิ่งทั้งสองนี้จะให้เกิดสมาธิได้อย่างเดียวกัน แต่ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างอื่นผิดแผกแตกต่างจากกันมาก เช่นมีผลที่จะระงับความกำหนัด หรือส่งเสริมความกำหนัดเป็นต้นหรือไม่ ต่างกัน ทำให้เกิดความยากง่าย หรือเกิดอันตรายทางประสาทเป็นต้น แก่ผู้ปฏิบัติต่างกัน เท่ากับที่เราอาจจะพิจารณาเห็นได้เองว่า ดินก้อนหนึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกเฉยๆ ง่ายๆ เงียบๆ เป็นนิมิตที่ไม่โลดโผนไม่กระทบกระเทือนประสาท สมกับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีชีวิตอะไรเลย. ส่วนซากศพซากหนึ่งนั้น มีความหมายมาก หรืออาจจะมีความหมายมากกว่าชีวิตธรรมดาสำหรับคนที่กลัวผีเป็นพิเศษ หรือคนทั่วไปก็ตาม. นี่เป็นเพราะว่ามันมีความหมายมากเกินไป หรือมีชีวิตมากเกินไปนั่นเอง.

    ส่วนการเจริญอานาปานสติ ซึ่งยึดเอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดนั้น ย่อมตั้งอยู่ในระดับกลาง. ไม่สุดโต่งไปในทางเนือยๆ เหมือนกับก้อนดินก้อนหนึ่ง และก็ไม่สุดโต่งไปในทางรุนแรงเหมือนกับศพเน่าศพหนึ่ง ฉะนั้นนิมิตทุกระยะจึงต่างกันไปหมด ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่า แม้มันจะทำให้เกิดมีบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต จนกระทั่งเป็นฌานได้ด้วยกันก็จริง แต่ผลย่อมแตกต่างกันในทางอื่นบางอย่างอยู่อย่างมากมาย ดังกล่าวแล้วนั่นเอง. ทั้งนี้ก็เพราะว่ากัมมัฏฐานบางประเภท หรือบางกลุ่ม ย่อมมีความมุ่งหมายเฉพาะประเภทของตนเป็นกลุ่มๆ ไป เพื่อแก้ปัญหาปลีกย่อยของกิเลสเฉพาะคนในระยะแรกเสียก่อน แล้วจึงน้อมไปสู่ผลอย่างเดียวกันในเบื้องปลาย. ส่วนกัมมัฏฐานกลุ่มกลางๆ หรือซึ่งอยากจะเรียกในที่นี้ว่า “กลุ่มทั่วไปที่สุด” กล่าวคืออานาปานสตินี้ ย่อมให้นิมิตที่สงบประณีตราบรื่นไปตั้งแต่ต้นจนปลายทีเดียว เหมาะแก่คนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นผู้ครองเรือน หรือผู้ออกจากเรือน ผู้หญิง หรือผู้ชาย คนกล้า หรือคนขลาด ฯลฯ เพราะความตั้งอยู่ในระดับกลางนั่นเอง.

กัมมัฏฐานพวกที่ไม่มีปฏิภาคนิมิต ไม่เกิดฌาน
    กัมมัฏฐานบางอย่างที่กล่าวว่า ไม่สามารถทำให้เกิดปฏิภาคนิมิตนั้นคือกัมมัฏฐานพวกที่ไปกำหนดเอานามธรรม มาเป็นอารมณ์เสียตั้งแต่ต้นมือ เช่นการกำหนดพุทธานุสสติเป็นต้น. กัมมัฏฐานเหล่านี้ จะกำหนดได้ก็แต่เพียงในขั้นบริกรรมนิมิต เพราะสิ่งที่เรียกว่าพุทธคุณนั้นเป็นเพียงนามธรรม หรือความหมายรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่เป็นวัตถุธาตุและไม่เนื่องด้วยวัตถุธาตุโดยตรง เหมือนกสิณหรืออสุภ หรืออานาปานสติ. อุคคหนิมิตไม่มี เพราะไม่อาจทำพุทธคุณเหล่านั้นให้เป็นมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้. ขืนไปทำให้ได้ก็กลายเป็นเรื่องอื่นไปหรือถึงกับทำให้ฟั่นเฝือเลอะเลือน เป็นความเสียหาย เป็นอันตรายขึ้นมาแทนฉะนั้น การเจริญกัมมัฏฐาน เช่นประเภทพุทธานุสสติเป็นต้นนี้ จึงไม่สามารถทำให้เกิดอุคคหนิมิตได้ จึงไม่เป็นไปเพื่อฌาน แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เช่น เป็นปัจจัยแห่งการบ่มอินทรีย์ให้แก่กล้าเป็นต้น หรือใช้เป็นกัมมัฏฐานแวดล้อมเพื่อช่วยให้จิตใจหรือการเป็นอยู่เหมาะสม ในการที่จะปฏิบัติกัมมัฏฐานหลักเป็นต้น. เมื่อเปรียบเทียบโดยนัยนี้ เราจะเห็นได้ทันทีว่าพุทธานุสสติ หรือการกำหนดพุทธคุณนั้น ไม่สามารถจะทำให้แน่นแฟ้นได้ แม้ในขณะแห่งคณนาและอนุพันธนา แล้วจะทำอย่างไรจึงจะให้ดำเนินไปได้ถึงผุสนา และฐปนาได้เล่า.

    ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กัน ระว่างวัตถุที่ใช้เป็นนิมิตกับการเกิดแห่งนิมิตและการกำหนดนิมิตนั้นๆ. ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมีกำลังไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสมกันแล้ว กัมมัฏฐานนั้นก็ไม่อาจดำเนินไปจนถึงปฏิภาคนิมิต หรือการกำหนดในขั้นผุสนา และฐปนาไปได้เลย. ผู้ศึกษาอานาปานสติ พึงศึกษาลักษณะของนิมิต การกำหนดนิมิตการเกิดแห่งนิมิต การเปลี่ยนไปแห่งนิมิต และการตั้งมั่นหรือการหยุดแห่งนิมิตโดยนัยดังที่กล่าวมานี้ ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบดังที่กล่าวมาแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จในการกำหนดนิมิตเป็นต้น ได้เป็นอย่างดี คือจะประสบความสำเร็จในการกำหนดลมหายใจ การทำลมหายใจให้ละเอียด การตั้งสติในลมหายใจและสมาธิที่ยึดลมหายใจเป็นหลักทุกขั้น ได้โดยไม่ยากเลย. 

อ่านต่อ ส่วนที่สอง


ธารธรรมจาก https://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.compart8_1_anapa